วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567

"มหาธาตุแห่งพระนคร" วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

 


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

            ตามธรรมเนียมแต่โบราณของไทย นครน้อยใหญ่ไม่ว่าแห่งใด ต่างก็ต้องมีวัดมหาธาตุอันประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประจำเมือง เพื่อเป็นศิริมงคลและศรีสง่าแก่บ้านเมือง

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงแห่งสยามประเทศก็เช่นกัน   

เจดีย์ประธานของวัดสลัก ที่เป็นวัดดั้งเดิม

            วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร คือมหาธาตุแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมนามว่า “วัดสลัก” เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากหลักฐานแผ่นศิลาจารึกดวงชะตาที่บรรจุไว้ที่ฐานพระประธาน ระบุว่าสถาปนาวัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๒๒๘ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  

ศิลาจารึกระบุปีที่สร้างวัด ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่บริเวณฐานหลวงพ่อหิน

เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งยังเป็นนายบุญมา ได้ล่องเรือมายังธนบุรี พบกับด่านตรวจของพม่าบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ได้มาอาศัยบริเวณวัดสลักแห่งนี้ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างหลบทัพพม่า โดยได้ทรงตั้งสัตย์อธิษฐานต่อหลวงพ่อหิน พระประธานในอุโบสถว่าหากพระองค์รอดชีวิตไปได้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง จะทรงกลับมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักแห่งนี้ให้งดงามบริบูรณ์   

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี ๒๓๒๕ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงรำลึกถึงคำสัตย์อธิษฐานที่ได้ทรงให้ไว้ จึงทรงมาปฏิสังขรณ์วัดสลักเป็นวัดที่คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  ที่ประทับของพระองค์  ทรงสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นมาในปีพ.ศ. ๒๓๒๖  แล้วสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า วัดนิพพานนาราม”  

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

   ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ภายหลังจากวัดนิพพานารามได้ใช้เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามใหม่เป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์”  ก่อนที่ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ จะโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดมหาธาตุ” เนื่องจากวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ ณ ภายในพระมณฑป และเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งเพื่อให้เป็นหลักของพระนครในกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา

                ตลอดระยะเวลาอันยาวนานมีการปรับปรุงซ่อมแซมวัดมหาธาตุมาเป็นลำดับ ครั้งใหญ่ ๆ คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๘๗ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุด้วยการก่ออิฐถือปูนเสนาสนะใหม่ทั้งพระอาราม และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สิ้นพระชนม์ได้ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการปฎิสังขรณ์ปูชนียสถานสำคัญของวัดมหาธาตุ ได้แก่ พระมณฑป  พระอุโบสถ  และพระวิหาร โดยเฉพาะหน้าบันพระวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนลายประดับเป็นรูปจุลมงกุฎของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”

พระมณฑป ประดิษฐานเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นประธานของวัด

    ปูชนียวัตถุสำคัญและมีความงดงามไม่ควรพลาดชมภายในวัดแห่งนี้ คือ พระมณฑป ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเป็นประธานของวัดแต่แรก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร โดยทรงพระราชทานเครื่องไม้สำหรับสร้างปราสาทในวังหน้ามาใช้สร้างพระมณฑป แต่ต่อมาไม่นานเกิดอุบัติเหตุถูกเพลิงไหม้ไปพร้อมกับพระอุโบสถและพระวิหาร  จึงทรงให้สร้างใหม่และปรับเปลี่ยนจากยอดมณฑปเป็นหลังคาทรงโรงอย่างในปัจจุบัน แต่ยังคงเรียก “พระมณฑป”ตามเดิม

                ภายในพระมณฑปมีบุษบกประดิษฐานพระเจดีย์ทองซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นประธาน รายรอบด้วยพระพุทธปฏิมาพุทธลักษณะงดงามถึง  ๒๘  องค์ ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงอัญเชิญมาจากวัดร้างตามเมืองเก่าทางภาคเหนือได้แก่ เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา นำมาประดิษฐานไว้ภายในโดยรอบพระมณฑป

เจดีย์ลบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระวิหาร

นสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ ๒๓๘๗. ทรงบูรณะวัดมหาธาตุโดยการก่ออิฐถือปูนทั้งพระอาราม ส่วนการบูรณะพระมณฑปให้รื้อเครื่องบนเปลี่ยนตัวไม้ที่ชำรุด และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ลงรักปิดทองพระเจดีย์ทอง ประดับกระจกใหม่ทั้งหลัง

พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานในพระอุโบสถ

  พระอุโบสถ เป็นอีกแห่งที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เนื่องจากหลังถูกเพลิงไหม้พระองค์ทรงให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ขยายพระอุโบสถออกจนแทบชิดกับพระมณฑป ถึงแนวเขตสีมา จึงต้องยกใบสีมาขึ้นติดบนผนัง พร้อมทั้งทำประตูให้เปิดออกด้านข้าง  สิ่งน่าชมของพระอุโบสถคือพระประธานปางมารวิชัย “พระศรีสรรเพชญ์”  รายล้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งแปดทิศ  หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แวดล้อมด้วยเทวดาเหาะด้านละสามองค์ กับลายเทพพนมอยู่เหนือขึ้นไป พื้นเป็นลายใบเทศก้านต่อดอก และใบสีมาจำหลักภาพครุฑยุดนาค ที่ติดตั้งไว้บนผนังอุโบสถ แปลกไม่เหมือนที่อื่น 

ใบเสมารูปครุฑยุดนาคติดบนมุมของอุโบสถ เป็นรูปแบบที่แปลกจากอุโบสถทั่วไป

 พระวิหาร สิ่งน่าชมคือหน้าบันพระวิหารเป็นตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยอักษรย่อ ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ.อันมีความหมายว่า เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ ที่จัดทำขึ้นในการบูรณะสมัยรัชกาลที่ ๕  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปห้าองค์  มีพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธาน สิ่งน่าสนใจคือศิลาจารึกดวงชะตาการสร้างวัด เดิมติดอยู่ที่แท่นพระประธานเดิมเมื่อยังเป็นวัดสลัก 

หลวงพ่อหิน พระประธานอวค์เดิมของวัดสลัก ประดิษฐานในวิหารเป็นหนึ่งในห้าพระพุทธรูปประธาน 

             ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปห้าองค์ โดยมี “หลวงพ่อหิน” เป็นหนึ่งในห้าพระประธานในพระวิหารนี้ โดยรอบจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า เช่น ตาลปัตรโบราณ  ไว้ในตู้ไม้กรุกระจก ด้านหลังองค์พระประธานยังจัดแสดงพระแท่นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเอาไว้อีกด้วย

พระปรางค์บรรจุอัฐิของสมเด็จพระสังฆราช

              พระเจดีย์และพระปรางค์ บริเวณพระระเบียงทางด้านเหนือพระวิหารและด้านใต้ของพระอุโบสถ  เป็นที่ตั้งของเจดีย์ด้านละองค์ พระปรางค์ด้านละองค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เดิมทั้งหมดหุ้มด้วยแผ่นดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้นำแผ่นดีบุกออก ส่วนพระปรางค์องค์ใหญ่ด้านหน้าพระมณฑปสององค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี)

  

วิหารโพธิลังกา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

     พระวิหารน้อยโพธิลังกา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เคยเป็นตำหนักที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งทรงผนวช ตั้งอยู่ทางตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จพระวันรัต (เขมจารี) เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง ที่ควรชมและสักการะคือ “พระนาก” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถวายให้ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารน้อยนี้

พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

         พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ประติมากรรมขนาดเท่าครึ่ง ประทับยืนบนเกย พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารน้อยโพธิลังกา ภายในบรรจุเนื้อดินจากแว่นแคว้นที่พระองค์เสด็จกรีธาทัพเข้ายึดครองรวมทั้งสิ้น ๒๘ แห่ง ไว้ใต้ฐาน 


       ในปีนี้เนื่องในวโรกาสที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร มีอายุครบรอบ ๓๓๘ ปี ทางวัดได้มีการจัดงานสมโภชพระอารามขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นการจัดงานสมโภชครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ โดยในงานจัดให้มีการเจริญพระพุทธมนต์ นั่งสมาธิ สวดมนต์ข้ามปี  การเสวนาทางวิชาการ มหรสพต่าง ๆ  เช่น การแสดงดนตรี  การแสดงทางวัฒนธรรม  ได้แก่ โขน รำไทย ลิเก กลองสะบัดไชย และโนราห์ การออกร้านค้าตลาดย้อนยุค 



คู่มือนักเดินทาง

     วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมท้องสนามหลวง ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าเข้าชม 


วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

สารคดี ไหว้สา “ชุธาตุ” พระเจดีย์ประจำปีเกิด รับลมหนาวที่เมืองเหนือ

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

          แสงอาทิตย์ยังซ่อนตัวอยู่ในม่านหมอกของยามเช้า ลมหนาวแรกโชยสัมผัสผิวแผ่วเบา เมื่อคณะของเราก้าวลงจากรถตู้คันเก่งที่เพิ่งเข้าจอดในลานวัดสุวรรณาราม ออกมาเดินเกร่อยู่ในกาดมุ้งทอง ตลาดเก่าที่ยังคงบรรยากาศตลาดสดแบบดั้งเดิม ด้วยโครงสร้างและแผงค้าขายภายในตลาดที่ทำด้วยไม้ทั้งหมด กับผู้คนที่ดูเป็นชาวบ้านมาจับจ่ายของสดอาหารการกินกลับไปบ้าน ไม่เห็นมีที่แต่งตัวเหมือนนักท่องเที่ยวอย่างเรา เดินไปตาก็สอดส่ายหาอะไรรองท้องกัน ความเงียบสงบของเมืองแพร่บนถนนที่เราผ่านมาทำให้พวกเราทึกทักเอาว่าเพิ่ง ๗ โมง ผู้คนคงยังไม่ออกมาเพราะว่ายังเช้าอยู่

            “โจ๊กหมดแล้วค่ะ ผัดไทยตอนเช้านี้ยังไม่ขายนะคะ” แม่ค้าบอกเมื่อพวกเรากำลังจะเดินเข้าไปนั่งในร้านหนึ่งถัดจากตลาดไปไม่ไกล ที่คิดกันว่ามาเช้าน่าจะไม่จริงเสียแล้ว ขนาดโจ๊กยังไม่เหลือเลย ท้ายสุดเราเลือกได้ร้านกาแฟโบราณหน้าตลาด ที่คุณลุงเจ้าของร้านกำลังยืนชงกาแฟอย่างสุขุม เติมพลังกันด้วยไข่ลวกและกาแฟร้อนคนละแก้ว พลางนั่งชมทิวทัศน์ร้านสะดวกซื้อหลากยี่ห้อที่เรียงรายเป็นแถวอยู่ฟากตรงข้าม ดูช่างแตกต่างกันเหมือนอยู่คนละมิติ


สัญจรเส้นทางกุศลเพื่อมงคลชีวิต

          เสียงเพลงชาติดังขึ้นพร้อม ๆ กับแดดอุ่นเริ่มสาดแสงลงมาให้เห็น เป็นสัญญาณดีดพวกเราเด้งขึ้นจากเก้าอี้ ไม่ใช่ด้วยความรักชาติ แต่เพราะได้เวลาเริ่มต้นการเดินทางกัน

อย่างที่ทราบกันดีครับ หลายปีที่ผ่านมานี้เราทุกคนต่างได้พบเจอกับช่วงเวลาวิกฤตจากมหันตภัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ กันมาอย่างยาวนาน เพิ่งจะกลับมาสู่สภาวะปกติจริง ๆ ก็เดือนตุลาคมปีนี้เอง เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจสำหรับการเริ่มต้นดำเนินวิถีชีวิตตามปกติกันอีกครั้ง ผมจึงเห็นว่าควรจะประเดิมอย่างเป็นทางการ เป็นการรับลมหนาวที่ปีนี้มาจริงจังตั้งแต่กลางเดือนตุลาฯ ด้วยการเดินทางท่องเที่ยวสร้างสิริมงคลด้วยเส้นทางวงรอบสักการะพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดกันก่อนน่าจะดีที่สุด

ชาวล้านนาได้ผสมผสานความเชื่อที่ว่าการสักการะสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุได้บุญกุศลสูง เข้ากับความเชื่อเรื่อง“ตั๋วเปิ้ง” หรือสัตว์ประจำปีเกิด ๑๒ นักษัตร  โดยตั๋วเปิ้งที่ว่านี้ทำหน้าที่เป็นสื่อนำดวงวิญญาณไปพำนักอยู่ชั่วคราวที่ “จุ๊ธาตุ” (สะกดเป็นตัวอักษรว่า “ชุธาตุ” หมายถึง เจดีย์ที่บรรจุ) หรือพระธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตรของแต่ละคนก่อนเกิด เมื่อถึงเวลาเกิด ดวงวิญญาณจึงค่อยย้ายไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของบิดา ๗  วัน ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา แล้วถือกำเนิดออกมาเมื่อครบกำหนดคลอด จนกระทั่งเมื่อตายลง ตั๋วเปิ้งก็จะพาดวงวิญญาณกลับไปสถิตอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดองค์เดิมรอไปเกิดใหม่


เป็นที่มาของความเชื่อที่ว่าผู้ที่เกิดในแต่ละปีนักษัตรควรต้องหาทางไปสักการะ “จุ๊ธาตุ” หรือสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุประจำปีเกิดของตนเองให้ได้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเป็นบุญกุศลและสิริมงคลแก่ตนเอง โดยได้กำหนดพระธาตุประจำปีนักษัตรไว้ดังนี้  ปีไจ๊ (หนู) พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ปีเป้า (วัว) พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ปียี่ (เสือ) พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ ปีเม้า (กระต่าย) พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ปีสี่ (งูใหญ่) เจดีย์วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ปีไส้ (งูเล็ก) พระเจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา ประเทศอินเดีย หรือพระเจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา วัดโพธารามมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่  ปีสง้า (ม้า) พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมาร์ หรือพระบรมธาตุ จังหวัดตาก ปีเม็ด (แพะ) พระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ปีสัน (ปีลิง) พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ปีเล้า (ไก่) พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ปีเส็ด (หมา) พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือพระธาตุอินทร์แขวน ในประเทศเมียนมาร์  ปีกุญ(ช้าง) พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

          จำได้แม่นเลยครับ แรกรู้ว่าพระธาตุประจำปีเส็ดหรือปีจอ (ปีเกิดของผม) อยู่ที่ไหน ผมนี้ร้องจ๊ากเลย ด้วยอยู่คนละภพภูมิ คนละมิติกัน จะไปสักการะอีท่าไหน องค์จำลองคือพระธาตุอินทร์แขวน ยังอยู่ตั้งเมียนมาร์ ประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าไกลกว่าเพื่อน ๆ ในบรรดาพระธาตุประจำปีเกิดด้วยกัน ขนาดปีสันหรือปีวอกคือพระธาตุพนมว่าอยู่ไกลคนละภาค เพราะอยู่ที่อีสาน แต่ก็ยังอยู่ประเทศไทย ของปีอื่นก็อยู่ในอาณาเขตดินแดนล้านนาทั้งนั้น 

            แม้ออกจะน้อยใจในช่วงแรก แต่ต่อมาไม่นาน กลายเป็นว่าพระธาตุประจำปีเกิดของผม “ฮิต” กว่าของปีเกิดไหน ๆ ไปซะงั้นครับ นอกจากจะยกให้พระธาตุวัดเกตการามที่เชียงใหม่เป็นองค์แทนแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนจำลองขึ้นอีกมากมายในหลายจังหวัดทั่วไทย รวมทั้งที่จังหวัดแพร่นี้ด้วย


ไหว้อินทร์แขวนเมืองแพร่ ช่อแฮปีขาล

 ระยะทาง ๑๙ กิโลเมตรนับจากกาดมุ้งทองดูไม่ไกล โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ถนนสายเล็กลดเลี้ยวลัดเลาะเข้าไปในขุนเขาที่แวดล้อมด้วยผืนป่าธรรมชาติเขียวครึ้ม นั่งชมทิวทัศน์ไปเพลินตาเพลินใจ กระทั่งมองไปเห็นองค์พระน้อยใหญ่และเจดีย์สีทองอร่ามของศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยาราม พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๙ โผล่พ้นแนวแมกไม้บนแนวเขาหินปูนธรรมชาติอยู่ลิบ ๆ  

  จอดรถไว้ที่ลานจอดเล็ก ๆ ด้านหน้า เดินเลียบเลาะผาหินขึ้นไปตามทางร่มรื่นด้วยแมกไม้เพียงประมาณ ๒๐๐ เมตร ขึ้นบันไดไปอีกยี่สิบกว่าขั้น ก็พบกับพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง องค์เจดีย์สีทองเด่นเหนือก้อนหินใหญ่ตระหง่าน  ประเด็นสำคัญคือผมดันลืมหยิบดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมาด้วย ทางวัดอุตส่าห์จัดวางไว้อย่างดีพร้อมตู้บริจาคตรงข้ามบันได ต้องเดินกลับลงมาแล้วขึ้นไปใหม่อีก เมื่อยสองรอบ (หวังว่าจะได้บุญเพิ่มขึ้นด้วยนะแฮ่ม)


ตำนานความเป็นมาของพระธาตุอินทร์แขวนเล่าไว้ว่าในสมัยพุทธกาล บรรดาผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็สร้างสถูปเจดีย์เพี่อเก็บรักษา ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า แต่กลับซ่อนไว้ในมวยผมของตนเองตลอดชีวิต จนถึงคราวที่ฤๅษีติสสะต้องละสังขาร ต้องการจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินลักษณะคล้ายกับศีรษะของตน จึงขอให้พระอินทร์ช่วยหาก้อนหินดังกล่าว ได้มาจากใต้ท้องมหาสมุทร นำมาวางไว้บนหน้าผาหินในเมืองไจก์โถ่ ประเทศเมียนมาร์ อย่างหมิ่นเหม่ (เป็นที่มาของชื่อ”พระธาตุอินทร์แขวน”) ถือว่าเป็นตัวแทนของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุเกศาธาตุเช่นเดียวกัน อีกทั้งพระอินทร์ท่านเป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อลงมาสร้างพระธาตุอินทร์แขวนจึงเท่ากับเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้เผยแผ่เองโดยตรงครับ ว่างั้น


ได้ประเดิมสักการะพระธาตุประจำปีเกิดสบายใจแล้วผมก็ลงมาเดินเที่ยวรอบ ๆ พุทธอุทยานฯ  ในพื้นที่ประมาณ ๒๖ ไร่ ยังมีน่าสนใจอยู่อีกหลายจุด ไล่เรียงตามความใหญ่และเห็นได้ชัด คือพระพุทธชยันตีมหัศจรรย์ หรือ “พระเจ้าผุด” พระพุทธรูปขนาดใหญ่สีทองที่มีเพียงครึ่งองค์ เหมือนผุดขึ้นมาจากดิน พระธาตุชเวดากองจำลอง สีทองอร่ามเช่นกัน บนฐานทักษินเป็นจุดชมทิวทัศน์ขุนเขาได้กว้างไกล ใต้ฐานเจดีย์ยังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่นครและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจำนวนมาก



ยังมีพระเจ้ายืน พระพุทธรูปปางประทานพรสีทอง พระพุทธนาคราชรัตนเทวสัภฐีมงคลบพิตร พระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ พระสิวลีเถระอัครสาวกในอิริยาบถเดินธุดงค์  หลวงปู่พระมหาโพธิวงศาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ผู้ริเริ่มสร้างสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้  พระเจ้าหยกทิพย์ พระพุทธรุปที่สร้างจากหินหยกประดิษฐานในวิหารน้อยด้านหน้า นี่ยังไม่รวมพระพุทธรูป ประติมากรรมเทพ ฤาษี อีกมากมายตามใต้เพิงผาหิน โต๋เต๋เพลิดเพลินเกินห้ามใจ เผลอแว๊บเดียวล่อเข้าไปครึ่งค่อนวันเชียวละครับ



ตะวันชายบ่ายคล้อยนั่นแหละพวกเราถึงได้กลับออกมาแวะสักการะพระธาตุช่อแฮ จุ๊ธาตุประจำปียี่หรือขาล (เสื มากี่ครั้งเจดีย์แปดเหลี่ยมสูง ๓๓ เมตร  สถาปัตยกรรมล้านนาบุด้วยทองดอกบวบสะท้อนแสงสีทองวาววับจับตา ก็ยัคงเด่นตระหง่านตระการตาอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๒๘ เมตรอย่างที่เคยเห็นเ

ตามประวัติว่าสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๘๗๙-๑๘๘๑ โดยพระมหาธรรมราชาลิไท ขณะยังทรงเป็นอุปราชครองเเมืองศรีสัชนาลัย ตามพระราชประสงค์ให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาไว้ตามที่ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลกตามที่ต่าง ๆ ในอาณาเขตของกรุงสุโขทัย  ภายในเจดีย์ประดิษฐานพระธาตุข้อศอกซ้ายและพระเกศาธาตุ


วัดนี้ผมชอบใจเป็นพิเศษตั้งแต่แรกเห็นเมื่อหลายปีก่อน ตรงที่บริเวณระเบียงคด ได้จัดทำมณฑปประดิษฐานพระธาตุประจำปีเกิดจำลองทั้ง ๑๒ ปีไว้อย่างครบถ้วน  สำหรับผู้ที่ไม่ได้เกิดปีเสือ เมื่อมาแล้วก็สามารถสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตัวเองได้เช่นกัน ยังมีมณฑปพระพุทธรูปประจำวัดเกิดอีก ๗ ปาง ให้ทำบุญพระประจำวันเกิดได้อีก ให้บริการแบบที่เรียกว่า One stop  Service มาที่เดียวทำบุญได้ครบครับว่างั้น


ระหว่างเดินรอบองค์เจดีย์ เห็นมีตุ๊กตารูปเสือหลากหลายรูปแบบที่คนนำมาถวายบูชาพระธาตุวางเรียงรายกันอยู่ตามมุมต่าง ๆ   ด้วยความเป็นจุ๊ธาตุประจำปีขาล (ปีเสือ) ถ้านำมาถวายกันมาก ๆ  อาจจะกลายเป็นขยะทางสายตาไปได้ เหมือนกับตุ๊กตาไก่ ตุ๊กตาม้าลาย ที่สร้างทัศนอุจาดให้กับโบราณสถานทั่วไทยมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง ความจริงแทนที่จะทำตุ๊กตา ทำเป็นอิฐหรือกระเบื้องประทับตรารูปสัตว์ประจำปีเกิดขายน่าจะดีกว่า ถวายพระธาตุแล้วทางวัดยังเก็บเอาไปใช้ก่อสร้างถาวรวัตถุอื่น ๆ ได้ เป็นประโยชน์กว่ากันเยอะ  ใครจะเอาไปลองทำขายก็ดีนะครับ ไอเดียผมไม่สงวนลิขสิทธิ์



สักกสักการะเจดีย์แรกในตำนานล้านนาที่เชียงราย

          จากแพร่ ถ้าจะให้เป็นเส้นทางสักการะพระธาตุปีเกิดอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ต้องมุ่งหน้าไปยังพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน พระธาตุประจำปีเม้าหรือเถาะ (กระต่าย) ที่ตำนานกล่าวว่า ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก แล้วเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพญามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำไปแช่น้ำก่อนเสวย เป็นที่มาของนาม “แช่แห้ง” แล้วทรงพยากรณ์ว่าบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์ของพระองค์  

หลังจากนั้นหลายศตวรรษพุทธพยากรณ์ก็เป็นจริง เมื่อพระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกระดูกข้อมือข้างซ้ายจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้ง โดยสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นเป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต

มาคราวนี้พวกเราได้รับรายงานข่าวมาว่าพระธาตุแช่แห้งกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ เต็มไปด้วยนั่งร้านระเกะระกะ ถ่ายภาพออกมาคงไม่สวย เทียบกับระยะทางไกลที่ต้องเดินทางไปแล้ว อาจจะไม่ค่อยคุ้มค่าน้ำมันตอนนี้ที่แพงหูฉี่เท่าไหร่ แม้ว่าจะได้ข่าวเพิ่มเติมมาอีกว่าที่น่านก็มีพระธาตุอินทร์แขวนจำลองประจำปีเกิดของผมอยู่ด้วยที่วัดถ้ำเชตวัน อำเภอนาน้อย ทว่าผมก็สักการะพระธาตุอินทร์แขวนจำลองที่แพร่มาแล้ว เลยจำใจตัดเส้นทางที่จะไปน่านออกไป มุ่งหน้าตรงไปยังเชียงรายเลย 

หลับกันไปหลายตื่นครับ ลืมตาขึ้นมาอีกทีก็พบว่ารถตู้ของเรากำลังแล่นอยู่ในแสงทองของยามเย็น ไปตามเส้นทางคดเคี้ยวขึ้นสู่ยอดเขาสูงจากระดับทะเลปานกลางราว ๒,๐๐๐ เมตร อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง “จุ๊ธาตุ” ประจำปีกุญหรือช้าง ไม่ได้เขียนผิดนาครับ กุญ หรือ กุญชร คือช้าง ทางล้านนาเขาใช้ช้างเป็นสัตว์ประจำปีนักษัตร ไม่ได้ใช้หมู  (ความจริงช้างกับหมูก็ดูคล้าย ๆ กันนั่นแหละครับ ไม่งั้นคงไม่มีมีคำพังเพยที่ว่า “เห็นช้างเท่าหมู” หรอก ว่าไหม)

 ตำนานพระธาตุดอยตุงกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอชุตราชแห่งนครโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญ(กระดูกไหปลาร้า) เบื้องซ้าย ซึ่งได้รับจากพระมหากัสสปะเถระที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย โปรดฯ ให้ปักธง (ตุง) ที่มีความยาวถึงพันวาไว้บนยอดดอย ปลายธงไปตกที่ใดให้ถือเป็นขอบเขตในการสร้างฐานพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุดอยตุงจึงถือเป็นเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนาหากยึดตามตำนาน แต่ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบเนื่องกันมาอีกหลายยุคสมัย จึงไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นครั้งแรกหน้าตาเป็นอย่างไร


คงมีเพียงรูปแบบสถาปัตยกรรมล่าสุดของพระธาตุดอยตุงที่มีหลักฐานปรากฏในภาพถ่ายโบราณคือเจดีย์สององค์แบบล้านนาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ทรงระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์แปดเหลี่ยม ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลีทรงกรวยยาว สมัยที่ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะก็ได้ยึดตามรูปแบบเดิมนี้เอาไว้  

มาจนถึงในปี ๒๕๑๖ กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดมีซุ้มจระนำสี่ทิศ ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ กลายเป็นพระธาตุดอยตุงที่คุ้นตาผู้คนอยู่นานถึงสามสิบปี ก่อนที่ล่าสุดในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ทางกรมศิลปากรจะรื้อเจดีย์ที่ครอบออกแล้วบูรณะฟื้นฟูพระธาตุองค์เก่าให้กลับมาอร่ามเรืองรองเหมือนเดิม ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ผมเองก็ชอบรูปแบบดั้งเดิมนี้มากกว่าครับ ดูอ่อนช้อยสวยงามเด่นสะดุดตามีเอกลักษณ์ล้านนาแท้  


เชียงใหม่ มหานครเบญจพระธาตุ

 แดดอ่อนแสงจนเป็นสีทองเมื่อพวกเราล่องถนนจากเชียงรายย้อนลงมาทางใต้จนถึงเชียงใหม่ในตอนเย็นของอีกวัน  

ในฐานะศูนย์กลางในอดีตของอาณาจักรล้านนา จึงไม่น่าแปลกใจที่นครใหญ่แห่งนี้จะเป็นตั้งของ “จุ๊ธาตุ” ประจำปีเกิดถึง ๕ ปีด้วยกัน

ประติมากรรมงูหลากสีหลายขนาดที่เรียงรายอยู่ทำเอาพวกเราสะดุ้งเบา ๆ  เมื่อเดินเข้าไปเจอเข้าภายในบริเวณวัดโพธารามมหาวิหารหรือ ที่คุ้นเคยกันในชื่อ“วัดเจดีย์เจ็ดยอด” ที่ตั้งของพระธาตุประจำปีไส้หรือมะเส็ง (งูเล็ก) แต่รูปปั้นงูที่คนนำมาถวายนี่ชวนให้เกิดความไม่แน่ใจได้เหมือนกันครับ เพราะมีแต่ขนาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น

เจดีย์ประจำปีแท้จริงนั้นคือพระเจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ประดิษฐานโพธิบัลลังก์ของพระพุทธเจ้า ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งคงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ครับ ถ้าคิดจะเดินทางไปสักการะ จึงอนุโลมให้มาสักการะที่วัดเจ็ดยอดแห่งนี้ทดแทนกันได้  ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ประธานของวัดที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา

ลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งรูปเทพชุมนุมแบบล้านนาบนผนังด้านนอกทั้งสี่ด้านของเจดีย์ กับสัตตมหาสถานจำลอง(สถานที่สำคัญ ๗ แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากตรัสรู้) คือสิ่งที่ผมไม่ลืมที่จะเดินวนเวียนชมดูทุกครั้งที่มาเยือนวัดนี้ เพราะฝีไม้ลายมือช่างชั้นครูช่างประทับตาประทับใจจริง ๆ 


ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะลับฟ้า ผมส่งท้ายด้วยการแวะเข้าไปสักการะ “จุ๊ธาตุ” ประจำปีเส็ดหรือจอ (หมา) ของผมเป็นแห่งที่สองในการเดินทางครั้งนี้ที่วัดเกตการาม พระธาตุเจดีย์วัดนี้ได้รับการสถาปนาให้ทดแทนพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยยึดถือตามชื่อเกต ที่พ้องเสียงกับพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี  ดังนั้นจึงไม่ได้มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับพระธาตุอินทร์แขวนแต่ประการใด แต่จะเหมือนพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือไม่ มีแต่เทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้นแหละครับที่รู้


            รุ่งขึ้นพวกเราฝ่าสายลมเย็นของยามเช้าขึ้นเขาไปยังพระธาตุดอยสุเทพ “จุ๊ธาตุ” ประจำปีเม็ดหรือมะแม (แพะ) แต่ไก่โห่ เพื่อให้ไปถึงก่อนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินทางมาถึง ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ทันได้เห็นแสงแดดยามเช้าสีทองสาดส่ององค์พระธาตุอร่ามตาตัดกับท้องฟ้าสีครามและปุยเมฆขาว โดยที่ไม่มีคลื่นมหาชนมาบดบัง

            ตามประวัติว่าภายใต้เจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระสุมนเถระพบจากเมืองปางจา (บางขลัง สุโขทัย) นำมาถวายพญากือนากษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์จึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์วัดสวนดอกองค์หนึ่ง  ส่วนอีกองค์ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนสัปคับหลังช้างมงคลเสี่ยงทายหาสถานที่ประดิษฐานที่เหมาะสม  ช้างเชือกดังกล่าวได้เดินขึ้นเขามาเรื่อย ๆ  ก่อนหยุดลงตรงยอดดอย ทำทักษิณาวรรตสามรอบแล้วล้ม(ตาย) ลง พญากือนาจึงได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขึ้นในที่นั้นก็คือพระธาตุดอยสุเทพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

            ลงจากดอยมาแวะสักการะ “จุ๊ธาตุ” ประจำปีสี่หรือมะโรง (งูใหญ่) ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร กลางเมืองเชียงใหม่ ภายในวัดนอกจากพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่สีทองอร่ามที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้วยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พุทธปฏิมาองค์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ภายในวัดยังมีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สวยงามตระการตาน่าชมอีกมากมาย เห็นแล้วต้องรีบตัดใจไปต่อดีกว่า เพราะถ้าอยู่ดูรายละเอียดกันจริง ๆอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งค่อนวันเชียวละครับ


มาถึงอำเภอจอมทองเอาตอนบ่าย ๆ แดดกำลังแผดเปรี้ยงสะท้อนพระเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ของวัดพระธาตศรีจอมทอง รูปปั้นหนูสีทองขนาดใหญ่ที่ตั้งไว้ด้านหน้า บ่งบอกว่าเป็นพระธาตุประจำปีไจ๊หรือชวด (หนู) อย่างแน่นอนไม่มีพลาด



พระทักษิณโมลีธาตุหรือพระบรมธาตุกะโหลกเบื้องขวาคือพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ องค์พระบรมธาตุมีขนาดประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวล  ที่ทราบถึงรูปพรรณสัณฐานก็เพราะที่นี่ไม่ได้ฝังพระบรมธาตุไว้ใต้พื้นดินแล้วสร้างเจดีย์ทับไว้เหมือนพระธาตุแห่งอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่บรรจุในพระโกศ ๕ ชั้น ประดิษฐานไว้ในมณฑปปราสาทยอดภายในวิหาร  นำออกมาให้พุทธศาสนิกชนสักการะบูชาได้ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา


ความพิเศษยังไม่ได้หมดเท่านั้น สถาปัตยกรรมของวิหารวัดศรีจอมทองแห่งนี้ยังเป็นแบบพิเศษคือเป็นวิหารจัตุรมุข ไม่เหมือนวิหารล้านนาทั่วไป ด้านท้ายของวิหารเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุได้แก่พระพุทธรูปทองคำและอื่น ๆ อีกมากมาย

เป็นอีกแห่งหนึ่งครับที่ผมเข้ามาแล้วไม่ค่อยอยากออกไป เพราะมีอะไรให้ดูให้ชมเยอะเหลือเกิน



นมัสการพระบาทอินทร์แขวน  ดินแดนหริภุญไชยลำพูน

          หลังจากออกจากเชียงใหม่มาแล้วเห็นว่ายังพอมีเวลาเหลือ ผมเลยขอให้แวะไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวนจำลองประจำปีเกิดของผมอีกแห่งที่วัดพระบาทพระธาตุอินทร์แขวนในเขตบ้านน้ำพุ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองฯ  จังหวัดลำพูน

“ถนนเป็นทางดิน ไม่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะติดหล่มไหม เอายังไงดี” สารถีของเราจอดรถชั่งใจอยู่หน้าปากทางเข้า  เหตุที่ต้องคิดหนักเพราะว่าก่อนหน้าเราจะมามีฝนตก ทางเป็นดินอาจจะรับน้ำหนักรถไม่ไหว ทำให้ติดหล่มได้ มองหน้ากันไปมาอยู่พักใหญ่ก็ตัดสินใจ “ลุย” เข้าไปตามทางดินที่ลัดเลาะเข้าไปในผืนป่าละเมาะระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ปรากฏว่าผ่านฉลุยครับ เข้าไปได้จนถึงบันไดทางเดินขึ้นวัด



พระธาตุแห่งนี้เพิ่งสร้างได้ไม่นานเมื่อปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมานี้เอง โดยมีประวัติว่าครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระบาทห้วยต้ม นิมิตว่าบนเนินเขาเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในลำพูนมีรอยพระพุทธบาทอยู่ เลยให้ชาวบ้านช่วยกันหา ใช้เวลาอยู่ประมาณ ๒ - ๓ ปี จึงได้มาพบรอยพระพุทธบาทบนเนินเขาเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ดอยถ้ำหิน”

บริเวณใกล้กันยังพบหินใหญ่วางซ้อนอย่างน่าจะหล่นหลุดออกจากกัน อยู่บนแนวผาเป็นที่น่าอัศจรรย์ ชาวบ้านที่พาวัวขึ้นมาเลี้ยงบนเขานี้เป็นประจำเล่าว่าเคยลองผลักหินให้ร่วงลงไป แต่ผลักเท่าไหร่ก็ไม่หล่น ไม่ว่าจะใช้ไม้คานมางัดหรือใช้คนนับสิบคนผลัก จึงเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ต่อมาได้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก ๆ ไว้เหนือหินก้อนบน  

“ตอนสร้างผมเคยมาช่วยขนของขึ้นมาสร้างด้วยนะ ตอนนั้นมีแต่เจดีย์บนหินองค์เดียวโดด ๆ” สารถีของเราเล่าให้ฟังระหว่างเดินขึ้นไปตามบันไดที่สองฟากเรียงรายด้วยรูปหล่อปูนเทพพนมและโคมล้านนาหลากสีที่ห้อยระย้า 


ไม่นานภาพขององค์พระธาตุอินทร์แขวนจำลองก็ปรากฏต่อสายตา เจดีย์และก้อนหินทาด้วยสีทองอร่ามตัดกับท้องฟ้าสีคราม แต่ในวันนี้ไม่ได้มีเจดีย์โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะมีประติมากรรมพญานาคขนาดใหญ่ แผ่เศียรทั้งห้าลดเลื้อยอยู่เหนือหน้าผาใกล้กับองค์พระธาตุ รวมทั้งพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนลานหินด้านข้าง ผมพยายามมองหารอยพระพุทธบาท แต่ไม่เห็น ไม่รู้ว่าอยู่บนหินก้อนไหน หรือบางทีอาจจะเห็นแล้วแต่ดูไม่ออกว่าใช่ก็เป็นได้

อิ่มอกอิ่มใจอิ่มบุญจากการสักการะพระธาตุแล้ว(โดยเฉพาะผมที่ได้สักการะ “จุ๊ธาตุ” ประจำปีของตัวเองเป็นแห่งที่ ๓ น่าจะได้บุญคูณ ๓ เท่า ) พวกเราก็ขึ้นรถกลับออกมาตามทางเดิม แต่เจ้ากรรมขาออกนี้ผ่านไม่ตลอด หลังจากหักหลบหลุมที่เคยมีรถมาตกไว้ รถของเราก็ไปตกหลุมใหม่แบบมิดล้อ

นึกว่าจะได้ค้างคืนกันกลางป่าแล้ว สัญญาณโทรศัพท์มือถือก็ไม่มี ยอดสารถีของเราต้องเดินขึ้นเขาไปหาสัญญาณโทรแจ้งกู้ภัย โชคยังดีที่มีพี่ชาวบ้านสามีภรรยามาหาเห็ดในป่าขี่มอเตอร์ไซค์ผ่าน เป็นธุระช่วยประสานผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนำรถแทร็กเตอร์มาช่วย แถมกู้ภัยจากอบต.ป่าสักก็ยังมาสมทบพร้อมช่วยอีกแรง ท้ายสุดก็สามารถขึ้นจากหล่มได้ ต้องขอขอบคุณในน้ำใจของทุกท่านไว้ ณ ที่นี้



เย็นวันนั้นเรายังเข้าเมืองลำพูนมาทันเข้าไปสักการะพระธาตุหริภุญชัย  “จุ๊ธาตุ” ประจำปีเล้าหรือระกา (ไก่) ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระหม่อม หน้าอก นิ้วพระหัตถ์ และพระเกศาธาตุ

หากยึดถือตามเอกสารทางประวัติศาสตร์พระธาตุหริภุญไชยถือเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดของล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๑ เดิมเป็นวังของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ต่อมาได้ทรงถวายวังให้เป็นสังฆารามวิหารหลวง  


ภายในบริเวณวัดยังปรากฏโบราณสถานสมัยหริภุญไชยอีกหลายแห่งเช่น สุวรรณเจดีย์หรือเจดีย์เหลี่ยม ที่สร้างโดยพระนางปทุมวดีมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชหลังจากสร้างพระธาตุหริภุญชัยได้ ๔ ปี  เจดีย์เชียงยัน ทรงปราสาทห้ายอด ที่สร้างโดยภิกษุนีและอุบาสิกาที่มาช่วยทำครัวเลี้ยงคณะที่สร้างพระธาตุหริภุญชัย ได้นำวัสดุที่เหลือจากการสร้างพระธาตุหริภุญชัยมาสร้าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เจดีย์แม่ครัว”  เขาพระสุเมรุจำลอง สิ่งก่อสร้างปริศนาที่ยังไม่รู้ว่าใช้เพื่ออะไร

วันที่เรามานี้เป็นช่วงเวลาของเทศกาลโคมแสนดวงเมืองลำพูนพอดี เขามีมาตั้งแต่วันที่ ๒๕ เดือนกันยายนถึง วันที่ ๘ พฤศจิกายน นอกจากสักการะพระธาตุแล้วก็เลยยังมีโอกาสได้ชมโคมล้านนาหลากสีสันประดับแสงไฟ เดินชมในสายลมหนาวมีความสุขอย่าบอกใครครับ กับสีสันอันตระการตา

ถึงขนาดเราอดใจไม่ได้ ต้องย้อนกลับมาเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันอีกรอบในตอนเช้า คิดดูก็แล้วกันครับ


 เขลางค์นครก่อนบ้านตาก

เถลไถลในลำพูนอยู่จนสาย ทำให้วันนี้พวกเรามาถึงลานจอดรถหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงเอาตอนบ่าย ๆ 

บรรยากาศค่อนข้างครึกครื้นไปด้วยนักท่องเที่ยว บ้างจับจ่ายของที่ระลึก บ้างซื้อของกินพื้นเมืองที่ขายกันอยู่หลายอย่าง ผมได้เมี่ยงคำเสียบไม้ ๒ ถุง เดินเคี้ยวแก้มตุ่ย ผ่านนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวที่กำลังสนุกสนานกับรถม้าเอกลักษณ์ของลำปางที่จอดรอให้บริการอยู่ด้านหน้า 

วัดพระธาตุลำปางหลวงเด่นสง่าอยู่บนเนิน เดินขึ้นบันไดไปให้ความรู้สึกเหมือนกับทะลุมิติเข้าสู่เมืองโบราณ ความจริงก็เมืองโบราณนั่นแหละครับ เพราะวัดตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร  

            ผ่านซุ้มประตูโขงสุดอลังการด้วยลวดลายปูนปั้นเข้าไปข้างในก็พบกับองค์พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีเป้าหรือฉลู (วัว) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเกศาธาตุ, พระนลาฏ (หน้าผาก) และพระศอ (ลำคอ)

 ภายในอาณาบริเวณยังมีสิ่งน่าชมมากมาย ที่เด่น ๆ คือวิหารหลวง เป็นวิหารโถงชนิดเปิดโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองภายในมณฑปที่มีผู้มาสักการะไม่ขาดสาย บนแนวคอสองแผงไม้ด้านในวิหารยังมีจิตรกรรมเล่าเรื่องเรื่องทศชาติชาดก

ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ มาทีไรก็ต้องแวะไปดูทุกครั้ง ก็คือบนหอพระพุทธ สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ภายในมืดสนิทเวลาแดดจัด ๆ อย่างเช่นช่วงบ่ายอย่างนี้จะมีแสงสะท้อนผ่านรูเหนือประตูเข้าสู่ภายในหอในลักษณะเดียวกับกล้องรูเข็ม ปรากฏเป็นภาพของพระธาตุและพระวิหารด้านหน้าในแบบกลับหัว


เสียดายครับที่อยู่นานไม่ได้ ทั้งที่มีอะไรให้ดูอีกเยอะ แต่พวกเราต้องเดินทางออกจากลำปาง เพื่อต่อไปยังจังหวัดตากเพื่อไปให้ทันสักการะพระธาตุบ้านตาก  วัดพระบรมธาตุ จังหวัดตาก ที่จำลองแบบมากจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ พระธาตุประจำปีสง้าหรือมะเมีย (ม้า)  

โชคยังดีครับมาถึงทันได้ไหว้พระธาตุก่อนพระอาทิตย์ตกดินเพียงไม่นาน แทบไม่มีใครเหลืออยู่ในวัดแล้วตอนที่เราไปถึงกัน ไหว้พระทำบุญแล้วยังได้ยืนชมพระธาตุในแสงสีทองสุดท้ายก่อนจะลับขอบฟ้าไป


จุ๊ธาตุสุดท้ายชายแดน พระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่

          พวกเราตื่นขึ้นมาในวันสุดท้ายของการเดินทางที่แม่สอดเมืองชายแดนของจังหวัดตาก หลังจากผ่านทางคดเคี้ยวจนนับโค้งไม่ถ้วนมาจนถึงค่อนข้างดึกในคืนที่ผ่านมา

            คนที่กระดี้กระด้าที่สุดในวันนี้ยังคงเป็นผมเอง เพราะเป้าหมายสุดท้ายที่เราจะไปกันในวันนี้คือ “จุ๊ธาตุ” ประจำปีของผม (อีกแล้ว)  นั่นคือพระธาตุหินกิ่วบนดอยดินจี่ ชื่ออย่างนี้จริง ๆ ครับ เพราะบนป้ายบอกทางก็เขียนแบบนี้ คาดว่าคงมาจากนักท่องเที่ยวเรียกกันสับสนผิด ๆ ถูก เป็นพระธาตุหินจี่บ้าง พระธาตุดินกิ่วบ้าง หรือพระพระธาตุดินจี่ดอยหินกิ่ว เลยเขียนไว้ให้ชัด ๆ กันไปเลย


            ตามประวัติเขาว่าผู้สร้างเป็นชาวกะเหรี่ยงในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่าครับ ชื่อว่านายพะส่วยจาพอ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก นำเงินตราเหรียญรูปีบรรทุกหลังช้างมาเพื่อหาที่สำหรับสร้างเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ครั้นมาถึงบริเวณผาหินกิ่ว (หรือดินจี่) ก็พบกับหินก้อนใหญ่ตั้งเด่นอยู่บนหน้าผาสูงชัน ลักษณะคล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนในประเทศพม่าบ้านเกิด จึงได้ลงมือก่อสร้างเจดีย์ขึ้นบนหินนั้น แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในองค์เจดีย์พร้อมด้วยพระพุทธรูปทองคำอีก ๕ องค์

พวกเรามาถึงวัดได้อย่างสบายเพราะถนนหนทางสะดวก แต่มาหนักตอนที่ต้องเดินขึ้นบันไดต้านแรงโน้มถ่วงของโลกไปยังพระธาตุที่อยู่บนเขานี่แหละครับที่ไม่สบาย เล่นเอาหลายหอบอยู่เหมือนกัน ยังดีมีศาลาให้พักเหนื่อยจากการเดินขึ้นตรงหน้าวิหารในถ้ำที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพม่า จากนั้นเดินทางราบไปอีกไม่ไกลก็พบพระธาตุหินกิ่วเด่นสง่าอยู่ริมผา มองไปเห็นทิวทัศน์ท้องทุ่งนา



เป็นอันว่าการเดินทางเสริมสิริมงคลบนเส้นทาง “จุ๊ธาตุ” ประจำปีเกิดของผมสำเร็จเสร็จสิ้นลงอย่างได้ผลเกินคาด เพราะผมคนเดียวได้สักการะ “จุ๊ธาตุ” ประจำตัวมากกว่าใคร ๆ รวมตั้ง ๔ แห่ง คนอื่นได้แค่คนละแห่งเดียว

ระหว่างนั่งรถกลับกรุงเทพฯ ก็ลงเสิร์ชกูเกิลดูเล่น ๆ เห็นว่านอกจากเส้นทางพระธาตุปีเกิดล้านนาแล้ว พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง “จุ๊ธาตุ” ประจำปีเกิดของผมยังมีอีกหลายแห่งเลย ต้องลองเช็คข้อมูลดี ๆ อีกที อาจมีครบทุกภาคทุกจังหวัดแล้วก็เป็นได้

ดูล่าต่อไปผมอาจจะต้องตระเวนสักการะพระธาตุอินทร์แขวนจำลองทั่วไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลเพิ่มขึ้นไปอีกแล้วสิครับ (ปีอื่นอย่าอิจฉากันเลยนะครับ ฮิ ฮิ)