วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตามรอยเหมืองแร่ จากภูเก็ตสู่ตะกั่วป่า

 ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต
 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ

หลายปีก่อนภาพยนตร์ไทยเรื่อง มหาลัยเหมืองแร่สร้างชื่อเป็นที่ฮือฮาในวงการ 

ตอนนั้นผมเองเคยได้ยินมาแว่ว ๆ ไม่ได้ดูกับเขาหรอกครับ  ด้วยความที่ไม่ค่อยมีเวลา ขนาดเขาโฆษณาหนักหนาว่าเป็นหนังดีที่คนไทยไม่ควรพลาด ก็อุตส่าห์พลาดจนได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยแท้ ๆ นี่แหละ  

ยังดีมีโอกาสได้ดูทีหลังหนังออกจากโรงไปหลายปี  เพราะบังเอิญไปเจอเอาวีซีดีเลหลัง ขายลดราคาอยู่ ก็เลยซื้อมา (อย่างน้อยจะได้ไม่เสียทีที่เป็นคนไทยดูแล้วก็เข้าใจละครับว่าทำไมถึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของใครต่อใคร  หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมเหมือนถูกพาย้อนอดีต เข้าไปอยู่ในยุคสมัยที่การทำเหมืองแร่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู  ได้มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเหมืองกันอย่างใกล้ชิด  จนแทบจะรู้สึกว่าได้ไปลงมือทำเหมืองแร่เองเลยด้วยซ้ำไป เรียกว่าเป็นหนังที่ได้บรรยากาศจริง ๆ

  คงปฏิเสธไม่ได้ละครับ ว่าหนังเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจได้ไม่น้อย ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ที่ ยังไม่เคยดู ผมก็คงไม่สนใจจะอยากไปเที่ยว ไปดู อะไรที่เกี่ยวกับเหมืองแร่หรอก  เพราะในชีวิตไม่เคยมีอะไรเกี่ยวข้อง  นึกภาพไม่ออกว่าจะน่าสนุกตรงไหน ขนาดผ่านไปผ่านมาแถว ๆ แหล่งเหมืองแร่เก่าหลายครั้ง ยังไม่เคยคิดแม้แต่จะเหลียวมองด้วยซ้ำไป

แต่พอรู้จักความเป็นเหมืองแร่จากในหนัง  ก็ทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจขึ้นมาบ้าง เริ่มอยากรู้ อยากดู อยากเห็นขึ้นมาตั้งเป็นพะเรอเกวียน

สถานร้อยเรื่องเหมืองแร่

            จะว่าไปก็เป็นเรื่องบังเอิญครับ เพราะผมเองเพิ่งได้ข่าวจากเพื่อนเก่าเล่ายี่ห้อคอเดียวกันเมื่อไม่นานนี้ว่ามีการสร้างพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ รวบรวมเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่โดยเฉพาะขึ้นมาที่ภูเก็ต แม้ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่มีการเชิญสื่อมวลชนและผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเข้าชมไปบ้างแล้ว ช่างประจวบเหมาะดีเหลือเกิน

            งานนี้พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต ก็เลยกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกที่ผมจะต้องมุ่งหน้าไปครับ เพราะคงไม่มีแหล่งไหนที่จะช่วยให้รู้จักและเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับเหมืองแร่อย่างครบวงจรได้ดีเท่าที่นี่อีกแล้วละ

            แต่ด้วยความที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เอี่ยม ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก  ทำเอาผมต้องขับรถไป โทรศัพท์ถามทางจากทางนครภูเก็ตไป มะงุมมะงาหราหลงไปหลงมาอยู่นานพอสมควร จนอ่อนอกอ่อนใจ ทว่าในท้ายที่สุดก็หาเจอจนได้ อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสขนาดใหญ่สีโอลด์โรสตัดด้วยสีขาว โดดเด่นอยู่ใจกลางหุบเขาแลเห็นชัดเจนแต่ไกลเชียวละครับ

             พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่นี่ดูตามแผ่นพับที่รับแจกมา เขาว่าสร้างขึ้นตามแนวความคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ชุมชนของตำบลกระทู้ ซึ่งในอดีตภูเก็ตเป็นแหล่งแร่ดีบุกสำคัญ เริ่มมีการทำเหมืองแร่กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณพ.. ๒๐๖๙ (.. ๑๕๒๖) โน่นแน่ะ ก่อนจะมีฝรั่งเศสมาตั้งบริษัทซื้อดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.. ๒๒๒๘ (.. ๑๖๘๖) เรียกว่าทำกันมานานเป็นร้อย ๆ ปี แม้ในปัจจุบันก็ยังหลงเหลือร่องรอยของขุมเหมืองโบราณอยู่ทั่วไป

            เตร็ดเตร่ดูด้านนอกอาคาร อลังการงานสร้างเชียวครับ  ด้านหนึ่งของภูเขาจัดสร้างเป็นขุมเหมืองเสมือนเหมืองแร่ของจริงทุกประการ มองไปจะเห็นหน้าผาเหมืองแร่ ที่มีโครงสร้างของราง แร่สูงลิบ ลาดเทลงมาเป็นแนวยาว ตกแต่งประดับประดาด้วยพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามเหมืองร้างอย่าง ราชินีเหมือง สามร้อยยอด และหม้อข้าวหม้อแกงลิง เห็นแล้วก็ต้องทึ่งว่าทำได้ยังไง เหมือนซะขนาดนี้

            มารู้ทีหลังว่าบริเวณผาเหมืองที่เห็นนั่นน่ะ ของแท้”  ครับ เพราะเป็นเหมืองแร่เก่าจริง ๆ ทั้งหมด มีของใหม่แค่เฉพาะโครงสร้างของรางเหมืองที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมดานะเนี่ย หายากเต็มทีสำหรับพิพิธภัณฑ์อยู่ในสถานที่จริง 

            เดินเข้าไปด้านในอาคารชิโนโปรตุกีสซึ่งอลังการด้วยซุ้มโค้งและลวดลายปูนปั้น มีชื่ออย่างเก๋ไก๋ว่า อั้งหมอเหลานายหัวเหมือง“  ตัวอาคารสร้างล้อมรอบลานกว้างอย่างที่เรียกว่า  จิ่มแจ้เอาไว้ตรงกลาง  ริมลานด้านหนึ่งเห็นถังสีเงินวาววับวางเรียงรายอยู่เป็นแถว สอบถามได้ความว่าเป็นลูกเชอตักดินของเรือขุดแร่ แต่ไม่ใช่ของจริง เป็นของจำลองทำด้วยไฟเบอร์กลาส สำหรับใช้เข้าฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่องมหาลัยเหมืองแร่

            ผมไปยืนพิจารณารถลากทำด้วยไม้ตั้งเด่นสะดุดตาอยู่ด้านหน้าทางเข้า

            นี่เขาเรียกว่า หลั่งเซียะ หรือรถลาก ลองนั่งได้ ทางพิพิธภัณฑ์เราอยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้ลองนั่ง สัมผัสกับยานพาหนะจริง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบอกเล่าก่อนเดินนำหน้าพาเข้าไปชมด้านใน

            ห้องจัดแสดงห้องแรกชื่อว่าโปท้อง หง่อก่ากี่  ชินวิถี อัญมณีนายหัวเหมือง เข้าประตูไปก็เจอกับรถโดยสารไม้ท้องถิ่นของเมืองภูเก็ต ฉากหลังเป็นภาพวาดตึกเก่า วาดเอาไว้ได้เหมือนจริงมาก ภาพหง่อก่ากี่มุมหนึ่ง แสงเงาดีเหมือนจะเดินทะลุเข้าไปได้

            หง่อก่ากี่หรืออาเขต แสดงถึงไมตรีจิตของเจ้าของบ้าน ซึ่งภาคใต้เป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ ฝนตกบ่อย แต่ละบ้านก็เลยทำทางเดินมีหลังคาคุ้มฝนให้ผู้มาเยือนเดินได้สะดวก ไม่เปียกฝน

           เดินผ่านซุ้มประตูบ้านที่ตกแต่งอย่างอลังการเข้าสู่ห้องซึ่งจัดในลักษณะห้องรับแขกของบ้านเศรษฐีภูเก็ต มุมหนึ่งวางโต๊ะชุดรับแขกไม้ลายมุก พร้อมป้านน้ำชาบนโต๊ะ ให้นั่งได้จริง ดื่มได้จริง เหมือนเป็นอาคันตุกะผู้มาเยือนจริง ๆ  บนผนังมีภาพถ่ายสมัยเก่าของเมืองภูเก็ต ติดเอาไว้เรียงราย  พร้อมตู้จัดแสดงของมีค่า ทั้งอัญมณีชนิดต่าง ๆ  ธนบัตรหลากราคาหลายยุคหลายสมัย 

รายละเอียดของสิ่งของในห้องนี้มีมากมายก่ายกองครับ ถ้ามาเดินดูกันเองก็คงเฉย ๆ เพราะไม่รู้อะไรเป็นอะไร แต่พอได้วิทยากรที่มีความรู้มาช่วยชี้ชวนชมดู บรรยายเกร็ดยิบย่อย รายละเอียดประวัติความเป็นมา สิ่งละอันพันละน้อย กลับทำให้สนุกสนานน่าสนใจ เพลิดเพลินจนหมดเวลาไปเป็นชั่วโมงแบบไม่รู้ตัว (อยากรู้ว่าสนุกแค่ไหน คงต้องให้ลองมาฟังเอาเอง เล่าหมดคงไม่ไหว )
ผ่านห้องแรกมาจะรู้สึกว่าเข้าใจในวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในภูเก็ตขึ้นมาอีกโขเลยละครับ

         ถัดไปอีกห้องชื่อว่า เรืองดารากร ห้องนี้บอกได้คำเดียวว่า หลุดโลก”  เพราะออกไปนอกโลกกันเลย บนผนังวาดภาพทำเป็นห้วงจักรวาล เป็นอวกาศ มุมหนึ่งเป็นลูกโลก อธิบายถึงระบบสุริยะจักรวาล กำเนิดโลก กำเนิดแร่ กำเนิดชีวิต ไดโนเสาร์ มุดอุโมงค์ข้าง ๆ โลกเข้ามาอีกหน่อย เจอกับถ้ำหิน หุ่นรูปมนุษย์วานรตัวใหญ่ขนดำปุกปุยนั่งหน้าตาบ๊องแบ๊วอยู่ ตรงนี้เล่าเรื่องราวการกำเนิดมนุษย์  จนถึงเริ่มรู้จักใช้ไฟ เอามาหลอมแร่ทำเครื่องมือ สำริด เหล็ก (ชักจะมีเรื่องเกี่ยวกับแร่เข้ามานิด ๆ แล้ว)

เข้าเรื่องเหมืองแร่กันเต็ม ๆ ก็ในห้องต่อมาครับ  สายแร่แห่งชีวิต ถือเป็นทีเด็ดของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ก็ว่าได้ ภายในห้องจัดทำหุ่นจำลองให้เห็นถึงความเป็นเหมืองแร่อย่างเป็นตัวเป็นตนกันจริง ๆ เลย ไล่เรียงตามพัฒนาการของเหมืองแร่ที่แบ่งเป็น ๒ ยุคใหญ่ ๆ คือยุคใช้แรงงานคนเป็นหลักกับยุคใช้เงินทุนและเครื่องจักรเป็นหลัก มีเหมืองทั้งหมด ๕ รูปแบบ

          เดินเข้ามาจะเจอกับโพรงดินที่มีหุ่นขนาดเท่าคนจริงกำลังใช้เสียมขุดผนังโพรงอย่างตั้งอกตั้งใจ พร้อมอุปกรณ์ จอบ ปุ้งกี๋ วางเรียงราย  คือแบบจำลองของเหมืองรู หรือถ่อข้างที่นิยมทำตามพื้นที่ราบและชายเขา โดยขุดรูทำเป็นปล่องเข้าไปในชั้นดินและหินผุ ไปตามสายแร่ดีบุก ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ใช้ไม้ค้ำยันไม่ให้หลุมพังทลาย ใช้คนลงไปขุด แล้วขนหินดินทรายปนแร่ ใส่ปุ้งกี๋ส่งขึ้นมาเพื่อล้างหาแร่ในขั้นต่อไป 

      “ปุ้งกี๋หวาย ปุ้งกี๋ไม้ไผ่สานเดี๋ยวนี้หาแทบไม่ได้แล้ว เป็นพลาสติกไปหมด ตอนทำแบบจำลองนี้ ต้องไปหาซื้ออยู่เป็นเดือน ๆ กว่าจะได้”

           แบบที่สอง อยู่ตรงข้ามกันถัดมา หุ่นรูปคนสองคนกำลังขุดดินคนหนึ่ง หาบคนหนึ่ง ริมรางทางน้ำไหลยังมีอีกคนกำลังร่อนแร่อยู่ คือแบบจำลองของเหมืองแล่น หรือ ซ้านซั้วที่ใช้แรงงานคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ขุดดินและหินตามภูเขาให้ทลายไหลไปตามรางดินที่ขุดเป็นทางน้ำไหล แร่จะตกอยู่ในท้องรางในขณะที่ดินหิน ทรายก็จะไหลตามน้ำไป ผมชอบใจแบบจำลองอันนี้เป็นพิเศษ  เพราะตรงทางน้ำ มีสายน้ำไหลจริง ๆ เสียด้วย สมจริงสมจัง

          ถัดมาเป็นแบบที่สาม จะเห็นแบบจำลองย่อส่วน เป็นขุมเหมืองที่มีสะพานทางเดินไม้ รางกู้แร่เรียงรายระเกะระกะ กับคนงานนับหลายสิบ บ้างขุด บ้างหาบหาม คือเหมืองหาบ หรือเบ่งหลองเป็นเหมืองขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินทุนจำนวนมาก และต้องใช้กำลังคนมากอย่างน้อย ๑๐๐ คนขึ้นไปขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขุดลอกดินที่ไม่มีแร่ออกทิ้งไป จนถึงชั้นกะสะหรือชั้นกรวดทรายหยาบดินเหนียวปนแร่ดีบุกและเพื่อนแร่ แล้วถึงทำการขุดกะสะ ขนลำเลียงด้วยปุ้งกี๋ส่งต่อไปเป็นทอด ๆ ไปยังรางกู้แร่ เป็นแบบเดียวกับเหมืองแร่ที่ด้านนอกพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
  
เดินต่อมาอีกหน่อยจะพบกับหุ่นชายพุงพลุ้ยสวมหมวกกะโล่ ยืนอยู่กับสิ่งที่รูปร่างหน้าตาคล้ายปืนใหญ่ แต่ไม่ใช่ครับ มันคือหัวฉีดน้ำที่ใช้ในการทำ เหมืองฉีด ซึ่งใช้พลังน้ำในการทลายหน้าดินลงมา แล้วสูบขึ้นบนรางกู้แร่ จากนั้นจึงใช้แรงงานคนประมาณ ๑๕-๒๐ คนมาทำการกู้แร่ไปล้างทำความสะอาด พอมีเครื่องทุ่นแรงแล้วก็เลยใช้คนน้อยลง (แต่คงต้องใช้สตางค์มากขึ้นแน่ ๆ )

         มาสุดทางตรงสิ่งที่หน้าตาคล้าย ๆ กับโรงงานตระหง่านอยู่มุมหนึ่งของห้อง ด้านหน้ามีรางใหญ่ที่มีลูกเชอตักดินลดหลั่นกัน เป็นแบบจำลองของเหมืองรูปแบบสุดท้ายคือเหมืองเรือขุด หรือเชี้ยะบี้จุ๋นครับ ที่เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นในอ่าวทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต ในปีพ.. ๒๔๕๐ (.. ๑๙๐๗) ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยกัปตัน เอ็ดเวิร์ด ที ไมลส์ ได้ตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ขึ้น ถือเป็นเรือขุดแร่ในทะเลลำแรกของโลก (โปรดสังเกต ระดับโลกนะครับ ภูเก็ตเรา ไม่ธรรมดา)

         เหมืองเรือขุดใช้ในที่ราบลานแร่ขนาดใหญ่ ทั้งในบนบกและในทะเล โดยจะใช้ลูกเชอตักดินซึ่งยึดไว้กับบันไดขุดแร่ที่ปรับขึ้นลงได้  ขุดดินกรวดทรายปนแร่  เทลงในที่รับทางปลายบันได ปล่อยไหลลงไปตามรางตะแกรง แล้วหมุนไปเข้าจิ๊กกู้แร่ เพื่อแยกแร่ออกจากดินและกรวดทราย ก่อนจะนำไปล้างทำความสะอาด

        มาถึงตรงนี้เป็นอันครบถ้วนกระบวนความเหมืองแร่ทั้ง ๕ ชนิด
 เดินต่อไปเข้าสู่ห้องนิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ  ในห้องเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการถลุงแร่ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปดีบุก และการแปรรูปแร่ ไม่ค่อยมีอะไรตื่นเต้นครับ ห้องนี้ บรรยากาศขรึม ๆ ทึม ๆ คล้ายกับโรงงาน ถือเป็นการสรุปขั้นตอนสุดท้ายคือนำแร่ไปใช้

          แต่ไม่หมดแค่นั้นครับ ยังมีอีก ก้าวเท้าเข้าไปอีกห้อง ฉลาดนาวาชีวิต ลิขิตปรัชญ์สืบสาน ดุ่มเดินตามสะพานโป๊ะทอดยาวฉากหลังวาดเป็นท่าเรือจำลอง เข้าไปในเรือ ใช่แล้วครับ ห้องนี้นำเสนอการติดต่อค้าขายทางทะเลด้วยเรือสำเภา ความเป็นมาว่าเดินทางกันมาอย่างไร สภาพความเป็นอยู่ภายในเรือระหว่างเดินทางว่ายากลำบากขนาดไหน สรุปง่าย ๆ ก็คือเรื่องราววิถีชีวิตและการย้ายถิ่นฐานของชาวจีน เข้ามาแสวงโชคทำมาหากินบนเกาะภูเก็ตในยุคแรกนั่นแหละครับ เดินผ่านเข้าไปในท้องเรือสำเภายังเห็นหุ่นชาวจีนนอนแอ้งแม้งอยู่ท่ามกลางหมู่กระสอบ ออกแนวหนังชีวิตนิดหน่อย

         ห้องต่อไปก็คล้าย ๆ กัน บันซ้านบางเหนียว เก่วเกี้ยวในทู อุปรากรจีน หนังตะลุง หลงผิดเสพ เทพาภรณ์ (ชื่อยาวชมัด)  เล่าเรื่องราวรูปแบบวิถีชีวิตชาวจีนในยุคเหมืองแร่เจริญรุ่งเรืองไว้อย่างน่าดูชม โดยจำลองเอาบรรยากาศในตลาดบางเหนียว-ในทูสมัยก่อนเอามาครบครันสองฟากทางเดินแวดล้อมด้วยร้านโกปีเตี๊ยม(ร้านกาแฟ ) ร้านขนมจีน ศาลเจ้า โรงงิ้ว โรงฝิ่น ร้านขายยาจีน โรงกลึง และบ้านชาวกระทู้ เข้ามาในห้องนี้แล้วได้อารมณ์คล้าย ๆ ไปเที่ยวย่านตลาดเก่ายังไงยังงั้นเลยละครับ ไม่เหมือนก็ตรงไม่มีอะไรให้ซื้อกินเท่านั้น (ชักเริ่มหิวขึ้นมาตามบรรยากาศ)

        ตบท้ายที่ คหปตนินท์ บาบ๋าสินสมรส ฉายาบทนฤมิตร ภาพกิจปฐมเหตุ ห้องสุดท้ายที่ชื่อยาวไม่แพ้กัน เสนอวัฒนธรรมบาบ๋า ด้วยรูปปั้นคู่บ่าวสาวในชุดเต็มยศ ในบรรยากาศคฤหาสน์ของคหบดี ยังจัดแสดงรูปภาพเก่า ๆ จดหมาย เอกสารเกี่ยวกับเหมืองแร่ นามสกุลในมณฑลภูเก็จ แผนที่ประทานบัตร และอาชญาบัตรเหมืองแร่ไว้ เป็นการสรุปถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและภาพชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ของผู้คนในยุคเหมืองแร่ 

       แต่ที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายน่าจะชื่นชอบที่สุดก็เห็นจะเป็น ร้านถ่ายรูปพร้อมฉากหลังแบบย้อนยุค ไม่ต้องไปว่าใครหรอกครับ ผมเองนี่แหละ ยังแอบไปโพสต์ท่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอยู่เลย

      ก่อนกลับแวะเข้าไปสังเกตการณ์ในห้อง วรรณวิเศษปัญญภูมิ  ที่บังเอิญเดินผ่าน ปรากฏว่าเป็นภายในเป็นห้องสมุดเฉพาะด้านเกี่ยวกับเหมืองแร่ วิถีชีวิตชาวเหมืองและวัฒนธรรมท้องถิ่นครับ ติดแอร์เย็นฉ่ำ น่านอน เอ๊ย น่าเข้ามานั่งอ่านจริงๆ  บนชั้นหนังสือที่เรียงรายเป็นตับรวมรวมข้อมูลต่าง ๆ  ทั้งหนังสือ วารสาร นิตยสาร ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ทุกชนิด และประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ทั้งของท้องถิ่นภูเก็ตและอาณาบริเวณใกล้เคียงที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงตัวอย่างแร่ ฟอสซิล ให้ดูให้ศึกษา เรียกว่าเปิดกว้างให้ผู้สนใจได้มาศึกษาค้นคว้ากันได้อย่างเต็มที่

         พูดได้เต็มปากเลยละครับว่านอกจากหนังเรื่องมหาลัยเหมืองแร่แล้ว พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต ถือเป็นอีกสถานที่ซึ่งคนที่สนใจเรื่องเหมืองแร่ควรจะมาดูมาชม ไม่เพียงได้ความรู้ ยังจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยด้วย เพราะที่นี่เขาถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในโลกเชียวนะครับ จะบอกให้

คืนชีวิตชีวานครหลวงแห่งเหมืองแร่  

      “ตะกั่วป่าสมัยหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของดีบุก” 

        เป็นคำบอกเล่าในวงสนทนา ณ ร้านกาแฟมุมน้ำเงิน ริมถนนในเมืองเก่าตะกั่วป่า จากคุณเฉลิมชาติ เจนเจนประเสริฐ หรือคุณจั่นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ที่นัดหมายผมเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศของเมืองยุคเหมืองแร่แห่งนี้ ในช่วงยามสาย ๆ ของวันหนึ่ง

        “แถบตะกั่วป่านี้มีเหมืองแร่อยู่เป็นร้อยแห่ง เหมืองแถว ๆ ตะกั่วป่า ถลาง เป็นศูนย์กลางของการทำเหมืองแร่อยู่ ๒๐๐-๓๐๐ ปี ก่อนภูเก็ตเยอะ ได้แร่มาก็ส่งต่อไปลงเรือที่ท่าเรือสะพานหิน ที่ภูเก็ต ทำให้ต่อมาภูเก็ตเจริญกลายเป็นเมืองใหญ่ “ คุณวิระ ตันวานิช  หรือโกระประธานชมรมถนนวัฒนธรรม อดีตสมาชิกสภาเทศบาล และอดีตนายหัวเหมืองแร่ ช่วยขยายความ

       “เหมืองแร่ที่ทำที่ตะกั่วป่าก็มีทั้งเหมืองบก ที่เรียกว่าเหมืองฉีด แล้วก็มีแบบเรือขุด เรียกว่าเรือขุดแต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรือนะ หน้าตามันจะคล้าย ๆ กับรถถังมากกว่า ขุดบนบกก็ได้ ขุดในทะเลก็ได้ จะมีลูกเชอเป็นตัวขุดหมุนไป คล้าย ๆ ตีนตะขาบ ขุดไปมันก็จะฉุดลากตัวเรือขุดแร่ไปเรื่อยไม่รู้จะนึกภาพออกไหม

         ผมพยักหน้า นึกเห็นภาพเรือขุดแร่ในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่ไปดูเมื่อวันก่อนในห้วงจินตนาการ ศึกษาหาข้อมูลมาล่วงหน้ามันก็ดียังงี้แหละครับ ค่อยคุยกันรู้เรื่อง ไม่งั้นใครเล่าอะไรให้ฟังก็เด๋อด๋า ได้แต่ทำหน้างงอย่างเดียว

        “ถ้าเป็นเหมืองฉีดจะใช้วิธีฉีดน้ำ ดูดแร่ขึ้นมาบนราง ส่งผ่านไปกู้แร่ รางกูแร่ก็จะเป็นทางยาวไปมีคนงาน จะมีพวกชาวบ้านพากันมาร่อนแร่อยู่สุดท้ายปลายราง พวกนี้ไม่ใช่คนงานของเหมือง ทำเป็นเล่นไปนะ คนมาร่อนแร่นี่รายได้ดีไม่เบาเลย บางครอบครัวผัวเป็นคนงานทำงานในเหมืองได้ค่าแรงวันละ ๕๐ บาท ส่วนเมียไปร่อนแร่อยู่ท้ายรางได้วันละ ๒๐๐ บาทเชียวนะ  ช่วงที่ผมยังทำเหมืองอยู่นี่ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ถึง ๒๓ แร่กิโลละ ๑๒๐ บาท  ค่าแรงวันละ ๔๐–๖๐ บาท ตอนนั้นน้ำมันราคาแค่ลิตรละ ๓ บาทเอง สมัยเหมืองแร่เฟื่องฟู ผู้คนในเมืองเยอะมาก ขนาดโรงหนังยังมีตั้ง ๒ โรง รถโดยสาร ๒ แถววิ่งกันขวักไขว่ทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หยุดหย่อน”

           ฟังผมอดไม่ได้ที่จะชำเลืองมองไปบนท้องถนนของเมืองตะกั่วป่าอันเงียบสงัดปราศจากผู้คน นาน ๆ ถึงจะมีมอเตอร์ไซค์แล่นผ่านมาสักคัน ดูแตกต่างจากภาพในอดีตอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

        “พอราคาแร่ตกต่ำ เหมืองก็ซบเซา ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นบึงน้ำใหญ่ ๆ  เพราะทำแล้วไม่คุ้ม เดี๋ยวนี้ต้นทุนสูง แล้วรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้ทำด้วย กลายเป็นว่าที่อินโดนีเซียตอนนี้หันมาทำเหมืองแร่กันมาก มาเอาคนที่เคยทำจากที่นี่แหละไปทำ  เพราะคนอินโดนีเซียเขาไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่ ก็ต่อเรือขุดจากตะกั่วป่าไปเสร็จสรรพเลย ลำหนึ่งไม่ถูกนะ รวมอุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมดด้วยก็ตกลำละ ๓๐ ล้านบาท พอไม่ทำเหมือง คนตะกั่วป่าส่วนใหญ่ก็ย้ายไปอยู่ที่ย่านยาวกันหมด”

         “เพิ่งมาปีสองปีนี้ มีงานถนนสายวัฒนธรรมคนเก่า ๆ ที่ย้ายไป ก็กลับมานะ กลับมาช่วยงาน เพราะส่วนใหญ่ที่ย้ายไปบ้านเขายังอยู่นี่ ปิดเอาไว้เฉย ๆ

         คุณจั่นหมายถึงกิจกรรมถนนคนเดินของเมืองตะกั่วป่า ที่ใช้ชื่อว่า ตะกั่วป่าเมืองเก่าเล่าความหลัง ถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.. ๒๕๕๑ โดยได้งบ SML ๒ ชุมชนต่อ ๑ โครงการ คือชุมชนตลาดใหญ่กับชุมชนเสนานุช  บนถนนสายหลักของเมืองคือ ถนนศรีตะกั่วป่า

       “ก็ปิดถนนจัดเป็นช่วงสั้น ๆ ระยะประมาณ  ๓๐๐ เมตร ประมาณ ๔๐ แผง เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนน ออกร้านขายขนมบ้าง อะไรบ้าง  ที่เด่น ๆ ก็พวกอาหารการกินเก่า ๆ ที่หายไปกลับมาทำขึ้นใหม่  ส่วนใหญ่คนที่มาขายก็จะเป็นคนที่นี่ แต่ก็เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าแม่ค้าจากที่อื่นเข้ามาขายด้วย คิดแค่ค่าเช่าแผง ๒๐ บาท ค่าเช่าร่มอีก ๒๐ บาท

ตรงกลางถนนก็ทำเป็นลานสำหรับกิจกรรมแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเช่น การสีข้าวแบบโบราณด้วยไม้ไผ่ สีข้าวเปลือกให้กลายเป็นข้าวซ้อมมือ หรือการกวนกาละแม ปีนี้มีโครงการว่าจะทำโมเดลเหมืองแร่ไปจัดแสดงกลางลานวัฒนธรรมเลย มีทั้งแบบเหมืองฉีด ทั้งแบบเรือขุด”   

          เครื่องดื่มบนโต๊ะหมดลงคุณจั่นก็ชวนไปแวะเยี่ยมเยือนบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ร่วมในงานถนนสายวัฒนธรรม ร้านง้วนเซ็งบี้บนผนังฟากหนึ่งเป็นตู้โชว์ไม้กรุด้วยกระจกใส  เดิมเป็นร้านขายของชำทั้งปลีกและส่ง  เคยส่งสินค้าไปไกลถึงจังหวัดระนองโน่นเลย 

คุณวริษฐา ลิ่มสกุล เจ้าของร้านเล่าว่า ขายมาตั้งแต่รุ่นก๋ง มาเลิกกิจการประมาณช่วงปีพ.. ๒๕๒๔ -๒๕๒๕  เพราะช่วงนั้นเหมืองน้อยลง ลูกค้าน้อยลง สู้ภาษีไม่ไหว” 
          ในร้านยังคงรักษาสภาพเดิม ๆเอาไว้ ชี้ให้ดูช่องสี่เหลี่ยมล้อมด้วยระเบียงลูกกรงกั้น ๔ บนเพดานตรงกึ่งกลางบ้านว่าเป็นที่สำหรับเจ้าของร้านมองดูลูกค้าที่มาซื้อของในร้าน และเป็นช่องส่งสินค้าลงมาจากชั้นบนซึ่งเป็นโกดังย่อม ๆ อีกด้วย  โคมไฟเซรามิคส์แบบเก่ายังคงห้อยระย้าลงมาจากเพดาน ตู้เซฟเหล็กหน้าตาคล้ายตู้ไปรษณีย์โบราณขึ้นสนิมอยู่มุมหนึ่ง เคียงข้างกับตู้ที่วางวิทยุโบราณยี่ห้อกรุนดิก เนชันแนล บนผนังยังมีโปสเตอร์ขยายจากภาพถ่ายงานแต่งงานสมัยเก่าแบบจีนในชุดเต็มยศ เจ้าบ่าวในชุดสูทโก้ยืนคู่กับเจ้าสาวในชุดยาวสีขาวที่เรียกว่า โป๊ยตึ๋งเต๊” 

        ดูเหมือนว่าชีวิตชีวาของยุคสมัยอันรุ่งเรืองยังถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ในบ้านเรือนที่เรียงรายบนถนนสายนี้
“ตอนงานถนนสายวัฒนธรรมร้านเราจะขายปอเปี๊ยะสด  เน้นสนุก ไม่เน้นกำไร ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ถือว่าช่วยเหลือชุมชนไปในตัว ตอนขายจะสวมชุดย่าหยาด้วย  ให้เข้ากับบรรยากาศ”
เดินต่อมาไม่ไกลกัน ไม่มีชื่อร้านคุณปิยา ทิวทัศนานนท์และน้องสาวคุณไพศรี ทิวทัศนานนท์ กำลังขะมักเข้นอยู่กับการทำขนมท้องถิ่นให้เราชิมแบบเฉพาะกิจ ขนมเป่าอู่ดั๊ง หน้าตาเหมือนข้าวเหนียวปิ้ง ทว่ารสชาติไม่เหมือน เพราะว่าทำจากข้าวเหนียวห่อไส้มะพร้าว กุ้งแห้ง พริกไทย กระเทียม รากผักชี ผัดกับน้ำตาลและเกลือ อร่อยจนหยิบแล้วหยิบอีก  เช่นเดียวกับขนมบะจ่าง ที่มองดูไม่ต่างจากบะจ่างทั่ว ๆ ไป แต่รสชาติอร่อยกว่าเยอะ

        “เป่าอู่ดั๊ง คนสมัยใหม่ชอบเรียกเพี้ยนไปเป็นเป่าลั้งสมัยก่อนพี่สาวชื่อ อารี ผลิผล อยู่ในเหมือง ทำขนมนี้ขายให้กับคนที่ทำงานในเหมือง กินกับกาแฟอร่อย คนในเหมืองเขาจะกินกาแฟกันบ่อยนะ เช้า สาย บ่าย เย็น กินเสร็จก็ลงบัญชีไว้ เงินออกทีก็มาจ่ายเงินกันที

         นั่งคุยไปเรื่อยพักใหญ่ ผมเพิ่งสังเกตว่าใบตองกองเต็มโต๊ะตรงหน้า  เพราะคุยไปก็หยิบกินไปเสียหลายห่อ ก็ของเขาอร่อยจริง ไม่เคยกินที่ไหน ก่อนอำลาจากมายังได้รับอภินันทนาการน้ำพริกตะไคร้เป็นของฝากติดไม้ติดมือมาอีกกระปุกด้วย เห็นว่าออกงานคราวหน้าจะทำขายด้วย ต้องขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแน่ ผมรับรองได้
ตะวันชายบ่ายคล้อย แดดลดความร้อนแรงลงไป พวกเราถึงชวนกันออกมาเดินชมเมืองกันบนถนนสายหลัก ย่ำเท้าไปพลางเหลียวซ้ายแลขวา ผมตั้งข้อสังเกตว่าตึกรามบ้านช่องของเมืองตะกั่วป่า ดูเผิน ๆ ก็มีลักษณะที่คล้ายกับตึกในย่านเก่าเมืองภูเก็ต เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า และการตกแต่งประดับประดาหน้าบ้านไม่หรูหราอลังการเท่า

      “บ้านเรือนที่ตะกั่วป่านี่จะเป็นแบบชาวบ้านครับ เพราะเป็นบ้านของพ่อค้า บ้านของชนชั้นกลาง ที่ทำงานเหมืองแร่ ไม่เหมือนกับทางภูเก็ต ทางนั้นเขาจะเป็นบ้านของเศรษฐี”  โกระว่าพลางเดินนำหน้า

        “ตะกั่วป่า-ถลาง จะเป็นเศรษฐีรุ่นเก่า แต่ภูเก็ตนี่เขาเป็นเศรษฐีรุ่นใหม่” คุณจั่นช่วยเสริมให้ลงตัว  พลางหัวเราะชอบใจ

          เท่าที่เห็น ถนนศรีพังงาถือว่าเป็นถนนสายเศรษฐกิจในสมัยก่อนจริง ๆ ครับ ไม่ต้องอะไรมาก ดูจากโรงแรมก็พอ บนถนนเส้นเดียวสั้น ๆ ยังมี เรียงรายติดกันหลายแห่ง แต่น่าเสียดายตอนนี้ปิดกิจการไปหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นโรงแรมทวีสุขที่ตอนนี้ก่ออิฐบล็อกปิดประตูหน้าต่างทำเป็นรังนกนางแอ่นไปเรียบร้อย  ในขณะที่โรงแรมมณีรมณ์แปรสภาพเป็นร้านกาแฟ  ส่วนโรงแรมมณีรมณ์กลายเป็นบ้านคนอยู่อาศัย

        “ตรงนี้คือโรงแรมเกษมสุข หรือโรงแรมสามชั้น เมื่อก่อนเป็นโรงแรมมีพวกผู้หญิงบริการอยู่เยอะ โกระให้ข้อมูลเพิ่มขณะดินผ่านตึกที่ปิดตายอีกแห่ง

         “เมื่อก่อนโรงหนังก็มีนะ อยู่สุดปลายถนน เพิ่งรื้อทิ้งไปไม่นาน เพราะกำลังจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำแถวนั้น

แต่ก็ไม่ใช่จะมีแต่ปิดกิจการกันหมดครับ ที่เปิดดำเนินการอยู่ก็ไม่น้อย  ข้างโรงแรมโชคทวีอีกโรงแรมที่แปรสภาพเป็นบ้านที่อยู่อาศัยแล้วเหมือนกัน ยังมีร้านแต้จินหุ้ย ทำฟันปลอมเป็นอีกร้านที่ยังเปิดให้บริการ ภายในร้าน เก้าอี้ทำฟันอายุ ๖๐ กว่าปี ที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้มาเยือนคนแล้วคนเล่า ยังคงเป็นที่ทำงานของคุณป้าอุไร แต่ตระกูล อายุ ๘๐ ที่เล่าให้ผมฟังว่าจบการศึกษาจากกรุงเทพ ฯ แล้วไปเรียนทำฟันต่อที่ปีนัง ตามความนิยมของคนสมัยนั้น แล้วกลับมาเปิดร้านที่นี่ ทำฟันให้ชาวตะกั่วป่ามาแล้วแทบทุกคน

         “เห็นโกระยิ้มสวยอย่างนี้ ก็ทำฟันที่ร้านแต้จินหุ้ยเหมือนกัน คุณจั่นแซว

อีกแห่งคือร้านฮั้วลอง ซ่อมนาฬิกา ขายเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้าง  หน้าร้านมุมหนึ่งเป็น เก้าอี้ตัดผมโบราณตระหง่านอยู่หน้ากระจกพร้อมอุปกรณ์ครบ สอบถามเจ้าของร้านคือ “พี่หย่อง”  ซึ่งนั่งซ่อมนาฬิกาอยู่ได้ความว่าเก้าอี้ที่เห็นเคยเป็นร้านของพ่อซึ่งเป็นช่างตัดผม พอเสียชีวิตไปก็เลยเก็บรักษาเอาไว้เป็นที่ระลึกถึง
ที่แปลกอีกอย่างบนถนนสายนี้ก็คือมีศาลเจ้าอยู่ในห้องแถวครับ ไม่ได้มีแห่งเดียวเสียด้วย  เท่าที่เห็นก็มี ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้ากู่ใช่ตึ๊ง และศาลเจ้า  ที่เคยพบเจอส่วนใหญ่จะเห็นเป็นศาลเจ้าเดี่ยว ๆ แยกออกไปตั้งอยู่ต่างหาก อยู่ห้องแถวแบบนี้เพิ่งเคยเห็น แปลกดีเหมือนกัน 
ยิ่งเดินยิ่งเพลินครับ เพราะตึกรามบ้านช่องในเมืองเก่าตะกั่วป่าแม้ดูเผิน ๆ จะเก่าคร่ำคร่า แต่เมื่อมาดินดูพินิจพิจารณาดี ๆ แล้วก็เห็นว่ามีรายละเอียดการประดับประดาและลูกเล่นต่าง ๆ งดงามไม่น้อยเหมือนกัน ผมยังไปหยุดยืนชื่นชมบ้านหลังหนึ่งที่ประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นปรากฏว่าเป็นบ้านของอดีตนายกเทศมนตรี มิน่าละ
แถว ๆ ถนนอุดมธาราทางไปกำแพงเมืองเก่าก็มีบ้านสวย ๆ หลายหลัง ทั้งบ้านจีนแบบเก่า เรียงรายเป็นแถว โดยเฉพาะหลังหนึ่งสุดท้ายปลายถนนเป็นบ้านแบบชิโนโปรตุกีสยังรักษาสภาพเอาไว้ได้ดีมาก
ทางกรมศิลปากรเขาส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจขึ้นทะเบียนบ้านเก่า คัดเลือกเอาไว้ตอนแรก ๕ หลัง  จะบูรณะให้เป็นสภาพเดิม ๒ หลัง แต่หลังที่หมายตาเอาไว้ยังตกลงกับเจ้าของบ้านไม่ได้ เพราะเจ้าของบ้านกับกรมศิลปากรมีแนวคิดไม่ตรงกัน  กรมศิลป์เขาก็อยากจะอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม ๆ ไม่ให้ไปทำอะไรเพิ่มเติม แต่ เจ้าของบ้านก็อยากจะทำอะไรตามใจของตัวเองอย่างที่ชอบ”

น่าเสียดายอยู่อย่างที่ว่า งานถนนสายวัฒนธรรมของเมืองเก่าตะกั่วป่าจะจัดมีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนเท่านั้น ช่วงที่อนุสาร อ.ส.ท.ฉบับนี้วางตลาด คงจะไม่มีงานให้ชมกัน เพราะตรงกับช่วงฤดูฝนพอดี ซึ่งที่นี่ฝนตกหนักมากครับ บางทีก็มีน้ำท่วม ระหว่างไปเดินเที่ยวชมเมืองนี่ใครต่อใครก็พากันชี้ให้ดูร่องรอยน้ำท่วมสูงเป็นเมตรบนฝาผนังห้องกันทั้งนั้น แต่ไม่มีงานก็มาเดินชมเมืองเล่น ๆ ไปก่อนก็ได้ เพราะมีอะไรต่อมิอะไรให้ดูเยอะ แล้วปลายปีค่อยหาโอกาสมาเที่ยวในช่วงงานกันใหม่เชื่อไหมครับ เขาเล่าว่ามีนักท่องเที่ยวฝรั่งติดอกติดใจถึงขนาดมาเที่ยวปีก่อนครั้งหนึ่งแล้ว ปีถัดมายังอุตส่าห์กลับมาเที่ยวอีกก็ยังมี แล้วเราคนไทย อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้ จะไม่มาได้ไง
ผมคนหนึ่งละครับรับรองว่าไม่พลาดแน่ ๆ กาปฏิทินเอาไว้เรียบร้อย ว่าจะมาตามรอยเหมืองแร่อีกสักทีแฮ่ม
  ขอขอบคุณ สำนักงานนครภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต คุณชาญ วงศ์สัตยนนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ คุณหฤทัย บุญวงศ์โสภณ คุณเฉลิมชาติ เจนเจนประเสริฐ คุณวิระ ตันวานิช คุณปิยา ทิวทัศนานนท์ คุณไพศรี ทิวทัศนานนท์ คุณวริษฐา ลิ่มสกุล คุณทวี สนธิเมือง และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง
คารม ธรรมชยาธร.”ถนนสายวัฒนธรรมตะกั่วป่าภูเก็ตภูมิ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๓.หน้า ๑๘๒๓.
อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร.จุลสารเหมืองแร่.ภูเก็ต:พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต,๒๕๕๒.

คู่มือนักเดินทาง          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕ ธนบุรี-ปากท่อ ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔ ที่แยกวังมะนาว ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตรงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๔๑ ที่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ตรงไปถึงกิ่งอำเภอบ้านตาขุนแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑๕ ที่บ้านพังควนเหนือ ผ่านอำเภอทับปุด อำเภอเมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ ตรงไปถึงจังหวัดภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต  จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒  เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข ๓๐๑๓   ประมาณ ๕ กิโลเมตร เลี้ยวขวาถึงพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ค่าพิกัด GPS  N๐๗ องศา ๕๖ ลิปดา ๐๑.๒ พิลิปดา E ๐๙๘ องศา ๒๐ ลิปดา ๕๙.๓ พิลิปดา

เมืองเก่าตะกั่วป่า จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข๔๐๒ มาเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔  ผ่านเขาหลัก เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๐ ตรงไปตามทางจนถึงเมืองเก่าตะกั่วป่า ค่าพิกัด GPS  N๐๘ องศา ๔๙ ลิปดา ๔๑.๙ พิลิปดา E ๐๙๘ องศา ๒๑ ลิปดา ๕๒.๙ พิลิปดา บริเวณเมืองเก่าสงขลามีที่พักให้บริการ คือโรงแรมอมรินทร์ อัตราค่าเข้าพักคืนละ ๑๕๐–๓๐๐ บาท โทรศัพท์ ๐ ๗๖๔๒ ๕๐๘๓ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น