วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เชียงรายในวันดอกไม้สะพรั่งบาน

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.  ปีที่๕๔ ฉบับที่ ๗ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


          
             เมื่อนึกถึงดอกไม้ ผมมักจะนึกไปถึงเชียงราย

            เนื่องจากในความทรงจำ สีสันของไม้ดอกนานาพรรณซึ่งสะพรั่งบานละลานตาเต็มสวนแม่ฟ้าหลวงบนดอยตุงเมื่อแรกเห็น สร้างความประทับใจชนิดมิมีวันรู้ลืมให้กับการเยือนเชียงรายครั้งแรกในชีวิตของผมเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนโน้น

            ความจริงแล้วคงไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียวหรอกครับที่รู้สึกแบบนั้น เห็นได้จากการที่เชียงรายได้รับสมญานามกล่าวขานกันว่าเป็น “นครแห่งดอกไม้งาม” มาโดยตลอดเนิ่นนานแล้ว ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาดงดอยอยู่ทั่วไป ทำให้อากาศเย็นสบาย เอื้ออำนวยต่อการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาว อันเป็นห้วงเวลาที่บรรดาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะไม้ดอกเมืองหนาว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มากมายด้วยสีสันสวยงามแปลกตาแข่งขันแบ่งบานอย่างเต็มที่


ยิ่งปีนี้อากาศหนาวเย็นยะเยือกกว่าปีไหน ๆ ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจังหวะอันดีสำหรับการเที่ยวเชียงรายเพื่อชมความตระการตาของนานาบุปผาชาติเป็นที่สุดละครับ


ดอยตุง –ดอยช้างมูบ อุทยานสวรรค์ในความทรงจำ

ห่างหายจากเชียงรายไปนานหลายปี กลับมาเยือนอีกในครั้งนี้ ผมเลยอดไม่ได้ที่จะแวะเวียนขึ้นมาบนดอยตุง รำลึกความรู้สึกแรกประทับใจกับภาพของดอกไม้งามสะพรั่งบาน

ตามสูตรมาตรฐานของการขึ้นมาเที่ยวชมดอยตุงนั่นแหละครับ  หลังจากเข้าคิวซื้อบัตรเข้าชมแบบรวม ที่เข้าชมได้ทุกสถานที่ในเครือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุงคือจุดหมายแรก

ผมค่อยๆ ทอดน่อง เรื่อย ๆ ในลมหนาว ตามเส้นทางขึ้นเขาลาดเลี้ยวโค้งขึ้นไปตามความสูง สองฟากฝั่งเรียงรายด้วยสีสันของดอกไม้กระจิริดกับใบสีเขียวสดกระจ้อยร่อย ห้อยระย้าในกระถาง เดินดูเพลินตาเพลินใจเรื่อยไปจนถึงปลายทางแทบไม่รู้ตัว   



ดอยตุงในอดีตนั้นไม่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์งดงามเช่นทุกวันนี้ หากแต่เป็นเขาหัวโล้นสภาพเสื่อมโทรมเพราะผืนป่าถูกทำลายจนหมดสิ้น เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าและใช้เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น รวมทั้งยังเป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งเสพติดผิดกฏหมาย
  
กระทั่ง “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชประสงค์ฟื้นฟูผืนป่าบนดอยตุงให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  ทรงก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๑ พระตำหนักแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ระหว่างทรงงาน  

ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ “สมเด็จย่า” ที่ทรงต้องการหยุดวงจรแห่งความลำบากยากแค้นของผู้คนบนดอยตุง  ด้วยการพัฒนาคนอย่างบูรณาการ ควบคู่ไปทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม  พร้อม ๆ กันกับสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทำให้วันนี้ดอยตุงกลับสู่ความเขียวชอุ่มงดงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าใครจะไปจะมาเชียงรายจะต้องแวะมาเยี่ยมเยือน

เข้าเยี่ยมชมภายในพระตำหนัก ได้เห็นสถานที่ทรงงานที่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้เหมือนครั้งประทับอยู่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าพระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัยเนิ่นนานนับสิบปีแล้ว  ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกใจหายครับ 


นิทรรศการภายในหอแห่งแรงบันดาลใจ  ช่วยให้เข้าใจถึงแนวพระราชดำริของทั้งห้าพระองค์ในราชสกุลมหิดล ตั้งแต่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  แต่ละพระองค์ล้วนทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ  



ทางเดินลดเลี้ยวจากนิทรรศการนำพาผมผ่านประตูเข้าสู่สวนแม่ฟ้าหลวง  อุทยานไม้ดอกไม้ประดับขนาดใหญ่ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สร้างถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไว้ใกล้กับพระตำหนักดอยตุงเพื่อ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ภาพประทับใจในอดีตของผมยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงครับ บนพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่เบื้องหน้า ดารดาษไปด้วยบุบผานานาพรรณ รวมทั้งซุ้มไม้เลื้อยกว่า ๗๐ ชนิด และไม้ยืนต้นต่างๆ หลากสีสันตระการตา  ท่ามกลางภูมิทัศน์บนลาดเขาที่จัดวางเอาไว้อย่างสวยงามลงตัว
  
ครั้งแรกที่ผมมาเป็นช่วงฤดูหนาวเหมือนกัน ต่างกันตรงที่วันนั้นสวนแม่ฟ้าหลวงห่มคลุมด้วยม่านหมอกขาวโพลนทั่วอาณาบริเวณ เมื่อผสมผสานเข้ากับภูมิทัศน์ที่งดงามหลากหลายสีสันของดอกไม้ ขับเน้นให้บรรยากาศรอบข้างตระการตาราวกับยกสวนสวรรค์ในชั้นฟ้าลงมาวางไว้บนดินตรงหน้าเลยทีเดียว 



คล้าย ๆ กันกับที่สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่บนดอยช้างมูบ จุดสูงสุดของเทือกดอยตุงที่ระดับความสูง ๑,๕๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในอดีตที่ตรงนี้ก็คล้ายกับดอยตุงคือเป็นเขาหัวโล้นและป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สนองพระราชดำริ “สมเด็จย่า” ด้วยการมาปลูกสนสามใบเป็นไม้เบิกนำให้ร่มเงา ก่อนจะสร้างเป็นสวนรุกขชาติขึ้น ใช้เป็นที่รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นเคยพบบนดอยช้างมูบและเทือกดอยตุงเอาไว้ภายในพื้นที่อันกว้างขวางถึง ๒๕๐ ไร่  

จำได้ดีเลยครับว่าที่นี่ผมเคยเดินอย่างตื่นตาตื่นใจผ่านม่านหมอกขาวตามทางเดินลดเลี้ยวลงไปตามลาดเขาที่รายล้อมด้วยดงกุหลาบพันปี ซึ่งถือว่าเป็นนางพญาแห่งสวนรุกชาติแห่งนี้  เนื่องจากมีหลายสี หลากสายพันธุ์ จากนานาทวีป ทั้งเอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย เป็นแหล่งรวบรวมเอาไว้มากที่สุดของประเทศ บนเส้นทางเดินที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขายังแทรกแซมด้วยความงดงามของพันธุ์ไม้ดอกชนิดอื่น ๆ อย่าง กล้วยไม้ดิน กล้วยไม้พื้นเมือง รองเท้านารี  เป็นสีสัน




ว่ากันว่าในช่วงต้นนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยออกดอกสะพรั่งบาน บนเส้นทางนี้จะยิ่งสวยงามเหมือนถนนในความฝัน เนื่องจากทั่วบริเวณจะกลายเป็นสีชมพูตระการตา เห็นเขาบอกอยู่ในราวเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แต่ผมยังไม่เคยมีโอกาสมาได้ตรงกับช่วงเวลาที่ว่าสักครั้ง  มาคราวนี้ยังพอได้เห็นออกดอกชมพูระเรื่อตัดกับฟ้าครามเข้มอยู่บ้างบนเรือนยอด (ไม่แน่เหมือนกันนาครับ อ.ส.ท.ฉบับนี้วางตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะบานรับวาเลนไทน์พอดีก็ได้...แฮ่ม)


เที่ยวสองงานเทศกาลดอกไม้ตระการตา

แปลงดอกทิวลิปหลากสีเรียงรายละลานตา ท่ามกลางอากาศที่เยือกเย็น ทำให้ผมรู้สึกคล้ายกับว่ากำลังเดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะที่เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ปาน

 แต่ความจริงแล้วอยู่ในงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งาม กลางเมืองเชียงรายครับ 

เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ความเป็น “เมืองแห่งดอกไม้งาม” ที่เล่าขานกันมานาน เชียงรายจึงมีการจัดงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งามจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับ ขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ระหว่างช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นับถึงครั้งนี้ก็เป็นปีที่ ๑๐แล้ว

ในปีนี้เทศบาลนครเชียงรายได้เนรมิตพื้นที่ ๑๑ ไร่กลางใจเมืองเชียงราย บริเวณสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ให้กลายเป็นอุทยานไม้ดอกเมืองหนาว ด้วยการนำไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว จำนวนกว่า ๑  ล้านต้น มากกว่า ๓๐ สายพันธุ์ มาตกแต่งประดับประดาเป็นสวนหย่อม บ้านดอกไม้ อุโมงค์ไม้ดอก รวมทั้งประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ในเขตเทศบาลเมืองจนตระการตาด้วยไม้ดอกนานาพรรณ 



เปิดให้เที่ยวชมกันได้ทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำครับ อากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็นเป็นพิเศษในปีนี้ดูเหมือนเป็นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะแม้แต่ตอนเที่ยง แดดก็ยังไม่แผดกล้าจนร้อนเกินไป เดินได้สบาย ๆ พอเข้ามาในงานแล้วจะรู้สึกเหมือนกับเดินอยู่สวนดอกไม้ในยุโรปเลยเชียวละครับ ด้วยสภาพแวดล้อมของอาคาร การจัดวาง และสีสันรูปร่างหน้าตาของบรรดาไม้ดอกเมืองหนาว  

ยิ่งในช่วงเย็นแดดร่มลมตกแล้วบรรยากาศดีอย่าบอกใคร มีการจัดแสดง “ดนตรีในสวน” บรรเลงขับกล่อมให้ฟังกันสด ๆ โดยนักร้องชื่อดังหลากหลายอีกต่างหาก แม้เมื่อดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป บรรดาไม้ดอกไม้ประดับในงานก็ยังสว่างไสวสวยงามด้วยการสาดแสงไฟหลากสีสัน  นักท่องเที่ยวโต้ลมหนาวเดินเที่ยวชมกันได้ยันดึกนั่นแหละครับ

จากข้อมูลของเทศบาลนครเชียงราย ในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมานี้ นักท่องท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมความสวยงามของดอกไม้ในงานกันมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน ทำลายสถิติทุกครั้งที่ผ่านมา แถมในงานยังมีการสั่งซื้อดอกไม้สวยงามที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่จำนวนมาก ยอดสั่งซื้อมากกว่าสองแสนต้นเลยทีเดียวละครับ


ความสำเร็จจากเทศกาลเชียงรายดอกไม้บานที่ผ่านมาหลายปี ทำให้ล่าสุดยังได้มีการจัดงานมหกรรมดอกไม้อาเซียนเชียงราย ขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันอีกงานหนึ่งด้วย นัยว่าเพื่อเตรียมต้อนรับการเปิดสู่ประชาคมอาเซียน จัดปีนี้เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ  มุ่งหมายให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และยกระดับการจัดงานเป็นงานท่องเที่ยวระดับประเทศ และระดับอาเซียนต่อไป

งานนี้จัดอยู่นอกเมืองบริเวณสวนไม้งามริมน้ำกกครับ  บนเนื้อที่กว้างขวางกว่า ๑๐๐ ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นหลายส่วน คือส่วนการจัดแสดงดอกไม้ซึ่งเป็นส่วนหลักอยู่บริเวณกึ่งกลาง รายรอบด้วยส่วนการจัดแสดงอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรณพืชไม้ดอกไม้ประดับ อย่างเช่น ซุ้มราชรถประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากประเทศภูฏาน มาประดิษฐานไว้ภายในงาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เคารพสักการะเป็นสิริมงคล  หมู่บ้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีล้านนา หมู่บ้านจัดแสดงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆในเชียงราย หมู่บ้านผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์โอทอป  และพันธุ์ไม้นานาชนิด  ไปจนถึงเมืองหิมะและน้ำแข็ง (มาได้ยังไงไม่รู้อันนี้)

 ตั้งใจมาชมดอกไม้นี่ครับ อย่างอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องผมก็เลยข้ามผ่านไปบ้าง (แต่ยังมีแอบเข้าไปเล่นในเมืองหิมะและน้ำแข็งเหมือนกัน...นิดนึง... แหะแหะ)   


ในส่วนหลักซึ่งจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับนั้น จัดสร้างเป็นอุทยานไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว  ในลักษณะของสวนหย่อมที่ประกอบด้วยไม้ดอกและไม้ใบสีสันสดใสละลานตานานาชนิด เรียงรายอยู่ตามมุมต่าง ๆ    ของสวนสาธารณะแห่งนี้ ที่โดยปกติภูมิทัศน์สวยงามอยู่แล้ว เพราะมีทั้งน้ำตกจำลองและสายลำคลองเล็ก ๆ คดเคี้ยว ทอดข้ามผ่านไว้ด้วยสะพานน้อย ๆ พอเสริมสวนหย่อมดอกไม้เข้าไปก็อลังการขึ้นมาทันตา

ในศาลาที่รายรอบสระน้ำขนาดใหญ่และน้ำพุอันเป็นศูนย์กลาง จัดเป็นซุ้มแสดงผลงานการประกวดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืชพรรณ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดบายศรี การประกวดสวนถาด สวนถาดกระบองเพชร การประกวดเขามอ ประกวดวาดภาพและภาพถ่ายดอกไม้  ให้เลือกชมตามความสนใจ

แปลงดอกทิวลิป  แปลงดอกลิลลี่  แปลงดอกอาซาเลีย ยังคงถือเป็นดาวเด่นของงานนี้เพราะเห็นมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้าไปชื่นชมและถ่ายภาพกันอย่างไม่ขาดสาย พอๆ กันกับอีกมุมหนึ่งที่จัดเป็นอุทยานกล้วยไม้ที่รวบรวมเอากล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์มาไว้ด้วยกันโดยจำลองลักษณะสภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่ของกล้วยไม้มาด้วย เช่น ริมน้ำตก เพิงผา คูหาถ้ำ ช่วยเพิ่มความน่าตื่นตา



ดูไปก็คล้าย ๆ กันกับงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้บานในเมืองอยู่เหมือนกันครับ  ต่างกันด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างขวางกว่า ทำให้รูปแบบการจัดสวนหย่อมหลากหลาย  แถมด้วยลูกเล่นที่อยู่ตามมุมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพมีมากกว่า อย่างเช่นสวนหย่อมที่ตัดแต่งรูปทรงให้เป็นสัญลักษณ์อาเซียน คือรวงข้าว ๑๐ ต้นมัดรวมกัน  สวนหย่อมที่ตัดแต่งดอกไม้หลากสีสันเป็นตัวละครจากนิทานเรื่องสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด  และจักรยานสามล้อถีบที่ประดับดอกไม้ทั้งคัน

 ไหนจะกิจกรรมอื่น ๆ ที่เสริมเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงขบวนเรือบุปผชาติทางน้ำที่แต่ละลำประดับประดาดอกไม้กันอย่างพิสดารพันลึก  การแสดงบนเวทีกลางน้ำประกอบแสงสีเสียงเรื่องประวัติพญามังรายมหาราช  และอื่น ๆ อีกมากมาย (ผมเองก็ยังเที่ยวดูได้ไม่หมดเหมือนกัน บ่องตง)    

สนุกสนานเพลินตาเพลินใจ สรุปง่าย ๆ ว่าอะไรต่อมิอะไรก็ดีหมดครับ เสียดายอยู่อย่างเดียว ตรงที่ทั้งสองงานจัดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ถ้ามีให้เที่ยวชมได้ตลอดทั้งปีคงจะดี

ใครที่พลาดโอกาสชมก็ไม่ต้องเสียดาย  เพราะผมเก็บบรรยากาศเอามาให้ชมแล้วในฉบับนี้ ดูเล่น ๆ กันไปก่อน ถูกออกถูกใจยังไง กาปฏิทินวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเอาไว้ ช่วงส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่มาเที่ยวกันได้ กับสองงานดอกไม้งามของจังหวัดเชียงรายครับ 


สิงห์ปาร์ค สวนดอกไม้บนไร่เกษตร    

ประติมากรรมรูปสิงห์สีทองที่คุ้นตา เคยเห็นยกขาอยู่ข้างขวดโซดาและเบียร์มาแต่ไหนแต่ไร เป็นจุดดึงดูดสายตาของ “ไร่บุญรอด” ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า สิงห์ปาร์ค เชียงราย เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมได้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ใครผ่านไปผ่านมาจะเห็นสิงห์ทองอร่ามยืนยกขาอยู่บนเนินหญ้าเขียวขจีท่ามกลางทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง

บนพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ๘,๖๐๐ ไร่แบ่งออกเป็น ไร่ข้าวบาร์เลย์ วัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเบียร์  ไร่ชาพันธุ์อู่หลงสายพันธุ์จินซวนหรือชาอู่หลงเบอร์ ๑๒  สายพันธุ์ไต้หวัน ที่ปลูกบนพื้นที่กว่า ๖๐๐ ไร่  แปลงเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ปลูกพืชหลายชนิดตามความเหมาะสมของสภาพดิน มีทั้งไร่พุทราพันธุ์ซื่อหมี่ลูกใหญ่ กว่า ๑๐๐ ไร่  ไร่มะเฟืองยักษ์หวาน  ไร่สตรอว์เบอร์รี่ สายพันธุ์พระราชทาน ๘๐   แคนตาลูป มะเขือเทศพันธุ์เลื้อย นอกจากนี้ยังมีไม้ผลยืนต้นอย่างลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง กระท้อน  มะนาว  รวมไปแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวอีกหลากหลายชนิด อย่าง บร็อกโคลี่ มัลเบอร์รี, ราสเบอร์รี, เมลอน ยังมีฟาร์มเห็ดหอม ฟาร์มเลี้ยงวัวนม  และยางพารากว่า ๒,๗๐๐ ไร่

เรียกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้



 บริเวณสิงห์ปาร์คนี้ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งครับ ที่เหมาะกับการมาเที่ยวชมความงดงามของดอกไม้ เพราะบนเนินเขาน้อย ๆ ลดหลั่นเป็นลอนด้านหน้า ตระการตาด้วยสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ ที่มีไม้ดอกไม้ประดับหลากสีสันนานาพรรณให้เที่ยวชม

สีสันอันหลากหลายดูละลานตาน่าดูน่าชมเป็นที่สุดครับ เพราะมีทั้งทุ่งดอกปอเทืองสีเหลืองทองอร่ามสุดลูกหูลูกตา ทุ่งดอกซัลเวียชูช่อสีแดงไสวล้อสายลม ทุ่งดอกดาวกระจายและทุ่งดอกแววมยุรานานาสารพัดสี  ทุ่งดอกพิงค์มอสสีชมพูหวาน  โอ๊ย จาระไรไม่หวาดไหวครับ เยอะมาก มองไกล ๆ จะเห็นบรรดาดอกไม้นานาชนิดเหล่านี้แผ่กว้างเหมือนผืนพรมบุปผาห่มคลุมอยู่ทั่วเนินเขา

รอบอาณาบริเวณของสิงห์ปาร์คยังเรียงรายไว้ด้วยต้น “เหลืองเชียงราย” ที่มีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า “Dwarf Golden Trumpet”  มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศบราซิล เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ดอกสีเหลืองสวยงาม นิยมปลูกมากทางภาคเหนือของไทยเรา โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย จึงได้ชื่อว่า เหลืองเชียงราย” 
  

ตอนที่ผมมานี่ยังไม่มีดอกให้เห็นครับ ได้ยินมาว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป (ก็คือช่วงที่อนุสาร อ.ส.ท.ฉบับนี้ออกวางตลาดพอดี) ไปจนถึงเดือนมีนาคม เหลืองเชียงรายจะออกดอกพร้อม ๆ กันทั้งขุนเขาทั่วเมืองเชียงราย ในสิงห์ปาร์คนี่ก็น่าจะเหลืองอร่ามไปหมด


 ว่าจะหาโอกาสแวะเวียนกลับมาชมอีกสักครั้งอยู่เหมือนกันครับ เพราะยังไม่เคยเห็นดอกเหลืองเชียงรายบานสะพรั่งไปทั้งเมือง คงจะงามตาน่าดูน่าชมไม่ใช่เล่น

ที่สำคัญ มาชมดอกไม้เมืองเชียงราย แต่ไม่เห็นดอกไม้ชื่อเดียวกับจังหวัดได้ยังไง เหมือนมาเชียงรายแต่ไม่ถึงเชียงราย เสียฟอร์มแย่ จริงไหมครับ