วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

Frankfurts Bookfair มหกรรมหนังสือนานาชาติระดับโลกที่เยอรมนี


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. 


      ได้ยินมานานแล้วกับคำกล่าวที่ว่าหนังสือคือตัวชี้วัดระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ
แต่มาเห็นประจักษ์แจ้งว่าเป็นจริงก็เมื่อมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Frankfurt Bookfair ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันที่จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เองครับ


      ก็อย่างที่รู้กันว่าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเป็นประเทศหนึ่งที่ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกในทุกด้าน  งานบุ๊คแฟร์ของเขาก็เลยยิ่งใหญ่มหึมาระดับอินเตอร์จริง ๆ   งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกับงานมหกรรมหนังสือนานาชาติที่จัดกันที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของเราว่าเป็นงานใหญ่แล้ว พอไปเทียบกับเขาแล้ว ยังแค่ ๑ ใน ๒๐ เห็นจะได้





          ไม่ให้ใหญ่ได้ไงละครับ Frankfurts Bookfairนั้นน่ะไม่ใช่ธรรมดา พลิกปูมประวัติความเป็นมาแล้วเป็นงานมหกรรมหนังสือที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก  มีประวัติความเป็นมาเริ่มจัดกันมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๕ โน้น ก็คือกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว แม้จะมีวิกฤตการณ์ระดับโลกอย่างสงครามโลกมาขัดขวางทำให้ต้องชะงักไปบ้าง แต่ก็ยังจัดให้มีขึ้นอยู่เป็นช่วง ๆ เรื่อยมา กระทั่งปีค..๑๙๔๙ เป็นต้นมาจึงได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


          แค่ทางเข้าบริเวณงานก็ไม่ธรรมดาเสียแล้วครับ เพราะมีนิทรรศการปฏิทิน แสดงผลงานการพิมพ์ปฏิทินหลากหลายรูปแบบแบ่งเป็นหัวข้อได้แก่ ดอกไม้ กีฬา เทคโนโลยีกับการขนส่ง อีโรติก ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่ทำเอาตะลึงก็คือหนังสือภาพนู้ดทั้งหญิง ชาย (เกย์ก็ยังมี) ใส่ตู้โชว์กันหราหน้างาน เล่นเอาสองหนุ่มไทยเราเดินเข้าไปเห็นเข้าตอนแรกตกใจกันตาเหลือก เพราะนึกว่ามาผิดงาน 




ภายในพื้นที่การจัดงานกว้างใหญ่ไพศาลถึง ๑๗๒,๕๐๐ ตารางเมตร  อัดแน่นไปด้วยหนังสือสารพัดชนิดจากนานาประเทศทั่วทุกมุมโลก จุดแรกที่เราเข้าไปคือโถง ๕ เป็นโซน International publisher หรือผู้พิมพ์นานาชาติ  ตามบูธที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือภาพ หนังสือเด็ก และหนังสือนานาชนิด แต่ละบูธจัดให้มีมุมหนึ่งเป็นโต๊ะประชุม เห็นผู้ประกอบการจับกลุ่มเจรจากันอยู่อย่างเป็นการเป็นงาน



โถง ๖ เป็นชั้นที่คอการ์ตูนน่าจะตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นกลุ่มของสำนักพิมพ์ที่ผลิตและจำหน่ายหนังสือเด็กและหนังสือการ์ตูน ที่คุ้นตาก็คือสำนักพิมพ์จากญี่ปุ่นที่ขนการ์ตูนเรื่องดัง ๆ มากันครบครัน  เป็นสีสันของงาน นอกจากนี้ยังมีบูธของเกาหลี ตุรกี และอินเดียซึ่งนอกจากจะมีร้านหนังสือหลากหลายรูปแบบแล้วยังมีการสัมมนาเรื่องอินเดียจัดโดยสถานทูตอินเดียอีกด้วย


บูธของประเทศไทยเราอยู่ในโซน E ของชั้น ๖.๑ ใกล้กับของไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์เกี่ยวกับหนังสือเด็กและการ์ตูน ภายในบริเวณรวมหลากหลายสำนักพิมพ์ไว้ด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นบรรลือสาส์น มีเดียแม็กซ์ มูลนิธิเด็ก ซิลค์เวิร์ม ขนการ์ตูนไทยมาร่วมประชันเต็มพิกัด แต่ที่ดึงดูดความสนใจชาวเยอรมันได้เป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นบริการนวดแผนไทยที่จัดพื้นที่ฟากหนึ่งของบูธไว้ให้บริการฝรั่งเข้าแถวต่อคิวกันยาวเหยียดเชียว




ในงานไม่เพียงมีแต่หนังสือเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่นที่โถง ๔ มีนิทรรศการสิ่งพิมพ์โบราณของบรรดานักสะสมของเก่า สาธิตเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก โรงงานผลิตกระดาษ  ตลอดจนโซนNon Book รวมสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือ เช่นของที่ระลึก กิฟต์ช็อป ตลอดจนสื่อมัลติมีเดีย

ลานเอนกประสงค์ใจกลางงานเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียในทุกด้าน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี  ในอาคารหนึ่งจัดแสดงวรรณกรรมอินเดีย ภาษา ตัวอักษรในแบบต่าง ๆ  รู้สึกว่าเป็นที่สนใจของชาวเยอรมันมาก



 เยอรมันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ แต่เท่าที่เห็นยังไม่มีหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ใด ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยที่เป็นภาษาเยอรมันมากนัก ถ้าหากมีก็จะทำให้ประเทศไทยของเราเป็นที่รู้จักของชาวเยอรมันมากขึ้น 

และเชื่อแน่ว่าชาวเยอรมันจะต้องมาท่องเที่ยวเมืองไทยของเรามากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย