วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เที่ยวสมอลล์ฟาร์ม ดูอัลปาก้า เฮฮาสัตว์มหาสนุก


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


“ดูนั่นสิ ม้าขนปุย”
            “ใครว่า แพะ แพะคอยาว”
“ ไม่ใช่ ไม่ใช่ อูฐต่างหาก”

เด็ก ๆ ส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่แข่งกัน เมื่อมองเห็นสัตว์รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด คอยาว ๆ  ขนสีขาวปุกปุย อยู่ตรงหน้า  ผมได้ยินแล้วก็อดขำไม่ได้ กับชื่อสัตว์ต่าง ๆ ที่บรรดาหนูน้อยเรียกขานกันออกมา 

 จะว่าไปก็ต้องชมเชยความสังเกตของเด็กๆ  ครับ เพราะสัตว์แต่ละชนิดที่เอ่ยขึ้นมาต่างก็มีลักษณะเด่นปรากฏอยู่บนส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าตัวพิลึกกึกกือนี้ ที่มองเผิน ๆ คล้ายกับจับเอาสัตว์หลาย ๆ ชนิดมาผสม “รวมมิตร” กันอยู่เหมือนกัน

ทายยังไงก็ไม่ถูกหรอกครับ ว่าไอ้เจ้าตัวแปลกหน้านี่เรียกว่าอะไร  ผมเองก็เถอะ นี่ถ้าไม่มีใครบอกมาก่อน ผมก็ไม่รู้ ว่ามันชื่อ  “อัลปาก้า”



หรรษาฟาร์มมหาสนุก

 หลายวันแล้วที่ผมตื่นขึ้นมาในบรรยากาศเมืองคาวบอยของสมอลล์ ฟาร์ม ในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

 เริ่มวันใหม่อย่างสดชื่นทุกเช้าครับ  เพราะห้องพักของผมที่มองจากด้านนอกแลดูคล้ายบ้านท่อนซุงในสไตล์ลูกทุ่งตะวันตกแบบดิบ ๆ  เห็นหน้าตาเหมือนกับกระท่อมฝรั่งอย่างนี้ ภายในครบครันด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างดี มีทั้งแอร์ทั้งน้ำอุ่น เตียงก็ใหญ่หนานุ่ม ทำให้หลับสบายได้เต็มตื่น แม้ว่าผมเองจะนอนดึกดื่นแทบทุกคืน เพราะมัวติดตามดูข่าวสถานการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมภาคกลาง ที่กำลังไหลบ่าลงสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นวิกฤตการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ (ลุ้นไปลุ้นมา ท้ายที่สุดกลับมากรุงเทพฯ ผมก็ได้มีส่วนร่วม เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมกับเขาเหมือนกันครับ..เฮ้อ )


             ไม่ต่างจากวันที่ผ่านมา เช้านี้ผมยังคงเปิดประตูออกมาพบกับแดดสีทองอร่ามตากับสายลมหนาวพัดโบกโบยมาสัมผัสผิวกาย   ดุ่มเดินตามทางดินลูกรังสีแดงผ่านพักที่มีทั้งที่ทำเป็นห้องแถวไม้สไตล์โคบาลเรียงราย และบ้านพักแบบชนบทของฝรั่งหลังใหญ่  เลียบเลาะตามแนวรั้วสีขาวที่กั้นเป็นคอกสัตว์ สูดกลิ่นอายบรรยากาศท้องทุ่งที่แวดล้อมด้วยทิวตาล เห็นทิวเทือกเขาต้นน้ำลำธารอยู่ลิบ ๆ เป็นฉากหลัง  

แว่วเสียงจุ๊บ ๆ จิ๊บ ๆ จากแม่ไก่ที่นำขบวนลูกไก่ออกคุ้ยเขี่ยหากิน  สลับกับเสียงก้าบ ๆ จากเป็ด และเสียงดังของห่านพากันเรียงแถวดำผุดดำว่ายหาอาหารอยู่ในบึงน้อย กับเสียงอู๊ด ๆ ของแม่หมูที่มีลูกตัวเล็ก ๆ วิ่งตามกันเป็นพรวน  นาน ๆ ก็จะได้ยินเสียงร้องแบร แบร  ของแกะ และเสียงมอยาว ๆ ของวัวดังขึ้นมา เหมือนกับวงดนตรีซิมโฟนีออเคสตราของบรรดาสัตว์ที่บรรเลงขับกล่อมก็ไม่ปาน


ทอดน่องกินลมชมบรรยากาศมาถึงอาคารล้านนาประยุกต์ส่วนหน้า อันเป็นสถานที่รับประทานอาหารเช้านั่นแหละ  ผมถึงรู้สึกว่าวันนี้ต่างไปจากวันก่อน ๆ เพราะว่ามีคณะจากโรงเรียนอนุบาลสถาพร ที่อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ พาน้อง ๆ เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลมาทัศนศึกษา ทำเอาบรรยากาศครึกครื้นขึ้นมาชนิดผิดหูผิดตา พลอยให้ผมรู้สึกสนุกขึ้นมาด้วย เลยแอบเข้าไปสังเกตการณ์ใกล้ ๆ

“เอ้า นักเรียนมาเข้าแถว แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เดี๋ยวเราจะแยกกันไปเที่ยว แบ่งกันเป็นฐานต่าง ๆ  ตามคุณครูประจำกลุ่มให้ดีนะจ๊ะ”  เสียงคุณครูร้องสั่งเด็ก ๆ วัยกำลังซนยุกยิกให้จัดขบวน แต่ละคนก็สาละวนอยู่แต่จะเล่น  วิ่งไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง คุณครูต้องตามไปจูงมือมาเข้าที่ แลดูคล้ายจับปูใส่กระด้งยังไงยังงั้น เห็นแล้วเหนื่อยแทน


แต่ท้ายที่สุดแบ่งกลุ่มกันได้สำเร็จครับ กลุ่มหนึ่งไปนั่งรถม้าตระเวนเที่ยวชมวิวทิวทัศน์รอบฟาร์มอันเป็นกิจกรรมยอดนิยม ใครไปใครมาก็ต้องนั่งทั้งนั้น อีกกลุ่มหนึ่งไปเข้าคิวลองขี่ม้า นี่ก็เป็นกิจกรรมยอดฮิตอีกเหมือนกัน แต่ต้องเข้าแถวรอกันนานนิดนึง เพราะม้าที่จัดมาบริการมีแค่ ๒ ตัว แต่ระหว่างรอเด็ก ๆ พากันเรียนรู้และเล่นสนุกกับบรรดาอุปกรณ์ของบรรดาโคบาลทั้งหลายที่แขวนโชว์เรียงรายอยู่ในบริเวณลาน ทั้งอานม้า หมวก แส้ ปืนยาวจำลอง ฯลฯ  เรียกว่าเพลินกันไปเลยละ  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคุณครูจูงเรียงแถวหายเข้าไปในลานแสดงสัตว์ที่มีสัตว์หลากหลายชนิด 


    กลุ่มที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ชนิดต้องเดินตามติด ก็คืออีกกลุ่มที่มีคุณครูสาวสวยเดินนำครับ ฮั่นแน่ะ อย่าเข้าใจผิด  ไม่ได้เดินตามเพราะคุณครูหรอกนะ  แต่เพราะเห็นว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้เขาพากันเรียงแถวเข้าไปในคอกของอัลปาก้า ต่างหาก

อัลปาก้า เป็นสัตว์จากทวีปอเมริกาใต้ มีถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเทือกเขาสูงในแถบประเทศเปรู-โบลิเวีย ถือเป็นสัตว์ประจำชาติของเปรู ที่ทางฟาร์มนำเข้ามาก็เพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่รูปร่างหน้าตาน่ารัก คล้ายกับเป็นสัตว์หลายชนิดมาผสมกันอยู่ในตัวเดียว  นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสแตะต้องได้ ที่สำคัญสุดก็คือ มีอยู่ที่สมอลล์ฟาร์มแห่งเดียวในประเทศไทย”  คุณณัฐพล สุ่มสมบูรณ์ ผู้ดูแลสมอลล์ฟาร์ม เคยบอกเล่าถึงการตัดสินใจนำสัตว์ชนิดใหม่นี้เข้ามา ผมยังจำได้ดี

“เด็ก ๆ รู้ไหมนี่ตัวอะไร” คุณครูถาม

“นกกระจอกเทศ” เสียงหนูน้อยคนหนึ่งว่า ผมได้ยินแล้วต้องอมยิ้ม สงสัยเด็กเห็นว่าคอยาว ๆ เหมือนกัน

“ยีราฟ”  “แกะ” ต่างคนต่างส่งเสียงแข่ง ไม่มีใครยอมใคร

“ไม่ใช่จ้ะ เขาเรียกอัลปาก้า” ครูบอก แต่พอได้เข้าไปใกล้ เด็ก ๆ ดูเหมือนจะไม่สนใจแล้วละ ว่ามันเรียกว่าอะไร   บ้างก็เอาผักบุ้งที่คุณครูแจกส่งให้กิน บ้างก็เข้าไปลูบหัวลูบหาง เจ้าอัลปากาก็ยืนนิ่งปล่อยให้ลูบตามสบาย เรียกว่ามนุษยสัมพันธ์ดี สมกับเป็น “ซูเปอร์สตาร์” ประจำฟาร์ม

“ขนนุ่มด้วย” เด็ก ๆ พากันชอบใจ

ปกติขนของอัลปาก้าจะปุกปุยสวยงามฟูฟ่อง ขนาดนำเอาไปใช้เป็นเส้นใยทอเป็นผ้าได้ครับ  แต่พอมาอยู่เมืองไทยอากาศค่อนข้างร้อน เจ้าอัลปาก้าก็เลยมีนิสัยชอบลงไปนอนคลุกเคล้าในปลักโคลน จนขนเลอะเทอะไปหมด ทางฟาร์มต้องคอยจับอาบน้ำอยู่บ่อย ๆ   รวมทั้งตัดขนให้สั้นลงบ้างจะได้ไม่ร้อน 


            ระหว่างบรรดาหนูน้อยกลุ่มแรกเพลินอยู่กับอัลปาก้า  ผมลองเดินไปดูอีกกลุ่มในลานแสดงสัตว์ดูบ้าง เพราะบนลานกว้างใหญ่ที่กั้นเป็นคอกด้วยรั้วสีขาว เป็นจุดที่ฟาร์มนำสัตว์นานาชนิดที่มีอยู่มารวมไว้ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส

เข้าไปถึงก็เห็นเด็ก ๆ กำลังเข้าแถวขึ้นขี่หลังเจ้าวัวโลว์ไลน์แองกัส สีดำทะมึนกันอยู่ วัวชนิดนี้เป็นวัวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เป็นพิเศษมาจากต่างประเทศให้เป็นวัวไม่มีเขา ตัวเล็กเพราะกระดูกเล็ก แต่มีเนื้อมากกว่าวัวธรรมดา รูปร่างหน้าตาเลยออกไปทางเตี้ยม่อต้อ หน้าตาก็มู่ทู่ ดูน่ารักไปอีกแบบ แถมยืนนิ่งได้นาน ๆ ไม่ค่อยไปไหน ใครไปใครมาจึงมักจะมาขอเข้าคิวขี่หลังถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน



 ริมรั้วไม่ไกลกัน เป็นคอกของวัวขาวลำพูน วัวพื้นเมืองที่เป็นดาราระดับ “พระเอก” อีกตัวของฟาร์ม พระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็คัดเลือกไปจากที่นี่แหละครับ ด้วยความที่เป็นวัวหายากสีขาวปลอดตลอดตัว เข้าประกวดคว้ามาหลายรางวัล แม้ขังไว้ในคอก แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตสะดุดตา จึงเป็นอีกตัวที่เด็ก ๆ ชื่นชอบกันมาก พากันไปเกาะรั้วดูใกล้ ๆ บ้างก็พยายามส่งฟางแห้ง ๆ ให้วัวกิน รอบ ๆ รั้วยังมีคอกของบรรดาม้าแกลบเรียงรายอยู่เป็นที่สนใจของเด็ก ๆ ไม่น้อยเช่นกัน 


 ไม่ใช่มีแต่สัตว์ใหญ่ ๆ เท่านั้นครับ ใบลานยังมีฝูงแพะขนาดน้อยใหญ่อีกหลายตัว ซึ่งก็เป็นขวัญใจของเด็ก ๆ อีกเหมือนกัน เพราะค่อนข้างเชื่องคน จะจับเขาลูบหัวลูบหางยังไงไม่มีหวั่น ยิ่งใครที่ถือผักบุ้งอันเป็นอาหารโปรดของมันด้วยแล้วละก็ เจ้าแพะจะเข้าไปกระแซะอย่างใกล้ชิดทีเดียว ดังนั้นนอกจากจะเห็นเด็ก ๆ รุมล้อมเจ้าแพะแล้ว บางครั้งก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเจ้าแพะมารุมล้อมเด็ก ๆ (ที่ถืออาหาร) บ้างเหมือนกัน

ครึ่งค่อนวันเชียวละครับที่เด็ก ๆ ใช้เวลาสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่กับบรรดาสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย



 ความจริงไม่ใช่แต่เด็กเล็ก ๆ  เท่านั้น ที่มาท่องเที่ยว  ตลอดช่วงเวลาที่ผมพักค้างอ้างแรมอยู่ สังเกตเห็นว่าตั้งแต่เช้ายันเย็นคนที่มาเยี่ยมเยือนสมอลล์ฟาร์ม  มีทุกเพศทุกวัยจริง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษา กลุ่มเพื่อนวัยรุ่นที่มาเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ หาที่ถ่ายภาพแปลกใหม่ กลุ่มหนุ่มสาวที่จูงมือกันมากระหนุงกระหนิงเปลี่ยนบรรยากาศ หรือแม้แต่กลุ่มครอบครัวใหญ่



น่าเสียดายครับ นักท่องเที่ยวไม่น้อยแวะมาเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็ผ่านเลยไป ถ้าอยากให้ได้บรรยากาศความเป็นฟาร์มอย่างแท้จริงต้องลองพักแรมภายในบริเวณของฟาร์มดู  เพราะจะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละช่วงเวลาต่าง ๆ ของฟาร์มที่มาในช่วงเวลาปกติจะไม่มีโอกาสได้เห็น เช่นในยามเช้าที่สายหมอกคลอเคลียท้องทุ่งท่ามกลางแสงสีทอง  หรือยามย่ำสนธยาที่แสงสุดท้ายเหนือท้องฟ้าสะท้อนผืนน้ำ บ้านพักแบบคาวบอยในแสงไฟยามค่ำ ยามนอนที่ขับกล่อมด้วยเสียงของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ในฟาร์ม

เหล่านี้เป็นความทรงจำประทับใจที่จะพกพาเอากลับไปรำลึกถึงเมื่อยามอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยไฟแสงสี


 รู้จักอย่าลืมทักทาย

อากาศยามสาย ๆ ยังหนาวเย็น แสงแดดก็ยังคงสาดส่องจัดจ้าเหมือนกับทุกวันที่ผ่านมา ต่างกันตรงที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ผมต้องอำลาฟาร์มน้อย ๆ ในฝันแห่งนี้ กลับสู่ความศิวิไลซ์ของเมืองกรุง
  
ขณะกำลังหอบหิ้วสัมภาระเตรียมตัวไปขึ้นรถกลับบ้าน ผ่านไปทางบริเวณคอกของเจ้าอัลปากาดาราดังของฟาร์มที่ยังคงก้ม ๆ เงย ๆ เล็มหญ้าอย่างไม่สนใจว่าใครจะไปใครจะมา  แลเห็นนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เข้ามาเที่ยวพากันเกาะรั้วยืนดูด้วยความสนใจ แว่วเสียงพูดคุยลอยตามลมมา
   
นี่มันตัวอะไรน่ะ “จามจุรี”  รึเปล่า”

“บ้าสิ เขาเรียก”จามรี” ไม่ใช่เหรอ จามจุรีนั่นมันต้นไม้”

“ ไม่ก็ “ลามะ”  ละมั้ง เอ๊ะ... เขาเรียกว่าอะไรนะ ลามะ หรือลามา”

“สงสัย “ลามา” มากกว่า “ลามะ”  รู้สึกว่าจะเป็นพระธิเบตนะ...”

ได้ยินแล้วก็อดไม่ได้ครับที่จะต้องแอบขำกับบทสนทนาที่ได้ยินได้ฟังโดยบังเอิญอีกตามเคย   ดูเหมือนอายุมากขึ้นประสบการณ์มากขึ้น ก็จะยิ่งมีชื่อสัตว์แปลก ๆ รวมทั้งวิธีคิดที่แตกต่างออกไป มาเดามาทายได้ลึกล้ำมากขึ้นตามวัยครับ  

แต่เท่าที่ผมเห็นมาตลอดหลายวันที่อยู่ในฟาร์มนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ยังไม่มีใครเรียกถูกสักคน  ลองมายืนรอฟังดูสิครับ แต่ละคนที่มาก็เรียกแตกต่างกันไป แล้วแต่จะนึกว่าเป็นตัวอะไร สนุกดีเหมือนกัน ทั้งที่ความจริงป้ายบอกชื่ออัลปาก้าเขาก็มีอยู่ แต่อาจไม่มีใครสังเกตเห็น เพราะไปติดรวมกันอยู่ที่เสาอีกด้าน
            
            ดูท่าจะมีก็แต่คนที่อ่านอนุสาร อ.ส.ท.ฉบับนี้แหละครับ ที่มาถึงปุ๊บ รับรองต้องรู้ว่าชื่อของมันคืออะไร เรียกไม่ผิด ไม่มีการปล่อยไก่แน่นอน รับรองได้

ไหน ๆ ก็รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันอยู่แล้ว หนาวนี้ถ้ามีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวผ่านมาทางเชียงใหม่ ยังไงก็อย่าลืมแวะมาทักทายเจ้า “อัลปาก้า” ที่สมอลล์ฟาร์มด้วยก็แล้วกันครับ


คู่มือนักเดินทาง 

สมอลล์ ฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ หมู่ ๒๑ ตำบลบ้านหลวง  อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๖๐ จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ (ถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง)  เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๐๙ ทางขึ้นดอยอินทนนท์ ประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางบ้านเมืองกลาง จะเห็นฟาร์มอยู่ทางขวามือ โทรศัพท์ ๐ ๕๓๐๓ ๓๐๖๘   ในบริเวณฟาร์มมีห้องพักให้บริการทั้งหมด ๓ แบบ รวม ๑๔ ห้อง บ้านหลังใหญ่พักได้ห้องละ ๔ คน ราคาวันละ ๓,๕๐๐ บาท บ้านแฝด ๑ และ ๒ พักได้ห้องละ ๔ คน ราคาวันละ ๓,๐๐๐ บาท ห้องเดี่ยว  (มี ๑๑ ห้อง) พักได้ห้องละ ๒ คน  ราคาวันละ ๒,๕๐๐ บาท ราคานี้รวมค่าอาหารเช้า และค่ากิจกรรมต่าง ๆ ในฟาร์ม  เพิ่มที่นอนเสริมเพิ่ม ๓๕๐ บาทต่อคน (รวมอาหารเช้า) กรณีแวะมาเที่ยวชมเฉย ๆ ไม่ได้พักแรมในฟาร์ม คิดค่าบัตรผ่านประตูในอัตราเด็ก ๒๐ บาท ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท บัตรผ่านประตูใช้แลกเป็นคูปองสำหรับเลือกเล่นกิจกรรมขี่ม้าหรือนั่งรถม้าเที่ยวชมฟาร์มได้ด้วย กิจกรรมอื่น ๆ ภายในฟาร์มไม่คิดค่าบริการ 

ค่าพิกัด GPS N๑๘ องศา  ๒๘ ลิปดา ๔๒.๙ พิลิปดา  E๐๙๘ องศา ๔๐ ลิปดา ๐๐.๑ พิลิปดา 
 

ขอขอบคุณ คุณรุ่ง จันตาบุญ ร้อยตรีนายสัตวแพทย์ณัฐพล สุ่มสมบูรณ์ คุณครูประภาพร ไชยวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้อำนวยความสะดวกให้สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น