วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

เสพสุนทรียะ ในนครศิลปะ เมืองน่าน


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ  
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๓ ฉบับที่ ๗ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
                 
วิถีความเป็นไปของเมืองน่าน สะท้อนผ่านงานจิตรกรรมของอาจารย์สุรเดช กาละเสน

            
              ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้ นักท่องเที่ยวแห่มาเมืองน่านกันอย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ครับ ต้องบันทึกเอาไว้เลย วัดวาอาราม ที่พัก ร้านอาหาร ล้วนเนืองแน่นไปด้วยผู้คนล้นหลาม

จากการพูดคุยกับผู้สันทัดกรณี บ้างก็ว่าเป็นเพราะปีนี้ลมหนาวมาช้ากว่าทุกปี กว่าฝนจะหมดก็ปาเข้าเดือนธันวาฯ ทำให้นักท่องเที่ยวอัดอั้น ไม่ได้เที่ยวรับลมหนาวตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาฯ – พฤศจิกาฯ อย่างปีก่อน ๆ  บ้างก็ว่าเป็นเพราะนักท่องเที่ยวไม่มีที่จะไปรับลมหนาว เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาไปเที่ยวที่อื่นมาหมดแล้ว   บ้างก็ว่าเป็นเพราะนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลท่านนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย  ฯลฯ ต่างคนต่างว่ากันไป

แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร วันนี้ต้องถือว่าเมืองน่านกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวและเป็นทางการไปแล้วละครับ

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ดูเหมือนเมืองน่านกลับคืนสู่ความเป็นเมืองที่เงียบสงบและงดงาม ด้วยจังหวะความเป็นไปอันเนิบช้า เหมือนที่ผมเคยรู้จักครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตกหลุมรักเข้าอย่างจังกับความงดงามของศิลปกรรมในเมืองเล็กในหุบเขาแห่งนี้ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ติดตาติดใจอยู่ตลอดมา

วัดหัวข่วงกับสถาปัตย์อันงดงาม 

ศิลป์แห่งอดีต ในเมืองแห่งวันเวลาที่ค่อยเป็นไป 

สุขใจจริง ๆ ครับ สำหรับวันแล้ววันเล่าที่ผมวนเวียนอยู่กับการเที่ยวชมศิลปกรรมตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองน่าน ไปพร้อม ๆ กับสังเกตดูว่าเมืองน้อย ๆ แห่งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หลังจากไม่ได้มาเยี่ยมเยือนเสียนานหลายปี

อากาศหนาว แดดอุ่นสวย  ท้องฟ้าสีครามใส เป็นใจให้ตลอดเวลาที่ผมตระเวนไปรอบ ๆ ตามเส้นทาง ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยม น่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน ที่น่านในวันนี้ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่  ทำเอาผมชักเริ่มรู้สึกอย่างที่เขาชอบพูดกันแล้วละครับ ว่าเวลาที่เมืองน่านอาจจะเดินช้ากว่าที่อื่นจริง ๆ

บนจุดชมทิวทัศน์วัดพระธาตุเขาน้อย มองลงมาเมืองน่านยังดูสงบสวยอยู่โอบล้อมของขุนเขา เห็นตึกรามบ้านช่องสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างแต่ไม่ได้มากมาย  เจดีย์เหลี่ยมที่มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายลดหลั่นตามแบบหริภุญไชยของวัดพญาวัด ริมทางผ่านขึ้นลงเขาก็รักษาสภาพความเก่าแก่งดงามเอาไว้ดีอยู่  มีเพียงวิหารที่อยู่ในระหว่างซ่อมสร้าง เดินดูรอบ ๆ ลายแกะสลักไม้ ๑๒ นักษัตรประดับวิหารที่ผมเคยชื่นชอบก็อยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ บรรยากาศรอบข้างร่มรื่นเขียวขจี ด้วยแมกไม้

 ทิวทัศน์จากวัดพระธาตุเขาน้อย



เช่นเดียวกับในอีกมุมเมือง ปูชนียสถานสำคัญ วัดพระธาตุแช่แห้ง ยังคงตระหง่านงามด้วยเจดีย์สีทองอร่ามอยู่บนเนินเขาน้อย ๆ นอกเมืองน่าน ให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาสักการะเพื่อเป็นศิริมงคลในการเดินทาง

มีเพียงย่านโบราณสถานอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใจกลางเมือง ในบริเวณที่เรียกว่า “ข่วงเมืองน่าน” ดูเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ตรงที่ปัจจุบันไม่มีสายไฟฟ้าซึ่งเคยระโยงระยางรุงรังให้เห็นอีกแล้ว  หลังจากย้ายลงไปไว้ใต้ดินเมื่อไม่กี่ปีมานี้ รวมถึงวัดวาอารามสำคัญแต่ละแห่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเอี่ยมอ่อง  จัดภูมิทัศน์สองฟากฝั่งถนนอย่างสวยงาม พรั่งพร้อมด้วยศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เดิน ๆ อยู่จะเห็นรถทัศนาจรหน้าตาเหมือนรถรางนำนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเต็มคันแล่นลดเลี้ยวชมเมืองพร้อมเสียงบรรยายเจื้อยแจ้วของมัคคุเทศก์  ได้อารมณ์ของความเป็นเมืองท่องเที่ยว

 วัดพระธาตุแช่แห้ง


จุดสนใจอันดับต้น ๆ ของผมที่เทียวไปเทียวมาอยู่ทุกวันคือวัดภูมินทร์ ครับ ด้วยความประทับใจในสุดยอดสถาปัตยกรรมหนึ่งเดียวในประเทศไทย(และในโลกก็ว่าได้) ที่รวมเอาวิหารและโบสถ์เข้าด้วยกันเป็นอาคารจัตุรมุข ตระหง่านงามอยู่บนหลังพญานาค ๒ ตัว  กึ่งกลางภายในประดิษฐานพระประธาน ๔ ทิศ แปลกไม่เหมือนที่ไหน  อีกอย่างที่ปัจจุบันเป็นที่สนใจกันมากก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน ซึ่งว่ากันว่าวาดขึ้นในช่วงปฏิสังขรณ์ใหญ่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อรัชกาลที่ ๕ โดยมีภาพพุทธประวัติอยู่ด้านบน  ของผนังทั้ง ๔ ด้าน ส่วนล่างของผนังทางทิศเหนือ ตะวันออก และใต้ วาดเป็นเรื่องคัทธณะกุมารชาดก ส่วนด้านตะวันตกวาดเรื่องเนมิราชชาดก

ความแปลกตาของจิตรกรรมเมืองน่านอยู่ที่ศิลปินวาดภาพตัวเอกใหญ่มาก เกือบเท่าขนาดคนจริง และแม้แต่ตัวประกอบก็มีขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ผิดกับจิตรกรรมฝาผนังโดยทั่วไป คุณค่าของภาพนอกจากความสวยงามแล้วยังอยู่ที่เนื้อหาในภาพ ที่บันทึกรายละเอียดสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทรงผม เสื้อผ้า การแต่งกายของชาวน่านในอดีตเอาไว้อย่างน่าดู

 วิหารจัตุรมุข วัดภูมินทร์

 จิตรกรรม ปู่ม่าน ย่าม่าน อันลือลั่น 

             โดยเฉพาะภาพหนุ่มสาวชาวพม่าข้างประตู ที่ฝ่ายชายป้องปากหันไปทางฝ่ายหญิงซึ่งเอียงหูเข้ามา เรียกกันว่าภาพ “กระซิบ” ซึ่งปัจจุบันจากการนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ  กลายเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก"  ฮิตติดลมบนไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าไปที่ไหนในเมืองน่าน ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ก็หรือแม้ตามถนนหนทางก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป จนแทบจะเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของเมืองน่าน

           ในขณะที่ภาพนรกสวรรค์อันน่าตื่นตาตื่นใจอยู่บนผนังข้างประตูอีกด้าน มาจากเรื่อง “เนมิราชชาดก”  ที่พระวิษณุกรรมรับบัญชาจากพระอินทร์พาพระเนมิราชไปชมเมืองสวรรค์กับเมืองนรก  เป็นอีกภาพที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนถึงความเชื่อของผู้คนเมืองน่าน  

          มุมหนึ่งยังมีภาพวาดของเรือกลไฟ ที่ดูดี ๆ จะเห็นฝรั่งตะวันตกเป็นผู้โดยสาร เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์สะท้อนการเข้ามาของชาวตะวันตกในยุคนั้นรายละเอียดพวกนี้ ต้องใช้เวลาค่อย ๆ ดู พินิจพิจารณาไป วันละนิดละหน่อย (เแหงนคอดูนาน ๆ ก็เมื่อยเหมือนกันนี่ครับ )


         ฝั่งตรงข้ามกันกับวัดภูมินทร์  สถาปัตยกรรมตะวันตกผสมพื้นเมืองของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน โดดเด่นอยู่หลังแนวต้นลั่นทมที่เรียงรายริมรั้ว กลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ที่นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายภาพกัน บนสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์ยังเป็นที่ตั้งของวัดน้อย วัดที่ขนาดเล็กที่สุดในเมืองน่าน และน่าจะเล็กที่สุดในประเทศไทยและในโลกอีกด้วย

         ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์อันสวยงาม แต่เดิมเป็น”หอคำคุ้มแก้ว” ที่ประทับและว่าราชการของเจ้าผู้ครองนครน่าน  ภายในซึ่งมี ๒ ชั้นแบ่งเป็นชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีสำคัญของจังหวัด เช่น  พิธีสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน  ซึ่งชิ้นที่สำคัญที่สุดคืองาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน ถูกเก็บไว้ในห้องกระจกอย่างดี  มาพิพิธภัณฑ์แต่ละครั้งผมใช้เวลาอยู่ได้นาน ๆ  โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แดดแรง เดินข้างนอกไม่ไหว อาศัยหลบแดดดูโน่นดูนี่อยู่ข้างใน ไม่ร้อนดีครับ


 หอไตรวัดหัวข่วงอันงดงาม

            สถาปัตยกรรมอิทธิพลสุโขทัยเจดีย์วัดช้างค้ำ อาบแสงสีทองอร่ามยามเย็น ช่วงเวลานี้เหมาะที่จะไปเยี่ยมชมวัดหัวข่วง อารามเล็ก ๆ ที่อยู่เยื้องกัน จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่การจัดวางผังอย่างตัวกำแพงรั้ววัดที่ไม่สูงจนเกินไป ทำให้บริเวณวัดดูมีพื้นที่เหมาะเจาะกำลังดี ไม่อึดอัด เจดีย์ประธานองค์ใหญ่สง่างามอยู่หลังวิหาร จุดเด่นประการสำคัญ คือหอไตรที่ประดับลวดลายอย่างเรียบง่าย แต่งดงาม จนหลายต่อหลายคนที่มาเห็นหลงใหล ส่วนใหญ่บอกว่าเห็นแล้วรู้สึกคล้าย ๆ ศิลปกรรมในเมืองหลวงพระบาง  

 ปูนปั้นอันวิจิตรของวัดมิ่งเมือง

            ไม่ไกลจากกัน ความอลังการของลวดลายปูนปั้นที่วัดมิ่งเมือง เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอีกแห่งของเมืองน่าน ถึงขนาดพูดกันว่า “ไปเที่ยวเชียงรายต้องไม่ลืมแวะวัดร่องขุ่น มาเที่ยวเมืองน่านก็ไม่ควรผ่านเลยวัดมิ่งเมืองเหมือนกัน”  วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน

            วิหารและศาลหลักเมืองที่ขาวโพลนอลังการตระการตาด้วยฝีมือปั้นปูนอันละเอียดยิบยับของสล่าเสาร์แก้ว เลาดี ช่างปูนปั้นสกุลช่างเชียงแสน  ในวิหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังมารผจญและประวัติเมืองน่านที่งดงามตระการตาอย่างสกุลช่างเมืองน่าน ฝีมืออาจารย์สุรเดช กาละเสน ศิลปินสายเลือดน่าน ผู้ที่กลายเป็นตำนานไปแล้วในวันนี้ 

 ปูนปั้นสีทองวัดศรีพันต้น


            อีกวัดหนึ่งที่คล้าย ๆ กันกับวัดมิ่งเมือง คือวัดศรีพันต้น วิหารประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นระยิบระยับไม่แพ้กัน ในวิหารก็มีจิตรกรรมประวัติเมืองน่านเหมือนกันด้วย มีต่างกันอยู่ก็ตรงสีสัน ที่ทางวัดศรีพันต้นทาสีทองอร่ามมลังเมลืองไปทั้งหลังเท่านั้น

             นี่แหละ เหตุผลที่ว่า ทำไมผมถึงใช้เวลาหลายวันวนเวียนไปมาอยู่ในเมืองเล็ก ๆ แค่นี้ นั่นก็เพราะรายละเอียดดี ๆ ที่น่าสนใจมีอยู่เยอะครับ


 บรรยากาศภายในหอศิลป์พิงพฤกษ์


เวลาแห่งชีวิตของศิลปิน หอศิลป์พิงพฤกษ์
          
              หอศิลป์ชั้นเดียวเล็ก ๆ ที่หลบมุมอยู่ในเงาของร่มไม้ริมรั้ว ดูไม่แตกต่างไปจากภาพในความทรงจำเมื่อหลายปีก่อน  ตอนนั้นผมมาตระเวนขี่จักรยานเที่ยวกับเพื่อนคู่หูคู่ปั่นในเมืองน่าน แล้ววันหนึ่งก็ขับรถแวะเวียนผ่านมาพบหอศิลป์แห่งนี้เข้าโดยบังเอิญ

จำได้ดีครับถึงความรู้สึกตื่นเต้น ที่ได้รู้ว่าที่แห่งนี้คือบ้านของอาจารย์สุรเดช กาละเสน ศิลปินผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามตระการตาในวิหารวัดมิ่งเมือง ที่เราได้ไปดูไปเห็นมา พร้อม ๆ ไปกับรู้สึกเสียดายอย่างที่สุด เมื่อได้รู้ว่าเจ้าของบ้านได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก่อนที่จะทันได้เปิดหอศิลป์ส่วนตัวที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นทีละเล็กละน้อยจนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ในบริเวณบ้าน

ยังดีที่คุณโสภา กาละเสน ภรรยา ยืนหยัดในอุดมการณ์  เดินหน้าสานต่อความฝันด้วยการ เปิด “หอศิลป์พิงพฤกษ์” จัดแสดงนิทรรศการผลงานของอาจารย์สุรเดชที่ทิ้งเอาไว้จนสำเร็จอย่างที่ได้เห็น บอกตรง ๆ ครับ ว่าตอนแรกนั้นผมเองยังคิดว่าน่าจะไปไม่รอด เพราะขาดตัวศิลปินผู้สร้างผลงาน คงอยู่ลำบาก ผ่านไปหลายปี กลับมาอีกครั้ง ได้เห็นหอศิลป์น้อย ๆ แห่งนี้ยังคงอยู่ ก็รู้สึกโล่งใจ  กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ



 ผลงานอาจารย์สุรเดช กาละเสน

ภายในหอศิลป์เรียงรายด้วยผลงานของอาจารย์สุรเดช  กาละเสนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่วาดด้วยลายเส้นดินสอ สีน้ำ สีอครีลิค และสีน้ำมัน จิตรกรรมฝาผนังที่คัดลอกแบบจากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ ที่เน้นเลือกมาวาดเฉพาะภาพที่ประทับใจ ภาพสเก็ตช์  ภาพบุคคลเหมือนจริง  ภาพทิวทัศน์ป่าเขาลำเนาไพร แถมมีหลายขนาด ตั้งแต่งานขนาดเล็กบนแผ่นกระดาษ ไปจนกระทั่งงานขนาดใหญ่บนผืนผ้าใบสูงท่วมหัว งานที่โดดเด่นที่สุดก็คืองานด้านจิตรกรรมไทยประเพณีสกุลช่างเมืองน่าน ที่ท่านเรียนรู้จากผลงานชั้นครูคือจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จนสามารถสืบสานงานในอดีต นำมาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ได้อย่างงดงาม

เชื่อได้เลยว่าใครที่มาเยือน ได้เห็นผลงานแต่ละชิ้นแล้วก็ต้องทึ่งละครับ ยิ่งหากได้รู้ประวัติว่าศิลปินชาวน่านท่านนี้ไม่เคยผ่านการร่ำเรียนหลักสูตรทางด้านศิลปะโดยตรงจากสถาบันการศึกษา ไม่ว่าในระดับไหนทั้งนั้น  หากแต่อาศัยใจรักด้านศิลปะ หมั่นศึกษาศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะจากภาพจิตรกรรมสกุลช่างเมืองน่าน นำมาเป็นแบบฝึกฝนด้วยตนเอง จนกระทั่งมีฝีมือเข้าขั้น

 การันตีฝีมือได้ด้วยรางวัลด้านศิลปะมามากมายที่ได้รับ เด่น ๆ ได้แก่ รางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดน่านสาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม ประจำปี  ๒๕๔๒ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  รางวัลชนะเลิศการประกวดแบบตราสัญลักษณ์ "น่านเมืองศิลปวัฒนธรรมนำสู่มรดกโลก"  แต่ผลงานที่ถือเป็นชิ้นเอกจริง ๆ คือจิตรกรรมฝาผนังที่วัดมิ่งเมือง ซึ่งวาดในเวลาว่างเว้นจากการทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษาในโรงพยาบาลจังหวัดน่าน   แม้ขณะทำงานยังถูกรบกวนด้วยโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทว่านั่นไม่ได้ทำให้ย่อท้อยังคงมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จ ฝากผลงานเอาไว้ในพุทธศาสนา


 มุมทำงาน

มุมด้านหนึ่งของหอศิลป์ โต๊ะทำงานและอุปกรณ์วาดภาพถูกจัดวางเรียงรายอยู่ มองดูเหมือนกับว่า เจ้าของลุกไปเดินผ่อนคลายอิริยาบถแค่สักชั่วครู่ครั่วยาม แล้วจะกลับมานั่งทำงานต่อ  ทว่าภาพวาดของอาจารย์สุรเดชในกรอบบนตู้ใส่หนังสือริมผนังอีกด้านซึ่งวางไว้ด้วยพวงมาลัยนั่นแหละ ที่ทำให้รู้ว่าท่านจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว บนโต๊ะริมประตูทางเข้ายังมีภาพของอาจารย์สุรเดชกำลังนั่งเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอยู่อีกภาพหนึ่ง

คุณมานะ ทองใบศรี ผู้ดูแลหอศิลป์เล่าถึงความเป็นมาของแต่ละภาพ ภาพสเก็ตช์รูปตัวเองด้วยลายเส้นดินสอนี้เป็นภาพสุดท้ายของอาจารย์  วาดตัวเองจากภาพสะท้อนในกระจก ๓ วัน ก่อนที่ท่านจะเสีย  หลังจากวันที่รับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ในภาพถ่ายนั้นแหละครับ เช้ารุ่งขึ้นก็หัวใจวายเฉียบพลัน ”

แม้ว่าอาจารย์สุรเดชจะจากไปนานหลายปีแล้ว แต่ผลงานที่สร้างไว้ก็ยังมีอยู่อีกมาก ที่ยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ ไม่ได้เข้ากรอบนำมาจัดแสดง ซึ่งผมก็หวังว่ากลับมาเยือนในครั้งต่อ ๆ ไป จะมีโอกาสที่ได้ชื่นชมกับผลงานเหล่านั้น  เชื่อได้แน่นอนว่าต้องสวยงาม น่าประทับใจ ตามแบบสกุลช่างเมืองน่าน 

ผมอำลาจากหอศิลป์มา เมื่อแสงแดดยามเย็นสาดส่องลายปูนปั้นภาพวิถีชีวิตในอดีตของชาวน่านบนผนังด้านนอกของหอศิลป์  ซึ่งอาจารย์สุรเดชลงมือเรียงหินรวมทั้งปั้นปูนบนผนังนี้เองกับมือ

อาคารหอศิลป์พิงพฤกษ์แม้ไม่ใหญ่โต แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของผู้ที่ชื่นชอบในงานศิลป์

คนสร้างงานศิลปะเหมือนกันเท่านั้นแหละครับ ถึงจะรู้ ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะใช้เวลาในชีวิตซึ่งไม่ยาวนานอย่างมีคุณค่า สร้างผลงานระดับ “ชิ้นเอก” ซึ่งแม้ตัวศิลปินจะจากไปแล้ว แต่ผลงานที่สร้างไว้ยังคงอยู่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้มาพบเห็นต่อไปได้อย่างนี้

 หอศิลป์ริมน่าน


หอศิลป์ริมน่าน อาณาจักรศิลปกรรมเหนือกาลเวลา

 ออกห่างจากตัวเมืองน่านมาประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ตามถนนสายลดเลี้ยวร่มรื่น

 ริมสายน้ำน่าน ท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้ และเนินเขาเล็ก ๆ สวยงาม ที่พลิ้วไหวด้วยทะเลหญ้าสีเขียวขจี เป็นที่ตั้งของหอศิลป์ริมน่าน นับตั้งแต่เคยมาเห็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน  ผมบอกได้คำเดียวครับ ว่าที่แห่งนี้คือ “อาณาจักรของศิลปกรรม” อย่างแท้จริง  เพราะบนพื้นที่กว้างขวางกว่า ๑๓ ไร่     ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติ จัดสร้างเป็นหอแสดงงานศิลปะขนาดใหญ่

 ผู้ที่สถาปนาอาณาจักรจักรแห่งศิลปะนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นศิลปินชาวน่านแท้ ๆ อาจารย์วินัย ปราบริปู  หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตักศิลาแห่งศิลปกรรม คร่ำหวอดอยู่ในวงการกว่า  ๒๕  ปี มีประสบการณ์แสดงงานศิลปะทั้งในประเทศ รวมทั้งต่างประเทศที่เจริญด้วยศิลปะอย่างในยุโรปและอเมริกาจนนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน  เกิดเป็นความตั้งใจที่จะสร้างหอศิลป์ขึ้นแสดงงานศิลปะ ท่ามกลางความงดงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ เพื่อให้เด็กเยาวชน และประชาชนในจังหวัดบ้านเกิดเล็ก ๆ อย่างน่านได้มีโอกาสสัมผัสศึกษาเรียนรู้ผลงานของศิลปินระดับชาติ  ศิลปินชั้นเยี่ยม เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯและมหานครในต่างประเทศ

 งานศิลปะที่จัดแสดงภายใน


“เชิญชมตามสบายนะ “ ศิลปินใหญ่ในเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงินเดินทักทายนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างเป็นกันเอง  ภายในอาคาร ๒ ชั้นขนาดใหญ่ บนจั่วหลังคาทำเป็นรูปลูกศรประดับภาพดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  โถงชั้นล่างโล่งกว้างเป็นห้องแสดงนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย ซึ่งมักจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตอนที่ผมมาชมนี้เป็นนิทรรศการ “อิสรภาพแห่งจิตวิญญาณ”  ของอาจารย์วินัย ปราบริปูเอง  สวย ๆ ทั้งนั้นครับ มีทั้งภาพจิตรกรรม ประติมากรรม เดินดูเล่น ๆ ก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงแล้ว เพราะเยอะมาก อยากรู้มีภาพอะไรคงต้องมาดูเองครับ บรรยายทั้งหมด คงต้องใช้กระดาษหนาเป็นเล่มสมุดโทรศัพท์แน่ ๆ

 ภาพล้อ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ส่วนบนชั้น ๒ จัดแสดงผลงานศิลปะที่เป็นงานสะสมของอาจารย์วินัย มีจิตรกรรมงาม ๆ ระดับ ”มาสเตอร์พีซ”  หลายภาพ ทั้งทิวทัศน์ ผู้คน ที่เกี่ยวกับเมืองน่าน รวมทั้งประติมากรรมที่จัดวางไว้เรียงราย แต่ภาพที่ถือเป็นไฮไลต์ คือภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวม ๓ ภาพ ภาพหนึ่งชื่อว่าภาพ “กระซิบรัก” ทรงเขียนลายเส้นด้วยสีเลียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบ” ของวัดภูมินทร์

ภาพที่สองชื่อภาพ “ตะโกน” ซึ่งล้อเลียนภาพ “ปู่ฝรั่ง ย่าฝรั่ง”ของอาจารย์วินัย โดยทรงวาดเป็นลายเส้นรูปชายไว้ผมทรงโมฮอว์ก ป้องปากตะโกนใส่หญิงเกล้าผมมวยซึ่งยกมือปิดหูหลับตาปี๋  (ภาพนี้ให้แรงบันดาลใจกับอาจารย์วินัย นำไปสร้างเป็นประติมากรรมจากน็อตเป็นรูปชายหญิง ตั้งไว้ด้านหน้าร้านของที่ระลึกของหอศิลป์)  และภาพสุดท้ายชื่อ “เจรจาสันติภาพ”  เป็นลายเส้นขาวดำรูปคนอยู่ในเรือ ๒ คน ทรงวาดในโอกาสทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมาเยือนหอศิลป์ริมน่าน  ได้ชมแค่ ๓ ภาพนี้ก็เกินคุ้มแล้วละครับ ว่างั้น

 เฮือนหนานบัวผัน

มาคราวนี้ผมสังเกตเห็นว่าที่ห้องจัดแสดงใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ เฮือนหนานบัวผัน”  จัดนิทรรศการภาพถ่ายประวัติจิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน  ซึ่งอาจารย์วินัยได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างเมืองน่านที่วัดหนองบัว และวัดภูมินทร์ ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนพบว่าเป็นฝีมือของ “หนานบัวผัน”  ศิลปินชาวไทยลื้อ

จึงได้นำเอาข้อมูลและภาพถ่ายจิตรกรรมที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบมารวบรวมจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อเชิดชูเกียรติหนานบัวผัน ในฐานะศิลปินเอกของเมืองน่าน ถือเป็นงานค้นคว้าทางศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าของอาจารย์วินัย ซึ่งมีการรวบรวมจำหน่ายเป็นเล่มพร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ผู้สนใจได้ซื้อหาไปไว้ศึกษา ใครอยากรู้รายละเอียดว่าเกี่ยวกับหนานบัวผันคงต้องมาหาไปอ่านเอาเองครับ เล่าตรงนี้คงที่ไม่พอ (ขนาดที่รวมเล่ม ยังหนาปึ้กเลยละครับ)

 กลับออกมาจากหอศิลป์ริมน่านพร้อมของที่ระลึก หนังสือ และซีดีเพลงล้านนา หอบใหญ่ ใช้เวลาไปทั้งวันเต็ม ๆ เลยครับ ตั้งแต่เช้ายันเย็น เสียดายที่หอศิลป์ริมน่านอยู่ไกลถึงเมืองน่าน นี่ถ้าอยู่ใกล้ ๆ บ้านผมคงจะได้แวะเวียนมาเที่ยวชมทุกวันเป็นแน่

 พระพุทธรูปในรากไทร


อยากหยุดเวลาเอาไว้ให้เมืองน่าน

แม้จังหวะชีวิตในเมืองน่านจะเป็นไปอย่างเนิบช้า แต่ความรู้สึกเกี่ยวกับเวลานี่เป็นเรื่องแปลกครับ เวลาที่เรามีความสุขรู้สึกจะเหมือนกับว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว  เผลอแผล็บเดียวก็ถึงวันที่ผมจะต้องอำลาเมืองน่านซึ่งชีวิตค่อยเป็นค่อยไป กลับสู่เมืองกรุงที่ชีวิตเร่งรีบและเต็มไปด้วยความวุ่นวาย (ตกลงว่าเวลามันช้าหรือเร็วกันแน่ละเนี่ย )

 แม้เมืองน่านในวันนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมได้รู้จักในครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอนครับ ยิ่งเมื่อเห็นถนนสายหลักที่ผ่านเมืองน่านในวันนี้กำลังมีการขยายถนนให้กว้างใหญ่ เพื่อเตรียมรับประชาคมอาเซียน  ได้ยินว่าจะใช้เป็นเส้นทางการค้า ขนส่งสินค้าผ่านลาวไปจนกระทั่งถึงตอนใต้ของจีน อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเมื่อเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าและผู้คนที่สัญจรไปมามากขึ้น อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เป็นได้ ถึงเวลานั้นเวลาที่เมืองน่านอาจจะไม่เนิบช้าอีกต่อไป

            ครับ ก็ได้แต่เป็นห่วง ทอดสายตามองเมืองน่านที่จากมาด้วยความอาลัย  หวังว่าคงจะมีโอกาสได้กลับมามีช่วงเวลาสบาย ๆ สุนทรีย์ในอารมณ์กับจิตรกรรมประเพณีและจิตรกรรมร่วมสมัยในเมืองน่านอีก 



ขอขอบคุณ อาจารย์วินัย ปราบริปู หอศิลป์ริมน่าน คุณโสภา กาละเสน คุณมานะ ทองใบศรี หอศิลป์พิงพฤกษ์  ที่ได้อำนวยความสะดวกในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

คู่มือนักเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ  ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน)  ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒ ที่ อำเภอวังน้อย ผ่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑ อีกครั้ง ที่จังหวัดอุทัยธานี ตรงไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ จนถึงจังหวัดพิษณุโลก แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑ ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑  ผ่านอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ตรงเข้าถึงจังหวัดน่านที่ อำเภอเวียงสา รวมระยะทางประมาณ ๖๖๘  กิโลเมตร  

รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางธรรมดา และปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร ๒  (หมอชิต ๒) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๐ ชั่วโมง ถึงจังหวัดน่าน  ติดต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖  หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th สถานีขนส่งน่าน โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๑๖๖๑   บริษัท ขนส่งน่าน จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๑ ๐๑๒๗ 

หอศิลป์ริมน่าน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๒ หมู่ ๒ ตำบลบ่อ อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐   เปิดบริการ เวลา  ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน  ปิดวันพุธ  อัตราค่าเข้าชม ๒๐ บาท การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๐  (น่าน- ท่าวังผา) ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากตัวเมืองน่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๙ ๘๐๔๖ (เวลาราชการ) หรือ www.nanartgallery.com


หอศิลป์พิงพฤกษ์ ตั้งอยู่ที่บ้านนาท่อ ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองฯ  จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐  เปิดบริการ เวลา  ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ไม่เก็บค่าเข้าชม การเดินทาง ออกจากตัวเมืองผ่านวัดศรีพันต้น  ใช้ทางหลวงหมายเลข (ถนนสายน่าน – พะเยา) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข นน. ๔๐๐๔ (บ้านน้ำปั้ว-เวียงสา) จุดสังเกตคือปากซอยมีศาลพระภูมิตั้งอยู่หลายหลัง ตรงเข้าไปแล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยชุมชนร่วมใจพัฒนา ไปประมาณ ๕๐เมตร  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐๘ ๑๙๘๐ ๖๔๗๐ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น