วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

โปดหมาผี-เจดีย์ดิน อัศจรรย์ธรณีสถานแห่งนาน้อย

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่อง / ภาพ

            “นั่น ๆ กระต่ายป่า”

หนึ่งในคณะของเราร้องขึ้น ขณะพากันเดินลอดซุ้มต้นไม้ร่มครึ้มคล้ายอุโมงค์ ปากทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาแห่งใหม่ในตำบลสถานของอำเภอนาน้อย เมื่อเห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ฝูงหนึ่งเคลื่อนไหวอย่างว่องไวในกลางท้องทุ่งหญ้าซึ่งสะท้อนแสงยามบ่ายเป็นสีเงินยวง

ทว่าเพียงวูบเดียวพวกมันก็หายวับไปจากสายตา หลงเหลือเพียงความเงียบสงบของท้องทุ่งหญ้าและภูมิประเทศประหลาดที่มีชื่อเรียกขานกันมาว่า “โปดหมาผี” 


 โปดหมาผี อลังการกำแพงธรณีจากธรรมชาติ

            “คำว่า “โปด” เป็นภาษาพื้นบ้านแถบนี้ หมายความถึงการยุบตัวหรือพังทลายของดิน  ส่วน “หมาผี” นั้นคือหมาจิ้งจอกตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าแถบนี้ กลางวันจะซ่อนตัวอยู่ตามรูดิน ออกหากินตอนกลางคืน อาหารของมันก็คือกระต่ายป่า มันจะชอบส่งเสียงหอนโหยหวน ชาวบ้านแถวนี้ได้ยินแต่เสียงหอน ไม่เคยเห็นตัวสักที เลยเรียกว่า “หมาผี” บางทีก็เรียก “หมาจั๊กว้อ” ตามภาษาพื้นบ้าน  “จั๊ก” แปลว่า เล็ก หรือ แหลม  “ว้อ” แปลว่าหอน เพราะหมาจิ้งจอกชนิดนี้มันตัวเล็ก เวลาหอนมันก็จะเสียงเล็ก ๆ แหลม ๆ”

           ผมนึกไปถึงคำบอกเล่าจากหลวงพ่อสมเดช สุมโน หรือ อดีตกำนันสมเดช ผาบสละ ผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเกิด เติบโต อยู่ในตำบลสถาน จนกระทั่งปัจจุบันอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่วัดบง ซึ่งวันก่อนพวกเราแวะเข้าไปนมัสการให้ท่านช่วยไขปริศนาคาใจเกี่ยวกับชื่อ “โปดหมาผี” อันแปลกประหลาดไม่เคยได้ยินที่ไหน ฝูงกระต่ายป่าพวกนี้คงเป็นแหล่งอาหารของ “หมาผี” หรือ “หมาจั๊กว้อ” ที่ท่านว่า ขนาดอาหารของมันยังรวดเร็วว่องไวปานสายลมขนาดนี้ ไม่แปลกใจเลยครับที่จะไม่มีใครเคยได้เห็นตัวมันเป็น ๆ


            “นี่ไง ขี้กระต่าย ยังใหม่ ๆ อยู่เลย”  พวกเราพากันมุงดูหลักฐานสำคัญ เมื่อเดินไปถึงตรงที่เห็นหลังไว ๆ เมื่อครู่ มูลกระต่ายที่กระจายอยู่รอบบริเวณ ช่วยยืนยันได้ว่าเป็นฝูงกระต่ายป่าจริง ๆ ไม่ได้ตาฝาดหรือมโนไปเองแต่อย่างใด 

            “แล้วเราจะได้เห็นหมาจั๊กว้อกันไหมเนี่ย ว่าหน้าตาเป็นยังไง ”

          “น่าจะยาก ขนาดชาวบ้านเขาอยู่กันมาทั้งชีวิตยังไม่เคยเห็นเลย เรามากันแค่ไม่กี่วัน ถ้าได้เจอนี่ยิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งอีกนะ”



            คุยกันไปเดินลุยทุ่งหญ้ากันไปทางทิศตะวันออก มาสุดตรงกำแพงดินสูงชันตั้งตระหง่านเป็นแนวยาวกางกั้นไว้  พอมาหยุดยืนพวกเราถึงได้รู้สึกว่าช่วงขาและเท้าของพวกเรากลายสภาพเป็นเม่นไปเสียแล้ว เพราะเต็มไปด้วยดอกหญ้าเจ้าชู้ที่แทงทะลุเนื้อผ้า ถุงเท้า และรองเท้าผ้าใบ จนเจ็บ ๆ   คัน ๆ ต้องพากันหยุดยืนพัก ค่อย ๆ ดึงถอนออกทิ้งทีละดอก

 ผมยืนพินิจพิจารณาแนวผาดินตรงหน้า ดูไปแล้วบริเวณโปดหมาผีนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ “เสาดินนาน้อย”  โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกกันว่า “คอกเสือ”  ในอุทยานแห่งชาติศรีน่านที่อยู่ไม่ไกลจากกันเท่าไหร่ วันแรกที่มาถึงอำเภอนาน้อย พวกเรายังแวะเวียนไปเดินชมกันอยู่  แล้วก็ยังคงตื่นตาตื่นใจเหมือนเดิมครับ กับประติมากรรมธรรมชาติที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่กว่า ๕๐ ไร่

 จะว่าไปก็แปลกดีครับ เฉพาะที่อำเภอนาน้อยแห่งเดียวนี่มีแหล่งเสาดินอยู่หลายแห่ง ผู้สันทัดกรณีเขาว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรณี เกิดจากดินตะกอนที่ทับถมกันเป็นจำนวนมากอยู่ก้นทะเลลึก เมื่อมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในยุคเทอร์เชียรีตอนปลาย (ราว ๆ ๒๘ ล้านปีก่อน) ถูกดันยกขึ้นมาบนบกเป็นผืนแผ่นใหญ่ จากนั้นบางส่วนก็ค่อย ๆ พังทลายยุบตัวลง อีกทั้งผ่านกาลเวลา การแผดเผาของแสงแดด การกัดเซาะของน้ำฝน และสายลมในธรรมชาติ อย่างต่อเนื่องมาอีกหลายล้านปี

แร่ธาตุที่ตกตะกอนต่างกันในชั้นต่าง ๆ ส่งผลให้ความแข็งแกร่งในแต่ละส่วนไม่เท่ากัน ส่วนที่บอบบาง ค่อย ๆ สึกกร่อนออกไป หลงเหลือไว้แต่ส่วนที่แกร่งกว่า เกิดเป็นประติมากรรมดินตะกอนรูปร่างแปลกตา ทรวดทรงแตกต่างกันออกไป บ้างเป็นกำแพงดินขนาดใหญ่เต็มไปด้วยริ้วลายร่องลึก บ้างเป็นรูปเห็ดกลมมน บ้างเป็นแท่งสูงใหญ่ ฯลฯ


ตรงจุดที่เรายืนกันอยู่นี้มีป้าย “โปดหมาผี” เป็นอักษรศิลป์สีขาวตัวใหญ่เขียนไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวมายืนถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกัน เพราะว่าเป็นจุดที่มีประติมากรรมธรรมชาติหลากหลายรูปแบบที่สุด ลักษณะเป็นหุบเล็ก ๆ ตอนในสุดคือกำแพงดินสูงตระหง่านชนิดแหงนคอตั้งบ่า ด้านบนเป็นหมวก เบื้องล่างลงมาเป็นเส้นสาย ผมมองเห็นเป็นเห็ดเข็มทองในร้านสุกี้ที่ขนาดใหญ่ยักษ์  ถัดออกมาหน่อยมีสันดินยื่นออกมาที่ผมเห็นว่าเหมือนทิวเทือกเขาหินปูนยอดสูง ๆ ต่ำ ๆ ต่อเนื่องออกมาจนถึงด้านนอกสุดที่มองดูเหมือนซากโบราณสถานเก่า ๆ ปรักหักพัง

เรื่องการมองเห็นเป็นอะไรนี่นานาจิตตังครับ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัว มาด้วยกันอาจจะเห็นเป็นคนละอย่างก็ได้ ดังนั้นไม่ต้องเถียงกัน ให้ต่างคนต่างใช้จินตนาการของตัวเองในการชมเป็นหลัก ถึงเห็นไม่เหมือนกัน แต่รับรองได้ว่าถ่ายภาพออกมาสวยเหมือนกันแน่ ๆ 

 เดินชมไปพลาง ถ่ายภาพไปพลาง ถอนดอกหญ้าเจ้าชู้ออกจากแข้งขาให้พอเดินต่อได้ไปพลาง เป็นที่พอใจแล้วพวกเราก็พากันก้าวเดินเลียบเลาะไปตามแนวหน้าผาดินซึ่งเป็นพืดยาวสูง ๆ ต่ำ ๆ ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ โดยคราวนี้ผมใช้วิธีเดินก้าวเหยียบยอดหญ้าเจ้าชู้ไป (ไม่ใช่เดินบนยอดหญ้านาครับ นั่นมันนิยายกำลังภายใน) การยกเท้าสูง ๆ เหยียบยอดหญ้าลงกับดินก่อนจะเดินผ่านไป ช่วยให้ดอกหญ้าเจ้าชู้ติดขากางเกงและถุงเท้ารองเท้าน้อยลงได้เยอะเลยทีเดียว แต่บางคนก็เลือกใช้วิธีหยิบเอากิ่งไม้ยาว ๆ หวดซ้ายป่ายขวาฟาดยอดหญ้าให้กระจายก่อนเดินไป ได้ผลเหมือนกัน

แนวผาค่อย ๆ ตีวงโค้งลงมาทางทิศเหนือ ก่อนจะวกมาทางทิศตะวันตกเป็นรูปตัวยู ทำให้เราเหมือนเดินเข้าไปในหุบใหญ่ แลไปเห็นเนินดินรูปร่างแปลกตาน้อยใหญ่ลอยตัวอยู่กลางทะเลทุ่งหญ้า พื้นผิวผนังตลอดแนวถูกกัดเซาะด้วยธรรมชาติ บ้างพังทลายลงมาเป็นกอง บ้างยังยืนเด่นโชว์ผืนผาเป็นริ้วลายลึก เว้นช่องไฟอย่างเป็นจังหวะ ชวนให้จินตนาการถึงเสาวิหารโบราณเรียงราย

 ผืนป่าเต็งรังในพื้นที่ทั้งด้านบนของหน้าผาและในทุ่งหญ้าต่างเปลี่ยนสีใบเป็นเหลืองแดง แต่งแต้มเติมให้บรรยากาศรอบข้างดูเต็มไปด้วยสีสัน ต้นไม้หลายต้นทิ้งใบจนโกร๋นเหลือแต่กิ่งก้านเรียงกันให้อารมณ์วังเวง  บางต้นยืนเด่นอยู่ริมผาที่พังทลาย คล้ายจะตกไม่ตกแหล่

เดินชมผา ชมไม้  (ไม่มีนก) กันมา ต่างคนต่างก็มีจินตนาการอันบรรเจิด “ถ้าปลูกดอกไม้ให้เต็มไปหมดในนี้ น่าจะสวยดีอยู่นะ นักท่องเที่ยวมาน่าจะชอบ มุมถ่ายรูปเยอะดี”

“มันจะมีผลกระทบกับระบบนิเวศของพื้นที่หรือเปล่า ไม่ใช่นึกจะปลูกก็ปลูกนา”

ถึงไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่โปดหมาผีมีลักษณะเป็นป่าแดงป่าแพะหรือป่าเต็งรัง อันเป็นป่าผลัดใบประเภทหนึ่งซึ่งมักเกิดในพื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย กรวด หรือลูกรัง ในพื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ กว้างขวางพอสมควร ถือว่าเป็นแหล่งธรรมชาติอย่างไม่ต้องสงสัยครับ ลงมีสัตว์ป่าอย่างกระต่ายป่าหรือหมาจิ้งจอกอยู่อาศัย ก็ยิ่งต้องนับว่ายังมีความเป็นป่าและมีระบบนิเวศที่ดำเนินไปในตัวของมันอยู่อย่างแน่นอน ดังนั้นการจะทำอะไรควรจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือมีการศึกษาผลกระทบให้ดีเสียก่อน

ที่แน่ ๆ เดินมานี่ผมเห็นยังมีพืชพรรณนานาชนิดขึ้นอยู่อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะสองฟากทางที่เดินผ่าน พบเอื้องขี้หมาตามภาษาพื้นเมือง (หรือเรียกอีกชื่อที่ฟังดูดีกว่าคือ เอื้องเขาแกะ) เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ต้นไม้เต็มไปหมด  เอื้องชนิดนี้ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม เสียดายที่เรามาตอนปลายเดือนธันวาคมเลยยังไม่ได้เห็นดอก   

เขาว่าที่นี่ยังมี “ต้นดิกเดียม” พืชที่มีความแปลกประหลาด ขยับกระดุกกระดิกได้เมื่อถูกสัมผัสขึ้นอยู่หลายต้นด้วย หลายปีก่อนผมเคยไปดูต้นดิกเดียมต้นดังที่วัดปรางค์ ในอำเภอปัว ได้ทดลองเอานิ้วจี้ที่ลำต้น ปรากฏว่ามันดุกดิกสั่นไหวเหมือนกับจั๊กจี้จริง ๆ  เป็นที่ประทับใจมาก

ปัญหาอยู่ที่ตอนนี้ผมจำไม่ได้แล้วว่าต้นดิกเดียมหน้าตาเป็นยังไง ทำให้แม้พยายามจะมองหา ก็ดูไม่ออกว่าเป็นต้นไหนอยู่ดี แถมต้นไม้ตรงนี้ยังมีไม่ใช่น้อย

จะให้ไปเดินไล่จั๊กจี้พิสูจน์ทุกต้นก็คงไม่ไหวครับ ใครมาเห็นเข้าคงจะหาว่าผมสติไม่เต็มบาทเป็นแน่ทีเดียว



ตระการตาสถาปัตยกรรมแห่งปฐพี เจดีย์ดิน  

          แมกไม้เขียวและสายลมเย็นเป็นสิ่งแรกที่สัมผัสได้ เมื่อคณะของเราลงจากรถซึ่งจอดไว้ตรงปากทางเข้าสู่เจดีย์ดินบ้านศาลา ระยะทางห่างจากโปดหมาผีแค่ ๔ กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบ มีกำแพงดินสูง ๆ ต่ำ ๆ ล้อมรอบพื้นที่ไว้ทุกด้าน ทางดินลาดลงเนินพาพวกเราเดินข้ามสะพานท่อนไม้ที่พาดทอดข้ามลำห้วยเล็ก ๆ อันแห้งผากในฤดูหนาว เข้าสู่ความร่มครึ้มของผืนป่าเต็งรังซึ่งกำลังเปลี่ยนสีเตรียมผลัดใบ


เลยจากทางเข้ามาไม่ไกล ทางซ้ายมือ ตรงเพิงไม้มุงหลังคาสังกะสีอันทำไว้เป็นที่นั่งพัก เนินดินด้านหลังเจาะช่องทางไว้สำหรับเดินเข้าไปด้านใน ทำเป็นเส้นทางให้เดินเที่ยวแบบวงรอบแบบเวียนขวาหรือทักษิณาวรรต สองฟากผั่งทางเข้าเป็นเนินดินบนผนังมีโพรงน้อยใหญ่ให้เห็นอยู่หลายโพรง ขณะเดินผ่านเข้าไปก็มีพวกเราอดสงสัยไม่ได้

            “นี่มันโพรงอะไรน่ะ  คงจะไม่ใช่โพรงงูจงอางหรือเหลือมหรอกนะ เกิดอยู่ดี ๆ โผล่พรวดออกมา มีหวังได้วิ่งกันป่าราบ”

            “น่าจะเป็นโพรงกระต่ายป่ามากกว่าน่า เพราะแถวนี้ก็เป็นป่าประเภทเดียวกับโปดหมาผี น่าจะมีสัตว์ป่าเหมือน ๆ กันนั่นแหละ” 

            “ยังงั้นก็อาจจะมีหมาจั๊กว้อด้วยน่ะสิ หรือบางทีนี่อาจจะเป็นโพรงหมาจั๊กว้อก็ได้”

             พูดถึงเรื่องหมาจั๊กว้อแล้ว น่าจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อยครับ (ขนาดพวกเรายังสนใจเลย) เนื่องจากมีชื่อเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวโปดหมาผี เรื่องนี้ความจริงน่าจะมีการเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า เข้ามาทำวิจัยถ่ายภาพ ศึกษาพฤติกรรมอย่างจริงจัง เอามาทำเป็นป้ายนิทรรศการบอกเล่าข้อมูล หรือจะปั้นเป็นประติมากรรมเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เห็น ได้รู้จักหน้าค่าตาเจ้าหมาจั๊กว้อเจ้าถิ่น หรือจะทำเป็นตัวการ์ตูน ทำตุ๊กตามาสค็อต ขายเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวก็ไม่เลว  (ชักฟุ้งซ่านแฮะเรา)

            เส้นทางเดินเริ่มต้นจากตรงเสาดินขนาดใหญ่ รูปร่างเหมือนหัวไก่ในทัศนะของผม (แต่บางคนก็ว่าเหมือนหัวสุนัขพุดเดิ้ล) ตระหง่านอยู่ตรงหน้าปากทาง  พวกเราพากันเดินเลียบเลาะไปตามแนวกำแพงดินเตี้ย ๆ  เนื่องจากฝั่งนี้มีการพังทลายค่อนข้างเยอะ ที่หลงเหลือมีสภาพเป็นเสาดินจึงขนาดไม่ไหญ่มาก แต่ก็มีรูปทรงประหลาดตา เหมือนรากไม้ขนาดใหญ่บ้าง เหมือนปราสาทขอมโบราณบ้าง เหมือนเจดีย์ขนาดย่อม ๆ ก็มี เดินดูเล่น ๆ ได้พอเพลิน


            ลอดซุ้มไม้ขึ้นเนินไปอีกครั้งนั่นแหละครับ เหมือนกับผ่านประตูเข้าสู่มิติมหัศจรรย์ เพราะเข้าไปก็เจอกับเสาดินขนาดมหึมาสูงเสียดฟ้าหลายแท่ง เรียงรายกันอยู่เป็นแถวเป็นแนว เด่นตระหง่านอยู่กลางลานกว้าง คะเนดูความสูงด้วยสายตาน่าจะอยู่ระหว่าง ๑๓-๑๕ เมตร ส่วนใหญ่รูปทรงคล้ายสถูปเจดีย์ทรงระฆังในสถาปัตยกรรมไทย เป็นที่มาของชื่อเรียกขานสถานที่แห่งนี้ว่า “เจดีย์ดิน”

            แต่ก็ไม่ใช่เสาดินทั้งหมดบริเวณนี้นะครับ ที่ดูเหมือนเจดีย์ทรงระฆัง เพราะบางอันก็รูปทรงสูงผอมชะลูดเกินไปหน่อย แต่จะโมเมว่าดูคล้ายพระปรางค์วัดอรุณฯ ก็พอได้อยู่ (เจดีย์เหมือนกัน) ยังมีบางเสาดูเหมือนเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่ยอดหักไป บางเสาเหมือนเจดีย์ย่อมุมด้วยริ้วลายบนพื้นผิวโดยรอบ

ดูรวม ๆ แล้วละลานตา น่าตื่นเต้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ชื่นชอบท่องเที่ยวแนวโบราณอย่างผม ได้อารมณ์เหมือนได้มาพบนครโบราณร้างกลางป่ายังไงยังงั้น

 ธรรมชาติก็ช่างสรรค์สร้างเสียจริงครับ ยิ่งดูยิ่งเหมือนมีการจัดวางเป็นอย่างดี เพราะในตำแหน่งที่เป็นเสมือนศูนย์กลางของลานดินในบริเวณนี้ ก็ให้บังเอิญเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเสาดินที่มีขนาดใหญ่ สัดส่วนและรูปทรงกลมกลึงสวยงาม เหมือนกับเจดีย์ที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์มากที่สุดอีกด้วย


 เหมือนขนาดไหนนะหรือครับ ก็ขนาดที่ทำให้เมื่อหลายปีก่อนชาวบ้านศาลาได้นิมนต์เจ้าอาวาสวัดบ้านศาลาให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ที่ยอดของเจดีย์ดินองค์นี้ด้วยนะสิครับ โดยเจาะช่องประดิษฐานไว้บริเวณส่วนคอคอดที่เหมือนคอระฆังก่อนถึงยอด

รู้เรื่องนี้แล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกเป็นห่วงอยู่ในใจ นิด ๆ หวังว่าตอนที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว คงจะได้มีการปิดช่องที่เจาะอย่างแน่นหนา โดยเฉพาะเคลือบกันน้ำเข้าด้วย เพราะหากมีช่องหรือมีร่องเล็ก ๆ ให้น้ำฝนซึมผ่านเข้าไปข้างในเจดีย์ดินได้ เวลาฝนตกน้ำอาจเข้าไปเซาะภายในใจกลาง ทำให้เจดีย์ดินพังทลายลงมาก็เป็นได้

    ประทับใจกับรูปทรงจนผมต้องเดินวนเดินเวียนดูอยู่ตรงลานนี้เป็นนานสองนานครับ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาหายากมาก สำหรับการกัดกร่อนโดยธรรมชาติแดดฝนลมฟ้าอากาศแล้วจะได้ออกมาเป็นรูปทรงกรวยสวย ๆ เหมือนคนสร้างแบบนี้ ผมเองบอกเลยว่าตระเวนไปดูเสาดินมาทั่วไทยแล้ว แหล่งอื่นไม่ใช่ว่าไม่มีทรงกรวยเหมือนเจดีย์นะครับ มีเหมือนกัน แต่ขนาดเล็ก ๆ ทั้งนั้น อย่างมากก็แค่เท่าขนาดเท่าเจดีย์บรรจุอัฐิตามป่าช้าวัด เพิ่งเห็นที่นี่แห่งเดียวนี่แหละที่ขนาดใหญ่โตมโหฬารเหมือนกับเจดีย์จริง ๆ


ตุหรัดตุเหร่ดูโน่นดูนี่เรื่อยเปื่อยไปจนถึงริมผนังกำแพงดินด้านในที่สูงตระหง่าน เต็มไปด้วยริ้วรอยของ ลมฟ้าอากาศและกาลเวลา มองไปมองมาอยู่พักใหญ่ ก็ถึงบางอ้อ เข้าใจแล้วครับ ถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นเจดีย์ดินขนาดใหญ่ขนาดนี้ได้

ขนาดของกำแพงดินนั่นแหละครับ คือตัวหลักเลย เพราะเมื่อพิจารณาดี ๆ แล้วแนวกำแพงดินด้านหลังที่โอบล้อมเจดีย์ดินอยู่ มีความสูงโดยประมาณอยู่ในระดับ ๑๕ –๑๖ เมตร คือสูงกว่าเจดีย์ดินเล็กน้อย

 เมื่อเทียบกับระดับความสูงกำแพงดินของแหล่งอื่น ที่เจดีย์ดินบ้านศาลานี้ถือว่าสูงกว่ามาก  

รูปแบบของการกัดกร่อนและพังทลายของผนังดินที่ปรากฏอยู่บนผนังถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะที่ผมเห็นตอนนี้ผนังบางส่วนถูกกัดกร่อนจนมีลักษณะคล้ายเจดีย์ดินที่อยู่ด้านนอกแล้ว เพียงแต่ยังไม่แยกตัวออกมาเป็นเจดีย์ดินชัด ๆ แบบลอยตัวเท่านั้น

เมื่อผนังกำแพงดินสูงใหญ่ เจดีย์ดินที่เกิดจากการสึกกร่อนของกำแพงดินก็เลยมีความสูงใหญ่ไปด้วยนั่นเอง

แต่ธรรมชาติก็ไม่ได้ให้อะไรรับประกันครับ ว่ากำแพงดินที่สึกกร่อนอยู่ในปัจจุบัน อนาคตข้างหน้าจะกลายมาเป็นเจดีย์ดินเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพลมฟ้าอากาศและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการเดินทางเข้ามาเที่ยวชมของนักท่องเที่ยวด้วย ที่ปรากฏให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติมากแล้ว

 ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพความงดงามเช่นนี้ ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

ขอขอบคุณ

องค์การบริหารส่วนตำบลสถาน  พระสมเดช สุมโน คุณปรีชญา ไชยบุญเรือง ที่ได้อำนวยความสะดวกในการจัดทำจนสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 


คู่มือนักเดินทาง

โปดหมาผี ตั้งอยู่บ้านร้อง หมู่ ๓  ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน  บนเส้นทางถนนสายนาน้อย – นาหมื่น เข้าทางถนนข้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสถาน ระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร เข้าชมฟรีไม่มีค่าบัตรผ่านเข้าชม

เจดีย์ดินบ้านศาลา ตั้งอยู่ที่ บ้านศาลา หมู่ ๑ ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ทางเข้าติดกับทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๖ (นาน้อย-นาหมื่น) ทางเข้าอยู่ตรงซอยติดกับวัดศาลา เข้าไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตรถึงลานจอดรถ เข้าชมฟรีไม่มีค่าเข้าชม