วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เฮือนรถถีบ พิพิธภัณฑ์จักรยานข้ามกาลเวลา



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.  ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

            จักรยานโบราณน้อยใหญ่รูปร่างประหลาดแปลกตานับร้อยคันเรียงราย ป้ายโฆษณาสมัยเก่า ภายใต้ตัวอาคารโถงชั้นเดียว สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ให้ความรู้สึกคล้ายกับว่าได้ย้อนกาลเวลาเข้าสู่ร้านขายจักรยานเมื่อ หลายทศวรรษก่อน  ยามเมื่อเหยียบย่างเท้าเข้าไปภายในพื้นที่ ๖๐๐ ตารางเมตรของ “เฮือนรถถีบ” พิพิธภัณฑ์รวบรวมจักรยานรุ่นเก่าจากยุโรปหลากหลายรูปแบบเอาไว้ให้ผู้สนใจได้แวะเยี่ยมเยือนชม

             แม้แต่ยานพาหนะของคุณลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ เจ้าของสถานที่ ผู้ซึ่งเดินทางมาเปิดประตูให้อาคันตุกะจากต่างถิ่นอย่างพวกเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่ใช่จักรยานธรรมดา ทว่าเป็นจักรยานที่ออกแบบเป็นพิเศษด้วยระบบการขับเคลื่อนที่ไม่ใช้โซ่ แต่ใช้เพลาซึ่งเป็นแท่งเหล็ก แบบเดียวกับรถยนต์ มีสองเกียร์ และเบรคระบบกดหน้ายาง



            คุณลุงเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้าง “เฮือนรถถีบ” ขึ้นมา ว่าสมัยเด็กครอบครัวของคุณลุงย้ายจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอเมือง ฯ จังหวัดน่าน เตี่ยของคุณลุงเริ่มประกอบอาชีพด้วยการเปิดร้านรับซ่อมจักรยานชื่อ “เต็งไตรรัตน์” และค้าขายด้วยการซื้อเกลือและข้าวของเครื่องใช้ประจำวันนำมาแลกกับข้าวเปลือกจากชาวบ้าน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเตี่ยของคุณลุงได้ติดต่อกับห้างเซ่งง่วนฮง (สิทธิผล) จำกัด ในกรุงเทพ ฯ  ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานนำเข้าจากยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น ราเลย์ การ์เซีย โรบินฮูด ฟิลิปส์ นิวฮัดสัน ฯลฯ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในเมืองน่าน

การขนส่งจักรยานจากกรุงเทพ ฯ มาขายที่เมืองน่านเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อนนั้น ใช้วิธีแยกส่งเป็นชิ้นส่วนย่อยมาทางรถไฟ แล้วจึงค่อยนำมาประกอบเป็นส่วนต่าง ๆ  ที่ร้านเต็งไตรรัตน์ ตั้งแต่การสานซี่ลวดล้อจักรยาน ขึ้นโครงรถ ติดตั้งเบรก อานเบาะ จนเสร็จสมบูรณ์เป็นจักรยานทั้งคัน พร้อมจำหน่ายให้กับลูกค้า คุณลุงสุพจน์ได้เป็นลูกมือช่วยงานเตี่ยในการประกอบจักรยานจนเชี่ยวชาญ คุ้นเคยกับทุกชิ้นส่วนจักรยานเหมือนกับเพื่อนสนิท ในขณะกิจการรุ่งเรืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นขึ้นตามลำดับ


กาลเวลาผ่านไป การค้าขายรถจักรยานเริ่มซบเซา ขายได้น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้คนชาวน่านหันไปใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์กันมากขึ้น  ร้านเต็งไตรรัตน์จึงจำเป็นต้องเลิกขายจักรยาน เก็บชิ้นส่วนทั้งหลายที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยลงกล่องใส่ตู้ แล้วหันมาขายรถมอเตอร์ไซค์แทน คุณลุงสุพจน์เองในที่สุดก็ได้ปรับเปลี่ยนมาดำเนินกิจการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ในอำเภอเวียงสา เรื่องราวของจักรยานถูกเก็บไว้เพียงในความทรงจำ

กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐๐ ปี ขึ้นที่จังหวัดน่าน เมื่อน้ำลดลงแล้ว คุณลุงสุพจน์ ได้กลับไปที่บ้านเดิมในตัวเมืองน่าน เพื่อช่วยเก็บกวาดเช็ดล้างทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่จมน้ำอยู่หลายวัน และได้พบว่ามีชิ้นส่วนจักรยานจำนวนมากที่ยังอยู่ในสภาพดี ถูกเก็บถาวรจนลืมอยู่ในห้องเก็บของ ทำให้หวนรำลึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก ครั้งยังคลุกคลีอยู่กับชิ้นส่วนและการประกอบจักรยานจนเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะเก็บรวบรวมรถจักรยานโบราณ โดยเฉพาะที่ผลิตจากยุโรป หลากรุ่น หลายยี่ห้อ นับจากนั้นจึงเริ่มทยอยตามหา ซื้อชิ้นส่วนมาสะสมไปพลาง ประกอบไปพลาง จนสามารถสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ “เฮือนรถถีบ” อันน่าตื่นตาอย่างที่เห็น


            ดาวเด่นเห็นจะเป็นจักรยานล้อโตอายุกว่า ๑๓๐ ปี ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “จักรยานจิงโจ้” ด้วยลักษณะล้อหน้าขนาดใหญ่สูงท่วมหัว ในขณะที่ล้อหลังมีขนาดเล็ก เป็นจักรยานยุคแรกที่ยังไม่รู้จักการใช้ระบบโซ่และเฟือง จึงต้องถีบเคลื่อนจากแกนล้อโดยตรง จำเป็นต้องมีล้อขนาดใหญ่เพื่อให้ถีบได้ระยะทาง ขี่ค่อนข้างลำบากเพราะต้องปีนป่ายขึ้นไปขี่ ก่อนจะพัฒนามาเป็น “จักรยานไทรดอน” ที่มีขนาดสองล้อหน้าหลังเท่ากัน โดยนำเฟืองและโซ่มาใช้ช่วยให้ลดแรงถีบ เหนื่อยน้อยกว่าและสะดวกกว่า แบบที่ใช้กันอยุ่ในปัจจุบัน


จักรยานซึ่งน่าสนใจด้วยรูปแบบใช้งานก็มีอยู่หลายคัน เช่น จักรยานตราปืนไรเฟิลสามกระบอก หรือ จักรยาน BSA (ย่อมาจาก Bermingham Small Arms) ของอังกฤษ เป็นจักรยานพับรุ่นแรกของโลก ออกแบบเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยให้ทหารพลร่มสามารถพับตัวรถสะพายหลัง เมื่อโดดร่มลงในพื้นที่แล้วก็กางจักรยานนี้ออกเป็นพาหนะได้ จักรยานดับเพลิงตัวถังสีแดงที่ออกแบบให้ตรงช่วงกลางรถเป็นวงโค้งสามารถม้วนเก็บท่อน้ำดับเพลิงไว้ภายใน เมื่อจะใช้ก็นำออกมาต่อกับท่อน้ำประปา โดยมีไซเรนหรือ “หวอ” แบบมือปั่นติดอยู่เหนือบังโคลนหน้า  



รายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ของจักรยาน ก็น่าสนุกไม่แพ้กัน เช่นไฟหน้ารถ ในยุคที่ยังไม่มีหลอดไฟใช้ โคมไฟที่อยู่หน้ารถจักรยานมีทั้งที่ใช้เทียนไขจุดไว้ภายใน ตะเกียงที่ใช้ทำเป็นไฟหน้ารถ มีการใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ตะเกียงแก๊ส เช่นเดียวกันกับแตรหน้ารถจักรยานมีหลากหลายรูปแบบมีทั้งแตรลม กระดิ่ง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการซ่อมจักรยานต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับจักรยานในอดีต จัดแสดงไว้อย่างมากมาย

คนรักจักรยานหากได้แวะเวียนเข้ามาใน “เฮือนรถถีบ” แห่งนี้แล้ว เวลาสองสามชั่วโมงยังต้องบอกว่าน้อยเกินไปจริง ๆ

คู่มือนักเดินทาง
เฮือนรถถีบ ตั้งอยู่หลังปั๊มน้ำมันเชลล์ เลขที่ ๑๕๔ หมู่ ๔ ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  เปิดให้เข้าชมเป็นสองรอบ รอบเช้าในเวลา ๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ นาฬิกา และรอบบ่าย ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม โดยผู้เข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๘ ๑๓๕๙ 



ชมจิตรกรรมหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

 จิตรกรรมสะท้อนภาพบ้านเมืิองในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่มีการค้าสำเภากับจีน

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ 
            หอไตรไม้โบราณกลางน้ำ คือจุดหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมวัดทุ่งศรีเมือง โดยมักจะผ่านเลย “หอพระพุทธบาท” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน โดยเข้าใจว่าเป็นเพียงอุโบสถธรรมดาทั่ว ๆ ไป

ความจริงแล้วหอพระพุทธบาทหรือที่ชาวอุบลนิยมเรียกอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก มากกว่าหอไตรด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสถาปัตยกรรมแรกสุดของวัดทุ่งศรีเมือง เก่าแก่ที่สุดในวัด สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๕  โดยเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) จากสำนักวัดสระเกศวรวิหาร ที่ได้ขึ้นมาเป็นสังฆปาโมกข์เมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด)ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 หอพระพุทธบาทหรืออุโบสถของวัดทุ่งศรีเมือง
 พระพุทธบาทจำลอง

วัตถุประสงค์แรกสร้างก็เพื่อใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ  ได้จำลองพระพุทธบาทมาจากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ  เมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมณีวนารามหรือวัดป่าน้อย ท่านชอบไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานบริเวณป่าหว้าชายดงอู่ผึ้ง (บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน) เป็นประจำ เนื่องจากเป็นที่สงบวิเวก ท่านจึงเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่สร้าง   

เมื่อสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ได้พูนดินบริเวณลานหอพระพุทธบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน  ด้วยการสร้างเป็นเขื่อนกำแพงแก้ว โดยขุดเอาดินมาจากสระด้านทิศเหนือ ซึ่งสระนี้ต่อมาท่านได้สั่งให้ช่างสร้างหอไตรขึ้นที่กลางน้ำสำหรับใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ จึงเรียกว่า "สระหอไตร"  ภายหลังเป็นการลำบากแก่พระเณรจากวัดมณีวนารามจะต้องเดินทางไปเฝ้ารักษาสิ่งของทั้งหลาย  จึงได้สร้างกุฏิขึ้นเป็นที่พำนักสำหรับพระภิกษุและสามเณรจนกระทั่งกลายมาเป็นวัดทุ่งศรีเมืองในเวลาต่อมา

 ผนังหลังพระประธานเป็นภาพจิตรกรรมตอนมารผจญ
สถาปัตยกรรมของหอพระพุทธบาทมีความโดดเด่นด้วยการผสมผสานระหว่างรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานกับเมืองหลวง ส่วนที่เป็นศิลปกรรมแบบอีสานคือโครงสร้างช่วงล่าง ได้แก่ ฐานเอวขัน บันไดนาคจระเข้ และเฉลียงด้านหน้า เป็นแบบสิมอีสาน ในขณะที่ส่วนโครงสร้างช่วงบน ได้แก่ หลังคาจั่วมีชั้นลดสองชั้น ช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง นาคสะดุ้ง หางหงส์ ลวดลายหน้าบัน ลายรวงผึ้ง คันทวย และซุ้มประตูหน้าต่างแบบภาคกลาง ส่วนลวดลายแกะสลักไม้บริเวณหน้าบันและสาหร่ายรวงผึ้งมีลักษณะแบบพื้นเมืองอีสานผสมผสานแบบช่างหลวง 
บริเวณแนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าตรงเสาประตูด้านในของกำแพงแก้วประดับประติมากรรมปูนปั้นระบายสีรูปบุคคลสวมเทริดกับบุคคลผมแสกกลางแบบโบราณ นั่งคุกเขาพนมมือหันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถคนละข้าง ด้านบนปั้นประติมากรรมรูปราชสีห์และคชสีห์แบบพื้นถิ่นนั่งหันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถเช่นกัน
 บันไดนาคจระเข้

 ประติมากรรมราชสีห์ คชสีห์ และบุคคล บนเสาประตูทางเข้าอุโบสถ
ภายในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง วาดจิตรกรรมไว้บนฝาผนังทุกด้าน  ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าใครเป็นช่างเขียน สันนิษฐานว่าเป็นช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงที่กรุงเทพฯ  เหนือสุดขอบผนังด้านบนวาดภาพเทพชุมนุมนั่งพนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ถัดลงมาเป็นลายหน้ากระดานประจำยามรองรับเหล่าเทพชุมนุม จากนั้นจะเป็นอาณาบริเวณของงานจิตกรรมไล่ลงไปจนจรดฐานหน้าต่าง และรองรับด้วยลายหน้ากระดานซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกรอบภาพทั้งบนและล่างสุด
 กองทัพมารเข้าโจมตีพระพุทธองค์ครึ่งซ้าย ก่อนจะพ่ายแพ้ไปในภาพครึ่งขวา


 เนื้อหาของภาพจิตรกรรมเริ่มจากฝาผนังทางด้านทิศตะวันตกไล่มาทางทิศเหนือ โดยลำดับเรื่องจากซ้ายไปขวา ได้แก่ เรื่องพุทธประวัติ วาดเป็นตอนมารผจญและตอนนาคปรก บนผนังด้านหลังพระประธาน ผนังด้านซ้ายวาดตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวชส่วนผนังด้านหน้าพระประธานวาดตอนปรินิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสาวกมาชุมนุมกัน และแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เรื่องปาจิตต์กุมารชาดก หน้าต่างบานที่ ๑ วาดตอนท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์ข้ามลำน้ำ  


เรื่องมหาเวสสันดรชาดกอยู่บนผนังด้านขวาของพระประธาน วาดตอนนครกัณฑ์ กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์นวประเวศ ทานกัณฑ์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี เรื่องไตรภูมิ อยู่ด้ายซ้ายพระประธาน เขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และภาพต้นมักกะลีผลในป่าหิมพานต์

 เหล่าฤาษีและคนธรรพ์ต่อสู้แย่งชิงมักกะลีผลกัน

 บนเสาหลอกซึ่งเป็นเสาไม้กลมกึ่งกลางหอพระพุทธบาทก็ยังมีการตกแต่งลวดลายและภาพปริศนาธรรม ว่ากันว่าภาพเขียนบริเวณเสาหลอกนี้เป็นฝีมือพระครูวิโรจน์รัตโนบล เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง เนื้อหาจิตรกรรมเป็นพุทธประวัติและทศชาติ  

 ความสนุกสนานของการชมภาพจิตรกรรมในหอพระพุทธบาทอยู่ที่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่างเขียนได้สอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นไว้ตามผนังริมกรอบประตูหน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพสาวชาววังเล่นดนตรี ภาพหมอลำกลอนลำหญิงชาย  เกี้ยวพาราสีกัน  ภาพเด็ก ๆ เล่นกระโดดน้ำ ภาพชาวประมงเหวี่ยงแหหาปลา ภาพจีนต้มเหล้าและขายหมู และอื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้มาเยี่ยมชมต้องใช้สายตาซุกซนในการค้นหาเอง

 หมอลำชายหญิงเซิ้งกันอย่างอ่อนช้อย

 เจ๊กพายเรือขายเหล้า

 ชาวบ้านหาปูหาปลา (โปรดสังเกตว่าปูตัวใหญ่มาก)

 หนุ่มสาวกำลังพรอดรัก


คู่มือนักเดินทาง

 วัดทุ่งศรีเมืองตั้งอยู่เลขที่ ๙๕ ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  จากทุ่งศรีเมืองตรงมาตามถนนศรีณรงค์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ ๕๐๐ เมตรถึงวัดทุ่งศรีเมืองอยู่ทางซ้ายมือ หอพระพุทธบาทหรือพระอุโบสถอยู่ตรงหน้าประตูทางเข้า เปิดให้เข้าชม ๐๘.๓๐- ๑๖.๓๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าเข้าชม

 หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง


วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ดงเมืองเตย ภูมิลำเนาแห่งมเหนทรวรมัน



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒


  “ดงเมืองเตย” คือชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานซากเมืองโบราณแห่งหนึ่งในตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนภายในบริเวณมีต้นเตยขึ้นอยู่โดยรอบ

 จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยให้สืบค้นย้อนหลังไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ ๒,๕๐๐-๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนแห่งนี้ก่อตัวขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำชี ห่างจากลำน้ำชีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลิตเครื่องปั้นดินเผา และถลุงเหล็ก มีประเพณีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว รวมทั้งการฝังศพครั้งที่สอง 

 โครงกระดูกที่ขุดพบในหลุมขุดค้น

เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ได้รับวัฒนธรรมแบบทวารวดี ดังปรากฏหลักฐานการสร้างเป็นบ้านเมืองขึ้น เป็นเนินดินรูปวงรีมีคูน้ำคันดินล้อมรอบชั้นเดียว ขนาดประมาณ ๖๕๐x๓๖๐ เมตร   โดยเริ่มแรกนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไศวนิกาย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕  และรับอิทธิพลอารยธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนจะถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างไปในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗   
            
        เมืองโบราณแห่งนี้แม้จะเก่าแก่ แต่อาจจะเป็นเพียงซากเมืองเก่าเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น หากไม่พบหลักฐานจารึกหินทรายสีแดงอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ภายในเมืองแห่งนี้ ที่มีเนื้อความโดยสรุปกล่าวถึงการสร้างเทวสถานถวายแด่พระอิศวร โดยพระนางศรีมานุญชลีบุตรีคนที่ ๑๒ ของพระศรีมานประวรเสนะ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ 

 
 วงกบประตูหินทรายสีแดงที่มีจารึกปรากฏอยู่


ข้อความสั้น ๆ เพียงเท่านี้ ทว่ากลับทำให้ดงเมืองเตยกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่ขึ้นมาทันที เพราะนอกจากจะบ่งบอกชื่อเมืองที่แท้จริงว่าคือเมือง “ศังขปุระ” แล้ว ข้อความซึ่งเอ่ยถึง “พระศรีมานประวรเสนะ” ผู้เป็นใหญ่ในเมืองนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่บ่งบอกว่าบริเวณดงเมืองเตยคือภูมิลำเนาถิ่นกำเนิดของตระกูล “เสนะ”

 บุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของตระกูล “เสนะ” นี้ คือ “เจ้าชายจิตรเสน” ที่ต่อมาทรงได้ขึ้นครองอาณาจักรเจนละพระนามว่า “พระเจ้ามเหนทรวรมัน” เป็นกษัตริย์ผู้ทรงเรืองอำนาจมาก พบหลักฐานศิลาจารึกประกาศการแผ่ขยายอำนาจของพระองค์อยู่อย่างมากมายในดินแดนภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ภาคเหนือของประเทศกัมพูชาปัจจุบัน  และพบมากที่สุดบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และอาณาจักรเจนละของพระเจ้ามเหนทรวรมันถือเป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรขอมโบราณอันยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

 ซากเทวาลัยส่วนฐานที่พบในดงเมืองเตย

ภายในบริเวณดงเมืองเตยในปัจจุบันยังคงร่มรื่นด้วยแมกไม้ แม้จะไม่ได้มีโบราณสถานใหญ่โต แต่ก็มีโบราณสถานโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่มีความสวยงามแปลกตาน่าเยี่ยมชมอยู่ โดยด้านทิศเหนือของเมืองเป็นซากเทวาลัยในลัทธิไศวนิกาย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐแนบชิดกันไม่สอปูน ในรูปผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า มีบันไดเป็นรูปอัฒจันทร์อันถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมดงเมืองเตย

ภายในศาลาโถงใหญ่ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ดงเมืองเตย ด้านนอกจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากภายในบริเวณเมืองโบราณดงเมืองเตย ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทรายสีแดงจำหลักลวดลายดอกไม้ ใบเสมาหินทรายแดง วงกบกรอบประตูหินทรายสีแดงที่มีจารึกสำคัญ ๔ บรรทัด





ด้านในมุมหนึ่งจัดแสดงโครงกระดูกจากหลุมขุดค้น ถัดไปจัดทำเป็นนิทรรศการให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาและรายละเอียดเกี่ยวกับเมืองโบราณดงเมืองเตย พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอันได้แก่ชิ้นส่วนประดับอาคารรูปกุฑุที่ภายในสลักใบหน้าบุคคล  กุฑุขนาดเล็กภายในสลักใบหน้าบุคคลสตรี ทั้งสองชิ้นเป็นศิลปกรรมทวารวดี อิทธิพลอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะ  และประติมากรรมสิงห์สลักจากหินทรายสีขาว ศิลปะกรรมขอมสมัยแปรรูป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕  สภาพสมบูรณ์  และชิ้นส่วนข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ขุดพบอีกเป็นจำนวนมาก

ปรตูทางเข้าหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

คู่มือนักเดินทาง เมืองโบราณดงเมืองเตย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านดงเมืองเตย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๓ (ถนนแจ้งสนิท) มาทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๘๓  เลี้ยวขวาตรงไปตามทางเข้าหมู่บ้านสงเปือย ระยะทางประมาณ ๔.๗ กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านเลี้ยวซ้ายแล้วตรงไปตามถนนในหมู่บ้านอีก ๕๕๐ เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปตามทางอีก ๖๕๐ เมตร ถึงแหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย