วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565

รอยอลังการ งานช่างโบราณเมืองระยอง แรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๖๕

            ตู้พระธรรมลายรดน้ำคร่ำคร่ากระดำกระด่างใบนั้นตั้งเด่นอยู่ เมื่อเราไขกุญแจเข้าไปภายในห้องเก็บของในศาลาการเปรียญของวัดบ้านแลงที่เต็มไปด้วยโบราณวัตถุท่ามกลางฝุ่นเกาะหนาเตอะอยู่ทั่วไป

            หลังจากถอดกุญแจสายยูที่คล้องไว้ แล้วเปิดบานประตูตู้ออกมา จึงได้เห็นว่าภายในอัดแน่นไปด้วยคัมภีร์โบราณ ห่อผ้าเอาไว้อย่างดี เรียงซ้อนกันอยู่ภายในอย่างเป็นระเบียบ

ความรู้สึกของผมในตอนนี้เหมือนกับได้เห็นกรุสมบัติขนาดใหญ่อยู่ตรงหน้าก็ไม่ปาน


ตู้พระธรรมลายรดน้ำที่บรรจุคัมภีร์โบราณไว้

ตื่นตาขุมทรัพย์คัมภีร์โบราณ

เคยอ่านข้อมูลมาว่า ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยคณะโบราณคดี ได้เคยมาสำรวจที่วัดบ้านแลงแห่งนี้เมื่อปี ๒๕๖๑ แล้วพบเอกสารโบราณประเภทสมุดไทยและใบลาน จํานวนถึง ๑๘๘ เล่ม แต่ละเล่มล้วนเก่าแก่อายุนับร้อยปี โดยระบุศักราชไว้เก่าที่สุดคือปีพุทธศักราช ๒๓๓๐ ตรงกับช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ หลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์เพียง ๕ ปีเท่านั้น

ความจริงผมมาที่วัดบ้านแลงนี้หลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งมักจะได้แค่เพียงเดินชมสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในบริเวณวัด ซึ่งตามประวัติสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ. ๒๒๘๕ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยนายจันทร์เป็นผู้บริจาคที่ดินไร่อ้อยถวายให้กับหลวงพ่อนาคใช้สำหรับสร้างเป็นวัดขึ้น ให้ชื่อว่า “วัดจันทร์สุวรรณโพธิธาราม” ตามชื่อของนายจันทร์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดแลง” เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณวัดขุดพบศิลาแลงอยู่มาก

อุโบสถเก่าวัดบ้านแลง


สิ่งน่าชมคือสถาปัตยกรรมของอุโบสถเก่า ปรากฏเอกลักษณ์แบบอยุธยาตอนปลายชัดเจน คือมีเพิงพาไลอยู่ด้านหน้า หลังคาสามตับซ้อนกันสองชั้น บนหน้าบันทั้งหน้ารวมทั้งเหนือช่องหน้าต่างหลังประดับด้วยเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ มีทางเข้าออกทางเดียว แบบที่เรียกกันว่า “โบสถ์มหาอุด” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานฝีมือช่างพื้นบ้าน ความพิเศษของอุโบสถแห่งนี้คือมีสีมาถึงสองแบบ สองชั้น ได้แก่ พัทธสีมา ทำด้วยศิลาปักไว้รอบอุโบสถทั้งแปดทิศภายในกำแพงแก้ว และอุทกสีมา คือขุดเป็นคูล้อมรอบนอกแนวกำแพงแก้วอีกชั้น

พระปรางค์วัดบ้านแลง

เจดีย์ทรงปรางค์ของวัดถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากไม่เหมือนกับวัดไหน ๆ ในระยอง ที่มักจะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ปรางค์ที่นี่ส่วนยอดทรวดทรงชะลูดขึ้นเป็นฝักข้าวโพด บริเวณเรือนธาตุประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปครุฑแบกที่สี่มุม และยักษ์แบกที่สี่ด้าน อันเป็นลักษณะปรางค์แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ่านการบูรณะมาแล้ว สภาพจึงค่อนข้างสมบูรณ์

หอไตรกลางน้ำ วัดบ้านแลง


ยังมีหอไตรกลางน้ำ สถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาที่พบในวัด แสดงถึงภูมิปัญญาของคนในสมัยนั้นในการคิดหาวิธีป้องกันคัมภีร์ทางศาสนา ตลอดจนตำราวิชาความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นของศักดิ์สิทธิ์และหายากให้พ้นจากปลวก แมลง และสัตว์กัดแทะ เช่น หนู ด้วยการขุดสระใหญ่แล้วสร้างหอไตรเอาไว้กึ่งกลาง ให้น้ำล้อมรอบเอาไว้ โดยไม่มีสะพานหรือทางเชื่อมใด ๆ เมื่อต้องการใช้หรืออ่านคัมภีร์พระภิกษุจึงค่อยพายเรือเข้าไปศึกษา หรือนำออกมาใช้ในการเทศน์ สมัยโบราณตู้พระธรรมของวัดบ้านแลงก็เก็บรักษาไว้ที่นี่เช่นกัน ก่อนที่จะมีการบูรณะซ่อมแซมหอไตร จึงนำมาเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญจนถึงปัจจุบัน

"อาจารย์ฝ้าย" จิรพันธุ์ สัมภาวะผล

โชคดีมากครับ ที่คราวนี้มีโอกาสได้ทัศนาตู้พระธรรมพร้อมคัมภีร์ล้ำค่าอายุนับร้อยปีที่เก็บรักษาไว้ในห้องหนึ่งของศาลาการเปรียญ เนื่องจากได้ “อาจารย์ฝ้าย” หรือคุณจิรพันธุ์ สัมภาวะผล ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเพ ช่วยขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสพาพวกเราเข้ามา พร้อมทั้งเป็นมัคคุเทศก์นำชมให้ไปในตัวด้วย

ได้ยินคำว่าประธานสภาวัฒนธรรม หลายคนอาจจะนึกไปถึงผู้สูงอายุวัยใกล้เกษียณ แต่สำหรับอาจารย์ฝ้ายน่าจะเป็นประธานสภาวัฒนธรรมที่หนุ่มที่สุดในประเทศไทย เพราะอายุแค่สามสิบต้น ๆ ยังกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไว แต่คุณวุฒินั้นกลับไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในด้านศิลปกรรมและอักษรโบราณนั้น อยู่ในขั้นผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ

คัมภีร์โบราณกับผ้าห่อคัมภีร์

“ผ้าห่อคัมภีร์คือสิ่งที่ห่อหุ้มรักษาเล่มสมุด ป้องกันการชำรุดเสียหายจากมือของผู้ใช้ รวมถึงแมลงสัตว์ต่าง ๆ ที่จะมากัดกิน ทั้งยังเป็นการแสดงความศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างหนึ่งของผู้หญิง เพราะสมัยโบราณผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ผู้ชายได้บวชเรียน เชื่อกันว่าสำหรับผู้ชายการจารอักษรในคัมภีร์ ๑ ตัว อานิสงส์เท่ากับสร้างพระ ๑ องค์ ส่วนผู้หญิงทำได้ด้วยการทอผ้าห่อคัมภีร์ ถือว่าได้มีส่วนในการช่วยรักษาคัมภีร์ทางศาสนา ได้อานิสงส์สูงเช่นกัน”

อาจารย์ฝ้ายอธิบายพลางค่อย ๆ แก้เชือกที่มัดห่อผ้าออกอย่างทะนุถนอม

“ผ้าห่อคัมภีร์ผืนนี้จะเป็นผ้าลายอย่าง เป็นผ้านำเข้าจากอินเดีย ช่างไทยจะออกแบบลวดลายผ้าแล้วส่งไปให้ช่างอินเดียทำแม่พิมพ์ แล้วพิมพ์ลายลงบนผ้าส่งกลับเข้ามา ผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์มีหลายชนิด มีทั้งผ้าพิมพ์ลาย ผ้าทอ...”

นอกจากห่อผ้า สมุดข่อยเล่มที่เราเปิดยังมีการใส่ประกับไม้ป้องกันการหักพับเสียรูปทรงอีกด้วย กว่าจะเปิดดูได้แต่ละเล่มจึงใช้เวลาไม่น้อย แต่ก็คุ้มค่าที่ได้เห็นความงามที่ซ่อนอยู่ภายใน โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตระการตานัก

สมุดข่อยที่วัดบ้านแลงนี้ ตามข้อมูลจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยศิลปากรแบ่งเป็นสมุดที่เขียนด้วยอักษรไทย ๑๗๐ เล่ม อักษรขอมไทย ๑๕ เล่ม และอักษรไทยย่อ ๓ เล่ม ที่เขียนด้วยอักษรขอมไทยเกือบทั้งหมดเป็นเล่มใหญ่ เรื่องพระมาลัย มีการวาดภาพจิตรกรรมประกอบไว้ด้วยอย่างสวยงามตระการตา ส่วนสมุดไทยที่เขียนด้วยอักษรไทย ส่วนมากเป็นตํารายาแผนโบราณ ตําราไสยศาสตร์ ตำราการเขียนยันต์ และวรรณคดีนิทานชาดก

แน่นอน... เยอะแยะขนาดนี้ พวกเราแกะออกมาดูทั้งหมดไม่ไหวหรอกครับ เปิดดูทุกเล่มคงต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ กันเลยเชียวแหละ ที่สำคัญ ไม่ค่อยจะกล้าเปิดด้วย เพราะกลัวจะชำรุดเสียหาย ของล้ำค่าโบราณขนาดนี้ ผมคงไม่มีปัญญาไปหามาชดใช้ครับ

พระพุทธรูปโบราณที่ทางวัดเก็บรักษาไว้

นอกจากคัมภีร์โบราณ ในห้องเก็บของนี้ยังมีพระพุทธรูปเก่า สมุดสะสมฉลากสินค้าโบราณอย่างไม้ขีดไฟนำเข้าจากต่างประเทศที่ท่านเจ้าอาวาสนำมาให้ชมอีกหลายเล่มใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เก่าแก่และสวยงามแปลกตา ผมเองยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน หน่วยงานด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องน่าจะมาช่วยทางวัดคัดสรรโบราณวัตถุพวกนี้ให้เป็นระเบียบ แล้วเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเป็นนิทรรศการให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องราวเก่า ๆ ของท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมากทีเดียว

เจ้าอาวาสวัดตะพงในกับลูกนิมิตรูปทรงธรรมชาติของเก่าที่ขุดขึ้นมา

อีกแห่งที่อาจารย์ฝ้ายพาเราแวะเข้าไปเยี่ยมชมคือวัดตะพงใน อยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านแลงเท่าไหร่ ตามประวัติวัดบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ ก่อนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ ๒ ไม่นาน เดิมชื่อ “วัดสุวรรณอินทร์คชรินทร์ธาราม” เนื่องจากพบรอยตีนช้างตรงบริเวณที่จะสร้างอุโบสถ แต่ชาวบ้านนิยมเรียก “วัดตะพงใน” ตามชื่อหมู่บ้านมากกว่า

อุโบสถเก่าลักษณะคล้ายคลึงกับที่วัดบ้านแลง น่าจะรุ่นราวคราวเดียวหรือไล่เลี่ยกัน ต่างกันตรงที่มีการดัดแปลงต่อเติมหลังคาออกมาด้านข้าง สำหรับให้บริการดอกไม้ธูปเทียน ถวายสังฆทาน มีลูกนิมิตเดิมของโบสถ์ที่เป็นหินรูปทรงธรรมชาตินำขึ้นมาวางเรียงไว้ให้ปิดทอง

หลวงพ่อสมปรารถนาและพระอัครสาวกซ้ายขวาหล่อสัมฤทธิ์ครองจีวรลายดอกพิกุล

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานหลวงพ่อสมปรารถนา พระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ครองจีวรดุนลายดอกพิกุล ประทับบนฐานสูงสามชั้น ด้านหลังปักฉัตร พร้อมอัครสาวกซ้ายขวาครองจีวรดุนลายเช่นกัน ทั้งสามองค์เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ ๓ งดงามมาก ทางวัดกั้นกระจกกรอบอะลูมิเนียมทำเป็นห้องเอาไว้เพื่อป้องกันโจรกรรม ดูปลอดภัย แต่ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ ถ้าออกแบบใช้วัสดุให้ดูกลมกลืนกับของโบราณกว่านี้อีกหน่อยก็คงจะดี

ภาพจิตรกรรมเทวดานางฟ้าจากคัมภีร์พระมาลัยสูตร

แต่ที่เราตั้งใจแวะมาดูคือคัมภีร์โบราณครับ เดินเข้าไปในอุโบสถเก่าก็เห็นใส่ตู้กระจกตั้งเอาไว้ริมผนังด้านหนึ่งเลย

“เจ้าอาวาสองค์ก่อนท่านเก็บใส่หีบไว้ในกุฏิ ไปพบเข้าปรากฏว่าโดนปลวกกินไปแล้วเยอะเหมือนกันครับ ที่เหลือก็เลยเอามาใส่ตู้เก็บไว้ตรงนี้” อาจารย์ฝ้ายเล่าพลางล้วงมือเข้าไปหยิบออกจากตู้มาให้พวกเราดูกัน

ผมนึกภาพตามไปว่า เมื่อก่อนคัมภีร์ของวัดนี้ที่เก็บไว้คงมีมากมายเหมือนกับที่วัดบ้านแลง แล้วก็อดเสียดายไม่ได้ ไม่รู้เจ้าปลวกตัวแสบกินอะไรเข้าไปบ้าง แค่ขนาดที่หลงเหลือให้ได้ทัศนากันนี้ก็ทำเอาพวกเราตาโตเป็นไข่ห่านไปตาม ๆ กันแล้ว

จิตรกรรมภาพธรรมชาติในคัมภีร์พระมาลัยสูตร

เล่มเด่นที่ถือเป็นพระเอกของวัดได้เลยก็คือบทสวดพระมาลัยสูตรครับ เพราะเขียนภาพประกอบแบบจิตรกรรมไทยประเพณีสอดแทรกเอาไว้อย่างวิจิตร โดยเฉพาะภาพเล่าเรื่องสวรรค์ วาดเป็นเทวดา นางฟ้า เรียงราย ปิดทองบนเครื่องประดับอร่ามตา ยังมีภาพบ้านเรือน ทิวทัศน์ธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ชนิดต่าง ๆ ระบายสีฉากเรียบสไตล์จิตรกรรมรัตนโกสินทร์ตอนต้น บรรยากาศสวยงามเหมือนโลกในจินตนาการ

ภาพลายเส้นประกอบตำราแพทย์แผนโบราณ

นอกจากนี้ยังมีตำราโบราณอีกหลากหลายที่มีภาพลายเส้นเป็นภาพประกอบ ทั้งตำราการเขียนยันต์ ที่วาดภาพประกอบยันต์ไว้หลากหลายแบบ ตำราแพทย์แผนโบราณ ที่วาดภาพตัวละครในวรรณคดี เช่น ยักษ์ ลิง ใช้เป็นนายแบบแสดงตำแหน่งของฝีชนิดต่าง ๆ ตำราพรหมชาติ โหราศาสตร์ไทยโบราณ วาดเป็นภาพ ๑๒ ชะตาเรียงรายกัน ฯลฯ

ด้วยเหตุที่คัมภีร์ที่วัดนี้ไม่ได้ห่อผ้าเอาไว้ พวกเราจึงชมคัมภีร์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาอย่างสนุก (ดูภาพเป็นส่วนใหญ่นั่นแหละ ภาษาโบราณอ่านไม่ค่อยออกกันหรอกครับ ก็ต้องค่อยแกะไปทีละตัว) ทำเอาเพลิดเพลินจนเกือบลืมเวลา ถึงเย็นย่ำกันเลยทีเดียว

อุโบสถวัดโขดทิมธาราม

วัดสุดท้ายที่เราแวะเข้าไปกันคือวัดโขดทิมธาราม ที่มีชื่อเลื่องลือเพราะเป็นแหล่งพบคัมภีร์โบราณอยู่มากอีกแห่งของเมืองระยอง ชิ้นเด่นระดับ “มาสเตอร์พีซ” คือพระมาลัยสูตรที่เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชาติ ตอนเวสสันดรชาดก ไว้งดงามที่สุด มีเพียงสองเล่มในโลกเท่านั้น คือ ที่วัดโขดทิมธารามแห่งนี้ กับอีกเล่มอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

แถมยังพบเล่มพิเศษแบบที่วัดอื่นไม่มีเหมือนด้วย นั่นคือสมุดภาพจิตรกรรมเก่าแก่ ๒ เล่ม เล่มหนึ่งเป็นสมุดไทยดำ วาดภาพลายเส้นสีขาวเป็นตัวพระ ตัวนาง ลิง และยักษ์ สันนิษฐานว่าเป็นสมุดตำราสำหรับประกอบพิธีกรรมไหว้ครูช่าง เพราะพบปิดทองคำเปลวไว้ที่ตัวพระ (พระราม) และตัวยักษ์ (พิเภก) อีกเล่มเป็นสมุดไทยขาว วาดภาพจิตรกรรมเรื่องจันทโครพ มีแต่ภาพกับคำบรรยายสั้น ๆ เล่มเดียวจบ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ พบเป็นเล่มแรกและเล่มเดียวในประเทศไทย ด้วยลักษณะที่เล่าเรื่องด้วยภาพเป็นหลักทั้งเล่มนี่ จะถือว่าเป็นนิยายภาพ หรือหนังสือการ์ตูนไทยฉบับแรกของประเทศไทย ก็น่าจะพอได้อยู่ครับ (อันนี้ผมทึกทักเอาเอง)

ที่ว่ามานี่ไม่ได้เข้าไปขอหลวงพ่อเจ้าอาวาสดูคัมภีร์ตัวจริงหรอกครับ ใช้เปิดดูภาพจากอินเทอร์เน็ตเอา เพราะเย็นย่ำจะค่ำแล้ว เกรงใจ ไม่อยากไปรบกวนท่าน อาจารย์ฝ้ายบอกว่าวัดนี้ยังมีอุโบสถหลังเก่าให้ไปชมได้ ทางวัดไม่ได้ใช้ทำสังฆกรรมแล้ว แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสักการะหลวงพ่อขาว พระประธาน ได้ตลอด ถือว่ามาไม่เสียเที่ยวครับ

ปูนปั้นบนหน้าบันอุโบสถวัดโขด

สถาปัตยกรรมอุโบสถเป็นแบบอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกับวัดบ้านแลงและวัดตะพงในที่ผ่านมา บนหน้าบันทั้งหน้าและหลังปั้นปูนเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ดอกไม้ ใบไม้ ประดับด้วยตุ๊กตากระเบื้องเคลือบแบบตุ๊กตาจีนรูปสัตว์ปีก ภายในยังหลงเหลือจิตรกรรมฝาผนังที่ถือว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังโบราณแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ของจังหวัดระยองอีกด้วย

อาจารย์ฝ้ายขณะนำชมจิตรกรรมวัดโขด

“บนผนังอุโบสถนี้ช่างเขียนจิตรกรรมเล่าเรื่องทศชาติชาดกไว้ครบทั้งสิบชาติครับ เรียงกันไปจากซ้ายไปขวา เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว คือ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช พระมโหสถ พระภูริทัต พระจันทกุมาร พระนารท พระวิฑูรบัณฑิต และพระเวสสันดร”

อาจารย์ฝ้ายเดินชี้ไล่ไปบนผนังพลางอธิบายให้เราเพ่งมองบนภาพวาดที่เลือนรางกร่อนเก่าด้วยกาลเวลาตามไป จนพอจะเห็นเป็นเรื่องเป็นราวชาดกอย่างที่ว่าอยู่บ้าง 

จิตรกรรมภาพกินรีและเรือสำเภาบนผนังหุ้มกลอง

มาเห็นชัด ๆ หน่อยก็ตรงผนังหุ้มกลองฝั่งตรงข้ามพระประธานด้านขวามือ เป็นภาพของกินรีพ่อแม่ลูก ถัดลงมาด้านล่างเป็นภาพสำเภาจีนลำใหญ่ ภายในเรือมีชาวจีนไว้หางเปียยืนตากลมอยู่ บนผนังด้านนอกหน้าพระอุโบสถก็มีร่องรอยของจิตรกรรมอยู่เหมือนกัน แต่ลบเลือนไปมาก เห็นเส้นสีราง ๆ น่าจะเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนมารผจญ

จิตรกรรมจากชาดกเรื่องพระเวสสันดร

“ในขณะที่จิตรกรรมไทยประเพณีมักจะใช้สีสด อย่างสีแดง สีดำ เอกลักษณ์ของจิตรกรรมวัดโขดคือช่างจะใช้สีเขียวตั้งแชเป็นสีหลัก”

น่าเสียดายครับ ที่ในจังหวัดระยองหลงเหลือจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่วัดโขดแห่งนี้เพียงที่เดียว ไม่มีที่วัดอื่น ๆ ให้เปรียบเทียบ เลยไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว การใช้สีเขียวตั้งแชเป็นหลักในลักษณะนี้เป็น “สกุลช่าง” ของทางระยองหรือไม่ หรือเป็นสไตล์เฉพาะตัวของนายช่างผู้เขียนภาพกันแน่

แต่ที่ไม่ต้องสงสัยเลยก็คือมีความ “อินดี้” มาก ๆ ครับ

ผลงานการคัดลอกภาพจากคัมภีร์โบราณของอาจารย์ฝ้าย

ปฐมบทสู่ผู้สืบทอดสหศิลปกรรม

จากการมาเตร็ดเตร่ชมวัดวาอารามเก่า ๆ ของระยองหลายวัน ผมได้ประจักษ์ด้วยสายตาของตนเองเลยครับว่า นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเลที่เลื่องลือแล้ว ระยองยังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าอยู่อีกไม่น้อย ประเด็นสำคัญคือศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ต้องมีผู้ที่สืบทอดศึกษาค้นคว้า ไม่เพียงเพื่อรักษาเอาไว้เท่านั้น แต่ควรจะต้องพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปด้วย

พูดมาถึงตรงนี้ก็ต้องยอมรับครับ จังหวัดระยองโชคดีที่มีอาจารย์ฝ้าย จิรพันธุ์ สัมภาวะผล ผู้ที่นำเราไปเยี่ยมชมวัดวาอารามต่าง ๆ นี่แหละ เพราะดูเหมือนว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกว่าใคร ๆ ในการเป็นผู้สืบทอด นับตั้งแต่ความเป็นเชื้อสายคนระยองแท้ ถึงแม้นามสกุล “สัมภวผล” นั้น จะสืบทอดมาจากรองอำมาตย์โทขุนอุดรธนารักษ์ สรรพากรจังหวัดเลย แต่คุณย่าแฉล้ม สัมภวผล ผู้เป็นหลาน (ลูกของน้องสาวท่านขุน) ก็ได้ย้ายมาอยู่ระยองและแต่งงานกับคุณก๋งหู แซ่โอ้ โดยที่ยังคงใช้นามสกุลเดิม

อย่างไรก็ตาม ด้วยความผิดพลาดในการสะกดคำของทางนายทะเบียนสมัยนั้น ที่แถมสระอาและสระอะมาให้ด้วย ทำให้กลายเป็นนามสกุล “สัมภาวะผล” ไป (มองในแง่ดีก็เป็นเอกลักษณ์ ทำให้รู้ว่านามสกุล “สัมภาวะผล” นี้คือผู้สืบสกุลในสายเมืองระยอง)

รุ่นถัดมา คุณพ่อของอาจารย์ ชื่อนายบุญสุข สัมภาวะผล เป็นลูกคนที่ห้า แต่งงานกับนางสาวผ่องศรี บุญโส ที่เป็นคนระยองแท้ ยุคบุกเบิกรุ่นแรก ๆ ก่อนจะมีลูกสาวคนแรกชื่อชุลีพร อาจารย์ฝ้ายเป็นลูกคนที่สอง

ทำแผ่นโลหะดุนลาย

“ตอนเด็ก ๆ จะใช้ชีวิตอยู่กับคุณยายละมุน บุญโส คุณยายจะทำนา ทำขันหมาก บายศรี ขนมไทย อาหารไทย วิถีชีวิตประดิดประดอย ทำดอกไม้กระดาษย่น เพราะใกล้ชิดสนิทกับคุณยายมาก คุณยายพาไปทำบุญที่วัด ได้เห็นศิลปะไทย วัดวาอาราม ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก...

“แรก ๆ เริ่มหัดวาดภาพจากปกสมุดหนังสือลายไทย ที่เป็นรูปสุครีพหักฉัตร จากหนังสือเรียนวรรณคดีไทย จากตำราพรหมชาติ พอตอนชั้นประถมปีที่ ๕ ก็เอากระดาษมาทำโต๊ะหมู่ เรือนไทย ศาลาลูกขุน ทำเล่นเพราะชอบ อยากทำครับ”

อาจารย์ฝ้ายรำลึกความหลังให้ฟัง เมื่อผมถามถึงที่มาความสนใจในเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมในวัยเด็ก เริ่มต้นฟังดูเหมือนต่อไปคงจะได้ร่ำเรียนไปในทางศิลปะแหง ๆ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ครับ พอเรียนชั้นมัธยมกลับได้ไปเรียนในสาขาคณิต-อังกฤษที่โรงเรียนวัดป่าประดู่ แต่ยังไม่เท่าในระดับ ปวช.-ปวส. ที่อาจารย์ฝ้ายเข้าเรียนสาขาช่างไฟฟ้าที่โรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ (ไออาร์พีซี) ก่อนจะจบปริญญาตรีสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก ในสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้าอีกต่างหาก ไม่เกี่ยวกับศิลปะใด ๆ สักนิด เล่นเอาผมถึงกับงง

รงควัตถุต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำสีแบบโบราณ

อาจารย์หัวเราะเบา ๆ “ที่นี่ไม่มีโรงเรียนด้านศิลปะหรือดนตรีครับ ถ้าจะเรียนศิลปะหรือดนตรี ก็ต้องไปเรียนที่อื่น แต่คุณพ่อก็ไม่ให้ไป ระยองเป็นที่ตั้งของพวกโรงงานต่าง ๆ เยอะ คนระยองเองก็จะนิยมเรียนในสาขาช่างต่าง ๆ เพื่อทำงานบริษัทกัน”

แต่ขนาดเรียนด้านช่างไฟฟ้า อาจารย์ฝ้ายก็ยังวาดภาพอย่างจริงจัง ทั้งยังฉายแววด้านภาษาไทย ด้วยการเป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าแข่งขันแต่งกลอนในการประกวดกลอนสุนทรภู่ประจำปีของจังหวัดระยอง ระดับจังหวัด ได้รางวัลชนะเลิศถึง ๔ ครั้ง จากการประกวด ๗ ครั้ง

ซอคันเก่งของอาจารย์ฝ้าย

น่าทึ่งที่ไม่ใช่แค่ภาษาไทยเท่านั้น ยังมีผลงานด้านดนตรีที่น่าสนใจอีกด้วย

“สมัยเรียน ปวส. ต้องส่งโครงงานการเรียนการสอนเข้าแข่งในภาคตะวันออก ก็คิดหัวข้อ เครื่องดนตรีไทยช่วยสอน ส่งเข้าประกวด โดยใช้ขนมปังผสมแป้งกาวปั้นดินเป็นเครื่องดนตรีไทย วงดนตรีเครื่องสายผสม ระนาด ขลุ่ย ซอ กลอง ฉิ่ง เป็นโมเดล ทำแป้นให้กด เมื่อกดที่ระนาดก็จะเป็นเสียงระนาด ใช้เสียงที่ไปขออัดมาจากชมรมดนตรีไทยโรงเรียนวัดเขายายชุม ได้รางวัลเหรียญทองการประกวดสิ่งประดิษฐ์และสื่อการเรียนการสอนโครงการแห่งทักษะวิชาชีพโรงเรียนเอกชนอาชีวศึกษาประจำปี ๒๕๔๙...

“...ตอนไปอัดเสียงนี่ก็ไปสะดุดตาเครื่องดนตรีซอเข้า เพราะเป็นเครื่องสาย ใช้นิ้วกดเป็นเสียงต่าง ๆ ดูน่าสนใจ ขอให้อาซื้อซอส่งมาจากกรุงเทพฯ หัดเล่นเองจนเล่นเป็น ต่อมาดูในโทรทัศน์ เจอรายการบรรเลงเพลงซอสามสาย แต่ไม่มีหนังสือสอนเล่นซอสามสายเลย ต้องหาอาจารย์สอน ตอนนั้นทำงานแล้ว มีคนแนะนำให้ไปที่ร้านบุหลันปัญจราคัม อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง ได้พบครูสอนซอสามสาย ครูวิโรจน์ สุภาลูน ท่านเป็นบุตรบุญธรรมของครูนิภา อภัยวงศ์ ครูสอนจะเข้ของสมเด็จพระเทพฯ

“อาจารย์บอกว่าจะเรียนซอสามสายต้องมีทักษะอื่นด้วย ต้องเป็นซอด้วง ต้องเป็นซออู้ และต้องร้องเพลงไทยเดิมได้บ้าง เพราะสามสายประกอบด้วยสายหนึ่งแทนซออู้ สายสองแทนซอด้วง และสายสามแทนนักร้อง ก็เลยเริ่มจากซอด้วงก่อนเพราะมีพื้นฐานอยู่แล้ว ค่อยมาฝึกซออู้ต่อ ครูดุจเดือน สุภาลูน ภรรยาครู ช่วยมาสอนพื้นฐาน ครูวิโรจน์สอนขั้นสูง เมื่อทักษะเริ่มได้ จึงเริ่มเรียนซอสามสาย ติดตามครูไปสอน โรงเรียนอนุบาลระยองกับโรงเรียนบวรรัตนศาสตร์ด้วย เพื่อให้ได้เพลงอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๙”

นี่ทำให้ไม่น่าแปลกใจสำหรับใครไปไปเยี่ยมเยือนบ้านของอาจารย์ฝ้าย แล้วพบว่ามุมหนึ่งมีเครื่องดนตรีไทยเครื่องสายแทบทุกชนิดแขวนอยู่เรียงราย

ในตอนนี้อาจารย์ฝ้ายกำลังพยายามเร่งรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย การสวดพระมาลัย ในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากผู้มีภูมิปัญญาเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และขาดการสืบทอด ด้วยการสัมภาษณ์ บันทึกคลิปเสียงและวิดีโอ เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมด้านดนตรีและเพลงพื้นบ้านของระยองให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้


สืบสานอักษรงานศิลป์แผ่นดิน

“ผมเริ่มหัดเขียนอักษรโบราณเมื่ออายุ ๑๘ ปี จากการวาดจิตรกรรมคัดลอกสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงธนบุรี แล้วเจอตัวอักษรไทยโบราณ เห็นว่าสวยดี จึงหัดเขียนต่อเนื่องมา จนสมัยเรียน ปวช. ๓ อาจารย์ให้ส่งรายงานเป็นภาพโปสเตอร์พระเกจิอาจารย์ ชอบภาพสมเด็จพุฒาจารย์โตที่มีอักษรขอมและยันต์ล้อมรอบ ใต้ผ้าเขียนว่าคาถาชินบัญชร ด้วยความสงสัยว่าคืออะไร จึงเอาหนังสือสวดมนต์มากางคู่กัน ลำดับเรียงกันตามตัวอักษร หัดเขียนหัดอ่านอักษรขอมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนสามารถอ่านออกเขียนได้”

อาจารย์ฝ้ายเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ผลงานสำคัญระดับ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” คือการได้ทำหน้าที่อาลักษณ์ในการเขียนสมุดปาติโมกข์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๖๐ ครั้งนั้นได้มีการประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคลที่มีความสามารถด้านการเขียนอักษรโบราณ เพื่อเขียนคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์ด้วยอักษรขอม

“อาจารย์ชาย มีจำรัส จากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อยุธยา ที่เคยติดตามผลงานกันทางเฟซบุ๊ก ก่อนจะไปรู้จักกันที่บ้านคุณหญิงทมยันตี ที่เชียงใหม่ เป็นคนติดต่อเข้ามา โจทย์คือให้เขียนอักษรให้เหมือนกับต้นฉบับคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์จากสมุดข่อยสมัยรัชกาลที่ ๖

“ผมก็ต้องมาศึกษาว่าอาลักษณ์สมัยนั้นใช้อะไรเขียน ปรากฏว่าเขาใช้ปากกาคอแร้ง มีด้ามกับหัวปากกา ต้องมาหาว่าหัวปากกาแบบไหนจะสร้างลายเส้นได้เหมือนต้นฉบับ ตระเวนหาจากร้านต่าง ๆ ในระยองไม่พบ ไปหาในกรุงเทพฯ ก็ไม่มี เลยตัดสินใจสั่งซื้อจากเว็บไซต์ของประเทศโปแลนด์ สุ่มซื้อมาหลาย ๆ แบบ ค่าส่งแพงกว่าค่าหัวปากกาอีก มาทดลองเขียน ปรากฏว่าเป็นยี่ห้อลีโอนาร์ด T33 ที่ให้เส้นเหมือนกับต้นฉบับมากที่สุด”

การเขียนคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์ในงานพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ ๙ นี้เอง ทำให้อาจารย์ฝ้ายพบว่าคนที่เขียนอักษรโบราณเป็นมีน้อยมาก เพราะที่สมัครเข้ามาร่วมเขียนมีแค่ ๗ คน แถมแต่ละคนไม่มีความรู้อักษรโบราณเลย ต้องมาหัดกันใหม่ เกิดเป็นแรงบันดาลใจต้องการเผยแพร่การเขียนอักษรโบราณเป็นสาธารณะ เพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้สะดวก

ในปี ๒๕๖๐ อาจารย์ฝ้ายจึงได้จัดทำเพจ “อักษราร้อยวลีลิขิต” ขึ้นในเฟซบุ๊ก เผยแพร่องค์ความรู้การเขียนการอ่านอักษรโบราณไทย อักษรล้านนา อักษรธรรม และองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเขียนนำเสนอสาระสำคัญต่าง ๆ จัดทำฟอนต์โดยผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้ต้นแบบลายมือของอาจารย์ฝ้ายเอง เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านกราฟิก

ฟอนต์ที่ทำออกเผยแพร่แล้ว ได้แก่ ฟอนต์ปาฏิโมกข์ เป็นฟอนต์อักษรของสมัยรัตนโกสินทร์ ฟอนต์ไทยย่อ เป็นอักษรไทยสมัยอยุธยา ฟอนต์นันโทปนันทะ เป็นอักษรขอมย่อสมัยอยุธยา ฟอนต์ฉัททันต์ เป็นอักษรไทยย่อสมัยรัชกาลที่ ๑ ล่าสุดเป็นฟอนต์สุนทรน้อย ใช้ลายมือของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เผยแพร่ให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


สืบเส้นสายจิตรกรรมลายไทย

“ตอนแรกผมชอบซื้อหนังสือภาพวาดจิตรกรรมไทยของศิลปินรุ่นใหม่ ๆ มาดูแล้วก็วาดตาม” อาจารย์ฝ้ายเล่าถึงภาพจิตรกรรมไทยสนใจฝึกฝนหัดวาดมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม กระทั่งมาถึงจุดที่ทำให้ต้องย้อนกลับไปหาของเก่า

“ตอนหลังมาพบเว็บไซต์ จิด-ตระ-ธานี เป็นเว็บให้ความรู้กับคนที่สนใจด้านจิตรกรรมไทยประเพณี เปิดโอกาสให้ส่งผลงานเข้าไปให้ติชมได้ ทำให้ได้รู้จักอาจารย์ด้านศิลปะกลุ่ม วาดเล่นๆกับจิด-ตระ-ธานี ไปร่วมกิจกรรมครั้งแรกในนิทรรศการนิทรรศนาศิลปะธรรมะจิตตะธานีเกิดจุติ ๑ วาดเส้นด้วยภาพอริยสัจจะ จัดแสดง ณ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา เมื่อช่วงวันที่ ๕-๑๔ กันยายน ๒๕๕๕ ...

“จุดเปลี่ยนอยู่ที่อาจารย์ยุทธนา ภิวัฒน์เดชากุล ท่านให้คำแนะนำให้กลับไปที่รากเหง้า คือศึกษาศิลปกรรมโบราณให้มากที่สุด เรียนรู้นาฏลักษณ์หรือท่าเฉพาะ เมื่อซึมซับไว้แล้วจะทำให้เข้าถึงความเป็นศิลปกรรมไทยโบราณได้อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่นั้นมา พวกหนังสือภาพจิตรกรรมของศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ผมก็เก็บไว้ในตู้ ไม่ได้เอาออกมาดูอีกเลย สนใจแต่จิตรกรรมของโบราณ พยายามคัดลอกจากจิตรกรรมของเก่าให้เหมือน ศึกษาค้นคว้าหาอุปกรณ์ที่ใช้ ทำกระดาษข่อย กระดาษสา ปากกาคอแร้ง ขนนก กิ่งไม้ หมึกจีน แท่งหมึก รวมไปถึงพวกรงควัตถุตามธรรมชาติที่ใช้ทำสีสันต่าง ๆ การหมักพืชสมุนไพร หมักจากแร่ธาตุ ดิน หิน ตั้งแช่ ดินเหลือง ดินแดง คราม ทองคำแบบโบราณ ซึ่งมันไม่มีขายที่ไหน หาซื้อยาก เราก็ทำเองได้หมดทุกอย่าง...”

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้อาจารย์ฝ้ายเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความสามารถในการอนุรักษ์เอกสารโบราณทั้งในด้านจิตรกรรมที่เข้าถึงทุกขั้นตอน ทั้งวัสดุและกรรมวิธีการวาดและตัวอักษรโบราณที่อ่านออกเขียนได้อยู่แล้ว

ฟื้นชีพภูษาในประวัติศาสตร์

เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเพในปี ๒๕๖๔ อาจารย์ฝ้ายมีความคิดที่จะรวบรวมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านเพเอาไว้ ด้วยการทำเป็นหนังสือประวัติศาสตร์บ้านเพ-เกาะเสม็ด แต่เนื่องจากพิจารณาดูแล้วข้อมูลเยอะ หนังสือจะมีความหนามาก ระยะแรกจึงแบ่งออกเป็นชุด ชุดแรกคือ “บ้านเพที่ไม่ทันได้เห็น” การรวบรวมข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มนี้ทำให้พบข้อมูลที่กล่าวถึงผ้าตากระหมุกจากหนังสือระยะทางเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี ปี ๒๔๑๙ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงผ้าตากระหมุก ๒ ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อทรงเรือพระที่นั่งอัคราชวรเดชขึ้นที่ระยอง สมัยนั้นแสมสารยังเป็นเขตของระยองอยู่ เจ้าเมืองระยองพร้อมขุนนางไทยจีนไปเฝ้ารับเสด็จ

“...เอาของมาให้ มีผ้าไหม ผ้าพื้นตราสมุก กับข้าวสาร สัตว์ต่าง ๆ เป็นอันมาก”

ครั้งที่สอง เสด็จออกจากแหลมระยองมาเทียบท่าที่ช่องเสม็ด เสด็จขึ้นฝั่งที่บ้านเพ

“หลวงศิรยุทธ (พระยาไกรโกษาธิบดี) เก็บได้กัลปังหาแดง ๒ กิ่งกัลปังหาขาวจริง ๑ เราชอบใจนัก ด้วยเป็นของหายากจริง ๆ เราให้รางวัลผ้าตาสมุกของกำนัลเขาผืนหนึ่ง...”

นั่นคือข้อความที่เอ่ยถึงผ้าตากระหมุกในเอกสารประวัติศาสตร์ ที่ปัจจุบันผ้าชนิดนี้สาบสูญไปแล้วร้อยกว่าปี

“ทำให้เริ่มสนใจว่าผ้าตากระหมุกที่กล่าวถึงเมื่อเกือบ ๑๕๐ ปีก่อนเป็นอย่างไร ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ไม่มี จนพบข้อมูลที่กล่าวถึงการทอผ้าชนิดนี้จากเอกสารออนไลน์ คือบันทึกว่าด้วยอาชีพของชนชาวพื้นเมืองในท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ในปี พ.ศ ๒๔๖๙ ห่างจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ แค่ ๕๐ ปี ถือว่าใกล้เคียงที่สุดแล้ว

“ผ้าตากระหมุกกับผ้าลายเกล็ดเต่าเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรคือคำถาม บอกวิธีทอไว้ด้วยว่าอย่างไรจะได้ผ้าตากระหมุก จึงอยากจะทดลองพอตามข้อความ อุปกรณ์ก็ไม่มี ความรู้ในการทอก็ไม่มี เริ่มทอในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยตัดสินใจซื้อกี่มาทดลอง เรียงสี่เส้นได้ตามข้อความในเอกสาร จนในที่สุดทอออกมาเป็นผ้าพันคอผืนย่อม ๆ หนึ่งผืนแบบเดียวกับที่กล่าวไว้เมื่อ ๑๔๕ ปีที่แล้วเป๊ะ เป็นผืนแรกของจังหวัดระยอง”

            แต่ก็ยังมีคนในท้องถิ่นระยองเองที่ยังไม่ยอมรับว่ามีการทอผ้ากันในแถบนี้ ทำให้อาจารย์ฝ้ายต้องไปหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อมายืนยัน

“ปี พ.ศ. ๒๔๑๙ รัชกาลที่ ๕ ถามคนที่ว่าทำมาหากินอะไรกัน หนึ่งทำกะปิ สองทำนา สามเห็นเขาล้อมรั้วปลูกฝ้าย แสดงให้เห็นว่าฝ้ายคือเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้า ซึ่งปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว ผมลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนแก่เฒ่า คุณยายเผ่า คำหลวง สมัยนั้นคุณยายอายุ ๑๕ ตอนนี้อายุ ๘๐ ปี เคยเห็นพบฝ้ายแซมไร่ในสวน นำมาใช้ทอผ้าจริง ๆ คือเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว คุณแม่ผมก็เล่าเหมือนกัน คนพื้นที่ไม่เรียกดอกฝ้าย จะเรียกดอกสำลี

“ค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องของสี พบเอกสารของมณฑลจันทบุรี สอบสวนเรื่องของการย้อมผ้า จังหวัดระยองทำหนังสือตอบกลับไปว่า ระยองทำย้อมผ้าสีเดียว คือสีมะเกลือ ความในบันทึกว่ามะเกลือที่ใช้ย้อมผ้าของเพ เหลือที่ไหนบ้าง ได้คำตอบว่าวัดเภตราสุขารมย์และโรงเรียนเพรักษ์มาตาวิทยา

“อีกสีคือสีม่วง พบจากหนังสือบันทึกความทรงจำของคุณเลี้ยง สิทธิชัย กล่าวถึงท่าตะมุสีม่วงดอกมะเขือเป็นบันทึกสุดท้ายที่กล่าวถึงผ้าตาจมูกโดยคนเพแท้ ๆ หลังจากนั้นไม่เคยมีใครเห็นผ้าชนิดนี้อีกเลย เป็นแรงบันดาลใจที่อยากรื้อฟื้นผ้าชนิดนี้กลับคืนมาให้กับระยอง”

อาจารย์ฝ้ายเริ่มทำโครงการรื้อฟื้นผ้าตากระหมุกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ หลังจากสืบค้นองค์ความรู้ทั้งหมดของการทอผ้าตากระหมุกมาอบรมให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านเพและใกล้เคียงที่มีความสนใจรวม ๒๓ คน ใช้เวลาในการอบรมทั้งหมด ๗ วัน ตั้งใจส่งเสริมให้เป็นอาชีพต่อไป

ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาภาพประจำจังหวัดระยองมีมติให้ผ้าลายตราสมุก (ในภาษาระยองเรียกว่าผ้าตากระหมุก) เป็นสัญลักษณ์ของระยอง ประกาศเมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นการนำเอาผ้าทอพื้นถิ่นที่หลงเหลือเพียงบันทึกในประวัติศาสตร์กลับคืนมาอีกครั้ง และอาจารย์ฝ้ายยังได้พยายามที่จะพัฒนาสีสันให้มีความหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

หากสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ทางอาจารย์ฝ้ายได้จัดทำแฟนเพจเฟซบุ๊ก เพื่อเผยแพร่ความรู้ของศิลปะในแขนงต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้

จิรดุริยะรุจี ให้ความรู้ด้านดนตรีไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน

อักษราร้อยวลีลิขิตให้ความรู้ด้านตัวอักษรและเอกสารโบราณ

วิศิษฏ์ศิลป์พิมาน ให้ความรู้ด้านศิลปกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะจิตรกรรมไทย

ศูนย์อนุรักษ์ภาคพื้นถิ่นจังหวัดระยอง ให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าตรากระหมุก

สภาวัฒนธรรมตำบลเพให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ด้านศิลปวัฒนธรรม