วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เบิกบาน...รอบกว๊านพะเยา

 ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๕ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘



ถึงกว๊านพะเยาแล้ว  ใครคนหนึ่งเอ่ยขี้นมา ขณะที่รถจี๊ปคันน้อยกำลังแล่นมะงุมมะงาหราไปตามถนนที่เริ่มสลัวรางด้วยตะวันลอยคล้อยต่ำเย็นย่ำเต็มที นั่นใง ป้ายชี้ทาง อยู่ข้างหน้า 

เฮ้ย ได้ยังไง นี่เราจะไปเชียงรายกันไม่ใช่เรอะ ทำไมถึงมาโผล่ที่พะเยาได้

ย่แล้ว หลงทางแน่ ๆ จลาจลย่อย ๆ เกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มหนุ่มสาวนักเดินทางมือใหม่ซึ่งเบียดเสียดกันอยู่ภายในรถ ด้วยความที่เพิ่งจะมาขับรถเที่ยวกันเองเป็นครั้งแรก แถมไม่มีใครเคยเดินทางบนเส้นทางสายนี้มาก่อนสักคน มิหนำซ้ำ ข้อมูลอะไรก็ไม่ได้อ่านผ่านตา เช่ารถจากเชียงใหม่มาได้ก็อาศัยดูป้ายบอกทางไปเรื่อย ๆ แบบไปตายเอาดาบหน้า

แต่แล้วเสียงเอะอะในรถก็พลันเงียบหายไปราวปลิดทิ้ง เมื่อรถแล่นมาถึงถนนที่เลียบเลาะเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ สะท้อนแสงสีสุดท้ายอันมลังเมลืองจากดวงตะวัน ซึ่งกำลังลอยลับทิวเทือกเขายาวสุดลูกหูลูกตาอีกฟากฝั่ง

โอ้โฮ สวย เนี่ยเหรอกว๊านพะเยา

ลืมเรื่องทางเสียสนิท รู้สึกตัวอีกทีก็จอดรถเฮโลพากันลงไปยืนบ้าง นั่งบ้าง เก็บภาพกับทิวทัศน์อันงามที่ได้เห็นเป็นที่ระลึกกันอย่างไม่นับ กระทั่งแสงสีตระการตาที่เห็นลาลับจากขอบฟ้า หลงเหลือแต่เพียงความมืดนั่นแหละ ถึงได้เกิดเอะอะกันขึ้นมาอีก

ตกลงเรามาอยู่พะเยาได้ยังไง ไหนใครมีแผนที่ไหม เอามาดูหน่อยสิ หลงแล้วใช่ไหมเนี่ย

ไม่หลงหรอก นี่ไง ดูสิ เห็นไหม ในแผนที่ตรงนี้พะเยา เลยไปนี่ถึงจะเป็นเชียงราย ยังไม่ถึงสักหน่อย

พอรู้ว่าไม่หลงก็โล่งใจ แต่ชักแหยง ๆ ไม่กล้าไปต่อ มืดแล้วน่า ขืนขับต่อไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเกิดดันไปโผล่ที่นราธิวาสขึ้นมาจะว่าไง 

คืนนั้นพลพรรคนักเดินทางมือใหม่เลยตกลงกันว่าจะพักที่พะเยาก่อน รุ่งขึ้นค่อยเดินทางต่อไปเชียงราย เวรกรรมตรงที่ดันไปเลือกได้โรงแรมโบราณเก่าคร่ำคร่า บรรยากาศน่าสยองขวัญอีกต่างหาก ประตูก็ไม่มีกลอน หน้าต่างก็ปิดไม่ได้ สนุกสนานมันฮา

ผมหัวเราะให้กับภาพความทรงจำสมัยทะเล่อทะล่ามาถึงกว๊านพะเยากับพรรคพวกเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ที่ผุดพรายขี้นมาในห้วงนึกเป็นฉาก ๆ ขณะกำลังเดินทอดน่องไปตามถนนเลียบชายกว๊านพะเยาในยามเย็น

ในบรรดาเพื่อนร่วมแก๊งมือใหม่คราวนั้น ดูเหมือนจะมีผมนี่แหละครับที่ติดอกติดใจกลับมาเทียวไล้เทียวขื่อเมืองพะเยามากครั้งที่สุด ถึงขนาดที่เรียกว่ากลายเป็นจังหวัดที่มีโอกาสเมื่อไหร่เป็นต้องมา จนใครต่อใครพากันสงสัยว่าผมแอบไปติดสาวดอกคำใต้เข้าให้ ทั้งที่ความจริงติดสาวเชียงใหม่ เอ๊ยไม่ใช่ ติดใจบรรยากาศกว๊านพะเยากับเรื่องราวเก่า ๆ ต่างหาก




พลิกปูมเมืองพะเยา 

อันที่จริงผมเองได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของพะเยามาก่อนนานเนแล้ว จากในตำราสมัยเรียนมหาวิทยาลัย วิชาประวัติศาสตร์ไทยนี่แหละ จะว่าไปก็มีเรื่องน่าสนใจเยอะครับ สนุกดีเหมือนกัน (แต่ตอนเรียนก็มีแอบสัปหงกบ้างเป็นบางที)

แคว้นพะเยาเป็นนครรัฐโบราณ ตั้งอยู่บนที่ราบปลายภูเขาอันมีชื่อเรียกว่าดอยชมภู บ้างก็เรียกภูกามยาว หรือภูยาว ตำนานเล่าว่าพญาลาวเงิน กษัตริย์ในราชวงศ์ลวจักราชแห่งหิรัญนครเงินยางเชียงแสน โปรดให้พระราชโอรสคือขุนจอมธรรม เสด็จมาสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นแคว้นอิสระขึ้น ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๓๙  (ถ้านับถึงปีนี้พะเยาก็อายุ ๙๐๙ ปีเข้าไปแล้ว เก๋าไม่ใช่ย่อยเชียว)

เรื่องมาเริ่มตื่นเต้นก็ช่วงรัชกาลที่ ๒ ของแคว้นพะเยา ในสมัยขุนเจือง ราชโอรสของขุนจอมธรรมครับ

นั่นเพราะพอขุนเจืองขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พะเยาปุ๊บ ก็ทรงเริ่มฉายแววของกษัตริย์นักรบปั๊บ เพราะได้ยกทัพไปช่วยขุนชิน กษัตริย์แคว้นหิรัญนครเงินยาง ซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ขับไล่พวกแกวซึ่งมารุกรานได้สำเร็จ ขุนชินก็เลยทรงยกราชสมบัติให้ขุนเจือง ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์หิรัญนครเงินยาง พร้อมแถมราชธิดาให้เป็นชายาอีกด้วย

ทางเมืองพะเยาก็เป็นอันว่าต้องทรงยกให้ขุนชอง พระอนุชาปกครองแทนไป

จากนั้นขุนเจืองก็ได้ทรงขยายอำนาจ ยกทัพไปรบชนะเมืองล้านช้าง เมืองแกวประกัน และเมืองต่าง ๆ อีกมากมาย แน่นอนครับ มักจะได้ธิดาเมืองนั้นเมืองนี้เป็นชายาด้วย ต่อมาจึงลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง และนี่คงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ขุนเจืองกลายเป็นวีรบุรุษในตำนานของบ้านเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ในเวลาต่อมา

ก็คงจะลูกหลานขุนเจืองกันแทบทั้งนั้นแหละครับ ต่างคนต่างเล่า ต่างคนต่างเขียนต่อ ๆ กัน ก็เลยมีหลายเวอร์ชัน เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนบ้าง

แต่ที่ทำให้ผมตื่นเต้นมากก็คือนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีเขาสันนิษฐานว่า ขุนเจืองทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ผู้สร้างปราสาทนครวัด หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

ทีเด็ดอีกอย่างคือภาพจำหลักหินเรื่องการยกทัพไปรบกับพวกจามบนระเบียงรอบปราสาทนครวัด ห้องที่มีจารึกด้านล่างระบุถึง เสียมกุกนั้น เขาตีความกันว่าหมายถึงทัพสยามจากลุ่มน้ำกก เท่ากับว่านั่นก็คือภาพกองทัพของขุนเจืองแห่งหิรัญนครเงินยาง ที่ยกไปช่วยขอมรบกับจามนั่นเอง

ไม่ใช่แค่สันนิษฐานส่งเดชแบบนั่งเทียนนาครับ มีการเอาข้อความในมหากาพย์เก่าแก่ของอาณาจักรล้านช้างเรื่องท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง ที่พรรณนาถึงการแต่งกายของกองทัพขุนเจือง มาเทียบเคียงกับภาพจำหลักอีกด้วย ปรากฏว่าตรงกันเป๊ะ

การรบครั้งสุดท้ายของขุนเจืองคือการยกทัพไปรบเมืองแมนตาตอกขอกฟ้าตายืน โดยขุนเจืองพ่ายแพ้และสิ้นพระชนม์ในสนามรบ


 อนุสาวรีย์พญางำเมือง

กษัตริย์องค์สำคัญของพะเยาที่ผมได้รู้จักจากในวิชาประวัติศาสตร์อีกพระองค์หนึ่งก็คือพญางำเมือง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขุนชอง พระอนุชาของขุนเจืองนั่นเอง ไม่ใช่ใครที่ไหน

ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พญามังรายแห่งแคว้นหิรัญนครเงินยางทรงแผ่แสนยานุภาพยึดครองบ้านเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือรวมทั้งแคว้นหริภุญไชยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา คงมีเพียงพะเยาที่ยังรักษาความเป็นแคว้นอิสระอยู่ได้ เนื่องจากพญางำเมืองเป็นพระสหายของทั้งพญามังรายและพ่อขุนรามคำแหง เรียนวิชามาจากสำนักเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น พญางำเมืองพระองค์นี้แหละครับ ได้ทรงมีส่วนให้คำปรึกษากับพญามังรายในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนาอีกด้วย

แต่หลังจากพญางำเมืองอีก ๒ รัชกาล ในสมัยพญาคำลือ อันเป็นกษัตริย์พะเยาองค์สุดท้าย แคว้นพะเยาก็ถูกยึดครองและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาไปในที่สุด โดยเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับเชียงราย

เรื่องราวที่เคยร่ำเรียนเพิ่งจะมีโอกาสรื้อฟื้นความทรงจำ ก็เมื่อได้มาเตร็ดเตร่อยู่ตามเวียงเก่าในพะเยานี่แหละครับ


 เศียรพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ที่วัดลี


แกะรอยโบราณย่านเวียงท่าวังทอง 

ตามตำนานเล่าว่า เมืองพะเยาในยุคแรกสร้างเป็นเวียงรูปน้ำเต้า ที่เรียกกันว่าเวียงท่าวังทอง หรือเวียงประตูชัย ก่อนจะขยายไปทางตะวันตกติดกับกว๊านพะเยา เรียกว่าเวียงพะเยา ก็คือบริเวณตัวเมืองพะเยาในปัจจุบัน และเมื่อขยายตัวมากขึ้น ก็สร้างเวียงบริวารอื่น ๆ ตามมาอีกรายรอบเวียงหลักทั้งสองแห่ง

ผมมันคนชอบของเก่าครับ มาถึงพะเยาเป้าหมายแรกก็เลยต้องไปที่เวียงท่าวังทองก่อน แถวนี้มีวัดเก่า ๆ อยู่เยอะ ประมาณว่ามีอยู่ถึง ๕๐ วัดทีเดียว คราวก่อนผมเคยขับรถจี๊ปตะลุยท้องนาเข้าไปจนถึงวัดสบร่องขุย ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ยังเห็นร่องรอยฐานเจดีย์ใหญ่และวิหารปรักหักพังอยู่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายระเกะระกะอยู่เป็นกอง 

เข้าไปคุยกับคุณลุงชาวบ้านที่อยู่ข้างวัด แกบอกว่าเมื่อก่อนเจอเศียรพระพุทธรูปหินทรายใหญ่เบ้อเริ่มที่วัดนี้ด้วย แต่เขาอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในเมืองแล้ว ที่เหลืออยู่มีแต่เศษเล็กเศษน้อย


วัดลี ก็เป็นอีกวัดในเขตเวียงท่าวังทองที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ดีที่สุด ผมไปเห็นครั้งแรกก็ชอบใจครับ ตั้งใจว่ามาพะเยาเมื่อไหร่ต้องแวะทุกครั้ง เพราะมีพิพิธภัณฑ์ของวัดที่เก็บชิ้นส่วนพระพุทธรูปและประติมากรรมหินทรายอื่น ๆ เอาไว้มากมายนับพันชิ้น ถ้าจะดูดี ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นวัน คราวก่อนดูยังไม่ทันครบถ้วน คราวนี้เลยต้องมาอีก

ตัววัดตั้งอยู่ในซอยลึก แต่หาไม่ยาก เพราะซุ้มประตูหน้าวัดใหญ่โตประดับรูปปั้นเทวดานางฟ้างดงาม หนำซ้ำยังมีเจดีย์องค์ใหญ่สมัยล้านนาสีขาวโดดเด่นเป็นสง่า รอบฐานเจดีย์เรียงรายด้วยพระพุทธรูปหินทรายโบราณที่ซ่อมแซมใหม่ บนสนามหญ้าหน้าประตูยังมีชิ้นส่วนหน้าตักพระพุทธรูปหินทรายสีชมพูขนาดมหึมากองอยู่ด้วย

เป็นที่ยอมรับกันในวงการประวัติศาสตร์ศิลป์ว่า ประติมากรรมหินทรายสกุลช่างพะเยา โดยเฉพาะพระพุทธรูปนั้น ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่งดงามไม่ซ้ำแบบใคร

สมัยเรียนผมเคยเข้าใจว่าเป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับขอมโบราณ เพราะเห็นว่าตามตำนานขุนเจืองมีความใกล้ชิดกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒  ขนาดยกทัพไปช่วยรบจาม ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละครับว่าขอมน่ะบ้าหินจะตาย อะไรต่อมิอะไรก็สร้างด้วยหินไปเสียหมด ปราสาทเอย เทวรูปเอย ซี้กันขนาดนี้คงจะรับอิทธิพลมาบ้าง เพราะของพะเยานี่ก็หินทรายเหมือนกัน

ทว่าพลิกล็อกครับ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์เขาศึกษาแล้วปรากฏว่า ประติมากรรมหินทรายสกุลช่างพะเยามีอายุเก่าสุดก็เพียงแค่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เท่านั้น ไม่เก่าถึงสมัยขุนเจือง เทียบกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็ประมาณรัชสมัยพญางำเมือง แรกเริ่มก็รับอิทธิพลสุโขทัย เพราะสมัยนั้นทรงเป็นพระสหายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก่อนจะพัฒนาจนมีลักษณะเป็นศิลปะสกุลช่างพะเยาแท้ ๆ ในช่วงเวลาที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาไปแล้ว



แต่ความงามก็คือความงามละครับ เก่ามากหรือเก่าน้อยก็ยังคงความประทับใจไม่เสื่อมคลาย มาพะเยาแล้วไม่ได้ดูประติมากรรมหินทรายพะเยา ก็เหมือนกับไม่ได้มา

วันนี้ท่านพระครูท่านไม่อยู่หรอกโยม กุญแจพิพิธภัณฑ์ก็อยู่กับท่าน หลวงพี่ในวัดลีรูปหนึ่งบอกกับผม เมื่อไปขอเข้าชมห้องพิพิธภัณฑ์อันเป็นที่เก็บศิลปวัตถุชิ้นงาม ๆ เอาไว้

เรื่องเจ้าอาวาสไม่อยู่เลยไม่มีกุญแจเข้าไปดูนี่ เป็นเรื่องธรรมดาเวลาไปเที่ยวดูพิพิธภัณฑ์ตามวัดครับ ก็ต้องเห็นใจทางผู้ดูแล เพราะว่าถ้าปล่อยให้ใครต่อใครเข้าไปดูกันตามชอบใจ มีหวังของหายหมดวัด ก็ขโมยสมัยนี้วัดวาอารามมันละเว้นเสียที่ไหน พระหินองค์ใหญ่ ๆ อย่างนี้ก็เถอะ เผลอเมื่อไหร่พ่อแบกตัวปลิว

แต่ถึงผมจะเข้าไปดูชิ้นงาม ๆ ที่เก็บในห้องไม่ได้ ก็ไม่ได้ผิดหวังอะไรนักหนา เพราะรอบบริเวณด้านนอกยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปและประติมากรรมหินทรายรูปช้าง ฐานชุกชีหินทราย ที่วางระเกะระกะ ตะไคร่น้ำ มอส ไลเคน ปกคลุมบนพื้นผิวจนเจียวปี๋ จะว่าไปแล้วดูมีบรรยากาศความเก่าคร่ำคร่า ได้อารมณ์ขลัง ๆ ดีกว่าของโบราณที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์เยอะครับ

ด้านหลังยังมีโรงเก็บของที่รวบรวมชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่หักพัง มาคราวก่อนเห็นกองอยู่เต็ม มาคราวนี้ชักร่อยหรอเหลืออยู่ราวครึ่งหนึ่งเห็นจะได้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นการคัดเลือกชิ้นงาม ๆ เอาไปบูรณะเก็บรักษา ไม่ใช่ว่ามือไม่ดีแอบมาหยิบเอาไปหรอก เพราะสุนัขอาราม (หมาวัด) ที่นี่ก็ถือว่าดุใช้ได้ ขนาดแค่ผมไปยืนเก้ ๆ กัง ๆ ใกล้ของโบราณที่วางอยู่ พวกเห่าโฮ่งเดียว ตัวอื่นพากันกรูออกมาเป็นฝูง ใครจะมาเที่ยวระวังไว้บ้างครับ ทางวัดเองก็ช่วยดูหมาให้กับนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาด้วยก็ดี เดี๋ยวจะได้รอยเขี้ยวกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกกัน



เลียบทางไฮเวย์มาผ่านหน้าวัดศรีจอมเรือง เคยแวะเข้าไปดูแล้วเป็นวัดของชุมชนไทยใหญ่ ภายในมีโบสถ์และวิหารสถาปัตยกรรมไทยใหญ่ที่รวมอยู่ในหลังเดียวกัน ด้านหลังเป็นเจดีย์แบบพม่า ไม่เห็นมีศิลปกรรมโบราณครับ ผมก็เลยผ่านเลยไปถึงสี่แยกประตูชัย

ตรงนี้มีวัดร้างอยู่อีกวัดหนึ่งคือวัดประตูชัย หรือวัดหยั้งหย้อง ตามที่ชาวบ้านเรียก หมายถึงเป็นวัดที่ผู้สัญจรไปมาหยุดแวะพัก แต่งเนื้อแต่งตัวก่อนเข้าเมือง พื้นที่วัดตอนนี้เป็นที่จอดรถไปแล้ว มีวิหารเก่าที่ถูกซ่อมแซมเป็นศาลา ประดิษฐานพระพุทธรูปที่บูรณะขึ้นจากชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่หักชำรุดหลายองค์ องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปหินทรายแบบพะเยาขนาดใหญ่แกะจากหินทั้งแท่ง แต่บูรณะจนดูเผิน ๆ คล้ายพระพุทธรูปศิลปะไทยลื้อไปแล้ว

ไปตระเวนดูอย่างนี้บางทีก็ใจหายครับ เพราะได้เห็นว่าร่องรอยวัดวาอารามเก่า ๆ มีแต่จะค่อย ๆ สาบสูญไป บางแห่งก็ถูกบูรณะแปรสภาพ บางส่วนก็ถูกบ้านเรือนผู้คนเข้ามาปลูกทับหมดสภาพไป ทั้งที่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของพะเยาเองก็ยังคงเป็นปริศนา โดยเฉพาะในยุคแคว้นอิสระ น่าเป็นห่วงว่ายังไม่ทันจะได้ศึกษากันอย่างจริงจัง หลักฐานทางโบราณคดีอาจจะถูกทำลายหมดไปเสียก่อน




ตามรอยอดีตในเวียงพะเยา

ข้ามฟากมาทางเวียงพะเยากันบ้าง

เวียงพะเยาก็คือส่วนที่เป็นตัวเมืองพะเยาในปัจจุบัน แบ่งออกจากเวียงท่าวังทองด้วยถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่ตัดผ่านเท่านั้น เท่ากับว่าผมเองก็เตร็ดเตร่ไปมาอยู่ในเวียงพะเยาทุกวันอยู่แล้ว

อ่านจากในหนังสือมาว่า เมื่อก่อนบริเวณที่เป็นกว๊านพะเยายังไม่ได้เป็นทะเลสาบกว้างใหญ่อย่างนี้ แต่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีห้วย หนอง คลอง บึง กระจายตัวกันอยู่ จะมีน้ำมากเฉพาะช่วงฤดูฝน ตามริมฝั่งชายกว๊านจึงเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามหลายแห่ง แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนแม่น้ำอิงกั้นน้ำ เป็นสถานีประมงน้ำจืดพะเยาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔  ระดับน้ำก็ท่วมสูงขึ้น จนหลายวัดที่ตั้งอยู่ชายฝั่งจมหายไปใต้ผืนน้ำของกว๊านพะเยา

จินตนาการตามไปก็ใจหาย เสียดายครับ ที่ถ้าปล่อยให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ คงจะยังมีวัดเก่า ๆ สวย ๆ ให้ดูอีกหลายวัดที่สำคัญเป็นวัดริมน้ำ ยามเย็นเวลาพระอาทิตย์ตกคงจะงามเหลือใจ


ขึ้นไปไหว้พระธาตุจอมทอง บนดอยจอมทอง ซึ่งเป็นชัยมงคลของเวียงพะเยา ก่อนจะกลับลงมาที่วัดศรีโคมคำ วัดสำคัญริมกว๊านพะเยา โชคดีไม่ได้ถูกน้ำท่วมเหมือนกับวัดอื่น ๆ ทั้งที่อยู่ริมน้ำเหมือนกัน ไม่งั้นตอนนี้เราอาจไม่มีวาสนาได้เห็นพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยา มาคราวนี้ผมอดเข้าไปกราบนมัสการท่านในวิหารครับ เพราะกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซมเปลี่ยนกระเบื้องหลังคากัน นั่งร้านงี้เต็มวิหารไปหมด เห็นว่าเสร็จปีหน้า มองเข้าไปเห็นองค์ท่านคลุมผ้าตะคุ่ม ๆ อยู่ ได้แต่ก้มกราบจากด้านนอก

เดินเตร่ไปทางด้านข้างวิหารที่ท่านพระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสรวบรวมโบราณวัตถุประติมากรรมหินทรายสกุลช่างพะเยาจากวัดร้างและไม่ร้างหลายต่อหลายแห่งทั่วเมืองพะเยามาไว้ตรงนี้เยอะแยะ มีทั้งเศียรพระพุทธรูปใหญ่หินทรายมหึมา พระพุทธรูปอีกมากมายหลายองค์ตั้งวางเรียงรายตามแนวระเบียง รวมไปถึงบริเวณลานดินหน้าโบสถ์กลางน้ำทรงไทยประยุกต์ ก็ยังมีพระพุทธรูปหินทรายอีกกลุ่มใหญ่ เรียกว่าจัดไว้ให้ผู้ที่กำลังกระหายชมศิลปะพะเยาได้ชมกันอย่างจุใจเชียวละ ผมเองไม่ว่ามากี่ครั้งก็ดูได้ดูดี ไม่รู้เบื่อสักที

เดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์รวมข้อมูลเกี่ยวกับพะเยาในทุกด้าน ว่ากันตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิศาสตร์ความเป็นมาของกว๊านพะเยา เรื่องเล่า ตำนาน วิถีชีวิตชาวบ้าน แม้แต่แท่งศิลาจารึกซึ่งที่พะเยาพบเยอะที่สุดถึง ๑๑๒ หลัก (แต่อยู่ที่นี่แค่ ๓๓ หลัก) จัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรพร้อมข้อมูล อ่านง่าย เข้าใจง่าย

แต่ที่ถูกอกถูกใจคอโบราณ (อีกแล้ว) ก็คือมีศิลปกรรมชิ้นเยี่ยม ๆ ที่คัดสรรแล้วว่าแจ๋วจริงมาจัดแสดงเอาไว้ หนึ่งในนั้นก็คือ”หลวงพ่อเศียร” เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะพะเยาขนาดใหญ่ที่นำมาจากวัดสบร่องขุย ที่ผมเคยขับรถตะลุยเข้าไปดูเมื่อนานมาแล้วนั่นเอง

เห็นผมยืนเพลินชมความงามอย่างปลาบปลื้ม เด็กชายคนหนึ่งก็ปราดเข้ามาอธิบายถึงความเป็นมาให้ผมฟังเสียงใส นี่คือเศียรพระพุทธรูปจากวัดสบร่องขุย เป็นศิลปะพะเยา จะมีพระนาสิกโด่งเด่นเป็นสง่า พระขนงเรียวงาม พระโอษฐ์อิ่มเอิบลักษณะแย้มยิ้ม พระหนุกลมเด่น พระเนตรฉายแววแห่งเมตตาธรรม ในขณะที่พระพักตร์สงบนิ่งเยือกเย็น พระกรรณและพระเกษาเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย

สอบถามได้ความว่าชื่อ เด็กชายภาณุเจริญดี เรียนอยู่ชั้น ป.๖ ที่โรงเรียนประชาบำรุง เป็นมัคคุเทศก์น้อยในโครงการมัคคุเทศก์อาสาท้องถิ่น ที่จัดอบรมโดยศูนย์การท่องเที่ยว นันทนาการและกีฬา จังหวัดพะเยา ร่วมกับสำนักจัดหางานพะเยา คัดเลือกให้มาประจำที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์แห่งนี้ ดูหน่วยก้านเข้าท่าดีเหมือนกันครับ อย่างน้อยก็ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาชมรู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากขี้น ถามอะไรก็ตอบได้เจื้อยแจ้ว ขนาดผมยังเพลิดเพลินจนเวลาผ่านไปแบบไม่รู้ตัว นึกได้อีกทีก็แดดร่มลมตก ได้เวลาออกไปเดินลอยชายชมย่านเมืองเก่าแล้ว

ตัวเวียงพะเยาไม่กว้างใหญ่เท่าไหร่ เดินเที่ยวเล่น ๆ แบบไม่รีบร้อนพอไหวครับ โรงแรมที่ผมพักก็มีจักรยานให้เช่าขี่เที่ยวได้ แต่ผมเห็นว่าเดินจะเก็บรายละเอียดได้ดีกว่า ลดพุงไปในตัว



วัดในเมืองส่วนใหญ่จะบูรณะจนใหม่เอี่ยมอ่องแทบทั้งนั้นแล้ว อย่างเช่นวัดราชคฤห์ที่ผมไปดูเป็นวัดแรก เจดีย์งี้ใหม่ปิ๊ง ลัดเลาะต่อไปที่วัดหลวงราชสัณฐาน ค่อยเข้าท่า มีประติมากรรมหินทรายสกุลช่างพะเยาอยู่หลายชิ้น ทั้งยังมีสถูปหินทรายทรงระฆังคว่ำหลังวิหารหลวง บนผนังภายในวิหารหลวงเคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดก แต่เสียหายไปเมื่อครั้งพายุพัดวิหารพังทลายไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗  ตอนนี้บนผนังในวิหารยังเหลือก็แต่จิตรกรรมบนผ้าและกระดาษปะติดบนแผ่นไม้ซึ่งพอจะซ่อมแซมได้ติดอยู่เท่านั้น




เดินเตร่มาถึงวัดศรีอุโมงค์คำ จำได้ว่าเคยเห็นในภาพถ่ายเก่าว่า ตัววิหารและองค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินสูง แต่ตอนนี้มีกำแพงวัดตั้งประชิดแทบติดวิหารพร้อมซุ้มประตูเป็นเกล็ดอย่างดี เลยมองไม่รู้ว่าอยู่บนเนิน ประตูด้านหน้าวิหารลงกลอนเข้าไม่ได้ ผมเลยเดินอ้อมไปดูเจดีย์ด้านหลังวิหาร ตามประวัติว่าเคยถูกฟ้าผ่าพังไปแล้วได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่

เข้าไปไหว้พระในวิหารหรือยังล่ะ หลวงพี่ชินวร ชินวโร เอ่ยทักเมื่อเห็นผมเดินลงจากวิหารผ่านวิหารน้อยที่เป็นกระจก เมื่อผมบอกว่าประตูวิหารปิด ท่านก็บอกว่าประตูด้านข้างไม่ได้ลงกลอน เปิดเข้าไปได้

ในวิหารมีพระประธานคือพระเจ้าล้านตื้อ ตื้อเป็นจำนวนนับของทางล้านนา ล้านตื้อหมายความว่ามีน้ำหนักมาก อีกชื่อที่เรียกกันก็คือพระเจ้าแสนแซ่ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ช่างสร้างเป็นชิ้นส่วนประกอบเข้าเป็นองค์ได้โดยใช้สลัก คำว่าสลักนี้ชาวเหนือเขาใช้คำว่าแซ่ พระพุทธรูปองค์นี้มีสลักหลายแห่ง ก็เลยเรียกว่าพระเจ้าแสนแซ่ แล้วก็ยังมีพระพุทธรูปหินทรายโบราณที่ปิดทองไว้ ที่เด่น ๆ ก็คือพระเจ้าแข้งคม ที่มีลักษณะเหมือนกับพระเจ้าแข้งคมวัดศรีเกิดที่เชียงใหม่ หลวงพี่ให้ข้อมูล



ผมเหลือบไปเห็นว่าในวิหารน้อยมีพระพุทธรูปศิลาทรายสกุลช่างพะเยาอยู่สององค์ ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า องค์ใหญ่เรียกว่าพระเจ้าทันใจ พบที่ป่าช้าข้างวัดลีเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ องค์เล็กเรียกว่าพระเจ้ากว๊าน เพราะพบในกว๊านพะเยาตอนน้ำแห้ง ชาวประมงไปเจอพระพิมพ์ดินดิบตรงบริเวณที่เรียกว่าสันธาตุ ขุดลงไปก็เจอพระพุทธรูปองค์นี้ เลยนำมาประดิษฐานไว้ที่นี่ทั้งสององค์ พระพุทธรูปหินทรายโบราณสกุลช่างพะเยาที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก เลยไม่ค่อยมีใครมาดู



แดดอ่อนแสงเต็มทีแล้วเมื่อผมเดินทะลุออกมาบริเวณถนนเลียบกว๊าน ลองเดินผ่านไปทางบ้านสุทธภักติ บ้านรับรองริมกว๊านของหลวงศรีนครานุกูล ก็ใจหายวูบครับ เพราะเรือนไม้สักโบราณอันงามสง่าถูกปิดประกาศขายไว้หน้าบ้านแผ่นเบ้อเริ่ม รั้วไม้ที่เคยเหลืออยู่บ้างตอนนี้หายเกลี้ยง ลานหน้าบ้านกลายเป็นที่จอดรถของร้านอาหารข้าง ๆ อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงภาพถ่ายเก่า ๆ ที่เคยเห็น บ้านหลังนี้ในยุครุ่งเรืองถือเป็นบ้านประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาที่ได้ต้อนรับบุคคลสำคัญของประเทศมามากมาย

คงน่าเสียดายถ้าเกิดคนที่มาซี้อเอาไปไม่รู้คุณค่า เอาไปทำปู้ยี่ปู้ยำจนหมดสภาพ หรือรื้อทิ้งปลูกสร้างตึกแถว นี่ถ้าผมมีสตางค์เหลือใช้สัก ๒๐ ล้าน จะลงทุนซื้อเก็บไว้ให้คนไทยรุ่นลูกหลานดู บังเอิญดันไม่มีนี่สิครับ...แย่ ก็ได้แต่ภาวนาให้คนที่เห็นคุณค่ามาซื้อทีเถอะ เจ้าประคู้ณ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ยังอยากเห็นบ้านประวัติศาสตร์หลังนี้อยู่คู่กว๊านพะเยาไปนาน ๆ น่ะ




ทัวร์แดนธรรมบนดอยสูง

ท้องทุ่งนาเขียวชอุ่มแลเห็นอยู่สองฟากฝั่งถนน เมื่อพาหนะคู่ใจของผมแล่นไปตามทางลดเลี้ยวที่ทอดยาวไปสู่ดอยบุษราคัม

เที่ยวเวียงเก่ามาหลายวัน ออกนอกเมืองบ้างก็ดี เปลี่ยนบรรยากาศ

จำได้ว่าถนนสายนี้แหละครับ มาคราวก่อนผมเคยเห็นบ้านแบบชนบทตั้งอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งซึ่งอาบไล้ด้วยแดดสีทองของยามเช้า มีสายหมอกขาวล่องลอยอ้อยอิ่งกับฉากหลังเป็นทิวเทือกเขาจาง ๆ สวยจนต้องหยุดรถลงไปถ่ายภาพเก็บเอาไว้ แต่มาคราวนี้ไม่เห็นมีแล้ว ทำไมหนอสิ่งสวย ๆ งาม ๆ นับวันมีแต่จะสูญหาย

บนยอดดอยบุษราคัมที่ผมจะไปนี่เป็นที่ตั้งของวัดอนาลโยทิพยาราม จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้มาเห็น ผมตื่นตาตะลึงใจมากกับอาคารสถานที่ต่าง ๆ ของวัดที่วางเรียงรายอย่างได้จังหวะจะโคนไปตามแนวสันเขา ในสภาพที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ มาอีกครั้งก็อดไม่ได้ที่จะหวนมาสัมผัสความรู้สึกอย่างนั้นอีกครั้ง แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ แม้จะดูเก่าลงไปบ้าง แต่บรรยากาศทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ได้มาเดินไหว้พระท่ามกลางบรรยากาศสงบสบาย จิตใจก็แจ่มใสไม่หดหู่




จากวัดอนาลโยฯ ผมมุ่งหน้าตามทางขึ้นไปยังเขาตรีเพชร ที่ซึ่งรายทางมีการจำลองเอาสังเวชนียสถานในพระพุทธศาสนามาไว้ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้มาสักการบูชา บ่างเป็นสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ครบครัน

เหนือสุดยอดเขานั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวาร หล่อด้วยสัมฤทธิ์องค์มหึมา จากจุดชมทิวทัศน์บนยอดเขาตรีเพชร มองลงมาเห็นผืนน้ำไพศาลของกว๊านพะเยาสะท้อนแสงแดดระยิบระยับได้อย่างชัดเจน




ขากลับลงมาผมลองแวะไปที่ศูนย์กลางชุมชนบ้านสันป่าม่วงที่นี่เขามีผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาที่ชาวบ้านทำมาขาย มีทั้งตะกร้า กระเป๋า หมวก โคมไฟ อันมีจุดเริ่มต้นจากผักตบชวาที่แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำเต็มไปหมดทำให้ลำน้ำตื้นเขิน พอปี พ.ศ.๒๕๒๔  ก็มีแม่ชี ๒ รูปมาสอนวิธีนำผักตบชวามาทำเป็นเครื่องจักสาน เป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่ทำนาให้ชาวบ้าน แล้วจากนั้นก็พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากชึ้น ตามโครงการความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น เห็นแล้วก็อดควักกระเป๋าไม่ได้ ถือว่ากระจายรายได้ให้ท้องถิ่น สวย ๆ ทั้งนั้น (ผลิตภัณฑ์นะครับ ไม่ใช่คนขาย)

ผ่านมาทางบ้านงิ้ว สองข้างทางเรียงรายด้วยเพิงขายผลิตภัณฑ์จากหิน มีทั้งครกหิน (มีหูจับเหมือนถ้วยกาแฟเสียด้วย) โม่หิน ใบเสมา ลูกนิมิต และประติมากรรมรูปสัตว์ต่าง ๆ วางขายอยู่เต็ม เห็นแล้วผมก็นึกไปถึงที่เคยเห็นในเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา เขามีสถาบันสอนการแกะสลักหินเลียนแบบจากประติมากรรมขอมโบราณ ทำได้เหมือนอีกต่างหาก เป็นของที่ระลึกดีนักแล ฝรั่งซื้อกันเป็นการใหญ่

ดูแล้วพะเยาของเราก็น่าจะทำได้ครับ ตั้งโรงเรียนสอนทำประติมากรรมเลียนแบบสกุลช่างพะเยาโบราณไปเลย ขลังดีออกจะตาย แถมยังเป็นการอนุรักษ์ฝีมือสกุลช่างพะเยาไม่ให้สูญหายไปด้วยในตัว




ส่งท้ายที่ชายกว๊าน

ดวงอาทิตย์คล้อยตกใกล้ลับเหลี่ยมเขา ส่งแสงทองสะท้อนผืนน้ำงามระยับ
รู้สึกว่าหลายวันมานี่ ไม่ว่าจะไปไหน ตกเย็นผมก็จะมาเดินทอดน่องอยู่บนถนนเลียบชายกว๊านทุกที ถนนสายนี้เย็นลงก็จะเห็นผู้คนพาครอบครัวมาปูเสื่อสั่งอาหารปูเสื่อนั่งกันอยู่ตามริมน้ำ กุ้งเต้น ส้มตำ ดูจะเป็นอาหารยอดนิยม จะเห็นแม่ค้าขี่จักรยานเร่ขายบ้าง จอดขายบ้างอยู่ทั่วไป เด็กนักเรียนวิ่งเล่นกันเจี๊ยวย๊าว วัยรุ่นนั่งจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่ม คอยส่งดวงอาทิตย์กลับบ้าน
ผมนึกไปถึงเมื่อครั้งที่มาถึงกว๊านพะเยาครั้งแรกกับผองเพื่อน บรรยากาศตอนนั้นช่างคล้ายกับตอนนี้
ต่างกันอยู่ก็ตรงที่ ตอนนั้น...ไม่ได้อยากมา...แต่ต้องมา

ส่วนตอนนี้...ต้องกลับ...แต่ไม่อยากกลับน่ะสิ ทำยังไงดี...เฮ้อ


ขอขอบคุณ
พระธรรมวิมลโมลี พระอาจารย์สุวิทย์ กัลยาณธัมโม
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ
พระใบฎีกา ชินวร ชินวโร วัดศรีอุโมงค์คำ
คุณกัณหา ชำนาญยา คุณกมลรัตน์ บุญมี





เอกสารอ้างอิง
จันทร์ติ๊บ ฟูเฟือง ขวัญชัย เครือฝั้น บุญมี ใจจา มนตรา พงษ์นิล และสหัทยา วิเศษ. 
คนหาปลา ชีวิตบนผืนน้ำกว๊านพะเยา. พะเยา : อุษาการพิมพ์, ๒๕๔๖.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปะโบราณในสยาม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๗.
พระครูปริยัติกิตติคุณ. บทประเด็นน่าสนใจในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ. พะเยา : นครนิวส์การพิมพ์, ๒๕๔๖.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยา. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๘.
สุรพล ดำริห์กุล. แผ่นดินล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๙.