วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2566

ภูพระบาท พรมแดนระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์สู่ยุคประวัติศาสตร์

 


หอนางอุสา 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ชวนแวะและชวนชม

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. เดือนกันยายน ๒๕๖๖ 

 บนภูเขาส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า ๕๔ แห่งกำหนดอายุได้ราว ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว  ท่ามกลางพื้นที่ผืนป่าธรรมชาติในเขตป่าสงวนของกรมป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้

สภาพภูมิประเทศบนภูพระบาทเป็นโขดหินและเพิงผา เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทรายซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นเนื้อหินทรายแท้ ๆ มีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นเนื้อหินทรายปนหินปูนซึ่งมีความแกร่งน้อยกว่า ถูกกัดกร่อนโดยสภาพดินฟ้าอากาศนานหลายร้อยหลายพันปีจึงเกิดเป็นโขดหินและเพิงผารูปร่างแปลกตา

ภาพวาดใต้เพิงหินที่เรียกว่า "ถ้ำคน"

ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีก่อน ผู้คนในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ เมื่อขึ้นมาพักค้างแรมอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ขีดเขียนภาพต่าง ๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ยังปรากฏอยู่ในบริเวณเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว-ถ้ำคน ทางด้านทิศตะวันออกของเพิงหินพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์รูปสัตว์คล้ายวัวและรูปมนุษย์ เป็นที่มาของชื่อ ถ้ำวัว-ถ้ำคน

เช่นเดียวกับบริเวณโนนสาวเอ้ทางทิศใต้ของวัดพระพุทธบาทบัวบก ก็พบภาพเขียนสีมากกว่า ๓๐ แห่งเช่นกัน แบ่งเป็น ๒ จุดหลัก จุดแรกคือ โนนสาวเอ้ ๑ เป็นโขดหินใหญ่อยู่กลางลานหิน ภาพเขียนสีบนผนังเขียนด้วยสีแดงคล้ำ เป็นลายเส้นรูปต่าง ๆ   อีกจุดคือ“โนนสาวเอ้ ๒” ปรากฏภาพเขียนสีบนผนังเพิงหินด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ เป็นภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกันเป็นรูปหลายเหลี่ยม ภาพวงกลมคล้ายลายก้านขด และภาพลายเส้นคล้ายสัตว์สี่ขา

สิ่งที่ทำให้ภูพระบาทแห่งนี้แตกต่างจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งอื่น ๆ ในประเทศไทย  คือนอกเหนือจากที่ปรากฏร่องรอยทางวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว  ยังมีร่องรอยของการใช้เป็นศาสนสถานอย่างต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์    

เสมาหินทราย ปักแสดงเขตศักดิืสิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรม

ในพื้นที่เดียวกันยังได้พบหลักฐานทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ อยู่ด้วย ผู้คนในสมัยนี้ได้ดัดแปลงโขดหิน เพิงผา ให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบ หอนางอุสา เอกลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นโขดหินขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายเห็ดบนลานหิน เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต่อมาได้มีการดัดแปลงโดยมนุษย์ด้วยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้บนเพิงหินด้านบน พร้อมทั้งนำใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่มาปักล้อมรอบโขดหินไว้ เป็นการแสดงอาณาบริเวณของเขตศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอาจมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แล้วต่อมาจึงดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา


พระพุทธรูปหินทรายแกะสลักที่บริเวณ "ถ้ำพระ" 

บริเวณถ้ำพระห้องโถงดัดแปลงจากเพิงหินขนาดใหญ่ที่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ พร้อมทั้งแกะสลักพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในห้อง จากร่องรอยของหลุมเสานอกเพิงหินเรียงอยู่เป็นแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจมีการต่อหลังคาเครื่องไม้ออกมาด้านนอกด้วยพระพุทธรูปบางองค์ที่พบในถ้ำพระก็มีลักษณะที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมสมัยทวารวดีอย่างชัดเจน


ลวดลายผ้านุ่งบนประติมากรรมพระโพธิสัตว์ในถ้ำพระ

อิทธิพลของศิลปกรรมแบบขอมได้เข้ามามีบทบาทในบริเวณนี้ด้วยในสมัยต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ พบหลักฐานร่องรอยการสกัดหินดัดแปลงพระพุทธรูปในถ้ำพระให้เป็นเทวรูปในศาสนาฮินดู หรือพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะส่วนของผ้านุ่งสลักด้วยลวดลายที่งดงามมาก

พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ประดิษฐานใต้เพิงหิน

ล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ พื้นที่แถบอีสานตอนบน โดยเฉพาะที่อยู่ติดกับลำน้ำโขงได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมลาวจากอาณาจักรล้านช้าง  ดังพบร่องรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่บนภูพระบาทด้วย พระพุทธรูปขนาดเล็กที่ถ้ำพระเสี่ยง มีลักษณะศิลปะสกุลช่างลาว ส่วนสถาปัตยกรรมในสมัยนี้ ได้แก่ เจดีย์อูปโมงค์ ที่สันนิษฐานว่าอาจใช้สำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตามที่กล่าวไว้ในตำนานอุรังคธาตุ

ผู้คนในท้องถิ่นยังได้นำเอาตำนานพื้นบ้านเรื่อง อุสา-บารสมาตั้งชื่อ บอกเล่าอธิบายสถานที่ต่าง ๆ บนภูพระบาทอย่างสอดคล้องเป็นเรื่องราวน่าสนใจ โบราณสถานต่าง ๆ บนภูพระบาทจึงล้วนมีชื่อเรียกตามเรื่องราวในตำนานเรื่องอุสา-บารสเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา และคอกม้าท้าวบารส เป็นต้น

บ่อน้ำนางอุสา

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๔ จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๕

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีโบราณสถานในพื้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น ๗๘ แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ เช่น หอนางอุสา วัดพ่อตา ถ้ำพระ และกำลังอยู่ในระหว่างการนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือUNESCO


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ปรับปรุงใหม่

ล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับมาตรฐานสากล ในฐานะแหล่งมรดกโลกในอนาคต ภายในอาคารจัดทำเป็นนิทรรศถาวร แสดงถึงพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนาของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาทและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอีกด้วย นิทรรศการแบ่งออกเป็น ๖ หัวข้อ ประกอบด้วย

            ๑. ธรรมชาติบนภูพระบาท ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ พืชพันธุ์ และสัตว์ป่า โดยเฉพาะพืชพันธุ์ใหม่ของโลกที่ค้นพบบนภูพระบาทแห่งเดียวเท่านั้น คือ “ต้นครามอุดร” และ “ต้นมุกอุดร”

๒. ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรณีสัณฐานของเทือกเขา  

ภูพานซึ่งเป็นภูมิลักษณ์อันน่าอัศจรรย์ของโขดหิน เพิงหิน ที่ปรากฏบนภูพระบาท

๓. ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ให้ข้อมูลการนับถือพุทธศาสนาที่ปรากฏบนภูพระบาท เช่น การดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติเป็นพุทธสถานและพระพุทธรูปศิลปกรรมผสมระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปะขอมโบราณ


นิทรรศการถาวรภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

๔. ห้อง MIXED REALITY ROOM แสดงข้อมูลทางด้านโบราณคดี ผ่านสื่อผสมผสาน เทคโนโลยีความจริงเสมือน VR (Virtual reality) เทคโนโลยีความจริงเสริม  AR  (Augmented reality)  และเทคโนโลยีความจริงผสม MR (Mixed reality) เป็นการนำเสนอข้อมูลรูปแบบใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

๕. ห้องพระเกจิอาจารย์สำคัญของภาคอีสาน ให้ข้อมูลประวัติหลักธรรมคำสอน

ของพระเกจิรูปสำคัญของภาคอีสาน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

๖. ห้องชาติพันธุ์ไทพวน ให้ข้อมูลด้านชาติพันธุ์ไทพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก

ของอำเภอบ้านผือ ที่ตั้งของภูพระบาท ซึ่งอพยพย้ายถิ่นจากฝากฝั่งของลาวมายังฝั่งสยามในประวัติศาสตร์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์และลงหลักปักฐานอยู่อาศัยจนกระทั่งปัจจุบัน


เสมาหินแบบต่าง ๆ จัดแสดงในสนามหน้าศุนย์บริการฯ 


คู่มือนักเดินทาง

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ที่บ้านติ้ว หมู่ ๖ ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เปิดบริการทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา    โทรศัพท์ ๐ ๔๒๒๕ ๑๓๕๐-๒ เว็บไซต์ www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark