วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เพลินรอยโบราณ ณ สรรคบุรี


  
 พระประธานปูนปั้นในท่ามกลางซากปรักหักพังของวิหารวัดมหาธาตุ ชัยนาท

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฏาคม ๒๕๕๔
           
            “…จากหน้าต่างโรงแรมข้างวัดศรีษะเมืองหรือวัดมหาธาตุสรรคบุรี ข้าพเจ้ามองเห็นเจดีย์อู่ทองอันรายรอบอุโบสถด้านทิศเหนือได้ถนัดถนี่ เจดีย์เหล่านั้นซึ่งราวกับถอดพิมพ์เดียวมาจากเจดีย์อู่ทองในถ้ำเขาหลวงเพชรบุรี อาบด้วยแสงนีออนงามมลังเมลืองแฝงความทะมึนทึมท่ามกลางราตรีอันเงียบสงัด

            ตรงมุมวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เจดีย์ทรงปรางค์ยอดกลีบมะเฟืองสูงตระหง่านง้ำ พระพุทธรูปปางลีลาประจำซุ้มเจดีย์เยื้องกายอ่อนหวานตามแบบฉบับลพบุรีตอนปลาย ซึ่งจะส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะสุโขทัยอีกต่อหนึ่ง อิฐอันก่อสานเป็นโครงร่างเจดีย์เบียดกันสนิทด้วยเทคนิคสอปูนอย่างบางแทบมองไม่เห็น  เป็นแบบการก่อสร้างที่เก่าแก่กว่าศิลปะอยุธยา บ่งว่านครแห่งนี้รุ่นราวคราวเดียวกับละโว้  มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งทั้งทางศิลปะและอารยธรรม

          เรา - ซึ่งหมายถึงข้าพเจ้ากับคุณอนุวิทย์ เจริญศุภกุล สถาปนิกหนุ่มผู้ผ่านปริญญาโทด้านผังเมืองจากสหรัฐมาหยก ๆ ได้ซุกตัวนอนท่ามกลางกลิ่นอับ ๆ ของโรงแรมสกปรกที่นั่นได้อย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าไม่เพราะแรงเสน่ห์ของศิลปะในนครโบราณอันเลื่องลือนี้แล้ว ก็เห็นจะไม่ขอย่างกรายเข้าไปในสถานที่อัปมงคลนั้นเลย เราปิดประตูห้องคุยกันถึงศิลปะละโว้และอู่ทอง ซึ่งเกี่ยวดองกันยุ่งคล้ายปมเชือกที่แก้ไม่ออก ขณะที่รอบห้องและทางเดินในโรงแรมไม้โกโรโกโสอึงคะนึงไปด้วยฝีเท้านักย่ำราตรี และเสียงกรีดร้องคะนองของเหล่านางคณิกา …”

นั่นคือบรรยากาศการเดินทางไปท่องเที่ยวชมศิลปะ ณ เมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เมื่อเกือบ ๔๐ ปีก่อน ที่บันทึกเอาไว้ในบทความเรื่อง ศิลปะที่เมืองสรรค์บุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือศิลปโบราณของไทย โดย  .   ปากน้ำ 
 ปรางค์กลีบมะเฟือง สถาปัตยกรรมที่หาดูได้ยาก

เจ้าของนามปากกานี้ก็คืออาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ประจำปีพ.ศ.๒๕๓๕  หรือ อาจารย์ยูรของใครต่อใครในแวดวงผู้สนใจศิลปกรรมโบราณ (รวมทั้งผมด้วย) 

ไม่ได้เคยมีโอกาสได้เรียนหนังสือหนังหากับท่านหรอกครับ ได้แต่แอบกราบขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ติดตามผลงานของท่านอยู่ไกล ๆ แต่กระนั้นลูกศิษย์ชนิดปลายหางแถวสูดกู่อย่างผมก็ยังได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์ยูร อย่างมากมาย เมื่อครั้งไปเรียนเชิญท่านมาเป็นนักเขียนรับเชิญในคอลัมน์ ถนนคนเดินทางของอนุสาร อ... เมื่อสิบกว่าปีก่อน 

แม้ขณะนั้นท่านจะกำลังอยู่ในช่วงป่วยหนักถึงขนาดลุกไม่ไหวก็ยังไม่ปฏิเสธ  อุตส่าห์พยายามนอนเขียนต้นฉบับเรื่อง การท่องเที่ยวชมศิลปะมอบให้มาพร้อมกับภาพถ่าย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานท่านก็ถึงแก่กรรม เรียกว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านอาจารย์ ยังสำนึกในบุญคุณความกรุณาของท่านมาจนตราบทุกวันนี้

 ผมได้รู้จักเมืองสรรค์บุรีเป็นครั้งแรกในชีวิตก็จากหนังสือศิลปโบราณของท่านอาจารย์ยูรนี่แหละครับ ตอนที่อ่านนั้นก็ยังเป็นเด็กนักเรียนกะโปโลอยู่ จินตนาการไปตามคำบรรยายแล้วก็ให้รู้สึกว่าสรรค์บุรีนี่ช่างเหมือนกับเมืองโบราณในฝันเสียจริง ๆ ยิ่งคิดยิ่งอยากไปดูไปเห็นด้วยตาของตัวเองขึ้นมา เพราะดูจากภาพถ่ายท่าว่าจะสวยงามอลังการถึงขนาด 

แต่กว่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับของจริงก็เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย เวลาล่วงเลยไปเกือบยี่สิบปีโน่นแน่ะ

จำได้ว่าไปเห็นครั้งแรกผิดหวังมากครับ เพราะเวลาที่ผ่านไปทำให้โบราณสถานวัดวาอารามหลายแห่งในสรรค์บุรีเปลี่ยนแปลงไปมากมาย  ไม่เหมือนกับที่เคยอ่านในหนังสือ และเคยเห็นจากภาพถ่าย แต่ละแห่งถูกบูรณะดัดแปลง สร้างอาคารใหม่บดบังบ้าง  เทปูนทับทำเป็นทางเดินบ้าง เรียกว่าเละเทะไปหมด

นับแต่นั้นผมก็เลยไม่เคยมาเยือนสรรคบุรีอีก เพราะไม่อยากเห็นสภาพบาดตาบาดใจ

จนกระทั่งล่าสุด บังเอิญแว่วข่าวมาว่าทางกรมศิลปากรกำลังดำเนินโครงการขุดแต่งบรรดาโบราณสถานในสรรคบุรีขึ้นมาใหม่  ก็เลยเกิดความหวังขึ้นมารำไรครับ ว่าบางทีอาจจะพบอะไรใหม่ ๆ  หรืออย่างน้อยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี 

และนั่นทำให้ผมต้องหวนกลับมาเยือนเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้อีกครั้ง...ในวันนี้        

 

เสี้ยวอดีตในหน้าประวัติศาสตร์

            ร่องรอยของเมืองสรรคบุรี ในประวัติศาสตร์มีอยู่เพียงสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่จะปรากฏแต่เพียงชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “เมืองแพรก” ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย มีฐานะเมืองหน้าด่านต้านศึกจากเมืองฝ่ายใต้คือกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่กลายเป็น “เมืองสรรคบุรี” ในเวลาต่อมาภายหลังสุโขทัยตกอยู่ในอำนาจกรุงศรีอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ก่อนจะถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงหัวเมืองจัตวา ดังปรากฏชื่อในกฎหมายตราสามดวงของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในรายชื่อหัวเมืองจัตวา เจ้าเมืองมีศักดินา ๓๐๐

พงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อปี พ.. ๑๙๔๗ เมืองเหนือเกิดจลาจลเนื่องจากพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนครินทราธิราชจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปถึงเมืองพระบาง (นครสวรรค์) โปรดให้เจ้าอ้ายพระยา พระโอรสองค์โตครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา พระโอรสองค์รองครองเมืองแพรกศรีราชาหรือเมืองสรรค์  และเจ้าสามพระยาองค์สุดท้องครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก)

ประวัติศาสตร์ช่วงหลังจากนี้สนุกมากครับ ผมจำได้ดีเพราะเรื่องราวบู๊ดุเดือด ระทึกใจ สมัยเรียนชั้นประถมเคยเรียนจากในหนังสือดรุณศึกษา (ไม่รู้ใครทันได้เรียนบ้าง หนังสือเรียนรุ่นนี้ เก่ากว่ารุ่นมานะ มานี เสียอีกนะ)

  เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคต เจ้าอ้ายพระยาทรงทราบข่าวพลันยกทัพจากสุพรรณบุรีเข้ามา พร้อม ๆ กันกับเจ้ายี่พระยาก็ยกทัพลงมาจากเมืองสรรค์เพื่อเข้าครอบครองราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา ทั้งสองทัพเกิดปะทะกันขึ้นจนถึงขั้นตะลุมบอน บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน  เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาทรงกระทำยุทธหัตถี ปรากฏว่าทั้งสองพระองค์ฝีมือทัดเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างถูกพระแสงของ้าวของฝ่ายตรงข้าม สิ้นพระชนม์บนคอช้างทั้งคู่

สมัยเรียนผมรู้สึกว่าเหลือเชื่อมาก อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น  แต่พอโตมาก็เริ่มเห็นว่าเป็นไปได้ครับ ยิ่งสมัยนี้หาดูวิดีโอในยูทูบ ก็มีให้เห็นเยอะแยะ โดยเฉพาะในแวดวงศิลปะการต่อสู้ อย่างมวยสากลหรือมวยไทย  ที่ต่างฝ่ายต่างออกอาวุธ แล้วต่างฝ่ายต่างก็โดน  อย่างที่เรียกกันว่า “ดับเบิ้ลน็อกเอาต์”นั่นแหละ ผมดูทีไรก็นึกไปถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ทุกที

  หลังจากทั้งสององค์สิ้นพระชนม์ เจ้าสามพระยาซึ่งเป็นพระอนุชาองค์เล็กก็เสด็จยกทัพจากเมืองชัยนาท มาขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ อย่างสบาย ไม่ต้องแย่งกับใคร

 เข้าทำนอง “ตาอินกับตานาแย่งปลาตีกัน ตาอยู่เดินผ่านมา เอาชิ้นปลามันไปกิน” ยังไงยังงั้นเลยละครับ

หากดูจากแค่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ สรรคบุรีจึงมีเวลารุ่งเรืองอยู่แค่ช่วงสั้น ๆ คือเวลาที่เจ้ายี่พระยาปกครองอยู่เท่านั้น   แต่หากพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีประกอบด้วยจะพบว่าเมืองแพรกหรือสรรคบุรีนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอู่ทองคือก่อนกรุงศรีอยุธยาแล้ว 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับ ว่าทำไมถึงได้มีมรดกสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงามหลงเหลือเอาไว้ให้เราได้ชื่นชมกัน


ชมอลังการสถาปัตยกรรมรังสรรค์

          ตัวเมืองสรรคบุรีในยามสายแลดูสงบเงียบ

อนุสาวรีย์ขุนสรรค์ หนึ่งในผู้นำชาวบ้านบางระจันผู้หาญกล้ายืนหยัดพร้อมอาวุธคู่ใจ เด่นสง่าอยู่บนลานหน้าที่ว่าการอำเภอ  

 พาหนะคันน้อยพาผมแล่นเรี่อยผ่านวงเวียน เลียบเลาะไปตามถนนสายเล็ก ซึ่งสองฟากเรียงรายด้วยเรือนแถวไม้อันเป็นย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำน้อย ลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำเจ้าพระยาที่แยกสายออกมาที่เมืองชัยนาท ไหลผ่านเมืองสรรค์บุรีไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตัวเมืองสรรคบุรีโบราณนั้นทางทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำน้อย แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน  คือทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยเดิมมีคลองกั้นกลางเอาไว้  ต่อมาสมัยหลังมีการลดขนาดของเมืองลงโดยเหลือแค่เพียงครึ่งทางทิศใต้เท่านั้น  ร่องรอยความรุ่งเรืองส่วนใหญ่จึงอยู่ทางครึ่งทิศใต้ ทางทิศเหนือเขาก็ว่าเคยมีวัดวาอารามโบราณอยู่เยอะแยะเหมือนกันครับ แต่ถูกทำลายไปหมดแล้ว ไม่เหลือซากอะไรให้เห็น เฮ้อ...คิดแล้วก็เสียดาย  

 ย่านเก่าริมแม่น้ำน้อย

            ถนนแคบลงเรื่อยจนกลายเป็นซอยเล็ก ช่วงนี้มีห้องแถวไม้เก่า ตรงข้ามแนวรั้วของวัดมหาธาตุ เลยไปอีกหน่อยเป็นวัดพระยาแพรก เจดีย์แปดเหลี่ยมยอดหักตระหง่าน เด่นด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยอู่ทอง  ในบริเวณยังมีฐานวิหารและอุโบสถขนาดใหญ่

ดูจากทำเล โรงแรมไม้โกโรโกโสที่ท่านอาจารย์ยูรเล่าไว้ว่าเคยมาพักก็คงจะอยู่แถว ๆ นี้แหละครับ เพราะมองออกมาเห็นแนวเจดีย์ในวัดมหาธาตุ ปัจจุบันห้องแถวไม้ยังอยู่แต่ไม่ได้เป็นโรงแรม กลายเป็นบ้านเรือนผู้คนไปหมดแล้ว  ถึงยังงั้นผมเห็นแล้วก็ยังอดไม่ได้อยู่ดี ที่จะจินตนาการไปถึงบรรยากาศที่บรรยายเอาไว้ในหนังสือ เพราะแสดงให้เห็นว่าการเดินทางท่องเที่ยวชมศิลปกรรมโบราณเมื่อสมัยหลายสิบปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถราถนนหนทางยังไม่ค่อยดี มาแค่สรรคบุรียังต้องพักโรงแรมค้างคืน ทุกวันนี้ขับรถแค่ชั่วโมงกว่าสองชั่วโมงก็ถึง เช้ามาเย็นกลับก็ยังไหว สบายกว่ากันเยอะครับ

 เจดีย์วัดพระยาแพรก

            ออกจากซอยเข้าสู่ถนนหน้าพระลาน ชื่อถนนเป็นอีกร่องรอยหนึ่งอันเรียกขานกันมาแต่อดีต  เลี้ยวเข้าไปในวัดมหาธาตุ ซึ่งตามประวัติมีชื่อเดิมเรียกว่าวัดหัวเมืองหรือวัดศีรษะเมือง ว่ากันว่าน่าจะสร้างตั้งแต่สมัยอู่ทอง แล้วมาบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น การผ่านช่วงเวลาอันยาวนานทำให้ที่นี่มีร่องรอยของอดีตกาลหลงเหลืออยู่ให้ดูมากที่สุด

 ฟากตะวันออกของวัดซึ่งเป็นเขตพุทธาวาสและเป็นเขตโบราณสถานกำลังมีการขุดแต่งทางโบราณคดี ทุบพื้นปูนซีเมนต์ที่เคยลาดปูโดยรอบทิ้งไป เผยให้เห็นซากอิฐหักกากปูนที่ทับถมอยู่ทั่ว  กระเบื้องมุงหลังคาโบราณที่ขุดได้กองเป็นพะเนินอยู่ริมรั้ว

เห็นยังงี้แล้วก็รู้สึกค่อยยังชั่ว ดูสมกับเป็นเมืองโบร่ำโบราณขึ้นมาหน่อย

 กลุ่มเจดีย์รายเรียงกันอยู่เป็นแถวเป็นแนว

 กลุ่มเจดีย์ราย ที่อาจารย์ยูรมองเห็นจากในโรงแรม ยังคงเรียงรายกันอยู่เป็นแถวหลายองค์  ส่วนมากเป็นทรงปราสาทยอด ที่มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รอบด้าน  องค์พระโดนทำลาย ถูกแซะไปขายบ้างอะไรบ้างโดยมาก แต่ก็มีร่องรอยการซ่อมบูรณะเอาไว้ บางส่วนฝีมือดี ดูใกล้เคียงของโบราณ บางส่วนดูเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ก็ดูเป็นศิลปะไร้มารยา จริงใจ ได้อารมณ์ไปอีกแบบ

 ที่เป็นส่วนน้อยและถือเป็นพระเอกตัวจริงเห็นจะเป็นปรางค์ยอดกลีบมะเฟืองครับ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะได้แบบอย่างมาจากปรางค์กลีบมะเฟืองลพบุรี  แต่ที่นี่ทรงชะลูดกว่า ฐานแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้ยี่สิบ ในเอกสารเก่า ๆ บันทึกว่าตรงโคนกลีบมะเฟืองมีปูนปั้นรูปเทพนมประดับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีแล้ว  เช่นเดียวกับพระพุทธรูปยืนในซุ้มทั้ง ๔ ทิศ หายเรียบ ความพิเศษของปรางค์ชนิดนี้อยู่ตรงที่เป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะ  หาดูได้แค่ที่นี่กับที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีสองแห่งเท่านั้นในประเทศไทย (อ้อ  มีอีกแห่ง ในเมืองโบราณที่สมุทรปราการ แต่นั่นเป็นของจำลองไม่ใช่ของโบราณ ฉะนั้นถือว่าไม่นับครับ )   

ถัดจากกลุ่มเจดีย์รายเป็นวิหารเก้าห้องขนาดใหญ่ อยู่ในระหว่างการขุดค้นบูรณะเหมือนกัน อิฐเก่ากองระเกะระกะท่ามกลางเสาก่ออิฐแปดเหลี่ยมเสียดฟ้า พระพุทธรูปประธานปูนปั้นสององค์เด่นตระหง่าน พระพักตร์ผ่านการซ่อมบูรณะฝีมือแบบช่างพื้นบ้าน ใกล้กันเป็นอุโบสถที่รายล้อมด้วยนั่งร้านเหล็ก ด้านหลังเป็นพระธาตุหรือเจดีย์ประธานของวัด


การวางผังของวัดนี้ดูแตกต่างกับอารามโดยทั่วไป คือ พระธาตุเจดีย์ประธานไม่ได้อยู่ตรงกับวิหาร แต่เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงคดล้อมรอบ  องค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น  ชั้นบนสุดที่เป็นเรือนธาตุนั้น เอกสารเก่า ๆ ว่ามีพระพุทธรูปปูนปั้นในอิริยาบถต่าง ๆ กันประดับอยู่โดยรอบ เสียดายเดี๋ยวนี้ไม่มีเหลือแล้ว ชั้นสองลดร่องทำเป็นลายลูกฟัก ชั้นล่างสุดเรียบโล่งไม่มีอะไร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าพระธาตุเจดีย์องค์นี้น่าจะรูปร่างหน้าตาคล้ายกับเจดีย์วัดพระแก้วที่งดงามจนได้สมญานามว่า "ราชินีแห่งเจดีย์"

 ส่วนฐานที่หลงเหลืออยู่ของ "ราชาแห่งเจดีย์" 

คิดแล้วถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็เสียดาย นี่ถ้าเจดีย์องค์นี้ไม่พังทลายไปเสียก่อน เมืองสรรคบุรีก็คงจะมีเจดีย์องค์นี้เป็นราชาแห่งเจดีย์อีกองค์คู่กันพอดิบพอดี

ตามแนวระเบียงคดตรงพระธาตุนี่กำลังมีการขุดแต่งเหมือนกัน พบพระพุทธรูปปูนปั้นมากมาย แต่ส่วนใหญ่แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและมีแต่ส่วนองค์พระ ยังดีมีองค์หนึ่งตรงมุมระเบียงคดทางทิศใต้ ขุดพบในสภาพค่อนข้างดี โดยเฉพาะส่วนพระเศียร  ลักษณะของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรีเป็นอย่างไร น่าจะดูได้จากองค์นี้แหละครับ  ปกติหาดูได้ยากจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่แตกหักเสียหายไม่ก็โดยขโมยไปขายหมด

 พระพุทธรูปปูนปั้นแบบชัยนาท

            ออกจากวัดมหาธาตุ ข้ามฝั่งถนนไปฝั่งตรงข้าม เข้าซอยไปไม่ไกลเป็นที่ตั้งของวัดสองพี่น้อง ชื่อของวัดมาจากเจดีย์ใหญ่น้อยสององค์อยู่ในบริเวณวัด โดยมีตำนานเล่าด้วยว่า

“เจ้าอ้าย เจ้ายี่ และเจ้าสาม ลูกเจ้าเมืองเป็นพี่น้องกัน ๓ คนเมื่อเจ้าเมืองถึงแก่กรรม เจ้าสามได้ยุยงให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเพื่อแย่งราชสมบัติ เจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสามจึงได้ครองเมือง แล้วสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ให้เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมองค์เล็กให้เจ้ายี่”

ฟังดูเหมือนกับเรื่องราวในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเปี๊ยบ  สงสัยจะเรื่องเดียวกันนั่นแหละ ต่างกันที่เมืองที่แย่งกันคือเมืองสรรคบุรี ไม่ใช่กรุงศรีอยุธยา ออกไปในทางนิทานพื้นบ้าน

ตามพงศาวดารอันเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริง ๆ เจ้าสามพระยาก็ได้สร้างเจดีย์ให้กับพระเชษฐาทั้งสององค์เหมือนกันครับ แต่สร้างเป็นเจดีย์ เล็ก ๆ คู่กันสององค์  ปัจจุบันยังคงอยู่ ทว่าหักพังเหลือแต่ฐาน ตั้งเคียงข้างกันอยู่บนเกาะกลางสี่แยกหน้าวัดมหาธาตุวัดราชบูรณะ ที่พระนครศรีอยุธยา

วัดสองพี่น้องวันนี้ก็อยู่ในระหว่างการขุดแต่งบูรณะ ใต้ร่มเงาของแมกไม้ที่แวดล้อมจนร่มครึ้ม เจดีย์แปดเหลี่ยมองค์เล็กเป็นเจดีย์ สร้างมาก่อนตั้งแต่สมัยอู่ทอง ในขณะที่เจดีย์องค์ใหญ่ทรงปรางค์ ยังมีลวดลายปูนปั้นประดับแบบอยุธยาตอนต้น ช่วยยืนยันว่าน่าจะสร้างในสมัยเจ้ายี่พระยามาครองเมืองสรรคบุรี 

รอบข้างกำลังอยู่ในระหว่างขุดค้นโดยรอบเต็มไปด้วยอิฐหักกากปูนกระจัดกระจาย  แอบเข้าไปเดิน ด้อม ๆ มอง ๆดู ก็เห็นอะไรต่อมิอะไรน่าสนใจเยอะครับ ทั้งชิ้นส่วนพระพุทธรูป ลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ ล้อมรอบเอาไว้ด้วยนั่งร้านเหล็ก  เจดีย์ทรงปรางค์แบบนี้มีองค์เดียวที่พบในเขตจังหวัดชัยนาท  ถือว่ามีคุณค่าทั้งทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ บูรณะเสร็จเมื่อไหร่คงจะได้เห็นความงามกันอย่างเต็มตา

 เจดีย์ยอดดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ของวัดโตนดหลาย

            เลยตามทางเข้าไปด้านใน เป็นที่ตั้งของวัดโตนดหลาย  เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูมหรือที่เรียกกันว่าเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ เด่นตระหง่านกลางลานกว้าง  เช่นเดียวกับปรางค์วัดสองพี่น้อง นี่คือหลักฐานอันทรงคุณค่าที่ช่วยยืนยันว่าครั้งหนึ่งสุโขทัยเคยมีอำนาจเหนือดินแดนสรรคบุรี เพราะเจดีย์แบบนี้ส่วนใหญ่จะพบในเขตเมืองเก่าสุโขทัยและเมืองใกล้เคียงที่อยู่ในอำนาจของสุโขทัยเท่านั้น

             แล่นรถออกมาจากตัวเมืองสรรคบุรี แต่ยังไม่ไปไหนหรอกครับ เพราะว่ายังมีโบราณสถานสำคัญอีกแห่งที่ต้องไปชม พลาดไม่ได้เสียด้วย เพราะถือว่าเป็นสุดยอดของสรรคบุรีนั่นก็คือ วัดพระแก้ว ตั้งอยู่นอกเมือง ตามธรรมเนียมของเมืองในสมัยก่อนที่ต้องมีวัดป่าแก้วของเมืองเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี

 ทรวดทรงอันงดงามของเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์

  แล่นรถเลียบคลองชลประทานไปไม่ไกล ก็แลเห็นยอดเจดีย์เสียดฟ้าเหนือแนวยอดไม้อยู่แต่ไกล เลี้ยวเข้าไปจอดรถในบริเวณวัดถึงได้เห็นเต็มตาว่าเป็นองค์เจดีย์แบบละโว้ทรงผสมกับเจดีย์ทวาราวดีตอนปลายสูงสง่าจนต้องแหงนมองคอตั้งบ่า ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยกับสมัยศรีวิชัยผสมผสานกัน ผมนึกไปถึงคำบรรยายของท่านอาจารย์ยูรเมื่อครั้งที่ท่านได้มาเห็นเจดีย์องค์นี้ขึ้นมาทันที

            “…เป็นเจดีย์อันงามสง่าจับใจมาก ข้าพเจ้าเดินวนรอบเจดีย์ด้วยความปิติและถูกสะกดให้งวยงงจากอำนาจสุนทรียภาพ แห่งความงามอันพอดีของทรวดทรง  อาจกล่าวได้ว่าเจดีย์องค์นี้งามที่สุดในประเทศไทย เป็นราชินีแห่งเจดีย์ทั้งมวลในเอเชียอาคเนย์ รู้สึกขนลุกชันไปทั้งตัว  ปลื้มปิติยินดี อยากจะโอบมือเข้าไปกอดด้วยความสนิทเสน่หา

          เจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรี แม้จะสูงไม่เท่าเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล แต่ก็อยู่ในขนาดสูงเยี่ยมเทียมเมฆ งามสง่า วิจิตรรจนา โอ่อ่า ไม่รู้จะสรรหาคำใดมากล่าวให้สมกับความงามที่ได้พบเห็นนั้น  ข้าพเจ้าคงจะย้อนมาหาอีกจนนับครั้งไม่ถ้วนเป็นแน่ จะมาคอยถ่ายรูปตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงค่ำคืน  ถ่ายภาพพอทเตรทราชินีแสนสวยกันให้ทุกแง่ทุกมุมทุกเวลากันทีเดียว…” 

            สมญานาม “ราชินีแห่งเจดีย์” ของเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรีอันเลื่องลือก็มีที่มาจากตรงนี้แหละครับ

เดินเข้าไปในวิหารด้านหน้าเจดีย์ ข้างในประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อฉาย” พระพุทธรูปหินทรายปิดทองอร่าม มองดูด้านหน้าก็เหมือนพระพุทธรูปธรรมดาไม่มีอะไร แต่เมื่อลองอ้อมไปดูด้านหลังถึงได้เห็นว่า  มีทับหลังศิลปะขอมแบบบาปวน รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับอยู่เหนือหน้ากาลฝังอยู่ในองค์พระด้วยในลักษณะกลับหัว ดูแปลกประหลาด



หลายคนบอกว่าสร้างอย่างนี้เพื่อให้เป็นปริศนาธรรมครับ แต่ผมมองๆ  ดูแล้วน่าจะเป็นความพยายามในการอนุรักษ์โบราณวัตถุของคนสมัยก่อนมากกว่า คือนำชิ้นส่วนของโบราณที่หักพังมารวมกันสร้างเป็นพระพุทธรูปให้คนกราบไหว้บูชา จะว่าไปก็เป็นไอเดียที่เข้าท่า นี่ถ้าทิ้งไว้เป็นชิ้น ๆ กระจัดกระจายอาจจะถูกทำลายหรือสูญหายไปนานแล้วก็ได้

   บรรดาโบราณสถานโบราณวัตถุในเมืองสรรคบุรีนี้ เท่าที่เห็นมาทั้งหมดเป็นแค่ส่วนน้อยซึ่งรอดมาจากการถูกทำลายอย่างไม่เห็นคุณค่า ลองคิดดูสิครับ ว่าถ้ายังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์สรรคบุรีจะเป็นนครโบราณอันงดงามอลังการทรงคุณค่าขนาดไหน เผลอ ๆ จะได้เป็นเมืองมรดกโลกอีกแห่งด้วยซ้ำไป (คิดแล้วก็เสียดายนะ แต่จะทำอะไรได้ นอกจากทำใจครับ...เฮ้อ)

 เจดีย์วัดพระบรมธาตุชัยนาท


ส่งท้ายที่เมืองชัยนาท

            เที่ยวเมืองสรรคบุรีครบถ้วนแล้วยังพอมีเวลา เลยถือโอกาสเลยมาถึงเมืองชัยนาทเผื่อว่าจะมีอะไรต่อมิอะไรเก่า ๆ ให้ดูให้ชมอีก ไหน ๆ ก็มาแล้ว ชัยนาทก็อยู่ไม่ไกลจากสรรคบุรีแค่ ๑๙ กิโลฯ

            แวะเวียนเข้าไปที่ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร  อารามหลวงสำคัญของชัยนาท  วัดนี้เขาว่าเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาครับ ในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งของพระเกตุธาตุมหาเจดีย์ เด่นสง่าอยู่กลางลานหลังวิหาร

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “สร้างมาก่อนสมัยขอม จำหลักจากหินทั้งองค์ แปลกกว่าพระเจดีย์องค์อื่น เป็นฝีมือช่างอินเดีย” 

แต่ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มีการบูรณะทาสีขาวโพลนจนมองไม่เห็นแล้วว่าสร้างจากหินอะไรยังไงเสียแล้วครับ ลักษณะเด่นคือมีเจดีย์องค์เล็ก ๆ ประดับอยู่ด้านบนเจดีย์องค์ใหญ่โดยรอบ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรก ๔ ด้าน  ดูเป็นของใหม่ไม่ค่อยโบราณ แต่ก็สวยงามดี

 ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี

             เดินเตร็ดเตร่เล่น ๆ เรื่อยเข้าไปใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี อาคารทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้นที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน  ถูกใจที่นี่เข้าอย่างจังครับ เจ้าหน้าที่มาต้อนรับพาเดินชมอธิบายให้ฟังอย่างละเอียดน่าสนใจ  ชั้นล่างจัดแสดง พระพุทธรูปสังคโลก เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ฯลฯ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวาราวดี อยุธยา มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

             ส่วนชั้นบนจัดแสดงพระพิมพ์สมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยทวารวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปกรรมและโบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่ได้รับมอบจากท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี (นวม) สุทตฺโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นผู้รวบรวมเก็บรักษาไว้  มอบให้กรมศิลปากร กรมศิลปากรจึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี  

          นอกจากแผ่นศิลาจำหลักพระพุทธรูปสมัยทวารวดีซึ่งเป็นของแปลกไม่เคยเห็นที่ไหน  ยังมีศิลปกรรมโบราณที่น่าชมอีกหลายชิ้นครับ เช่นพระพุทธรูปนาคปรกหินทรายจากวัดพระบรมธาตุฯ ซึ่งเป็นหลักฐานว่าเคยมีศิลปะลพบุรีเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในแถบนี้  แต่ที่ไม่ควรพลาดชมจริง ๆ คือหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัยอันอ่อนช้อยจับใจ  มีองค์เดียวในประเทศไทย ชมองค์นี้องค์เดียวเกินคุ้มเหลือหลายแล้วครับ เพราะงามจริงเป็นหนึ่งไม่มีสองรองใคร

แดดอ่อนแรงลงเป็นสีทองเมื่อผมไปถึง วัดธรรมามูลวรวิหารริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  อารามแห่งนี้คู่บ้านคู่เมืองชัยนาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูล ลงจากรถตอนแรกเห็นบันไดขึ้นไปบนยอดเขา มีป้ายชี้บอกไว้ว่าห้าร้อยกว่าขั้นก็ท้อใจ แต่มองไปมองมาก็เห็นว่าด้านข้างบันไดนั้นมีโบสถ์หลังน้อยอยู่ใกล้ ๆ  ด้านหลังเป็นวิหาร

เดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็โล่งใจครับ (เพราะไม่ต้องขึ้นบันไดห้าร้อยกว่าขั้น) ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อธรรมจักร”  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามญาติ ศิลปะผสมระหว่างอยุธยาและสุโขทัย มีรูปพระธรรมจักรปรากฏอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวา มีตำนานเล่าขานกันมาว่าหลวงพ่อธรรมจักรได้แสดงปาฏิหาริย์เดินลุยน้ำมาประทับพิงอยู่ในวิหารเอง โดยชาวบ้านพบว่าที่พระบาทมีจอกแหนติดอยู่เต็ม

ไหว้พระเสร็จสรรพค่อยสบายอกสบายใจครับ กลับออกมาเดินชมทิวทัศน์ยามเย็น ดวงอาทิตย์กลมโตลอยเรี่ยใกล้ผิวน้ำ  เดินรอบพระอุโบสถเห็นใบเสมาศิลาทรายสีแดง สลักลวดลายต่างๆ เป็นศิลปะสมัยอยุธยา เลยไปหลังวิหารก็เจอเจดีย์โบราณคร่ำคร่าปรักหักพังรกร้างอยู่อีกองค์  บ่งบอกว่าเป็นวัดเก่าร่วมสมัยกับสรรคบุรีอย่างไม่ต้องสงสัย

กลับบ้านมาพร้อมกับความสบายใจครับที่ได้เห็นว่าวัดวาอารามเก่า ๆ ในความทรงจำของผม มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีการขุดแต่งบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกไม่นานสรรคบุรีก็น่าจะเป็นเมืองโบราณที่ใครผ่านก็อยากจะแวะมาเยี่ยมชม
 
ผมคนนึงละครับที่ต้องกลับมาอีกแน่ แล้วก็คงจะไม่ใช่แค่หนเดียวเสียด้วย
    


เอกสารอ้างอิง

ชญาดา สุวรัชชุพันธุ์. ความสัมพันธ์ของชุมชนโบราณในจังหวัดชัยนาทกับชุมชนภายนอกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒๑๘ .เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๕๐.
. ณ ปากน้ำ.ศิลปโบราณของไทย.กรุงเทพ ฯ  : โอเดียนสโตร์,๒๕๑๘ .
ศรีศักร วัลลิโภดม.โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา.กรุงเทพ ฯ: เมืองโบราณ , ๒๕๒๕.
แสวง สดประเสริฐ. สถาปัตยกรรมสกุลช่างชัยนาท. เอกสารประกอบการบรรยายที่หอประชุมจังหวัดชัยนาท วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐
โทโมฮิโตะ ทะคะตะ. แบบอย่างของเจดีย์ในเมืองสรรค์บุรีกับการสะท้อนความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๔๙

คู่มือนักเดินทาง

ทางรถยนต์  จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปเที่ยวชมโบราณสถานในเมืองชัยนาทและเมืองสรรค์บุรีได้ ๒ ทางดังนี้
เส้นทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข ๑  เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๒ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และ สิงห์บุรี เข้าสู่จังหวัดชัยนาท จากจังหวัดชัยนาทใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ ไปยังอำเภอสรรค์บุรีระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร
เส้นทางที่ ๒ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๙ ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตรงไปตามทางผ่านอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก อำเภอเดิมบางนางบวช เข้าสู่อำเภอสรรค์บุรี   
  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น