วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

เสพสุนทรียะ ในนครศิลปะ เมืองน่าน


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ  
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๓ ฉบับที่ ๗ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
                 
วิถีความเป็นไปของเมืองน่าน สะท้อนผ่านงานจิตรกรรมของอาจารย์สุรเดช กาละเสน

            
              ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้ นักท่องเที่ยวแห่มาเมืองน่านกันอย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ครับ ต้องบันทึกเอาไว้เลย วัดวาอาราม ที่พัก ร้านอาหาร ล้วนเนืองแน่นไปด้วยผู้คนล้นหลาม

จากการพูดคุยกับผู้สันทัดกรณี บ้างก็ว่าเป็นเพราะปีนี้ลมหนาวมาช้ากว่าทุกปี กว่าฝนจะหมดก็ปาเข้าเดือนธันวาฯ ทำให้นักท่องเที่ยวอัดอั้น ไม่ได้เที่ยวรับลมหนาวตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาฯ – พฤศจิกาฯ อย่างปีก่อน ๆ  บ้างก็ว่าเป็นเพราะนักท่องเที่ยวไม่มีที่จะไปรับลมหนาว เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาไปเที่ยวที่อื่นมาหมดแล้ว   บ้างก็ว่าเป็นเพราะนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลท่านนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย  ฯลฯ ต่างคนต่างว่ากันไป

แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร วันนี้ต้องถือว่าเมืองน่านกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวและเป็นทางการไปแล้วละครับ

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ดูเหมือนเมืองน่านกลับคืนสู่ความเป็นเมืองที่เงียบสงบและงดงาม ด้วยจังหวะความเป็นไปอันเนิบช้า เหมือนที่ผมเคยรู้จักครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตกหลุมรักเข้าอย่างจังกับความงดงามของศิลปกรรมในเมืองเล็กในหุบเขาแห่งนี้ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ติดตาติดใจอยู่ตลอดมา

วัดหัวข่วงกับสถาปัตย์อันงดงาม 

ศิลป์แห่งอดีต ในเมืองแห่งวันเวลาที่ค่อยเป็นไป 

สุขใจจริง ๆ ครับ สำหรับวันแล้ววันเล่าที่ผมวนเวียนอยู่กับการเที่ยวชมศิลปกรรมตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองน่าน ไปพร้อม ๆ กับสังเกตดูว่าเมืองน้อย ๆ แห่งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หลังจากไม่ได้มาเยี่ยมเยือนเสียนานหลายปี

อากาศหนาว แดดอุ่นสวย  ท้องฟ้าสีครามใส เป็นใจให้ตลอดเวลาที่ผมตระเวนไปรอบ ๆ ตามเส้นทาง ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยม น่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน ที่น่านในวันนี้ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่  ทำเอาผมชักเริ่มรู้สึกอย่างที่เขาชอบพูดกันแล้วละครับ ว่าเวลาที่เมืองน่านอาจจะเดินช้ากว่าที่อื่นจริง ๆ

บนจุดชมทิวทัศน์วัดพระธาตุเขาน้อย มองลงมาเมืองน่านยังดูสงบสวยอยู่โอบล้อมของขุนเขา เห็นตึกรามบ้านช่องสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างแต่ไม่ได้มากมาย  เจดีย์เหลี่ยมที่มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายลดหลั่นตามแบบหริภุญไชยของวัดพญาวัด ริมทางผ่านขึ้นลงเขาก็รักษาสภาพความเก่าแก่งดงามเอาไว้ดีอยู่  มีเพียงวิหารที่อยู่ในระหว่างซ่อมสร้าง เดินดูรอบ ๆ ลายแกะสลักไม้ ๑๒ นักษัตรประดับวิหารที่ผมเคยชื่นชอบก็อยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ บรรยากาศรอบข้างร่มรื่นเขียวขจี ด้วยแมกไม้

 ทิวทัศน์จากวัดพระธาตุเขาน้อย



เช่นเดียวกับในอีกมุมเมือง ปูชนียสถานสำคัญ วัดพระธาตุแช่แห้ง ยังคงตระหง่านงามด้วยเจดีย์สีทองอร่ามอยู่บนเนินเขาน้อย ๆ นอกเมืองน่าน ให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาสักการะเพื่อเป็นศิริมงคลในการเดินทาง

มีเพียงย่านโบราณสถานอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใจกลางเมือง ในบริเวณที่เรียกว่า “ข่วงเมืองน่าน” ดูเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ตรงที่ปัจจุบันไม่มีสายไฟฟ้าซึ่งเคยระโยงระยางรุงรังให้เห็นอีกแล้ว  หลังจากย้ายลงไปไว้ใต้ดินเมื่อไม่กี่ปีมานี้ รวมถึงวัดวาอารามสำคัญแต่ละแห่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเอี่ยมอ่อง  จัดภูมิทัศน์สองฟากฝั่งถนนอย่างสวยงาม พรั่งพร้อมด้วยศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เดิน ๆ อยู่จะเห็นรถทัศนาจรหน้าตาเหมือนรถรางนำนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเต็มคันแล่นลดเลี้ยวชมเมืองพร้อมเสียงบรรยายเจื้อยแจ้วของมัคคุเทศก์  ได้อารมณ์ของความเป็นเมืองท่องเที่ยว

 วัดพระธาตุแช่แห้ง


จุดสนใจอันดับต้น ๆ ของผมที่เทียวไปเทียวมาอยู่ทุกวันคือวัดภูมินทร์ ครับ ด้วยความประทับใจในสุดยอดสถาปัตยกรรมหนึ่งเดียวในประเทศไทย(และในโลกก็ว่าได้) ที่รวมเอาวิหารและโบสถ์เข้าด้วยกันเป็นอาคารจัตุรมุข ตระหง่านงามอยู่บนหลังพญานาค ๒ ตัว  กึ่งกลางภายในประดิษฐานพระประธาน ๔ ทิศ แปลกไม่เหมือนที่ไหน  อีกอย่างที่ปัจจุบันเป็นที่สนใจกันมากก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน ซึ่งว่ากันว่าวาดขึ้นในช่วงปฏิสังขรณ์ใหญ่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อรัชกาลที่ ๕ โดยมีภาพพุทธประวัติอยู่ด้านบน  ของผนังทั้ง ๔ ด้าน ส่วนล่างของผนังทางทิศเหนือ ตะวันออก และใต้ วาดเป็นเรื่องคัทธณะกุมารชาดก ส่วนด้านตะวันตกวาดเรื่องเนมิราชชาดก

ความแปลกตาของจิตรกรรมเมืองน่านอยู่ที่ศิลปินวาดภาพตัวเอกใหญ่มาก เกือบเท่าขนาดคนจริง และแม้แต่ตัวประกอบก็มีขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ผิดกับจิตรกรรมฝาผนังโดยทั่วไป คุณค่าของภาพนอกจากความสวยงามแล้วยังอยู่ที่เนื้อหาในภาพ ที่บันทึกรายละเอียดสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทรงผม เสื้อผ้า การแต่งกายของชาวน่านในอดีตเอาไว้อย่างน่าดู

 วิหารจัตุรมุข วัดภูมินทร์

 จิตรกรรม ปู่ม่าน ย่าม่าน อันลือลั่น 

             โดยเฉพาะภาพหนุ่มสาวชาวพม่าข้างประตู ที่ฝ่ายชายป้องปากหันไปทางฝ่ายหญิงซึ่งเอียงหูเข้ามา เรียกกันว่าภาพ “กระซิบ” ซึ่งปัจจุบันจากการนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ  กลายเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก"  ฮิตติดลมบนไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าไปที่ไหนในเมืองน่าน ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ก็หรือแม้ตามถนนหนทางก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป จนแทบจะเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของเมืองน่าน

           ในขณะที่ภาพนรกสวรรค์อันน่าตื่นตาตื่นใจอยู่บนผนังข้างประตูอีกด้าน มาจากเรื่อง “เนมิราชชาดก”  ที่พระวิษณุกรรมรับบัญชาจากพระอินทร์พาพระเนมิราชไปชมเมืองสวรรค์กับเมืองนรก  เป็นอีกภาพที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนถึงความเชื่อของผู้คนเมืองน่าน  

          มุมหนึ่งยังมีภาพวาดของเรือกลไฟ ที่ดูดี ๆ จะเห็นฝรั่งตะวันตกเป็นผู้โดยสาร เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์สะท้อนการเข้ามาของชาวตะวันตกในยุคนั้นรายละเอียดพวกนี้ ต้องใช้เวลาค่อย ๆ ดู พินิจพิจารณาไป วันละนิดละหน่อย (เแหงนคอดูนาน ๆ ก็เมื่อยเหมือนกันนี่ครับ )


         ฝั่งตรงข้ามกันกับวัดภูมินทร์  สถาปัตยกรรมตะวันตกผสมพื้นเมืองของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน โดดเด่นอยู่หลังแนวต้นลั่นทมที่เรียงรายริมรั้ว กลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ที่นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายภาพกัน บนสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์ยังเป็นที่ตั้งของวัดน้อย วัดที่ขนาดเล็กที่สุดในเมืองน่าน และน่าจะเล็กที่สุดในประเทศไทยและในโลกอีกด้วย

         ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์อันสวยงาม แต่เดิมเป็น”หอคำคุ้มแก้ว” ที่ประทับและว่าราชการของเจ้าผู้ครองนครน่าน  ภายในซึ่งมี ๒ ชั้นแบ่งเป็นชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีสำคัญของจังหวัด เช่น  พิธีสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน  ซึ่งชิ้นที่สำคัญที่สุดคืองาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน ถูกเก็บไว้ในห้องกระจกอย่างดี  มาพิพิธภัณฑ์แต่ละครั้งผมใช้เวลาอยู่ได้นาน ๆ  โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แดดแรง เดินข้างนอกไม่ไหว อาศัยหลบแดดดูโน่นดูนี่อยู่ข้างใน ไม่ร้อนดีครับ


 หอไตรวัดหัวข่วงอันงดงาม

            สถาปัตยกรรมอิทธิพลสุโขทัยเจดีย์วัดช้างค้ำ อาบแสงสีทองอร่ามยามเย็น ช่วงเวลานี้เหมาะที่จะไปเยี่ยมชมวัดหัวข่วง อารามเล็ก ๆ ที่อยู่เยื้องกัน จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่การจัดวางผังอย่างตัวกำแพงรั้ววัดที่ไม่สูงจนเกินไป ทำให้บริเวณวัดดูมีพื้นที่เหมาะเจาะกำลังดี ไม่อึดอัด เจดีย์ประธานองค์ใหญ่สง่างามอยู่หลังวิหาร จุดเด่นประการสำคัญ คือหอไตรที่ประดับลวดลายอย่างเรียบง่าย แต่งดงาม จนหลายต่อหลายคนที่มาเห็นหลงใหล ส่วนใหญ่บอกว่าเห็นแล้วรู้สึกคล้าย ๆ ศิลปกรรมในเมืองหลวงพระบาง  

 ปูนปั้นอันวิจิตรของวัดมิ่งเมือง

            ไม่ไกลจากกัน ความอลังการของลวดลายปูนปั้นที่วัดมิ่งเมือง เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอีกแห่งของเมืองน่าน ถึงขนาดพูดกันว่า “ไปเที่ยวเชียงรายต้องไม่ลืมแวะวัดร่องขุ่น มาเที่ยวเมืองน่านก็ไม่ควรผ่านเลยวัดมิ่งเมืองเหมือนกัน”  วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน

            วิหารและศาลหลักเมืองที่ขาวโพลนอลังการตระการตาด้วยฝีมือปั้นปูนอันละเอียดยิบยับของสล่าเสาร์แก้ว เลาดี ช่างปูนปั้นสกุลช่างเชียงแสน  ในวิหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังมารผจญและประวัติเมืองน่านที่งดงามตระการตาอย่างสกุลช่างเมืองน่าน ฝีมืออาจารย์สุรเดช กาละเสน ศิลปินสายเลือดน่าน ผู้ที่กลายเป็นตำนานไปแล้วในวันนี้ 

 ปูนปั้นสีทองวัดศรีพันต้น


            อีกวัดหนึ่งที่คล้าย ๆ กันกับวัดมิ่งเมือง คือวัดศรีพันต้น วิหารประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นระยิบระยับไม่แพ้กัน ในวิหารก็มีจิตรกรรมประวัติเมืองน่านเหมือนกันด้วย มีต่างกันอยู่ก็ตรงสีสัน ที่ทางวัดศรีพันต้นทาสีทองอร่ามมลังเมลืองไปทั้งหลังเท่านั้น

             นี่แหละ เหตุผลที่ว่า ทำไมผมถึงใช้เวลาหลายวันวนเวียนไปมาอยู่ในเมืองเล็ก ๆ แค่นี้ นั่นก็เพราะรายละเอียดดี ๆ ที่น่าสนใจมีอยู่เยอะครับ


 บรรยากาศภายในหอศิลป์พิงพฤกษ์


เวลาแห่งชีวิตของศิลปิน หอศิลป์พิงพฤกษ์
          
              หอศิลป์ชั้นเดียวเล็ก ๆ ที่หลบมุมอยู่ในเงาของร่มไม้ริมรั้ว ดูไม่แตกต่างไปจากภาพในความทรงจำเมื่อหลายปีก่อน  ตอนนั้นผมมาตระเวนขี่จักรยานเที่ยวกับเพื่อนคู่หูคู่ปั่นในเมืองน่าน แล้ววันหนึ่งก็ขับรถแวะเวียนผ่านมาพบหอศิลป์แห่งนี้เข้าโดยบังเอิญ

จำได้ดีครับถึงความรู้สึกตื่นเต้น ที่ได้รู้ว่าที่แห่งนี้คือบ้านของอาจารย์สุรเดช กาละเสน ศิลปินผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามตระการตาในวิหารวัดมิ่งเมือง ที่เราได้ไปดูไปเห็นมา พร้อม ๆ ไปกับรู้สึกเสียดายอย่างที่สุด เมื่อได้รู้ว่าเจ้าของบ้านได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก่อนที่จะทันได้เปิดหอศิลป์ส่วนตัวที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นทีละเล็กละน้อยจนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ในบริเวณบ้าน

ยังดีที่คุณโสภา กาละเสน ภรรยา ยืนหยัดในอุดมการณ์  เดินหน้าสานต่อความฝันด้วยการ เปิด “หอศิลป์พิงพฤกษ์” จัดแสดงนิทรรศการผลงานของอาจารย์สุรเดชที่ทิ้งเอาไว้จนสำเร็จอย่างที่ได้เห็น บอกตรง ๆ ครับ ว่าตอนแรกนั้นผมเองยังคิดว่าน่าจะไปไม่รอด เพราะขาดตัวศิลปินผู้สร้างผลงาน คงอยู่ลำบาก ผ่านไปหลายปี กลับมาอีกครั้ง ได้เห็นหอศิลป์น้อย ๆ แห่งนี้ยังคงอยู่ ก็รู้สึกโล่งใจ  กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ



 ผลงานอาจารย์สุรเดช กาละเสน

ภายในหอศิลป์เรียงรายด้วยผลงานของอาจารย์สุรเดช  กาละเสนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่วาดด้วยลายเส้นดินสอ สีน้ำ สีอครีลิค และสีน้ำมัน จิตรกรรมฝาผนังที่คัดลอกแบบจากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ ที่เน้นเลือกมาวาดเฉพาะภาพที่ประทับใจ ภาพสเก็ตช์  ภาพบุคคลเหมือนจริง  ภาพทิวทัศน์ป่าเขาลำเนาไพร แถมมีหลายขนาด ตั้งแต่งานขนาดเล็กบนแผ่นกระดาษ ไปจนกระทั่งงานขนาดใหญ่บนผืนผ้าใบสูงท่วมหัว งานที่โดดเด่นที่สุดก็คืองานด้านจิตรกรรมไทยประเพณีสกุลช่างเมืองน่าน ที่ท่านเรียนรู้จากผลงานชั้นครูคือจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จนสามารถสืบสานงานในอดีต นำมาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ได้อย่างงดงาม

เชื่อได้เลยว่าใครที่มาเยือน ได้เห็นผลงานแต่ละชิ้นแล้วก็ต้องทึ่งละครับ ยิ่งหากได้รู้ประวัติว่าศิลปินชาวน่านท่านนี้ไม่เคยผ่านการร่ำเรียนหลักสูตรทางด้านศิลปะโดยตรงจากสถาบันการศึกษา ไม่ว่าในระดับไหนทั้งนั้น  หากแต่อาศัยใจรักด้านศิลปะ หมั่นศึกษาศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะจากภาพจิตรกรรมสกุลช่างเมืองน่าน นำมาเป็นแบบฝึกฝนด้วยตนเอง จนกระทั่งมีฝีมือเข้าขั้น

 การันตีฝีมือได้ด้วยรางวัลด้านศิลปะมามากมายที่ได้รับ เด่น ๆ ได้แก่ รางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดน่านสาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม ประจำปี  ๒๕๔๒ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  รางวัลชนะเลิศการประกวดแบบตราสัญลักษณ์ "น่านเมืองศิลปวัฒนธรรมนำสู่มรดกโลก"  แต่ผลงานที่ถือเป็นชิ้นเอกจริง ๆ คือจิตรกรรมฝาผนังที่วัดมิ่งเมือง ซึ่งวาดในเวลาว่างเว้นจากการทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษาในโรงพยาบาลจังหวัดน่าน   แม้ขณะทำงานยังถูกรบกวนด้วยโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทว่านั่นไม่ได้ทำให้ย่อท้อยังคงมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จ ฝากผลงานเอาไว้ในพุทธศาสนา


 มุมทำงาน

มุมด้านหนึ่งของหอศิลป์ โต๊ะทำงานและอุปกรณ์วาดภาพถูกจัดวางเรียงรายอยู่ มองดูเหมือนกับว่า เจ้าของลุกไปเดินผ่อนคลายอิริยาบถแค่สักชั่วครู่ครั่วยาม แล้วจะกลับมานั่งทำงานต่อ  ทว่าภาพวาดของอาจารย์สุรเดชในกรอบบนตู้ใส่หนังสือริมผนังอีกด้านซึ่งวางไว้ด้วยพวงมาลัยนั่นแหละ ที่ทำให้รู้ว่าท่านจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว บนโต๊ะริมประตูทางเข้ายังมีภาพของอาจารย์สุรเดชกำลังนั่งเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอยู่อีกภาพหนึ่ง

คุณมานะ ทองใบศรี ผู้ดูแลหอศิลป์เล่าถึงความเป็นมาของแต่ละภาพ ภาพสเก็ตช์รูปตัวเองด้วยลายเส้นดินสอนี้เป็นภาพสุดท้ายของอาจารย์  วาดตัวเองจากภาพสะท้อนในกระจก ๓ วัน ก่อนที่ท่านจะเสีย  หลังจากวันที่รับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ในภาพถ่ายนั้นแหละครับ เช้ารุ่งขึ้นก็หัวใจวายเฉียบพลัน ”

แม้ว่าอาจารย์สุรเดชจะจากไปนานหลายปีแล้ว แต่ผลงานที่สร้างไว้ก็ยังมีอยู่อีกมาก ที่ยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ ไม่ได้เข้ากรอบนำมาจัดแสดง ซึ่งผมก็หวังว่ากลับมาเยือนในครั้งต่อ ๆ ไป จะมีโอกาสที่ได้ชื่นชมกับผลงานเหล่านั้น  เชื่อได้แน่นอนว่าต้องสวยงาม น่าประทับใจ ตามแบบสกุลช่างเมืองน่าน 

ผมอำลาจากหอศิลป์มา เมื่อแสงแดดยามเย็นสาดส่องลายปูนปั้นภาพวิถีชีวิตในอดีตของชาวน่านบนผนังด้านนอกของหอศิลป์  ซึ่งอาจารย์สุรเดชลงมือเรียงหินรวมทั้งปั้นปูนบนผนังนี้เองกับมือ

อาคารหอศิลป์พิงพฤกษ์แม้ไม่ใหญ่โต แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของผู้ที่ชื่นชอบในงานศิลป์

คนสร้างงานศิลปะเหมือนกันเท่านั้นแหละครับ ถึงจะรู้ ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะใช้เวลาในชีวิตซึ่งไม่ยาวนานอย่างมีคุณค่า สร้างผลงานระดับ “ชิ้นเอก” ซึ่งแม้ตัวศิลปินจะจากไปแล้ว แต่ผลงานที่สร้างไว้ยังคงอยู่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้มาพบเห็นต่อไปได้อย่างนี้

 หอศิลป์ริมน่าน


หอศิลป์ริมน่าน อาณาจักรศิลปกรรมเหนือกาลเวลา

 ออกห่างจากตัวเมืองน่านมาประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ตามถนนสายลดเลี้ยวร่มรื่น

 ริมสายน้ำน่าน ท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้ และเนินเขาเล็ก ๆ สวยงาม ที่พลิ้วไหวด้วยทะเลหญ้าสีเขียวขจี เป็นที่ตั้งของหอศิลป์ริมน่าน นับตั้งแต่เคยมาเห็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน  ผมบอกได้คำเดียวครับ ว่าที่แห่งนี้คือ “อาณาจักรของศิลปกรรม” อย่างแท้จริง  เพราะบนพื้นที่กว้างขวางกว่า ๑๓ ไร่     ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติ จัดสร้างเป็นหอแสดงงานศิลปะขนาดใหญ่

 ผู้ที่สถาปนาอาณาจักรจักรแห่งศิลปะนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นศิลปินชาวน่านแท้ ๆ อาจารย์วินัย ปราบริปู  หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตักศิลาแห่งศิลปกรรม คร่ำหวอดอยู่ในวงการกว่า  ๒๕  ปี มีประสบการณ์แสดงงานศิลปะทั้งในประเทศ รวมทั้งต่างประเทศที่เจริญด้วยศิลปะอย่างในยุโรปและอเมริกาจนนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน  เกิดเป็นความตั้งใจที่จะสร้างหอศิลป์ขึ้นแสดงงานศิลปะ ท่ามกลางความงดงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ เพื่อให้เด็กเยาวชน และประชาชนในจังหวัดบ้านเกิดเล็ก ๆ อย่างน่านได้มีโอกาสสัมผัสศึกษาเรียนรู้ผลงานของศิลปินระดับชาติ  ศิลปินชั้นเยี่ยม เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯและมหานครในต่างประเทศ

 งานศิลปะที่จัดแสดงภายใน


“เชิญชมตามสบายนะ “ ศิลปินใหญ่ในเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงินเดินทักทายนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างเป็นกันเอง  ภายในอาคาร ๒ ชั้นขนาดใหญ่ บนจั่วหลังคาทำเป็นรูปลูกศรประดับภาพดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  โถงชั้นล่างโล่งกว้างเป็นห้องแสดงนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย ซึ่งมักจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตอนที่ผมมาชมนี้เป็นนิทรรศการ “อิสรภาพแห่งจิตวิญญาณ”  ของอาจารย์วินัย ปราบริปูเอง  สวย ๆ ทั้งนั้นครับ มีทั้งภาพจิตรกรรม ประติมากรรม เดินดูเล่น ๆ ก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงแล้ว เพราะเยอะมาก อยากรู้มีภาพอะไรคงต้องมาดูเองครับ บรรยายทั้งหมด คงต้องใช้กระดาษหนาเป็นเล่มสมุดโทรศัพท์แน่ ๆ

 ภาพล้อ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ส่วนบนชั้น ๒ จัดแสดงผลงานศิลปะที่เป็นงานสะสมของอาจารย์วินัย มีจิตรกรรมงาม ๆ ระดับ ”มาสเตอร์พีซ”  หลายภาพ ทั้งทิวทัศน์ ผู้คน ที่เกี่ยวกับเมืองน่าน รวมทั้งประติมากรรมที่จัดวางไว้เรียงราย แต่ภาพที่ถือเป็นไฮไลต์ คือภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวม ๓ ภาพ ภาพหนึ่งชื่อว่าภาพ “กระซิบรัก” ทรงเขียนลายเส้นด้วยสีเลียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบ” ของวัดภูมินทร์

ภาพที่สองชื่อภาพ “ตะโกน” ซึ่งล้อเลียนภาพ “ปู่ฝรั่ง ย่าฝรั่ง”ของอาจารย์วินัย โดยทรงวาดเป็นลายเส้นรูปชายไว้ผมทรงโมฮอว์ก ป้องปากตะโกนใส่หญิงเกล้าผมมวยซึ่งยกมือปิดหูหลับตาปี๋  (ภาพนี้ให้แรงบันดาลใจกับอาจารย์วินัย นำไปสร้างเป็นประติมากรรมจากน็อตเป็นรูปชายหญิง ตั้งไว้ด้านหน้าร้านของที่ระลึกของหอศิลป์)  และภาพสุดท้ายชื่อ “เจรจาสันติภาพ”  เป็นลายเส้นขาวดำรูปคนอยู่ในเรือ ๒ คน ทรงวาดในโอกาสทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมาเยือนหอศิลป์ริมน่าน  ได้ชมแค่ ๓ ภาพนี้ก็เกินคุ้มแล้วละครับ ว่างั้น

 เฮือนหนานบัวผัน

มาคราวนี้ผมสังเกตเห็นว่าที่ห้องจัดแสดงใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ เฮือนหนานบัวผัน”  จัดนิทรรศการภาพถ่ายประวัติจิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน  ซึ่งอาจารย์วินัยได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างเมืองน่านที่วัดหนองบัว และวัดภูมินทร์ ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนพบว่าเป็นฝีมือของ “หนานบัวผัน”  ศิลปินชาวไทยลื้อ

จึงได้นำเอาข้อมูลและภาพถ่ายจิตรกรรมที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบมารวบรวมจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อเชิดชูเกียรติหนานบัวผัน ในฐานะศิลปินเอกของเมืองน่าน ถือเป็นงานค้นคว้าทางศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าของอาจารย์วินัย ซึ่งมีการรวบรวมจำหน่ายเป็นเล่มพร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ผู้สนใจได้ซื้อหาไปไว้ศึกษา ใครอยากรู้รายละเอียดว่าเกี่ยวกับหนานบัวผันคงต้องมาหาไปอ่านเอาเองครับ เล่าตรงนี้คงที่ไม่พอ (ขนาดที่รวมเล่ม ยังหนาปึ้กเลยละครับ)

 กลับออกมาจากหอศิลป์ริมน่านพร้อมของที่ระลึก หนังสือ และซีดีเพลงล้านนา หอบใหญ่ ใช้เวลาไปทั้งวันเต็ม ๆ เลยครับ ตั้งแต่เช้ายันเย็น เสียดายที่หอศิลป์ริมน่านอยู่ไกลถึงเมืองน่าน นี่ถ้าอยู่ใกล้ ๆ บ้านผมคงจะได้แวะเวียนมาเที่ยวชมทุกวันเป็นแน่

 พระพุทธรูปในรากไทร


อยากหยุดเวลาเอาไว้ให้เมืองน่าน

แม้จังหวะชีวิตในเมืองน่านจะเป็นไปอย่างเนิบช้า แต่ความรู้สึกเกี่ยวกับเวลานี่เป็นเรื่องแปลกครับ เวลาที่เรามีความสุขรู้สึกจะเหมือนกับว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว  เผลอแผล็บเดียวก็ถึงวันที่ผมจะต้องอำลาเมืองน่านซึ่งชีวิตค่อยเป็นค่อยไป กลับสู่เมืองกรุงที่ชีวิตเร่งรีบและเต็มไปด้วยความวุ่นวาย (ตกลงว่าเวลามันช้าหรือเร็วกันแน่ละเนี่ย )

 แม้เมืองน่านในวันนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมได้รู้จักในครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอนครับ ยิ่งเมื่อเห็นถนนสายหลักที่ผ่านเมืองน่านในวันนี้กำลังมีการขยายถนนให้กว้างใหญ่ เพื่อเตรียมรับประชาคมอาเซียน  ได้ยินว่าจะใช้เป็นเส้นทางการค้า ขนส่งสินค้าผ่านลาวไปจนกระทั่งถึงตอนใต้ของจีน อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเมื่อเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าและผู้คนที่สัญจรไปมามากขึ้น อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เป็นได้ ถึงเวลานั้นเวลาที่เมืองน่านอาจจะไม่เนิบช้าอีกต่อไป

            ครับ ก็ได้แต่เป็นห่วง ทอดสายตามองเมืองน่านที่จากมาด้วยความอาลัย  หวังว่าคงจะมีโอกาสได้กลับมามีช่วงเวลาสบาย ๆ สุนทรีย์ในอารมณ์กับจิตรกรรมประเพณีและจิตรกรรมร่วมสมัยในเมืองน่านอีก 



ขอขอบคุณ อาจารย์วินัย ปราบริปู หอศิลป์ริมน่าน คุณโสภา กาละเสน คุณมานะ ทองใบศรี หอศิลป์พิงพฤกษ์  ที่ได้อำนวยความสะดวกในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

คู่มือนักเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ  ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน)  ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒ ที่ อำเภอวังน้อย ผ่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑ อีกครั้ง ที่จังหวัดอุทัยธานี ตรงไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ จนถึงจังหวัดพิษณุโลก แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑ ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑  ผ่านอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ตรงเข้าถึงจังหวัดน่านที่ อำเภอเวียงสา รวมระยะทางประมาณ ๖๖๘  กิโลเมตร  

รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางธรรมดา และปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร ๒  (หมอชิต ๒) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๐ ชั่วโมง ถึงจังหวัดน่าน  ติดต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖  หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th สถานีขนส่งน่าน โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๖๑   บริษัท ขนส่งน่าน จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๐๑๒๗ 

หอศิลป์ริมน่าน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๒ หมู่ ๒ ตำบลบ่อ อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐   เปิดบริการ เวลา  ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน  ปิดวันพุธ  อัตราค่าเข้าชม ๒๐ บาท การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๐  (น่าน- ท่าวังผา) ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากตัวเมืองน่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๙ ๘๐๔๖ (เวลาราชการ) หรือ www.nanartgallery.com


หอศิลป์พิงพฤกษ์ ตั้งอยู่ที่บ้านนาท่อ ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองฯ  จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐  เปิดบริการ เวลา  ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ไม่เก็บค่าเข้าชม การเดินทาง ออกจากตัวเมืองผ่านวัดศรีพันต้น  ใช้ทางหลวงหมายเลข (ถนนสายน่าน – พะเยา) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข นน. ๔๐๐๔ (บ้านน้ำปั้ว-เวียงสา) จุดสังเกตคือปากซอยมีศาลพระภูมิตั้งอยู่หลายหลัง ตรงเข้าไปแล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยชุมชนร่วมใจพัฒนา ไปประมาณ ๕๐เมตร  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐๘ ๑๙๘๐ ๖๔๗๐ 

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

เถลไถล...จากหนองคายไปเชียงขวาง

 ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๓  เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒  


          เมืองหนองคายในตอนสาย ๆ บรรยากาศยังคงเงียบสงบ ถนนหนทางปลอดโปร่ง รถเราไม่ติดขัด สองสหายเราเดินออกจากบังกะโลที่พัก ทอดน่องสบาย ๆ กันไปตามฟุตปาธ มุ่งหน้าไปหาไข่กระทะรองท้องเป็นมื้อเช้า แล้วว่าจะไปโต๋เต๋ซื้อของกันในตลาดท่าเสด็จ หาของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นรายการต่อไป เพราะวันนี้เป็นวันที่เราจะต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังจากที่ข้ามฝั่งโขงไปตะลอนบนเส้นทางเวียงจันทร์-วังเวียง-เชียงขวางกันมาเสียหลายวัน

          ครั้งแรก ๆ ที่มาหนองคายพบก็เหมือนกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ นั่นแหละครับ ที่ต้องแวะเวียนไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสักภาระหลวงพ่อพระใสที่วัดโพธิ์ชัย ชมประติมากรรมเทวรูปมหึมาที่ศาลาแก้วกู่ ฯลฯ แต่พักหลังก็เริ่มที่จะรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่ต้องตระเวนดูแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งก็ได้ เพียงแค่หาที่พักผ่อนหย่อนใจ ปรับเปลี่ยนชีวิตในแต่ละวันให้ช้าลง ตามจังหวะชีพจรของเมืองชายแดนที่ดำเนินไปอย่างเนิบ ๆ เท่านี้ก็รู้สึกมีความสุขไปอีกแบบ

          ยิ่งเมืองหนองคายได้ชื่อว่าเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ ๗ ของโลกด้วยแล้ว เปรียบเสมือนมีใบรับประกันคุณภาพระดับนานาชาติครับ เรื่องน่าอยู่นี่ใครที่มาถึงหนองคายจะสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ด้วยความที่ตัวเมืองหนองคายอยู่ริมน้ำเย็นสบาย อากาศสดชื่น ผู้คนไม่พลุกพล่าน อาหารการกินอร่อย ที่พักก็ราคาไม่แพง พูดรวม ๆ ก็คือสิ่งแวดล้อมดี 

          หลักฐานยืนยันพิสูจน์ความน่าอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกอย่างก็คือ ระหว่างที่เตร็ดเตร่อยู่ในเมือง เราจะเจอกับฝรั่งที่แต่งงานอยู่กินกับสาวชาวหนองคาย อุ้มลูกจูงหลานลูกครึ่ง มานั่งกินอาหารอยู่ตามร้านกันแบบเป็นครอบครัว ไม่ใช่น้อยนาครับ เห็นนับสิบรายทีเดียว แปรสภาพจากนักท่องเที่ยวมาตั้งรกรากอาศัยอยู่เป็นหลักเป็นฐานไปแล้ว น่าอยู่ขนาดไหนก็คิดดู เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะแอบอิจฉาฝรั่งอยู่เหมือนกัน (อิจฉาที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนำอยู่ระดับโลกอย่างหนองคายนาครับ ไม่ใช่อะไร อย่าคิดมาก)




หนองคาย-เวียงจันทน์

          หนแรกนั้นผมตั้งใจจะมาเที่ยวหนองคายทางรถไฟ ตามที่มีข่าวว่าเชื่อมต่อเส้นทางรางจากหนองคายเข้าไปในประเทศลาวเมื่อไม่นานมานี้ครับ แต่พอหาข้อมูลรายละเอียดมาดูเป็นเรื่องเป็นราวถึงเห็นว่า ทางรถไฟที่เข้าไปในลาวนั้นเข้าไปจริงแค่นิดเดียว ไม่กี่กิโลเมตร ถึงสถานีท่านาแล้วก็สุดทาง ต้องนั่งรถสามล้อ กระป๊อหรือสกายแล็บ ต่อเข้าไปในเวียงจันทน์อยู่ดี ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากเดิม (ไม่รู้ทำไปทำไมเหมือนกัน แต่แว่ว ๆ มาว่าต้องรีบทำตัดหน้าประเทศอื่น ทำนองจองไว้ก่อนอะไรประมาณนั้นแหละครับ) ก็เลยเซ็ง ๆ ไป

          จังหวะพอดีกับที่ทาง พี่จ๊อด-หฤทัย บุญวงศ์โสภณ แห่งสีสันทัวร์ สหายร่วมอุดมการณ์ที่เคยไปตะลอน ๆ ด้วยกันมาทั้งในและต่างประเทศหลายครั้งหลายหน มีโครงการจะพาสื่อมวลชนเข้าไปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวหนองคาย-วังเวียง-เชียงขวาง อยู่พอดี ผมเลยถือโอกาสสนธิกำลัง ขอติดสอยห้อยตามเข้าไปด้วยคน เพราะได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้การท่องเที่ยวบนเส้นทางสายนี้ กำลังได้รับความนิยมนอกเหนือจากสายที่ไปทางหลวงพระบาง เรียกว่าเป็นอีกทางเลือกใหม่ก็ว่าได้

          โอเล่ ผู้ประสานงานจากบริษัททัวร์ในลาว เอารถตู้ฮุนไดข้ามฝั่งโขงมารับคณะพรรคของเราตั้งแต่เช้า (เห็นชื่อฝรั่งอย่างนี้เป็นคนไทย บ้านอยู่อุดรฯ นะครับ ไม่ใช่ฝรั่งอั้งม้อที่ไหน) จุดนัดหมายก็คือร้านทานตะวัน ไข่กระทะเจ้าดังของหนองคาย พวกเราอันประกอบด้วยผม พี่จ๊อด และ คุณปิ้น คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์ผู้จัดการ ไปนั่งรอตั้งแต่เปิดร้าน กินไปรอรถไป ไม่เสียเวลา ออกจากร้านมาได้ก็ข้ามโขงกันเลย เดี๋ยวนี้ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเปิดให้ข้ามไปมาได้ตั้งแต่ ๖โมงเช้า แถมขั้นตอนรวดเร็วกว่าเก่าเยอะครับ ยื่นเอกสารไม่นานรถตู้ของเราก็แล่นข้ามสะพานปร๋อเข้าสู่ฝั่งลาว มองไปยังแลเห็นรางรถไฟสายใหม่พาดวางอยู่กลางสะพาน

          "อ้าว ใช้ทางเดียวกันกับรถยนต์เลยนี่ แล้วเวลารถไฟข้ามมาจะทำยังไง" พี่จ๊อดสงสัย

          "ก็ห้ามรถยนต์ ปล่อยให้รถไฟข้ามมาก่อนครับ เพราะนาน ๆ มาที" โอเล่ตอบ ก่อนที่อีกพักใหญ่ ๆ จะชี้ให้ดูริมทางที่ผ่าน "นั่นไงครับ ตัวอาคารสถานรถไฟ ยังใหม่เอี่ยมอยู่เลย"

          หลายปีแล้วเหมือนกันที่ผมไม่ได้ข้ามมาฝั่งเวียงจันทน์ บ้านเมืองตึกรามบ้านช่องดูหนาตามากกว่าเดิม ถนนหนทางดูสะอาดสะอ้านขึ้น ลาดยางอย่างดี มีฟุตปาธเรียบร้อย แม้แต่ป้ายรถเมล์ก็ยังเป็นเพิงสเตนเลสแบบใหม่เงาแว้บ ดูทันสมัยเหมือนกับป้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ (ขาดไปก็แต่ป้ายจอดแท็กซี่อัจฉริยะเท่านั้นที่ยังไม่มีเหมือนบ้านเรา)

          นึกเปรียบเทียบกับสภาพที่เคยเห็นตอนมาเวียงจันทน์ครั้งแรก เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นเมืองดูโทรม ๆ ตามถนนหนทางจะเห็นรถยนต์สีทีม ๆ หน้าตาเก่าโบราณจากรัสเซียบ้าง จีนบ้างแล่นไปแล่นมาอยู่บนถนน แถมมีไม่กี่คัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับกลายเป็นรถยนต์เกาหลียี่ห้อฮุนไดกับเกีย รวมทั้งเณอรี่ เก๋งคันจิ๋วจากจีนแผ่นดินใหญ่ ใหม่เอี่ยม สีสันสดใส แล่นกันอยู่ขวักไขว่เต็มถนนในเมือง รถตู้ที่เรานั่งก็เป็นยี่ห้อฮุนได รุ่นสตาเร็กซ์ ขนาดกะทัดรัด เป็นรุ่นที่ถือว่าฮิตมากรุ่นหนึ่ง เพราะไปไหนก็จะเห็นแต่รุ่นนี้วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยว

          "รถส่วนใหญ่จะนำเข้าจากจีน รถนำเช้าจากไทยจะราคาแพงกว่า อย่างมอเตอร์ไซค์นี่นำเข้าจากจีนราคา ๑๕,๐๐๐บาท ถ้านำเข้ามาจากเมืองไทยคันละ ๕๐,๐๐๐ บาท" โอเล่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อเห็นเราสนใจกับบรรดายวดยาน

          
         

        
           ที่เห็นมีอยู่เยอะอีกอย่างก็คือป้ายโฆษณารณรงค์ "อยู่เมืองลาว ใช้เงินกีบ" ติดอยู่ทั่วไปในเมือง ไม่รู้ได้ผลหรือไม่อย่างไร เพราะเวลาไปซื้อของจริง ๆ เงินดอลลาร์และเงินบาทไทยก็เห็นยังใช้ได้อยู่เหมือนเดิม (แต่จะว่าไม่มีผลก็คงไม่ได้ละครับ อย่างน้อยก็เงินทอนนั่นแหละ ซื้อของทีไรได้ทอนจากแม่ค้ากลับมาเป็นเงินกีบทุกที นับกันไม่หวาดไม่ไหว)

          แวะเวียนไปสังเกตการณ์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเวียงจันทน์ก็ต้องแปลกใจครับ เพราะแต่ละแห่งยังคงสภาพเหมือนเดิมที่เคยเห็น ยังไงก็ยังงั้น แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นที่ หอพระแก้ว ที่ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บโบราณวัตถุสำคัญ วัดสีสะเกด ตัวโบสถ์ จิตรกรรมฝาผนัง และหอไตรยังคงความเก่าคร่ำคร่าเอาไว้แนบแน่น รวมทั้ง พระธาตุดำ อันตระหง่านอยู่ก็คงพื้นผิวกระดำกระด่างอยู่อยู่ดังเดิม เช่นเดียวกับที่ วัดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ โบราณวัตถุในระเบียงคดยังครบถ้วน องค์พระธาตุสีทองอร่ามตัดกับฟ้าครามเด่นเช่นเคย ที่เปลี่ยนไปคือภายนอกมี่การปรับภูมิทัศน์ใหม่ด้านหน้าประตูทางเข้าวัด กลายเป็นลานโล่งกว้างยังกับสนามบิน กับสร้างอาคารหอประชุมธรรมสภาที่ใหม่เอี่ยมอยู่ใกล้ ๆ กันเท่านั้น

          ขนาดไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป พวกเราก็ยังใช้เวลาหมดไปกว่าครึ่งค่อนวันในการตระเวนเที่ยวดูเที่ยวชม ส่วนหนึ่งก็เสียเวลาไปกับการพักเที่ยง เพราะพิพิธภัณฑ์ที่นี่เขาปิดทำการตอนพักกลางวันด้วย (แถมถึงเวลาเปิดยังไม่ค่อยจะยอมเปิดเสียอีกแน่ะ สงสัยแอบไปงีบหลังมื้อกลางวัน) แต่ก็เป็นโอกาสให้เรามีเวลาได้ไปลิ้มลองอาหารบุฟเฟต์ที่ร้านชอบใจเด้อ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวในระหว่างรอ เข้าท่าดีเหมือนกันครับ อาหารหลากหลาย รสชาติอร่อยใช้ได้
          

           
             แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนเดิมมีอยู่แห่งเดียว คือ ตลาดเช้าเวียงจันทน์ ย่านช็อปปิ้งซื้อของที่ระลึกอันเลื่องชื่อมานาน ใครไปใครมาต้องแวะ ตอนนี้กำลังทุบสร้างใหม่เป็นการใหญ่ ลองเข้าไปดูในส่วนที่เป็นตึกใหม่ซึ่งอยู่ข้าง ๆ ปรากฏว่าอารมณ์คล้าย ๆ เดินอยู่ในห้างสรรพสินค้ามาบุญครองที่กรุงเทพฯ เพียงแต่แคบและเล็กกว่า ทว่า ปิดร้านกันเร็วมากครับ ห้าโมงเย็นเท่านั้น เก็บร้านกันเงียบแล้ว ห้างบ้านเราอย่างน้อยต้องเปิดถึงสี่ทุ่ม เปิดโต้รุ่งก็ยังมี
 


          แดดร่มลมตก พวกเราถึงพากันไปโต๋เต๋แถว ประตูชัยเวียงจันทน์ ที่สร้างเป็นอนุสาวรีย์รำลึกถึงเหล่าทหารหาญที่สละชีพ เพื่อชาติในสงคราม ซื้อตั๋วขึ้นไปชมทิวทัศน์ด้านบนของประตูชัย เดินขึ้นบันไดไปก็ให้นึกแปลงใจอยู่ไม่น้อยครับ เพราะภายในประตูชัยแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเห็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ทั้งภายนอกภายใน ห้องโถงกลางยังคงทรุดโทรมคร่ำคร่ามืดทึม มีร้านขายของที่ระลึกเพิ่มขึ้นมานิดหน่อยเท่านั้น
         
          แต่เมื่อมองลงมาจากด้านบนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองใต้ชัด ถนนหนทางที่กว้างขวางสะอาดสะอ้าน รถราแล่นกันขวักไขว่ ตึกรามบ้านช่องใหม่ ๆ ผุดโผล่ให้เห็นหนาตา บนลานด้านหน้าประตูชัยเดี๋ยวนี้ยังมีบ่อน้ำพุเต้นระบำเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย เปิดเฉพาะในยามเย็นที่มีประชาชนชาวลาวมาพักผ่อนหย่อนใจ ดูสดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้น เห็นมีคนสนใจมายืนคอยดูลีลาของน้ำพุเยอะเหมือนกัน



          แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งในเวียงจันทน์ที่คราวนี้เราเพิ่งมีโอกาสได้ดูกันเป็นครั้งแรก ทั้งที่มีนานแล้วก็คือ พิพิธภัณฑ์ปฏิวัติ อยู่ในอาคารเก่ าๆ ตรงข้ามศูนย์วัฒนธรรมในเมืองนั่นเอง ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าพวกเราแต่ละคนต่างเคยมาเวียงจันทน์กันคนละหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยมีใครได้เข้ามา คราวนี้ยังเกือบพลาดอีกแล้วครับ แต่ด้วยความที่การเดินทางครั้งนี้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนไกด์คนเก่งของเราเป็นต้องอ้างถึงพิพิธภัณฑ์ปฏิวัติทุกที ขากลับพวกเราก็เลยต้องขอแวะเข้ามาดูให้ได้ ไม่งั้นไม่หายคาใจ

          แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ ภายในรวบรวมข้อมูล โบราณวัตถุ และภาพถ่ายจากหลอกหลายยุคสมัย เที่ยวชมแล้วช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของลาว ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันง่ายขึ้นเยอะเลย โดยเฉพาะห้องก่อนประวัติศาสตร์ ผมชอบใจเป็นพิเศษ เพราะมีโบราณวัตถุหินตั้งขนาดใหญ่อายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี สลักลวดลายเป็นรูปดาว รูปทรงแปลกประหลาด ไม่เคยเห็นที่ไหน

          เสียดายอยู่หน่อยครับ ที่คราวนี้เรามีเวลาให้กับเวียงจันทน์ไม่มากเท่าไหร่ (มาทีไรก็ยังงี้ทุกทีแหละ...เฮ้อ) เพราะยังมีจุดหมายต่อไปที่น่าสนใจรออยู่ข้างหน้าอีกหลายแห่ง แต่อย่างน้อยพวกเราก็ได้เห็นความเป็นไปในทางด้านการท่องเที่ยวของเวียงจันทน์ ว่าเจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัวแล้วในตอนนี้


เวียงจันทน์-วังเวียง

          รุ่งขึ้นรถตู้คันเก่าพาคณะพรรคเราออกจากโรงแรมที่พักในเวียงจันทน์แต่เช้า โดยมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกคนคือไกด์หนุ่มน้อยแก้มยุ้ย หุ่นตุ้ยนุ้ยคล้ายโดราเอมอน ขึ้นรถปุ๊บก็หันมาแนะนำตัวด้วยท่าทางอารมณ์ดี กับรอยยิ้มละไมระบายเอาไว้บนใบหน้าจนตายิบหยีแทบตลอดเวลา "ผมชื่อมานะครับ เป็นลูกครึ่งหลวงพระบาง-ไทยดำ จะมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์ให้จนกระทั่งถึงวันกลับ"

          นับแต่รถออก ยอดมัคคุเทศก์ของเราก็ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งไม่ว่าจะพบเจออะไรบนเส้นทาง มัคคุเทศก์ของเราอธิบายได้ทุกเรื่องราว พร้อมตัวเลขละเอียดยิบยังกับอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาพร้อมลูกเล่นลูกฮาเพียบ ทำให้การเดินทางคราวนี้ไม่มีคำว่าเงียบเหงากันละ

          "ระยะทางจากเวียงจันทน์ถึงวังเวียง ๑๖๕ กิโลเมตรครับ ตอนนี้เราออกมาถึงเมืองโพนโฮง เป็นเมืองหลวงของแขวงเวียงจันทน์ เป็นคนละส่วนกับกำแพงนครเวียงจันทน์นะครับ อันนั้นเป็นเมืองหลวงของประเทศลาว...ที่เราข้ามมาคือสะพานเหล็กข้ามลำน้ำหลีก สหรัฐอเมริกามาสร้างไว้เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๐ เชื่อมระหว่างบ้านหินเกิบเหนือกับบ้านหินเกิบใต้ ลำน้ำนี้มีเส้นทางพายเรือคายักจากวังเวียงไปเวียงจันทน์ได้แยกที่เห็นเป็นทางไปเขื่อนน้ำงึม เขื่อนแห่งแรกของประเทศลาว สร้างเมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๓ ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ข้างหน้ามีหมู่บ้านห้วยหม้อ เป็นชุมชนริมทะเลสาบน้ำงึมที่เกิดจากการกั้นเขื่อนน้ำงึม"


 


          มองออกไปก็เห็นว่าบ้านเรือนสองฟากถนนเรียงรายไปด้วย แผงขายผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเลสาบ ปลาตกแห้ง ปลาตัวเล็ก หลังจากรถแล่นตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขาลงเขาอยู่นานพอสมควร ก็เข้าสู่เขตเมืองวังเวียง และเห็นเทือกเขาหินปูนทอดตัวยาวเหยียดเด่นอยู่แต่ไกล เสียงไกด์มานะยังบรรยายเรื่อย ๆ

          "ช่วงปี ค.ศ.๑๘๖๓ ฝรั่งเศสปกครองเวียดนามแล้วก็พยายามจะเข้ามาปลูกฝิ่นแถววังเวียงครับ มาช่วงปี ค.ศ.๑๘๙๓ วังเวียงก็กลายเป็นฐานทัพที่มั่นของกองทัพรัฐบาลลาว ที่เลือกวังเวียงก็เพราะที่นี่มีภูเขาหิน มีถ้ำเยอะ เหมาะสำหรับเป็นที่หลบซ่อนกำบังในการสู้รบ ตอนนั้นยังไม่มีใครสนใจเรื่องท่องเที่ยวหรอก ไม่เห็นความสำคัญเรื่องความสวยงาม รู้แต่ว่าเป็นชัยภูมิดี ลาวเพิ่งริเริ่มเรื่องท่องเที่ยวเมื่อประมาณปี ค.ศ.๑๙๙๕  แล้วมาประกาศเป็นปี Visit Lao Year เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๐ ไม่กี่ปีนี่เอง วังเวียงก็กลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ"

          "ทัวร์ไทยเราส่วนใหญ่ก็จะแวะมาพักค้างคืนที่วังเวียงนี่แหละ ก่อนจะเดินทางต่อไปหลวงพระบาง แต่ไม่ค่อยได้เที่ยวดูอะไร แค่เป็นทางผ่าน" เสียงพี่จ๊อดเสริมขึ้นมา ทำให้ผมนึกได้ว่าตอนมาลาวครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในคาราวานรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อสำรวจเส้นทางท่องเที่ยววงรอบไทย-ลาว จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามมาหลวงน้ำทา ล่องลงมาถึงเวียงจันทน์ ผมก็เคยมาแวะพักค้างคืนที่วังเวียงเหมือนกัน





            ในสมัยนั้นวังเวียงเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ ภาพประทับใจก็คือเทือกเขาหินปูนสูงใหญ่ยาวเหยียดกับสายน้ำของที่หลากไหลท่ามกลางสายหมอกขาว จนได้รับสมญานามว่า "กุ้ยหลินเมืองลาว"แต่ช่วงหลัง ๆ นี่แว่วว่าวังเวียงมีการเปลี่ยนแปลงสมญานามกลายเป็น "ปายแห่งเมืองลาว" สงสัยคนไทยนั่นแหละที่มาตั้งชื่อให้ใหม่ เพราะพักหลังมานี้ปายมาแรง เป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิตติดอันดับต้น ๆ ของไทย

          พอรถแล่นเข้าในเขตเมืองก็ได้เห็นกันชัด ๆ ครับ ว่าเมืองวังเวียงเดี๋ยวนี้ต่างไปจากที่ผมเคยเห็นลิบลับ เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัวไปแล้วจริง ๆ ดูจากร้านรวงที่เรียงรายติดกันเป็นตับสองฟากถนน ป้ายโฆษณาที่พัก ทัวร์ และอะไรต่อมีอะไร รวมทั้งนักท่องเที่ยวฝรั่งเดนิกันอยู่ขวักไขว่ ระหว่างแวะพักกินอาหารกลางวันในร้าน  มัคคุเทศก์มานะ ก็ทำการวางแผนท่องเที่ยวในวังเวียงให้กับพวกเรา แถมมีตัวเลือกให้เสียด้วย

          "แผนแรกคือปั่นจักรยานไปเที่ยวถ้ำ ส่วนใหญ่มาเที่ยววังเวียงนักท่องเที่ยวฝรั่งก็จะไปปั่นจักรยานเที่ยวถ้ำกัน วังเวียงมีถ้ำที่สำรวจแล้ว ๖๗ ถ้ำ ยังมีที่ไม่สำรวจอีกเยอะ ถ้ำช้าง จะมีหินงอกหินย้อยรูปเหมือนช้างตัวเล็ก ๆ ถ้ำลม ต้องปีนขึ้นไปประมาณ ๑๒๐ เมตร ถ้ำปูคำ จะมีปูทอง ไม่ใช่หินรูปปู เป็นปูจริง ๆ นะ เดินได้ กระดองเป็นสีทอง แต่จะออกมาเฉพาะช่วงวันสงกรานต์ อยากจะดูต้องมาตอนสงกรานต์อีกที ถ้ำหลุบ นี่ก็จะเป็นหลุม ถ้ำน้ำ จะเป็นถ้ำน้ำลอด มีน้ำไหลผ่านด้านล่างใต้พื้นถ้ำ ต้องนั่งบักกงเบ็งไต่ตามเชือกเข้าไป"

          พวกเราพากันงงว่าบักกงเบ็งคืออะไร แต่พอมานะอมยิ้มบอกว่าคือ ห่วงยาง ก็หากันถึงบางอ้อ "กง" ก็คือวง "เบ็ง" ก็คือเบ่ง คือสูบลมเข้าไปจนพองนั่นเอง

          "ยังไม่หมดนะ ที่ถ้ำหอย มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ อ้อ เคยมีเด็กอิตาลีหลงหายเข้าไปข้างใน ไม่กลับออกมาด้วยนะครับ" มานะคุยอย่างภูมิใจ แต่คณะพรรคเราฟังแล้วหันหน้ามองตากันไปมาอยู่ปริบ ๆ "หรือจะเอาแผนสอง นั่งรถไปดูเฉพาะถ้ำเป็นไฮไลต์แล้วไปล่องเรือเที่ยวแม่น้ำซองกัน ถ้าล่องเรือนี่จะไปผ่านตรงที่ฝรั่งเล่นน้ำด้วย" ได้ยินปุ๊บคณะเราพยักหน้าตกลงเลือกแผนสองอย่างเป็นเอกฉันท์แทบจะทันทีทันใด เพราะจะว่าไปแล้ว ถ้ำในเมืองไทยเรานั้นก็มีเยอะและสวยงามอลังการอยู่แล้ว ไม่ต้องมาดูที่ลาวก็ได้ (แต่เหตุผลสำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะแผนสองสบายกว่าแผนแรกนั่นแหละ...แฮ่ม)





          ช่วงบ่ายเราก็เลยไปถ้ำจัง ที่ตั้งในบริเวณวังเวียงรีสอร์ตกันก่อนเสียค่าผ่านประตูแล้ว ๓๐,๐๐๐ กีบ เดินข้ามสะพานแขวนสีส้ม เข้าไปยังต้องเสียค่าขึ้นไปชมถ้ำอีกรอบคนละ ๑๕,๐๐๐ กีบ มานะบอกว่าถ้ำนี้คนจีนมาประมูลได้สัมปทานเก็บค่าเข้าชม (มิน่า เก็บแล้วเก็บอีก) เข้าไปใกล้หน่อยก็จะเห็นธารน้ำไหลลงมาจากปล่องถ้ำ นักท่องเที่ยวลงเล่นลอยคอต้านกระแสน้ำเป็นที่สนุกสนาน พี่จ๊อดติดอกติดใจสาหร่ายเขียวพลิ้วไหวอยู่ในลำธาร ก้ม ๆ เงย ๆ หามุมถ่ายภาพอยู่เป็นนานสองนาน

          "บันไดมีทั้งหมด ๑๔๗  ขั้น" ไกด์มานะรายงานตัวเลข หลังจากที่พวกเราพากันปีนขึ้นไปหยุดหอบซี่โครงบานเหงื่อท่วมตัวอยู่หน้าปากถ้ำแล้ว ยังดีที่มีลมพัดออกมาจากถ้ำเย็นเจี๊ยบ เหมือนกับพัดจากเครื่องปรับอากาศ จนพวกเราสงสัยมองหาแอร์กันเป็นการใหญ่ ไกด์มานะยืนยันว่าเป็นลมธรรมชาติ ไม่มีแอร์แต่อย่างใด เชื่อกันว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ใครเข้าไปทำพฤติกรรมไม่เหมาะไม่ควรจะเกิดอาการมือเท้างอหงิกเป็นง่อย ขยับไปไหนไม่ได้ ภาษาลาวเรียกว่าจัง เป็นที่มาของชื่อถ้ำ ภาษาไทยก็คงว่า "จังงัง" ประมาณนั้น

          ภายในถ้ำทำเป็นทางเดินลดเลี้ยวไปตามซอกหลืบ แต่ละมุมคูหาตกแต่งประดับประดาด้วยแสงไฟหลากสี ช่วยเพิ่มมิติและจินตนาการให้กับหินงอกหินย้อยได้ไม่เบาครับ รูปเจ้าแม่กวนอิมบ้าง รูปคนแปดศอกบ้าง ฯลฯ แล้วแต่จะจินตนาการไป มานะบอกว่าภายในถ้ำยังมีเส้นทางไปได้อีกไกล แต่จำกัดพื้นที่ให้เดินอยู่ในระยะที่ปลอดภัยเท่านั้น มุมหนึ่งเป็นทางเดินออกไปโผล่ริมหน้าผามองเห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำ ทิวเขา และท้องทุ่งนาเขียวขจีสบายตา
          


         
      แดดร่มสมตกพอดีกับที่พวกเรากลับลงมาล่องเรือแม่น้ำซองกัน ล่องจากหน้าที่พักของเราคือถาวรสุขรีสอร์ตนั่นแหละ แบ่งกลุ่มกันลงเรือหางยาวลำเล็กผอมเพรียวสองลำ พุ่งทะยานทวนสายน้ำเชี่ยวกรากที่หลากไหล โดยมีทิวเขาหินปูนใหญ่เป็นฉากหลัง ผมได้นั่งกับคุณปิ้น เพราะตัวใหญ่ทั้งคู่ พากันนั่งตัวเกร็งเชียวละครับ เพราะเรือลำเล็ก ขยับนิดหน่อยก็โยกเยก คนขับก็ขับเร็วเหลือหลาย ชูชีพก็ไม่มีให้ (เพิ่งมารู้จากไกด์มานะทีหลังครับว่าน้ำตื้น ไม่ลึกเท่าไหร่ แหม ไม่บอกแต่แรก ปล่อยให้เสียวแทบแย่)

          แล่นไปก็สวนกับนักท่องเที่ยวหลอกชาติหลายภาษา ที่หน้าตาคุ้น ๆ เหมือนคนไทย ฮ่องกง ญี่ปุ่น ทำนองคนเอเชียจะมาในเรือคายัก พายสวนมาเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนหน้าตาฝรั่งดั้งโด่ง หัวทองผมแดง ทั้งหญิงและชายจะมาใน "กงเบ็ง" หรือห่วงยาง เอกเขนกลอยคอหลับตาพริ้ม แบบเดี่ยว ๆ เป็นส่วนใหญ่ มานะบอกว่าห่วงยางพวกนี้จะมีจุดปล่อยอยู่ที่หน้าออร์แกนิกฟาร์ม ล่องลงมาแล้วก็เดินกลับขึ้นไปล่องมาใหม่ ไม่รู้สนุกตรงไหนเหมือนกัน

          นั่งกินลมชมวิวทิวเขาหินและท้องทุ่งผ่านรีสอร์ตหลากรูปแบบ ที่เรียงรายอยู่สองฟากฝั่ง พักใหญ่ก็ไปถึงบริเวณที่ฝรั่งเล่นน้ำ เป็นย่านที่พักและร้านอาหาร ดนตรีดังสนั่น มองไปบนท่าน้ำที่ทำยื่นออกมาเป็นแนวยาว ฝรั่งทั้งชายหญิงในชุดว่ายน้ำนั่ง ๆ นอน ๆ กันระเกะระกะ แต่ละคนในมือถือกระป๋องเครื่องดื่ม สนุกสนาน เฮฮากันเต็มที่ ริมน้ำหลายแห่งทำเป็นหอสูง มีเชือกไว้ให้ห้อยโหนแบบทาร์ซาน บางแห่งก็ทำเป็นสไลเดอร์ขนาดใหญ่ เราล่องเรือผ่านไปก็จะเห็นฝรั่งเข้าแถววาดลวดลายห้อยโหนโจนทะยานกระโดดลงน้ำกันตูม ๆ แล้วก็กลับขึ้นมากระโดดใหม่ ส่งเสียงเอะอะเจี๊ยวจ๊าว มานะบอกว่าคนลาวเรียกแถวนี้ว่าย่านฝรั่งบ้า (ดูแล้วก็น่าจะเรียกอย่างนั้นแหละ)

  




          ขึ้นจากเรือมาก็พากันเดินเล่นเตร็ดเตร่ เห็นมีสะพานข้ามไปฝั่งตรงข้ามได้เลยลองเดินไปดู ปรากฏว่าต้องเสียเงินค่าเดินข้ามด้วยคนละ ๑,๐๐๐ กีบ เพราะเป็นสะพานเอกชนสร้าง แต่ก็คุ้มค่าครับ เพราะได้เดินชมท้องทุ่งนาในแสงยามเย็นเป็นสีทองอร่ามท่ามกลางทิวเทือกเขา ฝั่งนี้มีรีสอร์ตอยู่แค่แห่งสองแห่ง นอกนั้นเป็นบ้านเรือนชาวบ้านเสียส่วนใหญ่ แต่ริมสะพานด้านหนึ่งเห็นกำลังมีการถมที่ริมตลิ่งอยู่ อาจจะก่อสร้างเป็นรีสอร์ตหรือเกสต์เฮาส์ขึ้นมาใหม่อีกแห่ง

          "ไม่แน่นะ มาคราวหน้าอาจจะได้เห็นตึกเกสต์เฮาส์สี่ห้าชั้นโผล่ขึ้นมาอยู่หน้าวิวภูเขาตรงนี้ก็ได้" ซุบซิบกันพลางเดินออกมา ทำเล่นไปนาครับ เป็นไปได้จริง เพราะเห็นเกสต์เฮาส์แถวนี้กำลังฮิตสร้างอาคารหลายชั้นกันอยู่

          อีกวันหนึ่งพวกเราพากันออกไปขี่จักรยานชมเมืองยามแดดร่มลมตก ค่อยเห็นว่าเมืองวังเวียงก็มีส่วนคล้าย ๆ ปายจริง ๆ อย่างที่ว่า คือเป็นเมืองเล็กในหุบเขา ขี่จักรยานไม่นานก็รอบเมืองวนออกไปรอบนอกก็เห็นว่ารายล้อมด้วยทุ่งนา มีลำน้ำสวยใสไหลผ่าน 

       


          บรรยากาศในเมืองก็คล้าย ๆ ครับ ตอนค่ำ ๆ พวกเราไปนั่งกินอาหารเย็นกัน  โดยเลือกร้านตรงกันข้ามกับผ่านสามแยกไชโย ที่เป็นแหล่งกินดื่มยามราตรีของที่นี่ เป็นการสังเกตการณ์บรรยากาศไปในตัว ในย่านนี้จะมีแสงไฟสว่างไสวกว่าที่อื่น รอบด้านครึกครื้น มีฝรั่งนั่งรถสองแถวกลับจากล่องห่วงยางมาลงเป็นระยะ ผู้ชายนุ่งกางเกงว่ายน้ำตัวเดียว ผู้หญิงสวมบิกินี ถือห่วงยางกันคนละห่วง เดินกันเต็มถนน ดูเพลิน ๆ ก็ขำดี เรานั่งอยู่นี่ยังมีฝรั่งผู้ชายสองคนท่าทางเมาได้ที่ ใส่ห่วงยางวิ่งชนกันเด้งไปเด้งมาเหมือนรถบัมพ์

          ร้านชะนะไชตรงหัวมุมดูเหมือนจะเป็นที่นิยมสูงสุด คนแน่นร้านตลอด นักท่องเที่ยวมีหลากหลายชาติทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น ฮ่องกง รวมทั้งคนไทย

          "โต๊ะนั้นต้องเป็นคนไทยแน่ ๆ เพราะว่าสั่งอาหารมาทีเต็มโต๊ะ" พลพรรคเราตั้งข้อสังเกต ฝรั่งจะสั่งแค่เครื่องดื่มอย่างเดียวนั่งทั้งคืน แต่คนไทยเรื่องกินเรื่องใหญ่ ต้องสั่งหลาย ๆ อย่างทั้งกับข้าว กับแกล้ม เครื่องเคียง มาประกอบเกียรติยศ (ว่าแต่เขา โต๊ะเราเองก็เหมือนกันนั่นแหละ)

          มีที่ไม่คล้ายก็คือบนถนนไม่จัดเป็นถนนคนเดินเหมือนปาย และไม่มีร้านขายของที่ระลึกเก๋ ๆ กินมื้อเย็นเสร็จสรรพพวกเราก็เลยพากันเดินกลับที่พัก เพราะไม่มีอะไรให้ดู นอกจากฝรั่งเมา ซึ่งก็ไม่เห็นจะน่าดูเท่าไหร่ เดินผ่านร้านขายโรตีเรียงรายอยู่หลายร้าน พี่จ๊อดได้กลิ่นหอมแล้วอดใจไม่ไหว เกร่เข้าไปซื้อลองชิม โรตีที่นี่เขาเป็นแผ่นใหญ่ไม่ม้วน ใส่นมโรยน้ำตาลแล้วตัดเป็นชิ้น ๆ ใส่กล่อง รสชาติใช้ได้ (แอบขอชิมชิ้นนึง) แต่ราคาน่ะสิ คิดเป็นเงินไทยชิ้นละเกือบ ๕๐ บาทเชียวละครับ พี่จ๊อดกินเข้าไปแล้วจะนอนหลับรึเปล่าก็ไม่รู้ ขนาดผมไม่ได้เป็นคนซื้อยังเสียดายตังค์เลย





วังเวียง-เชียงขวาง

          เช้าวันนี้ออกจากวังเวียงมาได้ไม่ไกล พวกเราก็มาแวะติดอกติดใจ "แหง็ก" อยู่กับทุ่งนาขั้นบันไดที่กังลังออกรวงเหลืองอร่ามตัดกับทิวเขาหินยาวสุดลูกตาอยู่ข้างทาง

          "ตรงนี้เรียกว่าผาตั้ง เห็นภูเขาตรงนั้นไหม แยกออกมาตั้งอยู่ มีเรื่องเล่าว่าพระสีทน (ไทยเรียกพระสุธน) พานางมโนราห์หนียักษ์มาถึงตรงนี้ เจอภูเขาสูงขวางหน้า พระสีทนก็เลยใช้ง้าวฟันภูเขาแยกออก กลายเป็นผาตั้ง บนยอดเขาข้างหน้ายังมีหินรูปม้า พี่เชื่อว่าเป็นม้าของพระสีทนอยู่ด้วย"

          ไม่ว่าแวะตรงไหน ไกด์มานะยังคงทำหน้าที่ให้ข้อมูล แถมยังเป็นนาฬิกาปลูกคอยเตือนเรื่องเวลาอีกด้วย เมื่อเห็นว่าชักจะแวะนานเกินไป 

        
         "จากวังเวียงไปเชียงวาง ๒๓๐ กิโลฯ นะครับ เพิ่งออกจากวังเวียงมาได้แต่ ๒๓ กิโลฯ ยังเหลือทางอีกตั้งสิบเท่า" เล่นเอาต้องรีบเผ่นขึ้นรถกันแทบไม่ทัน

          หลังอาหารกลางวันแกล้มทิวทัศน์เหนือทะเลภูเขา พวกเราก็เริ่มต้นผจญโค้งกันนับจากนั้น เดี๋ยวเลี้ยวซ้ายเดี๋ยวขวาตามทางคดโค้งบนภูเขาแทบตลอดเวลา จนทุกคนต้องพากันนั่งหลับตา เพื่อที่จะได้ไม่วิงเวียนจนเกินไป โอเล่ ผู้ประสานงานของเรานั้น อาการหนักกว่าใคร เพราะเมารถ ถึงขนาดต้องกินยาแก้แพ้ให้ง่วงหลับอุตุตลอด
              


          "ต่อจากนี้ไปไม่มีทางโค้งไปโค้งมาอีกแล้วละครับ" เสียงไกด์มานะบอก เมื่อเวลา ๒ ชั่วโมงผ่านไป พอดีกับรถตู้คันเก่งของเราแล่นเข้าเขตเมืองพูกูด อันเป็นเมืองแรกของแขวงเชียงขวาง ลืมตาขึ้นมามองออกไปนอกหน้าต่างก็ต้องตาโตครับ เพราะทิวทัศน์ที่ปรากฏต่อสายตานั้นเป็นภูเขารูปโค้งที่ปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี คล้ายกับภูเขาหญิงของจังหวัดระนองบ้านเรา ที่เคยสร้างความฮือฮาเป็น Unseen Thailand มาแล้ว แต่ที่นี่มีเป็นสิบครับ แถมขนาดใหญ่กว่า ใส่สลับเรียงกันไป ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซับซ้อนสุดลูกหูลูกตา 
            
            พี่จ๊อดชอบอกชอบใจ "โอ้โห นั่น บนเนินเขากั้นรั้วไม้เป็นแนว เลี้ยงแกะด้วย เป็นนิวซีแลนด์เลย"

          "อ้าว ได้ยังไงครับ ที่นี่ประเทศลาว ต้องเป็นนิวซีลาวสิ" ผมคัดค้านขึ้นมา

          "เออแฮะ เข้าท่า" พี่จ๊อดเห็นด้วย นับจากนั้นเป็นต้นมาเราก็เลยตกลงเรียนภูเขาทุ่งหญ้าแบบที่เห็นนี้แบบเล่น ๆ ว่านิวซีลาวกันมาตลอด จะว่าไปแล้วภูเขาหญ้าเขียวขจีและป่าสนเป็นสิ่งที่พวกเราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในเชียงขวาง ส่วนใหญ่มักจะนึกไปถึงสมรภูมิสงครามมากกว่า

          "เชียงขวางได้ชื่อว่าเป็นดินแดนวีรบุรุษ ปลดปล่อยประเทศลาวจากการยืดครองของต่างชาติ ทุก ๆ ปีประธานประเทศลาวจะมาทำพิธีสักการะวีรบุรุษ ในวันที่ระลึกถึงการปลดแอกชาติลาวในสงครามอินโดจีน 2 ธันวาคม ค.ศ.๑๙๗๕ เชียงขวางยังมีอะไรเป็นที่สุดอีกหลายอย่างนะ ภูเบี้ย ยอดเขาที่สูงที่สุดในลาวคือ ๒,๘๐๐ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ก็อยู่ที่นี่ ยังมีเรื่องเล่าว่าป่าหิมพานต์ก็อยู่ที่นี่เหมือนกัน มีม้งที่รู้ทาง เห็นเขาว่าเดินไป ๒ วันถึง สาวชาวเชียงขวางก็ได้ชื่อว่าสุดยอดเข้มแข็งไม่แพ้ผู้ชาย" มานะพูดถึงตรงนี้บนถนนก็เห็นมีกลุ่มผู้หญิงชาวบ้านแบกถังน้ำใบใหญ่เดินข้ามเขาเสมือนมาช่วยยืนยัน แหม ยังกับนัดกันไว้



            เป้าหมายแรกของพวกเราคือ ทุ่งไหหิน อยู่ในเขตเมืองแปก เมืองหลวงของแขวงเชียงขวางครับ เลี้ยวตามป้ายบอกทางเข้าไปไม่ไกลก็ถึง จ่ายเงินซื้อบัตรเข้าชมแล้วก็พากันเดินไต่ขึ้นไปตามเนินเขาโล้นเลี่ยน แว่วเสียงไกด์เราตะโกนบอก "เดินตามทางดี ๆ นะครับ บนพื้นจะมีป้ายสีแดงกับป้ายสีขาวติดไว้ ที่เขียนว่าแม็กนั่นแหละสีแดงคือเขตอันตราย ยังไม่ได้เก็บกู้ระเบิด สีขาวคือเขตปลอดภัยกู้ระเบิดเรียบร้อยแล้ว"

          มานะบอกว่า ที่ระเบิดในเชียงขวางมีเยอะขนาดนี้ก็เพราะในปี ค.ศ.๑๙๖๐อเมริกาเข้ามาทำสงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหวและจับได้จากเรดาร์ ถล่มซ้ำด้วยลูกระเบิดจากป้อมบินบี ๕๒  ซึ่งบินจากจังหวัดอุดรธานีในไทยเข้ามาทิ้งระเบิดในลาว มีข้อมูลว่าอเมริกาใช้ระเบิดทั้งหมด ๓ ตันต่อคนลาว ๑ คน สมัยนั้นลาวมีประชากร ๓ ล้าน คำนวณดูแล้วกันครับว่ามีระเบิดอยู่เท่าไหร่ (ขนาดกู้ไปเยอะแล้วนะเนี่ย) บนยอดเนินมีไหหินขนาดมหึมาใบใหญ่น้อยตั้งอยู่ระเกะระกะ ดูเป็นปริศนาน่าสนใจว่าใช้สำหรับทำอะไร ตำนานว่าเป็นไหเหล้าของขุนเจือง วีรบุรุษในตำนานพื้นบ้านและเหล่าทหารหาญ แต่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าใช้สำหรับประกอบพิธีฝังศพของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์

          "ในบรรดาไซต์ทั้งหมด ไซต์ ๑ นี่เป็นไซต์ที่มีไหหินเยอะที่สุด ๓๓๔ ใบ ในพื้นที่ ๒๕ เฮกตาร์ ( ๑ เฮกตาร์เท่ากับ ๗ ไร่) ใบใหญ่ที่สุดก็อยู่ที่นี่ ก่อนช่วงสงครามไหหินทุกใบมีฝาปิด แต่หลังสงครามฝาหายหมด ช่วงปี ๑๙๖๐ ท่านไกสอน พมวิหาร ประธานประเทศคนที่ ๒ ตั้งกองราชวงศ์ที่ชำเหนือ ก่อนย้ายลงมาตั้งฐานที่มั่นที่ทุ่งไหหิน ฝ่ายศัตรูเข้ามาล้อมจับ เกิดรบกันขึ้น ทหารท่านไกสอนก็ใช้ไหหิน นี่แหละเป็นบังเกอร์ จะเห็นว่ามีหลายใบที่มีช่องให้ปากกระบอกปืนโผล่ออกไป"
            
         จากบนเนินมีทางเดินลงไปลานด้านล่างที่ยังมีไหหินขนาดย่อม ๆ อีกกลุ่มใหญ่ มีใบหนึ่งยังหลงเหลือฝาไหที่แกะเป็นรูปคนด้วย พวกเราเดิมตามทางซึ่งพาขึ้นไปบนเนินใหญ่อีกลูก ริมทางเห็นมีไหหินกระจายอยู่หลายใบ บนยอดเนินเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล เสียดายที่อากาศปิด พวกเราก็เลยต้องถอนทัพกลับที่พักเมื่อความมืดเข้ามาเยือน



          เช้าวันรุ่งขึ้น อากาศหนาวยะเยือกเหมือนอยู่ในฤดูหนาว รีสอร์ตที่พักของเราบนภูเขาหมอกลงขาวโพลนไปหมดทั่วบริเวณพวกเราออกเดินทางฝ่าม่านหมอกระยะทาง ๓๑ กิโลเมตร ไปยัง เมืองคูนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรพวนโบราณ ปัจจุบันประชากรในเมืองคูนยังเป็นชาวพวนอยู่ ใช้เวลาไม่นานก็เห็นยอดเจดีย์เก่าคร่ำกระดำกระด่างโดดเด่นอยู่เหนือยอดเขาแต่ไกล

           


          โบราณสถานในเมืองคูนส่วนใหญ่ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของอเมริกาในปี ค.ศ.๑๙๖๐ ส่วนใหญ่ก็เลยเหลือแต่ซากปรักหักพัง ไม่ว่าจะเป็น วัดเพีย ที่เหลือซากพระประธานกับเสาและผนังวิหาร พระธาตุฝุ่น ที่เห็นยอดลิบ ๆ อยู่เหนือทิวไม้ สถาปัตยกรรมทรวดทรงคล้ายกับ พระธาตุดำ ที่เวียงจันทน์ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพี่น้องกัน ก็อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ฐานเจดีย์ด้านล่างเป็นโพรงขนาดใหญ่ รวมทั้งพระธาตุจอมเพชรที่อยู่บนเนินเขาอีกลูกใกล้ ๆ กัน ก็ยอดหักหายไปเหลือแต่องค์ระฆังจมอยู่ในป่ารกชัฏ ที่เมืองคูนนี้มีเรื่องตลกเกี่ยวกับค่าเข้าชมโบราณสถาน  เพราะจะต้องเก็บคนละ ๘,๐๐๐ กีบ แปลกตรงที่นักท่องเที่ยวที่เข้าชม ต้องเอาเงินไปให้กับร้านค้าในเมืองด้านล่างเอง ไม่มีคนเฝ้าขายบัตร สงสัยเหมือนกันว่าถ้านักท่องเที่ยวไม่แวะเข้าไปจ่ายเงินแล้วจะทำยังไง

       



          ช่วงบ่ายเราแวะเข้าไปทุ่งไหหินไซต์ ๒ ในเขตเมืองผาไซ รถแล่นตามทางลูกรังขรุขระเป็นหลุมบ่อ ผ่านท้องทุ่งที่มีบึงน้ำใหญ่เมฆขาวฟ้าครามสะท้อนในผืนน้ำดูงามแปลกตา มานะบอกว่าเวลาน้ำแห้งจะมีจรวดโผล่ขึ้นมา ให้เด็ก ๆ ขึ้นไปปีนเล่น บนทางยังผ่านบ้านเรือนแบบพวกดั้งเดิมที่เป็นครอบครัวขยาย แวะซื้อตั๋วเข้าชมจากศาลาหลังเล็กริมทางแล้ว พวกเราเดินขึ้นเขาไปไม่ไกลก็ถึงแหล่งไหหินบนยอดเขาสูง มีทางเดินเชื่อมไปยังแหล่งไหบนยอดเนินอีกแห่ง ว่ากันว่ามีทั้งหมด ๙๕ ไห ขนาดไม่ใหญ่ แต่มีหลายใบที่มีรูปร่างแปลกออกไป คือเป็นทรงกระบอกยาว

          


          ทุ่งในไหหินไซต์ ๓ ก็อยู่ในเมืองผาไซเหมือนกัน จอดรถในลาน วัดเชียงดี เดินผ่านท้องทุ่งนาที่กำลังเขียว ปีนป่ายบันไดข้ามรั้วไม้ที่กั้นไว้โดยรอบก็ถึงเนินเตี้ย ๆ อันระเกะระกะไปด้วยไหหิน เห็นได้แต่ไกลทั่วไป มีไหทั้งหมด ๑๙๕ ใบ ถ้าไม่รวมไหนแตกมี ๑๒๐ ใบ เท่าที่ดูรู้สึกว่าไหหินในไซต์ที่ ๓ นี้จะเล็กกว่าที่ไซต์ ๑ และไซต์ ๒ มีนักท่องเที่ยววัยรุ่นชาวเชียงขวางมาเที่ยวถ่ายภาพกันสนุกสนานเป็นกลุ่มใหญ่ พวกเรายังเที่ยวดูไม่ทันจุใจ สายฝนก็โปรยปรายลงมาช่วยปิดฉากการเดินทางของเราในวันนี้ลง

          แต่ก็ยังดีครับที่ได้ไปเที่ยวชมแหล่งสำคัญ ๆ จนครบถ้วน เท่าที่เห็นบนเส้นทางสายนี้มีอนาคตทางการท่องเที่ยวสดใสครับ เพราะไม่ใช่แต่แหล่งโบราณคติที่น่าสนใจ ธรรมชาติที่นี่ยังสวยงามและอุดมสมบูรณ์อีกด้วย เห็นได้จากวันรุ่งขึ้นที่เราพากันไปเที่ยวดูตลาดเช้าในเมืองแปก เดินไปในตลาดจะเห็นมีสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นอัน นิ่ม กระรอก กวางชายเรียงรายให้เห็นมากมาย แสดงว่ายังมีป่าไม้และสัตว์ป่าอยู่อีกมาก (แต่จับมาขายทีละเยอะ ๆ อย่างนี้อนาคตก็มีหวังหมดเหมือนกัน) ด้วยความที่ลาวยังมีความสดใหม่ของธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมากันมาก ถ้าเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางท่องเที่ยวสายอีสานของไทยผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่หนองคายได้จะแจ๋วขนาดไหน คงได้นักท่องเที่ยวเพิ่มอีกไม่น้อย

          นักท่องเที่ยวไทยเรามาหนองคายแล้ว ลองข้ามไปเที่ยวบนเส้นทางนี้ก็ไม่เลว อย่าคิดว่าเป็นการไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเงินทองจะรั่วไหล บ้านใกล้เรือนเคียงแบบนี้เศรษฐกิจเชื่อมโยงหมุนเวียนซึ่งกันและกันครับ เราซื้อเขา เขาซื้อเรา มีแต่ได้กับได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

          ท่องเที่ยวหาความรู้ไม่สิ้นเปลืองอะไรมากมาย ดีกว่าไปเที่ยวเล่นการพนัน อย่างขากลับเราแวะเข้าไปในเขื่อนน้ำงึม ที่นี่มีบ่อนกาสิโนกลางน้ำ เห็นว่าคนไทยไปเที่ยวกันเยอะ เอาเงินไปทิ้งไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ เที่ยวแบบนี้ไม่ได้อะไรครับ มีแต่เจ๊งกับเจ๊งลูกเดียวอย่าได้คิดไปลองเชียว