วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ย้อนเวลาสู่แดนทวารวดีที่กาฬสินธุ์


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตัพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 


แสงสุดท้ายของวันลับหายไปจากขอบฟ้า ปล่อยให้มวลความมืดแห่งรัตติกาลคืบคลานเข้ามาครอบคลุมทั่วอาณาบริเวณ

องค์เจดีย์เก่าแก่และบรรดาใบเสมาหินที่ปักไว้อยู่รายรอบถูกกลืนเข้าอยู่ในม่านราตรีเห็นเป็นเพียงเงาตะคุ่มอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของหมู่ไม้ทะมึนที่ไหวโอนเอนตามสายลม บรรยากาศยามนี้แลดูไปคล้ายฉากในภาพยนตร์ประเภทมิติเร้นลับ แดนสนธยา

เหตุที่ยามนี้ผมยังเดินวนเวียนไปมาอยู่   ไม่ใช่ว่าคิดจะเปลี่ยนใจหันมาทำสารคดีแนวไสยศาสตร์ลึกลับอะไรนาครับ  แต่เพราะว่าในท่ามกลางเงาสลัวรางกลางความมืดนั้นเอง เป็นช่วงเวลาเปิดโอกาสให้จินตภาพได้ทำงาน สร้างสรรค์ปะติดปะต่อภาพจากซากปรักหักพังในความคิดชัดเจนเจิดจ้าแจ่มชัด

ภาพของนครฟ้าแดดสงยางอันเคยรุ่งโรจน์เป็นต้นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในยุคสมัยที่เรียกขานกันว่า “ทวารวดี”   


นครปริศนาใบเสมายักษ์

เมื่อหลายปีก่อน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ผมมีโอกาสได้เห็นใบเสมาหินจากเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นครั้งแรก ยังจำได้ถึงความตื่นเต้น
  
ไม่ใช่จากลวดลายจำหลักอันวิจิตรงดงามตามแบบศิลปะทวารวดีหรอกครับ เพราะผมเคยอ่านเคยเห็นลวดลายทั้งหลายมาจากในหนังสือก่อนหน้านั้นหลายครั้งแล้ว ขนาดใบเสมาอันมหึมาสูงใหญ่ท่วมหัวต่างหากที่น่าตื่นตะลึง มิหนำซ้ำยังเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เนื่องจากบรรดาเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางที่ผมเคยไปเยี่ยมเยือนมาหลายต่อหลายแห่ง ไม่เคยพบเคยเห็นใบเสมาเบ้อเริ่มเบ้อร่าขนาดนี้มาก่อน

เหมือนโชคชะตาเป็นใจให้ครับ หลังจากได้เห็นใบเสมาเมืองฟ้าแดดสงยางครั้งนั้นไม่นาน ผมก็บังเอิญได้มีโอกาสร่วมเดินทางทัศนศึกษากับคณะสื่อมวลชนในรายการ “อีสาน แหล่งความรู้ อู่อารยธรรม” จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เรานี่แหละ  บนเส้นทางอันยาวไกลผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลากหลายนั้นได้ผ่านมาทางเมืองฟ้าแดดสงยางด้วย โดยได้แวะให้เยี่ยมชมสักการะพระธาตุยาคูและหมู่เสมาหินขนาดใหญ่ที่เก็บไว้ในวัดโพธิ์ชัยเสมาราม
 
 “ใบเสมาใหญ่ที่สุดที่เคยขุดพบ ขนาดเท่ากับรถกระบะ จมอยู่ใต้ดิน ชาวบ้านขุดเจอแล้วก็ไม่มีปัญญาเอาขึ้นมา เพราะต้องใช้เครื่องมืออย่างปั้นจั่นใหญ่ ๆ มายก ก็เลยต้องเอาดินกลบเอาไว้ตามเดิม” คำบอกเล่าจากวิทยากรท้องถิ่นผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างนำชมทำเอาผมหูผึ่ง เสียดายว่าเวลาที่ให้แวะนั้นมีน้อย ไม่ได้เที่ยวดูชมรายละเอียดอะไรเท่าไหร่  ได้แต่แอบหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ ว่ามีโอกาสมาด้วยตัวเองเมื่อไหร่จะใช้เวลาดูให้สาสมใจเลยทีเดียว





มาคราวนี้ได้ทำตามที่ตั้งใจเอาไว้ครับ วัน ๆ ก็เทียวไล้เทียวขื่อชมใบเสมาหินใหญ่ของเมืองฟ้าแดดสงยางที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง  เมืองนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองเสมา” มีที่มาจากแผนผังของเมืองเป็นวงรี คล้ายรูปใบเสมา แต่บ้างก็ว่าเรียกขานอย่างนี้เพราะเป็นเมืองที่พบเสมาหินอยู่มากที่สุด  ก็แล้วแต่ว่าใครจะเชื่อข้อไหน ทว่าผมน่ะแอบลำเอียงเทใจให้กับข้อหลังมากกว่าครับ ด้วยความประทับใจกับใบเสมาหินขนาดยักษ์ที่ได้เห็น

ตามข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นศึกษาด้านโบราณคดี เมืองนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖  บวกลบคูณหารดูก็อายุอานามประมาณ ๑,๔๐๐ ปีล่วงมาแล้วครับ ตัวเมืองล้อมรอบด้วยคูเมืองที่ขนาบด้วยคันดินสองชั้น วัดโดยรอบมีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ปัจจุบันใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ขนาดผังเมืองยาว ๒,๐๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๑,๓๕๐ เมตร   ขนาดเมืองไม่ใหญ่โตมากแค่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ ไร่  ภายในบริเวณเมืองเก่าร่องรอยของศาสนสถาน ๑๔ แห่ง  สร้างขึ้นตามคติในพุทธศาสนา เป็นศิลปกรรมแบบทวารวดีล้วน ๆ ผมเที่ยวดูเที่ยวชมจนทั่วแล้ว ส่วนใหญ่ปรักหักพังทลายเหลือแค่ส่วนฐาน  


ที่ยังหลงเหลือเห็นเป็นชิ้นเป็นอันก็มีเพียงพระธาตุยาคู  ชาวบ้านเรียกกันว่า “ธาตุใหญ่”  องค์พระธาตุที่เห็นอยู่นี้ปรากฏร่องรอยการสร้างและบูรณะ ๓ ยุคสมัย ส่วนฐานล่างที่กว้างและใหญ่ที่สุดเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมมีบันไดทางขึ้น ๔ ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี (อยากรู้ว่าเจดีย์แบบทวารวดีที่สมบูรณ์ลักษณะหน้าตาเป็นยังไงต้องไปดูพระธาตุนาดูน ที่จังหวัดมหาสารคามครับ เขาสร้างจากแบบเจดีย์ทวารวดีตามข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดี) ชั้นถัดขึ้นมาเป็นฐาน ๘ เหลี่ยมสร้างทับลงไปบนฐานสมัยทวารวดี เป็นรูปแบบของสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นบัวซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ นั้นสร้างสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง 

ดูรวม ๆ แล้วก็สวยงามลงตัวดี เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนครับเห็นแล้วได้อารมณ์ยังไงบอกไม่ถูก เอาเป็นว่าสวยจนทำให้ผมมายืนชื่นชมได้อยู่ทุกวี่วันทั้งเช้าทั้งเย็นได้ก็แล้วกัน แต่ละวันได้บรรยากาศที่แตกต่างออกไปไม่ซ้ำเลย


ช่วงกลางวันที่แดดแผดจ้าร้อนจนผิวไหม้ในแต่ละวัน ผมแอบหลบแดดไปพินิจพิจารณาบรรดาใบเสมาหินขนาดใหญ่ทั้งหลายที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองฟ้าแดดสงยางในวัดโพธิ์ชัยเสมารามครับ เรียกพิพิธภัณฑ์ฟังดูอาจจะนึกภาพหรูหรา ความจริงแล้วเป็นเพิงหลังเล็ก ๆ ชั้นเดียวมุงหลังคาสังกะสีไม่มีฝาผนัง (แต่เขาเรียก “พิพิธภัณฑ์”  จริง ๆ นะ มีป้ายติดเอาไว้ด้วย) ในบริเวณแคบ ๆ จัดตั้งใบเสมาหินขนาดใหญ่เรียงรายเอาไว้รอบผนัง ๓ ด้าน แต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่สูงท่วมหัวทั้งนั้น

เท่าที่เคยเห็นมาจากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น รวมทั้งที่บริเวณพระธาตุและวัดในเขตเมืองฟ้าแดดสงยางนี้ เสมาหินของเมืองฟ้าแดดสงยางนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๖ แบบครับ แบบแรกเป็นใบเสมาแผ่นเรียบ ทั้งสองด้านของใบเสมาเรียบสนิทหรืออย่างดีก็มีลวดลายกลีบบัวอยู่ตรงฐานด้านล่างนิดหน่อย  แบบที่สองเป็นใบเสมามีสัน ลักษณะเหมือนเสมาแบบเรียบแต่ตรงกึ่งกลางจะมีสันนูนขึ้นมา ด้านล่างเรียบสนิท แบบที่ ๓ ใบเสมารูปเจดีย์ กึ่งกลางใบเสมาแกะสลักเป็นรูปเจดีย์ มีฐานเป็นชั้น ๆ หรือไม่ก็เป็นกลีบบัวซ้อนกัน แบบที่ ๔ ใบเสมาสี่เหลี่ยมด้านเท่า ลักษณะคล้ายศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง มีฐานเป็น ชั้น ๆ หรือกลีบบัวซ้อนกัน แบบที่ ๕ ใบเสมาแปดแหลี่ยม ลักษณะเหมือนกลีบมะเฟือง และแบบที่ ๖ แบบสุดท้ายคือใบเสมาแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องราวในชาดกและพุทธประวัติ  ที่เก็บรักษาเอาไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดก็เป็นแบบแกะสลักเล่าเรื่องราวนี้แหละครับ ส่วนแบบอื่น ๆ ทางวัดเอาไปปักเรียงรายเอาไว้รอบอุโบสถ หอระฆัง และตามริมทางเดิน



 ใบเสมาหินขนาดใหญ่แต่ละแบบอันพบในเมืองฟ้าแดดสงยาง มีมากกว่า ๑๓๐ ชิ้นซึ่งกรมศิลปากรได้คัดเลือกชิ้นที่สวยงามและมีคุณค่าทางโบราณคดีขึ้นทะเบียนไว้ แล้วย้ายไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น (ที่ผมเคยไปดูมานั่นแหละครับ) บรรดาชิ้นที่หลงเหลืออยู่ให้เห็นอยู่ในเมืองฟ้าแดดสงยางจึงเป็นเพียงส่วนน้อยและโดยมากชำรุด แต่กระนั้นก็ยังมีชิ้นที่สวยงามควรค่าแก่การชมอยู่หลายชิ้นครับ

ใบเสมาที่ลายจำหลักสวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดในวัดคือใบใหญ่ที่อยู่กึ่งกลาง เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าห้ามพระญาติที่วิวาทแย่งน้ำกันในแม่น้ำโรหิณี งามขนาดไหนนะหรือครับ  ก็ถึงขนาดมีประวัติเป็นเรื่องราวการันตีนั่นแหละ  คงจำกันได้สมัยที่ไทยเราเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน  หลังจากโยกโย้อยู่นานทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิคาโกได้ต่อรองขอแลกเปลี่ยนทับหลังนารายณ์ฯ กับใบเสมาชิ้นนี้ครับ โชคยังดีที่ทางฝ่ายไทยเราไม่มีใครบ้าจี้ยอมแลกด้วย  (ขืนยอมแลกให้ก็บ้าเท่านั้น มีอย่างที่ไหน อัฐยายซื้อขนมยาย แถมใบเสมาชิ้นนี้ยังมีอายุเก่าแก่กว่าทับหลังนารายณ์ฯ นับร้อยปีอีกต่างหาก)

 
ชิ้นอื่น ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่งาม  เพียงแต่บางชิ้นสภาพชำรุดแตกหัก แม้ลวดลายยังคมชัดแต่นึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องไหน บางชิ้นลวดลายก็ลบเลือนราง ดูยากว่าเป็นภาพอะไร กว่าจะดูรู้เรื่องต้องใช้เวลานั่งเพ่งพิจารณากันไม่น้อยละครับ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวจากชาดกทั้งนั้น ใบเสมาใหญ่ที่มีรูปแพะกับสุนัขอยู่ด้านล่างมาจากเรื่องมโหสถชาดก ใบย่อมลงมาที่มีรูปบุคคล ๓ คน คนกลางมีหาบอยู่บนบ่าอีกสองคนนั่งมาจากเรื่องนารทชาดก ใบที่มีรูปบุคคลหนึ่งยืนถือจอบ อีกคนนั่ง มาจากเรื่องเตมียชาดก ใบที่มีรูปบุคคลชายและหญิงยืนคู่กัน โดยฝ่ายหญิงทูนของบางอย่างไว้บนศีรษะมาจากเรื่องมโหสถชาดก

บนลานวัดใต้ต้นโพธิ์ยังมีเสมาหินที่จำลองจากชิ้นเยี่ยมของเมืองฟ้าแดดสงยางที่นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เห็นปุ๊บจำได้ปั๊บครับ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “พิมพาพิลาป” เล่าเรื่องราวตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาเยี่ยมเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางยโสธราพิมพารับเสด็จโดยสยายพระเกศาลงเช็ดพระบาท ท่ามกลางแวดล้อมของพระราชบิดา พระมาตุจฉา และพระโอรสราหุล  ผมจำได้ดี เพราะตอนที่ไปดูที่ขอนแก่น ซื้อใบเสมาจำลองใบเล็ก ๆ รูปเดียวกันนี้จากพิพิธภัณฑ์ฯ กลับมาเป็นที่ระลึก

นอกจากนี้ยังมีเสมาจำลอง “พิมพาพิลาป” อีกเวอร์ชัน (เรื่องเดียวกัน แต่ฝีมือไม่เหมือนกัน) ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน รวมทั้งใบเสมาจำลองที่เป็นเรื่องเตมียชาดก ปักไว้โคนต้นโพธิ์ ด้วยลายจำหลักที่มองเผิน ๆ คล้ายภาพเทวดา ทำให้มีร่องรอยชาวบ้านมาจุดธูปเทียนบูชา ถวายพวงมาลัยดอกไม้เอาไว้ด้วย

แถวพระธาตุยาคูที่ผมเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็มีชิ้นสวย ๆ เหมือนกันครับ คือใบเสมาทางทิศใต้ของพระธาตุยาคู จำหลักเป็นรูปบุคคลในกริยากำลังลากจูงบางอย่างในป่ารกทึบ ที่ผู้สันทัดกรณีว่ากันว่าเป็นภาพจากเรื่องเวสสันดรชาดก ตอนชูชกขอพระกัณหาชาลีจากพระเวสสันดรแล้วจูงเดินทางมาในป่า ท่วงทีลีลาการเดินนั้นทะมัดทะแมงได้อารมณ์มาก

สมัยที่พบใบเสมาเมืองฟ้าแดดสงยางใหม่ ๆ เกิดปริศนาเป็นที่สงสัยในหมู่นักโบราณคดีว่าก็คือทำไมถึงได้พบใบเสมาหินขนาดใหญ่มากมายอยู่ในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางแห่งนี้ ทั้งที่เมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ในภาคกลางที่ถูกพบมาก่อนไม่เคยพบว่ามีใบเสมาหินใหญ่


 คำตอบที่นักโบราณคดีพบเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานนี้เคยมีลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมด้วยการใช้แท่งหินขนาดใหญ่ปักแสดงอาณาเขต  เรียกว่าวัฒนธรรมหินตั้ง 

ต่อมาเมื่อรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาจากอินเดีย ก็เลยมีการผสมผสานความเชื่อแบบเก่าในการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมมาใช้กับพุทธศาสนา มีการแกะสลักเรื่องราวทางพุทธศาสนาลงในใบเสมาหินที่กำหนดเขต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานีที่มีร่องรอยของทั้งเขตศักดิ์สิทธิ์แบบหินตั้ง และการดัดแปลงเขตศักดิ์สิทธิ์มาเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี

วัฒนธรรมหินตั้งนี้ไม่มีในภาคกลาง เมืองโบราณทวารวดีในภาคกลางก็เลยไม่พบเสมาหินใหญ่แบบนี้

ผมเคยเห็นภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งสำรวจพบเมืองฟ้าแดดสงยาง น่าตื่นตาตื่นใจมากครับ ใบเสมาหินใหญ่นับร้อยปักเรียงรายเต็มไปหมด  อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปถึงสมัยที่นครแห่งนี้ยังรุ่งเรืองอยู่ ว่าจะงดงามขนาดไหน เจดีย์แบบทวารวดีงดงามตระหง่านเรียงราย เสียงระฆังดังหง่างเหง่ง ผู้คนมากมายในเครื่องแต่งกายงดงามต่างชวนกันเข้าวัดไหว้พระทำบุญ ในงานประเพณีจัดขึ้นประจำปีที่รอบข้างประดับประดาอย่างงดงามอลังการ

ทุกเย็นย่ำ ผมถึงชอบไปยืนมองอาทิตย์ลับฟ้าในบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง ท่ามกลางความมืดและเงาอันสลัวรางของซากปรักหักพัง สิ่งที่ได้พบเห็นผสานผสมกับจินตนาการ บางครั้งคล้ายปรากฏเป็นภาพเหมือนดังความฝันของนครอันเรืองโรจน์เมื่อพันกว่าปีก่อนขึ้นมาให้เห็นอยู่ตรงหน้า


สักการะสามพระไสยาสน์

“สมัยทวารวดีนี่ทำไมชอบสร้างแต่พระนอนนะ”

ผมนึกไปถึงประโยคคำถามของเพื่อนที่ร่วมเดินทางมากับผม เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีเอามาทำสารคดีอนุสาร อ.ส.ท.  เมื่อหลายปีก่อน  ครั้งนั้นเจ้าเพื่อนยากของผมเกิดสงสัยขึ้นมาหลังจากตระเวนไปสักการะพระนอนทวารวดีองค์ใหญ่ที่วัดธรรมจักรเสมาราม ในเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน   จังหวัดนครราชสีมา  แล้วก็มาพระนอนทวารวดีที่ภูเวียง ก่อนจะมาแวะสักการะพระนอนที่พุทธสถานภูปอ กาฬสินธุ์นี่อีก

ไม่ใช่ว่าทวารวดีสร้างแต่พระปางไสยาสน์หรอก พระปางอื่นก็มี อย่างที่ถ้ำฤาษี เขางู ราชบุรี  ยังเป็นพระพุทธรูปทวารวดีปางปฐมเทศนาเลย จริง ๆ แล้วก็อาจจะมีปางอื่น ๆ อีกก็ได้ เพียงแต่ปางอื่น ๆ อาจปรักหักพังง่ายกว่า พระปางไสยาสน์ก็เลยเหลือให้เห็นอยู่มากกว่า”


จำได้ว่าตอนนั้นผมแสดงความเห็นกับเพื่อนไปประมาณนี้  ก่อนจะพากันเข้าไปสักการะพระนอนองค์แรกที่ประดิษฐานอยู่เชิงเขาทางขึ้น ภายในอาณาบริเวณของวัดอินทร์ประทานพร

ใต้เพิงหินที่ทางวัดสร้างศาลาคลุมไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจำหลักจากสมัยทวาราวดี ตามประวัติว่าสร้างขึ้นประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔  องค์พระนอนตะแคงข้างขวาตามแบบสีหไสยา พระเศียรประทับบนพระหัตถ์และพระกรข้างขวา หันสู่ทิศเหนือพระพักตร์หันสู่ทิศตะวันตก ทางวัดเอาสีทองมาทาองค์พระไว้จนอร่าม แม้ดูขัดตาแต่ความงามของพระพุทธรูปนั้นก็ไม่ลดทอนลงไป

ส่วนที่เสริมให้องค์พระดูโดดเด่นนั้นอยู่ตรงที่ไม่ใช่แกะสลักแต่รูปองค์พระลอย ๆ เท่านั้น แต่ยังสลักแผ่นพื้นหินโดยรอบให้เป็นผ้าปูลาดรองพระองค์ และหมอนรองหนุนพระเศียร รวมทั้งรองพระบาททั้งคู่ รอบ ๆ พระวรกายและพระเศียรสลักเป็นรูปประภาวลี  รอบพระเศียรสลักรูปดอกไม้เป็นระยะ ทำให้แลดูคล้ายเป็นรัศมี ผมกลับมาสักการะอีกครั้งในวันนี้ ทุกอย่างยังคงงดงามเหมือนเดิม 

และคงเพราะคราวก่อนมัวพูดคุยชื่นชมความงามของพระนอนองค์แรกที่ได้เห็นกันนี่แหละครับ ทำให้ผมจำไม่ได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของการเดินขึ้นไปสักการะพระพุทธไสยาสน์องค์ที่ ๒  ซึ่งประดิษฐานอยู่บนภูปอ อันเป็นเขาหินทรายที่ทอดตัวตามแนวทางตะวันออกตะวันตก โดยฟากฝั่งเขาด้านทิศเหนือเป็น เขตอำเภอสหัสขันธ์  ด้านทิศใต้เป็นเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์  ยอดเขาสูง ๓๓๖ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  

มาคราวนี้เดินขึ้นคนเดียวไม่มีเพื่อนคุย ทำให้รู้สึกว่าบันไดสูงชันขึ้น แถมระยะทางยังยาวไกลมาก เดินขึ้นไปอีก ต้องหยุดหอบซี่โครงบานไปตลอดทางครับ  ระหว่างทางมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ผมเลยอาศัยพักเหนื่อยชมวิวไปเรื่อย ๆ นับขั้นบันไดไปด้วย ปรากฏว่าเดินขึ้นไปกว่าจะถึงก็ ๔๐๐ กว่าขั้นเชียวละครับ แทบตาย 

ยังดีที่บนยอดเขาลมพัดเย็นสบาย เห็นองค์พระนอนเด่นสง่าด้วยสีทองที่ทางวัดทาเอาไว้อยู่ใต้เพิงผาแล้วหายเหนื่อยครับ งามจริง ตามประวัติว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ น่าจะได้แรงบันดาลใจจากพระนอนองค์แรกด้านล่าง  แต่องค์ด้านบนนี้ศิลปกรรมเป็นแบบทวารวดีผสมผสานกับสุโขทัย ด้วยเส้นโค้งเว้า เน้นสัดส่วนและมีลักษณะอ่อนช้อยกว่า องค์พระนอนตะแคงขวาตามแบบสีหไสยาหันพระเศียรสู่ทิศเหนือค่อนมาทางตะวันตก  เช่นเดียวกับพระนอนองค์ล่าง ช่างได้สลักหินที่รองรับใต้องค์พระ ให้เป็นแท่นขอบเหลี่ยมต่อด้วยขาคู่หนึ่งลักษณะมองดูเป็นเตียง 
บรรยากาศสงบเงียบรู้สึกเหมือนย้อนเวลากลับไปในสมัยทวารวดี อดจินตนาการไปไม่ได้ว่าผู้ที่ขึ้นมาสร้างรวมทั้งผู้ที่ขึ้นมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้จะต้องมีศรัทธาอย่างมาก เพราะสมัยก่อนไม่มีบันไดต้องปีนป่ายบุกป่าผ่าดงขึ้นมา สมัยเรามีบันไดยังเล่นเอาเหนื่อยไปเหมือนกัน ขนาดขากลับลงมากว่าจะถึงข้างล่างยังเล่นเอาผมขาสั่น



                  โชคยังดีครับที่พระนอนทวารวดีอีกองค์ที่ต้องไปสักการะนั้นไม่ต้องปีนป่ายขึ้นเขาให้เหนื่อยอีก ทั้งที่ชื่อก็ดูเหมือนจะอยู่บนภูเหมือนกัน   ทว่ามีถนนให้รถแล่นเข้าไปจนถึงภูค่าว  คำว่า “ภูค่าว” นี้เขาว่าเป็นชื่อ เรียกกันมาแต่สมัยโบราณ ตามรูปลักษณะของภูซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ขื่อไม้สำหรับรับน้ำหนักมุงหลังคา   ในเนื้อที่ ๗๕ ไร่ ร่มรื่นด้วยแมกไม้ เป็นที่ตั้งของวัดพุทธนิมิตภูค่าว แวะเข้าไปเดินดูอุโบสถไม้ สวยงามสะดุดตา ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานแบบเชียงแสน โดยรอบไม่มีผนังกั้น ทำเป็นราวระเบียงแกะสลักลวดลายงดงาม ตามประตู หน้าต่าง เพดานจำหลักภาพพุทธประวัติ และทศชาติชาดก ถัดเข้าไปยังมีเจดีย์ใหญ่มหึมาตระหง่านภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  โดยรอบประดับประดาด้วยประติมากรรมหินหลากหลายทั้งธรรมจักรใหญ่ ทั้งประติมากรรมเหตุการณ์สำคัญในพุทธศาสนา

 ใต้ร่มเงาไม้ลึกเข้าไปยังเรียงรายด้วยอาคารปฎิบัติธรรม โรงทาน สร้างด้วยไม้สวยงาม ลัดเลาะตามทางเดินผ่านมณฑปพระพุทธบาทและวิหารสังฆนิมิตรที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระเครื่องรุ่นต่างๆ ที่หายากจำนวนมาก  ไปสุดเพิงผาทางทิศใต้มีบันไดทางเดินลงไปหน้าผาอันเป็นที่ประดิษฐานรูปองค์พระไสยาสน์ ที่มีความแปลกอยู่ตรงที่ตะแคงซ้าย ผิดกับพระพุทธไสยาสน์โดยทั่วไปที่ตะแคงขวา แกะสลักบนแผ่นหินหันเศียรไปทางทิศตะวันออก องค์พระมีความยาว ๔ ศอก  

ผู้สันทัดกรณีบางส่วนว่าเป็นพระพุทธรูป แต่ที่ตะแคงซ้ายเพราะว่าผู้สร้างตั้งใจให้หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะได้สอดคล้องกับเรื่องราวตอนปรินิพพานในพุทธประวัติ

แต่บางส่วนก็ว่าไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็นพระอรหันต์ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย พระโมคคัลลานะ โดยอ้างว่าองค์พระไม่มีพระเมาลีอันเป็นลักษณะของพระพุทธเจ้า จึงน่าจะเป็นพระอัครสาวกมากกว่า

ยังมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับองค์พระนอนว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๕ พระเจ้าศรีโคตรบูร กษัตริย์ขอม ต่อยอดพระธาตุพนมสำเร็จ มีพระราชดำริจะจัดพิธีสมโภชฉลอง จึงแจ้งข่าวแก่ขอมทั่วไปให้มาร่วมฉลองครั้งนี้ ฝ่ายขอมทางเขมรต่ำ มีนายสาเป็นหัวหน้าพากันรวบรวมทรัพย์สมบัติ และผู้คนเดินทางมาเพื่อร่วมการกุศล พอมาถึงบ่อคำม่วง ห่างจากถ้ำภูค่าวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๙ เส้น ก็พากันหยุดพักและทราบข่าวว่า การสมโภชพระธาตุพนมเสร็จสิ้นเสียแล้ว นายสาจึงปรึกษาพรรคพวกแล้วตกลงกันว่าให้ฝังสมบัติที่พากันนำมาไว้ที่ภูค่าว และได้สลักรูปพระโมคคัลลานะไว้ที่ถ้ำแห่งนี้เป็นที่หมาย

 จากนั้นตั้งปริศนาไว้ว่า "พระหลงหมู่อยู่ภูถ้ำบก แสงตาตกมีเงินเป็นแสน ไผหาได้กินทานหาแหน่ เหลือจากนั้นกินเลี้ยงบ่อหลอ" ใครที่ไขปริศนาที่ว่านี้ได้ก็จะพบกับทรัพย์สมบัติที่ซ่อนเอาไว้

ตัวผมน่ะฟังแล้วขอสละสิทธิ์ไปเป็นคนแรกเลย ไม่ใช่ว่าเป็นคนดีไม่อยากได้สมบัตินะครับ ทว่าแค่ฟังคำปริศนาก็งงไป ๑๕ ตลบแล้ว เพราะไม่รู้ภาษาอีสาน 

แล้วจะมีปัญญาที่ไหนไปไขปริศนาขุมทรัพย์ลายแทงอะไรกับเขาได้  


   
ขออดีตอันรุ่งเรืองจงคืนกลับมา
กลิ่นธูปควันเทียนวูบมาตามสายลม ทำเอาผมตื่นจากห้วงภวังค์ที่เพลิดเพลินอยู่กับภาพจินตนาการวันเวลาอันรุ่งเรืองของเมืองฟ้าแดดสงยางในกลางความมืด

กำลังคิดว่าจะเจอดีเข้าแล้วเสียละมั้งคราวนี้  ก็พอดีเห็นเงาตะคุ่มของคนกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาในบริเวณพระธาตุยาคู  พ่อเฒ่าแม่แก่เดินนำหน้าพาคู่ชายหญิงสามีภรรยาถือธูปเทียนวนเวียนสักการะตามมุมต่าง ๆ ที่ตั้งใบเสมารอบองค์พระธาตุ ก่อนจะพากันคุกเข่าลงตรงลานด้านหน้าที่เรียงรายไปด้วยตุ๊กตาแก้บนรูปช้างม้าวัวควายตัวใหญ่ ๆ  แว่วเสียงพ่อเฒ่าแม่แก่กล่าวนำให้คู่สามีภรรยาว่าตามเป็นภาษาท้องถิ่น แอบเงี่ยหูฟังพอจะจับใจความได้ว่าทั้งสองคนแต่งงานอยู่กินกันมานาน ยังไม่มีลูก จึงอยากขอพรจากองค์พระธาตุให้มีลูกสมใจในเร็ววัน

 เห็นอย่างนี้แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ตั้งหลายวัน ผมยังไม่ได้อธิษฐานขออะไรเลย ว่าแต่จะขออะไรดี จะขอเงินเดือนขึ้นสองขั้นก็เพิ่งจะได้ไป   

ถ้าอธิษฐานได้ ผมคงไม่ขออะไรมาก ขอแค่ให้ความรุ่งเรืองของเมืองฟ้าแดดสงยางให้คืนกลับมาอีกครั้งก็แล้วกัน ไม่ใช่คืนชีพนครสมัยทวารวดีที่ล่มสลายไปเนิ่นนานนับพันปีขึ้นมาใหม่  เรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้หรอกครับ แต่อยากให้ฟื้นคืนชีพในลักษณะที่มีผู้สนใจเห็นความสำคัญ สร้างเป็นศูนย์ข้อมูลศึกษาวัฒนธรรมทวารวดีเมืองฟ้าแดดสงยางและเมืองทวารวดีอื่น ๆ ในภาคอีสาน เพราะเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่นด้วยใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ยักษ์นับร้อยนับพันแถมอายุเก่าแก่นับพันปีอย่างนี้ เทียบชั้นกันกับระดับโลกแล้วก็คงไม่น้อยหน้าแหล่งอารยธรรมสำคัญไม่ว่าที่ไหนทั้งนั้น 

 ชอแค่นี้แหละครับ ให้เป็นจริงสักวันเถิดเจ้าประคู้ณ สาธุ

เอกสารอ้างอิง
น. ณ ปากน้ำ.ศิลปะบนใบเสมา.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๒๔.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปะโบราณในสยาม.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๗.
ธิดา สาระยา.ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๕.






คู่มือนักเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา  ไปจนถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เลี้ยวขวาทางหลวงหมายเลข ๒๓ไปถึงจังหวัดมหาสารคาม จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๓  ตรงไปเรื่อย ๆ จนถึงจังหวัดกาฬสินธุ์  รวมระยะทางประมาณ ๕๑๙ กิโลเมตร

รถโดยสาร จากกรุงเทพฯ ที่สถานีขนส่งหมอชิต ๒ มีรถโดยสารปรับอากาศในเส้นทางกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ทุกวัน อัตราค่าโดยสาร VIP ๒๔ ที่นั่ง  ๖๓๓ บาท ธรรมดา ๔๖ ที่นั่ง  ๓๓๐ บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๘ ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๔๑-๔๘ และ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th

รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีขบวนรถไฟรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศไปลงที่สถานีขอนแก่น จากนั้นต่อรถโดยสารจากขอนแก่นไปยังกาฬสินธุ์อีกประมาณ ๗๕ กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย สายด่วน ๑๖๙๐ และ ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔  ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ หรือที่เว็บไซต์ www.railway.co.th

หมายเหตุ อัตราค่าโดยสารอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กรุณาตรวจสอบอีกครั้งก่อนออกเดินทาง

เมืองฟ้าแดงสงยาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามเส้นทางหลวงสาย ๒๑๔ (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร
พุทธสถานภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข ๒๓๑๙ 

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เพลินไพรไฮเทคเมืองสิงคโปร์


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
บันทึกภาพด้วยกล้อง BenQ G1


สีเขียวของแมกไม้กับร่มเงาของต้นจามจุรีขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาตระหง่านอยู่สองฟากฝั่งถนน เป็นภาพแรกที่ปรากฏแก่สายตาหลังจากผมขึ้นนั่งแท็กซี่คันใหญ่แล่นออกมาจากสนามบินนานาชาติชางอี ของสิงคโปร์

เชื่อว่าใครก็ตามที่เดินทางมาเป็นครั้งแรก คงจะเกิดความรู้สึกแบบเดียวกันกับผมครับ นั่นก็คือ “เซอร์ไพรซ์” 
  
ต้นจามจุรีนั้นไม่ถือว่าแปลก สำหรับผมที่เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เนื่องจากสมัยเรียนในมหาวิทยาลัยมีต้นจามจุรีใหญ่ ๆ ให้เห็นอยู่เยอะแยะชินตา แต่ที่ว่า “เซอร์ไพรซ์” ก็เพราะไม่คิดไม่ฝัน ว่าจะได้พบกับถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่ครึ้มเขียวและร่มรื่นแบบนี้ ในเมืองสุดยอดทันสมัยไฮเทคอย่างสิงคโปร์ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมดทีมีแค่เพียง ๖๙๗ ตารางกิโลเมตร ที่ดินบนเกาะสิงคโปร์จึงมีราคาแพงยิ่งกว่าทองเสียอีก ใครจะไปคิด ว่าเขาจะยอมใช้พื้นที่แพง ๆ อย่างนี้มาปลูกต้นไม้  (ถ้าเป็นบ้านเราละไม่มีทางแน่ มีแต่ตัดต้นไม้ เอาที่ดินไปสร้างห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็คอนโดมิเนียมเท่านั้น) 
 ทว่าตรงกันข้ามกับไทยเรา ชาวสิงคโปร์เขาให้ความสำคัญกับต้นไม้มากจริง ๆ  ครับ  เห็นได้ชัดๆ เลย เข้าไปในเมืองนี่ ตามริมทาง ที่ว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ  เป็นต้องปลูกต้นไม้ทำสวนหย่อม ในโรงแรมบางแห่งสวนหย่อมแทบจะมองดูเป็นป่าอเมซอนด้วยซ้ำ เพราะมีต้นไม้สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านรากใบร่มครึ้มทะมึนเต็มไปหมด คงด้วยความที่เป็นเมืองบนเกาะไม่ค่อยมีธรรมชาติ ทำให้ผู้คนโหยหาสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า พืชพรรณไม้น้อยใหญ่กลายเป็นสิ่งมีคุณค่ามากสำหรับชาวสิงคโปร์ ถึงขนาดลงทุนจำลองผืนป่าสร้างเป็นสวนพฤกษศาสตร์มหึมาขึ้นมากลางใจเมือง ที่ผมจะชวนคุณผู้อ่านไปเที่ยวด้วยกันนี่แหละครับ


  จากโรงแรมแพน แปซิฟิคที่พัก ผมเดินลัดเลาะเรื่อยๆ มาตามทาง ผ่านสวนยูธโอลิมปิค ข้ามสะพานโค้งทันสมัยด้วยโครงสร้างโลหะพลางแวะถ่ายภาพตามระเบียงชมวิวบนสะพานที่มีอยู่เป็นระยะ ก่อนเข้าสู่ศูนย์การค้าของโรงแรมมารินา เบย์ แซนด์  ตึกสูงที่เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของสิงคโปร์ อันโดดเด่นด้วยเรือลำใหญ่บนยอดตึกเรียงราย ๓ หลัง ทางเดินลอยฟ้าพาผมข้ามทะลุล็อบบี้ของโรงแรม ออกไปยัง Garden by the Bay สวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ที่เพิ่งเปิดให้ชมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากสะพานลอยเดินถนน มองไปเห็น  โดมกระจกโค้งรูปทรงแปลกตา รายรอบด้วย Supertrees หรือที่ผมเรียกแบบแปลเป็นไทยเอาเองว่า “อภิมหาต้นไม้ “ตั้งตระหง่านเรียงรายอยู่ในบริเวณแต่ไกล


เจ้า “อภิมหาต้นไม้” นี่คือโครงสร้างเหล็กขนาดยักษ์ ทำเป็นทรงต้นไม้หลายขนาด มีความสูงตั้งแต่ ๒๕ เมตรไปจนถึง ๕๐ เมตร (เทียบได้ประมาณกับตึกสูง ๘ ชั้นถึง ๑๖ ชั้น)  ที่ผมเห็นนี่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่เรียบร้อยดี แต่เห็นว่าเมื่อสร้างเสร็จ จะมีทั้งหมด ๑๘ ต้น  บนโครงสร้างนี้จัดทำเป็น “สวนแนวตั้ง” ปลูกต้นไม้ที่เป็นพืชเมืองร้อน ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ และเฟิร์น 

เจ้าต้นไม้ยักษ์พวกนี้ได้ยินเขาว่าสร้างเพื่อช่วยให้ร่มเงา รักษาความชุ่มชื้นในบริเวณสวนในเวลากลางวัน ส่วนในยามค่ำคืน ก็จะประดับประดาอย่างงดงามด้วยแสงไฟนานาสีสัน ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สร้างกระแสไฟฟ้าให้กับตัวเองตลอดจนระบบน้ำหล่อเลี้ยงทำความเย็น  แถมยังมีทางเดินยกระดับเชื่อมต่อ Supetrees แต่ละต้น ต่อไปนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินเที่ยวชมบริเวณสวนโดยรอบจากที่สูง และบนต้นที่สูงสุดคือ ๕๐ เมตร จะทำเป็นจุดชมวิว ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอ่าวได้กว้างไกลรอบทิศทาง   

เดินเข้าไปตามทางเดิน เข้าสู่บริเวณสวน Garden by the bay  ก็ต้องทึ่งครับ กับความยิ่งใหญ่ที่ได้เห็น สมกับที่ได้ยินมาว่าโครงการนี้ดูแลโดยคณะกรรมการดูแลอุทยานแห่งชาติ (National park Committee) ของรัฐบาลสิงคโปร์เองเลย แถมออกแบบและควบคุมงานโดยบริษัทภูมิสถาปัตย์ของอังกฤษ  แค่ทางเดินก็ “อินเตอร์” แล้ว เพราะจัดเป็นสวนนานาชาติ  เท่าที่เห็นเป็นสวนจีน สวนอินเดีย  ไม่รู้มีสวนไทยด้วยหรือเปล่า พอดีระหว่างเดินไปฝนโปรยปรายลงมา ผมเลยไม่ค่อยมีเวลาเดินดูได้ไม่ทั่ว  ถือโอกาสแวะหลบฝนนั่งกินอาหารเติมพลังที่ร้าน Bekerzin ภัตตาคารของสวน เดินเข้าไปเห็นแต่นักท่องเที่ยวฝรั่งนั่งกินกันอยู่เต็มร้าน ราคาแพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ แค่อาหารจานเดียวกับโค้ก ๑ กระป๋อง ซัดไปเกือบพัน(บาท)  เล่นเอาตัวเบา


อิ่มหมีพีมันค่อยมีเรี่ยวแรงเดินเที่ยวชม จุดสำคัญของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้มีอยู่สองส่วนใหญ่ ๆ คือ คือ โดมป่าฝน  (Cloud Forest dome)  และโดมดอกไม้ ( Flower Dome) ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เก็บค่าเข้าชม ก็เลยต้องเข้าคิวซื้อตั๋วที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อน เคานเตอร์แยกเป็นสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ (resident) ซึ่งขณะซื้อตั๋วต้องโชว์บัตรประจำตัว จะได้ส่วนลดราคาบัตรจาก ๒๘ เหลือแค่ ๒๐ ดอลล่าร์สิงคโปร์  กับนักท่องเที่ยว (Visitor) ที่ต้องไปอีกเคานเตอร์  ที่สำคัญจ่ายเต็มราคาครับ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ ๗๐๐ บาท  สำหรับ ๒ โดม


ซื้อบัตรเสร็จสรรพผมเลือกเดินเข้าโดมป่าฝนก่อน เข้าประตูไปก็ต้องตื่นตะลึงกับสายน้ำที่ถาโถมลงจากหน้าผาสูงของภูเขาจำลอง ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางโดมกระจก เสียงซู่ซ่าและละอองน้ำที่กระเซ็นเข้ามาสัมผัสผิว  พร้อมๆ กันกับเสียงนกร้องจุ๊บ ๆ จิ๊บ ๆ แว่วมา  ก้าวเท้าเดินไปตามทางพลางหันซ้ายหันขวามองหานก สักพักผมถึงเห็นว่าเสียงเจื้อยแจ้วที่ได้ยินนั้นมาจากลำโพงเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ตามใต้ต้นไม้ริมทาง ก็ต้องชมเชยว่าทำเขาบรรยากาศแวดล้อมได้สมจริงสมจังมาก 


 ภูเขาจำลองนั้นจะว่าไปไม่เน้นทำเหมือนภูเขาเสียทีเดียว มีลักษณะเป็นแค่โครงภูเขาโปร่ง ๆ คล้ายอาคารจอดรถ มองเห็นชั้นต่าง ๆ ได้ แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือบนผนังของภูเขาจำลองทุกด้านดารดาษไปด้วยไม้ดอกนานาชนิด หลากสีสันสะพรั่งบานชูช่อไสวกันอยู่เต็มพรืดไปหมดแทบทุกตารางนิ้ว ที่สนุกคือเราสามารถขึ้นไปข้างบนเพื่อไปชมความงามอย่างใกล้ชิดได้ เดินตามทางชมไปเรื่อย ๆ พอใกล้ครบรอบจะเห็นทางขึ้นลิฟท์ไปด้านบน หรือใครขยันเดินจะขึ้นบันไดไปก็ได้ (แต่ไม่ยักเห็นมีใครขึ้นบันได รวมทั้งผมด้วย)


 ลิฟท์จะพาขึ้นไปถึงแค่ชั้น ๖ แต่ออกจากลิฟท์แล้วยังมีบันไดทางเดินขึ้นไปชั้นบนสุดคือชั้น ๗ ได้อีก เหนือดาดฟ้าเป็นลานกว้างมีบ่อน้ำ จัดแสดงพืชพรรณแปลก ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ อย่างแนวกำแพงเฟิร์น เกาะหม้อข้าวหม้อแกงลิง ระเบียงกล้วยไม้สีสันสวยงามแปลกตา จากชั้น ๗  ผมค่อย ๆ เดินวนลงมาเรื่อยๆ ตามระเบียงทางเดินอลูมิเนียมเรียกว่า Cloud Walk ที่ทอดโค้งเลียบเลาะลงมาตามริมหน้าผา ระหว่างทางก็จะมีหมู่มวลบุบผชาตินานาพรรณสะพรั่งบานอยู่ในม่านหมอกสีขาวที่ห่มคลุม ซึ่งหมอกนี้ก็เกิดจากการสร้างขึ้นโดยเครื่องฉีดละอองน้ำที่ติดตั้งไว้เรียงราย ทำงานแบบอัตโนมัติ แต่ก็ทำได้บรรยากาศไม่เลวทีเดียว ดูเผิน ๆ เหมือนกับเดินอยู่ในม่านหมอกจริง ๆ


ลงมาอีกระดับมีจุดชมทิวทัศน์น้ำตกจากด้านบน ทำเป็นระเบียงยื่นออกไปในน้ำตกให้นักท่องเที่ยวได้เดินออกไปสัมผัสกับสายน้ำอย่างใกล้ชิด ถัดลงมาอีกชั้นจะเป็นโถงนิทรรศการถาวร จัดแสดงหินงอกหินย้อยเรียงรายอยู่กลางโถงนับสิบแท่ง มีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ทั้งสีขาวเหมือนน้ำแข็ง สีน้ำตาล  และที่เป็นผลึก พร้อมคำบรรยาย ไม่รู้ว่าไปรวบรวมมาจากที่ไหนเหมือนกัน เพราะสิงคโปร์เองเป็นเกาะ ไม่น่าจะมีภูเขาและถ้ำ (หวังว่าคงไม่ได้แอบไปตัดมาจากถ้ำในประเทศไทยหรอกนะ) 


ลงมาถึงชั้นล่างสุด คือชั้นใต้ดินเป็นห้องฉายวีดิทัศน์สารคดีเรื่อง +5 degree  นำเสนอเรื่องราวที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่านับตั้งแต่ปีนี้ไป อุณหภูมิโลกในแต่ละปี จะเพิ่มขึ้น จนท้ายที่สุดในปีค.ศ. ๒๑๐๐ จะเพิ่มไปถึง ๕ องศาเซลเซียสพอดี  บรรดาพืชและสัตว์ในโลกจะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก  ทำอย่างไรจึงจะลดโลกร้อนได้ ไม่ให้ถึงวันนั้น ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติส่งท้ายให้กับผู้มาเยือน ก่อนที่เดินผ่านสวนหย่อมสู่ทางออก




ออกจากโดมป่าฝน ผมก็เกร่มาเข้าโดมดอกไม้ต่อ แค่ปากทางเข้าก็ตะลึงอีกแล้วครับ เพราะเป็นจอภาพเรียงรายสองฟากฝั่ง แสดงวีดิทัศน์แสดงการแบ่งบานของดอกไม้หลากหลายชนิด น่าตื่นตาด้วยสีสันสดใส  จากนั้นเมื่อเข้าไปภายในก็จะพบกับการจำลองบรรยากาศจากหลากหลายภูมิภาคของโลกทั้งในแบบเมดิเตอร์เรเนียนหรือเขตกึ่งแห้งแล้ง เช่น แอฟริกาใต้ แคลิฟอร์เนีย และบางส่วนของสเปนและอิตาลี 





คนที่ชอบดอกไม้น่าจะชอบมากๆ เพราะสารพัดสารพันดอกไม้แปลกหูแปลกตา ไม่เคยเห็นที่ไหน ในสวนนี้มีเพียบครับ ขนาดผมไม่ค่อยสนใจเรื่องดอกไม้ยังอดชื่นชอบไม่ได้

ภายในโดมแต่ละมุมยังจัดเป็นสวนในรูปแบบต่างๆอีกมากมาย บรรยายไม่ถูกครับ เพราะผมเองไม่ค่อยมีความรู้เรื่องจัดสวนและเรื่องต้นไม้ใบหญ้า จะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงต้องว่าในโดมนี้คล้าย ๆ งานมหกรรมพืชสวนโลก ราชพฤกษ์ ที่เชียงใหม่บ้านเรานั่นแหละ แต่อาณาบริเวณเล็กกว่า




ตรงกึ่งกลางสวนยังจัดสร้างเป็นจุดสำหรับถ่ายภาพบรรยากาศแบบสวนดอกไม้ในฟาร์มชนบท ใช้ผลิตผลในไร่จำพวกข้าวโพด ฟักทอง ฟางข้าวมาประดับประดาทำเป็นตุ๊กตารูปคน รูปกระต่าย กระท่อมสไตล์ชนบทของยุโรป นักท่องเที่ยวชื่นชอบมาถ่ายภาพกันมากครับจุดนี้ โดยเฉพาะวัยรุ่นชาวสิงคโปร์ เห็นมาโพสต์ท่ากันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ

เพลิดเพลินกับสีสันของไม้ดอกไม้ประดับจนลืมเวลา เหลือบมองนาฬิกาข้อมืออีกทีผ่านไปครึ่งค่อนวันไปแล้ว ค่อยมารู้สึกตัวว่าเดินจนแข้งขาปวดเมื่อยไปหมด  นั่นแหละครับผมถึงกลับออกมาพร้อมกับรู้สึกชื่นชมในความพยายามในการสร้างธรรมชาติขึ้นมาในเมืองของชาวสิงคโปร์ ซึ่งประเทศของเขาเปรียบเทียบกับเราไม่ได้เลยในเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติ  

ไม่ต้องเทียบกันกับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศไทยที่มีธรรมชาติสวยงามอยู่มากมายทั้งทะเลหมอก ดอกไม้ น้ำตก หรอกครับ แค่ผมลองนึกเปรียบโดมป่าฝนที่เห็นกับสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เชียงใหม่  หรือจะเทียบโดมดอกไม้กับสวนแม่ฟ้าหลวง ที่เชียงราย ก็จะเห็นว่าห่างชั้นกันอยู่ค่อนข้างมาก  ของเราเหนือกว่าโดยไม่ต้องสงสัยในเรื่องบรรยากาศ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรแท้ ๆ  

เหลือก็เพียงแค่เรื่องจิตสำนึกของคนไทยนั่นแหละครับ ที่จะต้องเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ช่วยกันคอยดูแลรักษาให้มากกว่าที่เป็นอยู่  ดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง เขาไม่มี เขายังพยายามสร้าง ประเทศไทยของเรามีธรรมชาติสวยงามอยู่มากมาย ไม่ต้องไปลงทุนให้สร้างยากลำบากแต่อย่างใด แค่ช่วยกันดูแลรักษาของที่มีให้คงอยู่ ง่ายจะตาย จริงไหมครับ  


คู่มือนักเดินทาง
จากในเมืองเดินทางไปยัง Gardens by the Bay ไดโดยนั่งรถไฟใต้ดินสายวงกลม (Circle line) ไปลงที่หน้าอ่าว จากนั้นเดินเข้าไปที่ Marina Bay Sands  ในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้าขึ้นบันไดเลื่อนขึ้นไปถึงชั้นบนสุด จะมีสะพานลอยซึ่งพาเดินทะลุผ่านเข้าสู่ทางเดินข้ามล็อบบี้ภายในโรงแรม Marina Bay Sands ไปออกยังสะพานลอย ข้ามตรงเข้าไปยัง Gardens by the Bay อีกเส้นทางสำหรับคนที่อยากไปเที่ยว Marina Barrage กับ Bay East ด้วย ให้นั่งรถไฟใต้ดินสายสีแดงไปสถานี Marina Bay แล้วขึ้นมาต่อรถเมล์สาย ๔๐๐ ลงป้ายก่อนสุดท้าย จะเข้าไปพบกับ Visitor center  ค่าเข้าสำหรับนักท่องเที่ยว ๒๘ ดอลล่าร์สิงคโปร์  คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๗๐๐ บาท สำหรับ ๒ ส่วน คือ Cloud forest dome และ Flower dome  ส่วนอื่นฟรี หากจะเดินบน OCBC Skyway ต้องจ่ายเพิ่มอีก ๕ ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือประมาณ ๑๒๕ บาท