วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มรรคาปราสาทขอมอีสานเหนือ นครพนม สกลนคร


ศิวนาฏราชผีมือช่างพื้นเมืองบนปราสาทนารายณ์เจงเวง

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๖๔

            

            องค์พระธาตุพระธาตุพนมเด่นตระหง่านตัดกับท้องฟ้าครามเข้มของเช้าต้นหนาว

หอจดหมายเหตุวัดพระธาตุพนมในกุฎิไม้สองชั้นที่ผ่านการปรับปรุงอย่างดีจนเรียบร้อยสวยงาม คือสิ่งใหม่ที่สะดุดตาจนต้องผมขอเข้าไปเยี่ยมชม หลังจากที่ห่างหายไม่ได้มาเยือนเมืองนครพนมเสียนาน ล่าสุดคิดว่าจะมาตอนเดือนเมษายนปี ๒๕๖๓ แต่บังเอิญเกิดวิกฤตการณ์โควิด ๑๙ ขึ้น เลยเพิ่งจะมีโอกาสตอนนี้ที่สถานการณ์ผ่อนคลาย เปิดประเทศให้ท่องเที่ยวกันได้

พระธาตุพนมวันนี้

ภาพเหตุการณ์พระธาตุพนมพังทลายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่จัดแสดงอยู่ภายในอาคารทำให้ผมนึกย้อนไปเมื่อตอนเป็นเด็ก ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่มากชนิดที่หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับพากันลงภาพและรายละเอียดของเหตุการณ์วันต่อวันอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน 

ทั้งยังนำเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่อง “แผ่นดินวิปโยค” นำแสดงโดยสรพงษ์ ชาตรีและปิยะมาศ โมณยะกุล ออกฉายในโรงปีพ.ศ. ๒๕๒๑ อีกด้วย ฉากสำคัญเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องที่ใครต่อใครอยากดูก็คือฉากเหตุการณ์พระธาตุพนมพังทลายนั่นเอง ตื่นตาอลังการงานสร้างแค่ไหนคงต้องลองไปดูในยูทูปครับ เห็นมีคนนำมาอัพโหลดไว้ให้ชมอยู่

 ภาพเหตุการณ์พระธาตุพนมพังทลายเมื่อปี ๒๕๑๘ จัดแสดงในอาคารหอจดหมายเหตุ

          ว่าไปแล้วความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีของผมก็มีส่วนมาจากเหตุการณ์นี้อยู่ไม่น้อย ด้วยความที่ติดตามอ่านข่าว (ที่จริงเน้นดูภาพ เพราะตอนนั้น ๘ ขวบ ยังเด็กอยู่) จากในหนังสือพิมพ์ด้วยความตื่นเต้น ได้เห็นได้อ่านเรื่องราวการขุดค้นทางโบราณคดีที่พระธาตุพนมมาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ประทับใจ 

                ยิ่งเมื่อต่อมาขุดพบว่าชั้นล่างสุดของพระธาตุพนมนั้นร่องรอยแรกสุดเคยเป็นปราสาทอิฐแบบขอมเก่าแก่มาก ทั้งยังมี "ท่อโสมสูตร" ทำด้วยหินทรายที่กรมศิลปากรขุดพบฝังอยู่ใต้ดินทางด้านทิศเหนือ ระหว่างที่ทำการวางฐานรากขององค์พระธาตุพนมองค์ใหม่ เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นเทวาลัยฮินดู ยิ่งทำให้เพิ่มความน่าสนใจขึ้นไปอีกครับ ใต้เจดีย์มีปราสาทขอม ดูลึกลับน่าตื่นเต้นยังไงบอกไม่ถูกสำหรับเด็ก ๆ อย่างผมในตอนนั้น

    

อิฐเก่าจากพระธาตุพนมองค์เดิมถูกนำมาสร้างเป็นอนุสรณ์สถานไว้ด้านหน้า

ทางกรมศิลปากรสรุปจากการขุดค้นทางโบราณคดีว่าชั้นล่างแรกสุดของพระธาตุพนมเป็นสถาปัตยกรรมแบบปราสาทอิฐก่อนเมืองพระนคร ราวสมัยสมโบร์ไพรกุกถึงไพรกเมง  อายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่๑๒-๑๔  ต่อมาการซ่อมแปลงจากศาสนสถานฮินดูมาเป็นพุทธสถานรวมทั้งการบูรณะหลายครั้งทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลายเป็นพระธาตุเจดีย์สถาปัตยกรรมล้านช้าง ทุกครั้งที่ซ่อมยังเสริมยอดให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ  หลายยุคหลายสมัยเข้าส่วนฐานที่เก่าแก่รับน้ำหนักไม่ไหวจนพังทลายลงมาในที่สุด

ประติมากรรมหินทรายไกรสรคาวีที่ประดับตัวปราสาทขอมในพระธาตุพนมยุคแรก 

มาคิดตอนนี้จะว่าไปก็ไม่แปลกที่มีปราสาทขอมอยู่ใต้พระธาตุเจดีย์ เพราะทางอีสานเหนือนี่ก็เป็นพื้นที่อยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณในอดีตเช่นกัน แต่โดยมากเมื่อเอ่ยถึงเส้นทางท่องเที่ยวชมสถาปัตยกรรมปราสาทขอม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนึกไปถึงทางอีสานใต้ อาจจะเนื่องจากมีปราสาทขนาดใหญ่เรียงรายอยู่หลายแห่ง  

ความจริงแล้วแม้ไม่ใหญ่โตเหมือนทางอีสานใต้ แต่ปราสาทขอมที่ปรากฏอยู่ในแถบอีสานเหนือนี้ก็มีที่สวยงามและน่าสนใจไม่น้อย อย่างที่ผมจะได้นำพาคุณผู้อ่านไปชมกันในคราวนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางที่มีปราสาทขอมหลากหลาย แถมแต่ละแห่งยังมีเอกลักษณ์เด่นชัด

พระธาตุเชิงชุมในวันผ่อนคลายจากโควิด ๑๙ ผู้คนดูบางตา

สามปราสาท สามสไตล์ ในเมืองหนองหานหลวง

            ผมมาถึงวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารกลางเมืองสกลนครในตอนสาย ๆ ของอีกวัน

อาจเพราะเพิ่งเป็นช่วงแรกของการผ่อนคลายมาตรการ ผู้คนที่มาสักการะพระธาตุจึงค่อนข้างบางตา แต่กระนั้นตลอดเวลาการเตร็ดเตร่อยู่ในบริเวณวัดของผมก็ได้ยินเสียงมรรคทายกประกาศอนุโมทนาชื่อนามสกุลและภูมิลำเนาของผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วประเทศที่เดินทางมาบริจาคเงินทำบุญกับทางวัดผ่านลำโพงอยู่อย่างต่อเนื่องแทบไม่ขาดสาย

            ความคล้ายกันระหว่างพระธาตุพนมกับพระธาตุเชิงชุมก็คือเป็นปราสาทขอมที่ได้ถูกซ่อมแปลงจากเทวาลัยฮินดูเป็นสถูปเจดีย์ในพุทธศาสนา แต่พระธาตุพนมที่ผมไปเดินดูจนรอบเมื่อวานแทบจะไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็น นอกจากเสาหินและรูปจำหลักศิลาทรายประดับเทวาลัยเป็นรูปไกรสรคาวี (สัตว์หิมพานต์ หน้าเป็นสิงห์ ตัวเป็นวัว หางเป็นม้า) อยู่สองฟากหน้าองค์พระธาตุด้านตะวันออกเท่านั้น

    

ซุ้มประตูตะวันออกขององค์พระธาตุเชื่อมต่อจากวิหารสู่ปราสาทขอมภายใน

แต่สำหรับพระธาตุเชิงชุมยังหลงเหลือส่วนฐานทางตะวันออกที่มีประตูเชื่อมต่อกับวิหาร หลายปีก่อนผมเคยมีโอกาสเข้าไป (แต่วันนี้เข้าไม่ได้เพราะทางวัดนำเอาส่วนยอดของพระธาตุมาตั้งไว้ให้สักการะหน้าซุ้มประตู)  แหงนมองขึ้นไปภายในเห็นได้ชัดว่าเป็นปราสาทขอมก่อด้วยศิลาแลง 

บนกรอบประตูทางเข้าทำจากหินทราย พบจารึกอักษรขอมโบราณอายุสมัยของศิลาจารึกอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เทียบในทางรูปแบบศิลปกรรมก็ตรงกับสมัยบาปวน หากเทียบในทางประวัติศาสตร์ก็ตรงกับช่วงเวลาที่เมืองหนองหานหลวงมีอิทธิพลปกครองในดินแดนแถบนี้ ในฐานะศูนย์กลางการปกครองในส่วนภูมิภาคของอาณาจักรขอมโบราณ 

  เรียกได้ว่าหลักฐานความเป็นปราสาทขอมแน่นหนาชัดเจนมาก

ปราสาทดุม หลงเหลือเพียงองค์กลางเด่นตระหง่าน

ห่างจากพระธาตุเชิงชุมลงมาทางใต้ราว ๓ กิโลเมตรกว่า ๆ   แดดยามบ่ายกำลังร้อนแรงเมื่อผมย่างเท้าลงจากรถที่วัดพระธาตุดุม

ปราสาทดุมอยู่ในสภาพอิฐแดงต้องแสงแดดเดี่ยวโดดเด่นอยู่ในบริเวณวัดด้านหลังวิหารสมัยปัจจุบัน จากร่องรอยสถาปัตยกรรมที่ปรากฏเห็นได้ชัดว่าเป็นเทวาลัยฮินดู ลักษณะเป็นปราสาทก่อด้วยอิฐสามหลังตั้งเรียงกัน แต่สองหลังทางซ้ายและขวาพังทลายลงหมดเห็นเพียงส่วนฐาน หลงเหลือเพียงปราสาทอิฐองค์กลางกร่อนเก่า ทับหลังมีเหลือแค่ทางทิศเหนือ แม้จะชำรุดลบเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังเห็นลักษณะศิลปกรรมแบบบาปวนชัดเจน เดินดูรอบ ๆ ยังเห็นมีชิ้นส่วนหินทรายของยอดปราสาทรูปกลศ เสานางเรียง และฐานโยนี วางระเกะระกะอยู่ทั่วไป

ชิ้นส่วนยอดปราสาทและเสานางเรียงที่อยู่รอบปราสาทดุม


ทับหลังแบบบาปวนที่ยังหลงเหลือของปราสาทดุม
  

สิ่งที่ผมชอบใจที่สุดคือบริเวณปราสาทดุมโดยรอบยังคงรักษาภูมิทัศน์ส่วนประกอบ โดยเฉพาะบารายทั้งสี่ทิศที่ล้อมรอบปราสาทเสมือนเกษียรสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามความเชื่อในเรื่องภูมิจักรวาลของขอมไว้ได้อย่างครบถ้วน เมื่อผสมผสานกับความร่มรื่นของแมกไม้โดยรอบ ในอนาคตถ้ากรมศิลปากรได้มาขุดแต่งตัวปราสาทและแนวกำแพงต่าง ๆ จากที่จมดินอยู่ให้ลอยตัวขึ้นมา ปราสาทดุมจะเป็นโบราณสถานที่มีองค์ประกอบและบรรยากาศที่น่าเที่ยวชมมากอีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

 ปราสาทนารายณ์เจงเวง ขนาดไม่ใหญ่ แต่งดงามด้วยวัสดุหินทรายสีชมพู 

จากปราสาทดุม ผมย้อนกลับผ่านพระธาตุเชิงชุมขึ้นไปทางเหนือ เพื่อไปยังวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง  อันเป็นที่ตั้งของปราสาทนารายณ์เจงเวง เทวาลัยขอมอีกแห่งหนึ่งที่ร่วมสมัยกันกับปราสาทเชิงชุมและปราสาทดุม สิ่งที่น่าสังเกตคือวัสดุหลักในการก่อสร้างโดยปราสาท(ภายในพระธาตุ)เชิงชุมนั้นใช้ศิลาแลง  ปราสาทดุมใช้อิฐดินเผา แล้วใช้หินทรายเป็นวัสดุประกอบในชิ้นส่วนที่ต้องแกะสลักลวดลาย เรียกว่าใช้วัสดุผสมซึ่งปราสาทขอมส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้

ศิวนาฏราชฝีมือช่างพื้นบ้าน

ในขณะที่ปราสาทนารายณ์เจงเวงถือว่ามีความพิเศษสุด เนื่องจากใช้หินทรายสีชมพูแบบเดียวกับปราสาทพนมรุ้งทั้งหลัง จึงเป็นปราสาทหินทรายสีชมพูเพียงหนึ่งเดียวในภาคอีสานตอนบน  ไม่เพียงแต่วัสดุเท่านั้น ลวดลายจำหลักบนส่วนต่าง ๆ ของปราสาทที่หลงเหลืออยู่ก็น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตะวันออกที่บนหน้าบันแกะสลักเป็นรูปพระศิวนาฏราช ภาพเอกอันแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้เป็นเทวาลัยของลัทธิไศวนิกาย  


นารายณ์บรรทมสินธุ์ฝีมือแบบพื้นบ้าน งามเด่นเป็นเอกลักษณ์

โดยเฉพาะหน้าบันทางฝั่งทิศเหนือรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เป็นฝีมือช่างพื้นเมือง ดูแตกต่างจากหน้าบันในปราสาทหินอื่น ๆ  ด้วยสัดล่วนศีรษะใหญ่และแขนขายาว โดยเฉพาะรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ขายาวผิดปกติไปมาก เป็นที่เรียกขานกันในภาษาเขมรว่า “นารายณ์เชิงแวง” (แปลว่านารายณ์ขายาว) จนกลายเป็นชื่อปราสาทไปในที่สุด 

น่าเสียดายไม่มีการค้นพบศิลาจารึกที่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาที่แท้จริงของปราสาทแห่งนี้ คำถามที่ว่าทำไมจึงเป็นแห่งเดียวที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ทำไมฝีมือช่างจึงดูแปลกแตกต่าง จึงยังคงเป็นปริศนาอยู่ต่อไป

สะพานขอม ส่วนเสี้ยวของ "ราชมรรคา" แห่งอาณาจักรขอมอันไพศาล

ขากลับที่พักในเมืองสกลนครเย็นวันนี้ ผมปิดท้ายรายการด้วยการแวะเวียนไปชมสะพานขอม  สิ่งก่อสร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ในรัชสมัยนี้พระองค์ได้โปรดฯ ให้สร้างถนนเรียกว่า “ราชมรรคา” เชื่อมโยงดินแดนต่าง ๆ ในอิทธิพลอาณาจักรของพระองค์อย่างทั่วถึง โดยตลอดทุกเส้นทางยังสร้าง ”ธรรมศาลา” หรือบ้านมีไฟ สำหรับเป็นที่พักคนเดินทาง พร้อมทั้งสร้างอโรคยศาลาหรือศูนย์บริการสาธารณสุขไว้ตลอดทาง  สันนิษฐานว่าสะพานขอมนี้เป็นส่วนหนึ่งของราชมรรคาดังกล่าว 

ผมเองวนรถหาไป ๆ มา ๆ อยู่หลายรอบเชียวครับ กว่าจะไปเจอว่าอยู่ในร่องตรงกลางถนนซูเปอร์ไฮเวย์หน้าห้างโลตัสนั่นเอง  ถนนขอมโบราณก่อด้วยศิลาแลงแบบนี้พบแห่งเดียวในประเทศไทย น่าเสียดายที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ควรจะสร้างอาคารครอบไว้แล้วจัดทำนิทรรศการถาวรมัลติมีเดียบอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่แห่ง “ราชมรรคา” ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้อีกแห่งหนึ่ง (ฟุ้งซ่านไปเรื่อยแล้วผม) 

ปราสาทกู่พันนา อโรคยศาลาบนเส้นทางราชมรรคาแห่งชัยวรมันที่ ๗ 

อโรคยศาลาและมหาปราสาทเหนือขุนเขา

เช้าวันนี้ผมมุ่งหน้าออกมายังอำเภอสว่างแดนดินโดยมีจุดหมายแรกอยู่ที่ปราสาทบ้านพันนา

ใช่แล้วครับ ปราสาทบ้านพันนาคือ “อโรคยศาลา” ที่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดฯ ให้สร้างขึ้นตามเส้นทาง”ราชมรรคา” ที่ผมไปดูร่องรอยสะพานขอมในท้องร่องกลางถนนเมืองสกลนครมาเมื่อเย็นวาน ปราสาทบ้านพันนานี้เป็นอโรคยศาลาหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางทางเชื่อมระหว่างเมืองหนองหานหลวง(สกลนคร) และเมืองหนองหานน้อย (อุดรธานี) ในอาณาจักรขอมสมัยนั้น

ปราสาทประธานคือสถานที่ประดิษฐานพระไภสัชคุรุไวฑูรยประภา

ภายในบริเวณหลงเหลือบาราย แนวกำแพงพร้อมโคปุระ และปราสาทประธานอีกหลัง หลายคนได้มาเห็นอโรคยศาลาแล้วมักจะสงสัยว่าพื้นที่แค่นี้เป็นโรงพยาบาลได้ยังไง จะให้คนป่วยนอนที่ไหน ปราสาทหลังนิดเดียว ก็ต้องตอบว่าปราสาทที่เห็นไม่ใช่อาคารโรงพยาบาลครับ แต่เป็น “หอพระ” ประจำสถานพยาบาล ประดิษฐานพระไภสัชคุรุไวฑูรยประภา พระพุทธรูปในนิกายมหายานผู้เป็นเลิศทางการแพทย์เพื่อเป็นศิริมงคลและความมั่นใจในการรักษา ส่วนอาคารที่รักษาพยาบาลน่าจะอยู่นอกแนวกำแพง และสร้างด้วยไม้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปนับหลายร้อยปีก็ผุพังไปหมดไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็น

ร่อยรอยพิธีกรรมสักการบูชาในปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นภายในมุมหนึ่งของโคปุระ

เดินเตร็ดเตร่ดูรอบ ๆ ปราสาทบ้านพันนานี่ได้รับการขุดแต่งปรับสภาพจนเป็นแหล่งโบราณคดีและไม่ได้อยู่ใบบริเวณวัดใด ๆ แต่มุมหนึ่งภายในโคปุระก็ยังเห็นมีร่องรอยการทำพิธีสักการบูชา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใดครับ ถ้าไม่ใช่เป็นการดัดแปลงทำลายสภาพของโบราณสถาน เหมือนเช่นหลายแห่งแก้บนถวายรูปปั้นไก่ชน รูปปั้นม้าลายกันหนักมาก รบกวนสภาพภูมิทัศน์แทบมองไม่เห็นโบราณสถาน แลดูเป็นฟาร์มไก่ชน ฟาร์มม้าลายไปซะยังงั้น

พญานาคบันไดเชิงเขา

บันไดสวรรค์ ๖ ชั้น กว่า ๕๐๐ ขั้น ของทางขึ้นสู่ยอดภูเพ็ก 

  ความร่มรื่นและสายลมเย็นพัดโชยคือสิ่งแรกที่สัมผัสได้เมื่อผมก้าวลงบนลานจอดรถวัดพระธาตุภูเพ็ก ในเขตอำเภอพรรณนานิคม ไต่บันไดขึ้นสู่ยอดเขาที่มีสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๕๒๐ เมตร ถือว่าเอาเรื่อง แต่ไม่เหน็ดเหนื่อยเท่าไรนักด้วยกุศโลบายของทางวัดที่แบ่งจุดพักเป็น ๖ ขั้น ตั้งชื่อตามสรวงสวรรค์ทั้งหก ตั้งแต่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี พอถึงปรนิมมิตวสวัสดีชั้นสูงสุดก็ถึงยอดพอดี  แลเห็นฐานขนาดมหึมาของปราสาทภูเพ็ก เด่นตระหง่านอยู่  

ส่วนฐานมหึมาและชิ้นส่วนศิลาที่ทิ้งอยู่ระเกะระกะชวนให้จินตนาการถึงช่วงเวลาแห่งการก่อสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์บันทึกว่าปราสาทแห่งนี้สร้างในสมัยใด  ตัวปราสาทเองก็ยังสร้างไม่เสร็จจึงยังไม่มีการแกะสลักลวดลายที่จะช่วยบ่งบอกยุคสมัยได้ หากสันนิษฐานกันไว้เบื้องต้นก่อนว่าคงสร้างในสมัยพระเช้าชัยวรมันที่ ๗  

จากสัดส่วนของฐานที่เห็นหากสร้างเสร็จจนถึงยอดปราสาทภูเพ็กแห่งนี้จะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว (แต่ตอนนี้ก็ครองตำแหน่งปราสาทที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้ว) 

ร่องรอยการตัดหินทรายบนยอดเขามาใช้สร้างปราสาท

จากตัวปราสาทเดินไปทางตะวันตกตามเส้นทางลัดเลาะเข้าไปในป่าประมาณ ๒๐๐ เมตรจะพบกับแหล่งหินตัด ลานหินที่มีหินทรายก้อนใหญ่ผุดโผล่อยู่มากมาย บนหินยังปรากฏร่องรอยของการตัดหินที่นำไปสร้างตัวปราสาทอยู่ทั่วไป

น่าเสียดายที่การสร้างปราสาทหินแห่งนี้ต้องยุติลงในกลางคันหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  ในพ.ศ.๑๗๖๑ อิทธิพลอาณาจักรของขอมเสื่อมลงจนไม่อาจควบคุมการก่อสร้างมหาปราสาทแห่งนี้ให้ดำเนินต่อไปได้ ทอดทิ้งให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นใหญ่พร้อมปริศนาทางประวัติศาสตร์ที่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์จะต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป  

ส่วนนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ก็มีหน้าที่มาท่องเที่ยวเก็บความประทับใจ แล้วกลับไปคุยโม้อวดเพื่อนว่าได้มาเที่ยวบนเส้นทางปราสาทหินอีสานเหนืออันน่าตื่นตาตื่นใจแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว

ทิวทัศน์จากยอดภูเพ็ก