วัดเวียงป่าสักภายในอาณาบริเวณเมืองเก่าของเวียงลอ |
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒
พูดถึงความรัก ไม่ว่าใครก็มักจะนึกถึงภาคเหนือ
ไม่แปลกใจเลยที่บรรดาคนทำหนังทั้งหลายมักเลือกเป็นโลเกชันมาถ่ายทำภาพยนตร์ไทยแนวรักโรแมนติกคิกขุอาโนเนะ
ลองสังเกตดูสิครับว่าระยะหลังมานี่ล้วนแล้วแต่ไปถ่ายทำกันในภาคเหนือทั้งนั้น
ที่สำคัญก็คือทำแล้วดัง
กวาดสตางค์กันจนกระเป๋าตุงทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น "เพื่อนสนิท" "รักจัง" กระทั่งเรื่องล่าสุด "แฮปปี้เบิร์ธเดย์" ที่เพิ่งเข้าฉายส่งท้ายปี ซึ่งได้ยินว่าถ่ายทำที่ปาย ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเปล่าทำเอาช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมาคนแห่ขึ้นไปเที่ยวเมืองปายกันอย่างมโหฬารล้นหลาม
กระทั่งน้ำมันหมดปั๊มไม่มีให้เติม ต้องบันทึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการท่องเที่ยวกันเลยละครับ
อาจจะเป็นเพราะภาคเหนือนั้นมีบรรยากาศที่เป็นใจ
เชื่อได้เลยว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวภาคเหนือ ท่ามกลางทิวทัศน์สวย
ท้องฟ้าสีครามใส สายลมหนาวที่โชยพัดเย็นสบายอย่างนี้ ต้องมีอย่างน้อยสักครั้งละครับ
ที่แอบฝันไปว่าบนเส้นทางระหว่างเดินทางท่องเที่ยวจะได้พบพานเข้ากับความรักอันแสนหวาน
ผ่านเข้ามาให้จดจำเป็นความประทับใจสักครั้งในชีวิต
ทุ่งดอกปอเทืองอร่ามริมทางผ่าน |
เปิดปูมตำนานรักอมตะ
แล้วก็เพราะความรักนี่แหละ ที่ชักนำผมมาอยู่บนเส้นทางแพร่-พะเยาในตอนนี้
เปล่าครับ
ไม่ใช่ความรักของผมเองหรอก เดี๋ยวจะนึกว่าผมแอบติดอกติดใจมาเทียวไล้เทียวขื่อสาวชาวล้านนาแถวนี้เข้าให้
ความรักที่ว่านี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างพระลอแห่งเมืองแมนสรวงกับพระเพื่อนพระแพงแห่งเมืองสรองที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาในท้องถิ่นแดนดินล้านนาเนิ่นนานนับหลายร้อยปีต่างหากครับ
เรื่องราวนั้นจะว่าไปก็คล้าย
ๆ เรื่องโรมิโอกับจูเลียตของฝรั่ง คือเป็นโศกนาฏกรรมรักระหว่างหนุ่มสาวจากสองราชวงศ์ที่เป็นศัตรูกัน
โดยต้นเรื่องเกิดขึ้นจากสงครามระหว่างเมืองแมนสรวงกับเมืองสรอง โดยท้าวแมนสรวงเจ้าเมืองแมนสรวงได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองสรอง
แม้ไม่สามารถยึดเมืองได้ แต่ก็ได้สังหารท้าวพิมพิสาคร เจ้าเมืองสรองในการรบ เป็นผลให้ทั้งสองเมืองต่างก็เป็นอริบาดหมางต่อกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อเจ้าเมืองแมนสรวงเสด็จสวรรคต
พระโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติแทนคือพระลอ ทรงเป็นเจ้าชายหนุ่มสง่างามเป็นที่เลื่องลือ
ถึงขนาดมีผู้แต่งเป็นบทเพลงสรรเสริญขับขานขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ แม้แต่พระเพื่อน
พระแพง พระราชธิดาทั้งสองของท้าวพิชัยพิษณุ เจ้าเมืองสรอง ซึ่งเป็นศัตรู
เพียงได้ยินได้ฟังคำร่ำลือก็ยังหลงใหลจนตรอมใจไม่เป็นอันกินอันนอน เป็นเหตุให้พี่เลี้ยงทั้งสองของพระราชธิดา
คือนางรื่น นางโรย ต้องช่วยเหลือด้วยวิธีให้กวีแต่งบทเพลงพรรณาความงามของพระเพื่อนพระแพง
เรียกร้องความสนใจจากพระลอบ้าง พร้อมทั้งไปขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายผู้วิเศษประจำเมือง
ให้ช่วยทำเสน่ห์เรียกพระลอมาหาพระราชธิดาทั้งสอง แต่ทางเมืองแมนสรวงก็มีหมอสิทธิชัยมาแก้ไขได้ ท้ายสุดปู่เจ้าสมิงพรายจึงใช้กองทัพผีเข้าโจมตีเหล่าเทวดาที่คุ้มครองเมืองแมนสรวง
พร้อมทั้งเสก “สลาเหิน” มายังเชี่ยนหมากของพระลอ
เมื่อเสวยหมากเสกเข้าไป
ด้วยอำนาจมนตราอันเปี่ยมฤทธานุภาพ พระลอจึงไม่สามารถทนทานอยู่ได้ ต้องเสด็จออกเดินทางจากเมืองแมนสรวงมาพร้อมกับนายแก้วนายขวัญ
สองมหาดเล็กคู่พระทัย แม้ว่าพระมารดาและพระมเหสีจะพยายามทัดทานอย่างไรก็ไม่เป็นผล
หนทางมายังเมืองสรองต้องข้ามแม่น้ำกาหลง
พระลอทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายในแม่น้ำ ปรากฏว่าสายน้ำเกิดเปลี่ยนสีเลือดเสมือนเป็นลางร้าย
แต่กระนั้นพระลอยังทรงบากบั่นมุ่งหน้าต่อไปด้วยขัตติยะมานะและแรงแห่งเวทมนต์สะกด
เมื่อใกล้ถึงเมืองปู่เจ้าสมิงพรายเสกไก่แก้วมาชักนำพระลอเข้าไปจนกระทั่งถึงสวนขวัญ
อุทยานหลวงในพระราชวังของเมืองสรอง สองมหาดเล็กนายแก้วกับนายขวัญปลอมตัวเข้าไปสืบข่าวจนได้พบรักกับนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยง ก่อนจะช่วยกันลักลอบพาพระลอเข้าไปพบกับพระเพื่อน
พระแพงจนได้ผูกสมัครรักใคร่มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกันภายในพระตำหนัก
แต่ความลับไม่มีในโลก ครึ่งเดือนผ่านไป
ความก็ทราบถึงท้าวพิชัยพิษณุกร และพระนางดาราวดี พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระเพื่อนพระแพง
เสด็จมาพบ แม้ในตอนแรกจะทรงกริ้ว แต่เมื่อพระลอทูลขอพระราชทานอภัย ด้วยรูปโฉมงามสง่าของพระลอและชาติตระกูลที่คู่ควรกันกับพระธิดา
ท้าวพิชัยพิษณุไม่เพียงพระราชทานอภัยโทษ ยังทรงเตรียมหาฤกษ์อันเหมาะสมเพื่อจัดงานอภิเษกให้พระลอกับพระเพื่อนพระแพงอย่างสมพระเกียรติต่อไป
เรื่องราวคล้ายจะจบด้วยดี
ทว่าเจ้าย่าซึ่งเป็นมเหสีของท้าวพิมพิสาคร เจ้าเมืององค์ก่อนซึ่งถูกพระราชบิดาของพระลอสังหารในการรบ เมื่อทราบข่าวก็ไม่พอใจ เพราะยังมีความอาฆาต
หลังจากทูลทัดทานท้าวพิชัยพิษณุกรไม่สำเร็จ จึงแอบอ้างพระบรมราชโองการสั่งระดมทหารเข้ามาล้อมสวนขวัญเพื่อจับพระลอฆ่าล้างแค้นให้ได้
พระเพื่อน พระแพงจึงปลอมองค์เป็นชาย พร้อมด้วยนายแก้วนายขวัญ นางรื่นนางโรย พากันจับดาบขึ้นต่อสู้
ตีฝ่าวงล้อมของทหารออกไป
แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ไม่นานเหล่ามหาดเล็กและพี่เลี้ยงทั้งสี่ต่างก็ถูกลูกธนูล้มตายหมดสิ้น
คงเหลือเพียงพระลอ และพระเพื่อนพระแพงที่สู้พลางหนีพลางไปจนมุมที่ประตูเมือง กระนั้นต่างยังคงยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่สู้ยิบตา
กระทั่งวาระสุดท้ายที่ถูกลูกธนูอาบยาพิษซึ่งระดมยิงเข้ามาเป็นห่าฝนสิ้นพระชนม์ในลักษณะยืนพิงประตูเคียงข้างกันสามพระองค์
ท้าวพิชัยพิษณุทรงทราบข่าวก็พิโรธสั่งให้จับเจ้าย่าประหารชีวิต พร้อมทั้งได้ส่งพระราชสาส์นแจ้งข่าวเรื่องพระลอไปยังเมืองแมนสรวง
หลังจากจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติแล้ว ก็โปรดฯ ให้สร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระลอและพระเพื่อนพระแพงเอาไว้ด้วยกัน
พร้อมทั้งสร้างเจดีย์บริวารที่บรรจุอัฐิของมหาดเล็กและพี่เลี้ยงไว้เคียงข้างอีกสององค์
โศกนาฏกรรมความรักเรื่องนี้เชื่อกันว่ามีเค้าโครงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาช่วงประมาณปีพ.ศ. ๑๑๑๖ -๑๖๙๓ เล่าขานสืบต่อกันมา ก่อนที่จะมีการนำเอามาแต่งเป็นวรรณคดีประเภทลิลิต
มีความยาวถึง ๖๖๐ บท แต่ไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามว่าใครเป็นคนแต่ง ก็เลยมีการสันนิษฐานต่าง
ๆ นา ๆ ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่คิดสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าเป็นวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยา
ที่เห็นไม่ตรงกันอยู่บ้างก็คือช่วงเวลาที่แต่งขึ้นมาครับ
บ้างก็ว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๒ พระเชษฐาธิราช (ระหว่างพ.ศ. ๒๐๓๔- ๒๐๗๒) บ้างก็ว่าน่าจะแต่งในสมัยพระชัยราชาธิราช
(ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) บ้างก็ว่าแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ระหว่างพ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑ ที่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นมาในสมัยรัตนโกสินทร์เรานี้เองก็ยังมี ทว่าข้อหลังนี้ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยเท่าไหร่
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือลิลิตพระลอได้รับยกย่องให้เป็นสุดยอดของบทประพันธ์ประเภทลิลิต
เรียบร้อยโรงเรียนวรรณคดีสโมสรไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.
๒๔๕๙ โน้นแล้วละครับ
จะว่าไปคงไม่มีใครหรอกกระมัง ที่จะไม่รู้จักวรรณคดีเรื่องนี้
ยกเว้นก็เฉพาะคนไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยมีบรรจุเอาไว้เป็นบทเรียน
ต้องเรียนทุกคนอยู่แล้ว โดยเฉพาะบทที่ครูมักจะยกเป็นตัวอย่างของเสียงวรรณยุกต์ในการแต่งโคลงสุภาพบทที่ว่า
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย...นั่นแหละ
ผมเองยังจำได้ว่าตอนเรียนเรื่องนี้สนุกมากเพราะคุณครูเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างละเอียด
หลากหลายรสชาติจริง ๆครับ มีทั้งรักหวานซึ้ง โศกเศร้าเคล้าน้ำตา ผีสางเทวดา เวทย์มนต์คาถาอาคม
ต่อสู้บู๊สะบั้นหั่นแหลก ครบครัน
แต่ละคนที่ได้อ่านก็เลยจะชอบไม่เหมือนกัน
ถามผมว่าชอบตรงไหนเป็นพิเศษ
ก็เห็นจะต้องตอบว่าชอบช่วงสงครามไสยศาสตร์ระหว่างกองทัพผีที่ปู่เจ้าสมิงพรายส่งมาโจมตีเมืองแมนสรวงกับเทวดาอารักษ์ผู้คุ้มครองเมืองแมนสรวงนั่นแหละครับ
เพราะพรรณาได้เห็นภาพดุเดือดตื่นเต้นระทึกใจในแบบแฟนตาซี แต่ถ้าไปถามคุณอภินันท์ บัวหภักดี
บรรณาธิการภาพของอนุสาร อ.ส.ท. แล้วละก็จะได้คำตอบว่าชอบตรงบทอัศจรรย์เป็นพิเศษ เพราะใช้คำตรงไปตรงมาเรียกว่าออกไปทางแนวอีโรติก
เข้าขั้นเรตเอ็กซ์ เรตอาร์ ชนิดไม่มีกบว. มาเซ็นเซอร์ ว่างั้น
ถึงตรงนี้ก็เป็นความชอบส่วนตัวของใครของมันละครับ
อยากรู้ว่ารายละเอียดบทไหนเป็นไงคงต้องลองไปหาอ่านกันเอาเอง
รอยอดีตกับปริศนาเมืองพระลอ
ผมหยุดรถลงตรงลานกว้างหน้าโบราณสถานเวียงลอ
ในเขตอำเภอจุน จังหวัดพะเยา
ประติมากรรมฝีมือแบบช่างพื้นบ้านรูปพระลอยืนถือดาบสองมือยังคงตระหง่านเด่นอยู่บนฐานสูง
สะท้อนความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นที่ว่าเมืองโบราณแห่งนี้แหละ คือเมืองแมนสรวงของพระลอ
จำได้ว่าสมัยเด็ก ผมเคยใฝ่ฝันจะมาเที่ยวเวียงลอเป็นนักหนา
เพราะอ่านอนุสาร อ.ส.ท.ในยุคนั้นที่ยังเป็นเล่มบาง ๆ เย็บลวดแบบมุงหลังคา แล้วเจอข้อความที่พรรณนาถึงทุ่งลอว่าเป็นเมืองโบราณอันอุดมด้วยซากวัดวาอารามกับชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายเก่า
ๆ กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด
ก็เลยอยากมาดูอยากมาเห็นกับตา ตามประสาคนชอบดูของเก่าโบร่ำโบราณ
นานนับสิบปีเลยทีเดียวกว่าฝันจะเป็นจริง
เพิ่งมีโอกาสได้มาเห็นเวียงลอกับตาก็ตอนทำสารคดีเรื่องเที่ยวเมืองพะเยาเมื่อหลายปีก่อนนี่เองครับ
ครั้งนั้นมาถึงก็แอบผิดหวังนิดหน่อย เพราะร่องรอยวัดวาอารามรวมทั้งชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่ว่ามีอยู่มากมายเต็มทุ่งนั้นมองไม่เห็นเสียแล้ว
รอบข้างกลายเป็นชุมชน มีบ้านเรือนผู้คนเรือกสวนไร่นาเต็มไปหมด โบราณสถานที่เห็นได้ชัดเจนก็มีแต่เจดีย์ใหญ่ในวัดศรีปิงเมืองอยู่องค์เดียว
ทว่ามาคราวนี้ถือว่าโชคดี
เพราะผมเองได้ข่าวว่ามีโครงการขุดแต่งโบราณสถานในเขตเวียงลอกันขึ้นมาใหม่ช่วงที่ผ่านมา
ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่แว่วว่าจะมีการเตรียมนำเสนอกลุ่มเมืองโบราณแหล่งวัฒนธรรมล้านนาเป็นมรดกโลกหรือเปล่า
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือบรรดาซากปรักหักพังของวัดอันคร่ำคร่าทั้งหลายในอาณาบริเวณของเวียงลอที่ว่ากันว่ามีไม่น้อยกว่า
๗๐ แห่ง เริ่มเผยโฉมออกมาปรากฏให้ผมได้เห็นหน้าค่าตาแล้วละครับ
ที่น่าดีใจก็คือได้เห็นศูนย์ศึกษาข้อมูลเวียงลอเพิ่มขึ้นมา
เป็นอาคารล้านนาประยุกต์ตั้งอยู่ในบริเวณวัดด้วย ลองเกร่เข้าไปดู เห็นประตูปิดล็อกกุญแจอยู่เงียบกริบ
มากี่วันก็เห็นปิดตลอด ไม่รู้ว่าเคยเปิดให้ชมบ้างไหม หวังว่าคงไม่ปิดถาวรเหมือนศูนย์ข้อมูลหลาย
ๆแห่งที่เคยเจอนะ แต่คิดในแง่ดีบางทีศูนย์อาจจะยังไม่ได้เปิดให้บริการตอนนี้ก็ได้ คงรอให้ขุดแต่งวัดวาอารามต่าง
ๆ ให้เรียบร้อยก่อน
จากหน้าโบราณสถานเวียงลอผมลองขับรถเข้าไปตามถนนสายเล็ก
ๆ ที่ทอดตัวลดเลี้ยวผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ เมื่อเห็นวัดกู่ศรีปิงเมืองโบราณสถานกับร่องรอยถูกขุดแต่งเมื่อไม่นาน
เด่นอยู่กลางบ้านเรือนที่รายรอบด้วยฐานวิหารก่อด้วยอิฐ แสดงว่าวัดวาอารามโบราณทั้งหลายที่ผมเคยได้ยินคำร่ำลือไม่ได้หายไปไหน
จมอยู่ใต้ดินในหมู่บ้านนี้เอง แต่ก็มีบ้างบางแห่งที่ถูกแปรสภาพไปแล้ว อย่างมณฑปในสำนักสงฆ์หลักเมือง แลดูน่าจะดัดแปลงมาจากซากโบราณสถานเดิมที่ไม่รู้ชัดว่าเป็นอะไร มองเผิน ๆ ดูคลับคล้ายฐานเจดีย์อยู่ครามครัน
รถแล่นข้ามสะพานข้ามคลองคูเมือง
ลอดแนวเงาไม้ร่มครึ้มก่อนโผล่ออกมาในท้องทุ่งเล็ก ๆ เขียวขจี ผมมองไปรอบ ๆ เห็นซากวัดร้างที่ถูกขุดแต่งเรียบร้อยแล้วเรียงรายอยู่หลายวัด
พร้อมป้ายข้อมูลของกรมศิลปากรปักเอาไว้เสร็จสรรพ ฟากหนึ่งของถนนยังทำห้องน้ำแอบอยู่ใต้ร่มไม้เอาไว้ให้บริการด้วย
ลองเลี้ยวรถตามทางเข้าไปดู วัดกู่พระแก้ว หลงเหลือฐานเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมแบบล้านนา พร้อมฐานวิหารขนาดใหญ่ ในขณะที่วัดมะม่วงแก้มแดง
มีฐานวิหารขนาดย่อมลงมาหน่อย ภายในหลงเหลือชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์ หลายขนาด
เรียงรายอยู่ตามแนวผนังวิหารที่หักพัง ท่ามกลางดอกหญ้าสีขาวล้อลมไสว มีท้องทุ่งเขียวและเทือกทิวเขาเป็นฉากหลัง
แลดูคล้ายภาพเขียนสวยสบายตา มาสุดทางที่วัดพระเจ้าเข้ากาด ริมแม่น้ำที่บนถนนหน้าวัดมีข้าวเปลือกของชาวบ้านเอามากองแผ่ตากแดดเอาไว้เต็มไปหมด
ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขางอกงามอยู่บนฐานวิหารสูงซึ่งเหลือชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายตั้งอยู่องค์เดียว
เวียงลอนั้นมีลักษณะเป็นเมืองอกแตกคือมีลำน้ำแม่อิงไหลผ่านกลางเมือง
บริเวณที่ผมยืนอยู่นี้เป็นฝั่งแม่น้ำทางทิศใต้ มองไปฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำมีวัดร้างอีกหลายแห่งเป็นแถวเป็นแนวอยู่
ดูน่าสนใจ เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นหนทางใดจะข้ามฟากไปได้
ผมเลยต้องย้อนกลับออกมาถามหาทางข้ามจากชาวบ้าน
“ใกล้
ๆ นี่มีสะพานข้ามฝาย แต่รถยนต์ไปไม่ได้นะ มันแคบ ข้ามได้แต่รถมอเตอร์ไซค์ หรือไม่งั้นก็ต้องเดินข้าม อยู่ตรงโรงเรียนโน้นแน่ะ” คุณป้าชาวชมรมผู้สูงอายุที่มาตั้งแผงลอยขายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวอยู่หน้าโบราณสถานเวียงลอบอกกับผมพลางชี้ไม้ชี้มือ
ขับรถไปตามทางที่คุณป้าบอก พักเดียวก็เห็นป้ายบอกทางเข้าไปยังโรงเรียนบ้านเวียงลอ
เลี้ยวไปตามทาง ฝายกั้นแม่น้ำมองเห็นโดดเด่นตัดกับผืนฟ้าสีครามแต่ไกลทางซ้ายมือ
บนฝายมีสะพานเหล็กแคบ ๆ อย่างที่ว่าเอาไว้ คะเนดูระยะทางจากฝายไปยังบริเวณวัดที่เห็นอยู่อีกฝั่งเมื่อกี้
ถือว่าไกลพอสมควรครับสำหรับการเดินไป แถมวัดแต่ละแห่งก็อยู่ห่างกันไม่น้อย
โชคยังดีที่ผมพกพาเอาจักรยานพับคันเก่งใส่รถมาด้วย
จัดแจงจอดรถแอบเอาไว้
ก่อนจะยกเจ้าสองล้อพับคันเล็กออกจากหลังรถมากาง ปั่นฉิวข้ามสะพานเหล็กข้ามฝายมายังฝั่งเหนือของแม่น้ำ
ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพราะเห็นไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง แปลงผักของชาวบ้านเรียงรายเป็นระยะ
โลดลิ่วโต้ลมเย็นด้วยสองแรงขาเลาะไปตามทางดินลูกรังสีแดงขนานลำน้ำใหญ่ ชั่วไม่กี่อึดใจก็ถึงกลุ่มโบราณสถานฝั่งเหนือของแม่น้ำ
วัดสารภี เป็นวัดแรกที่เห็นอยู่ขวามือ ขุดแต่งทางโบราณคดีเรี่ยมเร้เรไรแล้ว บนฐานวิหารก่ออิฐขนาดใหญ่เห็นมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายอยู่มุมหนึ่ง
ปั่นเลยลึกเข้าไปกลางทุ่งเขียวด้วยต้นข้าว
ข้างเถียงนาหลังน้อยใต้ร่มไม้เป็นวัดกู่เกือกม้า ร่องรอยเหมือนเพิ่งจะขุดผิวดินที่ปกคลุมโบราณสถานออกมา เจดีย์และวิหารอิฐขนาดเล็กที่หักพังทับถมกันอยู่
ยังไม่ได้แต่งเติมเสริมก่อ เวิ้งว้างอยู่กลางทุ่งนาได้อารมณ์ไปอีกแบบ
ปั่นจักรยานตามแนวคันนาเข้ามาถึงวัดศรีชุมซึ่งตั้งอยู่ลึกชิดติดแนวชายป่าละเมาะ
ถือเป็นวัดใหญ่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของเวียงลอฝั่งเหนือครับ ภายในอาณาบริเวณหลงเหลือซากอยู่ค่อนข้างครบถ้วน
เข็นจักรยานผ่านแนวกำแพงและซุ้มประตูปรักหักพังเข้าไปพบกับซากเจดีย์เหลี่ยม ฐานวิหารก่ออิฐขนาดมหึมา
ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสร้างใหม่โดยผู้มีจิตศรัทธา เดินเตร็ดเตร่รอบ ๆ ได้บรรยากาศเหมือนค้นพบวัดโบราณร้างกลางป่า
น่าตื่นเต้นยังไงก็บอกไม่ถูก
ในสายตาของหลายคนเวียงลออาจจะเป็นโบราณสถานที่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่
เพราะไม่ใหญ่ ไม่แปลก แต่สำหรับผมแล้ว บอกได้เลยครับว่า
ประทับใจกับความมีชีวิตชีวาของโบราณสถานที่อยู่ท่ามกลางแปลงผัก
ท้องไร่ท้องนา ของเวียงลอเอามาก ๆ คิดดูสิครับ ขี่จักรยานเที่ยวไปก็ได้เห็นทั้งวัดวาอารามโบราณ
กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นพร้อมกันไป
น่าเสียดายที่การผจญภัยในเวียงเก่าด้วยจักรยานของผมต้องยุติลงกลางคันเพราะเวลาไม่เป็นใจ
เพลิดเพลินอยู่ได้ไม่นาน ดวงตะวันก็ทิ้งตัวลงไปในกลับเมฆ ทำให้ผมต้องตัดใจปั่นสองล้อคู่ชีพกลับออกมา
อยู่ในวัดร้างตอนมืด ๆ คงไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ ไม่ได้กลัวอะไรหรอกครับ เดี๋ยวจะปั่นกลับออกมาตกหลุมตกร่อง
ตีลังกาแข้งขาหักเพราะมองไม่เห็นทางน่ะ เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ก็ยังได้
แต่แล้วก็เหมือนฟ้ากลั่นแกล้งครับ
รุ่งขึ้นฝนตกลงมาซะงั้น ทั้งที่เป็นหน้าหนาวแท้ ๆ รายการปั่นจักรยานชมเมืองเก่าของผมที่กำลังสนุกจึงเป็นอันต้องยกเลิก ยังดีที่ไถ่ถามหาทางเข้าเวียงลอฝั่งเหนือทางถนนมาได้
ชาวบ้านชี้บอกให้ขับรถตามทาง อ้อมไปทางบ้านพวงพยอมพัฒนา มาเลี้ยวเข้าเวียงลอตรงปากทางที่มีจุดสังเกตคือป้ายชื่อวัดธาตุคีรีศรีเวียงลอ
เป็นอันว่าต้องเปลี่ยนมาขับรถชมแทน
แต่ฝนก็ไม่ได้ตกกระหน่ำโหดร้ายจนเกินไป แค่โปรยปรายลงมาเป็นละออง รถคันเก่งพาผมย่องช้า
ๆ ผ่านเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดหนองห้าตรงปากทางย้อนเข้าไปตามทางลูกรัง
เริ่มต้นที่วัดหนองผำ
อันอยู่ถัดจากวัดศรีชุมซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่ผมไปแวะเมื่อวาน ในบริเวณเป็นซากวิหารก่ออิฐ
ตัววัดอยู่ชิดติดกับบึงเล็ก ๆ ซึ่งต้นไม้ดำทะมึนแผ่กิ่งก้านสาขา ยามครึ้มฟ้าครึ้มฝนอย่างนี้ยิ่งดูเหมือนเดินอยู่ในดินแดนประหลาดต่างมิติ
ไม่ไกลจากกันเท่าใดเป็นวัดกู่บวกกู่ ชื่อแปลกดี ในวัดมีซากวิหารเล็ก ๆ พังทลายรวมกันเป็นกองอิฐอยู่
เห็นอย่างนี้ไม่แน่เหมือนกันว่าขุดแต่งแล้วอาจจะเจออะไรน่าสนใจก็ได้
เมฆหมอกสีขาวคลี่เข้าห่มคลุมทิวเขาสูงเบื้องหลังเมื่อผมลงจากรถเดินเข้าไปในวัดเวียงป่าสัก
ที่ซ่อนตัวอยู่หลังแนวไร่ข้าวฟ่างสูงท่วมหัวเพิ่มความลึกลับน่าสนใจ ลุยเข้าไปก็ต้องตะลึงเพราะพบกับฐานวิหารก่ออิฐสูงเด่นอยู่ท่ามกลางดอกหญ้าขาวสะพรั่งบานเต็มลาน
เมื่อรวมกับทิวเขาที่เป็นฉากหลังดูเหมือนกับเป็นภาพความฝันอันละมุนละไมของเมืองโบราณกลางม่านหมอก ชวนให้จินตนาการล่องลอยไปแสนไกล กับเรื่องราวความรักที่ไม่มีวันตายของพระลอและพระเพื่อนพระแพง
ความจริงแล้วผมน่าจะ
“อิน” ในบรรยากาศได้มากกว่านี้ครับ ถ้าไม่สะดุดอยู่ในใจ เรื่องที่เคยมีผู้สันทัดกรณีหลายท่านคัดค้านว่าเวียงลอไม่น่าจะใช่เมืองแมนสรวงของพระลอ
ด้วยเหตุผลที่ว่าในลิลิตพระลอระบุไว้ชัดเจนถึงที่ตั้งของเมืองแมนสรวงว่าอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสรอง
ในขณะที่เวียงลอนั้นอยู่ทางเหนือขึ้นไป แถมในลิลิตยังกล่าวถึงการเดินทางของพระลอไปเมืองสรองว่าต้องข้ามแม่น้ำกาหลง
แต่เส้นทางจากเวียงลอไปเวียงสรองไม่ต้องข้ามแม่น้ำกาหลงตรงไหนเลย
อ้าว…แล้วเมืองแมนสรวงของพระลอที่แท้อยู่ที่ไหน
เมืองโบราณที่ผู้รู้หลายท่านได้สันนิษฐานเอาไว้ว่าน่าจะมีโอกาสเป็นเมืองแมนสรวงของพระลอได้แห่งแรกก็คือ
เวียงกาหลง ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เพราะว่าที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเวียงสรอง
และชื่อเวียงกาหลงก็มาจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำกาหลง ตรงตามเรื่องในลิลิตพอดี
อีกเมืองที่ผู้เชี่ยวชาญท่านเสนอว่าเมืองที่น่าจะเป็นเมืองแมนสรวงได้ก็คือ
เมืองโบราณในเขตอำเภอแม่สรวย โดยตั้งข้อสังเกตว่าชื่อ “แม่สรวย”
อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “แมนสรวง” ก็เป็นได้ ฟังดูก็คลับคล้ายคลับคลาเข้าท่าดีเหมือนกัน
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังหาหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันมายืนยันไม่ได้ครับ
มาถึงวันนี้ก็เลยยังไม่มีข้อสรุปว่าเมืองแมนสรวงของพระลอที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน
คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบรรดานักวิชาการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์
นักโบราณคดี นักวรรณกรรม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง เขาค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงกันต่อไป
เถียงกันโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนมันไม่ได้อะไรหรอกครับ
เผลอ ๆ จากที่เถียงกันว่าเมืองแมนสรวงอยู่ไหน กลายเป็นเถียงกันว่าตำนานพระลอกับพระเพื่อนพระแพงเป็นเรื่องจริงหรือไม่ใช่ไปโน่นเลยก็มี
หนักเข้าไปอีก
พวกเราเป็นนักท่องเที่ยวมีหน้าที่เดินทางอย่างสนุกสนานเท่านั้นก็พอครับ
เวียงลอจะใช่เมืองแมนสรวงหรือเปล่าคงไม่สำคัญ ที่แน่ ๆ ภาพของเวียงลอที่เห็นน่ะเป็นเมืองในรุ่นราวคราวเดียวกันกับเมืองแมนสรวงอย่างแน่นอน
แค่นั้นก็เกินพอแล้วละครับสำหรับที่จะเป็นข้อมูลช่วยเสริมให้จินตนาการภาพเมืองของพระลอและเรื่องราวในวรรณคดีชัดเจนยิ่งขี้น
เพิ่มรสชาติสีสันการเดินทางให้น่าสนใจ
เวียงสรอง
ถิ่นฐานตำนานรัก
ในขณะที่เมืองแมนสรวงของพระลออยู่ที่ไหน
จะใช่เวียงลอหรือไม่ ยังไม่ค่อยแน่ใจกันนัก
ทว่าเมืองสรองอันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ตำนานรักอันสะเทือนใจนั้น แทบไม่ต้องมีอะไรสงสัยครับ
เพราะถึงแม้เวลาผ่านไปหลายร้อยปี ชื่อของเมืองสรองถือว่าเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากอักษร “ร” เรือ ตกหล่นหายไปกับกาลเวลาแค่เพียงตัวเดียว
ใช่แล้วครับ เวียงสรอง
ในตำนาน ปัจจุบันนั้นอยู่ที่อำเภอสองในเขตจังหวัดแพร่นั่นเอง
ก่อนออกรถเดินทางจากเวียงลอไปยังจุดหมาย ผมลองดูระยะทางจากหน้าจอเครื่องนำทางด้วยดาวเทียมหรือจีพีเอส
เวียงลออยู่ห่างจากเมืองสรอง ๑๔๙ กิโลเมตร แต่ถ้าวัดตามระยะทางถนนจะอยู่ห่าง ๑๙๐ กิโลเมตร
แน่ะ เห็นไหมครับ
ถ้าเที่ยวไปโดยมีหัวข้อเป็นประเด็นเรื่องราว
เราก็จะมีรายละเอียดอะไรต่อมิอะไรให้เราสนุกกับการเดินทางได้ตลอดเวลา
รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องจินตนาการเห็นภาพว่าพระลอต้องบุกป่าฝ่าเขาลำเนาไพรไกลแค่ไหน
เปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยพาหนะสมัยใหม่ของเรา
แม้ถนนจะพาลดเลี้ยวอ้อมภูเขาไกลกว่า
แต่ใช้เวลาอย่างมากแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงเท่านั้น ส่วนพระลอ อย่างน้อยก็ต้อง ๑๐
วันขึ้นไป คำนวณจากการสมมุติว่านั่งช้างมานะครับนั่น ถ้าเดินเท้ายิ่งนานเข้าไปใหญ่
นี่แหละพลานุภาพแห่งความรัก ชักนำคนให้ดั้นด้นข้ามเขาเป็นลูก ๆ มาได้
และอาจจะเพราะด้วยความที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะแน่ใจว่าเมืองสรองในตำนานคืออำเภอสองในปัจจุบันนี่แหละ
ทำให้มีการก่อสร้างอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในวรรณคดีเป็นที่ระลึกถึงความรักอมตะของพระลอกับพระเพื่อนพระแพงอยู่ทั่วไป
ใหมเอี่ยมล่าสุดก็คือ อุทยานลิลิตพระลอ ที่ผมกำลังมุ่งหน้าไปนี่แหละครับ
ว่ากันว่าสร้างขึ้นในเขตเมืองสรองโบราณกันเลย ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่
๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เพิ่งผ่านมาได้ปีกว่า ๆ เท่านั้น
เลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณก็เห็น
ประติมากรรมพระลอและพระเพื่อนพระแพงสามองค์ประทับยืนอิงพิงกันโดดเด่นแต่ไกล
จำได้ว่าเป็นข่าวฮือฮากันอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากนักวิชาการทักท้วงกันว่าสร้างผิดไปจากเนื้อหาในวรรณคดี
เพราะตามท้องเรื่องพระเพื่อนพระแพงนั้นทรงปลอมเป็นชายจับอาวุธออกต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพระลอ
ตีฝ่าทหารที่มาล้อมตำหนักออกไป แต่รูปประติมากรรมพระเพื่อนพระแพงกลับแต่งองค์ในแบบสตรีล้านนา
ไม่ได้แต่งเป็นชาย เท่าที่ผมมองดู ถ้าไม่คิดมากเรื่องรายละเอียดเครื่องแต่งกาย
ก็นับว่าฝีมือการสร้างนั้นได้สัดส่วนสวยงามดี
บนพื้นที่ทั้งหมด
๓๓ ไร่ เห็นเขาว่ามีโครงการจะปรับภูมิทัศน์ ทำเป็นอุทยานและมีการสร้างจุดสนใจต่าง
ๆ ตามเหตุการณ์สำคัญในวรรณคดีลิลิตพระลอรวม ๑๓ แห่ง เอาไว้ตามจุดต่าง ๆ
ท่ามกลางไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มสร้างไปได้แค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากอนุสาวรีย์ที่เห็น
ก็มีอาคารชั้นเดียวแบบล้านนาประยุกต์ใช้เป็นที่ทำการประชาสัมพันธ์อุทยานลิลิตพระลอ
ลองเดินเข้าไปข้างใน เห็นจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดที่ชนะประกวดในหัวข้อลิลิตพระลอ
มีทั้งฝีมือเด็กและผู้ใหญ่ แต่ละคนวาดกันสวย ๆ ทั้งนั้น ดูแล้วภาพพระลอ
กับพระเพื่อนพระแพงมีหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ในแบบจิตรกรรมไทยประเพณี แบบภาพเหมือน แบบการ์ตูนวอลท์
ดิสนีย์ แบบการ์ตูนญี่ปุ่นก็ยังมี ดูเล่น ๆ ก็เพลินดีเหมือนกัน
มุมหนึ่งเป็นตู้กระจกจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบภายในบริเวณอุทยานฯ
เท่าที่เห็นก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ของคนในสมัยก่อน จำพวกเศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผา
ที่มีมากคือกล้องยาสูบดินเผา แสดงให้เห็นว่าแถบเมืองแพร่นี้คงทำอาชีพเกี่ยวข้องกับยาสูบมาแต่โบราณ
กระทั่งทุกวันนี้บนเส้นทางที่ผมขับรถผ่านยังเห็นมีโรงบ่มใบยาสูบเก่าร้างอยู่หลายแห่ง
เจ้าหน้าที่ของศูนย์
ฯ เป็นวัยรุ่นสาวสวย ตากลมโตด้วยคอนแท็กเลนส์ “บิ๊กอายส์” รุ่นใหม่ทันสมัยเปี๊ยบเข้ามาทักทาย พอเห็นผมสนใจของในตู้ ก็ชักชวนพาเดินออกไปด้านนอก
“ไปดูแถวประตูเมืองรึยังคะ พวกแบบนี้ยังมีอยู่อีกเยอะเลยค่ะ
เดี๋ยวจะพาไปดู”
สองคนพากันเดินผ่านแนวไม้
ย่ำไปบนใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นปกคลุมอยู่
มัคคุเทศก์สาวชี้ให้ผมดูตามพื้นดินที่เศษกระเบื้องแตก อิฐหัก กระจัดกระจายเกลื่อนกล่นบนผิวดิน
นี่ถ้าขุดค้นทางโบราณคดีคงจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย
ลดเลี้ยวผ่านแนวไม้พักเดียวก็ถึงเนินดินสูงริมแม่น้ำ
มองไปฝั่งตรงข้ามเป็นท้องทุ่งกว้างเห็นชาวบ้านกำลังทำนากันอยู่ขะมักเขม้น
“แม่น้ำที่เห็นคือแม่น้ำกาหลงค่ะ
บนนี้เป็นแนวกำแพงเมือง ตรงที่เรายืนอยู่คือประตูเมืองที่พระลอและพระเพื่อนพระแพงหนีทหารที่ล้อมจับมาจนมุมตรงนี้
ก่อนจะถูกยิงด้วยลูกศรยืนสิ้นพระชนม์พิงประตูทั้งสามองค์” ผมฟังแล้วก็จินตนาการเห็นภาพตาม
เรื่อยเปื่อยต่อไปถึงขนาดว่าตรงไหนหนอที่เป็นสวนขวัญ ทางไหนกันนะที่พระลอแอบเข้ามา แล้วตำหนักของพระเพื่อนพระแพงล่ะอยู่ตรงไหน
เสียดายตรงที่ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณที่เป็นเวียงสรองนี่เป็นเรื่องเป็นราว
ถ้าได้เห็นร่องรอยหลักฐานจะยิ่งช่วยให้จินตนาการเห็นภาพได้ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นอีกเยอะครับ
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๖ |
ศาลปู่เจ้าสมิงพราย |
“เดี๋ยวจะพาไปดูศาลปู่เจ้า
ฯ นะคะ” เสียงหวาน ๆ ดึงผมกลับมาจากห้วงจินตนาการอันบรรเจิด
ระหว่างเดินตามมัคคุเทศก์ลัดตัดทุ่งไป
ผมสงสัยขึ้นมาอีกเมื่อเห็นว่ามีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๖ ครึ่งองค์ประดิษฐานอยู่กลางลาน สอบถามได้ความว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เคยใช้เป็นค่ายลูกเสือ
สำหรับกิจกรรมออกค่ายพักแรมกัน
ศาลไม้ชั้นเดียวเล็ก
ๆ สร้างแบบง่าย ๆ ตั้งอยู่บนแนวกำแพงดินที่ปรากฏตรงหน้าคือ ศาลปู่เจ้าสมิงพราย ดูแล้วคงไม่ใช่ตำแหน่งที่ปู่เจ้าอยู่จริง
ๆ ในวรรณคดีหรอกครับ ในศาลมีพวงมาลัยดอกไม้ธูปเทียนปักอยู่เต็ม
“ใครที่ยังไม่มีคู่
มาอธิษฐานขอจากปู่เจ้าสมิงพรายก็จะได้มีคู่ ท่านศักดิ์สิทธิ์นะคะ ขอได้กันไปหลายคนแล้ว” มัคคุเทศก์สาวยืนยันอย่างมั่นใจ ไม่รู้เหมือนกันว่าในบรรดาคนที่ขอได้มีน้องเขารวมอยู่ด้วยหรือเปล่า(ไม่กล้าถามครับ
เกรงใจ)
แว่ว ๆ
มาว่าปีนี้จะมีการสร้างถ้ำปู่เจ้าสมิงพรายขึ้นในบริเวณอุทยานลิลิตพระลอนี่แหละครับ
งบประมาณถึง ๑๕ ล้านบาท เฉพาะถ้ำอย่างเดียวนะ ท่าทางจะอลังการงานสร้างไม่เบา
แต่ความจริงน่าจะลองขุดค้นทางโบราณคดีกันดูก่อนมากกว่า
เดี๋ยวสร้างแล้วเกิดเจออะไรสำคัญขึ้นมาต้องรื้อทิ้งก็น่าเสียดายงบประมาณ
“เดี๋ยวออกไปอย่าลืมขึ้นไปตรงเนินโน้นด้วยนะคะ
เป็นจุดชมวิวค่ะ มองเห็นแนวกำแพงโบราณทั้งสามชั้นได้ชัด
แต่กำแพงไม่ได้เป็นกำแพงอิฐนะเป็นกำแพงดิน เพราะเป็นเมืองโบราณ” คุณน้องประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลจนนาทีสุดท้าย ก่อนที่ผมจะอำลาออกจากอุทยานฯ
อนุสาวรีย์พระลอ พระเพื่อน พระแพง ในวัดพระธาตพระลอ |
ขับรถเลยเข้ามาอีกหน่อยก็ถึง
วัดพระธาตุพระลอ
เจดีย์ขนาดไม่ใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของพระลอและพระเพื่อนพระแพงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ โดยมีประติมากรรมพระลอและพระเพื่อนพระแพงถูกลูกศรปักยืนอิงพิงกันสิ้นพระชนม์ทาสีทองอร่าม
ตั้งเด่นอยู่ด้านหน้า ฝีมือการปั้นเป็นแบบช่างพื้นบ้านไม่อลังการงานสร้างเท่าที่อุทยานลิลิตพระลอที่ผ่านมา
แต่ก็สวยไปอีกแบบ
บานหน้าต่างไม้ของวิหารแกะสลักเป็นรูปเรื่องราวในวรรณคดีพระลอตั้งแต่ต้นจนจบ
ฝีมือแบบพื้นบ้านแต่เดินดูเล่น ๆ ก็สนุกสนานดีไม่น้อย โดยเฉพาะต้องพยายามตีความภาพที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวตอนไหน
เพลิดเพลินจนลืมเวลาไปเหมือนกัน
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ |
ตะลอนรอบเวียงเมืองแพร่
หลังจากตามรอยตำนานรักพระลอจนเป็นที่พอใจแล้ว
ผมก็ถือโอกาสเลียบ ๆ เคียง ๆ เที่ยวเวียงแพร่เสียด้วยเลย
เพราะเท่าที่ผ่านมาถึงผมเองจะเคยแวะเวียนมาเมืองแพร่บ้างแต่ก็ไม่เคยเที่ยวชมอย่างเป็นจริงเป็นจังนัก
มาคราวนี้มีโอกาสก็ต้องขอลองสัมผัสให้ใกล้ชิดหน่อย
จักรยานพับที่ติดรถมาด้วยมีประโยชน์อีกแล้วครับ
เมืองแพร่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าขี่จักรยานเที่ยวเป็นที่สุด
โดยเฉพาะในยามเช้า อากาศเย็นสบาย ถนนหนทางไม่ค่อยพลุกพล่านด้วยยวดยาน นอกจากนั้นบนเส้นทางยังมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งให้แวะเที่ยวชมได้
ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามสำคัญหลายแห่งที่เรียงรายตามตรอกซอกซอยเต็มไปหมด
วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
ที่ตั้งของเจดีย์มิ่งเมืองอันเก่าแก่ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโกศัยศิริชัยศากยมุนีประจำเมืองแพร่
วัดหลวงคู่บ้านคู่เมืองอันเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงเก่าแก่ซึ่งสร้างพร้อมเมืองแพร่
และพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำประดิษฐานพระธาตุจากเมืองหงสาวดี วัดสระบ่อแก้วและวัดจอมสวรรค์
ที่โดดเด่นด้วยศิลปสถาปัตยกรรมแบบพม่า
นอกจากนั้นยังมีที่สำคัญอื่นเช่น
ศาลหลักเมือง ที่มีจารึกเก่าสมัยพ่อขุนรามคำแหงพิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรี บ้านไม้สักสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ พิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ อาคารไม้ฉลุลวดลายงดงามละออตาทั้งหลัง เดี๋ยวนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้
ผมใช้วิธีออกจากโรงแรมแต่เช้า
ปั่นจักรยานเที่ยวในอาณาบริเวณรอบเขตเมืองเก่า ชมสถานที่สำคัญในเมืองจนพอใจ
หาอะไรอร่อย ๆ ในตลาด กินเป็นมื้อเช้า
ก่อนกลับเข้าโรงแรม สาย ๆ ค่อยออกไปนอกเมือง
แหล่งท่องเที่ยวนอกเมืองโดยรอบก็ไม่ไกลจนเกินไป เสียดายผมมาคราวนี้วัดพระธาตุช่อแฮ
กำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งยังมีงานฉลองพัดยศเจ้าอาวาส
เนืองแน่นไปด้วยผู้คนล้นหลาม เลยขอผ่านเพราะเคยมานมัสการแล้ว
เลี้ยวขวาเข้าไปวัดพระธาตุจอมแจ้งซึ่งอยู่ถัดเข้าไปอีกไม่ไกลแทน
พระธาตุปิดทองอร่ามงามตาแต่ไกลคู่กับพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่กลายเป็นเอกลักษณ์พระธาตุจอมแจ้งไปแล้ว
ไหว้พระธาตุแล้วเดินเตร็ดเตร่ไปมาในวัดพักใหญ่ ท่านเจ้าอาวาสก็กวักมือเรียกให้ผมไปดูเจดีย์เหลี่ยมบนฐานสูงแบบล้านนาตะหง่านอยู่ท่ามกลางดงใบไม้เปลี่ยนสีด้านหลังกุฏิพร้อมเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมา
“ องค์นี้ชื่อว่า
เจดีย์นางแก๋วนางแมน พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จมาบูรณะองค์พระธาตุจอมแจ้ง
พระสนมของพระองค์ชื่อนางฟองแก้วและนางบัวแมนได้มาเสียชีวิตที่นี่ พระองค์จึงทรงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึง”
ใกล้กับเจดีย์มีรูปปั้นบรรดาเปรต
อสุรกายรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดชวนสยดสยองเรียงราย ก็คล้าย ๆ กับที่เคยเห็นตามวัดวาอารามทั่วไป
คือเป็นรูปปั้นจำลองเมืองนรกขุมต่าง ๆ
แต่ที่ผมชอบใจกลับเป็นสวรรค์จำลองที่อยู่ถัดออกมาทางด้านหน้ามากกว่า
ถูกใจมากครับกับความคิดสร้างสรรค์ของช่างพื้นบ้านที่ก่ออิฐเป็นชั้น ๆ คล้ายเจดีย์ โดยสมมติให้แต่ละขั้นที่ลดหลั่นแทนสวรรค์ชั้นต่าง
ๆ ไล่จากต่ำสุดไปถึงสูงสุดตามลำดับ มีบันไดนาคพร้อมสรรพ วาดภาพประกอบเป็นวิมาน
เทวดานางฟ้าในแต่ละชั้นเอาไว้ด้วยลายเส้นแบบช่างพื้นบ้าน
สีสันลายเส้นจริงใจตรงไปตรงมา ดูแล้วคล้ายศิลปะเด็ก
เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบภาพจิตรกรรมประดับกระจกสีแบบไร้มารยาบนผนังวัดเชียงทองในเมืองหลวงพระบาง
สปป.ลาว ก็คล้าย ๆ กันแบบนี้
ประทับใจฝรั่งดังระดับโลกไปแล้ว ใครผ่านมาไหว้พระธาตุก็อย่าลืมแวะเวียนมาดูของดีที่แอบซ่อนอยู่ด้วยก็แล้วกัน
แน่นอนครับ
มาถึงแพร่ทั้งที ต้องไม่ลืมที่จะแวะเข้ามาดูแพะเมืองผี เห็นกี่ทีก็ยังไม่เบื่อครับกับภูมิทัศน์อันแปลกตาของเสาดินที่เกิดจากการกัดกร่อนของสายลม
สายฝนและแสงแดด ก่อเกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติสูงท่วมหัว
ชวนให้จินตนาการไปถึงดินแดนต่างมิติ
โดยเฉพาะยามเย็นที่แสงแดดสีทองสาดส่องทาบทาด้วยแล้ว ตระการตาอย่าบอกใคร
ที่เป็นของใหม่สำหรับผมสำหรับคราวนี้ก็เห็นจะเป็น
วัดพระธาตุสุโทนเจดีย์ ที่สุดแสนอลังการงานสร้าง
ขับรถเข้ามาก็เห็นพระนอนองค์ใหญ่สไตล์พม่าอ่อนช้อยงามจับตาแต่ไกล ขึ้นไปจอดรถใกล้
ๆ ยิ่งตาลายกับความอลังการของลวดลายและการประดับประดา
ผมแอบเรียกเล่น
ๆ ของผมเองว่าวัดรวมฮิต เพราะภายในวัดรวบรวมเอาสิ่งที่เป็นจุดเด่นจากหลายยุคหลายสมัย
รวมทั้งศิลปกรรมชิ้นเยี่ยม ๆ ทั้งจากในและนอกประเทศ
จำลองมารวมไว้ในที่เดียวกันอย่างผสมผสานกลมกลืน
เท่าที่เห็นก็มีพระบรมธาตุเจดีย์
๓๐ ทัส ที่จำลองมาจากวัดพระธาตุหน่อจากแคว้นสิบสองปันนา ในประเทศจีน หอไตรจากวัดพระสิงห์
จังหวัดเชียงใหม่ ซุ้มประตูโขงจากวัดพระธาตุหลวง จังหวัดลำปาง
เทพนมปูนปั้นจากวัดเจ็ดยอดเชียงใหม่ หอระฆังจากวัดพระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ โอ๊ย จาระไนไม่หวาดไหวครับ
ต้องลองมาดูด้วยตาตัวเอง
คนที่ได้ไปเที่ยวมาเยอะ เห็นมาแยะจะสนุกกว่า ตรงที่เห็นแล้วคลับคล้ายคลับคลาว่าชิ้นนี้เคยเห็นมาจากที่ไหน
ส่วนคนที่ไม่ค่อยได้เที่ยว ไม่ค่อยเคยเห็นอะไร อาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นอะไรสวย ๆ งาม ๆ
ครับ
แล้วการตามรอยตำนานรักพระลอของผมก็สิ้นสุดลงแต่เพียงนี้ แฮปปีเอ็นดิง
แต่เป็นการชั่วคราวเท่านั้นนะครับ
มีข่าวคราวความคืบหน้าอย่างเช่น เจอหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับตำนาน
หรือรู้แน่ว่าเมืองแมนสรวงของพระลออยู่ที่ไหน ฯลฯ
ถึงวันนั้นคงจะได้มาตามรอยตำนานกันใหม่
ขอขอบคุณ
อุทยานลิลิตพระลอ
และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกจนสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
เอกสารอ้างอิง
เชื้อชื่น ศรียาภัย. พระลอร้อยแก้ว.กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๖.
วรเวทย์พิสิฐ, พระ.คู่มือลิลิตพระลอ.พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพ ฯ : องค์การค้าของคุรุสภา
, ๒๕๔๕.
คู่มือนักเดินทาง
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพ ฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑
ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก
อุตรดิตถ์ เข้าสู่จังหวัดแพร่ รวมระยะทางประมาณ ๕๕๑ กิโลเมตร
เวียงสรอง (อุทยานลิลิตพระลอ-วัดธาตุพระลอ) จากตัวเมืองแพร่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑
(แพร่-น่าน) ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร
เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ อีกประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
แล้วเลี้ยวขวาเข้าตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๕๔ สู่อำเภอสอง
เวียงลอ จากอำเภอสองใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑
ไปทางอำเภองาว ตรงไปถึงเมืองพะเยาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑
ไปถึงอำเภอจุนแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๒๙๒ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนอบต.
พย. หมายเลข ๒๐๒๗ ก็จะถึงเวียงลอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น