วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ชมจิตรกรรมหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

 จิตรกรรมสะท้อนภาพบ้านเมืิองในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่มีการค้าสำเภากับจีน

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ 
            หอไตรไม้โบราณกลางน้ำ คือจุดหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมวัดทุ่งศรีเมือง โดยมักจะผ่านเลย “หอพระพุทธบาท” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน โดยเข้าใจว่าเป็นเพียงอุโบสถธรรมดาทั่ว ๆ ไป

ความจริงแล้วหอพระพุทธบาทหรือที่ชาวอุบลนิยมเรียกอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก มากกว่าหอไตรด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสถาปัตยกรรมแรกสุดของวัดทุ่งศรีเมือง เก่าแก่ที่สุดในวัด สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๕  โดยเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) จากสำนักวัดสระเกศวรวิหาร ที่ได้ขึ้นมาเป็นสังฆปาโมกข์เมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด)ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 หอพระพุทธบาทหรืออุโบสถของวัดทุ่งศรีเมือง
 พระพุทธบาทจำลอง

วัตถุประสงค์แรกสร้างก็เพื่อใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ  ได้จำลองพระพุทธบาทมาจากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ  เมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมณีวนารามหรือวัดป่าน้อย ท่านชอบไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานบริเวณป่าหว้าชายดงอู่ผึ้ง (บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน) เป็นประจำ เนื่องจากเป็นที่สงบวิเวก ท่านจึงเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่สร้าง   

เมื่อสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ได้พูนดินบริเวณลานหอพระพุทธบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน  ด้วยการสร้างเป็นเขื่อนกำแพงแก้ว โดยขุดเอาดินมาจากสระด้านทิศเหนือ ซึ่งสระนี้ต่อมาท่านได้สั่งให้ช่างสร้างหอไตรขึ้นที่กลางน้ำสำหรับใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ จึงเรียกว่า "สระหอไตร"  ภายหลังเป็นการลำบากแก่พระเณรจากวัดมณีวนารามจะต้องเดินทางไปเฝ้ารักษาสิ่งของทั้งหลาย  จึงได้สร้างกุฏิขึ้นเป็นที่พำนักสำหรับพระภิกษุและสามเณรจนกระทั่งกลายมาเป็นวัดทุ่งศรีเมืองในเวลาต่อมา

 ผนังหลังพระประธานเป็นภาพจิตรกรรมตอนมารผจญ
สถาปัตยกรรมของหอพระพุทธบาทมีความโดดเด่นด้วยการผสมผสานระหว่างรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานกับเมืองหลวง ส่วนที่เป็นศิลปกรรมแบบอีสานคือโครงสร้างช่วงล่าง ได้แก่ ฐานเอวขัน บันไดนาคจระเข้ และเฉลียงด้านหน้า เป็นแบบสิมอีสาน ในขณะที่ส่วนโครงสร้างช่วงบน ได้แก่ หลังคาจั่วมีชั้นลดสองชั้น ช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง นาคสะดุ้ง หางหงส์ ลวดลายหน้าบัน ลายรวงผึ้ง คันทวย และซุ้มประตูหน้าต่างแบบภาคกลาง ส่วนลวดลายแกะสลักไม้บริเวณหน้าบันและสาหร่ายรวงผึ้งมีลักษณะแบบพื้นเมืองอีสานผสมผสานแบบช่างหลวง 
บริเวณแนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าตรงเสาประตูด้านในของกำแพงแก้วประดับประติมากรรมปูนปั้นระบายสีรูปบุคคลสวมเทริดกับบุคคลผมแสกกลางแบบโบราณ นั่งคุกเขาพนมมือหันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถคนละข้าง ด้านบนปั้นประติมากรรมรูปราชสีห์และคชสีห์แบบพื้นถิ่นนั่งหันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถเช่นกัน
 บันไดนาคจระเข้

 ประติมากรรมราชสีห์ คชสีห์ และบุคคล บนเสาประตูทางเข้าอุโบสถ
ภายในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง วาดจิตรกรรมไว้บนฝาผนังทุกด้าน  ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าใครเป็นช่างเขียน สันนิษฐานว่าเป็นช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงที่กรุงเทพฯ  เหนือสุดขอบผนังด้านบนวาดภาพเทพชุมนุมนั่งพนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ถัดลงมาเป็นลายหน้ากระดานประจำยามรองรับเหล่าเทพชุมนุม จากนั้นจะเป็นอาณาบริเวณของงานจิตกรรมไล่ลงไปจนจรดฐานหน้าต่าง และรองรับด้วยลายหน้ากระดานซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกรอบภาพทั้งบนและล่างสุด
 กองทัพมารเข้าโจมตีพระพุทธองค์ครึ่งซ้าย ก่อนจะพ่ายแพ้ไปในภาพครึ่งขวา


 เนื้อหาของภาพจิตรกรรมเริ่มจากฝาผนังทางด้านทิศตะวันตกไล่มาทางทิศเหนือ โดยลำดับเรื่องจากซ้ายไปขวา ได้แก่ เรื่องพุทธประวัติ วาดเป็นตอนมารผจญและตอนนาคปรก บนผนังด้านหลังพระประธาน ผนังด้านซ้ายวาดตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวชส่วนผนังด้านหน้าพระประธานวาดตอนปรินิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสาวกมาชุมนุมกัน และแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เรื่องปาจิตต์กุมารชาดก หน้าต่างบานที่ ๑ วาดตอนท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์ข้ามลำน้ำ  


เรื่องมหาเวสสันดรชาดกอยู่บนผนังด้านขวาของพระประธาน วาดตอนนครกัณฑ์ กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์นวประเวศ ทานกัณฑ์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี เรื่องไตรภูมิ อยู่ด้ายซ้ายพระประธาน เขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และภาพต้นมักกะลีผลในป่าหิมพานต์

 เหล่าฤาษีและคนธรรพ์ต่อสู้แย่งชิงมักกะลีผลกัน

 บนเสาหลอกซึ่งเป็นเสาไม้กลมกึ่งกลางหอพระพุทธบาทก็ยังมีการตกแต่งลวดลายและภาพปริศนาธรรม ว่ากันว่าภาพเขียนบริเวณเสาหลอกนี้เป็นฝีมือพระครูวิโรจน์รัตโนบล เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง เนื้อหาจิตรกรรมเป็นพุทธประวัติและทศชาติ  

 ความสนุกสนานของการชมภาพจิตรกรรมในหอพระพุทธบาทอยู่ที่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่างเขียนได้สอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นไว้ตามผนังริมกรอบประตูหน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพสาวชาววังเล่นดนตรี ภาพหมอลำกลอนลำหญิงชาย  เกี้ยวพาราสีกัน  ภาพเด็ก ๆ เล่นกระโดดน้ำ ภาพชาวประมงเหวี่ยงแหหาปลา ภาพจีนต้มเหล้าและขายหมู และอื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้มาเยี่ยมชมต้องใช้สายตาซุกซนในการค้นหาเอง

 หมอลำชายหญิงเซิ้งกันอย่างอ่อนช้อย

 เจ๊กพายเรือขายเหล้า

 ชาวบ้านหาปูหาปลา (โปรดสังเกตว่าปูตัวใหญ่มาก)

 หนุ่มสาวกำลังพรอดรัก


คู่มือนักเดินทาง

 วัดทุ่งศรีเมืองตั้งอยู่เลขที่ ๙๕ ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  จากทุ่งศรีเมืองตรงมาตามถนนศรีณรงค์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ ๕๐๐ เมตรถึงวัดทุ่งศรีเมืองอยู่ทางซ้ายมือ หอพระพุทธบาทหรือพระอุโบสถอยู่ตรงหน้าประตูทางเข้า เปิดให้เข้าชม ๐๘.๓๐- ๑๖.๓๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าเข้าชม

 หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น