วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ลุยดงเสมาทวารวดี ที่อำนาจเจริญ


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๙ ฉบับที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒

เสมาหินสมัยทวารวดีถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสาน เนื่องจากในเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไม่ปรากฏการสร้างเสมาหินทรายแต่อย่างใด นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเสมาหินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมหินตั้ง” ใช้กำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมตามลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาในสมัยทวารวดีจึงดัดแปลงหินตั้งเหล่านี้เป็นใบเสมาในพุทธศาสนาแทน

อย่างไรก็ตามเมื่อเอ่ยถึง “ศิลปกรรมสมัยทวารวดี” น้อยคนนักจะนึกถึงจังหวัดอำนาจเจริญ  ทั้งที่จังหวัดลำดับที่ ๗๕ ของประเทศไทยแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีเสมาหินขนาดใหญ่ ที่มีรูปแบบของศิลปกรรมสมัยทวารวดีอยู่ แถมยังมีหลายแห่งเสียด้วย แต่ละแห่งก็มีจำนวนมากมาย ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นดงเสมาหินเลยทีเดียว

 อุโบสถของวัดดงเฒ่าเก่าเสมารามรายรอบด้วยเสมาหิน

              แห่งแรกคือแหล่งเสมาทวารวดีดงเฒ่าเก่า อยู่ภายในบริเวณผืนป่าอันร่มรื่นด้วยแมกไม้เขียวขจีของวัดดงเฒ่าเก่าเสมาราม ปรากฏใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ ปักอยู่เป็นกลุ่ม ๆ  รวม ๓ กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกอยู่ภายในกำแพงแก้วบริเวณรอบอุโบสถที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่นาน  เสมาหินแต่ละใบมีความสูงประมาณ ๑๘๐ เซนติเมตร กึ่งกลางใบเสมาแกะสลักเป็นสันนูนทรงสามเหลี่ยมคล้ายสถูป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า 

ใบที่สภาพสมบูรณ์ที่สุดปักเด่นสง่าอยู่หน้าอุโบสถ ส่วนใบอื่น ๆ ปักจมอยู่ในดินครึ่งหนึ่งบ้าง หักเป็นสองท่อนจมดินอยู่บ้าง ปักเรียงรายอยู่รอบอุโบสถทั้งสี่ด้าน

 ประติมากรรมนาคปรก
 ลวดลายแกะสลักบนส่วนฐานเสมาหินทราย
 ส่วนเท้าของทวารบาลที่นำขึ้นไปตั้งแทนองค์พระ

กลุ่มที่สอง อยู่ถัดลงไปจากอุโบสถ บริเวณข้างวิหารจัตุรมุข  ใกล้กับประติมากรรมปูนปั้นนาคปรกทรงสูงซึ่งนำโกลนหินทรายรูปทวารบาลแกะสลักขึ้นไปตั้งไว้แทนองค์พระ บริเวณนี้พบใบเสมาปักกระจายกันอยู่หลายใบ ขนาดย่อมลงมากว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย ลักษณะใบเสมามีสันตรงกลางแบบเดียวกัน 

ความน่าสนใจอยู่ที่ใบสมบูรณ์ที่สุดตั้งอยู่กลางลาน ตรงส่วนฐานแกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ต่างจากใบอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะจะเป็นใบเสมาที่เป็นประธานในกลุ่มนี้


กลุ่มที่สาม อยู่ถัดจากกลุ่มที่สอง ลึกเข้าไปในป่าทึบ ตามทางเดินที่มีประติมากรรมรูปปั้นฤาษีนั่งชี้มือบอกทางไปอีกประมาณ ๓๐๐ เมตร  ปรากฏใบเสมาหินตั้งกระจายอยู่ในป่า 

ลักษณะใบเสมามีสันตรงกลางเช่นเดียวกันกับสองกลุ่ม แต่มีใบหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเสมาประธานของกลุ่มนี้ ตั้งโดดเด่นอยู่บนฐานในลักษณะที่แตกต่าง ด้วยสันตรงกลางแกะเป็นลวดลายนูนต่ำรูปภาชนะทรงกลมอันหมายถึงหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ปูรณฆฏะ) สัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของอินเดียโบราณอันหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ต่อด้วยรูปกรวยยอดแหลมตอนบนเป็นรูปวงกลมคล้ายธรรมจักรในพวงมาลัยดอกไม้ เมื่อมองไกล ๆ คล้ายรูปดอกไม้ชูช่ออย่างสวยงาม สื่อถึงของการเบ่งบานของของพุทธศาสนา    

   

             กลุ่มเสมาหินทั้งสามกลุ่มน่าจะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามลำดับ โดยกลุ่มหนึ่งน่าจะเก่าแก่ที่สุด เพราะลักษณะเป็นเสมาหินทรายที่ไม่มีลวดลาย ถัดมาจึงเป็นกลุ่มสองที่มีลวดลายพรรณพฤกษาบริเวณส่วนฐาน และกลุ่มสามน่าจะใหม่ที่สุด เนื่องจากมีพัฒนาการแกะสลักตกแต่งเป็นลวดลายอย่างวิจิตร 

บริเวณแหล่งเสมาทวารวดีดงเฒ่าเก่านี้ยังพบพระพุทธรูปหินทรายแบบทวารวดีตอนปลาย ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลาพันปี”  ปัจจุบันทางวัดได้สร้างมณฑปประดิษฐานไว้กึ่งกลางระหว่างอุโบสถกับกุฎิพระสงฆ์


ส่วนแหล่งเสมาหินทวารวดีอีกแห่งที่น่าสนใจของอำนาจเจริญคือแหล่งโบราณคดีเปือยหัวดง สมัยทวารวดีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีความโดดเด่นที่พบทั้งเสมาหินทรายและเสมาหินศิลาแลง เสมาหินที่พบจะแบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเสมาหินวัดป่าเรไร กลุ่มเสมาหินทรายดอนปู่ตา และกลุ่มเสมาหินทรายในเขตวัดโพธิ์ศิลา

  

กลุ่มเสมาบริเวณวัดป่าเรไร  พบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นกลุ่มเสมาที่ถือว่าหนาแน่นมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีทั้งแบบที่ทำด้วยศิลาแลงและหินทราย  โดยในจำนวนนี้ยังพบใบเสมาหินทรายลักษณะพิเศษ คือส่วนกลางของใบเสมาแกะสลักเป็นรูปหม้อน้ำรองรับปลียอดสถูป สองฟากส่วนยอดซ้ายขวาแกะสลักเป็นรูปนกแก้วสองตัวเกาะอยู่  ซึ่งไม่เคยพบในใบเสมาทวารวดีแหล่งอื่น ๆ เลย (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่อาคารด้านนอกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี)

เสมาหินที่เหลือส่วนใหญ่เป็นใบเสมาที่ทำด้วยหินทรายสลักฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนเสมาที่ทำด้วยศิลาแลงเป็นรูปหกเหลี่ยม รูปแปดเหลี่ยม ตกแต่งรูปร่างให้เป็นเสมา มีสันนูนตรงกลาง  และสลักส่วนฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายเท่านั้น โดยเสมาหินทรายจะมีอายุเก่าแก่กว่าเสมาศิลาแลง  เสมาเหล่านี้กระจายกันอยู่ทั่วบริเวณวัดป่าเรไร


กลุ่มเสมาหินดอนปู่ตา  พบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เช่นกัน ในบริเวณดงปู่ตาซึ่งแต่เดิมเป็นดงต้นเปือยหรือต้นตะแบกหลังโรงเรียนอนุบาล พบกลุ่มใบเสมาหินทรายปักรวมกันอยู่ ลักษณะของใบเสมามีการแกะสลักกึ่งกลางใบในแนวตั้งเป็นรูปสันนูน มีหลายขนาด บางใบมีขนาดสูงใหญ่ บางใบขนาดสั้น  หลายใบก็แตกหักชำรุด ไม่มีใบที่มีลวดลายพิเศษ โดยมีพระพุทธรูปที่นั่งขัดสมาธิราบสมัยทวาราวดีตอนปลายเป็นประธาน 

ปัจจุบันมีการปรับปรุงสถานที่ดงปู่ตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “ดอนปู่ตาเสมาพันปี” โดยสร้างศาลประดิษฐานพุทธรูปทวารวดีที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อปู่” ปูแผ่นอิฐโดยรอบ พร้อมทั้งล้อมรั้วเหล็ก บริเวณลานที่ใบเสมาหินปักระเกะระกะอยู่


 กลุ่มเสมาวัดโพธิ์ศิลา ตามประวัติว่าในปี พ.. ๒๕๓๒ พระครูอุดมโพธิกิจเจ้าอาวาสขณะนั้นได้พบพระพุทธรูปบุเงิน ๒๓ องค์ในหม้อดิน ต่อมาทางวัดจึงได้ขุดเนินดินภายในบริเวณวัดซึ่งเดิมมีใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีขนาดใหญ่จำนวนมากล้มระเนระนาดจมดินอยู่ จัดเรียงใบเสมาหินให้เป็นระเบียบ ทำเป็น “ลานเสมา” ใต้ร่มเงาแมกไม้ร่มครึ้มเขียวขจี แล้วเทปูนทับเพื่อป้องกันไม่ให้เคลื่อนย้าย (ปัจจุบันปูด้วยแผ่นศิลาแลง) 

ในบริเวณนี้มีใบเสมาที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์อยู่เพียง ๒ ใบ แต่มีแกะสลักรูปหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ปูรณฆฏะ) ต่อด้วยรูปกรวยยอดแหลม ตอนบนเป็นรูปวงกลมคล้ายธรรมจักร ส่วนยอดแหลมเหมือนเจดีย์มีเครื่องประดับส่วนยอด ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนที่ชำรุดแตกหัก แต่ยังปรากฏลวดลายแกะสลักกลีบบัวที่ส่วนฐานงดงามน่าชม

คู่มือนักเดินทาง  



แหล่งเสมาทวารวดีดงเฒ่าเก่า ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดดงเฒ่าเก่าเสมาราม บ้านหนองเรือ ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ  จากตัวอำเภอเมืองฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ (ถนนอรุณประเสริฐ ) อำเภอเมือง-ทางแยกตำบลน้ำปลีก-วัดดงเฒ่าเก่า ก่อนถึงเทศบาลตำบลนาหมอม้าประมาณ ๗๐๐ เมตร ทางเข้าวัดอยู่ทางขวามือ รวมระยะทางประมาณ ๒๓ กิโลเมตร 

แหล่งเสมาทวารวดีเปือยหัวดง กลุ่มแรกวัดโพธิศิลาตั้งอยู่ที่ ๑๐๙ หมู่ ๖ บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ  จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ (ถนนชยางกูร)  เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๓๔ ตรงทางแยกไปยังอำเภอพนา ตรงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่แยกวัดโพธิ์ศิลา ตรงเข้าไปประมาณ ๗๐๐ เมตร ถึงวัดโพธิ์ศิลา ส่วนกลุ่มสองวัดป่าเรไรอยู่ห่างจากวัดโพธิ์ศิลาไปทางตะวันออกอีกประมาณ ๙๐๐ เมตร  และกลุ่มสามดอนปู่ตาอยู่ถัดไปทางตะวันออกอีกประมาณ ๗๐๐ เมตร ตรงข้ามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเปือยหัวดง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น