วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ผาแต้ม สวนสวรรค์บนลานหิน


 เสาเฉลียงคู่กับแสงทองของยามเย็นเหนือผืนป่าดงนาทาม

             ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ 
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร "สารใจ" ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๙)


            ปลายฝนต้นหนาวถือเป็นช่วงที่พิเศษครับ  เนื่องจากดอกไม้ป่านานาพรรณจะสะพรั่งบานอร่ามตาน่าชม 
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นสถานที่หนึ่งที่ผมเห็นว่าเหมาะอย่างยิ่ง ที่จะแนะนำให้คุณผู้อ่านไปเที่ยวชมดอกไม้กัน ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างทำให้อุทยานแห่งนี้ถือว่าไม่ธรรมดา

โดยเฉพาะยิ่งเมื่อยามมวลบุปผาแบ่งบานด้วยแล้ว กับคำว่า สวนสวรรค์บนดินก็คงจะไม่ถือว่าเกินเลยความจริงไปแต่อย่างใด

 เสาเฉลียง ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่พบเห็นได้ทั่วไป

 ความโดดเด่นแรกอยู่ที่สภาพทางธรณีวิทยา ด้วยลักษณะเป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขาหินทรายที่มี พลาญหรือลานหินกว้าง  ประดับประดาด้วยประติมากรรมธรรมชาติซึ่งเรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า สะเลียงหรือ เสาเฉลียงขนาดใหญ่น้อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  

กลุ่มเสาเฉลียงที่มีมากมายชนิดเรียกว่าเป็นสวนหินได้อย่างเต็มปากเต็มคำอยู่ตรงภูกระบอ ทางตอนเหนือของอุทยาน ฯ  จุดเด่นอยู่ที่เสาเฉลียงใหญ่ขนาดมหึมา กับเพิงหินรูปร่างแปลกตาที่เรียงรายกันอยู่บนลานหินอันไพศาล มองเผิน ๆ เหมือนซากปรักหักพังของโบราณสถานขนาดยักษ์ ให้อารมณ์เร้นลับเข้มขลังอย่างบอกไม่ถูก

 ด้วยความขลังของบรรยากาศ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก็เลยใช้บริเวณสวนหินนี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ยังปรากฏภาพเขียนสีภาพคน สัตว์ และฝ่ามือ อยู่ตามผนังเพิงหินแถบภูสมุย  รวมทั้งหลงเหลือซากโลงไม้ที่ขุดจากไม้ทั้งต้นอยู่ใต้เพิงหิน บริเวณที่เรียกกันว่าภูโลง

 จุดชมทิวทัศน์ผืนป่าดงนาทาม

แต่จุดที่ถือว่าครบครันสำหรับการท่องธรรมชาติแบบแค้มปิ้งอย่างแท้จริงของอุทยานแห่งชาติผาแต้มก็คือป่าดงนาทาม ซึ่งอยู่บนยอดเขาไม่สูงนัก ทางอุทยานฯ เขาได้จัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จะขับรถยนต์ขึ้นไปก็ได้ แต่ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น รถอื่น ๆ หมดสิทธิ์ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการขี่จักรยานขึ้นไป จะเอามาเองก็ได้ หรือถ้าไม่มีทางอุทยานฯ เขาก็มีจักรยานเสือภูเขาอย่างดีให้เช่าในราคาวันละ ๒๐๐ บาท หรือทางเลือกสุดท้ายก็คือเดินเท้าขึ้นไปครับ ชอบแบบไหนก็เลือกเอาแล้วกัน


ระหว่างทางผ่านลานหินที่เรียงรายด้วยหินรูปทรงแปลกตา ยังมีจุดน่าสนใจเล็ก ๆ อย่างแก่งมโนราห์ น้ำตกกรีด และน้ำตกซะปัน ให้ แวะผ่อนคลายอิริยาบถอยู่เป็นระยะตามรายทาง
เบื้องบนเป็นลานกว้าง ตอนที่ผมขับรถขึ้นไปนี่โชคดีเห็นหมูป่าแม่ลูกฝูงใหญ่วิ่งไล่กันอยู่ในทุ่งหญ้า ได้อารมณ์ซาฟารีดีเหมือนกัน ลัดเลาะผ่านป่าเข้าไปพักใหญ่ก็ถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษดงนาทามของทางอุทยานฯ  ที่สร้างจากไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยหญ้าคาสุดคลาสสิค จะมีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์  บรรยากาศดีเป็นธรรมชาติเหลือหลาย

 ยามเช้ายังสามารถไปชมดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนใคร ๆ ในประเทศได้ที่ผาชะนะได เห็นทิวทัศน์ผืนป่าและแม่น้ำโขงทอดตัวยาวไกลสุดสายตา ถ้าโชคดีอาจจะเห็นทะเลหมอก ปกคลุมทั่วลำน้ำ น่าตื่นตาตื่นใจ

 เสาเฉลียงคู่

ดอกเอนอ้าสีสดใส

 หยอดน้ำพร่างพราวบนดอกไม้

 ภาพเขียนสีที่โหง่นแต้ม


สาย ๆ ก็มาเดินเล่นบนลานหินกว้างใหญ่ ดารดาษไปด้วยดอกไม้ป่าหลากสีสันละลานตา ทั้งขนาดเล็ก ๆ อย่างสร้อยสุวรรณาสีเหลืองอร่าม ดุสิตาสีม่วงเข้ม ทิพย์เกสรสีชมพูอ่อน ขนาดกลางอย่างเอนอ้าสีบานเย็น  ไปจนถึงอย่างขนาดใหญ่อย่างเอื้องเหลืองพิศมร แดงอุบล ที่ชูช่อไสว  นอกจากนี้ยังมีพืชแปลก ๆ  เช่นพืชจับแมลงอย่างจอกบ่วาย  หม้อข้าวหม้อแกงลิง อู๊ย จาระไน ไม่หวาดไหวครับ เยอะมาก ๆ 

ร้อนขึ้นมาก็เดินไปน้ำตกห้วยพอกที่อยู่ต่ำลงไปจากแนวผา ไม่ไกลจากที่ทำการหน่วย ฯ สายน้ำหลั่งไหลลดหลั่นเป็นชั้นสลับซับซ้อนสวยงาม  เล่นน้ำอย่างชุ่มฉ่ำใจได้ทั้งวัน

ตะวันชายบ่ายคล้อยเปลี่ยนบรรยากาศไปชมภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่โหง่นแต้ม  ก่อนจะไปส่งท้ายแสงแห่งวันที่เสาเฉลียงคู่ ในตอนเย็น

เท่านี้ก็เป็นอันครบสูตรการเที่ยวป่าดงนาทาม

 น้ำตกทุ่งนาเมืองทิ้งสายลงตรงหน้าผา

 เถาวัลย์ยักษ์พันปี


พวกที่ขึ้นมาด้วยรถยนต์ก็คงต้องกลับลงตามทางเดิมครับทีนี้ แต่พวกที่มาด้วยจักรยาน หรือมอเตอร์ขา (เดินมา) สามารถที่จะเลาะเลียบไปทางผาชะนะได ผ่านเนินสนสองใบ และหินโยกมหัศจรรย์ (มหัศจรรย์ยังไงต้องไปทดลองดู) มาลงทางด้านน้ำตกทุ่งนาเมืองได้  เป็นน้ำตกใหญ่ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของอุทยาน ฯ ครับ ไหลตกจากหน้าผาสูง ๓๐ เมตร ตรงทางลงน้ำตกจะเห็นเถาวัลย์ยักษ์ขนาดมหึมาอายุกว่า ๕๐๐  ปี   มีนักท่องเที่ยวมาปีนป่ายถ่ายรูปกันตลอดทั้งวัน

 น้ำตกแสงจันทร์หรือน้ำตกลงรู

แต่มาถึงผาแต้มทั้งที ที่ห้ามพลาดก็ต้องเป็นน้ำตกแสงจันทร์หรือที่รู้จักกันในนามน้ำตกลงรูที่เกิดจากลำห้วยท่าโลง แต่เดิมก็คงตกจากเพิงผาหินธรรมดานี่แหละครับ แต่อยู่มาเกิดมีหินถูกกระแสน้ำพัดหมุนวนจนเจาะเพิงผาทะลุลงมาด้านล่าง ทำให้น้ำเปลี่ยนทางมาไหลลงรูแทน กลายเป็นของแปลกไป  ล่าสุดได้ยินมาว่ามีคนเห็นว่าน้ำตกลงมาเป็นรูปหัวใจเข้าอีก

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอีกสายที่น่าสนไม่แพ้ดงนาทามเหมือนกันก็คือน้ำตกสร้อยสวรรค์  อันเกิดจากสายน้ำห้วยสร้อยที่ไหลลดหลั่นเป็นขั้นบันได กับสายน้ำห้วยสะหนมที่ไหลทิ้งตัวลงจากหน้าผา ไหลมาบรรจบกันที่เบื้องล่าง ลักษณะคล้ายสายสร้อย เป็นที่มาของชื่อ จากตัวน้ำตกจะมีเส้นทางเดินเลียบไปผาเจ๊ก ผาเมย  ที่ผมเคยมาครั้งก่อนเดินเข้าไปถึงน้ำตกห้วยหลักคอนได้ แต่ระยะทางค่อนข้างไกล ก่อนจะมาออกตรงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

 ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม

มาคราวนี้เส้นทางเปลี่ยนมาทางน้ำตกใหม่คือ น้ำตกขัวนางนี เจ้าหน้าที่บอกว่าทางนี้เดินใกล้กว่ากันเยอะ น้ำตกก็สวยไม่แพ้กัน แถมขัวนางนีนี่เป็นน้ำตกรูอีกแห่งในอุทยานฯ แถมมีตั้ง ๒ รูแน่ะ เหนือกว่ากันเห็น ๆ 

เส้นทางจะพามาโผล่ตรงอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเหมือนกัน  จากตรงนี้จะมีทางลงไปชมภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อายุ ๔๐๐๐ ปี ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต พิธีกรรมความเป็นอยู่ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์  เป็นภาพเขียนหน้าผาแนวยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งในความเป็นที่สุดของอุทยานฯ  ที่ไม่ซ้ำใครจริง ๆ

ก็อยากให้ลองมาเที่ยวกันดูครับ ปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ เส้นทางสายดอกไม้คงไม่มีที่ไหนเหมาะไปกว่าอุทยานแห่งชาติผาแต้มอีกแล้ว กับความหลากหลายที่เปรียบได้กับสวนสวรรค์บนแดนดินอย่างแท้จริง



 คู่มือนักเดินทาง

             จากกรุงเทพ ฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ที่สระบุรี แล้วไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔  ไปทางอำเภอโชคชัย ผ่านอำเภอหนองบุนนาก อำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย ของจังหวัดบุรีรัมย์ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ ที่อำเภอปราสาท ผ่านจังหวัดสุรินทร์ อำเภอศรีขรภูมิ  อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ  อำเภอกันทรารมย์  ผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๗ ผ่านอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสิรินธร เลั้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๑๗๓  ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓๖๘ เข้าสู่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม


ทางอุทยาน ฯ มีบ้านพักไว้ให้บริการ ขนาดพัก ๖ คน(พัดลม) ราคา ๑,๖๐๐ บาท/คืน ขนาดพัก ๔ คน (ปรับอากาศ) ราคา ๒,๐๐๐บาท /คืน รวมทั้งมีเต็นท์ให้เช่า เต็นท์ ๒ คน ๑๕๐ บาท เต็นท์ ๓ คน ๒๒๕ บาท เต็นท์ ๔ คน ๓๐๐บาท โดยคิดค่าบริการสถานที่กางเต็นท์ ๓๐ บาท/คืน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โทรศัพท์ ๐ ๔๕๒๔ ๙๗๘๐,๐ ๔๕๒๔ ๖๓๓๒ อีเมล์ PHATAEM_3@hotmail.com หรือที่ www.dnp.go.th