วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567

"มหาธาตุแห่งพระนคร" วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

 


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

            ตามธรรมเนียมแต่โบราณของไทย นครน้อยใหญ่ไม่ว่าแห่งใด ต่างก็ต้องมีวัดมหาธาตุอันประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประจำเมือง เพื่อเป็นศิริมงคลและศรีสง่าแก่บ้านเมือง

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงแห่งสยามประเทศก็เช่นกัน   

เจดีย์ประธานของวัดสลัก ที่เป็นวัดดั้งเดิม

            วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร คือมหาธาตุแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมนามว่า “วัดสลัก” เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากหลักฐานแผ่นศิลาจารึกดวงชะตาที่บรรจุไว้ที่ฐานพระประธาน ระบุว่าสถาปนาวัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๒๒๘ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  

ศิลาจารึกระบุปีที่สร้างวัด ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่บริเวณฐานหลวงพ่อหิน

เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งยังเป็นนายบุญมา ได้ล่องเรือมายังธนบุรี พบกับด่านตรวจของพม่าบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ได้มาอาศัยบริเวณวัดสลักแห่งนี้ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างหลบทัพพม่า โดยได้ทรงตั้งสัตย์อธิษฐานต่อหลวงพ่อหิน พระประธานในอุโบสถว่าหากพระองค์รอดชีวิตไปได้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง จะทรงกลับมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักแห่งนี้ให้งดงามบริบูรณ์   

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี ๒๓๒๕ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงรำลึกถึงคำสัตย์อธิษฐานที่ได้ทรงให้ไว้ จึงทรงมาปฏิสังขรณ์วัดสลักเป็นวัดที่คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  ที่ประทับของพระองค์  ทรงสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นมาในปีพ.ศ. ๒๓๒๖  แล้วสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า วัดนิพพานนาราม”  

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

   ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ภายหลังจากวัดนิพพานารามได้ใช้เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามใหม่เป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์”  ก่อนที่ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ จะโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดมหาธาตุ” เนื่องจากวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ ณ ภายในพระมณฑป และเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งเพื่อให้เป็นหลักของพระนครในกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา

                ตลอดระยะเวลาอันยาวนานมีการปรับปรุงซ่อมแซมวัดมหาธาตุมาเป็นลำดับ ครั้งใหญ่ ๆ คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๘๗ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุด้วยการก่ออิฐถือปูนเสนาสนะใหม่ทั้งพระอาราม และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สิ้นพระชนม์ได้ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการปฎิสังขรณ์ปูชนียสถานสำคัญของวัดมหาธาตุ ได้แก่ พระมณฑป  พระอุโบสถ  และพระวิหาร โดยเฉพาะหน้าบันพระวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนลายประดับเป็นรูปจุลมงกุฎของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”

พระมณฑป ประดิษฐานเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นประธานของวัด

    ปูชนียวัตถุสำคัญและมีความงดงามไม่ควรพลาดชมภายในวัดแห่งนี้ คือ พระมณฑป ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเป็นประธานของวัดแต่แรก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร โดยทรงพระราชทานเครื่องไม้สำหรับสร้างปราสาทในวังหน้ามาใช้สร้างพระมณฑป แต่ต่อมาไม่นานเกิดอุบัติเหตุถูกเพลิงไหม้ไปพร้อมกับพระอุโบสถและพระวิหาร  จึงทรงให้สร้างใหม่และปรับเปลี่ยนจากยอดมณฑปเป็นหลังคาทรงโรงอย่างในปัจจุบัน แต่ยังคงเรียก “พระมณฑป”ตามเดิม

                ภายในพระมณฑปมีบุษบกประดิษฐานพระเจดีย์ทองซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นประธาน รายรอบด้วยพระพุทธปฏิมาพุทธลักษณะงดงามถึง  ๒๘  องค์ ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงอัญเชิญมาจากวัดร้างตามเมืองเก่าทางภาคเหนือได้แก่ เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา นำมาประดิษฐานไว้ภายในโดยรอบพระมณฑป

เจดีย์ลบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระวิหาร

นสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ ๒๓๘๗. ทรงบูรณะวัดมหาธาตุโดยการก่ออิฐถือปูนทั้งพระอาราม ส่วนการบูรณะพระมณฑปให้รื้อเครื่องบนเปลี่ยนตัวไม้ที่ชำรุด และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ลงรักปิดทองพระเจดีย์ทอง ประดับกระจกใหม่ทั้งหลัง

พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานในพระอุโบสถ

  พระอุโบสถ เป็นอีกแห่งที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เนื่องจากหลังถูกเพลิงไหม้พระองค์ทรงให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ขยายพระอุโบสถออกจนแทบชิดกับพระมณฑป ถึงแนวเขตสีมา จึงต้องยกใบสีมาขึ้นติดบนผนัง พร้อมทั้งทำประตูให้เปิดออกด้านข้าง  สิ่งน่าชมของพระอุโบสถคือพระประธานปางมารวิชัย “พระศรีสรรเพชญ์”  รายล้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งแปดทิศ  หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แวดล้อมด้วยเทวดาเหาะด้านละสามองค์ กับลายเทพพนมอยู่เหนือขึ้นไป พื้นเป็นลายใบเทศก้านต่อดอก และใบสีมาจำหลักภาพครุฑยุดนาค ที่ติดตั้งไว้บนผนังอุโบสถ แปลกไม่เหมือนที่อื่น 

ใบเสมารูปครุฑยุดนาคติดบนมุมของอุโบสถ เป็นรูปแบบที่แปลกจากอุโบสถทั่วไป

 พระวิหาร สิ่งน่าชมคือหน้าบันพระวิหารเป็นตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยอักษรย่อ ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ.อันมีความหมายว่า เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ ที่จัดทำขึ้นในการบูรณะสมัยรัชกาลที่ ๕  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปห้าองค์  มีพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธาน สิ่งน่าสนใจคือศิลาจารึกดวงชะตาการสร้างวัด เดิมติดอยู่ที่แท่นพระประธานเดิมเมื่อยังเป็นวัดสลัก 

หลวงพ่อหิน พระประธานอวค์เดิมของวัดสลัก ประดิษฐานในวิหารเป็นหนึ่งในห้าพระพุทธรูปประธาน 

             ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปห้าองค์ โดยมี “หลวงพ่อหิน” เป็นหนึ่งในห้าพระประธานในพระวิหารนี้ โดยรอบจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า เช่น ตาลปัตรโบราณ  ไว้ในตู้ไม้กรุกระจก ด้านหลังองค์พระประธานยังจัดแสดงพระแท่นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเอาไว้อีกด้วย

พระปรางค์บรรจุอัฐิของสมเด็จพระสังฆราช

              พระเจดีย์และพระปรางค์ บริเวณพระระเบียงทางด้านเหนือพระวิหารและด้านใต้ของพระอุโบสถ  เป็นที่ตั้งของเจดีย์ด้านละองค์ พระปรางค์ด้านละองค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เดิมทั้งหมดหุ้มด้วยแผ่นดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้นำแผ่นดีบุกออก ส่วนพระปรางค์องค์ใหญ่ด้านหน้าพระมณฑปสององค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี)

  

วิหารโพธิลังกา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

     พระวิหารน้อยโพธิลังกา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เคยเป็นตำหนักที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งทรงผนวช ตั้งอยู่ทางตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จพระวันรัต (เขมจารี) เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง ที่ควรชมและสักการะคือ “พระนาก” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถวายให้ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารน้อยนี้

พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

         พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ประติมากรรมขนาดเท่าครึ่ง ประทับยืนบนเกย พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารน้อยโพธิลังกา ภายในบรรจุเนื้อดินจากแว่นแคว้นที่พระองค์เสด็จกรีธาทัพเข้ายึดครองรวมทั้งสิ้น ๒๘ แห่ง ไว้ใต้ฐาน 


       ในปีนี้เนื่องในวโรกาสที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร มีอายุครบรอบ ๓๓๘ ปี ทางวัดได้มีการจัดงานสมโภชพระอารามขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นการจัดงานสมโภชครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ โดยในงานจัดให้มีการเจริญพระพุทธมนต์ นั่งสมาธิ สวดมนต์ข้ามปี  การเสวนาทางวิชาการ มหรสพต่าง ๆ  เช่น การแสดงดนตรี  การแสดงทางวัฒนธรรม  ได้แก่ โขน รำไทย ลิเก กลองสะบัดไชย และโนราห์ การออกร้านค้าตลาดย้อนยุค 



คู่มือนักเดินทาง

     วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมท้องสนามหลวง ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าเข้าชม