ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒
“ดงเมืองเตย” คือชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานซากเมืองโบราณแห่งหนึ่งในตำบลสงเปือย
อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนภายในบริเวณมีต้นเตยขึ้นอยู่โดยรอบ
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยให้สืบค้นย้อนหลังไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อ ๒,๕๐๐-๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนแห่งนี้ก่อตัวขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำชี
ห่างจากลำน้ำชีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลิตเครื่องปั้นดินเผา
และถลุงเหล็ก มีประเพณีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว รวมทั้งการฝังศพครั้งที่สอง
โครงกระดูกที่ขุดพบในหลุมขุดค้น |
เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ได้รับวัฒนธรรมแบบทวารวดี
ดังปรากฏหลักฐานการสร้างเป็นบ้านเมืองขึ้น เป็นเนินดินรูปวงรีมีคูน้ำคันดินล้อมรอบชั้นเดียว ขนาดประมาณ ๖๕๐x๓๖๐ เมตร โดยเริ่มแรกนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไศวนิกาย ในช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๒-๑๓ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และรับอิทธิพลอารยธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนจะถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างไปในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่
๑๗
เมืองโบราณแห่งนี้แม้จะเก่าแก่
แต่อาจจะเป็นเพียงซากเมืองเก่าเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น หากไม่พบหลักฐานจารึกหินทรายสีแดงอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต
อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ภายในเมืองแห่งนี้ ที่มีเนื้อความโดยสรุปกล่าวถึงการสร้างเทวสถานถวายแด่พระอิศวร
โดยพระนางศรีมานุญชลีบุตรีคนที่ ๑๒ ของพระศรีมานประวรเสนะ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ
ข้อความสั้น ๆ เพียงเท่านี้
ทว่ากลับทำให้ดงเมืองเตยกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่ขึ้นมาทันที
เพราะนอกจากจะบ่งบอกชื่อเมืองที่แท้จริงว่าคือเมือง “ศังขปุระ” แล้ว ข้อความซึ่งเอ่ยถึง
“พระศรีมานประวรเสนะ” ผู้เป็นใหญ่ในเมืองนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่บ่งบอกว่าบริเวณดงเมืองเตยคือภูมิลำเนาถิ่นกำเนิดของตระกูล
“เสนะ”
บุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของตระกูล “เสนะ” นี้
คือ “เจ้าชายจิตรเสน” ที่ต่อมาทรงได้ขึ้นครองอาณาจักรเจนละพระนามว่า “พระเจ้ามเหนทรวรมัน”
เป็นกษัตริย์ผู้ทรงเรืองอำนาจมาก พบหลักฐานศิลาจารึกประกาศการแผ่ขยายอำนาจของพระองค์อยู่อย่างมากมายในดินแดนภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ภาคเหนือของประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และพบมากที่สุดบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
และอาณาจักรเจนละของพระเจ้ามเหนทรวรมันถือเป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรขอมโบราณอันยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา
ซากเทวาลัยส่วนฐานที่พบในดงเมืองเตย |
ภายในบริเวณดงเมืองเตยในปัจจุบันยังคงร่มรื่นด้วยแมกไม้
แม้จะไม่ได้มีโบราณสถานใหญ่โต
แต่ก็มีโบราณสถานโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่มีความสวยงามแปลกตาน่าเยี่ยมชมอยู่ โดยด้านทิศเหนือของเมืองเป็นซากเทวาลัยในลัทธิไศวนิกาย
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐแนบชิดกันไม่สอปูน ในรูปผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า
มีบันไดเป็นรูปอัฒจันทร์อันถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมดงเมืองเตย
ภายในศาลาโถงใหญ่ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ดงเมืองเตย
ด้านนอกจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากภายในบริเวณเมืองโบราณดงเมืองเตย
ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทรายสีแดงจำหลักลวดลายดอกไม้ ใบเสมาหินทรายแดง วงกบกรอบประตูหินทรายสีแดงที่มีจารึกสำคัญ
๔ บรรทัด
ด้านในมุมหนึ่งจัดแสดงโครงกระดูกจากหลุมขุดค้น
ถัดไปจัดทำเป็นนิทรรศการให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาและรายละเอียดเกี่ยวกับเมืองโบราณดงเมืองเตย
พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอันได้แก่ชิ้นส่วนประดับอาคารรูปกุฑุที่ภายในสลักใบหน้าบุคคล
กุฑุขนาดเล็กภายในสลักใบหน้าบุคคลสตรี ทั้งสองชิ้นเป็นศิลปกรรมทวารวดี
อิทธิพลอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะ และประติมากรรมสิงห์สลักจากหินทรายสีขาว
ศิลปะกรรมขอมสมัยแปรรูป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ สภาพสมบูรณ์ และชิ้นส่วนข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ขุดพบอีกเป็นจำนวนมาก
ปรตูทางเข้าหลุมขุดค้นทางโบราณคดี |
คู่มือนักเดินทาง เมืองโบราณดงเมืองเตย
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านดงเมืองเตย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๓ (ถนนแจ้งสนิท) มาทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ ๒๐
กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๘๓
เลี้ยวขวาตรงไปตามทางเข้าหมู่บ้านสงเปือย ระยะทางประมาณ ๔.๗ กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านเลี้ยวซ้ายแล้วตรงไปตามถนนในหมู่บ้านอีก
๕๕๐ เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปตามทางอีก ๖๕๐ เมตร ถึงแหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น