วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทัศนาจรตามทางละคร "รอยไหม"

 บนถนนสายอลังการแดนล้านนา
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕



หลายปีมานี้ละครซีรีส์เกาหลี (ใต้) ทางโทรทัศน์ได้รับความนิยมมากในบ้านเราครับ

 ผู้ชมหน้าจอต่างติดตามชมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่ว่าจะมาในแนวไหน อิงประวัติศาสตร์ ตลกขบขัน แอ็คชันกำลังภายใน รักหวานซึ้ง หรือชีวิตดรามาน้ำตาท่วมจอ  ด้วยเรื่องราวที่นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ การถ่ายทำที่ประณีตและงดงามด้วยแสงเงา องค์ประกอบ และดนตรี

สิ่งที่ชื่นชมกันไม่ขาดปากอีกอย่างหนึ่งคือ ละครเกาหลีแต่ละเรื่องช่วยนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของเกาหลีทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองไทยเรานี่ ผู้ชมไทยที่ดูละครเกาหลีมักอยากตามไปเที่ยวดูสถานที่ถ่ายทำ ด้วยความประทับใจจากเรื่องราวในละคร จนทำให้พักหลังนี้ทัวร์เกาหลีขายดีผิดหูผิดตา

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าละครไทยเราสู้เกาหลีไม่ได้ในประเด็นหลังนี้ครับ ส่วนหนึ่งเพราะละครไทยเราทางโทรทัศน์ โดยมากเนื้อหาหนักไปทางแย่งมรดก ชอบเน้นฉากคฤหาสน์หลังมหึมาหรูหรา บ้านพระเอกนางเอกบ้าง บ้านตัวร้ายบ้าง ขับรถเก๋งคันใหญ่ เข้า ๆ ออก ๆ กัน วันละหลายต่อหลายรอบ หรือไม่ก็ฉากนางเอกนางร้ายตบตีห้ำหั่นกันด้วยกำลังและเชือดเฉือนกันด้วยฝีปากตะไกร แย่งชิงพระเอกมหาเศรษฐีที่มีมรดกร้อยล้านพันล้าน หรืออะไรทำนองนี้มากกว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวมากนัก  พูดให้เป็นภาษาเกาหลีก็ต้องบอกว่า ยุงบินชุม (เพราะน้ำเน่า) นั่นแหละ 

แต่ละครไทยคุณภาพดี ๆ ก็ยังมีอยู่  โดยเฉพาะปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้มีอยู่เรื่องหนึ่งครับที่โด่งดังตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ สร้างความฮือฮาปลุกกระแสความสนใจในด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง พอจะนึกออกแล้วใช่ไหมครับ ถ้ายัง บอกใบ้ให้หน่อยนึงก็ได้ สิ่งหนึ่งในเรื่องนี้ที่หลายคนจำได้ติดตา คือ “ผีอีเม้ย” ที่แต่งหน้าตาได้น่าเกลียดน่ากลัว อีกทั้งท่วงทีลีลาในการราวีคู่ปรับยังร้ายกาจเหลือหลายอีกต่างหาก

 ใช่แล้วครับ ละครเรื่อง “รอยไหม” นั่นเอง  

 ความโดดเด่นที่ประทับใจใครต่อใคร อยู่ที่การเลือกใช้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งของภาคเหนือเป็นสถานที่ถ่ายทำ ความอลังการงดงามตระการตาของสถาปัตยกรรม บ้านเรือน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตพื้นบ้านทางภาคเหนือ ทำให้ผู้ได้ดูได้ชมละครเรื่องนี้จำนวนไม่น้อยติดตาตรึงใจ อยากไปดูไปเห็นแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นสถานที่ถ่ายทำกัน หลายคนเชียวละครับที่มาถามผมว่า ที่เห็นในละครนั่นน่ะ ที่ไหน  น่าไปเที่ยวจังเลย ขนาดละครจบไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังมีคนถามถึงอยู่จนบัดนี้

ก็เลยต้องพามาทัศนาจร ตามละครรอยไหม ให้รู้กันไปครับ


สายใยรักข้ามเวลาบนผืนผ้าทอ

นวนิยาย “รอยไหม” เป็นบทประพันธ์ของนายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ  เคยลงตีพิมพ์ในนิตยสารพลอยแกมเพชรเป็นตอน ๆ ก่อนจะมีการรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กในเวลาต่อมา และได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติในปีพ.ศ. ๒๕๕๑  มีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จัดเป็นนวนิยายขายดีอีกเรื่องหนึ่ง ก่อนจะนำมาสร้างเป็นละครทางโทรทัศน์ทางช่อง ๓ อย่างที่เราได้ดูได้ชมกัน  (ออกอากาศทุกวันจันทร์ - อังคาร ตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๔) 

ในนวนิยายนั้น ผู้ประพันธ์ได้แต่งให้เกิดขึ้นในเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ทว่าเมื่อนำมาสร้างเป็นละครเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์  คุณพงศ์พัฒน์ วชิรบรรจง ผู้กำกับการแสดงได้ขออนุญาตเจ้าของบทประพันธ์ดัดแปลงเนื้อเรื่อง ปรับเปลี่ยนสถานที่ในเนื้อเรื่องให้มาเกิดขึ้นที่เชียงใหม่แทนเพื่อความเหมาะสมในการถ่ายทำ 

ละครรอยไหมเล่าถึงเรื่องราวของโศกนาฏกรรมความรักที่ไม่สมหวังในอดีตกาล  ผูกพันเชื่อมโยงข้ามภพชาติและกาลเวลานับหลายทศวรรษ ผ่านเส้นไหมบนผืนผ้า จะว่าไปช่างเหมาะสมกับช่วงเวลาเดือนกุมภาพันธ์อันเป็นช่วงเวลาเทศกาลแห่งความรักอย่างในตอนนี้เสียจริงครับ 


เรื่องย่อ ๆ ก็มีอยู่ว่าเรริน หญิงสาวผู้มีความสามารถในการทอผ้า เกิดความผิดหวังในตัวธนินทร์ คู่หมั้นของเธอที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายหมั้นหมายกันไว้ เพราะเขาแอบนำเอาผลงานผ้าทอของเธอไปขายโดยไม่บอกกล่าว  จึงออกเดินทางท่องเที่ยวทางภาคเหนือเพื่อสงบสติอารมณ์ ระหว่างทางเธอได้แวะชมศิลปะการทอผ้ารายทาง ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เรรินได้พบกับสุริยวงศ์ ชายหนุ่มที่หลงรักเธอตั้งแต่แรกพบ เขาได้ชวนให้เธอติดรถของเขากลับเข้าเมืองเชียงใหม่ มาพักในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง คืนแรกที่พัก เรรินได้พบกับชายหนุ่มท่าทางสุภาพภูมิฐานคนหนึ่ง มาร้องเรียกและแสดงความยินดีที่เธอกลับมา ราวกับว่าเคยรู้จักกันมาเนิ่นนาน  ทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจ

เรรินพบว่ารีสอร์ตที่เธอพักเป็นของวันดารา พี่สาวของสุริยวงศ์นั่นเอง   ต่อมาเมื่อชายหนุ่มทราบว่าเธอสนใจผ้าทอโบราณ จึงอาสาพาไปพบกับย่าของเขาคือหม่อมบัวเงิน เพื่อชมผ้าทอโบราณจำนวนมากที่ย่าของเขาเก็บเอาไว้ แต่เมื่อพบหน้ากัน ย่าของสุริยวงศ์กลับตกใจ พร้อมทั้งแสดงความเกลียดชัง ด่าทอขับไล่เรรินอย่างรุนแรง  สร้างความงุนงงให้กับทั้งสองคนอย่างมาก

เรรินได้ไปเที่ยวชมกับผ้าทอโบราณอันงดงามมากมายที่พิพิธภัณฑ์ผ้าเก็ดถะหวา  เธอรู้สึกผูกพันกับผ้าทอจากเชียงตุงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผ้าของเจ้านางมณีรินที่มีเรื่องราวเล่าขาน ภัณฑารักษ์สาวเห็นเรรินสนใจเรื่องผ้ามากเป็นพิเศษจึงพาไปชมผ้าโบราณผืนหนึ่งที่ยังทอค้างอยู่บนกี่ ทันทีที่ได้เห็น เรรินก็ตกอยู่ในภวังค์ ถึงกับนั่งลงทอผ้าผืนนั้นต่อทันที  จากนั้นชายหนุ่มท่าทางสุภาพภูมิฐานที่เคยมาร้องเรียกเธอที่รีสอร์ตได้มาปรากฏตัวต่อหน้าเธออีกครั้ง ก่อนบอกกับเธอว่าเขาคือเจ้าศิริวัฒนา

  

 เหมือนกับข้ามสู่อีกมิติเวลา เรรินได้รับรู้ถึงเรื่องราวของเจ้านางมณีริน เจ้าหญิงเชียงตุงที่ถูกส่งมาอภิเษกกับเจ้าศิริวัฒนา  โดยที่ไม่ได้เต็มใจ เจ้านางมณีรินแอบหนีออกจากคุ้มเจ้าหลวงพร้อมกับนางคำเที่ยง พี่เลี้ยงคนสนิทไปเที่ยวตลาด ได้พบกับชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งที่ถูกอัธยาศัยและรักกัน ก่อนที่เจ้านางจะได้รู้ว่าชายคนนั้นคือเจ้าศิริวงศ์ น้องชายของเจ้าศิริวัฒนา ส่วนเจ้าศิริวงศ์ก็ได้รู้ว่าหญิงสาวที่ตนหลงรักคือเจ้านางมณีริน เจ้านางน้อยแห่งเชียงตุงซึ่งถูกส่งมาแต่งงานกับพี่ชาย

ในขณะเดียวกันหม่อมบัวเงิน หม่อมของเจ้าศิริวัฒนา เมื่อรู้ว่าเจ้านางมณีรินมาเพื่อแต่งงานกับเจ้าศิริวัฒนาก็เคียดแค้น คิดหาทางกำจัด เมื่อเจ้าหลวงและพระชายามอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยง สอนการทอผ้าให้กับเจ้านางมณีริน  ก็ได้ทีถือโอกาสกลั่นแกล้ง ดูถูก ต่าง ๆ นาๆ แต่ผลงานทอผ้าของเจ้านางมณีรินกลับนับวันยิ่งงดงามเป็นที่พอใจของเจ้าหลวงและพระชายา 

ในงานถวายผ้าห่มพระธาตุ เจ้าหลวงและพระชายาสั่งให้หม่อมบัวเงินและเจ้านางมณีรินทอผ้าแข่งกัน หม่อมบัวเงินใช้กลอุบายทำให้เจ้านางมณีรินไม่มีฝ้ายใช้ในการทอผ้า ทว่าเจ้าศิริวงศ์ก็ช่วยเหลือหาฝ้ายมาให้จนได้ในที่สุด ผลการแข่งขันเจ้านางมณีรินเป็นฝ่ายชนะ ได้ถวายเป็นผ้าห่มองค์พระธาตุ ด้วยฝีมือการปักลายแบบเชียงตุงที่แปลกตาสวยงามแตกต่างออกไป ทำให้หม่อมบัวเงินยิ่งแค้นเจ้านางมณีรินมากขึ้น


 ต่อมาอีเม้ย บริวารคนสนิทของหม่อมบัวเงินแอบใส่งูเห่าในตะกร้าดอกไม้หวังฆ่าเจ้านางมณีริน ทว่าเจ้าศิริวงศ์มารับเคราะห์แทน แต่เจ้านางมณีรินก็ดูดพิษช่วยชีวิตเอาไว้ได้ ส่งผลให้ทั้งสองยิ่งผูกพันกันมากขึ้น  อีเม้ยยังอาสาทำเสน่ห์ยาแฝดใส่เจ้าศิริวัฒนาจนล้มป่วยหนัก หากแต่เจ้าศิริวงศ์และเจ้านางมณีรินก็ช่วยกันแก้ไขได้สำเร็จ  อีกครั้งหนึ่งที่เจ้าหลวงป่วยหนัก เจ้านางมณีรินทำอาหารถวายจนเจ้าหลวงอาการดีขึ้นและมอบหมายให้ดูแลเรื่องอาหารต่อไป หม่อมบัวเงินจึงถือโอกาสแอบใส่ยาพิษลงในอาหารที่ถวาย หวังฆ่าเจ้าหลวงและใส่ความมณีรินไปในตัว แต่ถูกจับได้ อีเม้ยยอมรับสมอ้างเป็นคนทำแทนหม่อมบัวเงิน แล้วชิงฆ่าตัวตาย โดยก่อนตายได้สัญญาว่า แม้จะเป็นผีก็จะติดตามรับใช้หม่อมบัวเงินตลอดไป

เมื่อเป็นผี อีเม้ยก็ได้สืบรู้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของเจ้าศิริวงศ์กับเจ้านางมณีริน หม่อมบัวเงินนำเรื่องนี้ไปบอกเจ้าศิริวัฒนา ซึ่งได้ผล เจ้าศิริวัฒนาโกรธสุดขีด อาละวาดกับเจ้าศิริวงศ์และเจ้านางมณีริน ทว่าเมื่อทั้งสองยอมรับและขอร้องให้เห็นใจในความรัก เจ้าศิริวัฒนาก็กลับเย็นลง เหมือนกับจะทำใจได้


 ต่อมาในวันสงกรานต์ เจ้าศิริวงศ์นัดพบกับเจ้านางมณีริน ผีอีเม้ยเข้าสิงเจ้าศิริวัฒนา ติดตามไปจนพบทั้งคู่ และฆ่าเจ้าศิริวงศ์ตาย  เจ้านางมณีรินเสียใจอย่างมากถึงขนาดจะฆ่าตัวตายตาม แต่เจ้าศิริวัฒนาซึ่งรู้สึกผิด อ้อนวอนขอโอกาสไถ่บาป ด้วยการแต่งงานเพื่อดูแลเจ้านางมณีรินอย่างดีที่สุด โดยขอให้มณีรินทอผ้าตุ๊มที่ใช้ในพิธีแต่งงาน เจ้านางมณีรินก็ยอมทำตาม เพราะตั้งใจจะใช้ผ้าผืนนี้ผูกคอตายตามเจ้าศิริวงศ์ไป แต่หม่อมบัวเงินกลับเข้าใจว่าเจ้านางมณีรินเร่งทอผ้าทั้งวันทั้งคืนเพื่อจะแต่งงานกับเจ้าศิริวัฒนาให้ได้ จึงโกรธจัด จับเจ้านางมณีรินกรอกยาพิษ จนสิ้นใจคากี่ซึ่งยังทอผ้าไม่เสร็จนั่นเอง หลังจากเจ้านางมณีรินตาย ไม่นานเจ้าศิริวัฒนาก็ตรอมตรมใจจนสิ้นลมตายตามไปอีกคน

แม้เวลาผ่านไปแล้วถึงเจ็ดสิบปี หม่อมบัวเงินยังคงความเคียดแค้นแน่นในใจ เมื่อพบเรรินและรู้ว่าเป็นเจ้านางมณีรินกลับชาติมาเกิดใหม่ จึงพยายามขัดขวางไม่ให้เรรินทอผ้าผืนนั้นเสร็จอีก แต่เรรินก็ทอจนสำเร็จ เพราะต้องการปลดปล่อยวิญญาณของเจ้าศิริวัฒนา หม่อมบัวเงินแค้นมากจึงออกอุบายใช้น้ำชานำพาผีอีเม้ยเข้าสิงธนินทร์ คู่หมั้นของเรริน แล้วสั่งให้จับตัวเรรินไปฆ่าที่น้ำตก

 เรรินถูกธนินทร์จับกดน้ำจมหายไปต่อหน้าหม่อมบัวเงิน สุริยวงศ์มาถึงพอดี ธนินทร์เข้าขัดขวางไม่ให้ช่วย แต่พลาดท่าถูกสุริยวงศ์ผลักเสียบกับกอไม้ไผ่ตายคาที่ ทำให้ผีอีเม้ยที่สิงสู่สูญสลายไป สุริยวงศ์ดำน้ำลงไปช่วยเรรินขึ้นมาได้ หม่อมบัวเงินเห็นหลานชายรักเรรินมากกว่าตนเองก็แค้นใจยิ่งขึ้นอีกจนกระอักเลือดตาย เรรินถูกนำส่งโรงพยาบาล แม้รอดชีวิตปลอดภัยทว่าสูญเสียความทรงจำ สุริยวงศ์อาสารับดูแลเรรินในสภาพที่ปราศจากความทรงจำ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้นำผ้าทอซึ่งเป็นมรดกของหม่อมบัวเงินมาให้เรรินดู ความทรงจำของเธอจึงหวนกลับคืนมา  ทั้งสองจึงได้ครองคู่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เป็นอันปิดฉากเรื่องราวรักรันทดข้ามกาลเวลาแต่เพียงเท่านี้   



 เชียงใหม่ในละครรอยไหม

แม้เหตุการณ์ในละคร”รอยไหม” จะถูกสมมติโดยผู้สร้าง ว่าเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทว่าเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ถ่ายทำที่เชียงใหม่แห่งเดียว ด้วยเหตุผลหลายประการ

โลเกชันในเชียงใหม่แท้ ๆ นั้นมีอยู่ ๔ แห่งด้วยกันครับ

 แห่งแรกที่ผมจะพาไปชมกันคือร้านอาหารบ้านสวน ซึ่งในเรื่องใช้เป็นฉากรีสอร์ตของวันดารา พี่สาวของสุริยวงศ์  ซึ่งเรริน นางเอกของเรื่องได้มาพักแรมนั่นเอง รีสอร์ตที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในเรื่องตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนจบ ถือว่าเป็นโลเกชันสำคัญแห่งหนึ่ง

เพราะรู้มาแค่คร่าว ๆ ว่าอยู่แถวสันผีเสื้อ ผมก็เลยต้องวนเวียนหลงไปไปหลงมาอยู่นานครับ ก่อนจะเห็นป้ายชื่อร้าน “บ้านสวน”  เล็ก ๆ ติดอยู่หน้าปากซอย ใกล้กับที่กลับรถใต้สะพาน ขับรถตามทางเข้าไปไม่นานประมาณกิโลกว่า ๆ  ก็เจอจนได้ ตัวร้านตั้งอยู่ลึกลงไปจากทางหลัก มีถนนทางเข้าเล็ก ๆ  ทอดผ่านเข้าไปใต้ร่มเงาไม้เขียวที่แวดล้อม เรียกได้ว่าบรรยากาศแบบบ้านสวนสมชื่อจริง ๆ  


 เดินเข้าไปด้านในก็พบกับศาลายอดแหลมสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ตั้งเด่นอยู่ใต้แมกไม้ร่มเงาเขียวครึ้ม ระเบียงด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ยิ่งตอนที่ผมมานี่เย็นย่ำแล้ว แดดร่มลมตกลมพัดโกรกเย็นสบาย  ไม่แปลกใจเลยเมื่อได้รู้ว่าเจ้าของและผู้ออกแบบร้านนี้คืออาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยปี ๒๕๔๗ 

“ที่นี่เป็นร้านอาหารอย่างเดียวครับ ไม่ได้เป็นรีสอร์ต  เป็นรีสอร์ต เฉพาะในละครเท่านั้นครับ” บริกรที่มารับออเดอร์บอกกับผมพร้อมกับหัวเราะชอบใจ เมื่อผมถามถึงห้องพักว่าอยู่ตรงไหน ดูท่าจะโดนถามมาหลายรอบเต็มที อย่างว่าละครับ ใครลองได้เห็นบรรยากาศสวย ๆ จากฉากในละครแล้วย่อมต้องอยากจะลองมาพักดูบ้างเป็นธรรมดา

ไหน ๆ มาแล้ว ผมก็ถือโอกาสสั่งอาหารมาเป็นมื้อเย็นเสียเลย ถึงแม้พักแรมไม่ได้ แต่แค่ได้มานั่งกินอาหารพื้นเมืองอร่อย ๆ ริมน้ำ ท่ามกลางสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์อันสวยงามที่เคยใช้เป็นฉากในละครโปรด ก็คุ้มค่าที่ดั้นด้นมาแล้วละครับ ยิ่งในยามพระอาทิตย์ตกดินในร้านเปิดไฟสว่างไสวยิ่งตระการตา อิ่มหนำสำราญแล้วถือโอกาสเดินเตร็ดเตร่ไปดูอาคารซึ่งใช้เป็นฉากถ่ายทำละครรอยไหมที่ตั้งอยู่ริมน้ำด้านในเป็นการแถมท้ายเสียหน่อย ดูแล้วก็หวนนึกไปถึงมุมที่เคยเห็นในโทรทัศน์ พอจะเข้าใจความรู้สึกพวกที่ชอบไปทัวร์เที่ยวดูโลเกชันซีรีย์เกาหลีขึ้นมาทันทีครับ  มันต่างจากตอนไปเที่ยวแบบธรรมดา ตรงที่มีเราประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวในละครนี่เอง


 ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันที่บ้านม่อนฝ้าย อีกหนึ่งโลเกชันที่ใช้เป็นฉากบ้านของหม่อมบัวเงินในวัยชรา เห็นแล้วผมรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับเคยมาแล้ว (อันที่จริงเห็นในละครนั่นแหละ)   อารมณ์คล้าย ๆ ระลึกชาติได้แบบนี้ จะว่าไปก็สนุกดีเหมือนกันครับ

บ้านหลังนี้เป็นของอาจารย์รำพัด โกฏแก้ว นักสะสมผ้าทอพื้นเมืองล้านนา บนเรือนไทยประยุกต์ใต้ถุนสูงแวดล้อมด้วยสีเขียวของพุ่มพรรณพฤกษ์ มองดูด้านหน้าเหมือนหลังเล็ก แต่เมื่อเดินขึ้นไปยังชั้น ๒  ถึงเห็นว่าเป็นเรือนไม้ใหญ่มหึมา ปลูกติดกัน ๓ หลัง กึ่งกลางเป็นศาลาโถง ห้องเล็ก  ๆ ห้องหนึ่งเต็มไปด้วยภาพถ่ายเก่าแก่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แขวนเรียงรายไว้บนผนังเต็มพรืด อีกห้องหนึ่งใกล้กันเป็นห้องจัดแสดงและเก็บชุดพื้นเมืองล้านนานับร้อย ใส่หุ่นไว้บ้าง ใส่ตู้เอาไว้บ้าง พาดเรียงราวไว้บนราวก็ไม่น้อย กลางห้องมีอัลบั้มเล่มใหญ่ใส่ภาพถ่ายจากการจัดงานพิธี รวมทั้งไว้ให้ชม

“เดินเข้าไปชมด้านในได้นะคะ” สาวน้อยที่นั่งก้มหน้าก้มตาอยู่กับผ้าทอโบราณบนชานเรือนเงยหน้าขึ้นมาบอกกับผมพร้อมรอยยิ้มหวาน ผมเลยไม่อาจขัดศรัทธา ดุ่มเดินผ่านซอกเล็ก ๆ เข้าไป บนฝาเรือนติดภาพถ่ายจากละครและภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ซึ่งเคยมาถ่ายทำที่บ้านม่อนฝ้าย เท่าที่เห็นผ่านตามี เมื่อดอกรักบาน  ชั่วฟ้าดินสลาย  หนึ่งใจเดียวกัน ฯลฯ  แน่นอนว่าละครที่ผมสนใจมองหามากที่สุดต้องเป็นรอยไหมเท่านั้น  



 ด้านในเป็นเรือนใหญ่อีกหลังกว้างขวาง โดยรอบเป็นศาลาจัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้แบบพื้นเมือง ตรงกลางชานกว้างใหญ่ใช้เป็นสถานที่จัดงาน เช่นงานแต่งงาน และงานพิธีต่าง ๆ  โดยเวลาจัดงานจะมีการจำลองกาดพื้นเมืองมาใช้เป็นซุ้มอาหาร ถือว่าสร้างบรรยากาศล้านนาโบราณได้น่าประทับใจ (อาศัยดูเอาจากภาพถ่ายที่ติดไว้น่ะครับ เพราะตอนที่ผมมานี่ยังไม่มีการจัดงานอะไร)

บ้านม่อนฝ้ายถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิต นอกเหนือจากเป็นสถานที่รับจัดงานแต่งงาน ให้เช่าชุดพื้นเมืองแล้ว  ยังเปิดให้นักเรียน นักศึกษามาทัศนศึกษาด้านประเพณีวัฒนธรรมด้วย  ผมเองเดินเล่นดูโน่นดูนี่เพลิน ๆ ไป เผลอแวบเดียวหมดไปครึ่งค่อนวันเชียวละครับ โดยเฉพาะเรือนด้านในบรรยากาศเหมือนในละครมาก จนบางทีผมรู้สึกคล้ายกับว่าเดิน ๆ ไปอาจจะเจอกับหม่อมบัวเงินนั่งอยู่ก็ได้ (ความจริงหม่อมบัวเงินนะไม่เท่าไหร่ กลัวแต่จะเจอผีอีเม้ยนี่แหละ มีหวังได้วิ่งกันเรือนทลาย แหะ แหะ) 



 โลเกชันอีกแห่งในเชียงใหม่คือวัดโพธารามหรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด อยู่ไม่ไกลจากบ้านม่อนฝ้ายนัก   ใช้ถ่ายทำฉากงานศพของแม่อุ๊ยคำเที่ยง บริวารคนสนิทของเจ้านางมณีริน  ซึ่งเรรินนางเอกของเรื่องได้ไปร่วมในงาน แล้วยังไปไหว้พระร่วมกับสุริยวงศ์ พระเอกในชาติปัจจุบัน รวมทั้งยังใช้เป็นฉากตลาดพื้นเมืองล้านนาหลายฉากด้วย

คงรู้กันดีอยู่แล้วนะครับว่าวัดนี้เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้เกิดปีมะเส็ง แต่ความสำคัญของวัดนี้ยังมีอีกหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพญาติโลกราช โดยถ่ายแบบมาจากมหาเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ต่อมาพระองค์ได้แบ่งมหาโพธิ์จากศรีลังกาที่วัดป่าแดงหลวงนำมาปลูกที่วัดนี้ด้วย เป็นที่มาของชื่อวัดโพธาราม นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพพญาติโลกราชอีกด้วย
  
ความจริงในวัดมีโบราณสถานน่าชมหลายแห่งครับ งาม ๆ ทั้งนั้น นอกจากเจดีย์เจ็ดยอดแล้วยังมีสัตตมหาสถาน ซุ้มประตูโขงที่งดงามอลังการ แปลกตรงที่ความรู้สึก “อิน” ของผมเองกับวัดเจ็ดยอดไม่เท่ากับโลเกชันอื่น ๆ ที่ผ่านมา จะว่าเป็นเพราะเรื่องราวในละครช่วงถ่ายทำที่วัดเจ็ดยอดเป็นฉากย่อย ๆ ไม่ค่อยมีความสำคัญในเรื่องเท่าไหร่ ก็ไม่น่าจะใช่ บางทีอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของทางวัดที่มีการกางเต็นท์ใหญ่ไว้กลางวัด ดูขัดหูขัดตา ไหนจะอาคารสมัยใหม่ที่รายรอบ ไหนจะเสียงอึกทึกคึกโครมจากรถยนต์ที่แล่นกันอยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์  ของแบบนี้บางทีมันก็ทำลายอารมณ์สุนทรีย์ไปได้ไม่น้อยเหมือนกันครับ


ต่างกันลิบลับกับตอนผมไปถึงวัดอินทราวาส หรือวัดต้นเกว๋น ที่อำเภอหางดง โลเกชันอีกแห่งซึ่งเป็นแห่งสุดท้ายที่อยู่ในเชียงใหม่  ที่นี่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากสำคัญที่สุดตอนหนึ่งของเรื่อง  คือฉากตลาดนัดพื้นเมืองล้านนาในอดีตกาล  ช่วงเวลาที่เจ้านางมณีรินได้ชวนนางคำเที่ยงบริวารคนสนิทแอบหนีออกจากคุ้มเจ้าหลวง มาเที่ยวในตลาด แล้วได้พบกับเจ้าศิริวงศ์เป็นครั้งแรก

ถือเป็นฉากโรแมนติคที่ประทับใจผู้ชมมาก ๆ ฉากหนึ่ง

ความงดงามของสถาปัตยกรรมนั้นไม่ต้องพูดถึงครับ จุดเด่นคือพระวิหาร ศาลาราย และมณฑป เป็นศิลปะของล้านนาแท้ ๆ ที่หาดูได้ยาก โดยเฉพาะวิหารได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี ๒๕๓๒ แถมยังเป็นต้นแบบของหอคำหลวงในงานมหกรรมพืชสวนโลกอีกด้วย มณฑปจัตุรมุขเองก็เป็นแบบพื้นเมืองล้านนาแท้เหลือให้ดูชมเพียงหลังเดียวในโลก
   
 พอมาผสมผสานกับบรรยากาศเงียบสงบของวัดแบบชนบท ที่แวดล้อมด้วยแมกไม้เขียวชอุ่ม ไม่มีสิ่งแปลกปลอมของสมัยใหม่มารบกวน  เมื่อใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำเป็นตลาดเลยได้บรรยากาศสมจริงสมจังเหมือนกับได้ย้อนเวลาไปเดินอยู่ในตลาดล้านนาโบราณจริง ๆ 

ก็ขนาดไม่ได้มีฉากตลาด ผมเดินไปเดินมาอยู่ในบริเวณวัด ยังรู้สึกคล้ายกับว่าเดินอยู่ในอดีตกาลเมื่อหลายร้อยปีก่อนเลย   




 ลำพูน ลำปาง และแพร่ อลังการแห่งล้านนาแท้ในรอยไหม

ในละคร “รอยไหม” มีหลายฉากเลยละครับที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ที่ชมละครทางโทรทัศน์อย่างมาก  เพราะว่าตามเนื้อเรื่องละครบอกว่าอยู่ในเมืองเชียงใหม่ หลายคนที่เคยไปมาแล้ว ก็เลยตื่นเต้น ว่า เฮ้ย... มีสถานที่แบบนี้ด้วยเหรอ ไปเที่ยวเชียงใหม่หลายรอบแล้ว ทำไมไม่เคยเห็นเลย

ความจริงแล้วบางฉากนั้นไม่ได้ถ่ายในเชียงใหม่จริง ๆ หรอกครับ แต่ถ่ายในจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนาเหมือนกัน เมื่อตัดต่อเข้าด้วยกันเลยผสมกลมกลืนได้อย่างลงตัว ดูเหมือนว่าอยู่ในเชียงใหม่แท้ ๆ เราลองมาตามดูกันดีกว่าว่าฉากเด็ดเหล่านั้นอยู่ที่ไหนกันบ้าง

ฉากหนึ่งที่ผู้ชมจดจำติดตา คือฉากสำคัญงานพิธีห่มผ้าพระธาตุ อันสุดอลังการด้วยสถาปัตยกรรมและบรรยากาศสภาพแวดล้อมโอฬาริกที่สุดตอนหนึ่ง ในเรื่องสมมติให้เป็นพระธาตุกลางเมืองเชียงใหม่ แต่สถานที่ถ่ายทำที่แท้จริงคือ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ครับ

คงจำกันได้ในฉากนี้ “เจ้านางน้อย” มณีรินทอผ้าสำหรับห่มองค์พระธาตุแข่งกับหม่อมบัวเงิน เสร็จแล้วต่างฝ่ายต่างนำผ้าที่ทอมาวางให้เจ้าหลวงและพระชายาพิจารณาเลือกนำขึ้นห่มองค์พระธาตุที่วัด  ซึ่งระทึกใจมาก เนื่องจากก่อนหน้าเจ้านางมณีรินถูกกลั่นแกล้งจนเกือบทอผ้าไม่เสร็จทันเวลา เรียกว่ามาแบบนาทีสุดท้ายก็ว่าได้ ในขณะที่หม่อมบัวเงินตัวร้ายมีเวลาทอเหลือเฟือ จึงเป็นเรื่องที่ต้องลุ้น  แต่ท้ายที่สุดเจ้านางมณีรินก็เป็นฝ่ายชนะ ได้รับเลือกนำผ้าที่ทอขึ้นห่มองค์พระธาตุ ในขณะที่ผ้าทอของหม่อมบัวเงินซึ่งเป็นฝ่ายแพ้ถูกนำไปห่มส่วนฐานของพระธาตุแทน กองเชียร์นางเอกสะใจไปตาม ๆ กัน

 มาชมฉากใหญ่บริเวณองค์พระธาตุที่ลำพูน ไหว้พระธาตุ อันเป็นพระธาตุเจดีย์ประจำปีระกา สักการะพระประธานในวิหารแล้ว ในอาณาบริเวณอันกว้างขวางของวัดเองยังมีสถาปัตยกรรมโบราณที่น่าสนใจอยู่มากมายให้ชมดู ไม่ว่าจะเป็นเขาพระสุเมรุจำลอง หอไตร และ เจดีย์เหลี่ยมที่จำลองแบบจากวัดจามเทวี  นอกจากนี้ยังศิลปกรรมโบราณที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ เจดีย์โบราณสมัยหริภุญไชย ในวัดเชียงยัน ที่อยู่ติดกันกับวัดพระธาตุหริภุญชัย กู่กุดและเจดีย์แปดเหลี่ยม ที่วัดพระนางจามเทวี

  ตัวเมืองลำพูนเองเป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่กว้างใหญ่ ใช้เวลาวันเดียวก็เที่ยวครบทุกแห่งได้ไม่ยากครับ ผมเองมาทีไรก็พยายามไปให้ครบ  ไหน ๆ มาแล้ว ต้องลองไปชมของจริง อลังการไม่แพ้ฉากในละคร  รับรองได้ ก็อย่างที่เขาว่ากันนั่นแหละ ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ของจริงก็ต้องสวยกว่าในละคร   (ว่าไปนั่น) 


  ฉากสำคัญอีกฉากในละครรอยไหมก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วัดพระธาตุหลวงแห่งนครเชียงใหม่ เป็นฉากที่เจ้านางมณีรินได้เสด็จนำขบวนข้าราชบริพาร พร้อมดอกไม้เงินดอกไม้ทองอันเป็นเครื่องราชบรรณาการจากเมืองเชียงตุงบ้านเกิด  เข้ามาถวายตัวกับเจ้าหลวงแห่งนครเชียงใหม่ เพื่อทำการอภิเษกสมรสเป็นชายาของเจ้าศิริวัฒนา 

น่าจะเป็นฉากอันยิ่งใหญ่อลังการที่สุดในเรื่องครับฉากนี้ เพราะไหนจะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทั้งของเจ้านางและเหล่าบริวาร ข้าวของเครื่องใช้ประดามีที่นำมาเข้ามาในขบวนแห่  ฉากนี้ได้เลือกใช้วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นสถานที่ถ่ายทำ

ดูแล้วเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงครับ นอกจากความยิ่งใหญ่อลังการของสถาปัตยกรรมคือองค์พระธาตุ และวิหารหลวงแล้ว วัดนี้ยังมีพื้นที่กว้างขวาง สภาพแวดล้อมก็ยังไม่มีสิ่งแปลกปลอมของสมัยใหม่เข้ามารบกวนสายตา

แต่ถ้าจะให้ดี มาถึงที่นี่แล้วจะดูแค่เท่าที่เป็นฉากละครคงไม่คุ้ม ต้องให้เวลามากพอสมควรครับ เพราะภายในวัดยังมีรายละเอียดที่สวยงามและน่าสนใจให้เที่ยวชมอยู่อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝีมือช่างพื้นเมืองในวิหารหลวงและวิหารน้อย  ลวดลายปูนปั้นที่ประดับซุ้มประตูโขง ลวดลายแกะสลักไม้  ภาพสะท้อนองค์พระธาตุในมณฑปและในวิหาร นี่เฉพาะในเขตพุทธาวาส ยังไม่นับเขตสังฆาวาสที่ยังมีพิพิธภัณฑ์พระแก้วดอนเต้าและพิพิธภัณฑ์ของวัดที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุน่าสนใจไว้อีกมาก ดูได้ตั้งแต่เช้ายันเย็นละครับ ว่างั้น


  จากลำปางผมต้องขับรถข้ามเขาเดินทางต่อไปยังจังหวัดแพร่ เพราะยังมีโลเกชันสำคัญอีกหลายแห่งอยู่ครับ ใช่แล้ว  ในบรรดาฉากที่ปรากฏอยู่ในละคร “รอยไหม” ฉากที่ปรากฏบ่อยครั้งที่สุด เห็นจะเป็นฉากของคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในเรื่องมากมายขึ้นที่นั่น เพราะเป็นที่อยู่ของตัวละครสำคัญแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านางมณีริน เจ้าศิริวัฒนา เจ้าศิริวงศ์   เจ้าหลวงและพระชายา  หม่อมบัวเงิน นางคำเที่ยง ไปจนถึงอีเม้ย   

สถานที่ถ่ายทำฉากที่เป็นคุ้มเจ้าหลวงแห่งนครเชียงใหม่อันโอ่อ่าโอฬาริกที่เราเห็นในละครก็คือบ้านวงศ์บุรี ที่จังหวัดแพร่ ครับ

เรือนไม้สักทองสีชมพูที่เห็น ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มาแล้วใน ปี ๒๕๓๖ เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมได้ โดยแบ่งส่วนหน้าของบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนหลังเป็นที่อยู่อาศัย ตามประวัติเป็นบ้านของเจ้าพรหมเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองแพร่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐  โดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง สร้างแบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปั้นหยา ๒  ชั้น ฐานก่ออิฐถือปูน  มีลวดลายฉลุไม้ประดับตัวบ้านอยู่บนหน้าจั่ว ช่องลม เชิงชาย ประตู หน้าต่าง ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส  

บนชั้น ๒ ซึ่งเป็นห้องรับแขกเป็นฉากที่แฟนละครต้องคุ้นตาอยู่ นอกจากนี้ใกล้กันยังเป็นห้องที่ใช้เป็นฉากห้องนอนของ”เจ้านางน้อย” มณีริน  มีวิทยากรคอยบรรยายให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมถึงเรื่องราวต่าง ๆ  ในประวัติศาสตร์ของบ้านหลังนี้ ที่สนุกคือเรื่องราวเบื้องหลังการถ่ายทำละคร “รอยไหม” ที่เกิดเหตุการณ์ประเภทลี้ลับหลายต่อหลายครั้ง แต่เอามาเล่าในนี้คงไม่เหมาะ อยากรู้ว่าเรื่องอะไรคงต้องมาฟังเอาเองครับ อยู่ในสถานที่จริงจะยิ่งได้บรรยากาศ


 ที่แพร่ยังมีสถานที่ถ่ายทำสำคัญอีกแห่งนั่นคือ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านวงศ์บุรี ในละครใช้ถ่ายทำเป็นพิพิธภัณฑ์เก็ดถะหวาอันเป็นจุดที่เชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน เรรินได้พบกับผ้าทอของตนเองครั้งเป็นเจ้านางมณีรินที่นี่ และถูกดึงดูดด้วยสัญญาแต่ปางก่อน จนต้องกลับไปทอผ้าอีกครั้ง ก่อนจะตกอยู่ในห้วงภวังค์และได้พบกับวิญญาณเจ้าศิริวัฒนา นำย้อนไปสู่เหตุการณ์ในอดีต

คุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์  ด้วยความงดงามของลวดลายที่ประดับประดาได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่๑๕-๑๗  มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑  ซึ่งภายในยังมีแท่นบรรทมของพระองค์จัดแสดงอยู่

ข้างในเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ เดินดูแล้วคุ้น ๆ  ว่ามีเห็นในละครอยู่ หลายฉากเหมือนกัน ผมพยายามเดินหาดูบริเวณที่เป็นฉากที่ทอผ้าของเรริน แต่ก็ไม่เจอ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน 


 มาถึงบางอ้อเอาตอนขากลับ เมื่อตอนไปแวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ  ที่อำเภอลอง ระหว่างทาง “ฉากที่นางเอกทอผ้าเขามาถ่ายทำที่พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณนี่แหละ แล้วเอาไปตัดต่อกันอีกที” อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ช่วยไขข้อข้องใจที่ผมค้างคามาแต่ในเมือง

“ตัวอาคารผมสร้างเลียนแบบสถานีรถไฟบ้านปิน เพราะชอบรูปแบบ เห็นมันสวยดี”  อาจารย์ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับรูปทรงของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เห็น   เครื่องแต่งกายในละคร”รอยไหม” มาจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทั้งนั้นครับ ริมถนนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ยังเรียงรายไว้ด้วยภาพของดาราแสดงนำในละครรอยไหมเป็นหลักฐานยืนยัน มีทั้งเจ้านางมณีริน เจ้าศิริวัฒนา เจ้าศิริวงศ์ (แต่ไม่ยักมีผีอีเม้ยแฮะ)  ภาพหนึ่งยังเจาะช่องตรงหน้าไว้ เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนถ่ายภาพเป็นเจ้าศิริวัฒนาด้วย ผมเองยังไปขอโผล่หน้าเป็นเจ้าศิริวัฒนากับเขาเหมือนกัน อาจารย์มาเห็นเข้าถึงกับหัวเราะก๊าก

 อาจารย์โกมลเริ่มต้นการสะสมผ้าโบราณจากการช่วยอาจารย์วิถี  พานิชพันธ์ ผู้เป็นอา ตามหาผ้าซิ่นตีนจก ผ้าโบราณของอำเภอลองมาเก็บไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.  ๒๕๒๒ จากนั้นจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับผ้าตีนจกอย่างจริงจังจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๐  ถึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าสำหรับนักเรียนนักศึกษาในท้องถิ่นและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ


 ภายในแบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วน ๆ  งามทั้งนั้นครับ ไล่จากภาพชุดจิตรกรรมเวียงต้า งานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้หลายแผ่นของช่างพื้นบ้านในอดีต ที่จำลองมาแสดงไว้บนผนัง  ไปยังผ้าโบราณเมืองลอง จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนกเมืองลอง  ยังมีส่วนจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ อีกด้วย และเพื่อเป็นการพัฒนา ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงผ้าจกจากแหล่งต่างๆในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้และเห็นถึงความแตกต่างกันของผ้าตีนจกจากแหล่งอื่นๆ  เช่น ตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกไหล่หิน ตีนจกนาน้อย ตีนจกหาดเสี้ยว ตีนจกราชบุรี ตีนจกลาวครั่งในแหล่งต่างๆ  ส่วนที่แสดงวิธีการเก็บผ้าทอโดยภูมิปัญญาของคนโบราณที่ทำให้ผ้าสามารถอยู่ได้นานกว่า ๒๐๐ ปี และส่วนสุดท้ายที่น่าจะถูกใจนักช็อปฯ เห็นจะเป็นส่วนร้านค้าที่มีทั้งผ้าทอและเสื้อพื้นเมืองที่ระลึกให้เลือกติดไม้ติดมือกันกลับไป

              ถึงตรงนี้ก็เป็นอันว่าผมพามาทัศนาจรสถานที่ถ่ายทำละครรอยไหมบนเส้นทางสายล้านนาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ขาดไปแห่งเดียวคือฉากที่เป็นสถานที่ผึกทหารของนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาคารมณฑปยอดแหลมที่หลายคนชอบใจ ถ่ายทำกันที่อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก จังหวัดนนทบุรี อันอยู่นอกเส้นทางล้านนาไปไกล เอามารวมไว้ด้วยกันไม่ได้  (บอกเอาไว้ตรงนี้ เผื่อใครสนใจ จะตามไปดูให้ครบถ้วนจริงๆ ) 

จะว่าไปแล้วละครไทยตอนนี้ก็โกอินเตอร์เป็นที่นิยมในหลาย ๆ ประเทศ อย่างปีที่ผ่านมานี่ก็ไปฮิตอยู่ในประเทศจีนหลายเรื่อง เรตติ้งดีขนาดชนะละครเกาหลี ละครฮ่องกง ด้วยซ้ำไป  อย่างว่าครับ ละครไทยคุณภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก แหล่งท่องเที่ยวไทยก็งดงามไม่แพ้ชาติไหนในโลกเช่นกัน

หวังว่าอนาคตต่อไปคงจะได้มีการสร้างละครดี ๆ ที่ส่งเสริมความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวไทยอีกหลาย ๆ เรื่อง

           ผมจะได้พาคุณผู้อ่านมาทัศนาจร ตามรอยละครกันอีก


คู่มือนักเดินทาง

บ้านสวน ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕ หมู่ ๓ ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่  เลี้ยวเข้าทางสี่แยกแม่โจ้ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกรวมโชคมีชัย ตรงไปกลับรถใต้สะพาน เลี้ยวซ้ายเข้าซอย อยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องกับมูลนิธิสิริวัฒนาเชสเชียร์ เปิดบริการทุกวัน เวลา ๑๑.๐๐-๑๔.๐๐ และ ๑๗.๐๐-๒๒.๐๐ นาฬิกา ยกเว้นวันพุธ โทรศัพท์ ๐ ๕๓๘๕ ๔๑๖๙-๗๐

บ้านม่อนฝ้าย ตั้งอยู่เลขที่ ๖ หมู่๓ ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ บนฝั่งถนนซูเปอร์ไฮเวย์ขาออก เข้าซอยสุขเกษม ๙ ที่อยู่ตรงกลางโรงพยาบาลลานนากับโรงเรียนโปลีเทคนิคลานนา เข้าไปประมาณ ๘๐๐ เมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน  โทรศัพท์ ๐ ๕๓๑๑ ๐๑๔๕  

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โกมลผ้าโบราณ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๗/๒ หมู่ ๖  อำเภอลอง แพร่ ตรงข้ามโรงเรียนลองวิทยา ก่อนถึงทางแยกเข้าอำเภอลองประมาณ ๑ กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐- ๑๗.๐๐ นาฬิกา  โทรศัพท์  ๐ ๕๔๕๘ ๑๕๓๒ 
บ้านวงศ์บุรี ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๕๐ ถนนคำลือ   สี่แยกพระนอนเหนือ
ติดกับวัดพงษ์สุนันท์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เก็บค่าเข้าชมคนละ ๓๐ บาท ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา    สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ ๐ ๕๔๖๒ ๐๑๕๓ 
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ตั้งอยู่ที่จวนผู้ว่าราชการหลังเก่า ถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่  ปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ -๑๗.๐๐ นาฬิกา  โทรศัพท์ ๐ ๕๔๕๒ ๔๑๕๘  


ไม่เกี่ยวข้องกับละครรอยไหม เพราะไม่ได้เป็นฉากในการถ่ายทำ ทว่าเรือนไม้สักทองโบราณกลางเมืองแพร่หลังนี้ก็งดงามเกินที่จะผ่านเลยไปเฉย ๆ ด้วยขนาดอันใหญ่โตและการตกแต่งประดับประดาที่งดงามอลังการด้วยไม้ฉลุลายอย่างวิจิตรตระการตาทัดเทียมกับบ้านวงศ์บุรีและคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
ประวัติความเป็นมาก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เรือนอันมีนามว่า “คุ้มวิชัยราชา” นี้สร้างมาก่อน พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยเจ้าหนานขัติ ต้นตระกูลแสนสิริพันธุ์ บุตรเจ้าแสนเสมอใจ ญาติของเจ้าน้อยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่   ในช่วงเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่นั้น เจ้าหนานขัติ ซึ่งขณะนั้นเป็นคลังเมืองแพร่ ได้ช่วยเหลือนำข้าราชการจากส่วนกลางที่ถูกกบฏเงี้ยวตามฆ่า มาซ่อนบนเพดานบ้านวิชัยราชาแห่งนี้จนปลอดภัย และยังได้เข้าร่วมกับกองทัพของพระยาสุรศักดิ์มนตรีไปปราบฮ่อด้วย เป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิชัยราชา ซึ่งเป็นชื่อของถนนที่ผ่านหน้าบ้านในทุกวันนี้  
คุ้มวิชัยราชายังเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าวงศ์(เจ้าโว้ง) หรือนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนแรกของเมืองแพร่และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ ก่อนจะถูกยึดเนื่องจากค้างชำระภาษี
กระทั่งในปี๒๕๓๕ นายวีระ สตาร์  เข้ามาครอบครองและบูรณะสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่นี้ไว้ ได้มีการซ่อมแซมปรับปรุงหลายครั้งแต่ก็ไม่แล้วเสร็จ กระทั่งประสบปัญหาภาระหนี้สิน และสถาบันการเงินได้เข้าทำการยึดคุ้มวิชัยราชาเพื่อเตรียมประกาศขายทอดตลาด
เป็นชะตากรรมอันน่าเศร้าของมรดกทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของเมืองแพร่ ที่กำลังรอคอยการแก้ไขจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เรือนหลังงามอันเป็นมรดกสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของชาติไทยแห่งนี้ยังคงอยู่คู่เมืองแพร่ตลอดไป 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น