วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

เสวนาระหว่างการเดินทางในการทัศนศึกษา “เปิดตำนานวังหน้า จากอดีตถึงปัจจุบัน”

วัดพระแก้ววังหน้า จุดเริ่มต้นการเดินทาง


บันทึกการเสวนาระหว่างการเดินทางในการทัศนศึกษา “เปิดตำนานวังหน้า จากอดีตถึงปัจจุบัน”  ในโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ๒๕-๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยนางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และนายมิตรชัย กุลแสงเจริญ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรียบเรียงและถ่ายภาพ

การเสวนาเริ่มตั้งแต่ออกเดินทางจากวังหน้ากรุงเทพฯ  จนถึงพิษณุโลก

กรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งเหนือกำแพงเมืองฝั่งนี้สมเด็จพระมหาอุปราชท่านสร้างทั้งหมด บริเวณที่เราผ่านมาตั้งแต่คลองคูเมืองเดิมก็เป็นบ้านเรือนของข้าราชการของวังหน้ามาตลอด รวมไปถึงบ้านแขกเมืองของแขกเมืองเชียงใหม่สร้างมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุง บริเวณแถบนี้ก็ยังอยู่ในความปกครองดูแลของวังหน้าทั้งหมด วังหน้าท่านบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหมด วัดสังเวช ฯ ก็เป็นวัดที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นมาเหมือนกัน เพื่อถวายให้กับหลวงชี (พระสนมชาวเขมรที่คิดจะครองสมณเพศเป็นชี)

วัดบวรนิเวศวิหารก็สร้างขึ้นโดยในรัชกาลที่ ๓ เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าขึ้น ๒ วัด รวมเป็นวัดบวร ในที่ที่ทรงพระราชทานเพลิงให้กับพระชนนีของพระอัครชายา และก็สร้างเป็นวัดบวรนิเวศ มีพระพุทธรูปพระประธานสำคัญองค์หนึ่ง เป็นพระประธานคู่กับหลวงพ่อโต องค์นี้แสดงถึงความร่วงโรยของจังหวัดพิษณุโลกที่บ้านเมืองร้างผู้คนไปตั้งแต่ครั้งศึกพม่าสมัยกรุงธนบุรี พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายทั้งปวงก็ตากแดดตากฝนอยู่ทางเหนือ ศาลาวิหารก็ชำรุดเข้า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เลยโปรดพระราชทานให้กับพระมหาอุปราชวังหน้าอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาได้ แต่ว่าพระพุทธชินราชนั้นก็ยังอยู่ที่เดิม เมืองพิษณุโลก

เมืองพิษณุโลกมีประวัติความเป็นมายาวนานสืบต่อเนื่องจากสุโขทัยจนถึงอยุธยา ความเป็นมาของหัวเมืองในแถบภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนของแคว้นสุโขทัย ก็จะเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยที่อยู่ในที่ราบแถบหุบเขา บริเวณลุ่มลำน้ำที่เป็นที่มาของแม่น้ำเจ้าพระยา คือลุ่มลำน้ำ ๔ สาย ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน

ถ้าเราคุ้นเคย ภูมิศาสตร์แถว ๆ บริเวณลุ่มน้ำทางนั้น เราก็จะเห็นว่าลุ่มน้ำปิง อยู่ทางตะวันตกสุด มีลำน้ำวังเข้ามาเป็นสาขา รวมมาเป็นแม่น้ำปิง ทางนั้นมีเมืองสำคัญ ก็คือเมืองกำแพงเพชร และถัดมาตอนกลางก็เป็นลุ่มน้ำยม มีเมืองศรีสัชนาลัย มีเมืองสุโขทัยเป็นเมืองสำคัญ และถัดมาทางตะวันออกสุด มีแม่น้ำน่านเป็นลำน้ำที่เชื่อมต่อทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีแม่น้ำแควน้อยเป็นแม่น้ำสาขา แม่น้ำน่านบางทีก็เรียกแม่น้ำโพ พอไปรวมออกมาเป็นเจ้าพระยา เขาก็เรียกว่าปากน้ำโพ

จำลองวิถีชีวิตของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ 


บ้านเมืองแถวนี้ตอนแรกก็ไม่ได้เป็นบ้านเมือง แต่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ส่วนร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่สำนักโบราณคดี กรมศิลปกร ได้ศึกษาค้นคว้าอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ก็จะเจอแต่หลักฐานที่เก่าไปถึงยุคเหล็กตอนปลาย ช่วงนั้นก็จะมีพวกหลักฐานประเภท สำริด เครื่องเหล็ก ลูกปัดแก้ว ซึ่งมันเป็นช่วงยุคที่มีพัฒนาการมาแล้ว เช่น ลูกปัดก็ไม่ได้ทำจากหินแล้ว และเมื่อมีพัฒนาการเรื่องความรู้ในเรื่องที่จะประดิษฐ์ของอะไรที่มันเกินกว่าธรรมชาติขึ้นมาได้ในช่วงตอนปลาย ๆ

แถวพิษณุโลกก็จะมีร่องรอยหลักฐานเชื่อมต่อกับพวกสุโขทัย แถวอำเภอนครไทย ไปทางตะวันตกของพิษณุโลกที่มันเชื่อมต่อกับพวกทางแถวภาคกลาง ภาคอีสาน ที่มันมีทางต่อกันไปเข้าตามแถบหุบเขา มันก็จะพบเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ พบศิลปะถ้ำ

ศิลปะถ้ำของทางพิษณุโลกนั้นจะเป็นประเภทแกะสลักโดยส่วนใหญ่ แกะโดยใช้เครื่องมือเหล็ก และเครื่องมือเหล็กพวกนี้เขาบอกกันว่าไม่น่าจะผลิตแถว ๆ เมืองพิษณุโลกหรือแถบนี้ คิดว่าน่าจะเป็นที่นำเข้ามาจากผู้ที่มีเทคโนโลยี รู้เรื่องทางด้านเทคโนโลยีการหล่อเหล็กเป็นอย่างดี และพวกกลุ่มนี้ก็เหมือนกับพวกทำอยู่ในกลุ่มของตัวเองแล้ว

เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีการอพยพโยกย้ายไป ๆ มา ๆ ของผู้คนหลายถิ่นหลายทาง ซึ่งเป็นอย่างนี้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไปมาระหว่างเส้นทางคมนาคม ระหว่างหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกันด้วยลุ่มน้ำต่าง ๆ ซึ่งลุ่มน้ำหลักของทวีปเราเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ มีกลุ่มคนอยู่เยอะ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ทางด้านตะวันตกก็มีลุ่มน้ำสาละวิน และก็มี ๔ ลุ่มน้ำของเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำเล็ก ๆ ที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเยอะมาก ตั้งแต่ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว

ตอนแรก ๆ ก็ยังกระจายตัวบางเบา แต่ก็เห็นละว่ามีเทคโนโลยีเรื่องเครื่องโลหะที่จะประดิษฐ์พวกงานศิลปกรรมจากเครื่องเหล็กขึ้นมาได้ อย่างที่ผากระดานเลข อำเภอชาติตระการ ของจังหวัดพิษณุโลกก็จะเจอศิลปะถ้ำที่เป็นลักษณะขูดขีด เขาถึงเรียกว่าผากระดาน ส่วนถ้ำกาเล็ก ถ้ำกาใหญ่ เขาล้วง อำเภอนครไทย เจอลวดลายขูดขีดเหมือนกัน เป็นศิลปะถ้ำประเภทสลักลงไป

 นอกจากนี้ยังพบจิตรกรรมพวกฝ่ามือแดง บางทีก็จะเขียนเต็มมือบ้าง เอามือไปทาบบ้าง หรือเป่าลงไปบ้างให้มันฟุ้งกระจาย ซึ่งที่พิษณุโลกก็พบที่เนินมะปราง ที่อำเภอวังทองก็พบ แต่นั่นเป็นแบบขูดขีด เหมือนถ้ำกาเล็ก ถ้ำกาใหญ่  พวกนี้จึงพอประมวลได้ว่าอยู่ในรุ่นราวคราวเหล็กตอนปลายเมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อน แต่ว่าการพัฒนาของบ้านเมืองก็เป็นไปอย่างช้า ๆ  จนกระทั่งถึงราวประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ ก็ราว ๒๐๐๐ ปี เรื่องการขยายตัวทางการค้าในระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกมันก็เยอะขึ้น ชุมชนแถบนี้ก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ

เมืองในสมัยก่อนไม่ใช่เมืองที่มีขอบเขตแน่นหนาอะไรมากมาย บรรดาหมู่บ้านเล็ก ๆ เริ่มพัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งหลักฐานความเจริญที่มาพบอีก ก็มีหลักฐานรุ่นทวารวดี จากยุคเหล็กตอนปลายก็เริ่มเข้าสู่สมัยที่มันเริ่มก่อตัวเป็นบ้านเป็นเมือง จากการที่มันขยายตัวทางการค้าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ ซึ่งพุทธศตวรรษที่ ๖ มีการพัฒนาเรื่องการเรียนรู้เรื่องลมมรสุม การรู้เทคโนโลยีในการเดินเรือมากขึ้น ทำให้มีการค้าขายจากโลกตะวันตกคืออินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย โลกตะวันออกคือ จีน และถิ่นฐานหรือเป้าหมายที่เขาจะมา คือแถวสุวรรณภูมิ แถวนี้คือแหล่งทรัพยากร

หมู่บ้านเล็ก ๆ ตามแถบที่ราบหุบเขาเหล่านี้เอง คือแหล่งทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นของป่า หรือพวกแร่ธาตุ ทำให้หมู่บ้านเหล่านี้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น แต่ว่าการจะเป็นบ้านเป็นเมือง บูมบามใหญ่โต เหมือนทางทวารวดีภาคกลาง จนกระทั่งเห็นฟอร์มเป็นรูปเมือง เป็นคูน้ำคันดินนี่ ไม่ปรากฏเห็นแถบพิษณุโลก สุโขทัย ถ้าจะเรียกไปก็ต้องเรียกว่าเป็นชายขอบของทวารวดี

หลุมขุดค้นที่วัดชมชื่น อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  จังหวัดสุโขทัย


ท่านอาจจะได้เคยไปที่สุโขทัยกันบ้าง  วัดชมชื่น หลุมขุดค้นของกรมศิลปากร ที่นั่นมีการขุดพบหลุมศพนอนหงายเหยียดยาวหลายแห่ง แต่ว่าจากหลักฐานที่พบภายในหลุมในระดับเดียวกัน พวกนี้อยู่ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และที่บอกว่าเป็นวัฒนธรรมชายขอบของทวารวดี เราก็ทราบแล้วว่าทวารวดีเป็นช่วงที่มีการขยายตัวทางการค้า ต่อมาศาสนาเข้ามาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ เข้ามาจนกลายเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง ซึ่งศาสนาพราหมณ์ก็เข้ามาด้วยเช่นกัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมใหญ่ ๆ ก็คือการเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการฝังศพ มาเป็นการเผาศพ แต่ว่าวัฒนธรรมชายขอบทวารวดีที่สุโขทัยเขายังมีการฝังศพกันอยู่  

จากประวัติศาสตร์ของพวกทวารวดีอันยาวนาน มีความสัมพันธ์ทางเครือข่ายกระจายขึ้น จากบริเวณทางภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขึ้นไปสู่ตอนบนด้วยเหมือนกัน อาทิ พวกละโว้ ไปตั้งกลุ่มอยู่ที่หริภุญไชย เพราะฉะนั้นมันต้องมีการมีเครือข่ายติดต่อกัน กระจายขึ้นไปตามสายน้ำ ถ้าจะขึ้นจากอยุธยาไปสู่ลำพูน มันก็ต้องไปทางลำน้ำปิง อย่างน้อยที่สุดมันก็จะพบหลักฐานว่าลุ่มน้ำปิงมีความสัมพันธ์เครือข่ายติดต่อกับทวารวดี

จากหลุมที่วัดชมชื่นก็จะเห็นว่ามีเครือข่ายชุมชนอยู่ทางลุ่มแม่น้ำยม ส่วนแถวลุ่มแม่น้ำน่าน แถวพิษณุโลกมีอะไร ซึ่งแถวแม่น้ำยมมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุด ใครเคยเข้าไปดูในห้องทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พระพุทธรูปหินทวารวดีองค์ที่ใหญ่ที่สุด ที่ใส่ห้องไม่ได้ต้องประดิษฐานยืนอยู่หน้าห้อง องค์นั้นได้มาจากสุโขทัย

 บรรยากาศภายในหลุมขุดค้นวัดชมชื่น

เพราะฉะนั้นรัฐทวารวดีขึ้นไปจะแบ่งออกไปทางศิลปกรรม ไปที่แถวลุ่มแม่น้ำยมที่สุโขทัย ซึ่งก็เห็นอยู่จากหลักฐานทางด้านศิลปกรรมเหล่านี้ ส่วนทางลุ่มน้ำน่านก็จะพบร่องรอยของหลักฐานทวารวดีที่เขาสมอแครง ไม่ไกลเมืองพิษณุโลก อยู่แถวอำเภอวังทอง มีนิทานในท้องถิ่นเล่าว่าเขาสมอแครงเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ ข้างบนนั้นก็จะเจอหลักฐานศิลปกรรมอย่างน้อย ๒ สมัย มีทวารวดี และลพบุรี เขาก็จะพบบรรดาพระพุทธรูปนั่งทวารวดีแบบอีสาน

เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมการกระจายตัวของทวารวดีอาจจะไม่ได้กระจายตัวแบบล่างขึ้นบน แต่ว่าเมื่อทวารวดีกระจายไปทางอีสาน อีสานก็เข้ามาสู่ทางพิษณุโลกตามเส้นทางที่มันเป็นร่องเขาด้วย ที่อำเภอนครไทยก็พบใบเสมาแบบทวารวดี และใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีเราจะพบเฉพาะในอีสาน เราไม่พบในภาคกลาง เพราะฉะนั้นเครือข่ายเส้นทางการติดต่อมันก็มีทั้งจากล่างขึ้นบน ตะวันออกไปสู่ตะวันตก เพราะว่าเส้นทางที่จากลาว เวียดนาม ที่จะหาทางออกไปสู่ทะเล ก็คือออกไปทางทะเลอันดามัน โดยผ่านบริเวณลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ตั้งแต่แม่น้ำน่าน ยม ปิง ไปสู่แม่น้ำสาละวิน ออกไปทางทะเลอันดามัน ก็เป็นทางติดต่อ

การที่พบร่องรอยของทวารวดีในแถบนี้ มันก็ดูเหมือนว่า ที่นี่จะเป็นเหมือนสถานีการค้า สถานีอันเป็นแหล่งทรัพยากรภายใน ที่ผ่องถ่ายทรัพยากรภายในออกไป สู่สถานีการค้าภายนอกของบ้านเมืองที่อยู่ริมทะเล  เพราะเช่นนี้บ้านเมืองจึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา สุโขทัยไม่ได้งอกขึ้นมาเลย โป๊ะ ไม่ใช่อยู่ ๆ ราชวงศ์พระร่วง ศรีนาวนำถม สร้างสุโขทัยขึ้นมาทันที มันไม่ใช่ และนอกจากทวารวดี สักพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หลังพ.ศ.. ๑๑๐๐ บ้านเมืองก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ  
ศาลตาผาแดง ร่องรอยอิทธิพลเขมรโบราณกลางเมืองสุโขทัย


จนกระทั่งพวกเขมรเข้ามีอำนาจ ตั้งแต่ทะเลสาบเขมร กระจายอำนาจมาอยู่อีสานในศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔  กระทั่งศตวรรษที่ ๑๕ กระจายมาถึงภาคกลางรัฐละโว้ซึ่งเป็นรัฐสำคัญ ซึ่งเป็นบริเวณที่ทางทวารวดีมีความเจริญมาก่อน เครือข่ายที่เป็นของรัฐทวารวดีทั้งหมดทางละโว้หรือทางลพบุรีก็กระจายเครือข่ายไปทางนั้นด้วย และบ้านเล็กเมืองน้อยพวกนี้มีการกระจายตัวทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ทางลพบุรีก็เช่นกันไม่ใช่ว่าขอมมาครองหมด แต่ใช้วิธีการกระจายทางด้านเศรษฐกิจและผูกพันกันด้วยเครือข่าย อาทิ กษัตริย์เขมร หรือสุโขทัยรุ่นต้น ๆ มีความสัมพันธ์กันทางผีฟ้าเมืองศรียโสธรปุระ คือที่แถวทะเลสาบเขมร ช่วงหนึ่งเขมรมีอำนาจปกครองอยู่แถวไทยและก็มีเมืองรัฐละโว้เป็นรัฐหลัก มีการกระจายอำนาจทางการเมืองก็คงขึ้นถึงแถว ๆ บ้านเมืองชายขอบทวารวดี จนกระทั่งมีส่วนอุดหนุนให้ตั้งรัฐสุโขทัยขึ้น


จากศิลาจารึกหลักที่ ๒ บอกว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นคนสร้าง สุโขทัย – ศรีสัชนาลัยขึ้น ศรีนาวนำถุมจริง ๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นคนชาติอะไร แต่คำว่านำถุมมันเป็นจากคำไทย แปลว่า น้ำท่วม เนื่องจากเกิดตอนน้ำท่วม ในราว ๆ ปี พ.ศ.๑๘๐๐ พระเจ้าศรีนาวนำถุมได้รับการสนับสนุนหรือมีเครือข่ายกับรัฐละโว้ และก็ได้ตั้งรัฐสุโขทัยขึ้นมาท่ามกลางความเจริญที่มันค่อย ๆ พัฒนามาตั้งแต่รุ่นยุคเหล็กตอนปลาย ก่อขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเมืองในบริเวณแถวใกล้เคียงกัน บ้านเล็กเมืองน้อยมันไม่ได้ขึ้นกับอำนาจสุโขทัยตลอดเวลา และก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้มแข็งตลอดเวลาหรือมีอำนาจทางการเมืองตลอดเวลา แต่เป็นการพึ่งพิงอำนาจหลาย ๆ ทาง 


ประติมากรรมพ่อขุนผาเมือง พิพิธภัณฑ์พ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ 


พ่อขุนศรีนาวนำถุมมีราชโอรสชื่อว่า พ่อขุนผาเมือง ซึ่งได้ส่งพ่อขุนผาเมืองไปปกครองเมืองซึ่งได้ชื่อว่าเจ้าเมืองราด เมืองลุง สองเมือง ซึ่งก็หมายถึงว่าทางนู้นก็มีบ้านเล็กเมืองน้อย ซึ่งเมืองที่เป็นราชธานีก็จะมีเมืองที่อยู่ใต้การปกครองอยู่หลายเมือง เมื่อสิ้นพ่อขุนศรีนาวนำถุม ขอมสบาดโขลญลำพง กษัตริย์ที่มีอำนาจ ขอมสบาดโขลญลำพงได้รวบอำนาจการเมือง

พ่อขุนผาเมืองได้สหายสนิท ช่วยการรบชิงเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพง พ่อขุนผาเมืองมีสหายที่ชื่อว่า พ่อขุนบางกลางหาวมาช่วยรบ พ่อขุนบางกลางหาวเข้าเมืองสุโขทัยได้ก่อน ถึงแม้จะเข้าเมืองได้ก่อน แต่ด้วยความที่ไม่ใช่เมืองของตัวเอง เป็นเมืองของพ่อตา เพราะฉะนั้นจึงคืนเมืองให้กับพ่อขุนผาเมือง แต่ปรากฏว่าพ่อขุนผาเมืองไม่รับ พ่อขุนผาเมืองยกเมืองให้กับพ่อขุนบางกลางหาวให้ครองเมืองไปเลย พร้อมมอบของ ๒ สิ่งให้คือ 

๑. พระแสงขรรค์ชัยศรี 
๒. นาม “ศรีบดินทรอินทราทิตย์” ซึ่งได้รับพระราชทานมากจากขอม 

หมายความว่า พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกเขยของกษัตริย์ขอม ขอมจึงพระราชทานให้จากผีฟ้าเมืองศรีโสธรปุระ จากนั้นผู้คนจึงสงสัยว่าทำไมจึงยอม ทั้งที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน ทำไมจึงยอมยกลูกสาวให้กับเจ้าเมืองเล็ก ๆ คนหนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่าขณะนั้น เมืองเขมรเสื่อมอำนาจลงแล้ว 

กรุงสุโขทัยรุ่งเรืองขึ้นในยุคสมัยที่เขมรเริ่มเสื่อมอำนาจลง  


นักวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ตีความว่าการที่กรุงสุโขทัยขึ้นได้นั้น มีปัจจัยหลักคือ อำนาจ ๒ แห่งขณะนั้นมันเสื่อมอำนาจลง สุโขทัยอยู่ตรงกลางจึงขึ้นมาได้ อำนาจแรกคือเขมร เสื่อมอำนาจลง อำนาจที่สองคือพุกาม ถูกมองโกลโจมตี เพราะฉะนั้นคู่อำนาจทั้งคู่ลดลง สุโขทัยจึงขึ้นมาได้ในกรณีนี้ 

และเป็นข้อให้คิดต่อว่าแล้วทำไมพ่อขุนผาเมืองจึงไม่ครองเมืองสุโขทัยเอง นักประวัติศาสตร์จึงคาดเดาว่า 

๑.เพราะตัวเองเป็นลูกเขยของกษัตริย์ขอมหรือไม่ ในเมื่อเพิ่งไล่ขอมสบาดโขลญลำพงไป แล้วถ้าตัวเองจะขึ้นครองราชย์ก็ต้องมีผีฟ้าเมืองศรีโสธรปุระเป็นพ่อตาก็ยังต้องเกรงใจเขมรอยู่ เพราะฉะนั้นอิทธิพลของเขมรก็ยังต้องคลุมอยู่อย่างนั้น 

๒. หรือเพราะท่านไปครองเมืองที่มีอำนาจใหญ่กว่าสุโขทัยหรือไม่ หรือหมายความว่า เมืองราชเมืองลุม อาจเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากกว่า นครพนมที่อยู่เขมรคงไม่หายไปไหนแน่ เพราะว่าสายสกุลตัวเองตั้งขึ้นมาคงไม่น่าจะหายไปได้ และคงจะเกรงในบารมีพ่อขุนบางกลางหาว และดูเหมือนจะเป็นนักรบที่มีความเข้มแข็งด้วยกันทั้งคู่ 

สองตระกูลนี้ระหว่างตระกูลศรีนาวนำถุมและตระกูลพระร่วงของพ่อขุนบางกลางหาวมีอำนาจควบคู่กันมา แต่คิดว่าทั้งสองคู่อำนาจในระยะเริ่มต้นก็อยู่กันด้วยอย่างมีไมตรีต่อกัน มีดินแดนในความครอบครองต่างกัน อยู่คนละลุ่มแม่น้ำกัน เพราะว่าศรีนาวนำถุมรากฐานดั้งเดิมน่าจะมาจากลุ่มแม่น้ำน่าน ในขณะที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตระกูลพระร่วงได้มาครอบครองเป็นใหญ่อยู่สุโขทัย ซึ่งสองตระกูลก็ได้เกื้อกูลกันมา เพราะจริง ๆ แล้วก็น่าจะเป็นเครือญาติกัน 

วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  

พ่อขุนผาเมืองเหมือนหายไปในประวัติศาสตร์ แต่ว่าอย่างไรก็ดีเครือข่ายก็ยังอยู่ พ่อขุนผาเมืองมีลูกเป็นเจ้าเมืองสรวงสองแคว โดยมีเรื่องเล่าว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาเกิดที่เมืองสรวงสองแคว ซึ่งดร.ประเสริฐ ก็ได้แย้งว่า คน ๆ เดียวจะเกิดทั้งสองเมืองไม่ได้ ซึ่งพิษณุโลกก็ได้เรียนกันมาว่า สรวงสองแควตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งน่าจะหมายถึงที่แห่งเดียวก็คือที่ จังหวัดพิษณุโลก การที่พระยาคำแหงพระรามครองเมืองสรวง มันบ่งบอกว่าพวกต้นตระกูลศรีนาวนำถุมจะเป็นใหญ่อยู่แถว ๆ บริเวณนี้ จากจารึกวัดศรีชุม พระมหาเถรศรีศรัทธาเป็นนักรบมาตั้งแต่อายุ ๑๗ – ๑๘ ปี และสมัยอายุ ๒๖ ปี ยังไปช่วยพระยาเลอไท ลูกพ่อขุนรามคำแหงในการรบ ก็แสดงว่า ๒ ตระกูลนี้เป็นมิตรกันมาจนถึงยุคพระยาเลอไท

            ในประเด็นที่บอกว่าคนเราจะเกิด ๒ เมืองได้ไหม ถ้าเรากลับมาคิดว่าก่อนที่เราจะแยกระหว่าง กรุงเทพฯ กับ ธนบุรี ออกจากกัน เราก็ยังเป็นเมืองพระนครกับเมืองธนบุรี เพราะฉะนั้นถ้าเราอ่านเอกสารก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่า ชื่อนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เพราะฉะนั้นจะเป็น ๒ เมือง แต่มันถูกรวมให้เป็นเมืองเดียวกันแล้ว แต่ว่ายังทิ้งชื่อเดิมอยู่ด้วย

            แต่มันใกล้กันระหว่างกรุงเทพฯ กับ กรุงธนบุรี เพียงแค่ข้ามฝั่งแม่น้ำ นักวิชาการบอกว่าถ้าเราจะคิดว่ามันเป็นเมืองเดียวกันพวกเราก็ยังเชื่อว่าเป็นเมืองเดียวกันอยู่แต่คนละฝั่งแม่น้ำก็แล้วกัน ที่เรียกพิษณุโลกว่า สองแคว เพราะมีแม่น้ำ ๒ สาย คือ แควน้อย แควใหญ่ แม่น้ำแควน้อยเป็นสาขาของแม่น้ำน่านมันจะไหลไปทางหลังเมือง และเขาได้ขุดคลองให้มันต่อกับแม่น้ำน่าน แม่น้ำเลยวิ่งมาทางคลอง แม่น้ำแควน้อยเลยตื้นไป อยู่ดี ๆ  พระมหาเถรศรีศรัทธาผู้เป็นนักรบที่เก่งมากอยู่ดี ๆ สละลูกและเมียหนีไปบวชที่ลังกา ไปลบศักราชที่ลังกา สุดท้ายกลับมาเมืองไทย สมัยก่อนอยู่ในอำนาจเขมร เขมรนับถือศาสนาฝ่ายมหายาน จนพวกสุโขทัยมาเปลี่ยนเป็น พุทธศาสนาเถรวาท สายลังกาวงศ์ มาตั้งแต่รุ่นพระเจ้ารามคำแหง 

               เมื่อพระมหาเถรศรีศรัทธากลับมาที่ไทยท่านได้จารึกไว้ว่า ท่านไปไหนท่านผ่านอะไรมาบ้าง ทำให้เรารู้ว่าเรารู้จักพระปฐมเจดีย์มานานแล้ว เรารู้จักเมืองอโยธยาศรีรามเทพนครจากจารึกของท่าน แสดงว่าเมืองนครปฐมเดิมกับอยุธยาเดิมดีอยู่แล้ว อโยธยาศรีรามเทพนครนั้นเป็นเมืองที่ปู่ท่านสร้างเอาไว้ ปู่ของท่านคือ พ่อขุนผาเมือง จากนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นปกครองบ้านเมือง พ.ศ. ๑๗๘๐ โดยประมาณ และเมื่อท่านสิ้นพระชนม์ ลูกชายคนโตชื่อพ่อขุนบาลเมืองซึ่งสิ้นเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ จนมาถึงพ่อขุนรามคำแหง เรารู้จักพ่อขุนรามคำแหงได้จากศิลาจารึกหลักที่ ๑ 

อักษรไทยที่ปรากฏบนศิลาจารึกสุโขทัย

               ตอนเด็ก ๆ  เราะเห็นภาพศิลาจารึกอยู่ในหนังสือเรียนซึ่งดูใหญ่มาก แต่พอของจริงจะเล็ก ๆ ประมาณ ๑๑๐ เซนติเมตร แต่เรื่องราวที่ถูกจารึกใน ๑๑๐ เซนติเมตร ทั้ง ๔ ด้าน เป็นเรื่องราวที่ทำให้เราได้ทราบประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้นมาได้ และเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบที่ทุกคนต้องเรียน พ่อขุนรามคำแหงมีอำนาจตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี ตอนที่ไปชนช้างกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ถ้าพูดถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะรู้จักจากศิลาจารึกมีบอกว่า พ่อขุนรามคำแหงทำยุทธหัตถีขึ้นครั้งแรกกับขุนสามชนตีความได้ว่าอย่างนี้ ปรากฏว่ามีการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดตาก และราชกรณีกิจสำคัญของพ่อขุนรามคำแหงที่เรารู้จักก็คือ การประดิษฐ์อักษรไทย ในปี พ.ศ. ๑๘๒๖ แต่มาเริ่มเขียนจริง ๆ เริ่มจารึกในหลักนี้ในปี พ.ศ.๑๘๓๕ 

                 เราจึงมาพูดประเด็นกันว่าแล้วศิลาจารึกที่เราเชื่อกันมาตลอดแต่เด็กว่าศิลาจารึกนี้จริง ซึ่งก็มี ๒ ทฤษฎี ศิลาจารึกนี้ทำขึ้นในสมัยสุโขทัยกับสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ในความคิดผม ผมคิดว่านี่ต้องเป็นศิลาจารึกจริง เพราะทำขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นศิลาจารึกที่ตัวอักษรไม่เหมือนชาวบ้าน เป็นตัวอักษรหลักเดียว สระ พยัญชนะ อยู่บรรทัดเดียวกัน แต่ว่ากรมศิลปากรพิสูจน์และมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ด้วย ศิลาจารึกนี้ที่คิดว่าจริง เพราะการเขียนตัวอักษรแบบนี้นอกจากเราเจอจารึกหลักที่ ๑ แล้วเราจะเจอจารึกอีกหลักนึง น่าจะอยู่ที่จังหวัดแพร่ แล้วจารึกที่เราเจอหรือที่พูดถึงกันอยู่เจอหลังจากรัชกาลที่ ๔ มา เพราะว่ามีการตีความของข้อความทั้งหมดในศิลาจารึก ซึ่งมันสอดคล้องกับการเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๔ 

                  แต่ถ้าเรามาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสุโขทัยถึงเปิดการค้าแบบนี้ ซึ่งถ้าเรามองสภาพกายภาพทางภูมิศาสตร์ของสุโขทัย เราจะเห็นว่ามันเป็นพื้นที่ตอนใน แม่น้ำยมคือแม่น้ำลำพันเล็ก ๆ และดินแดนแถบนั้นเป็นดินแดนที่จะค้าขายกับเพื่อนบ้านค่อนข้างลำบาก เพราะฉะนั้นสุโขทัยอาจจะต้องเรียกพ่อค้าจากที่อื่นให้มาค้าขายในสุโขทัยมากขึ้น โดยการไม่เก็บภาษี ทำให้พ่อค้าทั้งหลายยอมมาทางนี้ และเมื่อมากันมากขึ้น สุโขทัยจึงมีความเจริญยิ่งขึ้น เราจึงตีความว่าเป็นวิสัยทัศน์ของพ่อขุนรามคำแหง เหมือนกับสิงคโปร์ แต่ก่อนไม่มีอะไรเลย แต่ไม่มีการเก็บภาษี ฮ่องกงก็เช่นกัน ทำให้ดึงคนเข้ามาเยอะ จนภายในก็สามารถยืนอยู่ขึ้นเองโดยอัตโนมัติ 

พ่อขุนรามคำแหง 

                จากนั้นในกระบวนการค้าอย่างนึงโดยเห็นจากประวัติของพ่อขุนรามคำแหง ได้เสียลูกสาวให้เจ้าเมืองมอญ เมืองมะกะโทพ่อค้าชาวมอญ เดินทางเข้ามาค้าขาย ก็จะเห็นว่ามันมีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างในแนวขวาง ตะวันตกมาตะวันออก ตะวันออกมาตะวันตก ไม่ได้มาจากทางใต้อย่างเดียว ทางอีสานก็คงเป็นลักษณะเดียวกันด้วย ซึ่งเครือข่ายการค้าเล็ก ๆ มันไม่มีการเล่ากันมาในพงศวดาร แต่ว่ามันมีสืบต่อมาจนถึงใกล้ระยะปัจจุบัน ที่เรียกกันว่า พ่อค้าวัวต่างม้าต่าง ที่เดินทางกันมาค้าขายบ้านเล็กเมืองน้อยมันเข้าไปหมด เพื่อที่จะเอาสินค้าเข้าไปขายในถิ่นที่เขาไม่มีสินค้านั้น ๆ ซึ่งก็สามารถทำกำไรได้ไม่น้อย แต่ต้องมีความกล้าหาญและผู้นำการค้าที่ดี ๆ พอสมควร และรัฐน่าจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนในลักษณะการค้าหลัก เวลาผมอธิบายให้ลูกศิษย์ฟังผมก็จะบอกว่า ลองนึกถึงสี่แยกใหญ่ ๆ ที่มีหลักกิโลขึ้นอยู่และบอกถึงไปทางเหนือกี่กิโล ใต้ ตะวันออก ตะวันตก กี่กิโล ซึ่งตรงนั้นมันจะแสดงความสัมพันธ์ต่าง ๆ และอย่างที่บอก ถ้าสุโขทัยไม่มีเครื่องสำริด ไม่มีเหล็ก ไม่มีอะไรเหล่านี้สุโขทัยจะไปเอามาจากไหน

             หลังจากที่ผมมาทริปอยุธยาครั้งที่แล้ว  ซึ่งท่านอธิบดีกรมศิลปกรได้คุยกับผม และขอให้ผมไปสุรินทร์ด้วย แต่ท่านติดธุระทำให้ไม่ได้ไป ทั้งทริปนั้นผมไปกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่โคราช เราเคยเจอแหล่งถลุงเหล็กที่สุรินทร์ มันมหาศาลมาก คงเป็น ๑๐๐ ไร่เลย สันนิษฐานกันว่าคงจะเป็นช่วงยุคเหล็กปลาย ๆ เพราะฉะนั้นแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ คงจะเป็นเมืองที่เป็นอุตสาหกรรมเหล็กใหญ่โต ซึ่งเป็นอารยธรรมที่มีการค้าขายระหว่างตะวันออก และตะวันตก


พระพุทธสุโขทัยไตรมิตร ปฏิมากรรมสุโขทัยอันงดงาม


                สุโขทัยจึงได้ขึ้นชื่อความแจ่มแจ๋ว เพราะด้วยว่าสุโขทัยมีพระพุทธรูปขึ้นถึงอันดันหนึ่งของแผ่นดิน เทคนิคการหล่อที่ยอดเยี่ยม และการที่รวบรวมผู้คนที่มีเทคโนโลยีทางด้านสำริด ทางด้านเหล็กมาเป็นพื้นฐาน เชื่อว่ามันมีพัฒนาการขึ้นมาเป็นช่างฝีมือสุโขทัย จนถึงยุคคลาสสิกของไทย นอกเหนือไปจากความศรัทธา การเปลี่ยนศาสนาที่พึ่งพิงทางอำนาจมาเป็นศาสนาที่เข้าถึงความลึกซึ้งความสงบของจิตใจ ส่วนเรื่องพระพุทธรูปนอกจากจะงามมากแล้ว ลักษณะการทรงตัวของพระพุทธรูป เพราะว่าน้ำหนักจะทิ้งอยู่ที่เท้าข้างเดียว ส่วนเท้าที่ข้างหลังเป็นแค่ตัวเสริม เพราะฉะนั้นคนไทยเก่งมากที่หล่อพระพุทธรูปให้ดูสมดุลมากขนาดนี้ แสดงว่าสุโขทัยไม่ได้เพิ่งเกิด แต่น่าจะมีแหล่งพัฒนาการมานานแล้ว ซึ่งเราต้องพยายามมองผ่านวัตถุรอบ ๆ ถึงจะมองเห็นการพัฒนาในส่วนนี้

             มาต่อกันเรื่องพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งสองตระกูลที่ว่าไปนั้น ดีต่อกันจนถึงยุคพระยาเลอไท พระยาเลอไทท่านเป็นพระราชกุมาร พระราชบุตรของพ่อขุนรามคำแหง แต่ว่าช่วงพ่อขุนรามคำแหงท่านมีอำนาจเป็นพระอนุชาที่ขึ้นครองราชย์ได้ แต่ว่าพระยาเลอไททรงไม่ขึ้นครองราชย์ เพราะเห็นว่าลูกของพ่อขุนบานเมืองเขาก็มี  บีบพระยาเลอไทให้ออกไปบวช แล้วขึ้นครองสุโขทัยเอง แต่ว่าเชื้อสายของพ่อขุนรามคำแหงเขาก็ยังอยู่ครองเมืองนั้นเมืองนี้ 

             พระยาลิไทท่านขึ้นครองราชย์ที่ศรีสัชนาลัย และได้ครอบครองเป็นใหญ่เหนือสุโขทัยด้วยวิธีเอาไพร่พลมาระดมพลฟันประตูเมืองสุโขทัย ถึงได้ครอบครองสุโขทัย เมืองสุโขทัยไม่ใช่เมืองสงบ แต่ว่าได้มีการแย่งชิงอำนาจกันมา อย่าว่าแต่ต่างตระกูล ลูกพี่ลูกน้องยังรบกันเองเลย ซึ่งศัตรูในที่นี้นักวิชาการก็ตีความมาละว่าคงเป็นตระกูลศรีนาวนำถุม เพราะว่าเมื่อพระยาลิไทขึ้นมาก็ปรากฏว่าไปสร้างพระมหาธาตุที่นครชุม ที่จังหวัดกำแพงเพชร แปลว่าเอาศาสนาไปสร้างความมั่นคงทางการเมือง  และยกคนไปตีฝั่งตะวันออก เพราะกำแพงเพชรอยู่ฝั่งตะวันตกลุ่มแม่น้ำปิงและยังไปตีเมืองสรวงสองแควได้ และตีป่าสักด้วยเลยไปชนกับอยุธยา พอไปตีสรวงสองแคว 

              จากนั้นได้ลดอำนาจของราชวงศ์ศรีนาวนำถุม ทำให้พระมหาเถรศรีศรัทธาเมื่ออายุ ๒๙ – ๓๐ ปี สละแล้วซึ่งราชบุตรและภรรยาและออกบวช ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวและก็มีหลักฐานเดียวนี่แหละที่จารึกไว้อยู่ในอุโมงค์วัดศรีชุม เป็นเรื่องเดียวที่ประกาศถึงความเป็นมาของตระกูลศรีนาวนำถุม ตั้งแต่พระเจ้าศรีนาวนำถุม ความเก่งกล้าของพ่อขุนผาเมือง และพระมหาเถรศรีศรัทธาเป็นคนบอกเลยว่า พระเจ้าศรีนาวนำถุมปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนสร้างสุโขทัยมา เสมือนเป็นการทวงสิทธิ์หรือบอกให้รู้แจ้งไว้ว่าการที่เสียบ้านเสียเมือง ราชวงศ์ศรีนาวนำถุมเป็นผู้มีสิทธิ์มาแต่ก่อน จนมาถึงบัดนี้พระยาลิไทผู้มีความรู้ความสามารถในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี ได้ใช้ทางศาสนามาในเชิงการเมืองด้วย และก็ตัวเองไม่ใช่จะสุขสงบอยู่ในศาสนา แต่ว่าเป็นหนึ่งที่ตั้งใจจะเป็นพระจักรพรรดิราชเหมือนกัน ขยายอำนาจและพยายามที่จะครองเมืองให้ใหญ่เหมือนครั้งสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ว่าไปไม่ถึงอย่างที่คาดเอาไว้

กำแพงเพชร เมืองหน้าด่านระหว่างสองอาณาจักร สุโขทัยและอยุธยา 

               เวลาผมสอนเด็กผมจะบอกว่า อย่าคิดว่าสุโขทัยล่มแล้วในขณะที่อยุธยากำลังเจริญรุ่งเรืองขึ้นในขณะนั้นอยุธยาก็เกิดขึ้นแล้วเหมือนกัน เพราะสมัยของพญาลิไท ปี พ.ศ. ๑๙๐๐ อยุธยาตั้งขึ้น ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ มันจะไล่ ๆ กันถือว่าเป็นเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ในตอนนั้นซึ่ง ๒ เมืองนี้แผ่อำนาจกัน สุโขทัยพยายามที่จะแผ่ลงมา อยุธยาก็พยายามที่จะแผ่ขึ้นไป ซึ่งข้างบนอันเป็นแหล่งทรัพยากรของกรุงศรีอยุธยาเป็นแหล่งเมืองค้าเมืองขาย จึงคิดจะเอามาไว้ครอบครองให้ได้ ในขณะนั้นอยู่ในช่วงของพระยาลิไท ปี พ.ศ. ๑๙๐๐ ทางสุโขทัยแห้งแล้ง ข้าวไม่พอ อยุธยาจึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าขายข้าวเอาข้าวไปขายยังกำแพงเพชรและพิษณุโลกและพยายามที่จะตีเมือง ซึ่งก็สามารถยึดเอากำแพงเพชรได้ในช่วงนั้น ตีได้เพราะว่าเอาพระพุทธรูปองค์สำคัญมา แถมการตีครั้งนั้นยังได้ไถ่เมืองเชลียงและยังได้น้องสาวพระยาลิไทอีกด้วย

              เพราะฉะนั้นการสร้างเครือข่ายอำนาจของอยุธยาก็เริ่มใช้ระบบเครือข่ายญาติเข้าไปช่วยทางด้านการเมือง ส่วนการตีเมืองหลังจากตีขึ้นไปได้พระยาลิไทจึงใช้ศาสนาเป็นตัวนำในการขอบิณฑบาตเมือง ปรากฏว่าทางอยุธยาให้อนุญาต แต่มีการจำกัดราชอำนาจของพระยาลิไท คือท่านจะไม่ได้ครองสุโขทัยแล้ว ท่านต้องมาครองอยู่ที่พิษณุโลก ๗ ปี และขณะสุโขทัยมีพระมหาเทวีครอง เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์สุโขทัยที่ไม่มีใครพูดถึง คือมีสตรีครองเมืองอยู่ถึง ๗ ปี 

                เพราะฉะนั้นพระราชอำนาจ พระราชเดชานุภาพของพระยาลิไทถูกอยุธยาลด จึงต้องพยายามหาเครือข่ายใหม่ โดยใช้พุทธศาสนาเป็นตัวนำ ไปสร้างศาสนสถานเอาไว้ แล้วก็เกณฑ์ผู้คนทั้งหมดแห่กันไปทำบุญ และแสดงเดชานุภาพทางด้านศาสนา เพราะว่าทางการเมืองการทหารสู้อยุธยาไม่ได้แล้ว เนื่องจากถูกลดบทบาทลง ซึ่งก็ได้ฉายาพระมหาธรรมราชามาเป็นพระเกียรติยศ พระราชพงศาวดารเหนือเขาเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เป็นผู้ที่รู้พระธรรมเป็นอย่างดี 

                 แต่ว่าดวงของพระยาลิไทก็ไม่ได้ตก เพราะว่าอยุธยาเพิ่งขึ้นเพราะการขึ้นครองราชย์สมัยก่อนไม่ได้สืบสันตติวงศ์ แต่เป็นการชิงกันขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นพระเจ้าอู่ทองมีอำนาจอยู่พอได้ขึ้นครองราชย์ก็ได้มีลูกชายคือ สมเด็จพระราเมศวร พอขึ้นครองราชย์ขุนหลวงพะงั่วยกมาแต่สุพรรณภูมิก็ถวายเมือง เพราะว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในเมืองที่ข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์เหมือนสุพรรณบุรี จะเอาพละกำลังไหนไปรบ ซึ่งขุนหลวงพะงั่วมีอำนาจราชศักดิ์มาก เลยขึ้นครองราชย์ไปก่อน ทางสุโขทัยเลยมีโอกาส ช่วงนั้นเป็นช่วงไม่กี่ปี เมื่อตอนที่พระราเมศวรกลับมา คนที่ควบคุมอยู่ทางสุโขทัยซึ่งเป็นสายของสุพรรณภูมิ พญาลิไทได้ทีก็ขึ้นมาทันที ซึ่งในจารึกอ้างว่าจะไปนมัสการพระบาท รวบรวมคนเยอะแยะเพื่อเตรียมจะกลับไปสุโขทัย ออกจากพิษณุโลกไปยังสุโขทัยเพื่อไปนมัสการพระบาท ก็เท่ากับว่ากลับมาที่สุโขทัย เพราะฉะนั้นก็จะเป็นราชธานีของสุโขทัยอยู่ประมาณ ๗ ปี  

ความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีอยุธยามีผลต่อสุโขทัยอย่างมาก 

               ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นมาเป็นไปของสุโขทัยมันขึ้นอยู่กับความเป็นมาเป็นไปของอยุธยาด้วย ว่าใครขึ้นครองราชย์ เพราะตอนขุนหลวงพะงั่วขึ้นยึดอำนาจจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ คือ พระราเมศวร ลูกของพระเจ้าอู่ทอง พอได้อำนาจก็ยกพลขึ้นไปทางเหนือเลย ทั้งยังได้สุโขทัยไว้อีก และถัดจากนั้นจนสมเด็จพระศรีนครินทราธิราชเข้ามาครองที่อยุธยา และขึ้นไปสุโขทัยเพื่อจัดการให้พระมหาธรรมราชาที ๔ บรมปาล ได้ครองพิษณุโลก ช่วงที่ขุนหลวงพะงั่วมายึดสุโขทัยตอนนั้นท่านขึ้นครองราชย์ เรียกว่า พระบรมราชาธิราช มายึดเมืองเหนือและท่านมาได้ชายาที่เป็นสตรีของสุโขทัย มีพระราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ พระศรีเทพาหูราช ได้ขึ้นครองสุโขทัยอยู่พักหนึ่ง ดูแลแทนราชวงศ์สุพรรณภูมิอยู่ที่สุโขทัย 

                 จนกระทั่งพระราเมศวรขึ้นครองอีกหนหนึ่ง พอพระราเมศวรขึ้นครองอีกหนหนึ่งสุโขทัยเลยสบาย ซึ่งมันก็จะมีระยะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสุโขทัยและอยุธยาจนตลอด ในช่วงพระราเมศวรขึ้นครองราชย์ครั้งที่ ๒ ราชวงศ์สุพรรณภูมิก็ต้องเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ที่สุพรรณภูมิ แต่ว่าก็คงจะร่วมกันกับสุโขทัย และก็ยังเป็นพวกที่มีความอิสระและได้ส่งสมเด็จพระศรีนครินทราธิราชจากสุพรรณภูมิมาตีและขึ้นครองอยุธยา เพราะฉะนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิได้ครองอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ส่งให้ไปจัดการเมืองเล็ก ส่งลูกหลานให้ไปครองเมืองต่าง ๆ ก็เรียกว่าค่อย ๆ เข้าไปครอบครองสุโขทัย ซึ่งในระยะนั้นเมืองพิษณุโลกก็เริ่มเป็นเมืองสำคัญเป็นราชธานี ของราชวงศ์สุโขทัย 

                   จนกระทั่งถึงพระมหาธรรมราชาไสยลือไทยสวรรคต สมเด็จพระศรีนครินทราธิราชก็ขึ้นไประงับความขัดแย้ง และเอาพระสามพระยาขึ้นไปครองที่ชัยนาท จนถึงสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เพราะว่าตอนที่สมเด็จพระศรีนครินทราธิราชสิ้นพระชนม์ เจ้ายี่พระยา เจ้าสามพระยา ต่าง ๆ มารบแย่งชิงอำนาจกัน จนเป็นที่มาของวัดราชบูรณะ ซึ่งเจ้าสามพระยาอาจจะอยากมารบด้วย แต่ด้วยความที่มาไกล ทำให้เมื่อมาถึงต้องมาเก็บศพของพี่ ๆ แทน กลายเป็นว่าพระเจ้าสามพระยาได้ขึ้นครองราชย์เองเลย ซึ่งพระเจ้าสามพระยานั้นเป็นลูกครึ่งระหว่างอยุธยากับ สุโขทัยก็ได้ขึ้นครองอยุธยาเป็นพระบรมราชาธิราชย์ที่ ๒ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทางสุโขทัยมีสายราชวงศ์สุโขทัยปกครอง คือ พระบรมปาล พอพระบรมปาลสิ้น เลยโปรดให้พระราเมศวรขึ้นไปครองแทน 

 ปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ 

                    จากนั้นมีน้ำพระเนตรของพระพุทธชินราชตกเป็นพระโลหิต กลายเป็นว่าชาวเหนือเสียใจกันมากที่ว่าต่อไปนี้ไม่มีเชื่อสายของสุโขทัยปกครองอีกต่อไป ซึ่งเขาส่งเชื้อสายของทางอยุธยาไปปกครองอยู่ที่เมืองพิษณุโลกแทน และต่อมาพระราเมศวรได้ครองพิษณุโลก แล้วเมื่อสิ้นพระชนม์พระบรมราชาธิราชที่ ๒ ก็ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถความจริงท่านเติบโตอยู่ที่พิษณุโลก ท่านมีเชื้อสายใกล้ชิดพี่น้องอยู่ที่พิษณุโลก เคยสัญญากันแต่เด็ก ๆ ไว้ว่าเมื่อไหร่ที่ขึ้นครองราชย์จะยกให้เป็นพระมหาอุปราช ซึ่งไปสัญญากับพระยายุธิษฐิระเอาไว้ แต่ว่าพอตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยาแล้ว หาได้ตั้งเป็นพระมหาราชาตามประเพณีธรรมเนียมของกรุงสุโขทัยสืบมาไม่ เพียงแต่ว่าเป็นหัวเมืองอยู่ขึ้นกับอยุธยาเท่านั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการให้ไม่พอใจอย่างแรง เพราะฉะนั้นพระยุธิษฐิระซึ่งเป็นราชวงศ์ของกษัตริย์อยุธยาของพระบรมไตรโลกนาถ ก็ไปเข้ากับล้านนา เข้ากับพระเจ้าติโลกราช ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน 

                    ถึงตอนที่พระบรมไตรโลกนาถท่านได้เสด็จขึ้นครองอยุธยานะ ติดค้างคำสัญญากับพระยายุธิษเสถียรไว้ว่าจะยกให้เป็นพระมหาอุปราช แต่แล้วก็ไม่ได้ยกให้เป็นพระมหาอุปราช แต่ว่าได้ขบคิดในเรื่องการปกครองอยู่ไม่ใช่น้อย พระบรมไตรโลกนาถมีแนวคิดที่จะรวมศูนย์การปกครอง ก็เลยมานั่งเขียนกฏหมายอะไรต่าง ๆ ใหม่ แล้วก็หมายความว่าสำหรับสุโขทัยแล้ว ก็จะเป็นแค่เมือง ๆ หนึ่งที่ขึ้นต่ออยุธยา 

                     พระยายุทธิเสถียรไม่ได้เป็นพระมหาธรรมราชาขึ้นครองโดยธรรมเนียมต่อจากสายตระกูลก็โกรธ จึงขึ้นไปหาพระเจ้าติโลกราช แล้วพระเจ้าติโลกราชพระองค์นี้ในครั้งล้านนานักวิชาการเค้าเปรียบกันระหว่างพระบรมไตรโลกนาถกับพระเจ้าติโลกราช ว่าทั้งคู่มีพระราชอำนาจด้วยกันทั้งคู่ ชื่อเสียงเรียงนามก็มีคล้าย ๆ กัน พระบรมไตรโลกนาถเนี่ยหมายถึง สามโลก พระเจ้าติโลกราชก็หมายถึง สามโลก คือเป็นพระมหาจักรพรรดิที่ครองได้ทั้งสามโลก แล้วก็องค์นึงแต่งพระมหาชาติคำหลวง องค์นึงก็ทำสังคายนา คือว่ามีความยิ่งใหญ่ในทางวรรณกรรมและศาสนาคล้าย ๆ กัน ล้านนาในช่วงพระเจ้าติโลกราชเนี่ยถือว่าเป็นยุคทองของล้านนาเลย มีอำนาจเข้มแข็ง มีวรรณกรรม มีศาสนารุ่งเรือง ถือว่าเป็นศัตรูชั้นเอก 

                      พระยายุทธิเสถียรเข้าไปหาพระเจ้าติโลกราชแล้วก็ถามว่าจะเอาเมืองไปออก จะให้ตัวน่ะเป็นอะไร พระเจ้าติโลกราชก็ดีใจมากเห็นทางที่จะลงไปได้อำนาจจากทางภาคกลางแล้ว จะแผ่อำนาจออกไปเหมือนกัน แล้วก็ว่าเผลอ ๆ จะลงไปถึงอยุธยาสักหน่อย ก็เลยบอกว่า จะให้เป็นพระลูกเจ้า พระยายุทธิเสถียรก็ยอมออกไป แล้วก็ชักศึกลงมาตีเอาเมืองสุโขทัย ตีเชลียง แต่ว่าไม่ได้ ตีไม่ได้ก็กวาดเอาผู้เอาคนไป แล้วก็ยกพระยายุธิษเสถียรเนี่ยให้ครองเมืองพะเยา พระบรมไตรโลกนาถก็บอกเอาละสิ ต้องขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวให้อาจารย์หมูเล่าเรื่องตอนที่พระบรมไตรโลกนาถมารับศึกที่พิษณุโลก ซึ่งตอนนี้เนี่ยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของอยุธยาแล้ว เจ้าล้านนามาตีถึงที่แล้วไม่ได้มาเปล่าๆ มาพร้อมคนในที่รู้เส้นสนกลในดี ตรงนี้เนี่ยเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่อยุธยาจะเสียไม่ได้ เพราะเหตุนั้นจึงได้มีการเกือบจะย้ายเมืองหลวงนะคะ เดี๋ยวให้จารย์หมูเล่าให้ฟัง ตรงนี้คงถนัดมากแน่ 

 วัดจุฬามณี พิษณุโลก

                     ไม่ถนัดเท่าไหร่ครับ ปกติผมจะไม่ค่อยหลบมาก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอยู่ที่อยุธยาไม่ได้แล้ว เพราะว่าทางเมืองหลวงเนี่ยจ่อมาจนถึงพิษณุโลก เพราะฉะนั้นท่านจะต้องเสด็จขึ้นไปประทับว่าราชการที่นู่นเลย เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงไปประทับอยู่ที่พิษณุโลก พิษณุโลกในขณะนั้นจึงเป็นเมืองหลวงของกรุงศรีอยุธยา แล้วอยุธยามีใครอยู่ ให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ครองอยุธยาแทน สืบเนื่องไปว่าท่านไปว่าราชการนู่น การรบระหว่างสองฝ่ายเนี่ยปรากฏอยู่ในเอกสารทางวรรณกรรมเรื่องสำคัญเรื่องนึงก็คือ ลิลิตยวนพ่าย ยวนตัวนี้สะกดด้วย ย ยักษ์ ไม่ใช่สะกดด้วย ร เรือ ย-ว-น ยวน ยว-นะ หรือ โยนก ก็คือเมืองเหนือ วรรณกรรมฉบับนี้แต่งโดยคนกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า ยวนจะต้องพ่าย คือเมืองเหนือเป็นเมืองแพ้การรบครั้งนี้ล้านนาแพ้ 

                     แต่จริง ๆ จะว่าแพ้จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ปรากฏว่ารบกันมา จำได้ไหมเหมือนจะเป็นปี  ๒๐๐๕ ไปรบแล้วก็พระอินทราชาต้องปืนที่หน้าจนตาย ก็ต้องขึ้นไปอยู่ที่พิษณุโลกในปี ๒๐๐๖และการที่ขึ้นไปของพระบรมไตรโลกนาถก็ก่อให้เกิดงานด้านศิลปกรรมตามมาอีกนะคะ อาจารย์จะเล่าต่อถึงไหนอีกไหมคะ จะบวช อ๋อเพราะว่าตอนนั้นเสียเมืองเชลียงไปให้กับพระเจ้าติโลกราช พระบรมไตรโลกนาถก็เล่นวิธีเดียวกับพญาลิไท พญาลิไทก็เคยแบบขอบวชบิณฑบาตเมืองจากอยุธยามาแล้ว ทางนี้ก็เลยบวชซะ แล้วก็มีพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่าพระบรมไตรโลกนาถท่านไปสร้างวัดจุฬามณี แล้วอีกปีรุ่งขึ้นก็ผนวชพร้อมกับมีผู้ติดตามผนวชอย่างมากมายประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าคน แต่คงไม่ได้อยู่วัดจุฬามณีทั้งหมด 

พระปรางค์วัดจุฬามณี 



                 ทริปนี้เราจะได้ไปวัดจุฬามณีไหม มีที่สำคัญ ๆ ที่วัดจุฬามณีเนี่ยที่น่าดูน่าชม ศิลปกรรมสมัยก่อนพระปรางค์ตรงนั้นน่าจะเป็นฝีมือของเจ้าของตั้งเมืองตรงนี้ แต่ว่านักวิชาการรุ่นหลังเขาบอกว่า คงจะเป็นปรางค์ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถก็ได้ อาจารย์เล่าให้ฟังด้วยว่าบวชบิณฑบาตรเมืองคราวนี้ได้ผลว่าไง อย่างที่อาจารย์เดชกล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถใช้ประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ ท่านก็เห็นว่าพญาลิไทเคยบวชขอบิณฑบาตเมืองแล้วทางอยุธยาให้ แล้วก็สมเด็จพระบรมไตรบวชก็มีข่าวไปถึงเมืองเหนือครับ พระเจ้าติโลกราชก็ถวายผ้าให้ และทางอยุธยาก็มีจดหมายไปว่าจะขอบิณฑบาตรเมืองเชลียงคืน 

                   ปรากฏว่าพระเจ้าติโลกราชประชุมกับหมู่ขุนนางทั้งหมดแล้วได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะมายุ่งเรื่องของทางโลก เพราะฉะนั้นการบิณฑบาตครั้งนี้ไม่ยกเมืองให้ เพราะฉะนั้นการบวชทางการเมืองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในครั้งนี้ไม่สำเร็จ แต่ว่าความศรัทธาทางศาสนาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ยังมีอยู่สูงเพราะเหตุว่าท่านผนวชอยู่ถึง  ๘ เดือน ไม่ได้ผนวชแค่ตามประเพณีหรือบวชแค่๔-๕ วัน ท่านบวชอยู่ถึง ๘ เดือนแล้วก็ลาผนวช แล้วก็ทำศึกอยู่หลายปีผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ 


 ลวดลายปูนปั้นอันงดงามที่วัดจุฬามณี


                 แล้วก็บางทีทางพระเจ้าติโลกราชลงมาตีเมืองในอยุธยาด้วยซ้ำ บางทีพระบรมไตรโลกนาถก็ขึ้นไปตีถึงล้านนาด้วยซ้ำ ในที่สุดก็ตกลงหย่าศึกเพราะว่ารบกันมาเนิ่นนาน อย่างไรก็ดีพระบรมไตรโลกนาถอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนถึงสวรรคต ในปีพ.ศ. ๒๐๓๑ ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถก็คิดว่ามีสิ่งสำคัญต่างๆเกิดขึ้นในเมืองพิษณุโลกเนี่ยมากมาย อย่างนึงก็คือมาขยายพระราชวังจันทร์ ซึ่งเคยเป็นวังที่ส่งเจ้านายขึ้นไปครองให้เป็นวังสำหรับกษัตริย์หรือวังพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่สองก็คงจะมาเสริมมหาธาตุที่พญาลิไทสร้างไว้ จากที่เขาสันนิษฐานกันนว่าแต่เดิมจะเป็นยอดแบบบัวตูม ทุกวันนี้ที่ปรากฏแก่ตาก็คือเป็นปรางค์ขึ้นเป็นแบบนิยมของทางอยุธยานะคะ ก็เข้าใจว่าพระบรมไตรโลกนาถท่านคงจะมาซ่อมบูรณะไว้ แล้วก็วัดจุฬามณีเนี่ยแหละก็เป็นผลงานเอกชิ้นนึงของงานในสมัยช่วงอยุธยาเหมือนกัน กับปูนปั้นที่ยังคงอยู่ก็ยังคงสวยเนี๊ยบ ก็จะมีโอกาสได้ไปดูด้วยเหมือนกัน

            ทีนี้เมืองพิษณุโลกยังไงล่ะ เรากลับมาคิดว่าเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถท่านไปครองเมืองพิษณุโลกแล้วเนี่ย ก่อนหน้านั้นเชื้อสายของเมืองสุโขทัยเองเนี่ยเราเริ่มจะมองไม่เห็นแล้วว่าไม่ได้ขึ้นมาครอง แต่ขึ้นมาเป็นขุนนาง แต่เชื้อสายของสุโขทัยหายไปไหม แล้วคิดว่าเชื้อสายสุโขทัยเนี่ยเก็บความไม่พอใจตรงนี้ไว้มากขนาดไหน แล้วกลับมาระเบิดอีกครั้งเนี่ยในสมัยอะไร ใช่ไหมครับ ถ้าเราลองพิจารณาเรื่องนี้ อยุธยาก็ยังคงความเข้มแข็งอยู่ ก็ยังมีการปกครองกันต่อ ๆ มา ก็หลังจากพระบรมไตรโลกนาถก็มีสมเด็จหน่อพุทธางกูร พระชัยราชานี่ก็แบบว่าปราบดาภเษกฟันกันขึ้นมาแล้วก็ขึ้นมาครองราชย์ แล้วตัวท่านเองเนี่ยก็มีความคิดว่ารวบอำนาจ ทางเมืองเหนือเนี่ยเกือบจะสิ้นสายวงศ์แล้ว มีแต่ขุนนาง 

            พูดถึงพระชัยราชา ขออนุญาตนิดนึงครับ ภาพยนตร์สุริโยทัยในตอนที่พระชัยราคาไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ดูไหมครับ อันนี้เราเสริมจะได้ไม่เครียด ตอนที่เปิดประตูเมืองแล้วพระชัยราชาคาดว่าจะมีเกณฑ์กองทัพออกมารบกัน ที่ไหนได้เป็นขบวนฟ้อนรำออกมาพร้อมด้วยเพ็ญพักตร์ สิริกุลใส่กล่องนมออกมา จึงอยากจะถามประวัติจากที่นี่ว่ากล่องนมเนี่ย มันมีรูปแบบเป็นแบบนั้นรึเปล่า ได้ดูไหมครับ เขาคงจะไปติดภาพพวกฝรั่งที่ไปถ่ายพวกล้านนา พวกไพร่ในตลาดแบบไม่ใส่เสื้อ แต่เจ้านายเขาน่าจะใส่เสื้ออยู่นะ โดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิง ตอนนั้นเนี่ยเป็นตอนที่ล้านนาเสื่อมอำนาจแล้วแหละ เหลือแต่เพียงพระมหาเทวีจิรประภาปกครองนะคะ พอหลังจากเทวีจิรประภาล้านนาก็สิ้นอำนาจแล้ว ก็เรียกได้ว่าทางอยุธยาก็ได้อำนาจทั้งสิ้น เมื่อได้อำนาจเบ็ดเสร็จจนหมดแล้วเนี่ย ทางราชวงศ์สุโขทัยจะทำอย่างไรได้ แต่ว่ามันก็มาเกิดเหตุการณ์ช่วงปลายรัชสมัย ที่เกิดพวกกลุ่มแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาฯ เป็นกบฎขึ้นมาเรียกว่า ปราบดาภิเษกมีอำนาจขึ้นมา ก็ตอนนั้นก็เป็นจังหวะและโอกาสของราชวงศ์สุโขทัยขึ้นมาทันที อะเล่าเลยค่ะ

            ขอบคุณครับ มีการส่งไมค์มาให้ด้วย เลยกลายเป็นการเสวนาเต็มวงไปเลย ก็ถ้าเราดูเองพระศรีสุริโยทัยเราจะเห็นว่าหลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็จะมาเข้าสู่ในสมัยสมเด็จหน่อพุทธางกูร สมเด็จหน่อพุทธางกูรก็ลงมาจากเมืองเหนือเหมือนกัน สมัยก่อนชื่อว่าพระไชยเชษฐา แล้วก็มาตั้งเป็นพระมหาอุปราช แต่ว่าก็ได้ครองราชย์เมื่อแก่แล้วละ ได้ครองราชย์ต่อจากพี่ชาย ก็ครองราชย์เมื่อแก่มีลูกก็ยังอ่อน มีลูกอ่อนแล้วก็ยกให้ครองแผ่นดิน อันนั้นแหละเท่ากับยื่นคมดาบให้กับพระราชโอรส โดยพระชัยราชาก็เชิญตัวเองลงมาจากเมืองเหนือ ในเมื่อสมเด็จพระชัยราชาลงมาครองปุ๊บ เรื่องก็ดำเนินมาได้ดีไม่มีปัญหาอะไร 

             บังเอิญท่านไปมีเรื่องสนมมีมเหสี ๔ พระองค์ แล้วก็มีองค์นึงชื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งพระอัครมเหสีท่าทางจะไม่มีโอรส ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นแม่ยั่วเมือง ทีนี้ก็กลับมาพิจารณาว่าแม่อยู่หัวเมืองศรีสุดาจันทร์น่าจะเป็นคนของสมัยราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งถูกสุพรรณภูมิดองเอาไว้ตั้งนานแล้ว เดี๋ยวมันจะไม่สนุก เดี๋ยวมันจะมีความขัดแย้งมันจะไม่ใช่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ หรอก แค่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แค่นี้ ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นใครกันถึงได้มีอำนาจราชศักดิ์ถึงมามีอำนาจที่จะสามารถผลักดันอำนาจได้ เพียงแต่พระชนนีขององค์รัชทายาทเนี่ย มันไม่น่าที่จะมามีอำนาจตรงนี้ได้ ก็สันนิษฐานกัน จินตนาการกัน หรือที่จริงๆเรียกว่ามโนกัน เพราะว่าเขาอาจจะเป็นสายวงศ์ เพราะว่าลำดับสายวงศ์สุพรรณภูมิ 

              เพราะว่าพระเจ้าชัยราชาเนี่ยเป็นสายสุพรรณภูมิ ถึงพระชัยราชาเนี่ยเป็นสายสุพรรณภูมิใช่ไหม พอมีข้อขัดแย้งหรือตีรันฟังแทงกันเนี่ย ก็เชื่อว่าเนี่ย อ้อ ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็คงจะเป็นแบบสายวงศ์อู่ทองนี่แหละ คงจะเห็นจังหวะและโอกาสก็ในทางภาพยนต์อะนะ ท่านมุ้ยก็ยกให้ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นสายวงศ์อู่ทองมากำจัดพระชัยราชา ไม่ได้ในฐานะหญิงแพศยาผู้ที่มีชู้อะไรหรอกนะ เป็นการแย่งชิงกันระหว่างการเมืองในราชวงศ์ต่างหากนะคะ ก็ยกขุนวรวงศาเนี่ยขึ้นมา บ้านเมืองก็ระส่ำระสาย เพราะว่าไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนหรือกระบวนการของการขึ้นครองราชย์ 

            จึงเกิดการชุมนุมลับ ๆ กันระหว่างขุนนางที่จะกำจัดแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ออกไป โดยไปนัดแนะกันในการคิดทำการใหญ่ครั้งนี้อันตรายอย่างสูง แล้วคิดว่าจะยกพระเฑียรราชาซึ่งผนวชเป็นพระอยู่เนี่ยขึ้นครองราชย์ พระเฑียรราชากับผู้สมคบคิดทั้งหลายก็นัดแนะกันไปปรึกษากันแล้วก็เสี่ยงเทียน ขุนพิเรนทรเทพมาทีหลัง พวกก่อนหน้านี้จุดเทียนเสี่ยงกันไปแล้ว เฮ้ย คิดการใหญ่กันขนาดนี้ ยังจะมาเสี่ยงอีกหรอ อย่างนี้มันต่างเสี่ยงชีวิต ไม่ใช่เสี่ยงเทียน แล้วเผอิญไปเทียนของขุนวรวงศาดับ จึงเกิดเป็นนิมิตว่า เป็นนิมิตดี เกิดเป็นนิมิตเพราะไม่ได้ตั้งใจ แล้วคราวนี้เห็นท่าขุนวรวงศาจะรักษาชีวิตไว้ไม่ได้ ก็ยิ่งมีใจทำการกันใหญ่เลย ก็ทำการสำเร็จยกพระเฑียรราชาขึ้นมาเป็นพระมหาจักรพรรดิได้ และคราวนั้นมีความดีความชอบอย่างใหญ่หลวง เดี๋ยวให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่าความดีความชอบได้พระราชทานอะไรให้บ้าง


            ขุนพิเรนทรเทพเมื่อกำจัดขุนวรวงศากับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ได้เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการพระราชทานพระมเหสี คือพระราชทานลูกสาวของพระมหาจักรพรรดิ ให้เป็นพระมหาธรรมราชาเลย บอกเลยว่าเชื้อวงศ์ของขุนพิเรนทรเทพทางพ่อเป็นสุโขทัย ส่วนทางแม่เป็นเชื้อวงศ์สายสุพรรณภูมิสายพระชัยราชา ดังนั้นยกให้กลับไปเป็นพระมหาธรรมราชา คือเป็นเจ้าประเทศราชเหมือนเดิมเลย คือขึ้นไปเป็นพระมหาธรรมราชา เท่านั้นยังไม่พอยังพระราชทานพระวิสุทธิ์กษัตริย์ตรีขึ้นไปเป็นชายาอีกด้วย คนอื่นที่มีความดีความชอบถัดไปนี่ก็ตบรางวัลทุกอย่าง แล้วก็ประกาศคำสัตย์ขึ้นมาคำนึงว่า ต่อแต่นี้ไปเบื้องหน้า ในบรรดา ๔ คนนี้แม้นใครทำให้เลือดตกแผ่นดิน คน ๔ คนนี้เลือดตกแผ่นดิน ขอให้เทวดาสาปแช่งอย่าได้มีความเจริญเลย 

              แต่ว่ามันก็เกิดความไม่ลงรอยกันได้ในที่สุด เพราะเหตุว่า พระมหาธรรมราชาธิราชครองอยู่ในช่วงระยะเวลาที่กษัตริย์พม่าเข้มแข็งเหลือเกิน ก็คือจะเด็ดของคุณปกรณ์เนี่ยขึ้นครองราชย์ ตอนนั้นเค้าเรียกกันว่า พระเจ้าสิบทิศนะคะ บุเรงนองเนี่ยเป็นผู้ชนะสิบทิศ มีพลังอำนาจมาก ก็เหล่มาทางพวกคุกคามประเทศ เหล่มาทางกรุงศรีอยุธยา ก็พอเข้ามาทางอยุธยาก็ใช้เมืองเหนือไปรับศึกก่อน แต่รับไม่ไหวเป็นแต่เมืองน้อย ในที่สุดก็รับเอาอำนาจของทางพม่าเข้ามา อยุธยาก็พ่ายแพ้ต่อทางพม่าเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าพระมหาธรรมราชาธิราชจะเอาใจออกห่างไปอยู่ข้างพม่าเยอะ ก็เลยหาทางที่จะกำจัดพระมหาธรรมราชาธิราชด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นการกลืนคำที่ตัวเองให้ไว้ 

                 ทางโน้นก็เลยเอาวะชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้านจนกระทั่งได้กรุงศรีอยุธยา แล้วเชื้อสายวงศ์พระเจ้าจักรพรรดิเนี่ยก็เลยหมดไป พระมหาธรรมราชาธิราชก็ได้ขึ้นมาครองแผ่นดิน อ้าว อาจารย์ว่าต่อไป อันนี้คำถามนึงที่ผมชอบถามนิสิตคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรท่านเป็นกบฏไหม ท่านทรยศต่อกรุงศรีอยุธยาหรือเปล่า ว่ากันตามกฏหมายเมืองก็ทรยศแหละ(หัวเราะ) ทีนี้ทรยศทรยศต่อประเทศ ทรยศต่อพ่อตาตัวเอง ทำไมท่านถึงต้องทำเช่นนั้น เพราะอำนาจของพระเจ้าบุเรงนองมาก แล้วทางพิษณุโลกอยู่ใกล้กับทางพม่ามากกว่าในกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นอำนาจของพระเจ้าบุเรงนองแผ่เข้ามาที่พิษณุโลกก่อน 

              อยุธยาก็ช่วยได้ไหมละ อยุธยาช่วยไม่ได้ เพราะว่าพระมหาจักรพรรดิ์เองก็เคยแพ้ในสงครามช้างเผือกถูกไหมครับ ต้องเสียช้างไปเป็นช้างเผือกให้แก่พม่าในคราวของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ถ้าไม่เกิดเหตุพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง อันนี้ก็เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นของฝั่งพม่า แล้วขณะนั้นก็อยู่ในช่วงที่สมเด็จพระมหาจัรพรรดิออกผนวช เรื่องราวก็เลยเกิดขึ้น 

             เข้าใจว่าสมเด็จพระมหินทร์กับพระมหาธรรมราชาน่าจะมีข้อขัดแย้งกันอยู่ด้วย พระมหาธรรมราชาตอนนั้นก็ไม่ใช่แค่อยู่ในฐานะขุนนางนะ อยู่ในฐานะของการเป็นเจ้าประเทศราช ขึ้นมาเป็นอิสระ เหมือนเป็นการแข็งเมืองโดยที่มีพม่าหนุนหลังนะคะ จนในที่สุดก็ได้ขึ้นครองแผ่นดินอยุธยา แต่อยู่ไป อนิจจังไม่เที่ยง ก็มีความขัดแย้งกับพม่าอีก โดยเมื่อพระนเรศวรท่านกลับมาแล้วเนี่ยก็อยู่ในฐานพระมหาอุปราช ทรงขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกแล้วก็รับใช้พม่าอยู่ระยะนึง แต่ว่าพระนเรศวรเป็นผู้มีเดชานุภาพเห็นได้โดยถนัดชัดเจน ทางพม่าก็คิดจะกำจัดเหมือนกับที่ทางอยุธยาเคยคิดจะกำจัดพระมหาธรรมราชาธิราชนั่นแหละ ท่านก็เลยคิดว่าในเมื่อมันเป็นแบบนี้ก็แข็งเมืองซะเลยแล้วกัน ก็ประกาศอิสรภาพ แล้วก็อย่างที่รู้กันว่าอยู่เมืองเหนือไม่ได้แล้ว มันใกล้พม่า กลับมาทั้งหลายทั้งปวงตัวเมืองเหนือเนี่ยก็เอาลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยา 

               ตรงนั้นแหละที่นักวิชาการเค้าบอกว่ามันเป็นเรื่องของการสิ้นสุด สุโขทัยเองรกร้างว่างเปล่า สกุลของสุโขทัยนั้นไม่มีอีกแล้ว มันมารวมกันอยู่ตรงที่อยุธยา ครั้นสิ้นศึกพม่ารามัญ พม่าเนี่ยหลังจากที่สิ้นศึกพระมหาอุปราชขาดคอช้างไม่มาทำสงครามกับไทยอีกร้อยกว่าปี เพราะฉะนั้นการปกครองของกรุงศรีอยุธยาเนี่ยราบรื่นมีแต่คนภายใน เมืองพิษณุโลกก็เลยกลายเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง กลายเป็นเมืองเอกคู่กันกับเมืองอะไรคะจารย์ขา นครศรีธรรมราชเนี่ยแหละเป็นเมืองที่ไปครองเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร เมืองพระยามหานครในสมัยอยุธยามีสองเมือง ซึ่งก็คือ เมืองพิษณุโลกกับเมืองนครศรีธรรมราช 

              และในช่วงสิ้นกรุง เมืองพิษณุโลกนี่เรียกได้ว่าปลอดภัย สามารถตั้งได้เป็นแก๊งค์ ๆ นึง  มี ๑ ชุมนุมค่ะ ชุมนุมเจ้าพิษณุโลกนี่เข้มแข็งพอประมาณ สามารถทำสงครามอยู่ที่ในกรุงศรีอยุธยาได้เหมือนกัน แต่ว่าอ้างว่าแม่ตายขึ้นไปทำศพแม่แล้วก็อยู่ตรงนั้นเลย จนกระทั่งอยุธยาแตกแหลกลาญ พระยาพิษณุโลกก็เลยลอยตัว บัดนี้ไม่มีกรุงศรีอยุธยาแล้วไม่มีอำนาจแกนกลางแล้ว พระยาพิษณุโลกก็ยกตัวขึ้นมาเป็นเจ้าคนนึง มีอะไรแบบเจ้าทุกอย่าง แต่บุญไม่ถึง เป็นอะไรตาย เป็นฝีตาย ฝีที่เค้าเรียกฝีเนี่ยมันไม่ใช่ฝีนะ มันน่าจะเป็นมะเร็ง มะเร็งฝีนอก ฝีใน  แล้วตอนนั้นเนี่ยตายเฉย ๆ นะ แล้วน้องชายขึ้น 

                 แล้วปรากฏว่าพระยาฝาง พระเจ้าฝางเนี่ยเป็นพระแต่ได้รับพระราชทานช้างเผือก เพราะผู้คนนับถือ ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้า ก็เลยไปตีได้เมืองพิษณุโลก แล้วครั้งนั้นเนี่ยบุคคลสำคัญคนนึงเนี่ยอยู่ที่เมืองพิษณุโลก คืออยุธยาแตกก็แตกไป พระปฐมบรมราชชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นไปพึ่งพิงพระบารมีเจ้าพระยาพิษณุโลก ได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ประมาณนี้เลยนะ สมุหนายกของเมืองพิษณุโลกแต่ว่าไม่ทันทำสงครามหรอก จากไปอย่างสงบ แล้วก็ไปกับกรมหลวงศักดิ์เจษฎา ก็เลยเผาได้พระบรมอัฐิกับได้สังข์ล้างหน้าเนี่ยมาถวายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแต่ภายหลัง 

                  พระยาฝางรวบรวมให้แล้ว พระยาตากไม่จำเป็นต้องรวบรวมอีก  พระยาตากแค่เข้าไปตีพระเจ้าฝาง  กับไปตีเมืองนครศรีธรรมราชเนี่ยแหละ แล้วก็ตั้งกรุงธนบุรี เมื่อตั้งกรุงแล้ว ผู้ปกครองเมืองพิษณุโลกก็ยังเป็นเมืองพระยามหานคร ยกใครขึ้นไปให้ปกครองนะคะคนนั้นจะปลื้มมาก วังหน้าเนี่ยและเจ้าพระยาสุรสีห์ที่โหด ๆ ที่พม่าเรียกว่า พระยาเสือเนี่ยแหละ แล้วก็ตอนนั้นยศใหญ่เหลือเกิน รู้สึกจะยศใหญ่มากกว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอีก เค้าเรียกว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก แต่ว่ามีสร้อยอีกหน่อย แต่ว่าพี่จำสร้อยไม่ได้  

                 ครั้งนี้เองเนี่ยเป็นครั้งที่เกิดศึกอะแซหวุ่นกี้ เพราะว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นไปรักษาเมืองช่วยกันอยู่ แล้วก็เกิดศึก แต่คราวนี้ศึกที่พม่ายกมาไม่ใช่ศึกจิ้บจ๊อย เพิ่งไปยะไข่มา กำลังแบบว่าคึกคักเลยนะ ส่งอะแซหวุ่นกี้ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพใหญ่สมัยก่อนอายุไม่ใช่เพียงตัวเลขนะ อายุ ๗๒ แล้ว ตามความเชื่อของการเป็นนักรบเนี่ย ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า กำลังได้ชัยชนะมา มีความชาญฉลาด มีฝีมือเข้มแข็ง ล้อมพิษณุโลกได้ไว้เป็นเวลานาน แต่ว่าพิษณุโลกก็ตัดกำลังยังไงไม่รู้ สามารถรับศึกนี้ได้เป็นเวลานาน จนกระทั่งขอดูตัวครั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่เกิดอารยะในกองทัพ ก็คือขอดูตัว อะ อาจารย์เล่าให้ฟังสิ การขอดูตัว 

                 อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว คือเนื่องจากว่าเรื่องมันเกิดจากรบกันไปรบกันมา ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนทางพม่าเองก็สงสัยว่าทำไมแม่ทัพไทยเก่งขนาดนี้ ก็เลยเจรจาขอสงบศึกชั่วคราว ขอดูตัว นี่คือตามประวัติศาสตร์ว่ากันนะครับ อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวแล้ว  สองฝ่ายก็เลยพักรบ แล้วก็มาเจอกัน อะแซหวุ่นกี้ก็ถามว่าท่านอายุเท่าไหร่ ฝ่ายเราอายุ ๓๗ ปี คิดดูว่ายังไม่ทันเป็นอธิบดีเลย ๓๗ เอง ทางเจ้าพระยาจักรีก็ถามอะแซหวุ่นกี้กลับว่าอายุเท่าไหร่ อะแซหวุ่นกี้ก็บอกว่าเราผู้เฒ่าอายุ ๗๒ ท่านเป็นผู้ที่รูปร่างดี ฝีมือการรบก็เข้มแข็ง ขอให้รักษาตัวไว้ให้จงดี ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์ สามารถที่จะต่อต้านเราอยู่ได้ ต่อไปพม่าก็คงจะไม่มีโอกาสมาตีอยุธยาได้อีกแล้ว 

                อะแซวหวุ่นกี้เนี่ยจะเป็นนักรบฝีมือดี แม่ทัพฝีมือดี ยังมีเรื่องทางโหราศาสตร์ ท่านจะเก่งทางหมอดูด้วยหรือเปล่า นักวิชาการก็ไม่ใช่อย่างงั้นนะ นักวิชาการบอกว่า ไอ้คนนี้อาจจะมาโดยเล่ห์ กษัตริย์เค้าก็ยังมีอยู่ ไอ้นี่มาหยอดไว้ให้เกิดตีกัน เกิดระแวงแคลงใจ ตีกัน เดี๋ยวเสร็จพม่าอีก แล้วแถมให้อะไรไม่ให้ ให้เครื่องม้าทองคำ ซึ่งเกินกว่ายศแล้ว ถ้ามันเป็นทองคำจริงมันเป็นยศของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นแหละ แต่ว่าสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพก็สันนิษฐานไว้ว่า ตรงนี้คงจะไม่ใช่เครื่องทองจริง ๆ หรอกมั้ง อาจจะเป็นเครื่องเขียนทองก็ได้ ตอนที่ท่านไปค้นคลังเพื่อที่ท่านจะทำพิพิธภัณฑ์เนี่ยนะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านก็อยากรู้ว่าเครื่องม้าที่ได้รับมาจากพม่าหรือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับจากอแซวหวุ่นกี้ชิ้นไหน ท่านก็ไปเที่ยวสืบดู ก็ไม่เห็นมีเครื่องม้าทองคำ เห็นมีแต่โกลนที่เป็นลายทอง แต่ก็มีลวดลายพม่าเก็บอยู่ทั้งคู่ อาจจะเป็น ๒ คู่นั้นก็ได้ 

              แล้วก็ครั้งนั้นเรียกได้ว่าเกิดเป็นอารยะของศัตรูคู่อาฆาตที่ต่อสู้กันมาหลายร้อยปี ต่างคนต่างเปิดค่ายให้กับพม่ากับไทยให้มากินข้าวด้วยกัน โดยที่ไม่ตีกันเลยพักรบ ๑ วัน แต่ว่าการศึกครั้งนั้นจะว่าเราแพ้ไหม เราถอยออกจากพิษณุโลกเพราะว่าอยู่มานานจนกระทั่งขาดแคลนอาหารแล้ว แถมยังมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาในเมืองอีก เพราะมันขาดอาหาร สองคนพี่น้องท่านก็เลยวางแผนกันตีฝ่าทะลวงด้านที่มันอ่อนแอกว่า เอาผู้เอาคนออกไปจากเมืองพิษณุโลกทั้งหมด จนพม่าได้เมืองไป ครั้งนั้นก็เป็นอีกครั้งนึงที่บ้านเมืองพิษณุโลกร่วงโรย อะต่อค่ะอาจารย์ 

                ประเด็นอีกประเด็นเกี่ยวกับอแซวหวุ่นกี้ดูตัว ถ้าเราคิดว่าเราเป็นทหารไทยฟังอะแซหวุ่นกี้พูดอย่างนี้ กับเราเป็นทหารพม่าฟังอแซวหวุ่นกี้พูดอย่างงี้ สองฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราเป็นทหารพม่าอะแซหวุ่นกี้ชมทหารไทยต่อหน้าทหารพม่า แล้วทหารพม่าจะมีกำลังใจในการรบอีกไหม เขาชมว่าทหารไทยเนี่ยเก่ง ต่อไปพม่าจะตีไทยไม่สำเร็จอีก ถ้าเราเป็นทหารพม่า เราก็กลับบ้านดีกว่าไม่ต้องตี เราว่าเราคุยการเมืองกันแค่ไม่กี่คน ก็คงไม่ได้มาตั้งคุยกันว่าแบบว่า กองทัพมาอยู่ข้างหลังแบบภาพวาดที่เราเห็น ก็คงจะมาอยู่ แต่ก็คงไม่ได้มาประชิดจนได้ยินอะไรขนาดนี้ อะแซหวุ่นกี้เป็นักรบที่มีจิตวิทยาสูงมาก พูดอย่างงี้เพื่อให้กองทัพของเราตีกันเอง

               เจ้าพระยาจักรีมีคนมาชมว่าท่านจะได้เป็นกษัตริย์ ถ้าแบบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เจ้าพระยาจักรีจะได้ฟังคนที่ชมว่าตัวเองจะได้เป็นกษัตริย์เป็นครั้งที่สองแล้ว ครั้งแรกจากหมอดู เรื่องเม้าท์ประจำราชวงศ์เกิดว่า มีซินแสทำนายคน ๒ คนพร้อมกัน ตอนนั้นพระเจ้าตากก็เกิดเป็นเพื่อนกับพระพุทธยอดฟ้าเฉยเลย อันนี้น่าจะเป็นเรื่องเล่านิทานมากกว่าเรื่องจริงนะเนี่ย เพราะฉะนั้นถ้าเรื่องเป็นแบบนี้แสดงว่ารัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยาจักรีน่าจะฟังเรื่องที่มีคนทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์

             เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ไหมว่า อะแซหวุ่นกี้น่าจะใช้จิตวิทยาในการที่จะทำให้ไทยรบกันเอง ระหว่างเจ้าพระยาจักรีกับพระเจ้าตาก ให้เกิดความระแวงกัน เพื่อที่จะทำให้ตั้งตนเป็นใหญ่ จริง ๆ เราเชื่อในเกียรติของทหารนะ  ไม่ค่อยเชื่อในเรื่องที่เค้าวิเคราะห์มาหรอก เราเชื่อว่าไม่มีกลยุทธ์ เราเป็นผู้หญิงเนาะ ใครบอกอะไรเราก็เชื่อหมด เราคิดว่าไม่มีกลยุทธ์ เพราะเหตุว่าดูเหมือนสิ่งที่ท่านพูดจะเป็นความจริง แต่ว่าไม่ใช่ความจริงเพราะว่ารู้หลักของภาษาหรือว่ารู้หลักของโหงวเฮ้งไม่ทราบ บ้านเมืองเป็นธรรมดาว่าใครเข้มแข็งคนนั้นย่อมได้สิ่งดี ๆ แล้วการผลัดแผ่นดินไม่ใช่เรื่องที่มั่นคงยั่งยืนหรอก ไม่ถาวร 

              แม้กระทั่งประวัติศาสตร์พม่าเองเนี่ยก็เหมือนกัน ก็คือมีการเปลี่ยนวงศ์ จากพระเจ้าลิ้นดำมาเป็นพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งทางการรบ เพราะฉะนั้นมันเป็นลักษณะสากลเลยว่า ใครเข้มแข็งคนนั้นได้แผ่นดิน แล้วก็อาจจะชมเชยกันจริง ๆ นั่นแหละว่ารักษาตัวไว้ให้ดี เพราะช่วงนี้มันช่วงเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน ซึ่งเปลี่ยนจากกรุงศรีอยุธยา และยกใครขึ้นมาเป็นเจ้าเป็นนาย มันอาจจะมีการพลิกผันไปบ้าง เพราะว่าการพูดตรงนี้  คิดว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่ได้ขึ้นมาเป็นรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีจะหายไปจากประวัติศาสตร์เลย จะไม่มีใครพูดถึงไม่สลักสำคัญ 

              แต่ทีนี้มันถูกเล่าต่อ ๆ มาตามสายตระกูลเมื่อมีการตั้งราชวงศ์จักรีแล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่าตรงนี้ถ้าเค้าคุยกันมันคงไม่มีผลทางการเองอะไรหรอก มันน่าจะเป็นการชมกันจริง ๆ มากกว่า แล้วก็ดูลักษณะท่าทีของอแซวหวุ่นกี้เนี่ยดูเป็นคนมีเกียรติ ในขณะที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็เป็นคนที่มีเกียรติ ไม่งั้นเค้าจะพักรบกันได้ยังไง ไม่งั้นมันก็ต้องใช้การตีตลบหลังนู่นนั่นนี่ แต่นี่ทำสงครามกันแบบจะแจ้งตลอดมา คิดว่าเป็นคนที่มีเกียรติด้วยกันทั้งคู่โดยธรรมชาติ น่าจะเป็นการคู่คี่สูสี แต่ว่านักวิชาการเค้าก็ตีกันแหละว่า เจอจิตวิทยาที่ใช้ยุทธศาสตร์ทางการรบหวังจะเกิดการแตกแยกกัน แล้วก็การรบมันได้ง่ายขึ้น 

               อะเราเล่าไปถึงไหนเรื่องประเด็กปลีกย่อยเราเยอะ เมืองพิษณุโลกเป็นไงคะ ถูกอแซวหวุ่นกี้เผาครั้งนี้เลยเหรอ ใช่ เพราะอะแซหวุ่นกี้ต้องรีบเผา เพราะว่ากษัตริย์พม่าตายแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย ส่วนลูกเขยของตัวเองที่เคยอยู่ก็ต้องรีบกลับไปพม่า ถ้าอแซหวุ่นกี้อายุน้อยกว่านี้สักหน่อยไทยจะลำบาก แต่เผอิญว่าเป็นผู้เฒ่าก็เลยไม่ได้กลัมาตีเมืองไทยอีก เลยไปยึดอำนาจที่พม่า ก็เป็นบุญของเมืองไทย วาสนาของเมืองไทยจะเป็นอย่างนั้น 

               พิษณุโลกเมื่อหลังจากเจ้าพระยาจักรีเนี่ยออกมาแล้ว บ้านเมืองก็น่าจะซบเซาอยู่ เพราะว่าผู้คนหรือว่ากำลังที่จะรักษาเมืองเนี่ยมันก็ยังไม่มี รัชกาลที่ ๑ ก็ใช้จากพลกำลังทรัพยากรมารบทัพจับศึก รัชกาลที่ ๒ ก็ยังบำรุงบ้านบำรุงเมืองอยู่ในแค่พระนคร ยังเอื้อมไปไม่ถึงหัวเมืองอันห่างไกลที่ได้รับผลจากสงคราม ผู้คนย้ายไปแล้วก็กำลังจะรักษาให้สิ่งสำคัญในบ้านในเมืองคงอยู่อย่างถาวรก็ไม่มี 

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก


             วัดที่เป็นวัดใหญ่ที่สุดก็คือวัดมหาธาตุที่ได้รับการทำนุบำรุงมาทุกสมัยตั้งแต่สร้างกรุงมาในสมัยพระยาลิไทเป็นคนสร้างวัดมหาธาตุ พระบรมไตรโลกนาถเป็นคนมาสืบต่อ แล้วถ้าเรามาอ่านพงศาวดารกรุงศรีอยุธยารวมไปจนถึงอ่านเอกสารโบราณ เราจะเห็นเลยว่าทางกรุงศรีอยุธยาจะมีเงินทำนุบำรุงโบราณสถาน วัตถุสถานสำคัญ แล้ววัดใหญ่วัดพุทธชินราชเป็นวัดที่อยุธยาบำรุงตลอดช่วงอยุธยา ถือว่าได้มีสิ่งสำคัญอยู่ในวัดใหญ่ที่เรารู้จักกันก็คือ บานประตูมุกของพระเจ้าบรมโกศ แล้วก็มาบูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วก็ยังมีงานฝีมือช่างหลวงจัดทำสังเค็ด เป็นสังเค็ดที่สวยกว่าวัดใหญ่สุวรรณารามอีก เพราะว่ามียอดเป็นปราสาท 

              ตอนนี้ทางวัดใหญ่ก็สร้างพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จแล้วหรือยัง เพราะว่าสิ่งที่น่าชมในวัดใหญ่ก็คือ สังเค็ดของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสลี่ยงที่สมเด็จกรมพระนราธิปฯ ท่านมาเห็น เพราะเค้าส่งมาซ่อมที่ช่างสิบหมู่ส่งกลับไป ความร้างราร่วงโรยก็อย่างที่ชี้ให้ดูวัดบวรว่าพระพุทธรูปสำคัญที่สร้างไว้ในสมัยพระยาลิไทที่วัดนี้ มีพระพุทธชินสีห์ พระพุทะชินราช พระศรีศาสดาอีกองค์นึง แล้วก็เหลือเศษก็เอามาสร้างพระเหลืออีกองค์นึง พระศรีศาสดาก็อัญเชิญมาที่วัดบวรเหมือนกัน พระพุทธชินสีห์ก็วัดบวรเหมือนกัน ก็คงเหลืออยู่แต่พระพุทธชินราช เพราะว่าตัวอาคารอะไรต่าง ๆเนี่ยก็คนพิษณุโลกไม่เอามา เพราะเห็นว่ารักษาไว้ก็ไม่ได้ คงทรุดโทรมไปหมด และคงเหลือแต่พระพุทธชินราชนั้นเป็นศรีเมือง 

พระพุทธชินราช พุทธปฏิมาอันงามสง่าเป็นศรีแก่นครพิษณุโลก 


              แต่โดยประเพณีคนอยุธยารู้จักพระพุทธชินราช เจ้านายทุกพระองค์เนี่ยเมื่อเสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก จะต้องเข้าไปบวงสรวงบูชา กราบสักการะพระพุทธชินราช รัชกาลที่ ๕ พระอัครมเหสีก็ได้ถวายสิ่งของต่าง ๆเป็นพุทธบูชา ถ้าที่พิพิธภัณฑ์พิษณุโลกรักษาดีก็อาจจะยังอยู่ รัชกาลที่ ๖ ขึ้นไปเที่ยวเมืองพระร่วงก่อนที่จะกลับก็แวะไปที่เมืองพิษณุโลกและแวะไปที่พิจิตร แล้วก็ไปกระทำการบวงสรวงบูชา พิษณุโลกเนี่ยใหญ่ท่านเขียนไว้ในตอนเที่ยวเมืองพระร่วงเลยว่า ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมาก็มากแล้ว ที่จะเจริญตาเจริญใจเท่าพระพุทธชินราชเนี่ยไม่มีเลย พิษณุโลกเนี่ยไม่มีอะไรเป็นน้ำเป็นเนื้อมีที่กู้หน้าแบบแก้หน้าได้ก็พระพุทธชินราช พระพุทธชินราชตราบใดที่ยังอยู่ในเมืองพิษณุโลกนั้น เมืองนี้ก็ยังสมควรที่จะมาจนถึงตราบนั้น อันนี้ก็เป็นชมเชยที่ท่านหยั่งความที่ท่านเป็นกวีเป็นนักเขียนที่ดีมาก 

            พระพุทธชินราชได้รับการชมเชยเป็นอย่างยิ่งในหลาย ๆ เรื่องหลาย ๆ อย่าง รัชกาลที่ ๕ พอเห็นแล้วหนักใจเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้อัญเชิญลงมา ให้คนเนี่ยขึ้นไปรอ เพราะสงสารชาวพิษณุโลกร้องไห้ ไม่ยอมให้เอาพระพุทธชินราชกลับมา ท่านจะเอาลงมาด้วยอำนาจก็ได้ เพราะท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยความที่ท่านเป็นพระปิยมหาราช ก็เลยมีความเกื้อกูลเห็นใจราษฎร ไม่ได้อัญเชิญพระพุทธชินราชลงมา 

            แล้วกรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ หรือใครสักคนเนี่ยแหละก็วิจารณ์มาก เป็นบุญดีอยู่แล้วที่ไม่ได้อัญเชิญพระพุทธชินราชลงมา หรือก็คือรัชกาลที่ ๖ เองเป็นคนพูดว่า ดีแล้วแหละที่ไม่ได้อัญเชิญพระพุทธชินราชลงมา เพราะพระพุทธชินราชไม่ได้สวยแต่ว่าองค์พระพุทธรูป แต่ว่าตั้งอยู่ในที่เหมาะเจาะ ส่วนฐานเองก็สวยมาก ไม่ต้องดูใกล้ ๆ ไม่ต้องไปเงยหน้ามอง แล้วแสงสว่างก็เข้าได้ ตัวอาคารก็พอเหมาะ มันดูเหมือนกับว่ารับองค์พระพุทธรูปนี้ทุกอย่างพอมองแล้วมันจับใจ 

                  ถ้าอยากจะรู้ว่าพระพุทธชินราชงามอย่างไร อย่าดูสมัยนี้นะ ให้ไปดูภาพถ่ายเก่าของพระพุทธชินราช สมัยก่อนพระพุทธชินราชอยู่ในวิหารเตี้ยปัจจบันนี้ก็ยังเตี้ยอยู่ แต่ว่าเตี้ยแล้วเค้าฉายไฟ เปิดไฟสว่างเห็นหมดเลย คนฉายไฟเป็นคนจากกรมศิลปากร เพราะว่าเราเองเชื่อในความสวยงาม เชื่อในฝีมือพวกเค้า ปรากฏว่าฉายไปแล้วสว่างคนว่างาม แต่ว่าแบบเก่างามกว่า มันมืดแล้วเค้าเปิดช่องแสงให้แสงส่องลงมา แต่ว่าวัดต้องปิดเพราะอีกพวกคนใจบาปหยาบช้ามันเยอะ มันปืนลงมาทางช่องนี้เลย แล้วมันก็ไปกวาดทรัพย์สิน ทำให้เค้าต้องปิดช่องแสงแจ้ง ไอความงามแบบเก่าๆเนี่ยมันก็หายไป 

             อาจารย์มีอะไรจะเสริมไหมเราถึงเมืองพิษณุโลกขนาดนี้แล้วนะคะ เมืองพิษณุโลกบัดนี้นี่ก็เจริญขึ้น เป็นหัวเมืองใหญ่หัวเมือง 1 แล้วก็มีคนเที่ยวไปเที่ยวมาเนี่ยมากราบไว้สักการะบูชาพระพุทธชินราชอยู่เสมอ  



 พระราชวังจันทร์ที่ประทับของวังหน้ากรุงศรีอยุธยา