วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

วันวานยังหวานอยู่ที่ภูกระดึง

ภาคภูมิ  น้อยวัฒน์....เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๗ ฉบับที่  เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐


                มันเป็นความรู้สึกยากที่จะบรรยายครับ เกิดขึ้นเมื่อผมได้มายืนอยู่ปากทางขึ้นสู่ภูกระดึงอีกครั้งในวันนี้ หลังจากที่ห่างเหินกันไปเนิ่นนานกว่าสิบปี

 ใจมันเต้นตึกตัก จะว่าเหนื่อยก็ไม่ใช่ เพราะว่ายังไม่ทันได้เดินขึ้นภูสักก้าว จะว่าหิวก็ไม่ใกล้เคียง ก็ผมเพิ่งแวะกินข้าวคะน้าหมูกรอบที่ร้านข้างที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมาเมื่อตะกี้ สังเกตุดูดีๆ แล้วรู้สึกเหมือนคิดถึงผสมดีใจยังไงก็บอกไม่ค่อยถูก ใครเดินผ่านมาตอนนั้นก็คงจะเห็นผมยืนสะพายกระเป๋ากล้องยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่หน้าทางเดินขึ้นภู  อารมณ์ประมาณเวลาได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าที่เคยเรียนสมัยยังเป็นเด็กนั่นแหละครับ

                ความจริงจะว่าไปแล้ว ภูกระดึงก็เปรียบเสมือนโรงเรียนที่สอนการเดินทางท่องเที่ยวในธรรมชาติให้ใครต่อใครมาเนิ่นนาน เพราะเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่  ของประเทศไทยถัดจากเขาใหญ่ ประกาศจัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.  ๒๕๐๕ โน่น ก็เลยมีศิษย์เก่าอยู่มากมายก่ายกองรุ่นแล้วรุ่นเล่า ลองไปถามดูเถอะครับ ผมว่านักท่องเที่ยวไทยที่นิยมการท่องเที่ยวในธรรมชาติแต่ละคนเป็นศิษย์เก่าภูกระดึงกันแทบทั้งนั้น น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๙

                ผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนที่ว่ากับเขาเหมือนกันครับ มาภูกระดึงครั้งแรกก็ตั้งแต่สมัยวัยรุ่นโน่น ตอนนั้นยังเป็นนิสิตรั้วจามจุรีสีชมพูอยู่เลย ยังไม่เคยไปเที่ยวป่าเขาลำเนาไพรที่ไหนมาก่อนตั้งแต่เกิดมา เรียกว่าประเดิมการท่องเที่ยวธรรมชาติครั้งแรกในชีวิตก็ที่ภูกระดึงนี่แหละ เพราะได้ยินคำร่ำลือในหมู่เพื่อนพ้องว่าบนภูทิวทัศน์สวยนักหนา บรรยากาศก็ดี ว่ากันเป็นตุเป็นตะ ทั้งจริงบ้างไม่จริงบ้าง แนวไสยศาสตร์ก็ยังมีเลยครับ ทำเป็นเล่นไป

                “ภูกระดึงน่ะเขาว่ามีอาถรรพณ์นะ ใครที่มีแฟนแล้วไปเที่ยวภูด้วยกัน กลับมามักมีอันต้องเลิกรา แต่ใครที่ยังไม่มีแฟน ไปเที่ยวภูแล้วก็มักจะได้แฟนกลับมา

                ตามประสาวัยรุ่น ได้ยินเพื่อนว่าอย่างนี้ก็หูผึ่งขึ้นมาทันที ไอ้เรายังไม่มีแฟนซะด้วย ทั้งที่ไม่เคยดินป่าปีนเขาสักหน แต่พอเพื่อนชวนปุ๊บ ตกลงโอเคปั๊บได้ไงก็ไม่รู้ เก็บข้าวเก็บของ แบกขาตั้งกล้อง ไปปีนภูกระดึงกับเขาด้วยเฉยเลย ไม่ได้รู้หรอกครับว่าปีนเขาเดินป่าสาหัสขนาดไหน ใจนึกแต่ว่าขอให้อาถรรพณ์ภูกระดึงที่ได้ยินมาเป็นความจริงเท่านั้นแหละ

                มาคิดตอนนี้แล้วก็อดไม่ได้ต้องหัวเราะก๊ากออกมาครับ นักท่องเที่ยวที่เดินอยู่แถวนั้นหันมามองผมกันเลิ่กลัก คงนึกว่าไอ้หมอนี่ท่าจะบ้า มายืนมองทางขึ้นภูกระดึงแล้วก็หัวเราฮ่าๆ  อยู่คนเดียว (โชคดีที่ช่วงนี้นักท่องเที่ยวยังมากันไม่ค่อยมาก ไม่งั้นละเขินแย่ ทำไงได้ละครับ ก็คนมันมีความหลังนี่นา แค่มายืนอยู่ตีนภู ภาพเก่าๆ สมัยวัยรุ่นในความทรงจำมันก็ย้อนกลับมาให้ดูให้เห็นเป็นฉากๆ (สงสัยชักจะแก่แล้วแฮะเรา)

                บางครั้งอดีตก็เป็นพลังให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าครับ ว่าแล้วก็ไปกันเลยดีกว่า เดินหน้าขึ้นภูกระดึง ฮุยเลฮุย



 ผจญวิบากสู่ยอดภู

                หนึ่งในรสชาติความประทับใจของภูกระดึงก็อยู่ตรงทางเดินขึ้นนี่แหละครับ เพราะต้องฝ่าฟันเส้นทางที่ไต่ไปตามความสูงชันระยะทางประมาณ  กิโลเมตร

                ฟังดูเหมือนน้อย แค่  กิโลเมตรเท่านั้นเอง

                ตอนที่มาครั้งแรกผมก็คิดแบบนั้น แต่เอาเข้าจริงเดินขึ้นไปไม่กี่ก้าว แค่  ๑๐๐-๒๐๐ เมตรเท่านั้นก็หอบซี่โครงบาน ขนาดสมัยวัยรุ่นนะนั่น ก็ทางขึ้นเขานี่ครับ แถมเป็นดินร่วนๆ ลื่นๆ ขึ้นลำบากพิลึก มิหนำซ้ำกว่าจะเดินไปถึงด้านบนต้องผ่านจุดพักประมาณ ๑๐ จุด บางช่วงสุดวิบาก เรียกว่าพอๆ กับผ่านด่าน ๑๘ มนุษย์ทองคำของสำนักเส้าหลินเลยละ

                มาคราวนี้ถึงเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ดุ่มเดินขึ้นไปเจอปางกกค่าเป็นด่านแรกสุด ทางดินทำเป็นขั้นบันไดกลมกลืนไปกับธรรมชาติให้เดินขึ้นสบายเยอะครับ ไม่ต้องกลัวลื่นช่วยให้พอจะมีอารมณ์สุนทรีชื่นชมกับสีสันใบไม้ที่เริ่มเปลี่ยนสีเป็นเหลืองๆ แดงๆ ประปรายตามรายทางได้บ้าง

                
                       ด่านที่สองเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด ในบรรดาผู้มาเยือน คือซำแฮก เพราะชอบพูดเล่นกันว่าเดินมาถึงนี่ก็พอดีหอบแฮกๆ (ก็หอบจริงๆ นั่นแหละ) ความจริงแล้วซำแฮก หมายถึง จุดที่มีน้ำไหลผ่านเป็นจุดแรก มาตั้งหลายครั้งแล้วผมก็ไม่เคยเห็นตรงที่น้ำไหลผ่านสักที รู้แต่ที่แน่ๆ มีร้านขายน้ำเป็นจุดแรก ปราดเข้าไปซื้อน้ำอัดลมเติมพลังแล้วก็นั่งพักเหนื่อย มองไปริมทางยังมีป้ายบอกระยะว่ามีกี่ด่าน เดินอีกกี่เมตรจะถึงจุดพักต่อไป ผมไม่ค่อยอยากจะดูป้ายครับช่วงนี้ กลัวจะท้อใจเพราะเหลืออีกตั้งหลายจุด

                      ลูกหาบ  คนคอนลำไม้ไผ่ยาวผูกข้าวของพะรุงพะรังเดินผ่านหน้าร้าน ต่างพยักเพยิดกันก่อนหันมายิ้มให้ผมมองไป อ้าว เป็นลูกหาบที่แบกสัมภาระของผมนั่นเอง เห็นพวกลูกหาบแล้วอดเลื่อมใสไม่ได้ครับ แต่ละคนยังกับฝึกกำลังภายในจากเสี้ยวลิ่มยี่มา หากเป้กระเป๋าสัมภาระกองมหึมาเดินตัวปลิวขึ้นเขาเหมือนมีวิชาตัวเบา ขนาดนักท่องเที่ยวอย่างเราเดินตัวเปล่าๆ ยังแทบแย่ ทั้งที่อย่างมากก็ถือกระเป๋ากล้องแค่ใบเดียว

                เห็นสัมภาระแซงหน้าไปแล้ว จะนั่งทอดหุ่ยอยู่ได้ยังไง ผมจัดแจงจ่ายสตางค์น่าน้ำรีบออกเดินต่อไปบ้าง กะแข่งกับลูกหาบหลานหาบว่าใครจะถึงยอดภูก่อนกัน แก้เหงาไปในตัวครับ มาครั้งก่อนๆ มีเพื่อนเดินขึ้นภูด้วย คราวนี้เดินคนเดียวเปลี่ยวเอกา ต้องอาศัยพ่อค้าแม่ขายตามรายทางที่ผ่านเป็นเพื่อนคุย ดอกไม้ป่าเล็กๆ นานาชนิดสองฝั่งฟากที่เบ่งบานหลายสีสันก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การเดินดอยเดียวดายของผมไม่น่าเบื่อจนเกินไป เดินไปพลาง ก็แวะเก็บภาพไปพลาง เพลิดเพลินเจริญใจจนพลิ้วผ่านชำบอนไปแบบสบายๆ แทบไม่รู้ตัว

                กระทั่งถึงซำกกกอนั่นแหละครับ ความสูงชันถึงเริ่มเพิ่มขึ้นอีกจนรู้สึกได้ แต่ลองฮึดจ้ำอ้าวจนแซงลูกหาบไปได้ (ไชโย)  พักเดียวผมก็ไปโผล่ที่ซำกอซาง แวะเติมพลังด้วยน้ำอัดลมจากเพิงริมทางอีกที เพราะจากตรงนี้ขึ้นไปทางชันดิก ขนาดทางอุทยานฯ เขาทำทางเดินปูมีราวเหล็กกั้นลัดเลาะขึ้นไปแบบพับผ้า ยังต้องหยุดพักเหนื่อยเป็นระยะๆ ดีที่มีคนเดียว เหนื่อยเมื่อไหร่ก็หยุดพักได้เลย นึกถึงสมัยก่อนเวลามาหลายคนรักษาฟอร์มกันสุดๆ เหนื่อยทีต้องทำไก๋เป็นหยุดถ่ายภาพอะไรต่อมิอะไรให้วุ่นวาย เรื่องของเรื่องก็คือไม่อยากเสียมาดต่อหน้าสาวๆ นั่นแล แต่จะว่าไปวิวก็สวยใช้ได้นะช่วงนี้ ...แฮ่กๆ


               ถึงพร่านพรานแปผมเหลือบดูนาฬิกา ใช้เวลาไปชั่วโมงครึ่ง ได้ยินว่าคนที่เดินจนชำนาญทางเขาใช้เวลาขึ้นถึงยอดภูแค่  ๒ ชั่วโมง ไม่รู้เหมือนกันว่าทำได้ยังไง ผมเองก็ชอบจับเวลาตอนเดินขึ้นภูแล้วจดบันทึกเป็นสถิติเอาไว้ ตั้งแต่ครั้งแรกที่มาแล้วครับ เผื่อเปรียบเทียบกับเวลามาเดินครั้งต่อไป จะได้รู้ว่าเดินเร็วขึ้นหรือช้าลงแค่ไหน อย่างน้อยก็ได้มีอะไรทำระหว่างหยุดพักเหนื่อย ที่สำคัญคงตื่นเต้นดีพิลึกถ้าอีกสัก ๓๐ ปีผ่านไป เกิดผมมาขึ้นภูกกระดึงใหม่แล้วทำเวลาได้เร็วกว่าที่จดเอาไว้ตอนนี้
                 

               เดินต่อไม่ถึง ๑๐ นาทีต่อมา ป้ายซำกกโดน พลันปรากฎตรงหน้า  ถือว่าเป็นจุดพักใหญ่ครับตรงนี้ เพราะเป็นจุดสกัด มีทั้งที่ทำการหน่วยฯ กับบ้านพักเจ้าหน้าที่อยู่ รู้สึกแปลกตาเมื่อเห็นว่าร้านค้าที่เคยเรียงรายอยู่ริมหน้าผาเมื่อหลายปีก่อนย้ายเข้ามาอยู่ด้านใน แต่ก็ดีเหมือนกัน ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างขวางกว่าเก่า ทั้งเทือกทิวเขา หมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำ แลลิบ ๆ อยู่ข้างล่าง

                ถือโอกาสแวะพักกินข้าวกลางวันเติมพลังเสียเลย อิ่มแล้วก็เดินเตร็ดเตร่ย่อยอาหารดูร้านรวงข้างเคียง ก็เลยได้เห็นว่าเดี๋ยวนี้ภูกระดึงมีของที่ระลึกให้เลือกซื้อหลากหลาย นอกเหนือไปจากเสื้อยืดสรีนลายภูกระดึงกับพวงกุญแจอันเป็นสินค้ามาตรฐาน แต่ยังไม่ซื้อตอนนี้หรอกครับ รอขากลับดีกว่า  ไม่อยากแบกอะไรเพิ่มเติม เดี๋ยวจะพานขึ้นไม่ไหว ก็ขนาดกระเป๋ากล้องคู่ใจที่สะพายอยู่ เดินๆ ไปยังอยากโยนทิ้งไว้ข้างทางเลย




                กำลังดูของที่ระลึกเพลินๆ ได้ยินเสียงฮือฮาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นั่งพักชมวิวอยู่ริมผา แม่ค้าบอกว่าเขาตื่นเต้นกันที่เห็นฝูงลิงแดงหรือลิงไอ้เงียะ มันชอบมาห้อยโหนโจนทะเยานกันอยู่ตรงชายป่า ผมได้ยินก็รีบเดินไปดูใกล้ๆ บ้าง เห็นลิงแม่ลูกอ่อนพาลูกมากระโดดโลดเต้น ไต่ขึ้นไต่ลงอยู่บนคบไม้ใกล้ๆ แหม บรรยากาศช่างเป็นธรรมชาติจริงๆ


                รอจนข้าวในท้องเรียงเม็ดได้ที่แล้ว ผมก็ออกเดินต่อไป ผ่านด่านช้างที่อยู่ริมทางหลังก้อนหินใหญ่ จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนผมเดินขึ้นมาเจอช้างป่าอาละวาดหักไม้เสียงดังผัวะผะอยู่ในหุบข้างทางพอดี ระทึกใจน่าดู ยังปีนก้อนหินถ่ายภาพเก็บเอาไว้ ได้แค่หัวกับหลังผลุบโผล่อยู่ในดงไม้ แต่ก็เป็นภาพถ่ายช้างป่าภาพแรกในชีวิตที่สุดแสนประทับใจของผมละครับ หยิบมาดูทีไรก็ตื่นเต้นทุกที มาตอนนี้มีป้ายเขียนไว้แล้วว่า อันตรายห้ามเข้า ฝ่าฝืนปรับ ๑,๐๐๐ บาท (ความจริงใครทะเล้นเข้าไปคงจะมีหวังโดนช้างเหยียบตาย ไม่รอดออกมาให้เจ้าหน้าที่ปรับหรอก ผมว่า)               


                 เดินเรื่อยๆ ไม่นานก็ถึงชำแค่ จุดพักสุดท้ายก่อนขึ้นสู่หลังแป  ถึงตรงนี้ผมต้องหยุดพักเอาแรง ดื่มน้ำดื่มท่าให้เรียบร้อย จากตรงนี้ไปเป็นทางขึ้นเขาอีก ๑,๓๐๐ เมตร ถือว่าเป็นช่วงยาวที่สุดแถมไม่ใช่ทางดินเรียบๆ ธรรมดาอย่างที่เดินผ่านมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นทางขึ้นเขาชันที่เต็มไปด้วยหินสารพัดขนาดทั้งก้อนเล็กก้อนใหญ่ระเกะระกะ

               คิดดูสิครับ เดินมากำลังเมื่อยล้าได้ที่ ต้องมามะงุมมะงาหราไปตามทางชันที่ขรุขระตะปุ่มตะป่ำด้วยโขดหินเล็กบ้างใหญ่บ้าง แทบทุกย่างก้าวต้องยกเท้าขึ้นสูงๆ มองหามุมเหมาะบนก้อนหินหรือซอกหินที่จะวางเท้าลงไป ผิดเหลี่ยมผิดมุมอาจจะลื่นข้อเท้าพลิกหกล้มหกลุกเดี้ยง” เอาง่ายๆ แต่ขนาดระมัดระวังอย่างนี้ผมก็ยังลื่นไถลจับกบได้แผลเลือดซิบๆ แถวหน้าแข้งมาเป็นที่ระลึกเลย เดินระวังๆ กันหน่อยก็ดีครับ โรงพยาบาลบนภูไม่มีนะ จะบอกให้


                ในที่สุดหลังจากตะเกียกตะกายป่ายปีนหินน้อยใหญ่กับไต่บันไดเหล็กชันดิกที่มีอยู่เป็นระยะอีก  แห่ง ผมก็ขึ้นมาถึงบริเวณที่เรียกว่าหลังแปจนได้  เดินไปหยุดชมวิวริมผา ความเหน็ดเหนื่อยบนหนทางวิบากที่ผ่านมาพลันปลิดปลิวลอยหายไปกับสายลมที่พัดโชยเย็นสบาย มองไปเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่กำลังเฮฮาถ่ายภาพหมู่กับป้ายข้อความ “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราได้เป็นผู้พิชิตภูกระดึง” ก็อดไม่ได้ที่จะยิ้มไปกับเขาด้วย แฮ่ม...เราก็เป็นหนึ่งในผู้พิชิตวันนี้เหมือนกัน

                นึกไปถึงข่าวที่เคยได้ยินว่าจะมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ถ้าสร้างตอนนั้น ขึ้นภูวันนี้ก็คงกร่อยละครับ ไม่มีความสนุกเร้าใจ ป้ายผู้พิชิตภูกระดึงก็คงจะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะไม่ต่างกับการขึ้นลิฟต์ในห้างสรรพสินค้าที่ไหนสักแห่งที่ใครๆ ก็ขึ้นได้ เอาไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่มีใครเขาตื่นเต้นหรอก

                ไม่เหมือนกับที่เดินขึ้นมาด้วยสองขาของตัวเองครับ ภูมิใจกว่ากันเยอะ เก็บเอาไปเล่าได้ชั่วลูกชั่วหลานเลยเชียวละ



ขี่จักรยานท่องสวนสรรค์บนยอดภู


ไม่ได้มาเสียนาน แต่ทิวทัศน์บนหลังแปที่เห็นยังดูเหมือนเดิม ที่แตกต่างไปเห็นจะเป็นตรงที่ปกติเมื่อขึ้นมาถึงแล้วจะต้องเดินต่อไปอีก  กิโลเมตร ถึงจะเจอจุดพักแรม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง แต่คราวนี้ผมไม่ต้องเดินครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เขามีโครงการจักรยานบนภูกระดึงไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวแล้ว เพิ่งมีได้ปีสองปีนี่เอง


 ตรงหลังแปจะมีจุดบริการจักรยานอยู่ ผมประสานงานกับคุณเทอดศักดิ์  ศรีทองคำ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการฯ มาล่วงหน้าตั้งแต่อยู่ตีนภูแล้ว ก็เลยเข้าไปรับจักรยานเสือภูเขาแบบ  เกียร์มาขี่ปร๋อไปตามเส้นทางเลียบหน้าผา (คนละเส้นกับทางคนเดิน) พอถึงผาหมากดกก็เลี้ยวขวา ก่อนปั่นผ่านทุ่งตรงเข้าไปที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางระยะทางประมาณ  กิโลเมตรครึ่ง    


 ปั่นนกชมไม้ยังไม่ทันเหนื่อยก็ถึงเสียแล้ว เร็วกว่าเดินเยอะเลย ที่ศูนย์ฯ วังกวางเขาก็จะมีจุดบริการจักรยานอีกจุดหนึ่งครับ เป็นเต๊นท์ใหญ่ใกล้กับบ้านพักของอุทยานฯ ขี่มาถึงก็เอาจักรยานไปคืนที่ตรงนี้ได้เลย เพราะเขาจำกัดพื้นที่ในส่วนของลานกางเต๊นท์ไม่ให้เอาจักรยานเข้า เดินมือเปล่าตัวปลิวไปรับสัมภาระติดต่อใช้สถานที่กางเต๊นท์ พร้อมทั้งเช่าเครื่องนอน คือหมอนกับผ้าห่ม ไว้เตรียมสู้กับลมหนาวยามค่ำคืน ช่วงที่ผมมานี่ไม่ใช่หน้าเทศกาล ยังไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวเท่าไหร่  มีเต๊นท์กางอยู่ไม่กี่หลัง ผมเลยเลือกทำเลในลานกว้างกางเต็นท์ได้ตามชอบใจ สบายแฮ


                กางเต็นท์เก็บสัมภาระเสร็จสรรพยังมีเวลาเหลือ เกร่กลับไปที่จุดบริการจักรยานอีกที คุณพิกุล ชูสกุล เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอีกคนที่อยู่โยงรักษาการณ์ก็เลยมอบหมายให้น้องๆ ทีมงานนำทางผมขี่จักรยานย้อนกลับไปชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูกตามสูตรการเที่ยวภูกระดึงวันแรกเสียหน่อย เสียดายวันนี้อากาศไม่ค่อยเป็นใจ มีเมฆก้อนใหญ่มาบังแสงสุดท้ายจนไม่เห็นสีสัน แต่ผมก็กินลมชมบรรยากาศนั่งดูไปจนขอบฟ้ามืดสนิทนั่นแหละครับ ก็พอดีกับคุณเทอดศักดิ์ที่ไปธุระข้างล่างกลับขึ้นมาสมทบพอดีเลยพากันขี่จักรยานกลับ


เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมค่อยพาไปขี่ดูเส้นทางจักรยาน” คุณเทอดศักดิ์ว่า



                ผมชักเริ่มติดใจการขี่จักรยานเที่ยวบนภู ลองแล้วเข้าท่าครับ ไปไหนมาไหนรวดเร็วทันใจดีจริงๆ เมื่อก่อนมาดูพระอาทิตย์เสร็จกว่าจะเดินกลับถึงที่พักก็เดินกันอานครับ คราวนี้ปั่นสบายๆไม่กี่นาทีก็ถึง ได้กลับมาอาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลาที่ร้านค้าอย่างสบายใจแต่หัวค่ำก่อนเข้าเต็นท์นอนเพราะความเหนื่อยล้าที่เดินขึ้นภูมาทั้งวัน แถมยังมาปั่นจักรยานต่อเป็นของแถมอีก ล้มตัวนอนก็หลับอุตุเป็นตาย

 มาตื่นเอาตอนตีสามเห็นจะได้ ก่อนนอนดื่มน้ำมากไป อากาศเย็นทำให้เกิดอยากเข้าห้องน้ำขึ้นมา ออกจากเต็นท์ก็ต้องตกใจครับ เพราะในลานกว้างที่กางเต็นท์มีตัวอะไรบางอย่างเดินตะคุ่มๆ อยู่เป็นฝูง เอาไฟฉายส่องดู ปรากฎว่าเป็นกวางป่าครับ ทำให้นึกไปถึงประวัติของภูกระดึงที่ว่า นายพรานตามรอยกระทิงขึ้นมาจนพบลานกว้างบนหลังแปภูกระดึง ซึ่งตอนนั้นเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มาเห็นอย่างนี้ก็พอจะจินตนาการภาพภูกระดึงสมัยแรกพบใหม่ๆ ได้บ้าง

                 “ไม่ใช่แค่กวางนะครับ หมูป่า หมาจิ้งจอก หรือแม้แต่หมาไน บางทีก็เข้ามาให้เห็นบ่อยๆ” คุณเทอดศักดิ์บอกกับผมในเช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ผมเล่าเรื่องกวางที่เห็นให้ฟัง ช้างป่าก็ยังมี ตัวใหญ่เสียด้วย ช่วงนี้มันเดินไปเดินมาอยู่แถวผานกแอ่น

 มิน่า เมื่อวานผมได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศว่าใครจะไปชมพระอาทิตย์ที่ผานกแอ่นในตอนเช้า ให้รวมตัวไปพร้อมกันกับเจ้าหน้าที่ ที่แท้มีช้างป่านี่เอง


                 ผม คุณเทอดศักดิ์ และน้องทีมงามอีกคน จูงจักรยานเดินเรียงแถวกันออกมาจากจุดบริการวังกวาง โชคดีที่แดดไม่ร้อน วันนี้เราจะไปปั่นเสือภูเขาตามเส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานกัน ตอนแรกผมเข้าใจว่านักท่องเที่ยวขึ้นมาก็เช่าจักรยานขี่เที่ยวได้ตามใจ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นครับ เขาก็มีระเบียบกฎเกณฑ์เอาไว้เหมือนกัน เพื่อควบคุมดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

 อันดับแรกก็คือ จะต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขี่ว่าขี่จักรยานเก่งพอไหม โดยเฉพาะในเส้นที่ระยะทางค่อนข้างไกลต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะต้องผ่านทางวิบากหลายจุด  ที่สำคัญต้องมีเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ นำทางไปด้วย คอยดูแลความปลอดภัยแลอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดข้อห้ามอื่นๆ อีกพอสมควร เช่น ห้ามขี่เร็วเกินควร ห้ามออกนอกเส้นทางที่กำหนด ห้ามนำจักรยานเข้าใกล้หน้าผาเกินกว่า ๕๐ เมตร และห้ามจอดจักรยานนอกบริเวณที่กำหนด 

 “เราจะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อยู่ตามจุดต่างๆ ครับ ถ้าเห็นใครทำกฎที่เราตั้งเอาไว้ อาจทำให้เกิดอัตราย ก็จะระงับการขี่ทันที ที่ผ่านมาก็เลยยังไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง” คุณเทอดศักดิ์เล่าขณะขี่รถพาผมไปตามเส้นทาง



                เลี้ยวรถเข้าไปในลานพระพุทธเมตตาเป็นอันดับแรก เป็นธรรมเนียมที่ผู้มาเยือนจะต้องมาสักการะองค์พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอยู่กลางลานหินเพื่อเป็นสิริมงคลกับการเดินทาง

                ตามประวัติว่า พระพุทธรูปองค์นี้ หลวงวิจิตรคุณสาร นายอำเภอวังสะพุง ได้ร่วมกับราษฎรสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๓  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระและบริเวณโดยรอบที่ทรุดโทรม รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเบิกพระเนตรและสวมพระเกศ พร้อมทั้งพระราชทานนามว่าพระพุทธเมตตา ทางอุทยานฯ จึงได้ตั้งชื่อลานหินบริเวณนี้ว่าลานพระศรีฯ เพื่อรำลึกถึง “สมเด็จย่า” ตอนผมขี่จักรยานเข้ามาเจ้าหน้าที่เพิ่งจะปักป้ายใหม่เสร็จพอดี



   ไหว้พระสบายอกสบายใจดีแล้ว ก็พากันขี่จักรยานต่อไปยังน้ำตกถ้ำใหญ่ครับ ตัวน้ำตกอยู่ต่ำลงไปด้านล่าง ต้องจอดจักรยานลงเดินไปในหุบ ระหว่างทางคุณเทอดศักดิ์ชี้ให้ผมดูลานหินและโขดหินใหญ่ที่เดินผ่าน ช่วงตุลาฯ – พฤศจิกาฯ ที่ผ่านมาตรงนี้มีข้าวตอกฤาษีเขียวเต็มไปหมด บนหินนั่นก็มีเอื้องคำหินสิงโตรวงทองด้วย แล้วก็ช่วงมกราคมนี่ ถ้ามาแถวนี้ก็จะเจอกล้วยไม้ประเภทสิงโตสยาม ถัดไปช่วงมีนาฯ-เมษาฯ จะมีเอื้องแซะภูกระดึง เอื้องคำ เอื้องนิ้วนาง ยอดสร้อย... โอ้โฮ ท่าทางจะละลานตาดีแท้ เสียดายที่ผมมาไม่ตรงช่วงเวลาเลยไม่ได้เห็น

                เสียงน้ำตกดังซู่ซ่าแว่วมา ทว่าดังแต่เสียงครับ พอเดินลงไปถึงจริงๆ ปรากฎว่าเพิงผาเขียวครึ้มด้วยตะไคร่มีแค่ธารน้ำน้อยไหลรวยริน (ยังกับน้ำประปาที่บ้านผมแนะ) แต่จุดสนใจของน้ำตกถ้ำใหญ่แห่งนี้ คือเมื่อเดินลงไปจะเห็นหุบใบเมเปิลสีแดงร่วงหล่นปกคลุมทั่วโขดหินที่ระเกะระกะ กระทั่งในลำธาร แลเห็นนักท่องเที่ยววัยรุ่นหญิงชายกลุ่มใหญ่ลงไปวี้ดว้ายกระตู้วู่ถ่ายภาพกันอยู่เป็นที่สนุกสนาน

                “จากน้ำตกถ้ำใหญ่ ถ้าจะไปน้ำตกเพ็ญพบต้องเดินต่อไปอีก ๒ กิโลฯ ปกติทัวร์จักรยานจะไม่พาไปครับ เพราะเดินค่อนข้างไกล รวมไปกลับ  กิโลฯ ยกเว้นนักท่องเที่ยวอยากจะไปกันจริงๆ นั่นแหละถึงจะพาไป” คุณเทอดศักดิ์บอกขณะขี่จักรยานนำต่อไปยังบริเวณน้ำตกธารสวรรค์ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก สภาพที่เห็นก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่กับถ้ำใหญ่ คือน้ำไม่ค่อยมี


 สมัยมาเที่ยวครั้งแรกๆ เวลาจัดโปรแกรมเที่ยวกัน มักจะจัดให้เที่ยวดูน้ำตกวันหนึ่งไปเลย แต่พอมาหลายครั้งเข้าชักเริ่มรู้แกวแล้วครับ ว่าหน้าหนาวอย่างนี้น้ำตกแต่ละแห่งไม่ค่อยมีน้ำให้ดูหรอก ถ้าจะดูน้ำตกจริงๆ ต้องมาเที่ยวช่วงเปิดภูใหม่ๆ ปลายฝนต้นหนว ยังพอมีลุ้นมีน้ำให้เห็นบ้าง หลังๆ ผมก็เลยไม่ค่อยสนใจไปดูแล้วครับน้ำตก ก็สอดคล้องกับโปรแกรมจักรยานพอดี เพราะมีเที่ยวชมน้ำตกแค่นี้ ต่อไปก็จะเป็นเส้นทางเลียบหน้าผาล้วน

จากธารสวรรค์คุณเทอดศักดิ์ปั่นลิ่วนำหน้าพาผมไปตามทางดินที่ตัดผ่านทุ่งหญ้าป่าสนกว้างใหญ่ แซงกลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่เดินย่ำต๊อกกันอยู่ขึ้นไป แต่ละคนต่างพากันมองตามจักรยานของเราอิจฉาเป็นตาเดียว

ขอขี่หลังไปด้วยคนได้ไหม” เสียงใครก็ไม่รู้แซวตามหลังมา

 ความจริงก็น่าอิจฉาอยู่หรอกครับ เพราะถ้าเดินระยะทางประมาณ  กิโลฯ  ถือว่าค่อนข้างไกลเชียวแหละ กว่าจะไปถึงสระอโนดาต แต่เราขี่จักรยาน  แป๊บเดียวก็ไปปร๋อกันอยู่ริมบึงกว้างใหญ่แล้ว  มองออกไปเห็นผืนน้ำใสปิ๊งเหมือนกับกระจกสะท้องท้องฟ้าสีคราม ปุยเมฆขาว กับทิวสนที่ขึ้นเรียงราย ลมพัดโกรกเย็นสบายคลายเหนื่อย  พักใหญ่กลุ่มนักท่องเที่ยววัยโจ๋ถึงได้เดินมาทัน หาที่เหมาะๆ ทิ้งตัวลงนั่ง งัดเอาข้าวห่อออกมาปิคนิกกัน ท่าทางจะหิว คงเพราะออกแรงเดินไกล ส่วนของเราไม่ต้องพกอะไรมากิน


             “เดี๋ยวขี่จักรยานไปริมผา มีร้านอาหารเยอะแยะ คุณเทอดศักดิ์ว่า แล้วพาขี่ลัดตัดทุ่งหญ้าป่าสนกว้างใหญ่ ระยะทางประมาณกิโลฯ กว่าออกมาโผล่ริมผานาน้อยริมทางมีร้านอาหารให้บริการเป็นเพิงอย่างดี แต่เรายังไม่กินข้าวกันตรงนี้หรอกครับ เพราะยังไม่หิว แวะดื่มน้ำพักเหนื่อยแป๊บนึง ก่อนจะเลี้ยวขวาออกปั่นเดินทางต่อไป

                อีกประมาณกิโลฯ ครึ่งก็มาถึงผาเหยียบเมฆ ตรงนี้ก็มีเพิงขายอาหารเรียงรายอยู่อีกเหมือนกัน คุณเทอดศักดิ์จอดรถเดินพาไปดูทางด้านหลังร้าน มีดงกุหลาบขาวอยู่ ดอกกำลังบานสะพรั่งสวยงามทีเดียว กุหลาบขาวตรงนี้บานช่วงเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่อื่นๆ บนภูกระดึงที่จะบานตอนช่วงเดือนมีนาคม


                

                        ชมกุหลาบขาวแล้วเราสามหนุ่มก็พากันปั่นต่อไป ทางชักจะเริ่มลาดชันขึ้น ต้องออกแรงปั่นมากหน่อย ยังดีที่ระหว่างทางช่วงนี้มีดอกไม้ป่านานาพรรณสะพรั่งบานอยู่ตามพงหญ้าริมทางให้หยุดถ่ายภาพกันอยู่เรื่อยๆ เป็นการพักเหนื่อยไปในตัว ผ่านผาแดงไปแล้ว ช่วงนี้นอกจากทางจะลาดชันขึ้น ผิวทางยังเริ่มเป็นทรายด้วย ขี่ลำบากหนักแรงขึ้นอีก มิน่าเล่าเขาถึงไม่ให้นักท่องเที่ยวที่ขึ่จักรยานยังไม่แข็งมาเส้นทางนี้ เพราะขึ้นมามีหวังล้มลุกคลุกคลาน อันตรายไม่งั้นก็ต้องลงเข็นกันอานไปเลยแหละ

                “ช่วงหน้าฝนทรายเปียก พื้นมันจะแน่น ขี่ได้สบาย แต่พอแห้งมันจะเป็นทราย ทำให้ขี่ค่อนข้างยาก” คุณเทอดศักดิ์หันมาบอก

                พากันกัดฟันปั่นตะลุยทางทรายต่อไปอีกพักใหญ่ ในที่สุดก็มาถึงจุดหมายปลายทางคือผาหล่มสัก จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกยอดนิยมที่ฮิตถึงขนาดต้องเข้าคิวต่อแถวถ่ายภาพกันในช่วงเทศกาล จำได้ว่ามาคราวแรกเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาปูเสื่อนั่งขายอาหาร ขนมหวาน ซื้อแล้วก็นั่งยองๆ กินกันแถวนั้น ได้อารมณ์ไปอีกแบบ มาคราวนี้มีเพิงขายอาหารเรียงรายเป็นแถว นึกเสียดายบรรยากาศเก่า ๆ เหมือนกัน

                แวะกินข้าวปลาอาหารอิ่มหมีพีมันแล้วผมก็ลองเดินไปดูริมผา ชะง่อนหินกับกิ่งสนระดับซูเปอร์สตาร์อันเป็นมุมยอดฮิตยังคงมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปถ่ายภาพด้วยไม่ขาดสาย ท่าทางตอนพระอาทิตย์ตกนักท่องเที่ยวคงจะมากมายก่ายกอง พวกเราก็เลยพยักพเยิดกันปั่นจักรยานย้อนกลับ เที่ยวนี้เป็นทางลาดยางลงสบายหน่อย แผล็บเดียวก็กลับมาถึงผานาน้อยที่เราออกมาตอนแรก



                 แต่เราไม่ย้อนกลับทางเก่าครับ ปั่นตรงดิ่งเลยไปทางผาจำศีล ช่วงนี้ก็เป็นอุกจุดหนึ่งที่ทางเป็นทราย ปั่นลำบากเหมือนกันครับ เล่นเอาหอบซี่โครงบานเหมือนกันครับ แต่เห็นแสงแสดกำลังอ่อนลงเป็นสีทองผ่องอำพันก็เลยต้องรีบปั่นเป็นการใหญ่ กลัวไปดูพระอาทิตย์ตกไม่ทัน

                มาถึงผาหมากดูกก็พอดีกันกับที่ดวงอาทิตย์กำลังเป็นดวงสีส้มกลมโตใกล้ลับขอบฟ้า นักท่องเที่ยวไม่น้อยครับที่มารอส่งดวงตะวันกลับบ้าน ดีที่พื้นที่ค่อนข้างกว้างขวางกว่าตรงผาหล่มสัก ก็เลยไม่แออัดยัดเยียดจนเกินไป ยืนชม นั่งชม นอนชมแสงสุดท้ายของวันกันได้จบรายการก็ปั่นจักรยานกลับศูนย์ วังกวางตามทางเดิมเมื่อวานนี้แบบสบายๆ ไร้กังวล

                ข้อดีที่เห็นได้ชัดของการท่องเที่ยวด้วยจักรยานก็คือ ช่วยย่นระยะเวลาในการเที่ยวบนภูให้ลดลงได้ จากปกติที่ต้องประมาณ ๓ วัน พอมาขี่จักรยานเหลือแค่วันเดียวก็ยังไหว เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่หยุดงานหลายๆ วันไม่ได้ก็มีโอกาสมาเที่ยวภูกระดึงกับเขาบ้างละครับ ส่วนคนที่มีเวลาเที่ยวได้หลายวันอยู่แล้วก็จะมีเวลาเลือกซึมซับบรรยากาศในจุดที่ชอบได้นานขึ้น มากขึ้น



เป็นอันว่ามาภูกระดึงคราวนี้ นอกจากผมจะได้รำลึกความหลังดีๆ แล้ว ก็ยังได้มาเจอกับสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้ยิ่งประทับใจในภูกระดึงมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้กลับลงมาจะปวดเมื่อยขา แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของความประทับใจ ดีกว่าขึ้นสบายลงสบายเพราะนั่งกระเช้า แต่ไม่มีความประทับใจอะไรเลย

                ยังดีนะ ที่ช่วงนี้ข่าวการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงชักจะเงียบๆ ไปแล้ว แต่ก็ไม่แน่ครับ วันไม่ดีคืนดีเรื่องนี้อาจ “คัมแบ๊ก” กลับมาอีกก็ได้

                ส่งท้ายนี้ก็เลยอยากจะเสนอไอเดียพวกนายทุนทั้งหลายที่อยากสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนักหนา ให้ลงขันหุ้นกันไปซื้อภูเขาสักลูก ตั้งชื่อว่าภูกระดุ๊กกระดุ๋ยอะไรก็ได้ (จะได้คล้ายๆ ภูกระดึงไง)  ทีนี้อยากจะทำอะไรก็ทำ สร้างรีสอร์ต น้ำตก ลำธาร สวนหย่อม อะไรต่อมิอะไร สร้างไปเลย ขนสารพัด กิจกรรมอำนวยความสะดวกที่อยากให้มีผับ บาร์ คาราโอเกะ ห้างสรรพสินค้าทั้งหลายขึ้นไปไว้บนนั้น รวมทั้งกระเช้าขึ้นภูที่อยากได้กันนัก ก็สร้างเสียให้สาแก่ใจ สร้างให้รอบภูเลยก็ได้ ไม่มีใครว่า ประเทศไทยเราก็จะได้มีแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่สำหรับพวกที่รักความสะดวกสบายขึ้นมาอีกแห่ง เย้วกันได้เต็มที่

                ภูกระดึงก็จะได้ปลอดภัยจากกระเช้าเสียที ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนสอนการท่องเที่ยวธรรมชาติให้คนรักการเดินทางรุ่นต่อๆ ไป

                ผมเองก็จะได้กลับมารำลึกความหลังครั้งวันวานยังหวานอยู่ของผมได้เรื่อยๆ ด้วย



 


ขอขอบคุณ คุณเทอดศักดิ์  ศรีทองคำ คุณพิกุล  ชูสกุล และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคน ที่ได้อำนวยความสะดวกให้สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


คู่มือนักเดินทาง
                 
                   การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติภูกระดึงสามารถไปได้หลายวิธี

 ทางรถยนต์
                  
                  เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข  พหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี ตรงไปเข้าทางหลวงหมายเลข 21ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าสู่อำเภอหล่มสัก จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒ หล่มสัก- ชุมแพ เลยอำเภอคอนสารไปจะพบทางแยกบ้านโนนหัน เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ โนนหัน-เลย ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๙ ที่แยกอำเภอภูกระดึง ตรงไปตามทางประมาณ  กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ

                เส้นทางที่สอง  จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข  พหลโยธิน ไปเลี้ยวขวาที่จังหวัดสระบุรี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข  ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ตรงไปจนถึงจังหวัดขอนแก่น เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๒ ผ่านอำเภอชุมแพ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๙ ตรงไปตามทางประมาณ  กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ

1 ความคิดเห็น:

  1. เยี่ยมมากครับ ผมเป็นอีกคนนึงที่รักภูกระดึงมาก ๆ ไปที่นี่ซ้ำ ๆ หลายรอบแต่ก็ไม่มีคำว่าเบื่อเลย

    ตอบลบ