วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เฮือนรถถีบ พิพิธภัณฑ์จักรยานข้ามกาลเวลา



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.  ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

            จักรยานโบราณน้อยใหญ่รูปร่างประหลาดแปลกตานับร้อยคันเรียงราย ป้ายโฆษณาสมัยเก่า ภายใต้ตัวอาคารโถงชั้นเดียว สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ให้ความรู้สึกคล้ายกับว่าได้ย้อนกาลเวลาเข้าสู่ร้านขายจักรยานเมื่อ หลายทศวรรษก่อน  ยามเมื่อเหยียบย่างเท้าเข้าไปภายในพื้นที่ ๖๐๐ ตารางเมตรของ “เฮือนรถถีบ” พิพิธภัณฑ์รวบรวมจักรยานรุ่นเก่าจากยุโรปหลากหลายรูปแบบเอาไว้ให้ผู้สนใจได้แวะเยี่ยมเยือนชม

             แม้แต่ยานพาหนะของคุณลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ เจ้าของสถานที่ ผู้ซึ่งเดินทางมาเปิดประตูให้อาคันตุกะจากต่างถิ่นอย่างพวกเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่ใช่จักรยานธรรมดา ทว่าเป็นจักรยานที่ออกแบบเป็นพิเศษด้วยระบบการขับเคลื่อนที่ไม่ใช้โซ่ แต่ใช้เพลาซึ่งเป็นแท่งเหล็ก แบบเดียวกับรถยนต์ มีสองเกียร์ และเบรคระบบกดหน้ายาง



            คุณลุงเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้าง “เฮือนรถถีบ” ขึ้นมา ว่าสมัยเด็กครอบครัวของคุณลุงย้ายจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอเมือง ฯ จังหวัดน่าน เตี่ยของคุณลุงเริ่มประกอบอาชีพด้วยการเปิดร้านรับซ่อมจักรยานชื่อ “เต็งไตรรัตน์” และค้าขายด้วยการซื้อเกลือและข้าวของเครื่องใช้ประจำวันนำมาแลกกับข้าวเปลือกจากชาวบ้าน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเตี่ยของคุณลุงได้ติดต่อกับห้างเซ่งง่วนฮง (สิทธิผล) จำกัด ในกรุงเทพ ฯ  ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานนำเข้าจากยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น ราเลย์ การ์เซีย โรบินฮูด ฟิลิปส์ นิวฮัดสัน ฯลฯ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในเมืองน่าน

การขนส่งจักรยานจากกรุงเทพ ฯ มาขายที่เมืองน่านเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อนนั้น ใช้วิธีแยกส่งเป็นชิ้นส่วนย่อยมาทางรถไฟ แล้วจึงค่อยนำมาประกอบเป็นส่วนต่าง ๆ  ที่ร้านเต็งไตรรัตน์ ตั้งแต่การสานซี่ลวดล้อจักรยาน ขึ้นโครงรถ ติดตั้งเบรก อานเบาะ จนเสร็จสมบูรณ์เป็นจักรยานทั้งคัน พร้อมจำหน่ายให้กับลูกค้า คุณลุงสุพจน์ได้เป็นลูกมือช่วยงานเตี่ยในการประกอบจักรยานจนเชี่ยวชาญ คุ้นเคยกับทุกชิ้นส่วนจักรยานเหมือนกับเพื่อนสนิท ในขณะกิจการรุ่งเรืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นขึ้นตามลำดับ


กาลเวลาผ่านไป การค้าขายรถจักรยานเริ่มซบเซา ขายได้น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้คนชาวน่านหันไปใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์กันมากขึ้น  ร้านเต็งไตรรัตน์จึงจำเป็นต้องเลิกขายจักรยาน เก็บชิ้นส่วนทั้งหลายที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยลงกล่องใส่ตู้ แล้วหันมาขายรถมอเตอร์ไซค์แทน คุณลุงสุพจน์เองในที่สุดก็ได้ปรับเปลี่ยนมาดำเนินกิจการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ในอำเภอเวียงสา เรื่องราวของจักรยานถูกเก็บไว้เพียงในความทรงจำ

กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐๐ ปี ขึ้นที่จังหวัดน่าน เมื่อน้ำลดลงแล้ว คุณลุงสุพจน์ ได้กลับไปที่บ้านเดิมในตัวเมืองน่าน เพื่อช่วยเก็บกวาดเช็ดล้างทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่จมน้ำอยู่หลายวัน และได้พบว่ามีชิ้นส่วนจักรยานจำนวนมากที่ยังอยู่ในสภาพดี ถูกเก็บถาวรจนลืมอยู่ในห้องเก็บของ ทำให้หวนรำลึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก ครั้งยังคลุกคลีอยู่กับชิ้นส่วนและการประกอบจักรยานจนเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะเก็บรวบรวมรถจักรยานโบราณ โดยเฉพาะที่ผลิตจากยุโรป หลากรุ่น หลายยี่ห้อ นับจากนั้นจึงเริ่มทยอยตามหา ซื้อชิ้นส่วนมาสะสมไปพลาง ประกอบไปพลาง จนสามารถสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ “เฮือนรถถีบ” อันน่าตื่นตาอย่างที่เห็น


            ดาวเด่นเห็นจะเป็นจักรยานล้อโตอายุกว่า ๑๓๐ ปี ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “จักรยานจิงโจ้” ด้วยลักษณะล้อหน้าขนาดใหญ่สูงท่วมหัว ในขณะที่ล้อหลังมีขนาดเล็ก เป็นจักรยานยุคแรกที่ยังไม่รู้จักการใช้ระบบโซ่และเฟือง จึงต้องถีบเคลื่อนจากแกนล้อโดยตรง จำเป็นต้องมีล้อขนาดใหญ่เพื่อให้ถีบได้ระยะทาง ขี่ค่อนข้างลำบากเพราะต้องปีนป่ายขึ้นไปขี่ ก่อนจะพัฒนามาเป็น “จักรยานไทรดอน” ที่มีขนาดสองล้อหน้าหลังเท่ากัน โดยนำเฟืองและโซ่มาใช้ช่วยให้ลดแรงถีบ เหนื่อยน้อยกว่าและสะดวกกว่า แบบที่ใช้กันอยุ่ในปัจจุบัน


จักรยานซึ่งน่าสนใจด้วยรูปแบบใช้งานก็มีอยู่หลายคัน เช่น จักรยานตราปืนไรเฟิลสามกระบอก หรือ จักรยาน BSA (ย่อมาจาก Bermingham Small Arms) ของอังกฤษ เป็นจักรยานพับรุ่นแรกของโลก ออกแบบเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยให้ทหารพลร่มสามารถพับตัวรถสะพายหลัง เมื่อโดดร่มลงในพื้นที่แล้วก็กางจักรยานนี้ออกเป็นพาหนะได้ จักรยานดับเพลิงตัวถังสีแดงที่ออกแบบให้ตรงช่วงกลางรถเป็นวงโค้งสามารถม้วนเก็บท่อน้ำดับเพลิงไว้ภายใน เมื่อจะใช้ก็นำออกมาต่อกับท่อน้ำประปา โดยมีไซเรนหรือ “หวอ” แบบมือปั่นติดอยู่เหนือบังโคลนหน้า  



รายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ของจักรยาน ก็น่าสนุกไม่แพ้กัน เช่นไฟหน้ารถ ในยุคที่ยังไม่มีหลอดไฟใช้ โคมไฟที่อยู่หน้ารถจักรยานมีทั้งที่ใช้เทียนไขจุดไว้ภายใน ตะเกียงที่ใช้ทำเป็นไฟหน้ารถ มีการใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ตะเกียงแก๊ส เช่นเดียวกันกับแตรหน้ารถจักรยานมีหลากหลายรูปแบบมีทั้งแตรลม กระดิ่ง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการซ่อมจักรยานต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับจักรยานในอดีต จัดแสดงไว้อย่างมากมาย

คนรักจักรยานหากได้แวะเวียนเข้ามาใน “เฮือนรถถีบ” แห่งนี้แล้ว เวลาสองสามชั่วโมงยังต้องบอกว่าน้อยเกินไปจริง ๆ

คู่มือนักเดินทาง
เฮือนรถถีบ ตั้งอยู่หลังปั๊มน้ำมันเชลล์ เลขที่ ๑๕๔ หมู่ ๔ ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  เปิดให้เข้าชมเป็นสองรอบ รอบเช้าในเวลา ๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ นาฬิกา และรอบบ่าย ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม โดยผู้เข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๘ ๑๓๕๙ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น