วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เที่ยว ๔ ตลาดน้ำเมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ 

              
                “ อุ๊ย ดูนั่นสิ  เหมือนที่เราเคยเล่นสมัยเด็ก ๆ เลย
                
                “ เออ ใช่ อันนั้นก็เหมือนกันนะ จำได้ไหม...

                เสียงอุทานและพูดคุยทำนองนี้ดังมาเข้าหูอยู่เป็นระยะ ในแบบระบบเซอร์ราวนด์ จากทุกทิศทาง ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ขณะผมค่อย ๆ ก้าวเท้าเคลื่อนตามกระแสของกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่ง ไหล ไปตามทางเดินเลียบคลองในตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่สองฟากฝั่งลำน้ำสายแคบ ๆ  เต็มไปด้วยร้านรวงที่เรียงรายเอาไว้ด้วยข้าวของเครื่องใช้ย้อนยุคย้อนสมัย

                ได้ยินบ่อย ๆ ก็อดขำไม่ได้ครับ ที่คนหลาย ๆ คนรู้สึกเหมือนกัน พูดเหมือนกัน โดยไม่ต้องนัดหมาย แล้วก็ยิ่งตลกเข้าไปใหญ่ เมื่อคิดต่อไปอีกว่า ในเมืองกรุงเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย  จะซื้อหาของกินของใช้ก็มีทั้งร้านสะดวกซื้อ มีทั้งห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่แทบทุกมุมเมือง ติดแอร์เย็นสบายอีกต่างหาก แต่คนในเมืองนี่แหละครับ กลับพากันขับรถแห่ออกมานอกเมืองตั้งไกล มาเดินเบียดกันอยู่บนทางเดินแคบ ๆ  ในตลาดน้ำ เพื่อตามหาบางสิ่งบางอย่าง

                เท่าที่มองเห็นเดิน ๆ กันอยู่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นครับ พวกนี้มาตามหาอะไรใหม่ ๆ   อาจเพราะชีวิตเมืองกรุงยุคใหม่สะดวกสบายง่ายดายเกินไป ทำให้เบื่อ เลยต้องมาหาดูหาชมข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนร้านรวงสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มยังสาว ที่ถือเป็นของแปลก เพราะไม่เคยเห็น เกิดไม่ทัน

                 แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งครับ ที่มาตามหามองหาอะไรเก่า ๆ ที่ทำให้รำลึกนึกไปถึงบรรยากาศและวันเวลาที่ผ่านพ้นไป  โดยมากจะอายุอยู่ในช่วงสามสิบปลาย ๆ หรือหลักสี่ขึ้นไป (ไม่อยากบอกเลยว่า รุ่นเดียวกับผมนี่แหละ ) พวกนี้จะมีปฏิกริยากับข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นสมัยก่อนมากกว่ากลุ่มแรก  เห็นอะไรก็จะวี๊ดวิ๊ว กิ๊วก๊าว กันเป็นพิเศษ  คล้ายได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเด็ก ๆ อะไรทำนองนั้น



                   จำไม่ได้เหมือนกันครับว่าตัวผมเองเริ่มรู้สึกหวนคำนึงถึงอดีตตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยความที่ปกติก็ชอบพวกโบราณคดี ประวัติศาสตร์ อะไรเก่าๆ  แก่ ๆ  มานานแล้ว แต่ถ้าอาศัยสังเกตจากคนรอบข้าง ก็คลับคล้ายคลับคลาว่ากระแสความนิยมการท่องเที่ยวในแนวรำลึกความหลังนี่มาแรงเอาประมาณในช่วงปี พ.ศ.  ๒๕๔๖   จากภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน หนังใส ๆ สไตล์กุ๊กกิ๊กแบบเด็ก ๆ  ซึ่งมีทีเด็ดโดนใจใครต่อใครด้วยบรรยากาศในเรื่อง ที่พาคนดูย้อนยุคย้อนสมัย กลับไปในช่วงเวลาเยาว์วัยอันแสนสนุก 

ที่ผมจำได้ดี เพราะตอนนั้นมีเพื่อนผมหลายคน ดูกันคนละหลาย ๆ รอบ แถมโทรมาเล่าให้ฟังอีก เรียกว่าคลั่งไคล้กันมาก  และก็เหมือนกับบังเอิญครับ ที่ตลาดน้ำอัมพวาเองก็มาฟื้นฟูกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันพอดิบพอดี ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันไหมละครับ แต่ที่แน่ ๆ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็หลายปีที่กระแสความนิยมท่องเที่ยวย้อนยุคยังแรง  แถมแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย ไม่ต้องไปนับจังหวัดอื่น ๆ ที่ไหน เฉพาะที่สมุทรสงครามเองนี่ นอกจากตลาดน้ำอัมพวา ตอนนี้ยังมีตลาดน้ำใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายแห่ง

                 หลายวันที่มาเดินเที่ยวในหลาย ๆ ตลาดน้ำ ทำให้พอจะเข้าใจครับ ว่าทำไมตลอดหลายปีกระแสความนิยมถึงไม่ตก ก็เพราะความรู้สึกที่ได้เวลามาเดินตลาดเหล่านี้ มันเหมือนกับได้ขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสมัยยังเด็ก ช่วงเวลาที่มีความสุขสนุกสนาน อารมณ์คล้าย ๆ กับตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน แต่ดีกว่ากันตรงที่อะไรต่อมิอะไรเก่า ๆ ที่เห็นนั้นจับต้องสัมผัสได้

ที่สำคัญคือตัวเราได้เป็นพระเอก ทำอะไรได้ตามใจ อยากกินอะไร อยากซื้ออะไร อยากเล่นอะไร ได้หมด ไม่เหมือนในหนังที่ได้แต่ดูอย่างเดียว (ตรงนี้แหละแจ๋วที่สุด)



ท่าคา ตลาดน้ำอมตะ
               
                 แสงแดดยามเช้าลอดแนวมะพร้าวที่ปกคลุมลงมาเห็นเป็นเส้นสายแสงเงาบนถนน ขณะพาหนะคันเก่งพาผมลัดเลาะผ่านตามทางลดเลี้ยวผ่านท้องร่องเรือกสวนสองฟากฝั่ง มุ่งหน้าสู่ตลาดน้ำท่าคา ที่ถือเป็นตลาดนัดทางน้ำที่เก่าแก่และเป็น “ของแท้  ที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาตลาดน้ำทั้งหลายในประเทศไทย ใครไปใครมาถึงสมุทรสงครามแล้วถือว่าพลาดไม่ได้

                บรรยากาศบนเส้นทางชวนให้นึกถึงสวนบางมดแถวบ้านผมสมัยเด็ก ๆ ที่เคยไปขี่จักรยานเที่ยว ทางคดเคี้ยวผ่านท้องร่องสวนส้ม สวนมะพร้าว แบบนี้แหละครับ เดี๋ยวนี้กลายเป็นตึกแถวบ้านจัดสรรไปหมด แทบไม่เห็นเค้า (แน่ะ รำลึกความหลังอีกจนได้  ชักเริ่มสูงวัยแล้วสิเรา)

                ระหว่างหมุนพวงมาลัยไปตามถนนที่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาซับซ้อนเหมือนเขาวงกตก็คิดเล่น ๆ เรื่อยเปื่อยไปครับว่า ถนนที่คดเคี้ยวของสมุทรสงครามนี่แหละเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดน้ำท่าคายังคงอยู่จนทุกวันนี้  เพราะคนในพื้นที่คงไม่อยากขึ้นมาใช้ถนนที่วกวนจนวิงเวียน  เลยสมัครใจพายเรือไปไหนมาไหนทางน้ำน่าจะสะดวกกว่า อ้าว จริง ๆ นะ ลองสังเกตดูสิครับ ถนนแถวนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงไปตรงมาเหมือนที่อื่นเขาหรอก ผมเองกว่าจะถึงตลาดน้ำท่าคาก็ต้องหายาดมเหมือนกันเพราะเวียนหัว

                 ตลาดน้ำท่าคา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.. ๒๔๘๐ เดิมเรียกกันว่า ตลาดนัดท่าคาเป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และจากจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นชาวไร่ชาวสวนนัดกันพายเรือเอาผลผลิตจากไร่จากสวนของตัวเอง ขนมนมเนย รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้  มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยมีกำหนดนัดหมายกันในวันข้างขึ้นข้างแรม คือ ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๑๒ ค่ำ อันเป็นช่วงน้ำขึ้นมาก เหมาะกับการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยเรือ  ต่อเนื่องกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมเบ็ดเสร็จเป็นเวลาเจ็ดสิบปี ถือว่าเข้าขั้น ตลาดน้ำอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ไปแล้ว

                 แม้แต่ในทุกวันนี้พ่อค้าแม่ขายที่ตลาดนี้ยังคงนัดหมายแบบโบราณครับ โดยยึดข้างขึ้นข้างแรมเหมือนเดิมอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้ว่าช่วงหลัง ๆ  ซึ่งมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา เคยมีความพยายามจะให้ชาวบ้านมาติดตลาดนัดค้าขายกันในวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้รับกับนักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงก็มีเรือมากันหร็อมแหร็ม ไม่ครึกครื้นคึกคักเหมือนวันนัดจริงของชาวบ้านเขา ที่มากันเป็นร้อย ๆ ลำ

ผมเองยังจำได้ดีถึงความรู้สึกที่ได้มาเห็นตลาดน้ำท่าคาครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน บอกได้คำเดียวว่าถึงกับตะลึงครับ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าในใจกลางสวนที่สงบเงียบร่มครึ้มจะมีตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่เนืองแน่นไปด้วยเรือพายน้อยใหญ่ของชาวบ้านในเครื่องแต่งกายแบบชาวบ้านสวนแท้ๆ  มาชุมนุมซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรและข้าวของเครื่องใช้  ตลอดจนอาหารการกินกันนับร้อย ๆ ลำ เป็นที่ครึกครื้น  แน่นขนัดเต็มผืนน้ำในลำคลอง





 คราวนี้ก็ไม่แตกต่างกันครับ โชคดีตรงที่แม้วันที่ผมมานี่จะเป็นวันเสาร์ แต่ก็บังเอิญตรงกับวันนัดของชาวบ้านชนิดแจ็กพอต จอดรถเสร็จสรรพบนลานจอดที่เดี๋ยวนี้ทำไว้อย่างดี เดินเข้าไปอีกนิดหน่อย ถึงริมคลองก็ได้พบกับตลาดน้ำที่เต็มไปด้วยเรือนับร้อยบรรทุกเอาผลหมากรากไม้ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกิน ขนมนมเนยนานาชนิด ลอยลำเป็นแพอยู่เหนือผืนน้ำขวักไขว่ แว่วเสียงทักทาย เสียงเจรจาค้าขาย ดังระเบ็งเซ็งแซ่จนฟังไม่ได้ศัพท์ ดูครึกครื้นน่าสนุก

ความจริงก่อนจะถึงตลาดน้ำท่าคา บนเส้นทางยังมีตลาดน้ำดอนมะโนราอีกแห่ง ติดตลาดนัดวันเดียวกับตลาดน้ำท่าคา แต่เช้ากว่าคือในช่วง๖ -๗โมง ว่ากันว่าคึกคักและบรรยากาศดี ผมเองตั้งใจว่าจะมาแวะดูหลายครั้ง รวมทั้งคราวนี้ จนแล้วจนรอดก็มาไม่เคยทันสักที (เพราะนอนตื่นสาย แหะ แหะ ขอสารภาพ) แต่ไม่เป็นไรครับ มาที่ตลาดน้ำท่าคาก็ถือว่าเหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ไปขายที่ตลาดน้ำดอนมะโนราส่วนใหญ่ก็จะพายมาขายที่ตลาดน้ำท่าคากันต่อแทบทั้งนั้น  จะเรียกว่าเป็นตลาดเดียวกัน แต่อยู่คนละที่ คนละเวลาก็ว่าได้ (งงไหมเนี่ย ) 

ความสุขของการเที่ยวตลาดน้ำคือการได้มาเห็นภาพของวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบไทย ๆ ดูการทำมาค้าขายของชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตามาซื้อของขายของกันอย่างเดียว แต่เป็นการมาพบปะสังสันทน์ โอภาปราศรัย ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ กันไปในตัว  ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเรือบางลำมีข้าวของอยู่ในเรือแค่ไม่กี่อย่าง แต่พายวนเวียนทักทายคนโน้นคนนี้ไปทั่วทั้งตลาด  บางลำก็เอาของมาแลกเปลี่ยนกันอย่างคนที่คุ้นเคย ยกให้กันฟรี ๆ ไปเลยก็ยังมี  เหล่านี้เป็นอะไรที่หาดูไม่ได้ในเมืองใหญ่ ๆ ที่อะไรต่อมิอะไรล้วนแล้วต้องซื้อหาด้วยเงินทองไปแทบทั้งนั้น


นั่งเล่นเฉย ๆ บนศาลาริมฝั่ง ดูเรือที่พายกันไปมาขวักไขว่ก็เพลิดเพลินเจริญใจแล้ว แต่ถ้าจะให้แจ๋วจริงก็ต้องหาของกินมาเป็นกับแกล้มบรรยากาศเสียหน่อยครับ ของอร่อย ๆ ริมตลิ่งของตลาดน้ำท่าคามีเยอะ เหลียวซ้ายแลขวาละลานตาไปหมด  ไม่ว่าจะเป็นของคาวอย่าง ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว  หอยทอด  ก๋วยเตี๋ยวหลอด ก๋วยจั๊บน้ำข้น (แหม คล้องจองกันเชียว)

หันมาหาของหวานก็มีให้เลือกบานตะไท ไม่ว่าจะเป็นขนมหน้าตาคุ้น ๆ เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างขนมครก ขนมใส่ไส้  มิหนำซ้ำยังมีขนมพื้นเมือง ขนมโบราณอีกหลายอย่างที่แม่ค้าบอกแล้วผมจำชื่อไม่ได้ ไม่ใช่เพราะแก่จนอัลไซเมอร์ถามหานะครับ แต่เพราะว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนต่างหาก สารพัดละครับ แต่ละเจ้าจอดเรือเทียบท่าริมตลิ่งให้เลือกซื้อ เลือกชิมตามอัธยาศัย  รสชาติหลากหลายประทับใจทุกอย่าง

ทำเป็นเล่นไปนะครับ ของเขาเยอะจริง ผมเองลองแค่อย่างโน้นนิด อย่างนี้หน่อย กะว่าชิมพอเป็นกระสายยา ชิมไปชิมมาเผลอแผล็บเดียวยังอิ่มจนแทบจุก ลุกขึ้นเดินกลับรถแทบไม่ไหวแน่ะ

 ตลาดน้ำบางน้อย

บางน้อย บางนกแขวก สองตลาดน้ำดาวรุ่ง          
          
ออกจากตลาดน้ำท่าคามาก็ตอนสาย ๆ แดดชักจะเริ่มจัดจ้า แล่นรถผ่านเข้าไปทางตลาดน้ำอัมพวา มองไปยังเงียบสงบไม่มีผู้คน เพราะอัมพวานั้นเขามีแนวคิดทำเป็นตลาดน้ำยามเย็น (เห็นว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยเสียด้วยนะ) ตอนนี้ยามร้อน เอ๊ย สาย ๆ อยู่  เลยยังไม่เปิด ไม่เป็นไรครับ ขับเรื่อยตามทางไป บนเส้นทางนี้ยังมีตลาดน้ำที่เพิ่งเปิดตัวใหม่อยู่อีก ๒ แห่งให้เที่ยว

               ลดเลี้ยวพักหนึ่งก็มาถึงวัดเกาะแก้ว เห็นป้ายชี้ว่าเป็นทางเข้าตลาดน้ำบางน้อยก็เลี้ยวเข้าไปจอด วัดหยุดสุดสัปดาห์อย่างนี้ลานวัดกว้างใหญ่เต็มไปด้วยรถของนักท่องเที่ยวครับ เดินถึงริมตลิ่งหน้าวัดใต้หลังคาโครงเหล็กเรียงรายด้วยร้านค้าร้านอาหารสารพัด ยังมีทางเดินเชื่อมต่อลงไปในน้ำที่ทำเป็นโป๊ะมีหลังคาสำหรับเรือพ่อค้าแม่ขายมาเทียบ  มองไปแลเห็นนักท่องเที่ยวมะรุมมะตุ้มซื้อกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นของกินอาหารจานเดียว จำพวกขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ได้ของแล้วก็นั่งกินกันบนโป๊ะนั่นเอง สบายอารมณ์กันไป    
           
ทอดน่องเลียบตลิ่งต่อไปถึงหัวมุมต่อกับห้องแถวเก่า ถือว่าเข้าเขตตลาดน้ำบางน้อยแท้ ๆ  ละครับ เพราะมีป้ายชื่อตลาดขนาดใหญ่ พร้อมแผนที่ลายเส้นกำกับไว้มุมหนึ่ง บอกตำแหน่งให้รู้ว่าร้านอะไรอยู่ตรงไหน ไอเดียเข้าท่าน่ารักดีเหมือนกัน  


 วามจริงแล้วตลาดน้ำบางน้อยนี่จะว่าเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ก็ไม่ถูกครับ เพราะเป็นตลาดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่  เล่าขานกันว่าแต่เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อนตลาดน้ำบางน้อยเป็นตลาดนัดที่ครึกครื้น มีเรือนับร้อยมาจอดรอในคืนก่อนวันนัด เรียกว่าขายกันข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว โดยตรงหน้าวัดเกาะแก้วนั้นเป็นนัดขายน้ำตาลใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม  ถัดเข้ามาในคลองบางน้อยจะเป็นอาหารการกินและสินค้าอื่นๆ ทั่วไป นั่นเป็นภาพความรุ่งเรืองในอดีตสมัยที่ยังสัญจรกันทางน้ำ

พอมีถนนหนทางเข้ามา การคมนาคมทางเรือรวมทั้งตลาดน้ำก็ซบเซาเลิกราไป เนิ่นนานหลายสิบปีทีเดียวละครับ จนกระทั่งได้อานิสงส์มาจากกระแสความนิยมตลาดน้ำอัมพวา รื้อฟื้นความเป็นตลาดน้ำบางน้อยกันขึ้นมาใหม่ ทำพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อปีก่อน วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๒  นี่เอง 

บนเส้นทางเดินที่เลียบริมคลองบรรยากาศน่าสนใจด้วยห้องแถวไม้เก่าให้อารมณ์คลาสสิค กับร้านรวงที่มีอยู่สองประเภท คือ ร้านดั้งเดิมของคนท้องถิ่นที่อยู่มาแต่ก่อนเก่า กลุ่มนี้จะคงสภาพที่เคยเป็นเอาไว้ ยังไงยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำโชห่วย (ที่เดี๋ยวนี้หาดูยาก เพราะร้านสะดวกซื้อครองเมือง) ก็มีอยู่หลายร้าน ร้านขายเสื้อผ้า รวมทั้งสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่นพิพิธภัณฑ์ไหพันใบตั้งเซียมฮะ โรงพิมพ์ ส. วิจิตรวัฒนา โรงพิมพ์ขนาดเล็กที่สุดในสมุทรสงครามที่เก๋ไก๋ด้วยเครื่องพิมพ์แบบมือโยกอายุกึ่งศตวรรษ ซึ่งยังใช้งานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน



อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นร้านของคนที่มาจากที่อื่น เห็นความแตกต่างได้ชัดจากลักษณะการประยุกต์รูปแบบดั้งเดิม ผสมผสานเข้ากับลูกเล่นสมัยใหม่อย่างมีศิลปะ มีทั้งที่เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ  ที่พักและห้องแสดงงานศิลปะ ขายของที่ระลึก โปสการ์ดพร้อมส่ง  ถือเป็นสีสันใหม่ ๆ  ที่มาช่วยแต่งแต้มให้ตลาดน้ำบางน้อยมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งที่เด่น ๆ  เป็นที่รู้จักได้แก่ บางน้อยคอยรัก สายน้ำฤาจะกั้น นักท่องเที่ยวมักจะแวะเวียนมาถ่ายภาพกันไม่มีเงียบเหงา 

ทีเด็ดอีกอย่างของตลาดน้ำบางน้อย อยู่ที่ของกินแปลก ๆ มากมาย แถมบางอย่างยังไม่เหมือนที่ไหน เช่น โรตีแต้จิ๋วสมัยศิลป์  ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงร้านป้าพูนและร้านสิงห์ทอง  เกี๊ยวกุ้งร้านโอเล่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำมะนาวสูตรโบราณ ผัดไทยน้ำพริกเผา  ข้าวผัดปลาทู  กาแฟโบราณ ฯลฯ แต่ละอย่างดูแล้วน่าอร่อยทั้งนั้น

ทว่าน่าเสียดายครับ ที่ผมเองได้แต่เดินดูแบบผ่าน ๆ อาศัยชิมด้วยสายตา เพราะยังอิ่มแปล้ชนิด “เต็มถัง” มาจากตลาดน้ำท่าคา ต้องฝากเอาไว้ก่อน เก็บเอาไว้คราวหน้า ค่อยหวนกลับมาคิดบัญชีความอร่อยที่พลาดไป แฮ่ม


 ตลาดบางนกแขวกเริ่มฟื้นฟู

          ออกจากตลาดน้ำบางน้อยได้ ก็มุ่งตรงไปยังตลาดน้ำบางนกแขวก ที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกแห่งที่กำลังมาแรง อยู่บนถนนสายเดียวกัน ขับรถผ่านหน้าอาสนวิหารพระแม่บังเกิดที่เห็นยอดแหลมเสียดฟ้า ข้ามสะพานไป เลี้ยวซ้ายก็ถึงแล้ว มีที่จอดรถให้บริการเสร็จสรรพ ค่าจอดคันละ ๑๐ บาท เดินผ่านตรอกแคบ ๆ  ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็นที่ตั้งของโรงยาฝิ่นในอดีต ออกมาก็ถึงแล้ว

                 ทางเดินเล็ก ๆ พาเลียบเลาะผ่านห้องแถวที่ตั้งเรียงรายแนวแม่น้ำ แลเห็นสายน้ำแม่กลองกว้างไกลเวิ้งว้าง ดูแปลกตาไปจากตลาดน้ำแห่งอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ริมคลอง แต่นี่ตัวตลาดกลับอยู่ริมแม่น้ำ ลมพัดโกรกเย็นสบาย

                ว่ากันว่าเมื่อก่อนตลาดบางนกแขวกเป็นศูนย์กลางการค้า ถนนหนทางยังไม่มี ใช้แต่เรือกันอย่างเดียว เป็นแหล่งเรือโยงใหญ่ที่สุดในลำน้ำแม่กลอง เรือผ่านไปผ่านมาเยอะมาก  เพราะเลยจากท่าบางนกแขวกไปก็จะเป็นท่าเรือเทศบาลเมืองราชบุรี  เลยไปอีกก็เป็นท่าม่วง กาญจนบุรี  มีเรือเมล์แล่นผ่านบางนกแขวก ไปราชบุรี ตั้งแต่ตี ๕ ถึง ๕ โมงเย็น ใครไปใครมาก็ต้องแวะตลาดนี้ก่อน เรียกว่าเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางน้ำ การค้าขายก็เลยครึกครื้นมาก


 ภาพอดีตของตลาดน้ำบางนกแขวก


              ตลาดบางนกแขวกมาเริ่มซบเซาในช่วงปีพ.ศ.  ๒๕๓๕  ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับตลาดน้ำแหล่งอื่น ๆ นั่นแหละครับ คือถนนหนทางตัดเข้ามาเดินทางบนบกสะดวกกว่า คนที่เคยสัญจรทางน้ำก็หายไป ปั๊มน้ำมันริมน้ำก็ต้องเลิกกิจการ เรียกว่าตลาดต้องปิดตัวเอง เหลือค้าขายกันไม่กี่ร้าน อยู่กันแบบเงียบเหงา เพราะมีแค่พวกครู พวกข้าราชการ แถว ๆนี้ เข้ามาหาข้าวกินกลางวันซื้อของอะไรบ้างนิดหน่อยเท่านั้น

              กลับมาคึกคักอีกหนเมื่อต้นมีนาฯ ปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา รายการตลาดสดสนามเป้าที่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ มาถ่ายทำเรื่องตลาดเก่าบางนกแขวกออกอากาศ หลังจากนั้นคนก็เริ่มเข้ามาเที่ยวกันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดครึกครื้นขึ้นเป็นลำดับ

             เท่าที่ผมเดินดูกลับไปกลับมาหลายตลบ ตลาดบางนกแขวกแห่งนี้ถือว่ามีครบองค์ประกอบความเป็นตลาดน้ำย้อนยุคละครับ  เพราะตลอดแนวเรียงรายไปด้วยร้านรวงในแบบเก่า ๆ ให้เที่ยวชม  ขนาดของตลาดก็ไม่ใหญ่จนเกินไป ใช้เวลาไม่มากก็เดินได้ทั่วถึงหมดแล้ว





              ที่เด่น ๆ เห็นจะเป็นร้านขายยาแผนโบราณตงซัวฮึ้ง ภายในร้านเต็มไปด้วยตู้ยาโบราณ แต่ปัจจุบันหน้าร้านขายขนมใส่ไส้  อีกร้านที่น่าสนใจคือร้านบางคณฑีพาณิชย์ ที่แม้ร้านจะปิดไปแล้ว มีแต่แผงขายขนมเปี๊ยะโบราณเจ้าอร่อย แต่ปั๊มน้ำมันโบราณสีเหลืองอ๋อยตรงหน้าร้านที่ใช้สำหรับเติมน้ำมันเรือยังคงดึงดูดผู้มาเยือนให้แวะเวียนมาตื่นเต้นถ่ายภาพกัน ด้วยดีกรีความเป็นปั๊มน้ำมันแห่งที่ ๒ ของจังหวัดสมุทรสงครามที่ดูได้จากป้ายทะเบียนโลหะที่ติดอยู่ด้านข้าง เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีถึงความเก๋า
              บนบานประตูของร้านที่ปิดเอาไว้ยังมีโปสเตอร์รูปนักมวยไทย อภิเดช ศิษย์หิรัญ ผู้มีนิวาสถานบ้านเกิดอยู่ที่นี่ สร้างชื่อไว้ในวงการมวยด้วยการคว้าตำแหน่งแชมป์หลายตำแหน่ง ด้วยการเตะที่หนักหน่วง ท่าไม้ตายลูกเตะ ๓ ชั้นที่เตะครั้งเดียวไล่จากก้านคอ ลำตัว  และขาพับ จนได้สมญานาม “จอมเตะจากบางนกแขวก”  



              ใกล้กันยังมีร้านกาแฟเฮงเฮง ร้านเก่าเล่ายี่ห้อ อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ  อายุกว่า ๙๐ ปี (อายุร้านนะครับ ไม่ใช่เจ้าของร้าน) เก่าหรือไม่เก่า ก็มีนักค้าของเก่ามาของซื้อป้ายชื่อร้าน ให้ราคาเป็นหมื่นก็แล้วกัน ตอนนี้นอกจากขายกาแฟ และเครื่องดื่มที่เป็นทีเด็ดของร้านคือโอวัลตินภูเขาไฟ และจ้ำบ๊ะภูเขาไฟ สูตรของเก่าสมัยรุ่นพ่อแล้ว ยังขายก๋วยเตี๋ยวโบราณสูตรราชบุรีและน้ำสมุนไพรเก้าสีอีกด้วย

              พูดถึงของกินแล้วที่ตลาดบางนกแขวกถือว่ามีหลากหลายเหมือนกันครับ มีทั้งผัดไทยกุ้งสด ซาลาเปาขนมจีบปู ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดง ก๋วยเตี๋ยวกะลาโบราณ ขนมจีน แต่ที่แปลกไม่เหมือนที่ไหนก็คือข้าวแห้งไก่ ที่ว่ากันว่ามาจากข้าวต้มไก่เดิม แต่ชาวไร่ชาวสวนแถวนี้ใช้แรงงาน เป็นข้าวต้มน้ำเยอะกินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องกันก็เลยเทน้ำออก ข้าวต้มไก่ก็เลยกลายเป็นข้าวแห้งไก่มาแต่นั้น

             ผมน่ะด้วยความที่มาถึงตอนแรกท้องเริ่มร้องพอดี แถมยังไม่เห็นว่าในตลาดมีของกินมากมาย เห็นใกล้ที่จอดรถมีร้านแป๊ะก๋วยเตี๋ยวปู ดูน่ากิน แถมได้ยินว่าเป็นร้านดัง เลยฟาดเสียเต็มพิกัดไปเสียก่อน เดินเข้ามาในตลาดถึงรู้ว่าพลาดไปถนัดใจ น่าจะขยักเหลือกพื้นที่ในท้องไว้ชิมอย่างอื่นบ้าง เป็นอันว่าต้องลงบัญชีความอร่อยเอาไว้ ชิมด้วยสายตาไปพลาง ๆ ก่อน (อีกแล้ว) 

              ยังดีที่มีร้านค้าอื่น ๆ อีกมากมายหลายร้านให้เดินดูเล่นเพลิน ๆ ไม่ว่าจะเป็นขายของเล่นย้อนยุค ขายเครื่องประดับ ขายของที่ระลึก ฯลฯ สารพัด คนที่ค้าขายอยู่ในตลาดบางนกแขวก แทบทั้งหมดเป็นคนที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่นี่ ยังไม่มีคนนอกเข้ามาลงทุนทำแต่งเติมเสริมอะไรให้ผิดแปลกไปจากเดิมทั้งนั้น เรียกว่าเป็นตลาดที่ยังคงมีความเป็นตลาดน้ำแบบบ้าน ๆ    ให้สัมผัสอยู่มาก

            ไม่เสียเที่ยวที่มา ว่างั้นเถอะครับ อย่างน้อย ๆ ช่วยปะติดปะต่อให้เห็นภาพความเป็นชุมชนของตลาดน้ำสมัยเก่าได้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนมากขึ้น ว่าเขาอยู่กันยังไง



สุดยอดตลาดน้ำยามเย็น “อัมพวา”


ก่อนจะย้อนกลับไปตลาดน้ำอัมพวา ผมถือโอกาสแวะเข้าไปที่ค่ายบางกุ้ง ที่อยู่ไม่ไกล ชื่นชมความแปลกประหลาดของธรรมชาติเสียหน่อย หาไม่ง่ายครับที่ต้นโพธิ์ใหญ่อันเป็นไม้มงคลในพระพุทธศาสนาจะแผ่รากโอบล้อมห่มคลุมโบสถ์เอาไว้ภายใน จนกลายเป็นโบสถ์ปรกโพธิ์ เห็นแล้วก็ให้อัศจรรย์ใจ สมกับที่ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนมาแล้ว วันหยุดอย่างนี้มีนักท่องเที่ยวมาสักการะปิดทอง “หลวงพ่อนิลมณี” พระประธานในโบสถ์มากมาย ก็เลยใช้เวลาไปพอสมควร



แต่ก็กลับมาได้เวลาของตลาดน้ำยามเย็นอัมพวาพอดีครับ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้รถจะติดแถวอัมพวา อุทยาน ร. ๒ เป็นพิเศษ  เพราะหาที่จอดรถยาก ยังดีมีที่จอดรถเอกชนหลายแห่งให้บริการ ค่าบริการก็ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งความห่างจากตัวตลาดไกลหน่อยก็ ๓๐ บาท ใกล้เข้ามาอีกนิดก็ ๔๐ บาท ใกล้ชิดติดกับตลาดน้ำเลยก็แพงหน่อยประมาณ ๕๐ บาท เข้าตลาดมาได้ก็แทบจะไม่ต้องเดินกันละครับ ค่อย ๆ ไหลตามกระแสนักท่องเที่ยวเข้าไป ไม่รู้มาจากไหนกันเยอะแยะไปหมด อย่างว่าแหละ ที่เที่ยวดี ๆ ใครก็อยากจะมาสัมผัสทั้งนั้น



 ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเมื่อราว ๖๐ ปีก่อนถือเป็นตลาดนัดทางน้ำใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม ชะตากรรมของตลาดน้ำอัมพวาในอดีตก็เช่นเดียวกันกับตลาดน้ำอื่น ๆ นั่นก็คือพอถนนหนทางสะดวกมากขึ้น  ย่านการค้าร้านรวงก็ย้ายไปอยู่ตามริมถนนกันหมด ทำเอาอัมพวาซบเซาไปหลายสิบปี

ช่วงยุคตกต่ำของอัมพวาผมเองยังเคยมาเยี่ยมเยือนอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นบ้านเรือนร้านรวงริมน้ำเงียบเหงาไม่ค่อยมีผู้คน คล้ายกับเมืองร้าง เหลือแค่ร้านกาแฟเก่า ๆ กับร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างไม่กี่ร้าน ยังดีที่สภาพของบรรดาสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องริมน้ำทั้งหลายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่ชำรุดทรุดโทรม แต่ขนาดนั้นก็ยังได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี ๒๕๔๕



ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๖  ค่อยมีการดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากให้ชุมชนอัมพวาเก็บรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้เอาไว้ โดยในครั้งนั้นคุณป้าประยงค์ นาคะวรังค์ ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้บริจาคที่ดินพร้อมห้องแถวไม้ริมคลอง ๓๑ คูหา ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา 

ห้องแถวเหล่านี้ทางมูลนิธิฯ ได้นำมาปรับปรุงทำเป็นสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอัมพวาแต่เดิม พร้อมทั้งมีร้านค้าของที่ระลึก และร้านอาหารชานชาลาให้บริการนักท่องเที่ยว  โดยในส่วนที่ดินด้านหลังได้จัดให้เป็นลานวัฒนธรรมนาคะวรังค์ สำหรับขายของแบบตลาดนัดและจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม  ในสไตล์ย้อนยุคกลมกลืนกับอาคาร




  ล่าสุดพื้นที่ชุมชนริมคลองอัมพวาก็เพิ่งจะได้รับรางวัล “UNESCO Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation” ระดับ Honorable Mention จากองค์การ UNESCO ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ที่ผ่านมา ซึ่งหลักเกณฑ์รางวัลที่ทางยูเนสโกจัดขึ้นนั้นไม่ธรรมดานะครับ เพราะกำหนดไว้ว่าอาคารที่เข้าประกวดจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า๕๐ ปี แถมหลังจากที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้วจะต้องมีการใช้งานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีอีกด้วย   จัดพิธีรับมอบรางวัลไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี




                ในอัมพวายังมีสิ่งที่เป็นระดับโลกอีกอย่าง นั่นก็คือบ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน ในห้องแถวไม้๒ คูหา ใกล้กับสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวรวมทั้งจำหน่ายแผ่นซีดีผลงาน ของครูเอื้อผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งล่าสุดองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ ยกย่องให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากลในปี ๒๕๕๓  (Personality of the Year 2010 ) โดยครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓  

               ถึงปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนานพอดิบพอดี เดินผ่านก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมกันครับ ผมเองเข้าไปเดินดูยังเพลิดเพลินอยู่เป็นนานสองนาน




แดดร่มลมตกแว่วเสียงเพลงเก่าที่เขาตั้งคอมพิวเตอร์บนระเบียงริมน้ำ ให้นักร้องรุ่นเก๋าและผู้สมัครใจมาร้องเพลงขับกล่อมตลาดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงโบราณยุคสุนทราภรณ์  ฟังแล้วก็เข้าบรรยากาศดี แต่เดินไปเดินมาชักเริ่มหิวแล้วสิครับ แต่สบายใจได้เรื่องนี้ อาหารที่ขายในตลาดน้ำอัมพวามีมากมายหลากหลายรูปแบบ

ถ้าจะให้ได้บรรยากาศตลาดน้ำ ก็ต้องเลือกกินจากที่ขายในเรือ ซึ่งก็มีอาหารมากมายให้เลือก คนขายก็มีอยู่มากมายหลายสิบเจ้า พายเรือมาจอดริมตลิ่ง นำเสนอสารพัดอาหารเลิศรสให้เลือกชิมถึงที่ในราคาแสนถูกมีทั้งที่ นั่งกินริมตลิ่งแบบง่าย ๆ ไปจนถึงตั้งโต๊ะริมน้ำเรียงรายไปตามขั้นบันไดให้นั่งกินกัน หรือชอบหรูหราเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาหน่อยก็จะมีที่ทำเป็นร้าน จัดบรรยากาศอย่างดี(ส่วนใหญ่ก็สไตล์ย้อนยุคนั่นแหละ) เช่น ร้านกำปั่น  ร้านภวัตส้มตำไก่ย่าง ฯลฯราคาก็จะสูงขึ้นมาอีกนิด 

         อิ่มแล้วจะต่อด้วยกาแฟหรือเครื่องดื่มก็มีอีกมากมายให้เลือกครับ เช่นร้านกาญจนาพานิช  อัมพวาริมระเบียง สมานการค้า โอ๊ย เยอะครับ จาระไนไม่หมดหรอก ตองเดินเลือกดูเอาเองว่าถูกใจร้านไหน


แต่อิ่มแล้วผมสมัครใจเดินเที่ยวดูข้าวของที่วางขายมากกว่า เพราะนี่ก็เป็นความสนุกอีกอย่างของการมาเดินเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา แผงลอยตลอดจนร้านรวงบนสองฟากทาง เครื่องใช้ย้อนยุค ของเล่นสมัยเก่าถูกขนเอามาวางขายเรียงรายตามร้านละลานตา ของพวกนี้ไม่รู้เป็นไงครับ เห็นแล้วนึกถึงความหลังขึ้นมาทุกที ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ คนอื่น ๆ ก็เห็นเป็นเหมือนกัน ก็อย่างที่บอกแหละ เดินผ่านไปผ่านมาก็ฮือฮากันไปตลอดทาง

ที่ดูจะโดนใจผมและใคร ๆ มากเป็นพิเศษเห็นจะเป็นจำพวกของเล่นสังกะสี ที่ทำเลียนแบบของเก่ามา ว่ากันตามจริงแล้วแม้ว่าจะไม่เหมือนของเก่าเสียทีเดียวด้วยขนาดและสีสันที่แตกต่างอย่างรู้สึกได้  แต่ความคล้ายคลึงก็ช่วยให้หลายต่อหลายคนคน รวมทั้งผม ควักกระเป๋าซื้อเอากลับบ้าน อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้นึกความสนุกในวัยเยาว์ได้เหมือนกัน

ฟ้าเริ่มมืด แสงไฟจากร้านรวงทั่วตลาดน้ำสว่างไสว แสงไฟหลากสีสันสะท้อนลงบนสายน้ำ ยิ่งทำให้แลดูคล้ายโลกในความฝันมากขึ้น ช่วงหนึ่งทุ่มเป็นต้นไปตามท่าเรือต่าง ๆ จะมีบริการพาล่องเรือไปชมหิ่งห้อยกัน ผมไปยืนชมแสงสุดท้ายอยู่บนสะพานข้ามคลอง ช่วงนี้ก็จะเห็นเรือที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวแล่นเข้าแล่นออกกัน

 จากมุมสูงยังเห็นความเคลื่อนไหวของใครต่อใคร แต่ละคนก็มีโลกส่วนตัว บ้างก็กำลังคุยสนุกกับเพื่อนกลุ่มใหญ่อยู่ในร้านอาหารริมน้ำ บ้างก็นั่งสวีตกับแฟนเงียบ ๆ ในมุมของบ้านพักที่ให้บริการนักท่องเที่ยว บ้างก็ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันไฟแฟลชแว๊บวับ

อดีตจริง ๆ นั้นผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่มีวันหวนกลับ แต่อดีตที่ตลาดน้ำสมุทรสงครามนี่ ไม่เป็นเช่นนั้นครับ ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เราสามารถย้อนกลับมาสัมผัสชื่นชมใหม่ได้ทุกเมื่อที่ใจต้องการ


ขอขอบคุณ  คุณณรงค์ ทรงสายชลชัย คุณสมหมาย ไพศาลศิลปชัย คุณจิตรา ตันติเดชามงคล และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยให้การจัดทำสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง
ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ รศ .  “ประสบการณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมพื้นที่ริมคลองอัมพวา วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.หน้า ๕๒-๖๕. ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙.


คู่มือนักเดินทาง  
               

ตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕   ไปเลี้ยวขวาที่กิโลเมตร ๖๓   เข้าตัวจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ (ทางเดียวกับที่ไปอำเภอดำเนินสะดวก) ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร หรือเลยจากทางแยกเข้าอำเภออัมพวาไปประมาณ ๔ กิโลเมตร แยกขวามือมีป้ายบอกตลาดน้ำท่าค่าและป้ายชี้บอกตลอดทาง แล่นเข้าไปอีกประมาณ ๕ กิโลเมตรก็จะถึงตัวตลาดน้ำท่าคา

กรณีไม่มีรถส่วนตัว โดยสารรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก  มาลงที่สมทรสงครามจากตัวจังหวัดมีบริการรถประจำทางสายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ออกทุก ๒๐ นาที ขึ้นรถได้ที่คิวหน้าธนาคารทหารไทย ปลายทางตลาดน้ำท่าคา ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อบต. ท่าคา โทรศัพท์ ๐ ๓๔๗๖ ๖๒๐๘
             ตลาดน้ำบางน้อย ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางน้อย (วัดเกาะแก้ว) ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ออกจากตลาดน้ำท่าคาเลี้ยวขวามาเข้า ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอัมพวา-บางนกแขวกอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็จะถึงตลาดน้ำบางน้อย  กรณีไม่มีรถส่วนตัวมีรถตู้บริการจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงแม่กลอง จากนั้นต่อรถสาย ๓๓๓ ไปถึงตลาดน้ำบางน้อย
                
               ตลาดน้ำบางนกแขวก ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ใช้ถนนสายอัมพวา-บางนกแขวก ผ่านหน้าอาสนวิหารพระแม่บังเกิด ข้ามสะพานไป ๑๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายถึงที่จอดรถตลาดน้ำบางนกแขวก รถไฟ ขึ้นจากสถานีวงเวียนใหญ่ มาลงสถานีมหาชัย นั่งเรือข้ามฟากมายังฝั่งท่าฉลอม แล้วขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านแหลมมาลงสถานีแม่กลอง ต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก รถตู้ ขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หมอชิต ปิ่นเกล้า ตลาดบางปะแก้ว และบางนา ไปถึงแม่กลอง แล้วต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก


ตลาดน้ำอัมพวา ตั้งอยู่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนที่ไปอุทยาน ร. ๒ ถึงตลาดน้ำที่อยู่ติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตามรอยเหมืองแร่ จากภูเก็ตสู่ตะกั่วป่า

 ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต
 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ

หลายปีก่อนภาพยนตร์ไทยเรื่อง มหาลัยเหมืองแร่สร้างชื่อเป็นที่ฮือฮาในวงการ 

ตอนนั้นผมเองเคยได้ยินมาแว่ว ๆ ไม่ได้ดูกับเขาหรอกครับ  ด้วยความที่ไม่ค่อยมีเวลา ขนาดเขาโฆษณาหนักหนาว่าเป็นหนังดีที่คนไทยไม่ควรพลาด ก็อุตส่าห์พลาดจนได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยแท้ ๆ นี่แหละ  

ยังดีมีโอกาสได้ดูทีหลังหนังออกจากโรงไปหลายปี  เพราะบังเอิญไปเจอเอาวีซีดีเลหลัง ขายลดราคาอยู่ ก็เลยซื้อมา (อย่างน้อยจะได้ไม่เสียทีที่เป็นคนไทยดูแล้วก็เข้าใจละครับว่าทำไมถึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของใครต่อใคร  หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมเหมือนถูกพาย้อนอดีต เข้าไปอยู่ในยุคสมัยที่การทำเหมืองแร่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู  ได้มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเหมืองกันอย่างใกล้ชิด  จนแทบจะรู้สึกว่าได้ไปลงมือทำเหมืองแร่เองเลยด้วยซ้ำไป เรียกว่าเป็นหนังที่ได้บรรยากาศจริง ๆ

  คงปฏิเสธไม่ได้ละครับ ว่าหนังเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจได้ไม่น้อย ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ที่ ยังไม่เคยดู ผมก็คงไม่สนใจจะอยากไปเที่ยว ไปดู อะไรที่เกี่ยวกับเหมืองแร่หรอก  เพราะในชีวิตไม่เคยมีอะไรเกี่ยวข้อง  นึกภาพไม่ออกว่าจะน่าสนุกตรงไหน ขนาดผ่านไปผ่านมาแถว ๆ แหล่งเหมืองแร่เก่าหลายครั้ง ยังไม่เคยคิดแม้แต่จะเหลียวมองด้วยซ้ำไป

แต่พอรู้จักความเป็นเหมืองแร่จากในหนัง  ก็ทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจขึ้นมาบ้าง เริ่มอยากรู้ อยากดู อยากเห็นขึ้นมาตั้งเป็นพะเรอเกวียน

สถานร้อยเรื่องเหมืองแร่

            จะว่าไปก็เป็นเรื่องบังเอิญครับ เพราะผมเองเพิ่งได้ข่าวจากเพื่อนเก่าเล่ายี่ห้อคอเดียวกันเมื่อไม่นานนี้ว่ามีการสร้างพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ รวบรวมเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่โดยเฉพาะขึ้นมาที่ภูเก็ต แม้ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่มีการเชิญสื่อมวลชนและผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเข้าชมไปบ้างแล้ว ช่างประจวบเหมาะดีเหลือเกิน

            งานนี้พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต ก็เลยกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกที่ผมจะต้องมุ่งหน้าไปครับ เพราะคงไม่มีแหล่งไหนที่จะช่วยให้รู้จักและเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับเหมืองแร่อย่างครบวงจรได้ดีเท่าที่นี่อีกแล้วละ

            แต่ด้วยความที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เอี่ยม ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก  ทำเอาผมต้องขับรถไป โทรศัพท์ถามทางจากทางนครภูเก็ตไป มะงุมมะงาหราหลงไปหลงมาอยู่นานพอสมควร จนอ่อนอกอ่อนใจ ทว่าในท้ายที่สุดก็หาเจอจนได้ อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสขนาดใหญ่สีโอลด์โรสตัดด้วยสีขาว โดดเด่นอยู่ใจกลางหุบเขาแลเห็นชัดเจนแต่ไกลเชียวละครับ

             พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่นี่ดูตามแผ่นพับที่รับแจกมา เขาว่าสร้างขึ้นตามแนวความคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ชุมชนของตำบลกระทู้ ซึ่งในอดีตภูเก็ตเป็นแหล่งแร่ดีบุกสำคัญ เริ่มมีการทำเหมืองแร่กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณพ.. ๒๐๖๙ (.. ๑๕๒๖) โน่นแน่ะ ก่อนจะมีฝรั่งเศสมาตั้งบริษัทซื้อดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.. ๒๒๒๘ (.. ๑๖๘๖) เรียกว่าทำกันมานานเป็นร้อย ๆ ปี แม้ในปัจจุบันก็ยังหลงเหลือร่องรอยของขุมเหมืองโบราณอยู่ทั่วไป

            เตร็ดเตร่ดูด้านนอกอาคาร อลังการงานสร้างเชียวครับ  ด้านหนึ่งของภูเขาจัดสร้างเป็นขุมเหมืองเสมือนเหมืองแร่ของจริงทุกประการ มองไปจะเห็นหน้าผาเหมืองแร่ ที่มีโครงสร้างของราง แร่สูงลิบ ลาดเทลงมาเป็นแนวยาว ตกแต่งประดับประดาด้วยพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามเหมืองร้างอย่าง ราชินีเหมือง สามร้อยยอด และหม้อข้าวหม้อแกงลิง เห็นแล้วก็ต้องทึ่งว่าทำได้ยังไง เหมือนซะขนาดนี้

            มารู้ทีหลังว่าบริเวณผาเหมืองที่เห็นนั่นน่ะ ของแท้”  ครับ เพราะเป็นเหมืองแร่เก่าจริง ๆ ทั้งหมด มีของใหม่แค่เฉพาะโครงสร้างของรางเหมืองที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมดานะเนี่ย หายากเต็มทีสำหรับพิพิธภัณฑ์อยู่ในสถานที่จริง 

            เดินเข้าไปด้านในอาคารชิโนโปรตุกีสซึ่งอลังการด้วยซุ้มโค้งและลวดลายปูนปั้น มีชื่ออย่างเก๋ไก๋ว่า อั้งหมอเหลานายหัวเหมือง“  ตัวอาคารสร้างล้อมรอบลานกว้างอย่างที่เรียกว่า  จิ่มแจ้เอาไว้ตรงกลาง  ริมลานด้านหนึ่งเห็นถังสีเงินวาววับวางเรียงรายอยู่เป็นแถว สอบถามได้ความว่าเป็นลูกเชอตักดินของเรือขุดแร่ แต่ไม่ใช่ของจริง เป็นของจำลองทำด้วยไฟเบอร์กลาส สำหรับใช้เข้าฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่องมหาลัยเหมืองแร่

            ผมไปยืนพิจารณารถลากทำด้วยไม้ตั้งเด่นสะดุดตาอยู่ด้านหน้าทางเข้า

            นี่เขาเรียกว่า หลั่งเซียะ หรือรถลาก ลองนั่งได้ ทางพิพิธภัณฑ์เราอยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้ลองนั่ง สัมผัสกับยานพาหนะจริง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบอกเล่าก่อนเดินนำหน้าพาเข้าไปชมด้านใน

            ห้องจัดแสดงห้องแรกชื่อว่าโปท้อง หง่อก่ากี่  ชินวิถี อัญมณีนายหัวเหมือง เข้าประตูไปก็เจอกับรถโดยสารไม้ท้องถิ่นของเมืองภูเก็ต ฉากหลังเป็นภาพวาดตึกเก่า วาดเอาไว้ได้เหมือนจริงมาก ภาพหง่อก่ากี่มุมหนึ่ง แสงเงาดีเหมือนจะเดินทะลุเข้าไปได้

            หง่อก่ากี่หรืออาเขต แสดงถึงไมตรีจิตของเจ้าของบ้าน ซึ่งภาคใต้เป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ ฝนตกบ่อย แต่ละบ้านก็เลยทำทางเดินมีหลังคาคุ้มฝนให้ผู้มาเยือนเดินได้สะดวก ไม่เปียกฝน

           เดินผ่านซุ้มประตูบ้านที่ตกแต่งอย่างอลังการเข้าสู่ห้องซึ่งจัดในลักษณะห้องรับแขกของบ้านเศรษฐีภูเก็ต มุมหนึ่งวางโต๊ะชุดรับแขกไม้ลายมุก พร้อมป้านน้ำชาบนโต๊ะ ให้นั่งได้จริง ดื่มได้จริง เหมือนเป็นอาคันตุกะผู้มาเยือนจริง ๆ  บนผนังมีภาพถ่ายสมัยเก่าของเมืองภูเก็ต ติดเอาไว้เรียงราย  พร้อมตู้จัดแสดงของมีค่า ทั้งอัญมณีชนิดต่าง ๆ  ธนบัตรหลากราคาหลายยุคหลายสมัย 

รายละเอียดของสิ่งของในห้องนี้มีมากมายก่ายกองครับ ถ้ามาเดินดูกันเองก็คงเฉย ๆ เพราะไม่รู้อะไรเป็นอะไร แต่พอได้วิทยากรที่มีความรู้มาช่วยชี้ชวนชมดู บรรยายเกร็ดยิบย่อย รายละเอียดประวัติความเป็นมา สิ่งละอันพันละน้อย กลับทำให้สนุกสนานน่าสนใจ เพลิดเพลินจนหมดเวลาไปเป็นชั่วโมงแบบไม่รู้ตัว (อยากรู้ว่าสนุกแค่ไหน คงต้องให้ลองมาฟังเอาเอง เล่าหมดคงไม่ไหว )
ผ่านห้องแรกมาจะรู้สึกว่าเข้าใจในวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในภูเก็ตขึ้นมาอีกโขเลยละครับ

         ถัดไปอีกห้องชื่อว่า เรืองดารากร ห้องนี้บอกได้คำเดียวว่า หลุดโลก”  เพราะออกไปนอกโลกกันเลย บนผนังวาดภาพทำเป็นห้วงจักรวาล เป็นอวกาศ มุมหนึ่งเป็นลูกโลก อธิบายถึงระบบสุริยะจักรวาล กำเนิดโลก กำเนิดแร่ กำเนิดชีวิต ไดโนเสาร์ มุดอุโมงค์ข้าง ๆ โลกเข้ามาอีกหน่อย เจอกับถ้ำหิน หุ่นรูปมนุษย์วานรตัวใหญ่ขนดำปุกปุยนั่งหน้าตาบ๊องแบ๊วอยู่ ตรงนี้เล่าเรื่องราวการกำเนิดมนุษย์  จนถึงเริ่มรู้จักใช้ไฟ เอามาหลอมแร่ทำเครื่องมือ สำริด เหล็ก (ชักจะมีเรื่องเกี่ยวกับแร่เข้ามานิด ๆ แล้ว)

เข้าเรื่องเหมืองแร่กันเต็ม ๆ ก็ในห้องต่อมาครับ  สายแร่แห่งชีวิต ถือเป็นทีเด็ดของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ก็ว่าได้ ภายในห้องจัดทำหุ่นจำลองให้เห็นถึงความเป็นเหมืองแร่อย่างเป็นตัวเป็นตนกันจริง ๆ เลย ไล่เรียงตามพัฒนาการของเหมืองแร่ที่แบ่งเป็น ๒ ยุคใหญ่ ๆ คือยุคใช้แรงงานคนเป็นหลักกับยุคใช้เงินทุนและเครื่องจักรเป็นหลัก มีเหมืองทั้งหมด ๕ รูปแบบ

          เดินเข้ามาจะเจอกับโพรงดินที่มีหุ่นขนาดเท่าคนจริงกำลังใช้เสียมขุดผนังโพรงอย่างตั้งอกตั้งใจ พร้อมอุปกรณ์ จอบ ปุ้งกี๋ วางเรียงราย  คือแบบจำลองของเหมืองรู หรือถ่อข้างที่นิยมทำตามพื้นที่ราบและชายเขา โดยขุดรูทำเป็นปล่องเข้าไปในชั้นดินและหินผุ ไปตามสายแร่ดีบุก ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ใช้ไม้ค้ำยันไม่ให้หลุมพังทลาย ใช้คนลงไปขุด แล้วขนหินดินทรายปนแร่ ใส่ปุ้งกี๋ส่งขึ้นมาเพื่อล้างหาแร่ในขั้นต่อไป 

      “ปุ้งกี๋หวาย ปุ้งกี๋ไม้ไผ่สานเดี๋ยวนี้หาแทบไม่ได้แล้ว เป็นพลาสติกไปหมด ตอนทำแบบจำลองนี้ ต้องไปหาซื้ออยู่เป็นเดือน ๆ กว่าจะได้”

           แบบที่สอง อยู่ตรงข้ามกันถัดมา หุ่นรูปคนสองคนกำลังขุดดินคนหนึ่ง หาบคนหนึ่ง ริมรางทางน้ำไหลยังมีอีกคนกำลังร่อนแร่อยู่ คือแบบจำลองของเหมืองแล่น หรือ ซ้านซั้วที่ใช้แรงงานคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ขุดดินและหินตามภูเขาให้ทลายไหลไปตามรางดินที่ขุดเป็นทางน้ำไหล แร่จะตกอยู่ในท้องรางในขณะที่ดินหิน ทรายก็จะไหลตามน้ำไป ผมชอบใจแบบจำลองอันนี้เป็นพิเศษ  เพราะตรงทางน้ำ มีสายน้ำไหลจริง ๆ เสียด้วย สมจริงสมจัง

          ถัดมาเป็นแบบที่สาม จะเห็นแบบจำลองย่อส่วน เป็นขุมเหมืองที่มีสะพานทางเดินไม้ รางกู้แร่เรียงรายระเกะระกะ กับคนงานนับหลายสิบ บ้างขุด บ้างหาบหาม คือเหมืองหาบ หรือเบ่งหลองเป็นเหมืองขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินทุนจำนวนมาก และต้องใช้กำลังคนมากอย่างน้อย ๑๐๐ คนขึ้นไปขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขุดลอกดินที่ไม่มีแร่ออกทิ้งไป จนถึงชั้นกะสะหรือชั้นกรวดทรายหยาบดินเหนียวปนแร่ดีบุกและเพื่อนแร่ แล้วถึงทำการขุดกะสะ ขนลำเลียงด้วยปุ้งกี๋ส่งต่อไปเป็นทอด ๆ ไปยังรางกู้แร่ เป็นแบบเดียวกับเหมืองแร่ที่ด้านนอกพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
  
เดินต่อมาอีกหน่อยจะพบกับหุ่นชายพุงพลุ้ยสวมหมวกกะโล่ ยืนอยู่กับสิ่งที่รูปร่างหน้าตาคล้ายปืนใหญ่ แต่ไม่ใช่ครับ มันคือหัวฉีดน้ำที่ใช้ในการทำ เหมืองฉีด ซึ่งใช้พลังน้ำในการทลายหน้าดินลงมา แล้วสูบขึ้นบนรางกู้แร่ จากนั้นจึงใช้แรงงานคนประมาณ ๑๕-๒๐ คนมาทำการกู้แร่ไปล้างทำความสะอาด พอมีเครื่องทุ่นแรงแล้วก็เลยใช้คนน้อยลง (แต่คงต้องใช้สตางค์มากขึ้นแน่ ๆ )

         มาสุดทางตรงสิ่งที่หน้าตาคล้าย ๆ กับโรงงานตระหง่านอยู่มุมหนึ่งของห้อง ด้านหน้ามีรางใหญ่ที่มีลูกเชอตักดินลดหลั่นกัน เป็นแบบจำลองของเหมืองรูปแบบสุดท้ายคือเหมืองเรือขุด หรือเชี้ยะบี้จุ๋นครับ ที่เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นในอ่าวทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต ในปีพ.. ๒๔๕๐ (.. ๑๙๐๗) ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยกัปตัน เอ็ดเวิร์ด ที ไมลส์ ได้ตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ขึ้น ถือเป็นเรือขุดแร่ในทะเลลำแรกของโลก (โปรดสังเกต ระดับโลกนะครับ ภูเก็ตเรา ไม่ธรรมดา)

         เหมืองเรือขุดใช้ในที่ราบลานแร่ขนาดใหญ่ ทั้งในบนบกและในทะเล โดยจะใช้ลูกเชอตักดินซึ่งยึดไว้กับบันไดขุดแร่ที่ปรับขึ้นลงได้  ขุดดินกรวดทรายปนแร่  เทลงในที่รับทางปลายบันได ปล่อยไหลลงไปตามรางตะแกรง แล้วหมุนไปเข้าจิ๊กกู้แร่ เพื่อแยกแร่ออกจากดินและกรวดทราย ก่อนจะนำไปล้างทำความสะอาด

        มาถึงตรงนี้เป็นอันครบถ้วนกระบวนความเหมืองแร่ทั้ง ๕ ชนิด
 เดินต่อไปเข้าสู่ห้องนิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ  ในห้องเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการถลุงแร่ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปดีบุก และการแปรรูปแร่ ไม่ค่อยมีอะไรตื่นเต้นครับ ห้องนี้ บรรยากาศขรึม ๆ ทึม ๆ คล้ายกับโรงงาน ถือเป็นการสรุปขั้นตอนสุดท้ายคือนำแร่ไปใช้

          แต่ไม่หมดแค่นั้นครับ ยังมีอีก ก้าวเท้าเข้าไปอีกห้อง ฉลาดนาวาชีวิต ลิขิตปรัชญ์สืบสาน ดุ่มเดินตามสะพานโป๊ะทอดยาวฉากหลังวาดเป็นท่าเรือจำลอง เข้าไปในเรือ ใช่แล้วครับ ห้องนี้นำเสนอการติดต่อค้าขายทางทะเลด้วยเรือสำเภา ความเป็นมาว่าเดินทางกันมาอย่างไร สภาพความเป็นอยู่ภายในเรือระหว่างเดินทางว่ายากลำบากขนาดไหน สรุปง่าย ๆ ก็คือเรื่องราววิถีชีวิตและการย้ายถิ่นฐานของชาวจีน เข้ามาแสวงโชคทำมาหากินบนเกาะภูเก็ตในยุคแรกนั่นแหละครับ เดินผ่านเข้าไปในท้องเรือสำเภายังเห็นหุ่นชาวจีนนอนแอ้งแม้งอยู่ท่ามกลางหมู่กระสอบ ออกแนวหนังชีวิตนิดหน่อย

         ห้องต่อไปก็คล้าย ๆ กัน บันซ้านบางเหนียว เก่วเกี้ยวในทู อุปรากรจีน หนังตะลุง หลงผิดเสพ เทพาภรณ์ (ชื่อยาวชมัด)  เล่าเรื่องราวรูปแบบวิถีชีวิตชาวจีนในยุคเหมืองแร่เจริญรุ่งเรืองไว้อย่างน่าดูชม โดยจำลองเอาบรรยากาศในตลาดบางเหนียว-ในทูสมัยก่อนเอามาครบครันสองฟากทางเดินแวดล้อมด้วยร้านโกปีเตี๊ยม(ร้านกาแฟ ) ร้านขนมจีน ศาลเจ้า โรงงิ้ว โรงฝิ่น ร้านขายยาจีน โรงกลึง และบ้านชาวกระทู้ เข้ามาในห้องนี้แล้วได้อารมณ์คล้าย ๆ ไปเที่ยวย่านตลาดเก่ายังไงยังงั้นเลยละครับ ไม่เหมือนก็ตรงไม่มีอะไรให้ซื้อกินเท่านั้น (ชักเริ่มหิวขึ้นมาตามบรรยากาศ)

        ตบท้ายที่ คหปตนินท์ บาบ๋าสินสมรส ฉายาบทนฤมิตร ภาพกิจปฐมเหตุ ห้องสุดท้ายที่ชื่อยาวไม่แพ้กัน เสนอวัฒนธรรมบาบ๋า ด้วยรูปปั้นคู่บ่าวสาวในชุดเต็มยศ ในบรรยากาศคฤหาสน์ของคหบดี ยังจัดแสดงรูปภาพเก่า ๆ จดหมาย เอกสารเกี่ยวกับเหมืองแร่ นามสกุลในมณฑลภูเก็จ แผนที่ประทานบัตร และอาชญาบัตรเหมืองแร่ไว้ เป็นการสรุปถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและภาพชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ของผู้คนในยุคเหมืองแร่ 

       แต่ที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายน่าจะชื่นชอบที่สุดก็เห็นจะเป็น ร้านถ่ายรูปพร้อมฉากหลังแบบย้อนยุค ไม่ต้องไปว่าใครหรอกครับ ผมเองนี่แหละ ยังแอบไปโพสต์ท่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอยู่เลย

      ก่อนกลับแวะเข้าไปสังเกตการณ์ในห้อง วรรณวิเศษปัญญภูมิ  ที่บังเอิญเดินผ่าน ปรากฏว่าเป็นภายในเป็นห้องสมุดเฉพาะด้านเกี่ยวกับเหมืองแร่ วิถีชีวิตชาวเหมืองและวัฒนธรรมท้องถิ่นครับ ติดแอร์เย็นฉ่ำ น่านอน เอ๊ย น่าเข้ามานั่งอ่านจริงๆ  บนชั้นหนังสือที่เรียงรายเป็นตับรวมรวมข้อมูลต่าง ๆ  ทั้งหนังสือ วารสาร นิตยสาร ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ทุกชนิด และประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ทั้งของท้องถิ่นภูเก็ตและอาณาบริเวณใกล้เคียงที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงตัวอย่างแร่ ฟอสซิล ให้ดูให้ศึกษา เรียกว่าเปิดกว้างให้ผู้สนใจได้มาศึกษาค้นคว้ากันได้อย่างเต็มที่

         พูดได้เต็มปากเลยละครับว่านอกจากหนังเรื่องมหาลัยเหมืองแร่แล้ว พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต ถือเป็นอีกสถานที่ซึ่งคนที่สนใจเรื่องเหมืองแร่ควรจะมาดูมาชม ไม่เพียงได้ความรู้ ยังจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยด้วย เพราะที่นี่เขาถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในโลกเชียวนะครับ จะบอกให้

คืนชีวิตชีวานครหลวงแห่งเหมืองแร่  

      “ตะกั่วป่าสมัยหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของดีบุก” 

        เป็นคำบอกเล่าในวงสนทนา ณ ร้านกาแฟมุมน้ำเงิน ริมถนนในเมืองเก่าตะกั่วป่า จากคุณเฉลิมชาติ เจนเจนประเสริฐ หรือคุณจั่นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ที่นัดหมายผมเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศของเมืองยุคเหมืองแร่แห่งนี้ ในช่วงยามสาย ๆ ของวันหนึ่ง

        “แถบตะกั่วป่านี้มีเหมืองแร่อยู่เป็นร้อยแห่ง เหมืองแถว ๆ ตะกั่วป่า ถลาง เป็นศูนย์กลางของการทำเหมืองแร่อยู่ ๒๐๐-๓๐๐ ปี ก่อนภูเก็ตเยอะ ได้แร่มาก็ส่งต่อไปลงเรือที่ท่าเรือสะพานหิน ที่ภูเก็ต ทำให้ต่อมาภูเก็ตเจริญกลายเป็นเมืองใหญ่ “ คุณวิระ ตันวานิช  หรือโกระประธานชมรมถนนวัฒนธรรม อดีตสมาชิกสภาเทศบาล และอดีตนายหัวเหมืองแร่ ช่วยขยายความ

       “เหมืองแร่ที่ทำที่ตะกั่วป่าก็มีทั้งเหมืองบก ที่เรียกว่าเหมืองฉีด แล้วก็มีแบบเรือขุด เรียกว่าเรือขุดแต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรือนะ หน้าตามันจะคล้าย ๆ กับรถถังมากกว่า ขุดบนบกก็ได้ ขุดในทะเลก็ได้ จะมีลูกเชอเป็นตัวขุดหมุนไป คล้าย ๆ ตีนตะขาบ ขุดไปมันก็จะฉุดลากตัวเรือขุดแร่ไปเรื่อยไม่รู้จะนึกภาพออกไหม

         ผมพยักหน้า นึกเห็นภาพเรือขุดแร่ในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่ไปดูเมื่อวันก่อนในห้วงจินตนาการ ศึกษาหาข้อมูลมาล่วงหน้ามันก็ดียังงี้แหละครับ ค่อยคุยกันรู้เรื่อง ไม่งั้นใครเล่าอะไรให้ฟังก็เด๋อด๋า ได้แต่ทำหน้างงอย่างเดียว

        “ถ้าเป็นเหมืองฉีดจะใช้วิธีฉีดน้ำ ดูดแร่ขึ้นมาบนราง ส่งผ่านไปกู้แร่ รางกูแร่ก็จะเป็นทางยาวไปมีคนงาน จะมีพวกชาวบ้านพากันมาร่อนแร่อยู่สุดท้ายปลายราง พวกนี้ไม่ใช่คนงานของเหมือง ทำเป็นเล่นไปนะ คนมาร่อนแร่นี่รายได้ดีไม่เบาเลย บางครอบครัวผัวเป็นคนงานทำงานในเหมืองได้ค่าแรงวันละ ๕๐ บาท ส่วนเมียไปร่อนแร่อยู่ท้ายรางได้วันละ ๒๐๐ บาทเชียวนะ  ช่วงที่ผมยังทำเหมืองอยู่นี่ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ถึง ๒๓ แร่กิโลละ ๑๒๐ บาท  ค่าแรงวันละ ๔๐–๖๐ บาท ตอนนั้นน้ำมันราคาแค่ลิตรละ ๓ บาทเอง สมัยเหมืองแร่เฟื่องฟู ผู้คนในเมืองเยอะมาก ขนาดโรงหนังยังมีตั้ง ๒ โรง รถโดยสาร ๒ แถววิ่งกันขวักไขว่ทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หยุดหย่อน”

           ฟังผมอดไม่ได้ที่จะชำเลืองมองไปบนท้องถนนของเมืองตะกั่วป่าอันเงียบสงัดปราศจากผู้คน นาน ๆ ถึงจะมีมอเตอร์ไซค์แล่นผ่านมาสักคัน ดูแตกต่างจากภาพในอดีตอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

        “พอราคาแร่ตกต่ำ เหมืองก็ซบเซา ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นบึงน้ำใหญ่ ๆ  เพราะทำแล้วไม่คุ้ม เดี๋ยวนี้ต้นทุนสูง แล้วรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้ทำด้วย กลายเป็นว่าที่อินโดนีเซียตอนนี้หันมาทำเหมืองแร่กันมาก มาเอาคนที่เคยทำจากที่นี่แหละไปทำ  เพราะคนอินโดนีเซียเขาไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่ ก็ต่อเรือขุดจากตะกั่วป่าไปเสร็จสรรพเลย ลำหนึ่งไม่ถูกนะ รวมอุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมดด้วยก็ตกลำละ ๓๐ ล้านบาท พอไม่ทำเหมือง คนตะกั่วป่าส่วนใหญ่ก็ย้ายไปอยู่ที่ย่านยาวกันหมด”

         “เพิ่งมาปีสองปีนี้ มีงานถนนสายวัฒนธรรมคนเก่า ๆ ที่ย้ายไป ก็กลับมานะ กลับมาช่วยงาน เพราะส่วนใหญ่ที่ย้ายไปบ้านเขายังอยู่นี่ ปิดเอาไว้เฉย ๆ

         คุณจั่นหมายถึงกิจกรรมถนนคนเดินของเมืองตะกั่วป่า ที่ใช้ชื่อว่า ตะกั่วป่าเมืองเก่าเล่าความหลัง ถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.. ๒๕๕๑ โดยได้งบ SML ๒ ชุมชนต่อ ๑ โครงการ คือชุมชนตลาดใหญ่กับชุมชนเสนานุช  บนถนนสายหลักของเมืองคือ ถนนศรีตะกั่วป่า

       “ก็ปิดถนนจัดเป็นช่วงสั้น ๆ ระยะประมาณ  ๓๐๐ เมตร ประมาณ ๔๐ แผง เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนน ออกร้านขายขนมบ้าง อะไรบ้าง  ที่เด่น ๆ ก็พวกอาหารการกินเก่า ๆ ที่หายไปกลับมาทำขึ้นใหม่  ส่วนใหญ่คนที่มาขายก็จะเป็นคนที่นี่ แต่ก็เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าแม่ค้าจากที่อื่นเข้ามาขายด้วย คิดแค่ค่าเช่าแผง ๒๐ บาท ค่าเช่าร่มอีก ๒๐ บาท

ตรงกลางถนนก็ทำเป็นลานสำหรับกิจกรรมแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเช่น การสีข้าวแบบโบราณด้วยไม้ไผ่ สีข้าวเปลือกให้กลายเป็นข้าวซ้อมมือ หรือการกวนกาละแม ปีนี้มีโครงการว่าจะทำโมเดลเหมืองแร่ไปจัดแสดงกลางลานวัฒนธรรมเลย มีทั้งแบบเหมืองฉีด ทั้งแบบเรือขุด”   

          เครื่องดื่มบนโต๊ะหมดลงคุณจั่นก็ชวนไปแวะเยี่ยมเยือนบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ร่วมในงานถนนสายวัฒนธรรม ร้านง้วนเซ็งบี้บนผนังฟากหนึ่งเป็นตู้โชว์ไม้กรุด้วยกระจกใส  เดิมเป็นร้านขายของชำทั้งปลีกและส่ง  เคยส่งสินค้าไปไกลถึงจังหวัดระนองโน่นเลย 

คุณวริษฐา ลิ่มสกุล เจ้าของร้านเล่าว่า ขายมาตั้งแต่รุ่นก๋ง มาเลิกกิจการประมาณช่วงปีพ.. ๒๕๒๔ -๒๕๒๕  เพราะช่วงนั้นเหมืองน้อยลง ลูกค้าน้อยลง สู้ภาษีไม่ไหว” 
          ในร้านยังคงรักษาสภาพเดิม ๆเอาไว้ ชี้ให้ดูช่องสี่เหลี่ยมล้อมด้วยระเบียงลูกกรงกั้น ๔ บนเพดานตรงกึ่งกลางบ้านว่าเป็นที่สำหรับเจ้าของร้านมองดูลูกค้าที่มาซื้อของในร้าน และเป็นช่องส่งสินค้าลงมาจากชั้นบนซึ่งเป็นโกดังย่อม ๆ อีกด้วย  โคมไฟเซรามิคส์แบบเก่ายังคงห้อยระย้าลงมาจากเพดาน ตู้เซฟเหล็กหน้าตาคล้ายตู้ไปรษณีย์โบราณขึ้นสนิมอยู่มุมหนึ่ง เคียงข้างกับตู้ที่วางวิทยุโบราณยี่ห้อกรุนดิก เนชันแนล บนผนังยังมีโปสเตอร์ขยายจากภาพถ่ายงานแต่งงานสมัยเก่าแบบจีนในชุดเต็มยศ เจ้าบ่าวในชุดสูทโก้ยืนคู่กับเจ้าสาวในชุดยาวสีขาวที่เรียกว่า โป๊ยตึ๋งเต๊” 

        ดูเหมือนว่าชีวิตชีวาของยุคสมัยอันรุ่งเรืองยังถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ในบ้านเรือนที่เรียงรายบนถนนสายนี้
“ตอนงานถนนสายวัฒนธรรมร้านเราจะขายปอเปี๊ยะสด  เน้นสนุก ไม่เน้นกำไร ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ถือว่าช่วยเหลือชุมชนไปในตัว ตอนขายจะสวมชุดย่าหยาด้วย  ให้เข้ากับบรรยากาศ”
เดินต่อมาไม่ไกลกัน ไม่มีชื่อร้านคุณปิยา ทิวทัศนานนท์และน้องสาวคุณไพศรี ทิวทัศนานนท์ กำลังขะมักเข้นอยู่กับการทำขนมท้องถิ่นให้เราชิมแบบเฉพาะกิจ ขนมเป่าอู่ดั๊ง หน้าตาเหมือนข้าวเหนียวปิ้ง ทว่ารสชาติไม่เหมือน เพราะว่าทำจากข้าวเหนียวห่อไส้มะพร้าว กุ้งแห้ง พริกไทย กระเทียม รากผักชี ผัดกับน้ำตาลและเกลือ อร่อยจนหยิบแล้วหยิบอีก  เช่นเดียวกับขนมบะจ่าง ที่มองดูไม่ต่างจากบะจ่างทั่ว ๆ ไป แต่รสชาติอร่อยกว่าเยอะ

        “เป่าอู่ดั๊ง คนสมัยใหม่ชอบเรียกเพี้ยนไปเป็นเป่าลั้งสมัยก่อนพี่สาวชื่อ อารี ผลิผล อยู่ในเหมือง ทำขนมนี้ขายให้กับคนที่ทำงานในเหมือง กินกับกาแฟอร่อย คนในเหมืองเขาจะกินกาแฟกันบ่อยนะ เช้า สาย บ่าย เย็น กินเสร็จก็ลงบัญชีไว้ เงินออกทีก็มาจ่ายเงินกันที

         นั่งคุยไปเรื่อยพักใหญ่ ผมเพิ่งสังเกตว่าใบตองกองเต็มโต๊ะตรงหน้า  เพราะคุยไปก็หยิบกินไปเสียหลายห่อ ก็ของเขาอร่อยจริง ไม่เคยกินที่ไหน ก่อนอำลาจากมายังได้รับอภินันทนาการน้ำพริกตะไคร้เป็นของฝากติดไม้ติดมือมาอีกกระปุกด้วย เห็นว่าออกงานคราวหน้าจะทำขายด้วย ต้องขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแน่ ผมรับรองได้
ตะวันชายบ่ายคล้อย แดดลดความร้อนแรงลงไป พวกเราถึงชวนกันออกมาเดินชมเมืองกันบนถนนสายหลัก ย่ำเท้าไปพลางเหลียวซ้ายแลขวา ผมตั้งข้อสังเกตว่าตึกรามบ้านช่องของเมืองตะกั่วป่า ดูเผิน ๆ ก็มีลักษณะที่คล้ายกับตึกในย่านเก่าเมืองภูเก็ต เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า และการตกแต่งประดับประดาหน้าบ้านไม่หรูหราอลังการเท่า

      “บ้านเรือนที่ตะกั่วป่านี่จะเป็นแบบชาวบ้านครับ เพราะเป็นบ้านของพ่อค้า บ้านของชนชั้นกลาง ที่ทำงานเหมืองแร่ ไม่เหมือนกับทางภูเก็ต ทางนั้นเขาจะเป็นบ้านของเศรษฐี”  โกระว่าพลางเดินนำหน้า

        “ตะกั่วป่า-ถลาง จะเป็นเศรษฐีรุ่นเก่า แต่ภูเก็ตนี่เขาเป็นเศรษฐีรุ่นใหม่” คุณจั่นช่วยเสริมให้ลงตัว  พลางหัวเราะชอบใจ

          เท่าที่เห็น ถนนศรีพังงาถือว่าเป็นถนนสายเศรษฐกิจในสมัยก่อนจริง ๆ ครับ ไม่ต้องอะไรมาก ดูจากโรงแรมก็พอ บนถนนเส้นเดียวสั้น ๆ ยังมี เรียงรายติดกันหลายแห่ง แต่น่าเสียดายตอนนี้ปิดกิจการไปหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นโรงแรมทวีสุขที่ตอนนี้ก่ออิฐบล็อกปิดประตูหน้าต่างทำเป็นรังนกนางแอ่นไปเรียบร้อย  ในขณะที่โรงแรมมณีรมณ์แปรสภาพเป็นร้านกาแฟ  ส่วนโรงแรมมณีรมณ์กลายเป็นบ้านคนอยู่อาศัย

        “ตรงนี้คือโรงแรมเกษมสุข หรือโรงแรมสามชั้น เมื่อก่อนเป็นโรงแรมมีพวกผู้หญิงบริการอยู่เยอะ โกระให้ข้อมูลเพิ่มขณะดินผ่านตึกที่ปิดตายอีกแห่ง

         “เมื่อก่อนโรงหนังก็มีนะ อยู่สุดปลายถนน เพิ่งรื้อทิ้งไปไม่นาน เพราะกำลังจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำแถวนั้น

แต่ก็ไม่ใช่จะมีแต่ปิดกิจการกันหมดครับ ที่เปิดดำเนินการอยู่ก็ไม่น้อย  ข้างโรงแรมโชคทวีอีกโรงแรมที่แปรสภาพเป็นบ้านที่อยู่อาศัยแล้วเหมือนกัน ยังมีร้านแต้จินหุ้ย ทำฟันปลอมเป็นอีกร้านที่ยังเปิดให้บริการ ภายในร้าน เก้าอี้ทำฟันอายุ ๖๐ กว่าปี ที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้มาเยือนคนแล้วคนเล่า ยังคงเป็นที่ทำงานของคุณป้าอุไร แต่ตระกูล อายุ ๘๐ ที่เล่าให้ผมฟังว่าจบการศึกษาจากกรุงเทพ ฯ แล้วไปเรียนทำฟันต่อที่ปีนัง ตามความนิยมของคนสมัยนั้น แล้วกลับมาเปิดร้านที่นี่ ทำฟันให้ชาวตะกั่วป่ามาแล้วแทบทุกคน

         “เห็นโกระยิ้มสวยอย่างนี้ ก็ทำฟันที่ร้านแต้จินหุ้ยเหมือนกัน คุณจั่นแซว

อีกแห่งคือร้านฮั้วลอง ซ่อมนาฬิกา ขายเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้าง  หน้าร้านมุมหนึ่งเป็น เก้าอี้ตัดผมโบราณตระหง่านอยู่หน้ากระจกพร้อมอุปกรณ์ครบ สอบถามเจ้าของร้านคือ “พี่หย่อง”  ซึ่งนั่งซ่อมนาฬิกาอยู่ได้ความว่าเก้าอี้ที่เห็นเคยเป็นร้านของพ่อซึ่งเป็นช่างตัดผม พอเสียชีวิตไปก็เลยเก็บรักษาเอาไว้เป็นที่ระลึกถึง
ที่แปลกอีกอย่างบนถนนสายนี้ก็คือมีศาลเจ้าอยู่ในห้องแถวครับ ไม่ได้มีแห่งเดียวเสียด้วย  เท่าที่เห็นก็มี ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้ากู่ใช่ตึ๊ง และศาลเจ้า  ที่เคยพบเจอส่วนใหญ่จะเห็นเป็นศาลเจ้าเดี่ยว ๆ แยกออกไปตั้งอยู่ต่างหาก อยู่ห้องแถวแบบนี้เพิ่งเคยเห็น แปลกดีเหมือนกัน 
ยิ่งเดินยิ่งเพลินครับ เพราะตึกรามบ้านช่องในเมืองเก่าตะกั่วป่าแม้ดูเผิน ๆ จะเก่าคร่ำคร่า แต่เมื่อมาดินดูพินิจพิจารณาดี ๆ แล้วก็เห็นว่ามีรายละเอียดการประดับประดาและลูกเล่นต่าง ๆ งดงามไม่น้อยเหมือนกัน ผมยังไปหยุดยืนชื่นชมบ้านหลังหนึ่งที่ประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นปรากฏว่าเป็นบ้านของอดีตนายกเทศมนตรี มิน่าละ
แถว ๆ ถนนอุดมธาราทางไปกำแพงเมืองเก่าก็มีบ้านสวย ๆ หลายหลัง ทั้งบ้านจีนแบบเก่า เรียงรายเป็นแถว โดยเฉพาะหลังหนึ่งสุดท้ายปลายถนนเป็นบ้านแบบชิโนโปรตุกีสยังรักษาสภาพเอาไว้ได้ดีมาก
ทางกรมศิลปากรเขาส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจขึ้นทะเบียนบ้านเก่า คัดเลือกเอาไว้ตอนแรก ๕ หลัง  จะบูรณะให้เป็นสภาพเดิม ๒ หลัง แต่หลังที่หมายตาเอาไว้ยังตกลงกับเจ้าของบ้านไม่ได้ เพราะเจ้าของบ้านกับกรมศิลปากรมีแนวคิดไม่ตรงกัน  กรมศิลป์เขาก็อยากจะอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม ๆ ไม่ให้ไปทำอะไรเพิ่มเติม แต่ เจ้าของบ้านก็อยากจะทำอะไรตามใจของตัวเองอย่างที่ชอบ”

น่าเสียดายอยู่อย่างที่ว่า งานถนนสายวัฒนธรรมของเมืองเก่าตะกั่วป่าจะจัดมีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนเท่านั้น ช่วงที่อนุสาร อ.ส.ท.ฉบับนี้วางตลาด คงจะไม่มีงานให้ชมกัน เพราะตรงกับช่วงฤดูฝนพอดี ซึ่งที่นี่ฝนตกหนักมากครับ บางทีก็มีน้ำท่วม ระหว่างไปเดินเที่ยวชมเมืองนี่ใครต่อใครก็พากันชี้ให้ดูร่องรอยน้ำท่วมสูงเป็นเมตรบนฝาผนังห้องกันทั้งนั้น แต่ไม่มีงานก็มาเดินชมเมืองเล่น ๆ ไปก่อนก็ได้ เพราะมีอะไรต่อมิอะไรให้ดูเยอะ แล้วปลายปีค่อยหาโอกาสมาเที่ยวในช่วงงานกันใหม่เชื่อไหมครับ เขาเล่าว่ามีนักท่องเที่ยวฝรั่งติดอกติดใจถึงขนาดมาเที่ยวปีก่อนครั้งหนึ่งแล้ว ปีถัดมายังอุตส่าห์กลับมาเที่ยวอีกก็ยังมี แล้วเราคนไทย อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้ จะไม่มาได้ไง
ผมคนหนึ่งละครับรับรองว่าไม่พลาดแน่ ๆ กาปฏิทินเอาไว้เรียบร้อย ว่าจะมาตามรอยเหมืองแร่อีกสักทีแฮ่ม
  ขอขอบคุณ สำนักงานนครภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต คุณชาญ วงศ์สัตยนนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ คุณหฤทัย บุญวงศ์โสภณ คุณเฉลิมชาติ เจนเจนประเสริฐ คุณวิระ ตันวานิช คุณปิยา ทิวทัศนานนท์ คุณไพศรี ทิวทัศนานนท์ คุณวริษฐา ลิ่มสกุล คุณทวี สนธิเมือง และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง
คารม ธรรมชยาธร.”ถนนสายวัฒนธรรมตะกั่วป่าภูเก็ตภูมิ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๓.หน้า ๑๘๒๓.
อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร.จุลสารเหมืองแร่.ภูเก็ต:พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต,๒๕๕๒.

คู่มือนักเดินทาง          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕ ธนบุรี-ปากท่อ ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔ ที่แยกวังมะนาว ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตรงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๔๑ ที่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ตรงไปถึงกิ่งอำเภอบ้านตาขุนแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑๕ ที่บ้านพังควนเหนือ ผ่านอำเภอทับปุด อำเภอเมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ ตรงไปถึงจังหวัดภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต  จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒  เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข ๓๐๑๓   ประมาณ ๕ กิโลเมตร เลี้ยวขวาถึงพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ค่าพิกัด GPS  N๐๗ องศา ๕๖ ลิปดา ๐๑.๒ พิลิปดา E ๐๙๘ องศา ๒๐ ลิปดา ๕๙.๓ พิลิปดา

เมืองเก่าตะกั่วป่า จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข๔๐๒ มาเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔  ผ่านเขาหลัก เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๐ ตรงไปตามทางจนถึงเมืองเก่าตะกั่วป่า ค่าพิกัด GPS  N๐๘ องศา ๔๙ ลิปดา ๔๑.๙ พิลิปดา E ๐๙๘ องศา ๒๑ ลิปดา ๕๒.๙ พิลิปดา บริเวณเมืองเก่าสงขลามีที่พักให้บริการ คือโรงแรมอมรินทร์ อัตราค่าเข้าพักคืนละ ๑๕๐–๓๐๐ บาท โทรศัพท์ ๐ ๗๖๔๒ ๕๐๘๓