วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เชียงรายในวันดอกไม้สะพรั่งบาน

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.  ปีที่๕๔ ฉบับที่ ๗ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


          
             เมื่อนึกถึงดอกไม้ ผมมักจะนึกไปถึงเชียงราย

            เนื่องจากในความทรงจำ สีสันของไม้ดอกนานาพรรณซึ่งสะพรั่งบานละลานตาเต็มสวนแม่ฟ้าหลวงบนดอยตุงเมื่อแรกเห็น สร้างความประทับใจชนิดมิมีวันรู้ลืมให้กับการเยือนเชียงรายครั้งแรกในชีวิตของผมเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนโน้น

            ความจริงแล้วคงไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียวหรอกครับที่รู้สึกแบบนั้น เห็นได้จากการที่เชียงรายได้รับสมญานามกล่าวขานกันว่าเป็น “นครแห่งดอกไม้งาม” มาโดยตลอดเนิ่นนานแล้ว ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาดงดอยอยู่ทั่วไป ทำให้อากาศเย็นสบาย เอื้ออำนวยต่อการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาว อันเป็นห้วงเวลาที่บรรดาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะไม้ดอกเมืองหนาว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มากมายด้วยสีสันสวยงามแปลกตาแข่งขันแบ่งบานอย่างเต็มที่


ยิ่งปีนี้อากาศหนาวเย็นยะเยือกกว่าปีไหน ๆ ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจังหวะอันดีสำหรับการเที่ยวเชียงรายเพื่อชมความตระการตาของนานาบุปผาชาติเป็นที่สุดละครับ


ดอยตุง –ดอยช้างมูบ อุทยานสวรรค์ในความทรงจำ

ห่างหายจากเชียงรายไปนานหลายปี กลับมาเยือนอีกในครั้งนี้ ผมเลยอดไม่ได้ที่จะแวะเวียนขึ้นมาบนดอยตุง รำลึกความรู้สึกแรกประทับใจกับภาพของดอกไม้งามสะพรั่งบาน

ตามสูตรมาตรฐานของการขึ้นมาเที่ยวชมดอยตุงนั่นแหละครับ  หลังจากเข้าคิวซื้อบัตรเข้าชมแบบรวม ที่เข้าชมได้ทุกสถานที่ในเครือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุงคือจุดหมายแรก

ผมค่อยๆ ทอดน่อง เรื่อย ๆ ในลมหนาว ตามเส้นทางขึ้นเขาลาดเลี้ยวโค้งขึ้นไปตามความสูง สองฟากฝั่งเรียงรายด้วยสีสันของดอกไม้กระจิริดกับใบสีเขียวสดกระจ้อยร่อย ห้อยระย้าในกระถาง เดินดูเพลินตาเพลินใจเรื่อยไปจนถึงปลายทางแทบไม่รู้ตัว   



ดอยตุงในอดีตนั้นไม่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์งดงามเช่นทุกวันนี้ หากแต่เป็นเขาหัวโล้นสภาพเสื่อมโทรมเพราะผืนป่าถูกทำลายจนหมดสิ้น เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าและใช้เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น รวมทั้งยังเป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งเสพติดผิดกฏหมาย
  
กระทั่ง “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชประสงค์ฟื้นฟูผืนป่าบนดอยตุงให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  ทรงก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๑ พระตำหนักแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ระหว่างทรงงาน  

ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ “สมเด็จย่า” ที่ทรงต้องการหยุดวงจรแห่งความลำบากยากแค้นของผู้คนบนดอยตุง  ด้วยการพัฒนาคนอย่างบูรณาการ ควบคู่ไปทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม  พร้อม ๆ กันกับสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทำให้วันนี้ดอยตุงกลับสู่ความเขียวชอุ่มงดงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าใครจะไปจะมาเชียงรายจะต้องแวะมาเยี่ยมเยือน

เข้าเยี่ยมชมภายในพระตำหนัก ได้เห็นสถานที่ทรงงานที่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้เหมือนครั้งประทับอยู่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าพระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัยเนิ่นนานนับสิบปีแล้ว  ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกใจหายครับ 


นิทรรศการภายในหอแห่งแรงบันดาลใจ  ช่วยให้เข้าใจถึงแนวพระราชดำริของทั้งห้าพระองค์ในราชสกุลมหิดล ตั้งแต่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  แต่ละพระองค์ล้วนทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ  



ทางเดินลดเลี้ยวจากนิทรรศการนำพาผมผ่านประตูเข้าสู่สวนแม่ฟ้าหลวง  อุทยานไม้ดอกไม้ประดับขนาดใหญ่ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สร้างถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไว้ใกล้กับพระตำหนักดอยตุงเพื่อ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ภาพประทับใจในอดีตของผมยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงครับ บนพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่เบื้องหน้า ดารดาษไปด้วยบุบผานานาพรรณ รวมทั้งซุ้มไม้เลื้อยกว่า ๗๐ ชนิด และไม้ยืนต้นต่างๆ หลากสีสันตระการตา  ท่ามกลางภูมิทัศน์บนลาดเขาที่จัดวางเอาไว้อย่างสวยงามลงตัว
  
ครั้งแรกที่ผมมาเป็นช่วงฤดูหนาวเหมือนกัน ต่างกันตรงที่วันนั้นสวนแม่ฟ้าหลวงห่มคลุมด้วยม่านหมอกขาวโพลนทั่วอาณาบริเวณ เมื่อผสมผสานเข้ากับภูมิทัศน์ที่งดงามหลากหลายสีสันของดอกไม้ ขับเน้นให้บรรยากาศรอบข้างตระการตาราวกับยกสวนสวรรค์ในชั้นฟ้าลงมาวางไว้บนดินตรงหน้าเลยทีเดียว 



คล้าย ๆ กันกับที่สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่บนดอยช้างมูบ จุดสูงสุดของเทือกดอยตุงที่ระดับความสูง ๑,๕๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในอดีตที่ตรงนี้ก็คล้ายกับดอยตุงคือเป็นเขาหัวโล้นและป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สนองพระราชดำริ “สมเด็จย่า” ด้วยการมาปลูกสนสามใบเป็นไม้เบิกนำให้ร่มเงา ก่อนจะสร้างเป็นสวนรุกขชาติขึ้น ใช้เป็นที่รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นเคยพบบนดอยช้างมูบและเทือกดอยตุงเอาไว้ภายในพื้นที่อันกว้างขวางถึง ๒๕๐ ไร่  

จำได้ดีเลยครับว่าที่นี่ผมเคยเดินอย่างตื่นตาตื่นใจผ่านม่านหมอกขาวตามทางเดินลดเลี้ยวลงไปตามลาดเขาที่รายล้อมด้วยดงกุหลาบพันปี ซึ่งถือว่าเป็นนางพญาแห่งสวนรุกชาติแห่งนี้  เนื่องจากมีหลายสี หลากสายพันธุ์ จากนานาทวีป ทั้งเอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย เป็นแหล่งรวบรวมเอาไว้มากที่สุดของประเทศ บนเส้นทางเดินที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขายังแทรกแซมด้วยความงดงามของพันธุ์ไม้ดอกชนิดอื่น ๆ อย่าง กล้วยไม้ดิน กล้วยไม้พื้นเมือง รองเท้านารี  เป็นสีสัน




ว่ากันว่าในช่วงต้นนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยออกดอกสะพรั่งบาน บนเส้นทางนี้จะยิ่งสวยงามเหมือนถนนในความฝัน เนื่องจากทั่วบริเวณจะกลายเป็นสีชมพูตระการตา เห็นเขาบอกอยู่ในราวเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แต่ผมยังไม่เคยมีโอกาสมาได้ตรงกับช่วงเวลาที่ว่าสักครั้ง  มาคราวนี้ยังพอได้เห็นออกดอกชมพูระเรื่อตัดกับฟ้าครามเข้มอยู่บ้างบนเรือนยอด (ไม่แน่เหมือนกันนาครับ อ.ส.ท.ฉบับนี้วางตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะบานรับวาเลนไทน์พอดีก็ได้...แฮ่ม)


เที่ยวสองงานเทศกาลดอกไม้ตระการตา

แปลงดอกทิวลิปหลากสีเรียงรายละลานตา ท่ามกลางอากาศที่เยือกเย็น ทำให้ผมรู้สึกคล้ายกับว่ากำลังเดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะที่เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ปาน

 แต่ความจริงแล้วอยู่ในงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งาม กลางเมืองเชียงรายครับ 

เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ความเป็น “เมืองแห่งดอกไม้งาม” ที่เล่าขานกันมานาน เชียงรายจึงมีการจัดงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งามจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับ ขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ระหว่างช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นับถึงครั้งนี้ก็เป็นปีที่ ๑๐แล้ว

ในปีนี้เทศบาลนครเชียงรายได้เนรมิตพื้นที่ ๑๑ ไร่กลางใจเมืองเชียงราย บริเวณสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ให้กลายเป็นอุทยานไม้ดอกเมืองหนาว ด้วยการนำไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว จำนวนกว่า ๑  ล้านต้น มากกว่า ๓๐ สายพันธุ์ มาตกแต่งประดับประดาเป็นสวนหย่อม บ้านดอกไม้ อุโมงค์ไม้ดอก รวมทั้งประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ในเขตเทศบาลเมืองจนตระการตาด้วยไม้ดอกนานาพรรณ 



เปิดให้เที่ยวชมกันได้ทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำครับ อากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็นเป็นพิเศษในปีนี้ดูเหมือนเป็นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะแม้แต่ตอนเที่ยง แดดก็ยังไม่แผดกล้าจนร้อนเกินไป เดินได้สบาย ๆ พอเข้ามาในงานแล้วจะรู้สึกเหมือนกับเดินอยู่สวนดอกไม้ในยุโรปเลยเชียวละครับ ด้วยสภาพแวดล้อมของอาคาร การจัดวาง และสีสันรูปร่างหน้าตาของบรรดาไม้ดอกเมืองหนาว  

ยิ่งในช่วงเย็นแดดร่มลมตกแล้วบรรยากาศดีอย่าบอกใคร มีการจัดแสดง “ดนตรีในสวน” บรรเลงขับกล่อมให้ฟังกันสด ๆ โดยนักร้องชื่อดังหลากหลายอีกต่างหาก แม้เมื่อดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป บรรดาไม้ดอกไม้ประดับในงานก็ยังสว่างไสวสวยงามด้วยการสาดแสงไฟหลากสีสัน  นักท่องเที่ยวโต้ลมหนาวเดินเที่ยวชมกันได้ยันดึกนั่นแหละครับ

จากข้อมูลของเทศบาลนครเชียงราย ในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมานี้ นักท่องท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมความสวยงามของดอกไม้ในงานกันมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน ทำลายสถิติทุกครั้งที่ผ่านมา แถมในงานยังมีการสั่งซื้อดอกไม้สวยงามที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่จำนวนมาก ยอดสั่งซื้อมากกว่าสองแสนต้นเลยทีเดียวละครับ


ความสำเร็จจากเทศกาลเชียงรายดอกไม้บานที่ผ่านมาหลายปี ทำให้ล่าสุดยังได้มีการจัดงานมหกรรมดอกไม้อาเซียนเชียงราย ขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันอีกงานหนึ่งด้วย นัยว่าเพื่อเตรียมต้อนรับการเปิดสู่ประชาคมอาเซียน จัดปีนี้เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ  มุ่งหมายให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และยกระดับการจัดงานเป็นงานท่องเที่ยวระดับประเทศ และระดับอาเซียนต่อไป

งานนี้จัดอยู่นอกเมืองบริเวณสวนไม้งามริมน้ำกกครับ  บนเนื้อที่กว้างขวางกว่า ๑๐๐ ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นหลายส่วน คือส่วนการจัดแสดงดอกไม้ซึ่งเป็นส่วนหลักอยู่บริเวณกึ่งกลาง รายรอบด้วยส่วนการจัดแสดงอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรณพืชไม้ดอกไม้ประดับ อย่างเช่น ซุ้มราชรถประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากประเทศภูฏาน มาประดิษฐานไว้ภายในงาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เคารพสักการะเป็นสิริมงคล  หมู่บ้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีล้านนา หมู่บ้านจัดแสดงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆในเชียงราย หมู่บ้านผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์โอทอป  และพันธุ์ไม้นานาชนิด  ไปจนถึงเมืองหิมะและน้ำแข็ง (มาได้ยังไงไม่รู้อันนี้)

 ตั้งใจมาชมดอกไม้นี่ครับ อย่างอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องผมก็เลยข้ามผ่านไปบ้าง (แต่ยังมีแอบเข้าไปเล่นในเมืองหิมะและน้ำแข็งเหมือนกัน...นิดนึง... แหะแหะ)   


ในส่วนหลักซึ่งจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับนั้น จัดสร้างเป็นอุทยานไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว  ในลักษณะของสวนหย่อมที่ประกอบด้วยไม้ดอกและไม้ใบสีสันสดใสละลานตานานาชนิด เรียงรายอยู่ตามมุมต่าง ๆ    ของสวนสาธารณะแห่งนี้ ที่โดยปกติภูมิทัศน์สวยงามอยู่แล้ว เพราะมีทั้งน้ำตกจำลองและสายลำคลองเล็ก ๆ คดเคี้ยว ทอดข้ามผ่านไว้ด้วยสะพานน้อย ๆ พอเสริมสวนหย่อมดอกไม้เข้าไปก็อลังการขึ้นมาทันตา

ในศาลาที่รายรอบสระน้ำขนาดใหญ่และน้ำพุอันเป็นศูนย์กลาง จัดเป็นซุ้มแสดงผลงานการประกวดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืชพรรณ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดบายศรี การประกวดสวนถาด สวนถาดกระบองเพชร การประกวดเขามอ ประกวดวาดภาพและภาพถ่ายดอกไม้  ให้เลือกชมตามความสนใจ

แปลงดอกทิวลิป  แปลงดอกลิลลี่  แปลงดอกอาซาเลีย ยังคงถือเป็นดาวเด่นของงานนี้เพราะเห็นมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้าไปชื่นชมและถ่ายภาพกันอย่างไม่ขาดสาย พอๆ กันกับอีกมุมหนึ่งที่จัดเป็นอุทยานกล้วยไม้ที่รวบรวมเอากล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์มาไว้ด้วยกันโดยจำลองลักษณะสภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่ของกล้วยไม้มาด้วย เช่น ริมน้ำตก เพิงผา คูหาถ้ำ ช่วยเพิ่มความน่าตื่นตา



ดูไปก็คล้าย ๆ กันกับงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้บานในเมืองอยู่เหมือนกันครับ  ต่างกันด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างขวางกว่า ทำให้รูปแบบการจัดสวนหย่อมหลากหลาย  แถมด้วยลูกเล่นที่อยู่ตามมุมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพมีมากกว่า อย่างเช่นสวนหย่อมที่ตัดแต่งรูปทรงให้เป็นสัญลักษณ์อาเซียน คือรวงข้าว ๑๐ ต้นมัดรวมกัน  สวนหย่อมที่ตัดแต่งดอกไม้หลากสีสันเป็นตัวละครจากนิทานเรื่องสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด  และจักรยานสามล้อถีบที่ประดับดอกไม้ทั้งคัน

 ไหนจะกิจกรรมอื่น ๆ ที่เสริมเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงขบวนเรือบุปผชาติทางน้ำที่แต่ละลำประดับประดาดอกไม้กันอย่างพิสดารพันลึก  การแสดงบนเวทีกลางน้ำประกอบแสงสีเสียงเรื่องประวัติพญามังรายมหาราช  และอื่น ๆ อีกมากมาย (ผมเองก็ยังเที่ยวดูได้ไม่หมดเหมือนกัน บ่องตง)    

สนุกสนานเพลินตาเพลินใจ สรุปง่าย ๆ ว่าอะไรต่อมิอะไรก็ดีหมดครับ เสียดายอยู่อย่างเดียว ตรงที่ทั้งสองงานจัดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ถ้ามีให้เที่ยวชมได้ตลอดทั้งปีคงจะดี

ใครที่พลาดโอกาสชมก็ไม่ต้องเสียดาย  เพราะผมเก็บบรรยากาศเอามาให้ชมแล้วในฉบับนี้ ดูเล่น ๆ กันไปก่อน ถูกออกถูกใจยังไง กาปฏิทินวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเอาไว้ ช่วงส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่มาเที่ยวกันได้ กับสองงานดอกไม้งามของจังหวัดเชียงรายครับ 


สิงห์ปาร์ค สวนดอกไม้บนไร่เกษตร    

ประติมากรรมรูปสิงห์สีทองที่คุ้นตา เคยเห็นยกขาอยู่ข้างขวดโซดาและเบียร์มาแต่ไหนแต่ไร เป็นจุดดึงดูดสายตาของ “ไร่บุญรอด” ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า สิงห์ปาร์ค เชียงราย เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมได้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ใครผ่านไปผ่านมาจะเห็นสิงห์ทองอร่ามยืนยกขาอยู่บนเนินหญ้าเขียวขจีท่ามกลางทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง

บนพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ๘,๖๐๐ ไร่แบ่งออกเป็น ไร่ข้าวบาร์เลย์ วัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเบียร์  ไร่ชาพันธุ์อู่หลงสายพันธุ์จินซวนหรือชาอู่หลงเบอร์ ๑๒  สายพันธุ์ไต้หวัน ที่ปลูกบนพื้นที่กว่า ๖๐๐ ไร่  แปลงเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ปลูกพืชหลายชนิดตามความเหมาะสมของสภาพดิน มีทั้งไร่พุทราพันธุ์ซื่อหมี่ลูกใหญ่ กว่า ๑๐๐ ไร่  ไร่มะเฟืองยักษ์หวาน  ไร่สตรอว์เบอร์รี่ สายพันธุ์พระราชทาน ๘๐   แคนตาลูป มะเขือเทศพันธุ์เลื้อย นอกจากนี้ยังมีไม้ผลยืนต้นอย่างลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง กระท้อน  มะนาว  รวมไปแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวอีกหลากหลายชนิด อย่าง บร็อกโคลี่ มัลเบอร์รี, ราสเบอร์รี, เมลอน ยังมีฟาร์มเห็ดหอม ฟาร์มเลี้ยงวัวนม  และยางพารากว่า ๒,๗๐๐ ไร่

เรียกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้



 บริเวณสิงห์ปาร์คนี้ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งครับ ที่เหมาะกับการมาเที่ยวชมความงดงามของดอกไม้ เพราะบนเนินเขาน้อย ๆ ลดหลั่นเป็นลอนด้านหน้า ตระการตาด้วยสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ ที่มีไม้ดอกไม้ประดับหลากสีสันนานาพรรณให้เที่ยวชม

สีสันอันหลากหลายดูละลานตาน่าดูน่าชมเป็นที่สุดครับ เพราะมีทั้งทุ่งดอกปอเทืองสีเหลืองทองอร่ามสุดลูกหูลูกตา ทุ่งดอกซัลเวียชูช่อสีแดงไสวล้อสายลม ทุ่งดอกดาวกระจายและทุ่งดอกแววมยุรานานาสารพัดสี  ทุ่งดอกพิงค์มอสสีชมพูหวาน  โอ๊ย จาระไรไม่หวาดไหวครับ เยอะมาก มองไกล ๆ จะเห็นบรรดาดอกไม้นานาชนิดเหล่านี้แผ่กว้างเหมือนผืนพรมบุปผาห่มคลุมอยู่ทั่วเนินเขา

รอบอาณาบริเวณของสิงห์ปาร์คยังเรียงรายไว้ด้วยต้น “เหลืองเชียงราย” ที่มีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า “Dwarf Golden Trumpet”  มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศบราซิล เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ดอกสีเหลืองสวยงาม นิยมปลูกมากทางภาคเหนือของไทยเรา โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย จึงได้ชื่อว่า เหลืองเชียงราย” 
  

ตอนที่ผมมานี่ยังไม่มีดอกให้เห็นครับ ได้ยินมาว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป (ก็คือช่วงที่อนุสาร อ.ส.ท.ฉบับนี้ออกวางตลาดพอดี) ไปจนถึงเดือนมีนาคม เหลืองเชียงรายจะออกดอกพร้อม ๆ กันทั้งขุนเขาทั่วเมืองเชียงราย ในสิงห์ปาร์คนี่ก็น่าจะเหลืองอร่ามไปหมด


 ว่าจะหาโอกาสแวะเวียนกลับมาชมอีกสักครั้งอยู่เหมือนกันครับ เพราะยังไม่เคยเห็นดอกเหลืองเชียงรายบานสะพรั่งไปทั้งเมือง คงจะงามตาน่าดูน่าชมไม่ใช่เล่น

ที่สำคัญ มาชมดอกไม้เมืองเชียงราย แต่ไม่เห็นดอกไม้ชื่อเดียวกับจังหวัดได้ยังไง เหมือนมาเชียงรายแต่ไม่ถึงเชียงราย เสียฟอร์มแย่ จริงไหมครับ

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เที่ยว ๔ ตลาดน้ำเมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ 

              
                “ อุ๊ย ดูนั่นสิ  เหมือนที่เราเคยเล่นสมัยเด็ก ๆ เลย
                
                “ เออ ใช่ อันนั้นก็เหมือนกันนะ จำได้ไหม...

                เสียงอุทานและพูดคุยทำนองนี้ดังมาเข้าหูอยู่เป็นระยะ ในแบบระบบเซอร์ราวนด์ จากทุกทิศทาง ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ขณะผมค่อย ๆ ก้าวเท้าเคลื่อนตามกระแสของกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่ง ไหล ไปตามทางเดินเลียบคลองในตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่สองฟากฝั่งลำน้ำสายแคบ ๆ  เต็มไปด้วยร้านรวงที่เรียงรายเอาไว้ด้วยข้าวของเครื่องใช้ย้อนยุคย้อนสมัย

                ได้ยินบ่อย ๆ ก็อดขำไม่ได้ครับ ที่คนหลาย ๆ คนรู้สึกเหมือนกัน พูดเหมือนกัน โดยไม่ต้องนัดหมาย แล้วก็ยิ่งตลกเข้าไปใหญ่ เมื่อคิดต่อไปอีกว่า ในเมืองกรุงเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย  จะซื้อหาของกินของใช้ก็มีทั้งร้านสะดวกซื้อ มีทั้งห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่แทบทุกมุมเมือง ติดแอร์เย็นสบายอีกต่างหาก แต่คนในเมืองนี่แหละครับ กลับพากันขับรถแห่ออกมานอกเมืองตั้งไกล มาเดินเบียดกันอยู่บนทางเดินแคบ ๆ  ในตลาดน้ำ เพื่อตามหาบางสิ่งบางอย่าง

                เท่าที่มองเห็นเดิน ๆ กันอยู่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นครับ พวกนี้มาตามหาอะไรใหม่ ๆ   อาจเพราะชีวิตเมืองกรุงยุคใหม่สะดวกสบายง่ายดายเกินไป ทำให้เบื่อ เลยต้องมาหาดูหาชมข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนร้านรวงสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มยังสาว ที่ถือเป็นของแปลก เพราะไม่เคยเห็น เกิดไม่ทัน

                 แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งครับ ที่มาตามหามองหาอะไรเก่า ๆ ที่ทำให้รำลึกนึกไปถึงบรรยากาศและวันเวลาที่ผ่านพ้นไป  โดยมากจะอายุอยู่ในช่วงสามสิบปลาย ๆ หรือหลักสี่ขึ้นไป (ไม่อยากบอกเลยว่า รุ่นเดียวกับผมนี่แหละ ) พวกนี้จะมีปฏิกริยากับข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นสมัยก่อนมากกว่ากลุ่มแรก  เห็นอะไรก็จะวี๊ดวิ๊ว กิ๊วก๊าว กันเป็นพิเศษ  คล้ายได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเด็ก ๆ อะไรทำนองนั้น



                   จำไม่ได้เหมือนกันครับว่าตัวผมเองเริ่มรู้สึกหวนคำนึงถึงอดีตตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยความที่ปกติก็ชอบพวกโบราณคดี ประวัติศาสตร์ อะไรเก่าๆ  แก่ ๆ  มานานแล้ว แต่ถ้าอาศัยสังเกตจากคนรอบข้าง ก็คลับคล้ายคลับคลาว่ากระแสความนิยมการท่องเที่ยวในแนวรำลึกความหลังนี่มาแรงเอาประมาณในช่วงปี พ.ศ.  ๒๕๔๖   จากภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน หนังใส ๆ สไตล์กุ๊กกิ๊กแบบเด็ก ๆ  ซึ่งมีทีเด็ดโดนใจใครต่อใครด้วยบรรยากาศในเรื่อง ที่พาคนดูย้อนยุคย้อนสมัย กลับไปในช่วงเวลาเยาว์วัยอันแสนสนุก 

ที่ผมจำได้ดี เพราะตอนนั้นมีเพื่อนผมหลายคน ดูกันคนละหลาย ๆ รอบ แถมโทรมาเล่าให้ฟังอีก เรียกว่าคลั่งไคล้กันมาก  และก็เหมือนกับบังเอิญครับ ที่ตลาดน้ำอัมพวาเองก็มาฟื้นฟูกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันพอดิบพอดี ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันไหมละครับ แต่ที่แน่ ๆ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็หลายปีที่กระแสความนิยมท่องเที่ยวย้อนยุคยังแรง  แถมแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย ไม่ต้องไปนับจังหวัดอื่น ๆ ที่ไหน เฉพาะที่สมุทรสงครามเองนี่ นอกจากตลาดน้ำอัมพวา ตอนนี้ยังมีตลาดน้ำใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายแห่ง

                 หลายวันที่มาเดินเที่ยวในหลาย ๆ ตลาดน้ำ ทำให้พอจะเข้าใจครับ ว่าทำไมตลอดหลายปีกระแสความนิยมถึงไม่ตก ก็เพราะความรู้สึกที่ได้เวลามาเดินตลาดเหล่านี้ มันเหมือนกับได้ขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสมัยยังเด็ก ช่วงเวลาที่มีความสุขสนุกสนาน อารมณ์คล้าย ๆ กับตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน แต่ดีกว่ากันตรงที่อะไรต่อมิอะไรเก่า ๆ ที่เห็นนั้นจับต้องสัมผัสได้

ที่สำคัญคือตัวเราได้เป็นพระเอก ทำอะไรได้ตามใจ อยากกินอะไร อยากซื้ออะไร อยากเล่นอะไร ได้หมด ไม่เหมือนในหนังที่ได้แต่ดูอย่างเดียว (ตรงนี้แหละแจ๋วที่สุด)



ท่าคา ตลาดน้ำอมตะ
               
                 แสงแดดยามเช้าลอดแนวมะพร้าวที่ปกคลุมลงมาเห็นเป็นเส้นสายแสงเงาบนถนน ขณะพาหนะคันเก่งพาผมลัดเลาะผ่านตามทางลดเลี้ยวผ่านท้องร่องเรือกสวนสองฟากฝั่ง มุ่งหน้าสู่ตลาดน้ำท่าคา ที่ถือเป็นตลาดนัดทางน้ำที่เก่าแก่และเป็น “ของแท้  ที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาตลาดน้ำทั้งหลายในประเทศไทย ใครไปใครมาถึงสมุทรสงครามแล้วถือว่าพลาดไม่ได้

                บรรยากาศบนเส้นทางชวนให้นึกถึงสวนบางมดแถวบ้านผมสมัยเด็ก ๆ ที่เคยไปขี่จักรยานเที่ยว ทางคดเคี้ยวผ่านท้องร่องสวนส้ม สวนมะพร้าว แบบนี้แหละครับ เดี๋ยวนี้กลายเป็นตึกแถวบ้านจัดสรรไปหมด แทบไม่เห็นเค้า (แน่ะ รำลึกความหลังอีกจนได้  ชักเริ่มสูงวัยแล้วสิเรา)

                ระหว่างหมุนพวงมาลัยไปตามถนนที่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาซับซ้อนเหมือนเขาวงกตก็คิดเล่น ๆ เรื่อยเปื่อยไปครับว่า ถนนที่คดเคี้ยวของสมุทรสงครามนี่แหละเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดน้ำท่าคายังคงอยู่จนทุกวันนี้  เพราะคนในพื้นที่คงไม่อยากขึ้นมาใช้ถนนที่วกวนจนวิงเวียน  เลยสมัครใจพายเรือไปไหนมาไหนทางน้ำน่าจะสะดวกกว่า อ้าว จริง ๆ นะ ลองสังเกตดูสิครับ ถนนแถวนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงไปตรงมาเหมือนที่อื่นเขาหรอก ผมเองกว่าจะถึงตลาดน้ำท่าคาก็ต้องหายาดมเหมือนกันเพราะเวียนหัว

                 ตลาดน้ำท่าคา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.. ๒๔๘๐ เดิมเรียกกันว่า ตลาดนัดท่าคาเป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และจากจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นชาวไร่ชาวสวนนัดกันพายเรือเอาผลผลิตจากไร่จากสวนของตัวเอง ขนมนมเนย รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้  มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยมีกำหนดนัดหมายกันในวันข้างขึ้นข้างแรม คือ ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๑๒ ค่ำ อันเป็นช่วงน้ำขึ้นมาก เหมาะกับการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยเรือ  ต่อเนื่องกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมเบ็ดเสร็จเป็นเวลาเจ็ดสิบปี ถือว่าเข้าขั้น ตลาดน้ำอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ไปแล้ว

                 แม้แต่ในทุกวันนี้พ่อค้าแม่ขายที่ตลาดนี้ยังคงนัดหมายแบบโบราณครับ โดยยึดข้างขึ้นข้างแรมเหมือนเดิมอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้ว่าช่วงหลัง ๆ  ซึ่งมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา เคยมีความพยายามจะให้ชาวบ้านมาติดตลาดนัดค้าขายกันในวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้รับกับนักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงก็มีเรือมากันหร็อมแหร็ม ไม่ครึกครื้นคึกคักเหมือนวันนัดจริงของชาวบ้านเขา ที่มากันเป็นร้อย ๆ ลำ

ผมเองยังจำได้ดีถึงความรู้สึกที่ได้มาเห็นตลาดน้ำท่าคาครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน บอกได้คำเดียวว่าถึงกับตะลึงครับ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าในใจกลางสวนที่สงบเงียบร่มครึ้มจะมีตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่เนืองแน่นไปด้วยเรือพายน้อยใหญ่ของชาวบ้านในเครื่องแต่งกายแบบชาวบ้านสวนแท้ๆ  มาชุมนุมซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรและข้าวของเครื่องใช้  ตลอดจนอาหารการกินกันนับร้อย ๆ ลำ เป็นที่ครึกครื้น  แน่นขนัดเต็มผืนน้ำในลำคลอง





 คราวนี้ก็ไม่แตกต่างกันครับ โชคดีตรงที่แม้วันที่ผมมานี่จะเป็นวันเสาร์ แต่ก็บังเอิญตรงกับวันนัดของชาวบ้านชนิดแจ็กพอต จอดรถเสร็จสรรพบนลานจอดที่เดี๋ยวนี้ทำไว้อย่างดี เดินเข้าไปอีกนิดหน่อย ถึงริมคลองก็ได้พบกับตลาดน้ำที่เต็มไปด้วยเรือนับร้อยบรรทุกเอาผลหมากรากไม้ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกิน ขนมนมเนยนานาชนิด ลอยลำเป็นแพอยู่เหนือผืนน้ำขวักไขว่ แว่วเสียงทักทาย เสียงเจรจาค้าขาย ดังระเบ็งเซ็งแซ่จนฟังไม่ได้ศัพท์ ดูครึกครื้นน่าสนุก

ความจริงก่อนจะถึงตลาดน้ำท่าคา บนเส้นทางยังมีตลาดน้ำดอนมะโนราอีกแห่ง ติดตลาดนัดวันเดียวกับตลาดน้ำท่าคา แต่เช้ากว่าคือในช่วง๖ -๗โมง ว่ากันว่าคึกคักและบรรยากาศดี ผมเองตั้งใจว่าจะมาแวะดูหลายครั้ง รวมทั้งคราวนี้ จนแล้วจนรอดก็มาไม่เคยทันสักที (เพราะนอนตื่นสาย แหะ แหะ ขอสารภาพ) แต่ไม่เป็นไรครับ มาที่ตลาดน้ำท่าคาก็ถือว่าเหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ไปขายที่ตลาดน้ำดอนมะโนราส่วนใหญ่ก็จะพายมาขายที่ตลาดน้ำท่าคากันต่อแทบทั้งนั้น  จะเรียกว่าเป็นตลาดเดียวกัน แต่อยู่คนละที่ คนละเวลาก็ว่าได้ (งงไหมเนี่ย ) 

ความสุขของการเที่ยวตลาดน้ำคือการได้มาเห็นภาพของวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบไทย ๆ ดูการทำมาค้าขายของชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตามาซื้อของขายของกันอย่างเดียว แต่เป็นการมาพบปะสังสันทน์ โอภาปราศรัย ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ กันไปในตัว  ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเรือบางลำมีข้าวของอยู่ในเรือแค่ไม่กี่อย่าง แต่พายวนเวียนทักทายคนโน้นคนนี้ไปทั่วทั้งตลาด  บางลำก็เอาของมาแลกเปลี่ยนกันอย่างคนที่คุ้นเคย ยกให้กันฟรี ๆ ไปเลยก็ยังมี  เหล่านี้เป็นอะไรที่หาดูไม่ได้ในเมืองใหญ่ ๆ ที่อะไรต่อมิอะไรล้วนแล้วต้องซื้อหาด้วยเงินทองไปแทบทั้งนั้น


นั่งเล่นเฉย ๆ บนศาลาริมฝั่ง ดูเรือที่พายกันไปมาขวักไขว่ก็เพลิดเพลินเจริญใจแล้ว แต่ถ้าจะให้แจ๋วจริงก็ต้องหาของกินมาเป็นกับแกล้มบรรยากาศเสียหน่อยครับ ของอร่อย ๆ ริมตลิ่งของตลาดน้ำท่าคามีเยอะ เหลียวซ้ายแลขวาละลานตาไปหมด  ไม่ว่าจะเป็นของคาวอย่าง ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว  หอยทอด  ก๋วยเตี๋ยวหลอด ก๋วยจั๊บน้ำข้น (แหม คล้องจองกันเชียว)

หันมาหาของหวานก็มีให้เลือกบานตะไท ไม่ว่าจะเป็นขนมหน้าตาคุ้น ๆ เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างขนมครก ขนมใส่ไส้  มิหนำซ้ำยังมีขนมพื้นเมือง ขนมโบราณอีกหลายอย่างที่แม่ค้าบอกแล้วผมจำชื่อไม่ได้ ไม่ใช่เพราะแก่จนอัลไซเมอร์ถามหานะครับ แต่เพราะว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนต่างหาก สารพัดละครับ แต่ละเจ้าจอดเรือเทียบท่าริมตลิ่งให้เลือกซื้อ เลือกชิมตามอัธยาศัย  รสชาติหลากหลายประทับใจทุกอย่าง

ทำเป็นเล่นไปนะครับ ของเขาเยอะจริง ผมเองลองแค่อย่างโน้นนิด อย่างนี้หน่อย กะว่าชิมพอเป็นกระสายยา ชิมไปชิมมาเผลอแผล็บเดียวยังอิ่มจนแทบจุก ลุกขึ้นเดินกลับรถแทบไม่ไหวแน่ะ

 ตลาดน้ำบางน้อย

บางน้อย บางนกแขวก สองตลาดน้ำดาวรุ่ง          
          
ออกจากตลาดน้ำท่าคามาก็ตอนสาย ๆ แดดชักจะเริ่มจัดจ้า แล่นรถผ่านเข้าไปทางตลาดน้ำอัมพวา มองไปยังเงียบสงบไม่มีผู้คน เพราะอัมพวานั้นเขามีแนวคิดทำเป็นตลาดน้ำยามเย็น (เห็นว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยเสียด้วยนะ) ตอนนี้ยามร้อน เอ๊ย สาย ๆ อยู่  เลยยังไม่เปิด ไม่เป็นไรครับ ขับเรื่อยตามทางไป บนเส้นทางนี้ยังมีตลาดน้ำที่เพิ่งเปิดตัวใหม่อยู่อีก ๒ แห่งให้เที่ยว

               ลดเลี้ยวพักหนึ่งก็มาถึงวัดเกาะแก้ว เห็นป้ายชี้ว่าเป็นทางเข้าตลาดน้ำบางน้อยก็เลี้ยวเข้าไปจอด วัดหยุดสุดสัปดาห์อย่างนี้ลานวัดกว้างใหญ่เต็มไปด้วยรถของนักท่องเที่ยวครับ เดินถึงริมตลิ่งหน้าวัดใต้หลังคาโครงเหล็กเรียงรายด้วยร้านค้าร้านอาหารสารพัด ยังมีทางเดินเชื่อมต่อลงไปในน้ำที่ทำเป็นโป๊ะมีหลังคาสำหรับเรือพ่อค้าแม่ขายมาเทียบ  มองไปแลเห็นนักท่องเที่ยวมะรุมมะตุ้มซื้อกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นของกินอาหารจานเดียว จำพวกขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ได้ของแล้วก็นั่งกินกันบนโป๊ะนั่นเอง สบายอารมณ์กันไป    
           
ทอดน่องเลียบตลิ่งต่อไปถึงหัวมุมต่อกับห้องแถวเก่า ถือว่าเข้าเขตตลาดน้ำบางน้อยแท้ ๆ  ละครับ เพราะมีป้ายชื่อตลาดขนาดใหญ่ พร้อมแผนที่ลายเส้นกำกับไว้มุมหนึ่ง บอกตำแหน่งให้รู้ว่าร้านอะไรอยู่ตรงไหน ไอเดียเข้าท่าน่ารักดีเหมือนกัน  


 วามจริงแล้วตลาดน้ำบางน้อยนี่จะว่าเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ก็ไม่ถูกครับ เพราะเป็นตลาดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่  เล่าขานกันว่าแต่เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อนตลาดน้ำบางน้อยเป็นตลาดนัดที่ครึกครื้น มีเรือนับร้อยมาจอดรอในคืนก่อนวันนัด เรียกว่าขายกันข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว โดยตรงหน้าวัดเกาะแก้วนั้นเป็นนัดขายน้ำตาลใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม  ถัดเข้ามาในคลองบางน้อยจะเป็นอาหารการกินและสินค้าอื่นๆ ทั่วไป นั่นเป็นภาพความรุ่งเรืองในอดีตสมัยที่ยังสัญจรกันทางน้ำ

พอมีถนนหนทางเข้ามา การคมนาคมทางเรือรวมทั้งตลาดน้ำก็ซบเซาเลิกราไป เนิ่นนานหลายสิบปีทีเดียวละครับ จนกระทั่งได้อานิสงส์มาจากกระแสความนิยมตลาดน้ำอัมพวา รื้อฟื้นความเป็นตลาดน้ำบางน้อยกันขึ้นมาใหม่ ทำพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อปีก่อน วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๒  นี่เอง 

บนเส้นทางเดินที่เลียบริมคลองบรรยากาศน่าสนใจด้วยห้องแถวไม้เก่าให้อารมณ์คลาสสิค กับร้านรวงที่มีอยู่สองประเภท คือ ร้านดั้งเดิมของคนท้องถิ่นที่อยู่มาแต่ก่อนเก่า กลุ่มนี้จะคงสภาพที่เคยเป็นเอาไว้ ยังไงยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำโชห่วย (ที่เดี๋ยวนี้หาดูยาก เพราะร้านสะดวกซื้อครองเมือง) ก็มีอยู่หลายร้าน ร้านขายเสื้อผ้า รวมทั้งสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่นพิพิธภัณฑ์ไหพันใบตั้งเซียมฮะ โรงพิมพ์ ส. วิจิตรวัฒนา โรงพิมพ์ขนาดเล็กที่สุดในสมุทรสงครามที่เก๋ไก๋ด้วยเครื่องพิมพ์แบบมือโยกอายุกึ่งศตวรรษ ซึ่งยังใช้งานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน



อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นร้านของคนที่มาจากที่อื่น เห็นความแตกต่างได้ชัดจากลักษณะการประยุกต์รูปแบบดั้งเดิม ผสมผสานเข้ากับลูกเล่นสมัยใหม่อย่างมีศิลปะ มีทั้งที่เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ  ที่พักและห้องแสดงงานศิลปะ ขายของที่ระลึก โปสการ์ดพร้อมส่ง  ถือเป็นสีสันใหม่ ๆ  ที่มาช่วยแต่งแต้มให้ตลาดน้ำบางน้อยมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งที่เด่น ๆ  เป็นที่รู้จักได้แก่ บางน้อยคอยรัก สายน้ำฤาจะกั้น นักท่องเที่ยวมักจะแวะเวียนมาถ่ายภาพกันไม่มีเงียบเหงา 

ทีเด็ดอีกอย่างของตลาดน้ำบางน้อย อยู่ที่ของกินแปลก ๆ มากมาย แถมบางอย่างยังไม่เหมือนที่ไหน เช่น โรตีแต้จิ๋วสมัยศิลป์  ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงร้านป้าพูนและร้านสิงห์ทอง  เกี๊ยวกุ้งร้านโอเล่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำมะนาวสูตรโบราณ ผัดไทยน้ำพริกเผา  ข้าวผัดปลาทู  กาแฟโบราณ ฯลฯ แต่ละอย่างดูแล้วน่าอร่อยทั้งนั้น

ทว่าน่าเสียดายครับ ที่ผมเองได้แต่เดินดูแบบผ่าน ๆ อาศัยชิมด้วยสายตา เพราะยังอิ่มแปล้ชนิด “เต็มถัง” มาจากตลาดน้ำท่าคา ต้องฝากเอาไว้ก่อน เก็บเอาไว้คราวหน้า ค่อยหวนกลับมาคิดบัญชีความอร่อยที่พลาดไป แฮ่ม


 ตลาดบางนกแขวกเริ่มฟื้นฟู

          ออกจากตลาดน้ำบางน้อยได้ ก็มุ่งตรงไปยังตลาดน้ำบางนกแขวก ที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกแห่งที่กำลังมาแรง อยู่บนถนนสายเดียวกัน ขับรถผ่านหน้าอาสนวิหารพระแม่บังเกิดที่เห็นยอดแหลมเสียดฟ้า ข้ามสะพานไป เลี้ยวซ้ายก็ถึงแล้ว มีที่จอดรถให้บริการเสร็จสรรพ ค่าจอดคันละ ๑๐ บาท เดินผ่านตรอกแคบ ๆ  ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็นที่ตั้งของโรงยาฝิ่นในอดีต ออกมาก็ถึงแล้ว

                 ทางเดินเล็ก ๆ พาเลียบเลาะผ่านห้องแถวที่ตั้งเรียงรายแนวแม่น้ำ แลเห็นสายน้ำแม่กลองกว้างไกลเวิ้งว้าง ดูแปลกตาไปจากตลาดน้ำแห่งอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ริมคลอง แต่นี่ตัวตลาดกลับอยู่ริมแม่น้ำ ลมพัดโกรกเย็นสบาย

                ว่ากันว่าเมื่อก่อนตลาดบางนกแขวกเป็นศูนย์กลางการค้า ถนนหนทางยังไม่มี ใช้แต่เรือกันอย่างเดียว เป็นแหล่งเรือโยงใหญ่ที่สุดในลำน้ำแม่กลอง เรือผ่านไปผ่านมาเยอะมาก  เพราะเลยจากท่าบางนกแขวกไปก็จะเป็นท่าเรือเทศบาลเมืองราชบุรี  เลยไปอีกก็เป็นท่าม่วง กาญจนบุรี  มีเรือเมล์แล่นผ่านบางนกแขวก ไปราชบุรี ตั้งแต่ตี ๕ ถึง ๕ โมงเย็น ใครไปใครมาก็ต้องแวะตลาดนี้ก่อน เรียกว่าเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางน้ำ การค้าขายก็เลยครึกครื้นมาก


 ภาพอดีตของตลาดน้ำบางนกแขวก


              ตลาดบางนกแขวกมาเริ่มซบเซาในช่วงปีพ.ศ.  ๒๕๓๕  ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับตลาดน้ำแหล่งอื่น ๆ นั่นแหละครับ คือถนนหนทางตัดเข้ามาเดินทางบนบกสะดวกกว่า คนที่เคยสัญจรทางน้ำก็หายไป ปั๊มน้ำมันริมน้ำก็ต้องเลิกกิจการ เรียกว่าตลาดต้องปิดตัวเอง เหลือค้าขายกันไม่กี่ร้าน อยู่กันแบบเงียบเหงา เพราะมีแค่พวกครู พวกข้าราชการ แถว ๆนี้ เข้ามาหาข้าวกินกลางวันซื้อของอะไรบ้างนิดหน่อยเท่านั้น

              กลับมาคึกคักอีกหนเมื่อต้นมีนาฯ ปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา รายการตลาดสดสนามเป้าที่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ มาถ่ายทำเรื่องตลาดเก่าบางนกแขวกออกอากาศ หลังจากนั้นคนก็เริ่มเข้ามาเที่ยวกันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดครึกครื้นขึ้นเป็นลำดับ

             เท่าที่ผมเดินดูกลับไปกลับมาหลายตลบ ตลาดบางนกแขวกแห่งนี้ถือว่ามีครบองค์ประกอบความเป็นตลาดน้ำย้อนยุคละครับ  เพราะตลอดแนวเรียงรายไปด้วยร้านรวงในแบบเก่า ๆ ให้เที่ยวชม  ขนาดของตลาดก็ไม่ใหญ่จนเกินไป ใช้เวลาไม่มากก็เดินได้ทั่วถึงหมดแล้ว





              ที่เด่น ๆ เห็นจะเป็นร้านขายยาแผนโบราณตงซัวฮึ้ง ภายในร้านเต็มไปด้วยตู้ยาโบราณ แต่ปัจจุบันหน้าร้านขายขนมใส่ไส้  อีกร้านที่น่าสนใจคือร้านบางคณฑีพาณิชย์ ที่แม้ร้านจะปิดไปแล้ว มีแต่แผงขายขนมเปี๊ยะโบราณเจ้าอร่อย แต่ปั๊มน้ำมันโบราณสีเหลืองอ๋อยตรงหน้าร้านที่ใช้สำหรับเติมน้ำมันเรือยังคงดึงดูดผู้มาเยือนให้แวะเวียนมาตื่นเต้นถ่ายภาพกัน ด้วยดีกรีความเป็นปั๊มน้ำมันแห่งที่ ๒ ของจังหวัดสมุทรสงครามที่ดูได้จากป้ายทะเบียนโลหะที่ติดอยู่ด้านข้าง เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีถึงความเก๋า
              บนบานประตูของร้านที่ปิดเอาไว้ยังมีโปสเตอร์รูปนักมวยไทย อภิเดช ศิษย์หิรัญ ผู้มีนิวาสถานบ้านเกิดอยู่ที่นี่ สร้างชื่อไว้ในวงการมวยด้วยการคว้าตำแหน่งแชมป์หลายตำแหน่ง ด้วยการเตะที่หนักหน่วง ท่าไม้ตายลูกเตะ ๓ ชั้นที่เตะครั้งเดียวไล่จากก้านคอ ลำตัว  และขาพับ จนได้สมญานาม “จอมเตะจากบางนกแขวก”  



              ใกล้กันยังมีร้านกาแฟเฮงเฮง ร้านเก่าเล่ายี่ห้อ อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ  อายุกว่า ๙๐ ปี (อายุร้านนะครับ ไม่ใช่เจ้าของร้าน) เก่าหรือไม่เก่า ก็มีนักค้าของเก่ามาของซื้อป้ายชื่อร้าน ให้ราคาเป็นหมื่นก็แล้วกัน ตอนนี้นอกจากขายกาแฟ และเครื่องดื่มที่เป็นทีเด็ดของร้านคือโอวัลตินภูเขาไฟ และจ้ำบ๊ะภูเขาไฟ สูตรของเก่าสมัยรุ่นพ่อแล้ว ยังขายก๋วยเตี๋ยวโบราณสูตรราชบุรีและน้ำสมุนไพรเก้าสีอีกด้วย

              พูดถึงของกินแล้วที่ตลาดบางนกแขวกถือว่ามีหลากหลายเหมือนกันครับ มีทั้งผัดไทยกุ้งสด ซาลาเปาขนมจีบปู ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดง ก๋วยเตี๋ยวกะลาโบราณ ขนมจีน แต่ที่แปลกไม่เหมือนที่ไหนก็คือข้าวแห้งไก่ ที่ว่ากันว่ามาจากข้าวต้มไก่เดิม แต่ชาวไร่ชาวสวนแถวนี้ใช้แรงงาน เป็นข้าวต้มน้ำเยอะกินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องกันก็เลยเทน้ำออก ข้าวต้มไก่ก็เลยกลายเป็นข้าวแห้งไก่มาแต่นั้น

             ผมน่ะด้วยความที่มาถึงตอนแรกท้องเริ่มร้องพอดี แถมยังไม่เห็นว่าในตลาดมีของกินมากมาย เห็นใกล้ที่จอดรถมีร้านแป๊ะก๋วยเตี๋ยวปู ดูน่ากิน แถมได้ยินว่าเป็นร้านดัง เลยฟาดเสียเต็มพิกัดไปเสียก่อน เดินเข้ามาในตลาดถึงรู้ว่าพลาดไปถนัดใจ น่าจะขยักเหลือกพื้นที่ในท้องไว้ชิมอย่างอื่นบ้าง เป็นอันว่าต้องลงบัญชีความอร่อยเอาไว้ ชิมด้วยสายตาไปพลาง ๆ ก่อน (อีกแล้ว) 

              ยังดีที่มีร้านค้าอื่น ๆ อีกมากมายหลายร้านให้เดินดูเล่นเพลิน ๆ ไม่ว่าจะเป็นขายของเล่นย้อนยุค ขายเครื่องประดับ ขายของที่ระลึก ฯลฯ สารพัด คนที่ค้าขายอยู่ในตลาดบางนกแขวก แทบทั้งหมดเป็นคนที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่นี่ ยังไม่มีคนนอกเข้ามาลงทุนทำแต่งเติมเสริมอะไรให้ผิดแปลกไปจากเดิมทั้งนั้น เรียกว่าเป็นตลาดที่ยังคงมีความเป็นตลาดน้ำแบบบ้าน ๆ    ให้สัมผัสอยู่มาก

            ไม่เสียเที่ยวที่มา ว่างั้นเถอะครับ อย่างน้อย ๆ ช่วยปะติดปะต่อให้เห็นภาพความเป็นชุมชนของตลาดน้ำสมัยเก่าได้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนมากขึ้น ว่าเขาอยู่กันยังไง



สุดยอดตลาดน้ำยามเย็น “อัมพวา”


ก่อนจะย้อนกลับไปตลาดน้ำอัมพวา ผมถือโอกาสแวะเข้าไปที่ค่ายบางกุ้ง ที่อยู่ไม่ไกล ชื่นชมความแปลกประหลาดของธรรมชาติเสียหน่อย หาไม่ง่ายครับที่ต้นโพธิ์ใหญ่อันเป็นไม้มงคลในพระพุทธศาสนาจะแผ่รากโอบล้อมห่มคลุมโบสถ์เอาไว้ภายใน จนกลายเป็นโบสถ์ปรกโพธิ์ เห็นแล้วก็ให้อัศจรรย์ใจ สมกับที่ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนมาแล้ว วันหยุดอย่างนี้มีนักท่องเที่ยวมาสักการะปิดทอง “หลวงพ่อนิลมณี” พระประธานในโบสถ์มากมาย ก็เลยใช้เวลาไปพอสมควร



แต่ก็กลับมาได้เวลาของตลาดน้ำยามเย็นอัมพวาพอดีครับ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้รถจะติดแถวอัมพวา อุทยาน ร. ๒ เป็นพิเศษ  เพราะหาที่จอดรถยาก ยังดีมีที่จอดรถเอกชนหลายแห่งให้บริการ ค่าบริการก็ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งความห่างจากตัวตลาดไกลหน่อยก็ ๓๐ บาท ใกล้เข้ามาอีกนิดก็ ๔๐ บาท ใกล้ชิดติดกับตลาดน้ำเลยก็แพงหน่อยประมาณ ๕๐ บาท เข้าตลาดมาได้ก็แทบจะไม่ต้องเดินกันละครับ ค่อย ๆ ไหลตามกระแสนักท่องเที่ยวเข้าไป ไม่รู้มาจากไหนกันเยอะแยะไปหมด อย่างว่าแหละ ที่เที่ยวดี ๆ ใครก็อยากจะมาสัมผัสทั้งนั้น



 ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเมื่อราว ๖๐ ปีก่อนถือเป็นตลาดนัดทางน้ำใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม ชะตากรรมของตลาดน้ำอัมพวาในอดีตก็เช่นเดียวกันกับตลาดน้ำอื่น ๆ นั่นก็คือพอถนนหนทางสะดวกมากขึ้น  ย่านการค้าร้านรวงก็ย้ายไปอยู่ตามริมถนนกันหมด ทำเอาอัมพวาซบเซาไปหลายสิบปี

ช่วงยุคตกต่ำของอัมพวาผมเองยังเคยมาเยี่ยมเยือนอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นบ้านเรือนร้านรวงริมน้ำเงียบเหงาไม่ค่อยมีผู้คน คล้ายกับเมืองร้าง เหลือแค่ร้านกาแฟเก่า ๆ กับร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างไม่กี่ร้าน ยังดีที่สภาพของบรรดาสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องริมน้ำทั้งหลายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่ชำรุดทรุดโทรม แต่ขนาดนั้นก็ยังได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี ๒๕๔๕



ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๖  ค่อยมีการดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากให้ชุมชนอัมพวาเก็บรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้เอาไว้ โดยในครั้งนั้นคุณป้าประยงค์ นาคะวรังค์ ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้บริจาคที่ดินพร้อมห้องแถวไม้ริมคลอง ๓๑ คูหา ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา 

ห้องแถวเหล่านี้ทางมูลนิธิฯ ได้นำมาปรับปรุงทำเป็นสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอัมพวาแต่เดิม พร้อมทั้งมีร้านค้าของที่ระลึก และร้านอาหารชานชาลาให้บริการนักท่องเที่ยว  โดยในส่วนที่ดินด้านหลังได้จัดให้เป็นลานวัฒนธรรมนาคะวรังค์ สำหรับขายของแบบตลาดนัดและจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม  ในสไตล์ย้อนยุคกลมกลืนกับอาคาร




  ล่าสุดพื้นที่ชุมชนริมคลองอัมพวาก็เพิ่งจะได้รับรางวัล “UNESCO Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation” ระดับ Honorable Mention จากองค์การ UNESCO ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ที่ผ่านมา ซึ่งหลักเกณฑ์รางวัลที่ทางยูเนสโกจัดขึ้นนั้นไม่ธรรมดานะครับ เพราะกำหนดไว้ว่าอาคารที่เข้าประกวดจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า๕๐ ปี แถมหลังจากที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้วจะต้องมีการใช้งานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีอีกด้วย   จัดพิธีรับมอบรางวัลไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี




                ในอัมพวายังมีสิ่งที่เป็นระดับโลกอีกอย่าง นั่นก็คือบ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน ในห้องแถวไม้๒ คูหา ใกล้กับสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวรวมทั้งจำหน่ายแผ่นซีดีผลงาน ของครูเอื้อผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งล่าสุดองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ ยกย่องให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากลในปี ๒๕๕๓  (Personality of the Year 2010 ) โดยครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓  

               ถึงปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนานพอดิบพอดี เดินผ่านก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมกันครับ ผมเองเข้าไปเดินดูยังเพลิดเพลินอยู่เป็นนานสองนาน




แดดร่มลมตกแว่วเสียงเพลงเก่าที่เขาตั้งคอมพิวเตอร์บนระเบียงริมน้ำ ให้นักร้องรุ่นเก๋าและผู้สมัครใจมาร้องเพลงขับกล่อมตลาดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงโบราณยุคสุนทราภรณ์  ฟังแล้วก็เข้าบรรยากาศดี แต่เดินไปเดินมาชักเริ่มหิวแล้วสิครับ แต่สบายใจได้เรื่องนี้ อาหารที่ขายในตลาดน้ำอัมพวามีมากมายหลากหลายรูปแบบ

ถ้าจะให้ได้บรรยากาศตลาดน้ำ ก็ต้องเลือกกินจากที่ขายในเรือ ซึ่งก็มีอาหารมากมายให้เลือก คนขายก็มีอยู่มากมายหลายสิบเจ้า พายเรือมาจอดริมตลิ่ง นำเสนอสารพัดอาหารเลิศรสให้เลือกชิมถึงที่ในราคาแสนถูกมีทั้งที่ นั่งกินริมตลิ่งแบบง่าย ๆ ไปจนถึงตั้งโต๊ะริมน้ำเรียงรายไปตามขั้นบันไดให้นั่งกินกัน หรือชอบหรูหราเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาหน่อยก็จะมีที่ทำเป็นร้าน จัดบรรยากาศอย่างดี(ส่วนใหญ่ก็สไตล์ย้อนยุคนั่นแหละ) เช่น ร้านกำปั่น  ร้านภวัตส้มตำไก่ย่าง ฯลฯราคาก็จะสูงขึ้นมาอีกนิด 

         อิ่มแล้วจะต่อด้วยกาแฟหรือเครื่องดื่มก็มีอีกมากมายให้เลือกครับ เช่นร้านกาญจนาพานิช  อัมพวาริมระเบียง สมานการค้า โอ๊ย เยอะครับ จาระไนไม่หมดหรอก ตองเดินเลือกดูเอาเองว่าถูกใจร้านไหน


แต่อิ่มแล้วผมสมัครใจเดินเที่ยวดูข้าวของที่วางขายมากกว่า เพราะนี่ก็เป็นความสนุกอีกอย่างของการมาเดินเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา แผงลอยตลอดจนร้านรวงบนสองฟากทาง เครื่องใช้ย้อนยุค ของเล่นสมัยเก่าถูกขนเอามาวางขายเรียงรายตามร้านละลานตา ของพวกนี้ไม่รู้เป็นไงครับ เห็นแล้วนึกถึงความหลังขึ้นมาทุกที ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ คนอื่น ๆ ก็เห็นเป็นเหมือนกัน ก็อย่างที่บอกแหละ เดินผ่านไปผ่านมาก็ฮือฮากันไปตลอดทาง

ที่ดูจะโดนใจผมและใคร ๆ มากเป็นพิเศษเห็นจะเป็นจำพวกของเล่นสังกะสี ที่ทำเลียนแบบของเก่ามา ว่ากันตามจริงแล้วแม้ว่าจะไม่เหมือนของเก่าเสียทีเดียวด้วยขนาดและสีสันที่แตกต่างอย่างรู้สึกได้  แต่ความคล้ายคลึงก็ช่วยให้หลายต่อหลายคนคน รวมทั้งผม ควักกระเป๋าซื้อเอากลับบ้าน อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้นึกความสนุกในวัยเยาว์ได้เหมือนกัน

ฟ้าเริ่มมืด แสงไฟจากร้านรวงทั่วตลาดน้ำสว่างไสว แสงไฟหลากสีสันสะท้อนลงบนสายน้ำ ยิ่งทำให้แลดูคล้ายโลกในความฝันมากขึ้น ช่วงหนึ่งทุ่มเป็นต้นไปตามท่าเรือต่าง ๆ จะมีบริการพาล่องเรือไปชมหิ่งห้อยกัน ผมไปยืนชมแสงสุดท้ายอยู่บนสะพานข้ามคลอง ช่วงนี้ก็จะเห็นเรือที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวแล่นเข้าแล่นออกกัน

 จากมุมสูงยังเห็นความเคลื่อนไหวของใครต่อใคร แต่ละคนก็มีโลกส่วนตัว บ้างก็กำลังคุยสนุกกับเพื่อนกลุ่มใหญ่อยู่ในร้านอาหารริมน้ำ บ้างก็นั่งสวีตกับแฟนเงียบ ๆ ในมุมของบ้านพักที่ให้บริการนักท่องเที่ยว บ้างก็ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันไฟแฟลชแว๊บวับ

อดีตจริง ๆ นั้นผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่มีวันหวนกลับ แต่อดีตที่ตลาดน้ำสมุทรสงครามนี่ ไม่เป็นเช่นนั้นครับ ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เราสามารถย้อนกลับมาสัมผัสชื่นชมใหม่ได้ทุกเมื่อที่ใจต้องการ


ขอขอบคุณ  คุณณรงค์ ทรงสายชลชัย คุณสมหมาย ไพศาลศิลปชัย คุณจิตรา ตันติเดชามงคล และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยให้การจัดทำสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง
ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ รศ .  “ประสบการณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมพื้นที่ริมคลองอัมพวา วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.หน้า ๕๒-๖๕. ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙.


คู่มือนักเดินทาง  
               

ตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕   ไปเลี้ยวขวาที่กิโลเมตร ๖๓   เข้าตัวจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ (ทางเดียวกับที่ไปอำเภอดำเนินสะดวก) ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร หรือเลยจากทางแยกเข้าอำเภออัมพวาไปประมาณ ๔ กิโลเมตร แยกขวามือมีป้ายบอกตลาดน้ำท่าค่าและป้ายชี้บอกตลอดทาง แล่นเข้าไปอีกประมาณ ๕ กิโลเมตรก็จะถึงตัวตลาดน้ำท่าคา

กรณีไม่มีรถส่วนตัว โดยสารรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก  มาลงที่สมทรสงครามจากตัวจังหวัดมีบริการรถประจำทางสายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ออกทุก ๒๐ นาที ขึ้นรถได้ที่คิวหน้าธนาคารทหารไทย ปลายทางตลาดน้ำท่าคา ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อบต. ท่าคา โทรศัพท์ ๐ ๓๔๗๖ ๖๒๐๘
             ตลาดน้ำบางน้อย ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางน้อย (วัดเกาะแก้ว) ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ออกจากตลาดน้ำท่าคาเลี้ยวขวามาเข้า ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอัมพวา-บางนกแขวกอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็จะถึงตลาดน้ำบางน้อย  กรณีไม่มีรถส่วนตัวมีรถตู้บริการจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงแม่กลอง จากนั้นต่อรถสาย ๓๓๓ ไปถึงตลาดน้ำบางน้อย
                
               ตลาดน้ำบางนกแขวก ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ใช้ถนนสายอัมพวา-บางนกแขวก ผ่านหน้าอาสนวิหารพระแม่บังเกิด ข้ามสะพานไป ๑๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายถึงที่จอดรถตลาดน้ำบางนกแขวก รถไฟ ขึ้นจากสถานีวงเวียนใหญ่ มาลงสถานีมหาชัย นั่งเรือข้ามฟากมายังฝั่งท่าฉลอม แล้วขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านแหลมมาลงสถานีแม่กลอง ต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก รถตู้ ขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หมอชิต ปิ่นเกล้า ตลาดบางปะแก้ว และบางนา ไปถึงแม่กลอง แล้วต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก


ตลาดน้ำอัมพวา ตั้งอยู่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนที่ไปอุทยาน ร. ๒ ถึงตลาดน้ำที่อยู่ติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม