วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เที่ยว ๔ ตลาดน้ำเมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ 

              
                “ อุ๊ย ดูนั่นสิ  เหมือนที่เราเคยเล่นสมัยเด็ก ๆ เลย
                
                “ เออ ใช่ อันนั้นก็เหมือนกันนะ จำได้ไหม...

                เสียงอุทานและพูดคุยทำนองนี้ดังมาเข้าหูอยู่เป็นระยะ ในแบบระบบเซอร์ราวนด์ จากทุกทิศทาง ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ขณะผมค่อย ๆ ก้าวเท้าเคลื่อนตามกระแสของกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่ง ไหล ไปตามทางเดินเลียบคลองในตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่สองฟากฝั่งลำน้ำสายแคบ ๆ  เต็มไปด้วยร้านรวงที่เรียงรายเอาไว้ด้วยข้าวของเครื่องใช้ย้อนยุคย้อนสมัย

                ได้ยินบ่อย ๆ ก็อดขำไม่ได้ครับ ที่คนหลาย ๆ คนรู้สึกเหมือนกัน พูดเหมือนกัน โดยไม่ต้องนัดหมาย แล้วก็ยิ่งตลกเข้าไปใหญ่ เมื่อคิดต่อไปอีกว่า ในเมืองกรุงเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย  จะซื้อหาของกินของใช้ก็มีทั้งร้านสะดวกซื้อ มีทั้งห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่แทบทุกมุมเมือง ติดแอร์เย็นสบายอีกต่างหาก แต่คนในเมืองนี่แหละครับ กลับพากันขับรถแห่ออกมานอกเมืองตั้งไกล มาเดินเบียดกันอยู่บนทางเดินแคบ ๆ  ในตลาดน้ำ เพื่อตามหาบางสิ่งบางอย่าง

                เท่าที่มองเห็นเดิน ๆ กันอยู่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นครับ พวกนี้มาตามหาอะไรใหม่ ๆ   อาจเพราะชีวิตเมืองกรุงยุคใหม่สะดวกสบายง่ายดายเกินไป ทำให้เบื่อ เลยต้องมาหาดูหาชมข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนร้านรวงสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มยังสาว ที่ถือเป็นของแปลก เพราะไม่เคยเห็น เกิดไม่ทัน

                 แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งครับ ที่มาตามหามองหาอะไรเก่า ๆ ที่ทำให้รำลึกนึกไปถึงบรรยากาศและวันเวลาที่ผ่านพ้นไป  โดยมากจะอายุอยู่ในช่วงสามสิบปลาย ๆ หรือหลักสี่ขึ้นไป (ไม่อยากบอกเลยว่า รุ่นเดียวกับผมนี่แหละ ) พวกนี้จะมีปฏิกริยากับข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นสมัยก่อนมากกว่ากลุ่มแรก  เห็นอะไรก็จะวี๊ดวิ๊ว กิ๊วก๊าว กันเป็นพิเศษ  คล้ายได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเด็ก ๆ อะไรทำนองนั้น



                   จำไม่ได้เหมือนกันครับว่าตัวผมเองเริ่มรู้สึกหวนคำนึงถึงอดีตตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยความที่ปกติก็ชอบพวกโบราณคดี ประวัติศาสตร์ อะไรเก่าๆ  แก่ ๆ  มานานแล้ว แต่ถ้าอาศัยสังเกตจากคนรอบข้าง ก็คลับคล้ายคลับคลาว่ากระแสความนิยมการท่องเที่ยวในแนวรำลึกความหลังนี่มาแรงเอาประมาณในช่วงปี พ.ศ.  ๒๕๔๖   จากภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน หนังใส ๆ สไตล์กุ๊กกิ๊กแบบเด็ก ๆ  ซึ่งมีทีเด็ดโดนใจใครต่อใครด้วยบรรยากาศในเรื่อง ที่พาคนดูย้อนยุคย้อนสมัย กลับไปในช่วงเวลาเยาว์วัยอันแสนสนุก 

ที่ผมจำได้ดี เพราะตอนนั้นมีเพื่อนผมหลายคน ดูกันคนละหลาย ๆ รอบ แถมโทรมาเล่าให้ฟังอีก เรียกว่าคลั่งไคล้กันมาก  และก็เหมือนกับบังเอิญครับ ที่ตลาดน้ำอัมพวาเองก็มาฟื้นฟูกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันพอดิบพอดี ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันไหมละครับ แต่ที่แน่ ๆ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็หลายปีที่กระแสความนิยมท่องเที่ยวย้อนยุคยังแรง  แถมแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย ไม่ต้องไปนับจังหวัดอื่น ๆ ที่ไหน เฉพาะที่สมุทรสงครามเองนี่ นอกจากตลาดน้ำอัมพวา ตอนนี้ยังมีตลาดน้ำใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายแห่ง

                 หลายวันที่มาเดินเที่ยวในหลาย ๆ ตลาดน้ำ ทำให้พอจะเข้าใจครับ ว่าทำไมตลอดหลายปีกระแสความนิยมถึงไม่ตก ก็เพราะความรู้สึกที่ได้เวลามาเดินตลาดเหล่านี้ มันเหมือนกับได้ขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสมัยยังเด็ก ช่วงเวลาที่มีความสุขสนุกสนาน อารมณ์คล้าย ๆ กับตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน แต่ดีกว่ากันตรงที่อะไรต่อมิอะไรเก่า ๆ ที่เห็นนั้นจับต้องสัมผัสได้

ที่สำคัญคือตัวเราได้เป็นพระเอก ทำอะไรได้ตามใจ อยากกินอะไร อยากซื้ออะไร อยากเล่นอะไร ได้หมด ไม่เหมือนในหนังที่ได้แต่ดูอย่างเดียว (ตรงนี้แหละแจ๋วที่สุด)



ท่าคา ตลาดน้ำอมตะ
               
                 แสงแดดยามเช้าลอดแนวมะพร้าวที่ปกคลุมลงมาเห็นเป็นเส้นสายแสงเงาบนถนน ขณะพาหนะคันเก่งพาผมลัดเลาะผ่านตามทางลดเลี้ยวผ่านท้องร่องเรือกสวนสองฟากฝั่ง มุ่งหน้าสู่ตลาดน้ำท่าคา ที่ถือเป็นตลาดนัดทางน้ำที่เก่าแก่และเป็น “ของแท้  ที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาตลาดน้ำทั้งหลายในประเทศไทย ใครไปใครมาถึงสมุทรสงครามแล้วถือว่าพลาดไม่ได้

                บรรยากาศบนเส้นทางชวนให้นึกถึงสวนบางมดแถวบ้านผมสมัยเด็ก ๆ ที่เคยไปขี่จักรยานเที่ยว ทางคดเคี้ยวผ่านท้องร่องสวนส้ม สวนมะพร้าว แบบนี้แหละครับ เดี๋ยวนี้กลายเป็นตึกแถวบ้านจัดสรรไปหมด แทบไม่เห็นเค้า (แน่ะ รำลึกความหลังอีกจนได้  ชักเริ่มสูงวัยแล้วสิเรา)

                ระหว่างหมุนพวงมาลัยไปตามถนนที่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาซับซ้อนเหมือนเขาวงกตก็คิดเล่น ๆ เรื่อยเปื่อยไปครับว่า ถนนที่คดเคี้ยวของสมุทรสงครามนี่แหละเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดน้ำท่าคายังคงอยู่จนทุกวันนี้  เพราะคนในพื้นที่คงไม่อยากขึ้นมาใช้ถนนที่วกวนจนวิงเวียน  เลยสมัครใจพายเรือไปไหนมาไหนทางน้ำน่าจะสะดวกกว่า อ้าว จริง ๆ นะ ลองสังเกตดูสิครับ ถนนแถวนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงไปตรงมาเหมือนที่อื่นเขาหรอก ผมเองกว่าจะถึงตลาดน้ำท่าคาก็ต้องหายาดมเหมือนกันเพราะเวียนหัว

                 ตลาดน้ำท่าคา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.. ๒๔๘๐ เดิมเรียกกันว่า ตลาดนัดท่าคาเป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และจากจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นชาวไร่ชาวสวนนัดกันพายเรือเอาผลผลิตจากไร่จากสวนของตัวเอง ขนมนมเนย รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้  มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยมีกำหนดนัดหมายกันในวันข้างขึ้นข้างแรม คือ ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๑๒ ค่ำ อันเป็นช่วงน้ำขึ้นมาก เหมาะกับการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยเรือ  ต่อเนื่องกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมเบ็ดเสร็จเป็นเวลาเจ็ดสิบปี ถือว่าเข้าขั้น ตลาดน้ำอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ไปแล้ว

                 แม้แต่ในทุกวันนี้พ่อค้าแม่ขายที่ตลาดนี้ยังคงนัดหมายแบบโบราณครับ โดยยึดข้างขึ้นข้างแรมเหมือนเดิมอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้ว่าช่วงหลัง ๆ  ซึ่งมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา เคยมีความพยายามจะให้ชาวบ้านมาติดตลาดนัดค้าขายกันในวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้รับกับนักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงก็มีเรือมากันหร็อมแหร็ม ไม่ครึกครื้นคึกคักเหมือนวันนัดจริงของชาวบ้านเขา ที่มากันเป็นร้อย ๆ ลำ

ผมเองยังจำได้ดีถึงความรู้สึกที่ได้มาเห็นตลาดน้ำท่าคาครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน บอกได้คำเดียวว่าถึงกับตะลึงครับ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าในใจกลางสวนที่สงบเงียบร่มครึ้มจะมีตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่เนืองแน่นไปด้วยเรือพายน้อยใหญ่ของชาวบ้านในเครื่องแต่งกายแบบชาวบ้านสวนแท้ๆ  มาชุมนุมซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรและข้าวของเครื่องใช้  ตลอดจนอาหารการกินกันนับร้อย ๆ ลำ เป็นที่ครึกครื้น  แน่นขนัดเต็มผืนน้ำในลำคลอง





 คราวนี้ก็ไม่แตกต่างกันครับ โชคดีตรงที่แม้วันที่ผมมานี่จะเป็นวันเสาร์ แต่ก็บังเอิญตรงกับวันนัดของชาวบ้านชนิดแจ็กพอต จอดรถเสร็จสรรพบนลานจอดที่เดี๋ยวนี้ทำไว้อย่างดี เดินเข้าไปอีกนิดหน่อย ถึงริมคลองก็ได้พบกับตลาดน้ำที่เต็มไปด้วยเรือนับร้อยบรรทุกเอาผลหมากรากไม้ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกิน ขนมนมเนยนานาชนิด ลอยลำเป็นแพอยู่เหนือผืนน้ำขวักไขว่ แว่วเสียงทักทาย เสียงเจรจาค้าขาย ดังระเบ็งเซ็งแซ่จนฟังไม่ได้ศัพท์ ดูครึกครื้นน่าสนุก

ความจริงก่อนจะถึงตลาดน้ำท่าคา บนเส้นทางยังมีตลาดน้ำดอนมะโนราอีกแห่ง ติดตลาดนัดวันเดียวกับตลาดน้ำท่าคา แต่เช้ากว่าคือในช่วง๖ -๗โมง ว่ากันว่าคึกคักและบรรยากาศดี ผมเองตั้งใจว่าจะมาแวะดูหลายครั้ง รวมทั้งคราวนี้ จนแล้วจนรอดก็มาไม่เคยทันสักที (เพราะนอนตื่นสาย แหะ แหะ ขอสารภาพ) แต่ไม่เป็นไรครับ มาที่ตลาดน้ำท่าคาก็ถือว่าเหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ไปขายที่ตลาดน้ำดอนมะโนราส่วนใหญ่ก็จะพายมาขายที่ตลาดน้ำท่าคากันต่อแทบทั้งนั้น  จะเรียกว่าเป็นตลาดเดียวกัน แต่อยู่คนละที่ คนละเวลาก็ว่าได้ (งงไหมเนี่ย ) 

ความสุขของการเที่ยวตลาดน้ำคือการได้มาเห็นภาพของวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบไทย ๆ ดูการทำมาค้าขายของชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตามาซื้อของขายของกันอย่างเดียว แต่เป็นการมาพบปะสังสันทน์ โอภาปราศรัย ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ กันไปในตัว  ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเรือบางลำมีข้าวของอยู่ในเรือแค่ไม่กี่อย่าง แต่พายวนเวียนทักทายคนโน้นคนนี้ไปทั่วทั้งตลาด  บางลำก็เอาของมาแลกเปลี่ยนกันอย่างคนที่คุ้นเคย ยกให้กันฟรี ๆ ไปเลยก็ยังมี  เหล่านี้เป็นอะไรที่หาดูไม่ได้ในเมืองใหญ่ ๆ ที่อะไรต่อมิอะไรล้วนแล้วต้องซื้อหาด้วยเงินทองไปแทบทั้งนั้น


นั่งเล่นเฉย ๆ บนศาลาริมฝั่ง ดูเรือที่พายกันไปมาขวักไขว่ก็เพลิดเพลินเจริญใจแล้ว แต่ถ้าจะให้แจ๋วจริงก็ต้องหาของกินมาเป็นกับแกล้มบรรยากาศเสียหน่อยครับ ของอร่อย ๆ ริมตลิ่งของตลาดน้ำท่าคามีเยอะ เหลียวซ้ายแลขวาละลานตาไปหมด  ไม่ว่าจะเป็นของคาวอย่าง ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว  หอยทอด  ก๋วยเตี๋ยวหลอด ก๋วยจั๊บน้ำข้น (แหม คล้องจองกันเชียว)

หันมาหาของหวานก็มีให้เลือกบานตะไท ไม่ว่าจะเป็นขนมหน้าตาคุ้น ๆ เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างขนมครก ขนมใส่ไส้  มิหนำซ้ำยังมีขนมพื้นเมือง ขนมโบราณอีกหลายอย่างที่แม่ค้าบอกแล้วผมจำชื่อไม่ได้ ไม่ใช่เพราะแก่จนอัลไซเมอร์ถามหานะครับ แต่เพราะว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนต่างหาก สารพัดละครับ แต่ละเจ้าจอดเรือเทียบท่าริมตลิ่งให้เลือกซื้อ เลือกชิมตามอัธยาศัย  รสชาติหลากหลายประทับใจทุกอย่าง

ทำเป็นเล่นไปนะครับ ของเขาเยอะจริง ผมเองลองแค่อย่างโน้นนิด อย่างนี้หน่อย กะว่าชิมพอเป็นกระสายยา ชิมไปชิมมาเผลอแผล็บเดียวยังอิ่มจนแทบจุก ลุกขึ้นเดินกลับรถแทบไม่ไหวแน่ะ

 ตลาดน้ำบางน้อย

บางน้อย บางนกแขวก สองตลาดน้ำดาวรุ่ง          
          
ออกจากตลาดน้ำท่าคามาก็ตอนสาย ๆ แดดชักจะเริ่มจัดจ้า แล่นรถผ่านเข้าไปทางตลาดน้ำอัมพวา มองไปยังเงียบสงบไม่มีผู้คน เพราะอัมพวานั้นเขามีแนวคิดทำเป็นตลาดน้ำยามเย็น (เห็นว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยเสียด้วยนะ) ตอนนี้ยามร้อน เอ๊ย สาย ๆ อยู่  เลยยังไม่เปิด ไม่เป็นไรครับ ขับเรื่อยตามทางไป บนเส้นทางนี้ยังมีตลาดน้ำที่เพิ่งเปิดตัวใหม่อยู่อีก ๒ แห่งให้เที่ยว

               ลดเลี้ยวพักหนึ่งก็มาถึงวัดเกาะแก้ว เห็นป้ายชี้ว่าเป็นทางเข้าตลาดน้ำบางน้อยก็เลี้ยวเข้าไปจอด วัดหยุดสุดสัปดาห์อย่างนี้ลานวัดกว้างใหญ่เต็มไปด้วยรถของนักท่องเที่ยวครับ เดินถึงริมตลิ่งหน้าวัดใต้หลังคาโครงเหล็กเรียงรายด้วยร้านค้าร้านอาหารสารพัด ยังมีทางเดินเชื่อมต่อลงไปในน้ำที่ทำเป็นโป๊ะมีหลังคาสำหรับเรือพ่อค้าแม่ขายมาเทียบ  มองไปแลเห็นนักท่องเที่ยวมะรุมมะตุ้มซื้อกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นของกินอาหารจานเดียว จำพวกขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ได้ของแล้วก็นั่งกินกันบนโป๊ะนั่นเอง สบายอารมณ์กันไป    
           
ทอดน่องเลียบตลิ่งต่อไปถึงหัวมุมต่อกับห้องแถวเก่า ถือว่าเข้าเขตตลาดน้ำบางน้อยแท้ ๆ  ละครับ เพราะมีป้ายชื่อตลาดขนาดใหญ่ พร้อมแผนที่ลายเส้นกำกับไว้มุมหนึ่ง บอกตำแหน่งให้รู้ว่าร้านอะไรอยู่ตรงไหน ไอเดียเข้าท่าน่ารักดีเหมือนกัน  


 วามจริงแล้วตลาดน้ำบางน้อยนี่จะว่าเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ก็ไม่ถูกครับ เพราะเป็นตลาดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่  เล่าขานกันว่าแต่เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อนตลาดน้ำบางน้อยเป็นตลาดนัดที่ครึกครื้น มีเรือนับร้อยมาจอดรอในคืนก่อนวันนัด เรียกว่าขายกันข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว โดยตรงหน้าวัดเกาะแก้วนั้นเป็นนัดขายน้ำตาลใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม  ถัดเข้ามาในคลองบางน้อยจะเป็นอาหารการกินและสินค้าอื่นๆ ทั่วไป นั่นเป็นภาพความรุ่งเรืองในอดีตสมัยที่ยังสัญจรกันทางน้ำ

พอมีถนนหนทางเข้ามา การคมนาคมทางเรือรวมทั้งตลาดน้ำก็ซบเซาเลิกราไป เนิ่นนานหลายสิบปีทีเดียวละครับ จนกระทั่งได้อานิสงส์มาจากกระแสความนิยมตลาดน้ำอัมพวา รื้อฟื้นความเป็นตลาดน้ำบางน้อยกันขึ้นมาใหม่ ทำพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อปีก่อน วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๒  นี่เอง 

บนเส้นทางเดินที่เลียบริมคลองบรรยากาศน่าสนใจด้วยห้องแถวไม้เก่าให้อารมณ์คลาสสิค กับร้านรวงที่มีอยู่สองประเภท คือ ร้านดั้งเดิมของคนท้องถิ่นที่อยู่มาแต่ก่อนเก่า กลุ่มนี้จะคงสภาพที่เคยเป็นเอาไว้ ยังไงยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำโชห่วย (ที่เดี๋ยวนี้หาดูยาก เพราะร้านสะดวกซื้อครองเมือง) ก็มีอยู่หลายร้าน ร้านขายเสื้อผ้า รวมทั้งสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่นพิพิธภัณฑ์ไหพันใบตั้งเซียมฮะ โรงพิมพ์ ส. วิจิตรวัฒนา โรงพิมพ์ขนาดเล็กที่สุดในสมุทรสงครามที่เก๋ไก๋ด้วยเครื่องพิมพ์แบบมือโยกอายุกึ่งศตวรรษ ซึ่งยังใช้งานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน



อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นร้านของคนที่มาจากที่อื่น เห็นความแตกต่างได้ชัดจากลักษณะการประยุกต์รูปแบบดั้งเดิม ผสมผสานเข้ากับลูกเล่นสมัยใหม่อย่างมีศิลปะ มีทั้งที่เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ  ที่พักและห้องแสดงงานศิลปะ ขายของที่ระลึก โปสการ์ดพร้อมส่ง  ถือเป็นสีสันใหม่ ๆ  ที่มาช่วยแต่งแต้มให้ตลาดน้ำบางน้อยมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งที่เด่น ๆ  เป็นที่รู้จักได้แก่ บางน้อยคอยรัก สายน้ำฤาจะกั้น นักท่องเที่ยวมักจะแวะเวียนมาถ่ายภาพกันไม่มีเงียบเหงา 

ทีเด็ดอีกอย่างของตลาดน้ำบางน้อย อยู่ที่ของกินแปลก ๆ มากมาย แถมบางอย่างยังไม่เหมือนที่ไหน เช่น โรตีแต้จิ๋วสมัยศิลป์  ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงร้านป้าพูนและร้านสิงห์ทอง  เกี๊ยวกุ้งร้านโอเล่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำมะนาวสูตรโบราณ ผัดไทยน้ำพริกเผา  ข้าวผัดปลาทู  กาแฟโบราณ ฯลฯ แต่ละอย่างดูแล้วน่าอร่อยทั้งนั้น

ทว่าน่าเสียดายครับ ที่ผมเองได้แต่เดินดูแบบผ่าน ๆ อาศัยชิมด้วยสายตา เพราะยังอิ่มแปล้ชนิด “เต็มถัง” มาจากตลาดน้ำท่าคา ต้องฝากเอาไว้ก่อน เก็บเอาไว้คราวหน้า ค่อยหวนกลับมาคิดบัญชีความอร่อยที่พลาดไป แฮ่ม


 ตลาดบางนกแขวกเริ่มฟื้นฟู

          ออกจากตลาดน้ำบางน้อยได้ ก็มุ่งตรงไปยังตลาดน้ำบางนกแขวก ที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกแห่งที่กำลังมาแรง อยู่บนถนนสายเดียวกัน ขับรถผ่านหน้าอาสนวิหารพระแม่บังเกิดที่เห็นยอดแหลมเสียดฟ้า ข้ามสะพานไป เลี้ยวซ้ายก็ถึงแล้ว มีที่จอดรถให้บริการเสร็จสรรพ ค่าจอดคันละ ๑๐ บาท เดินผ่านตรอกแคบ ๆ  ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็นที่ตั้งของโรงยาฝิ่นในอดีต ออกมาก็ถึงแล้ว

                 ทางเดินเล็ก ๆ พาเลียบเลาะผ่านห้องแถวที่ตั้งเรียงรายแนวแม่น้ำ แลเห็นสายน้ำแม่กลองกว้างไกลเวิ้งว้าง ดูแปลกตาไปจากตลาดน้ำแห่งอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ริมคลอง แต่นี่ตัวตลาดกลับอยู่ริมแม่น้ำ ลมพัดโกรกเย็นสบาย

                ว่ากันว่าเมื่อก่อนตลาดบางนกแขวกเป็นศูนย์กลางการค้า ถนนหนทางยังไม่มี ใช้แต่เรือกันอย่างเดียว เป็นแหล่งเรือโยงใหญ่ที่สุดในลำน้ำแม่กลอง เรือผ่านไปผ่านมาเยอะมาก  เพราะเลยจากท่าบางนกแขวกไปก็จะเป็นท่าเรือเทศบาลเมืองราชบุรี  เลยไปอีกก็เป็นท่าม่วง กาญจนบุรี  มีเรือเมล์แล่นผ่านบางนกแขวก ไปราชบุรี ตั้งแต่ตี ๕ ถึง ๕ โมงเย็น ใครไปใครมาก็ต้องแวะตลาดนี้ก่อน เรียกว่าเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางน้ำ การค้าขายก็เลยครึกครื้นมาก


 ภาพอดีตของตลาดน้ำบางนกแขวก


              ตลาดบางนกแขวกมาเริ่มซบเซาในช่วงปีพ.ศ.  ๒๕๓๕  ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับตลาดน้ำแหล่งอื่น ๆ นั่นแหละครับ คือถนนหนทางตัดเข้ามาเดินทางบนบกสะดวกกว่า คนที่เคยสัญจรทางน้ำก็หายไป ปั๊มน้ำมันริมน้ำก็ต้องเลิกกิจการ เรียกว่าตลาดต้องปิดตัวเอง เหลือค้าขายกันไม่กี่ร้าน อยู่กันแบบเงียบเหงา เพราะมีแค่พวกครู พวกข้าราชการ แถว ๆนี้ เข้ามาหาข้าวกินกลางวันซื้อของอะไรบ้างนิดหน่อยเท่านั้น

              กลับมาคึกคักอีกหนเมื่อต้นมีนาฯ ปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา รายการตลาดสดสนามเป้าที่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ มาถ่ายทำเรื่องตลาดเก่าบางนกแขวกออกอากาศ หลังจากนั้นคนก็เริ่มเข้ามาเที่ยวกันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดครึกครื้นขึ้นเป็นลำดับ

             เท่าที่ผมเดินดูกลับไปกลับมาหลายตลบ ตลาดบางนกแขวกแห่งนี้ถือว่ามีครบองค์ประกอบความเป็นตลาดน้ำย้อนยุคละครับ  เพราะตลอดแนวเรียงรายไปด้วยร้านรวงในแบบเก่า ๆ ให้เที่ยวชม  ขนาดของตลาดก็ไม่ใหญ่จนเกินไป ใช้เวลาไม่มากก็เดินได้ทั่วถึงหมดแล้ว





              ที่เด่น ๆ เห็นจะเป็นร้านขายยาแผนโบราณตงซัวฮึ้ง ภายในร้านเต็มไปด้วยตู้ยาโบราณ แต่ปัจจุบันหน้าร้านขายขนมใส่ไส้  อีกร้านที่น่าสนใจคือร้านบางคณฑีพาณิชย์ ที่แม้ร้านจะปิดไปแล้ว มีแต่แผงขายขนมเปี๊ยะโบราณเจ้าอร่อย แต่ปั๊มน้ำมันโบราณสีเหลืองอ๋อยตรงหน้าร้านที่ใช้สำหรับเติมน้ำมันเรือยังคงดึงดูดผู้มาเยือนให้แวะเวียนมาตื่นเต้นถ่ายภาพกัน ด้วยดีกรีความเป็นปั๊มน้ำมันแห่งที่ ๒ ของจังหวัดสมุทรสงครามที่ดูได้จากป้ายทะเบียนโลหะที่ติดอยู่ด้านข้าง เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีถึงความเก๋า
              บนบานประตูของร้านที่ปิดเอาไว้ยังมีโปสเตอร์รูปนักมวยไทย อภิเดช ศิษย์หิรัญ ผู้มีนิวาสถานบ้านเกิดอยู่ที่นี่ สร้างชื่อไว้ในวงการมวยด้วยการคว้าตำแหน่งแชมป์หลายตำแหน่ง ด้วยการเตะที่หนักหน่วง ท่าไม้ตายลูกเตะ ๓ ชั้นที่เตะครั้งเดียวไล่จากก้านคอ ลำตัว  และขาพับ จนได้สมญานาม “จอมเตะจากบางนกแขวก”  



              ใกล้กันยังมีร้านกาแฟเฮงเฮง ร้านเก่าเล่ายี่ห้อ อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ  อายุกว่า ๙๐ ปี (อายุร้านนะครับ ไม่ใช่เจ้าของร้าน) เก่าหรือไม่เก่า ก็มีนักค้าของเก่ามาของซื้อป้ายชื่อร้าน ให้ราคาเป็นหมื่นก็แล้วกัน ตอนนี้นอกจากขายกาแฟ และเครื่องดื่มที่เป็นทีเด็ดของร้านคือโอวัลตินภูเขาไฟ และจ้ำบ๊ะภูเขาไฟ สูตรของเก่าสมัยรุ่นพ่อแล้ว ยังขายก๋วยเตี๋ยวโบราณสูตรราชบุรีและน้ำสมุนไพรเก้าสีอีกด้วย

              พูดถึงของกินแล้วที่ตลาดบางนกแขวกถือว่ามีหลากหลายเหมือนกันครับ มีทั้งผัดไทยกุ้งสด ซาลาเปาขนมจีบปู ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดง ก๋วยเตี๋ยวกะลาโบราณ ขนมจีน แต่ที่แปลกไม่เหมือนที่ไหนก็คือข้าวแห้งไก่ ที่ว่ากันว่ามาจากข้าวต้มไก่เดิม แต่ชาวไร่ชาวสวนแถวนี้ใช้แรงงาน เป็นข้าวต้มน้ำเยอะกินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องกันก็เลยเทน้ำออก ข้าวต้มไก่ก็เลยกลายเป็นข้าวแห้งไก่มาแต่นั้น

             ผมน่ะด้วยความที่มาถึงตอนแรกท้องเริ่มร้องพอดี แถมยังไม่เห็นว่าในตลาดมีของกินมากมาย เห็นใกล้ที่จอดรถมีร้านแป๊ะก๋วยเตี๋ยวปู ดูน่ากิน แถมได้ยินว่าเป็นร้านดัง เลยฟาดเสียเต็มพิกัดไปเสียก่อน เดินเข้ามาในตลาดถึงรู้ว่าพลาดไปถนัดใจ น่าจะขยักเหลือกพื้นที่ในท้องไว้ชิมอย่างอื่นบ้าง เป็นอันว่าต้องลงบัญชีความอร่อยเอาไว้ ชิมด้วยสายตาไปพลาง ๆ ก่อน (อีกแล้ว) 

              ยังดีที่มีร้านค้าอื่น ๆ อีกมากมายหลายร้านให้เดินดูเล่นเพลิน ๆ ไม่ว่าจะเป็นขายของเล่นย้อนยุค ขายเครื่องประดับ ขายของที่ระลึก ฯลฯ สารพัด คนที่ค้าขายอยู่ในตลาดบางนกแขวก แทบทั้งหมดเป็นคนที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่นี่ ยังไม่มีคนนอกเข้ามาลงทุนทำแต่งเติมเสริมอะไรให้ผิดแปลกไปจากเดิมทั้งนั้น เรียกว่าเป็นตลาดที่ยังคงมีความเป็นตลาดน้ำแบบบ้าน ๆ    ให้สัมผัสอยู่มาก

            ไม่เสียเที่ยวที่มา ว่างั้นเถอะครับ อย่างน้อย ๆ ช่วยปะติดปะต่อให้เห็นภาพความเป็นชุมชนของตลาดน้ำสมัยเก่าได้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนมากขึ้น ว่าเขาอยู่กันยังไง



สุดยอดตลาดน้ำยามเย็น “อัมพวา”


ก่อนจะย้อนกลับไปตลาดน้ำอัมพวา ผมถือโอกาสแวะเข้าไปที่ค่ายบางกุ้ง ที่อยู่ไม่ไกล ชื่นชมความแปลกประหลาดของธรรมชาติเสียหน่อย หาไม่ง่ายครับที่ต้นโพธิ์ใหญ่อันเป็นไม้มงคลในพระพุทธศาสนาจะแผ่รากโอบล้อมห่มคลุมโบสถ์เอาไว้ภายใน จนกลายเป็นโบสถ์ปรกโพธิ์ เห็นแล้วก็ให้อัศจรรย์ใจ สมกับที่ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนมาแล้ว วันหยุดอย่างนี้มีนักท่องเที่ยวมาสักการะปิดทอง “หลวงพ่อนิลมณี” พระประธานในโบสถ์มากมาย ก็เลยใช้เวลาไปพอสมควร



แต่ก็กลับมาได้เวลาของตลาดน้ำยามเย็นอัมพวาพอดีครับ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้รถจะติดแถวอัมพวา อุทยาน ร. ๒ เป็นพิเศษ  เพราะหาที่จอดรถยาก ยังดีมีที่จอดรถเอกชนหลายแห่งให้บริการ ค่าบริการก็ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งความห่างจากตัวตลาดไกลหน่อยก็ ๓๐ บาท ใกล้เข้ามาอีกนิดก็ ๔๐ บาท ใกล้ชิดติดกับตลาดน้ำเลยก็แพงหน่อยประมาณ ๕๐ บาท เข้าตลาดมาได้ก็แทบจะไม่ต้องเดินกันละครับ ค่อย ๆ ไหลตามกระแสนักท่องเที่ยวเข้าไป ไม่รู้มาจากไหนกันเยอะแยะไปหมด อย่างว่าแหละ ที่เที่ยวดี ๆ ใครก็อยากจะมาสัมผัสทั้งนั้น



 ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเมื่อราว ๖๐ ปีก่อนถือเป็นตลาดนัดทางน้ำใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม ชะตากรรมของตลาดน้ำอัมพวาในอดีตก็เช่นเดียวกันกับตลาดน้ำอื่น ๆ นั่นก็คือพอถนนหนทางสะดวกมากขึ้น  ย่านการค้าร้านรวงก็ย้ายไปอยู่ตามริมถนนกันหมด ทำเอาอัมพวาซบเซาไปหลายสิบปี

ช่วงยุคตกต่ำของอัมพวาผมเองยังเคยมาเยี่ยมเยือนอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นบ้านเรือนร้านรวงริมน้ำเงียบเหงาไม่ค่อยมีผู้คน คล้ายกับเมืองร้าง เหลือแค่ร้านกาแฟเก่า ๆ กับร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างไม่กี่ร้าน ยังดีที่สภาพของบรรดาสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องริมน้ำทั้งหลายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่ชำรุดทรุดโทรม แต่ขนาดนั้นก็ยังได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี ๒๕๔๕



ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๖  ค่อยมีการดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากให้ชุมชนอัมพวาเก็บรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้เอาไว้ โดยในครั้งนั้นคุณป้าประยงค์ นาคะวรังค์ ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้บริจาคที่ดินพร้อมห้องแถวไม้ริมคลอง ๓๑ คูหา ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา 

ห้องแถวเหล่านี้ทางมูลนิธิฯ ได้นำมาปรับปรุงทำเป็นสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอัมพวาแต่เดิม พร้อมทั้งมีร้านค้าของที่ระลึก และร้านอาหารชานชาลาให้บริการนักท่องเที่ยว  โดยในส่วนที่ดินด้านหลังได้จัดให้เป็นลานวัฒนธรรมนาคะวรังค์ สำหรับขายของแบบตลาดนัดและจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม  ในสไตล์ย้อนยุคกลมกลืนกับอาคาร




  ล่าสุดพื้นที่ชุมชนริมคลองอัมพวาก็เพิ่งจะได้รับรางวัล “UNESCO Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation” ระดับ Honorable Mention จากองค์การ UNESCO ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ที่ผ่านมา ซึ่งหลักเกณฑ์รางวัลที่ทางยูเนสโกจัดขึ้นนั้นไม่ธรรมดานะครับ เพราะกำหนดไว้ว่าอาคารที่เข้าประกวดจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า๕๐ ปี แถมหลังจากที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้วจะต้องมีการใช้งานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีอีกด้วย   จัดพิธีรับมอบรางวัลไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี




                ในอัมพวายังมีสิ่งที่เป็นระดับโลกอีกอย่าง นั่นก็คือบ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน ในห้องแถวไม้๒ คูหา ใกล้กับสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวรวมทั้งจำหน่ายแผ่นซีดีผลงาน ของครูเอื้อผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งล่าสุดองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ ยกย่องให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากลในปี ๒๕๕๓  (Personality of the Year 2010 ) โดยครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓  

               ถึงปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนานพอดิบพอดี เดินผ่านก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมกันครับ ผมเองเข้าไปเดินดูยังเพลิดเพลินอยู่เป็นนานสองนาน




แดดร่มลมตกแว่วเสียงเพลงเก่าที่เขาตั้งคอมพิวเตอร์บนระเบียงริมน้ำ ให้นักร้องรุ่นเก๋าและผู้สมัครใจมาร้องเพลงขับกล่อมตลาดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงโบราณยุคสุนทราภรณ์  ฟังแล้วก็เข้าบรรยากาศดี แต่เดินไปเดินมาชักเริ่มหิวแล้วสิครับ แต่สบายใจได้เรื่องนี้ อาหารที่ขายในตลาดน้ำอัมพวามีมากมายหลากหลายรูปแบบ

ถ้าจะให้ได้บรรยากาศตลาดน้ำ ก็ต้องเลือกกินจากที่ขายในเรือ ซึ่งก็มีอาหารมากมายให้เลือก คนขายก็มีอยู่มากมายหลายสิบเจ้า พายเรือมาจอดริมตลิ่ง นำเสนอสารพัดอาหารเลิศรสให้เลือกชิมถึงที่ในราคาแสนถูกมีทั้งที่ นั่งกินริมตลิ่งแบบง่าย ๆ ไปจนถึงตั้งโต๊ะริมน้ำเรียงรายไปตามขั้นบันไดให้นั่งกินกัน หรือชอบหรูหราเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาหน่อยก็จะมีที่ทำเป็นร้าน จัดบรรยากาศอย่างดี(ส่วนใหญ่ก็สไตล์ย้อนยุคนั่นแหละ) เช่น ร้านกำปั่น  ร้านภวัตส้มตำไก่ย่าง ฯลฯราคาก็จะสูงขึ้นมาอีกนิด 

         อิ่มแล้วจะต่อด้วยกาแฟหรือเครื่องดื่มก็มีอีกมากมายให้เลือกครับ เช่นร้านกาญจนาพานิช  อัมพวาริมระเบียง สมานการค้า โอ๊ย เยอะครับ จาระไนไม่หมดหรอก ตองเดินเลือกดูเอาเองว่าถูกใจร้านไหน


แต่อิ่มแล้วผมสมัครใจเดินเที่ยวดูข้าวของที่วางขายมากกว่า เพราะนี่ก็เป็นความสนุกอีกอย่างของการมาเดินเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา แผงลอยตลอดจนร้านรวงบนสองฟากทาง เครื่องใช้ย้อนยุค ของเล่นสมัยเก่าถูกขนเอามาวางขายเรียงรายตามร้านละลานตา ของพวกนี้ไม่รู้เป็นไงครับ เห็นแล้วนึกถึงความหลังขึ้นมาทุกที ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ คนอื่น ๆ ก็เห็นเป็นเหมือนกัน ก็อย่างที่บอกแหละ เดินผ่านไปผ่านมาก็ฮือฮากันไปตลอดทาง

ที่ดูจะโดนใจผมและใคร ๆ มากเป็นพิเศษเห็นจะเป็นจำพวกของเล่นสังกะสี ที่ทำเลียนแบบของเก่ามา ว่ากันตามจริงแล้วแม้ว่าจะไม่เหมือนของเก่าเสียทีเดียวด้วยขนาดและสีสันที่แตกต่างอย่างรู้สึกได้  แต่ความคล้ายคลึงก็ช่วยให้หลายต่อหลายคนคน รวมทั้งผม ควักกระเป๋าซื้อเอากลับบ้าน อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้นึกความสนุกในวัยเยาว์ได้เหมือนกัน

ฟ้าเริ่มมืด แสงไฟจากร้านรวงทั่วตลาดน้ำสว่างไสว แสงไฟหลากสีสันสะท้อนลงบนสายน้ำ ยิ่งทำให้แลดูคล้ายโลกในความฝันมากขึ้น ช่วงหนึ่งทุ่มเป็นต้นไปตามท่าเรือต่าง ๆ จะมีบริการพาล่องเรือไปชมหิ่งห้อยกัน ผมไปยืนชมแสงสุดท้ายอยู่บนสะพานข้ามคลอง ช่วงนี้ก็จะเห็นเรือที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวแล่นเข้าแล่นออกกัน

 จากมุมสูงยังเห็นความเคลื่อนไหวของใครต่อใคร แต่ละคนก็มีโลกส่วนตัว บ้างก็กำลังคุยสนุกกับเพื่อนกลุ่มใหญ่อยู่ในร้านอาหารริมน้ำ บ้างก็นั่งสวีตกับแฟนเงียบ ๆ ในมุมของบ้านพักที่ให้บริการนักท่องเที่ยว บ้างก็ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันไฟแฟลชแว๊บวับ

อดีตจริง ๆ นั้นผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่มีวันหวนกลับ แต่อดีตที่ตลาดน้ำสมุทรสงครามนี่ ไม่เป็นเช่นนั้นครับ ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เราสามารถย้อนกลับมาสัมผัสชื่นชมใหม่ได้ทุกเมื่อที่ใจต้องการ


ขอขอบคุณ  คุณณรงค์ ทรงสายชลชัย คุณสมหมาย ไพศาลศิลปชัย คุณจิตรา ตันติเดชามงคล และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยให้การจัดทำสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง
ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ รศ .  “ประสบการณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมพื้นที่ริมคลองอัมพวา วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.หน้า ๕๒-๖๕. ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙.


คู่มือนักเดินทาง  
               

ตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕   ไปเลี้ยวขวาที่กิโลเมตร ๖๓   เข้าตัวจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ (ทางเดียวกับที่ไปอำเภอดำเนินสะดวก) ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร หรือเลยจากทางแยกเข้าอำเภออัมพวาไปประมาณ ๔ กิโลเมตร แยกขวามือมีป้ายบอกตลาดน้ำท่าค่าและป้ายชี้บอกตลอดทาง แล่นเข้าไปอีกประมาณ ๕ กิโลเมตรก็จะถึงตัวตลาดน้ำท่าคา

กรณีไม่มีรถส่วนตัว โดยสารรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก  มาลงที่สมทรสงครามจากตัวจังหวัดมีบริการรถประจำทางสายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ออกทุก ๒๐ นาที ขึ้นรถได้ที่คิวหน้าธนาคารทหารไทย ปลายทางตลาดน้ำท่าคา ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อบต. ท่าคา โทรศัพท์ ๐ ๓๔๗๖ ๖๒๐๘
             ตลาดน้ำบางน้อย ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางน้อย (วัดเกาะแก้ว) ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ออกจากตลาดน้ำท่าคาเลี้ยวขวามาเข้า ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอัมพวา-บางนกแขวกอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็จะถึงตลาดน้ำบางน้อย  กรณีไม่มีรถส่วนตัวมีรถตู้บริการจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงแม่กลอง จากนั้นต่อรถสาย ๓๓๓ ไปถึงตลาดน้ำบางน้อย
                
               ตลาดน้ำบางนกแขวก ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ใช้ถนนสายอัมพวา-บางนกแขวก ผ่านหน้าอาสนวิหารพระแม่บังเกิด ข้ามสะพานไป ๑๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายถึงที่จอดรถตลาดน้ำบางนกแขวก รถไฟ ขึ้นจากสถานีวงเวียนใหญ่ มาลงสถานีมหาชัย นั่งเรือข้ามฟากมายังฝั่งท่าฉลอม แล้วขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านแหลมมาลงสถานีแม่กลอง ต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก รถตู้ ขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หมอชิต ปิ่นเกล้า ตลาดบางปะแก้ว และบางนา ไปถึงแม่กลอง แล้วต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก


ตลาดน้ำอัมพวา ตั้งอยู่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนที่ไปอุทยาน ร. ๒ ถึงตลาดน้ำที่อยู่ติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น