วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ย้อนเวลาสู่แดนทวารวดีที่กาฬสินธุ์


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตัพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 


แสงสุดท้ายของวันลับหายไปจากขอบฟ้า ปล่อยให้มวลความมืดแห่งรัตติกาลคืบคลานเข้ามาครอบคลุมทั่วอาณาบริเวณ

องค์เจดีย์เก่าแก่และบรรดาใบเสมาหินที่ปักไว้อยู่รายรอบถูกกลืนเข้าอยู่ในม่านราตรีเห็นเป็นเพียงเงาตะคุ่มอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของหมู่ไม้ทะมึนที่ไหวโอนเอนตามสายลม บรรยากาศยามนี้แลดูไปคล้ายฉากในภาพยนตร์ประเภทมิติเร้นลับ แดนสนธยา

เหตุที่ยามนี้ผมยังเดินวนเวียนไปมาอยู่   ไม่ใช่ว่าคิดจะเปลี่ยนใจหันมาทำสารคดีแนวไสยศาสตร์ลึกลับอะไรนาครับ  แต่เพราะว่าในท่ามกลางเงาสลัวรางกลางความมืดนั้นเอง เป็นช่วงเวลาเปิดโอกาสให้จินตภาพได้ทำงาน สร้างสรรค์ปะติดปะต่อภาพจากซากปรักหักพังในความคิดชัดเจนเจิดจ้าแจ่มชัด

ภาพของนครฟ้าแดดสงยางอันเคยรุ่งโรจน์เป็นต้นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในยุคสมัยที่เรียกขานกันว่า “ทวารวดี”   


นครปริศนาใบเสมายักษ์

เมื่อหลายปีก่อน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ผมมีโอกาสได้เห็นใบเสมาหินจากเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นครั้งแรก ยังจำได้ถึงความตื่นเต้น
  
ไม่ใช่จากลวดลายจำหลักอันวิจิตรงดงามตามแบบศิลปะทวารวดีหรอกครับ เพราะผมเคยอ่านเคยเห็นลวดลายทั้งหลายมาจากในหนังสือก่อนหน้านั้นหลายครั้งแล้ว ขนาดใบเสมาอันมหึมาสูงใหญ่ท่วมหัวต่างหากที่น่าตื่นตะลึง มิหนำซ้ำยังเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เนื่องจากบรรดาเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางที่ผมเคยไปเยี่ยมเยือนมาหลายต่อหลายแห่ง ไม่เคยพบเคยเห็นใบเสมาเบ้อเริ่มเบ้อร่าขนาดนี้มาก่อน

เหมือนโชคชะตาเป็นใจให้ครับ หลังจากได้เห็นใบเสมาเมืองฟ้าแดดสงยางครั้งนั้นไม่นาน ผมก็บังเอิญได้มีโอกาสร่วมเดินทางทัศนศึกษากับคณะสื่อมวลชนในรายการ “อีสาน แหล่งความรู้ อู่อารยธรรม” จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เรานี่แหละ  บนเส้นทางอันยาวไกลผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลากหลายนั้นได้ผ่านมาทางเมืองฟ้าแดดสงยางด้วย โดยได้แวะให้เยี่ยมชมสักการะพระธาตุยาคูและหมู่เสมาหินขนาดใหญ่ที่เก็บไว้ในวัดโพธิ์ชัยเสมาราม
 
 “ใบเสมาใหญ่ที่สุดที่เคยขุดพบ ขนาดเท่ากับรถกระบะ จมอยู่ใต้ดิน ชาวบ้านขุดเจอแล้วก็ไม่มีปัญญาเอาขึ้นมา เพราะต้องใช้เครื่องมืออย่างปั้นจั่นใหญ่ ๆ มายก ก็เลยต้องเอาดินกลบเอาไว้ตามเดิม” คำบอกเล่าจากวิทยากรท้องถิ่นผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างนำชมทำเอาผมหูผึ่ง เสียดายว่าเวลาที่ให้แวะนั้นมีน้อย ไม่ได้เที่ยวดูชมรายละเอียดอะไรเท่าไหร่  ได้แต่แอบหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ ว่ามีโอกาสมาด้วยตัวเองเมื่อไหร่จะใช้เวลาดูให้สาสมใจเลยทีเดียว





มาคราวนี้ได้ทำตามที่ตั้งใจเอาไว้ครับ วัน ๆ ก็เทียวไล้เทียวขื่อชมใบเสมาหินใหญ่ของเมืองฟ้าแดดสงยางที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง  เมืองนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองเสมา” มีที่มาจากแผนผังของเมืองเป็นวงรี คล้ายรูปใบเสมา แต่บ้างก็ว่าเรียกขานอย่างนี้เพราะเป็นเมืองที่พบเสมาหินอยู่มากที่สุด  ก็แล้วแต่ว่าใครจะเชื่อข้อไหน ทว่าผมน่ะแอบลำเอียงเทใจให้กับข้อหลังมากกว่าครับ ด้วยความประทับใจกับใบเสมาหินขนาดยักษ์ที่ได้เห็น

ตามข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นศึกษาด้านโบราณคดี เมืองนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖  บวกลบคูณหารดูก็อายุอานามประมาณ ๑,๔๐๐ ปีล่วงมาแล้วครับ ตัวเมืองล้อมรอบด้วยคูเมืองที่ขนาบด้วยคันดินสองชั้น วัดโดยรอบมีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ปัจจุบันใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ขนาดผังเมืองยาว ๒,๐๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๑,๓๕๐ เมตร   ขนาดเมืองไม่ใหญ่โตมากแค่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ ไร่  ภายในบริเวณเมืองเก่าร่องรอยของศาสนสถาน ๑๔ แห่ง  สร้างขึ้นตามคติในพุทธศาสนา เป็นศิลปกรรมแบบทวารวดีล้วน ๆ ผมเที่ยวดูเที่ยวชมจนทั่วแล้ว ส่วนใหญ่ปรักหักพังทลายเหลือแค่ส่วนฐาน  


ที่ยังหลงเหลือเห็นเป็นชิ้นเป็นอันก็มีเพียงพระธาตุยาคู  ชาวบ้านเรียกกันว่า “ธาตุใหญ่”  องค์พระธาตุที่เห็นอยู่นี้ปรากฏร่องรอยการสร้างและบูรณะ ๓ ยุคสมัย ส่วนฐานล่างที่กว้างและใหญ่ที่สุดเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมมีบันไดทางขึ้น ๔ ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี (อยากรู้ว่าเจดีย์แบบทวารวดีที่สมบูรณ์ลักษณะหน้าตาเป็นยังไงต้องไปดูพระธาตุนาดูน ที่จังหวัดมหาสารคามครับ เขาสร้างจากแบบเจดีย์ทวารวดีตามข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดี) ชั้นถัดขึ้นมาเป็นฐาน ๘ เหลี่ยมสร้างทับลงไปบนฐานสมัยทวารวดี เป็นรูปแบบของสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นบัวซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ นั้นสร้างสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง 

ดูรวม ๆ แล้วก็สวยงามลงตัวดี เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนครับเห็นแล้วได้อารมณ์ยังไงบอกไม่ถูก เอาเป็นว่าสวยจนทำให้ผมมายืนชื่นชมได้อยู่ทุกวี่วันทั้งเช้าทั้งเย็นได้ก็แล้วกัน แต่ละวันได้บรรยากาศที่แตกต่างออกไปไม่ซ้ำเลย


ช่วงกลางวันที่แดดแผดจ้าร้อนจนผิวไหม้ในแต่ละวัน ผมแอบหลบแดดไปพินิจพิจารณาบรรดาใบเสมาหินขนาดใหญ่ทั้งหลายที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองฟ้าแดดสงยางในวัดโพธิ์ชัยเสมารามครับ เรียกพิพิธภัณฑ์ฟังดูอาจจะนึกภาพหรูหรา ความจริงแล้วเป็นเพิงหลังเล็ก ๆ ชั้นเดียวมุงหลังคาสังกะสีไม่มีฝาผนัง (แต่เขาเรียก “พิพิธภัณฑ์”  จริง ๆ นะ มีป้ายติดเอาไว้ด้วย) ในบริเวณแคบ ๆ จัดตั้งใบเสมาหินขนาดใหญ่เรียงรายเอาไว้รอบผนัง ๓ ด้าน แต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่สูงท่วมหัวทั้งนั้น

เท่าที่เคยเห็นมาจากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น รวมทั้งที่บริเวณพระธาตุและวัดในเขตเมืองฟ้าแดดสงยางนี้ เสมาหินของเมืองฟ้าแดดสงยางนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๖ แบบครับ แบบแรกเป็นใบเสมาแผ่นเรียบ ทั้งสองด้านของใบเสมาเรียบสนิทหรืออย่างดีก็มีลวดลายกลีบบัวอยู่ตรงฐานด้านล่างนิดหน่อย  แบบที่สองเป็นใบเสมามีสัน ลักษณะเหมือนเสมาแบบเรียบแต่ตรงกึ่งกลางจะมีสันนูนขึ้นมา ด้านล่างเรียบสนิท แบบที่ ๓ ใบเสมารูปเจดีย์ กึ่งกลางใบเสมาแกะสลักเป็นรูปเจดีย์ มีฐานเป็นชั้น ๆ หรือไม่ก็เป็นกลีบบัวซ้อนกัน แบบที่ ๔ ใบเสมาสี่เหลี่ยมด้านเท่า ลักษณะคล้ายศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง มีฐานเป็น ชั้น ๆ หรือกลีบบัวซ้อนกัน แบบที่ ๕ ใบเสมาแปดแหลี่ยม ลักษณะเหมือนกลีบมะเฟือง และแบบที่ ๖ แบบสุดท้ายคือใบเสมาแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องราวในชาดกและพุทธประวัติ  ที่เก็บรักษาเอาไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดก็เป็นแบบแกะสลักเล่าเรื่องราวนี้แหละครับ ส่วนแบบอื่น ๆ ทางวัดเอาไปปักเรียงรายเอาไว้รอบอุโบสถ หอระฆัง และตามริมทางเดิน



 ใบเสมาหินขนาดใหญ่แต่ละแบบอันพบในเมืองฟ้าแดดสงยาง มีมากกว่า ๑๓๐ ชิ้นซึ่งกรมศิลปากรได้คัดเลือกชิ้นที่สวยงามและมีคุณค่าทางโบราณคดีขึ้นทะเบียนไว้ แล้วย้ายไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น (ที่ผมเคยไปดูมานั่นแหละครับ) บรรดาชิ้นที่หลงเหลืออยู่ให้เห็นอยู่ในเมืองฟ้าแดดสงยางจึงเป็นเพียงส่วนน้อยและโดยมากชำรุด แต่กระนั้นก็ยังมีชิ้นที่สวยงามควรค่าแก่การชมอยู่หลายชิ้นครับ

ใบเสมาที่ลายจำหลักสวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดในวัดคือใบใหญ่ที่อยู่กึ่งกลาง เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าห้ามพระญาติที่วิวาทแย่งน้ำกันในแม่น้ำโรหิณี งามขนาดไหนนะหรือครับ  ก็ถึงขนาดมีประวัติเป็นเรื่องราวการันตีนั่นแหละ  คงจำกันได้สมัยที่ไทยเราเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน  หลังจากโยกโย้อยู่นานทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิคาโกได้ต่อรองขอแลกเปลี่ยนทับหลังนารายณ์ฯ กับใบเสมาชิ้นนี้ครับ โชคยังดีที่ทางฝ่ายไทยเราไม่มีใครบ้าจี้ยอมแลกด้วย  (ขืนยอมแลกให้ก็บ้าเท่านั้น มีอย่างที่ไหน อัฐยายซื้อขนมยาย แถมใบเสมาชิ้นนี้ยังมีอายุเก่าแก่กว่าทับหลังนารายณ์ฯ นับร้อยปีอีกต่างหาก)

 
ชิ้นอื่น ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่งาม  เพียงแต่บางชิ้นสภาพชำรุดแตกหัก แม้ลวดลายยังคมชัดแต่นึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องไหน บางชิ้นลวดลายก็ลบเลือนราง ดูยากว่าเป็นภาพอะไร กว่าจะดูรู้เรื่องต้องใช้เวลานั่งเพ่งพิจารณากันไม่น้อยละครับ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวจากชาดกทั้งนั้น ใบเสมาใหญ่ที่มีรูปแพะกับสุนัขอยู่ด้านล่างมาจากเรื่องมโหสถชาดก ใบย่อมลงมาที่มีรูปบุคคล ๓ คน คนกลางมีหาบอยู่บนบ่าอีกสองคนนั่งมาจากเรื่องนารทชาดก ใบที่มีรูปบุคคลหนึ่งยืนถือจอบ อีกคนนั่ง มาจากเรื่องเตมียชาดก ใบที่มีรูปบุคคลชายและหญิงยืนคู่กัน โดยฝ่ายหญิงทูนของบางอย่างไว้บนศีรษะมาจากเรื่องมโหสถชาดก

บนลานวัดใต้ต้นโพธิ์ยังมีเสมาหินที่จำลองจากชิ้นเยี่ยมของเมืองฟ้าแดดสงยางที่นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เห็นปุ๊บจำได้ปั๊บครับ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “พิมพาพิลาป” เล่าเรื่องราวตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาเยี่ยมเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางยโสธราพิมพารับเสด็จโดยสยายพระเกศาลงเช็ดพระบาท ท่ามกลางแวดล้อมของพระราชบิดา พระมาตุจฉา และพระโอรสราหุล  ผมจำได้ดี เพราะตอนที่ไปดูที่ขอนแก่น ซื้อใบเสมาจำลองใบเล็ก ๆ รูปเดียวกันนี้จากพิพิธภัณฑ์ฯ กลับมาเป็นที่ระลึก

นอกจากนี้ยังมีเสมาจำลอง “พิมพาพิลาป” อีกเวอร์ชัน (เรื่องเดียวกัน แต่ฝีมือไม่เหมือนกัน) ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน รวมทั้งใบเสมาจำลองที่เป็นเรื่องเตมียชาดก ปักไว้โคนต้นโพธิ์ ด้วยลายจำหลักที่มองเผิน ๆ คล้ายภาพเทวดา ทำให้มีร่องรอยชาวบ้านมาจุดธูปเทียนบูชา ถวายพวงมาลัยดอกไม้เอาไว้ด้วย

แถวพระธาตุยาคูที่ผมเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็มีชิ้นสวย ๆ เหมือนกันครับ คือใบเสมาทางทิศใต้ของพระธาตุยาคู จำหลักเป็นรูปบุคคลในกริยากำลังลากจูงบางอย่างในป่ารกทึบ ที่ผู้สันทัดกรณีว่ากันว่าเป็นภาพจากเรื่องเวสสันดรชาดก ตอนชูชกขอพระกัณหาชาลีจากพระเวสสันดรแล้วจูงเดินทางมาในป่า ท่วงทีลีลาการเดินนั้นทะมัดทะแมงได้อารมณ์มาก

สมัยที่พบใบเสมาเมืองฟ้าแดดสงยางใหม่ ๆ เกิดปริศนาเป็นที่สงสัยในหมู่นักโบราณคดีว่าก็คือทำไมถึงได้พบใบเสมาหินขนาดใหญ่มากมายอยู่ในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางแห่งนี้ ทั้งที่เมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ในภาคกลางที่ถูกพบมาก่อนไม่เคยพบว่ามีใบเสมาหินใหญ่


 คำตอบที่นักโบราณคดีพบเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานนี้เคยมีลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมด้วยการใช้แท่งหินขนาดใหญ่ปักแสดงอาณาเขต  เรียกว่าวัฒนธรรมหินตั้ง 

ต่อมาเมื่อรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาจากอินเดีย ก็เลยมีการผสมผสานความเชื่อแบบเก่าในการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมมาใช้กับพุทธศาสนา มีการแกะสลักเรื่องราวทางพุทธศาสนาลงในใบเสมาหินที่กำหนดเขต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานีที่มีร่องรอยของทั้งเขตศักดิ์สิทธิ์แบบหินตั้ง และการดัดแปลงเขตศักดิ์สิทธิ์มาเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี

วัฒนธรรมหินตั้งนี้ไม่มีในภาคกลาง เมืองโบราณทวารวดีในภาคกลางก็เลยไม่พบเสมาหินใหญ่แบบนี้

ผมเคยเห็นภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งสำรวจพบเมืองฟ้าแดดสงยาง น่าตื่นตาตื่นใจมากครับ ใบเสมาหินใหญ่นับร้อยปักเรียงรายเต็มไปหมด  อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปถึงสมัยที่นครแห่งนี้ยังรุ่งเรืองอยู่ ว่าจะงดงามขนาดไหน เจดีย์แบบทวารวดีงดงามตระหง่านเรียงราย เสียงระฆังดังหง่างเหง่ง ผู้คนมากมายในเครื่องแต่งกายงดงามต่างชวนกันเข้าวัดไหว้พระทำบุญ ในงานประเพณีจัดขึ้นประจำปีที่รอบข้างประดับประดาอย่างงดงามอลังการ

ทุกเย็นย่ำ ผมถึงชอบไปยืนมองอาทิตย์ลับฟ้าในบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง ท่ามกลางความมืดและเงาอันสลัวรางของซากปรักหักพัง สิ่งที่ได้พบเห็นผสานผสมกับจินตนาการ บางครั้งคล้ายปรากฏเป็นภาพเหมือนดังความฝันของนครอันเรืองโรจน์เมื่อพันกว่าปีก่อนขึ้นมาให้เห็นอยู่ตรงหน้า


สักการะสามพระไสยาสน์

“สมัยทวารวดีนี่ทำไมชอบสร้างแต่พระนอนนะ”

ผมนึกไปถึงประโยคคำถามของเพื่อนที่ร่วมเดินทางมากับผม เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีเอามาทำสารคดีอนุสาร อ.ส.ท.  เมื่อหลายปีก่อน  ครั้งนั้นเจ้าเพื่อนยากของผมเกิดสงสัยขึ้นมาหลังจากตระเวนไปสักการะพระนอนทวารวดีองค์ใหญ่ที่วัดธรรมจักรเสมาราม ในเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน   จังหวัดนครราชสีมา  แล้วก็มาพระนอนทวารวดีที่ภูเวียง ก่อนจะมาแวะสักการะพระนอนที่พุทธสถานภูปอ กาฬสินธุ์นี่อีก

ไม่ใช่ว่าทวารวดีสร้างแต่พระปางไสยาสน์หรอก พระปางอื่นก็มี อย่างที่ถ้ำฤาษี เขางู ราชบุรี  ยังเป็นพระพุทธรูปทวารวดีปางปฐมเทศนาเลย จริง ๆ แล้วก็อาจจะมีปางอื่น ๆ อีกก็ได้ เพียงแต่ปางอื่น ๆ อาจปรักหักพังง่ายกว่า พระปางไสยาสน์ก็เลยเหลือให้เห็นอยู่มากกว่า”


จำได้ว่าตอนนั้นผมแสดงความเห็นกับเพื่อนไปประมาณนี้  ก่อนจะพากันเข้าไปสักการะพระนอนองค์แรกที่ประดิษฐานอยู่เชิงเขาทางขึ้น ภายในอาณาบริเวณของวัดอินทร์ประทานพร

ใต้เพิงหินที่ทางวัดสร้างศาลาคลุมไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจำหลักจากสมัยทวาราวดี ตามประวัติว่าสร้างขึ้นประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔  องค์พระนอนตะแคงข้างขวาตามแบบสีหไสยา พระเศียรประทับบนพระหัตถ์และพระกรข้างขวา หันสู่ทิศเหนือพระพักตร์หันสู่ทิศตะวันตก ทางวัดเอาสีทองมาทาองค์พระไว้จนอร่าม แม้ดูขัดตาแต่ความงามของพระพุทธรูปนั้นก็ไม่ลดทอนลงไป

ส่วนที่เสริมให้องค์พระดูโดดเด่นนั้นอยู่ตรงที่ไม่ใช่แกะสลักแต่รูปองค์พระลอย ๆ เท่านั้น แต่ยังสลักแผ่นพื้นหินโดยรอบให้เป็นผ้าปูลาดรองพระองค์ และหมอนรองหนุนพระเศียร รวมทั้งรองพระบาททั้งคู่ รอบ ๆ พระวรกายและพระเศียรสลักเป็นรูปประภาวลี  รอบพระเศียรสลักรูปดอกไม้เป็นระยะ ทำให้แลดูคล้ายเป็นรัศมี ผมกลับมาสักการะอีกครั้งในวันนี้ ทุกอย่างยังคงงดงามเหมือนเดิม 

และคงเพราะคราวก่อนมัวพูดคุยชื่นชมความงามของพระนอนองค์แรกที่ได้เห็นกันนี่แหละครับ ทำให้ผมจำไม่ได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของการเดินขึ้นไปสักการะพระพุทธไสยาสน์องค์ที่ ๒  ซึ่งประดิษฐานอยู่บนภูปอ อันเป็นเขาหินทรายที่ทอดตัวตามแนวทางตะวันออกตะวันตก โดยฟากฝั่งเขาด้านทิศเหนือเป็น เขตอำเภอสหัสขันธ์  ด้านทิศใต้เป็นเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์  ยอดเขาสูง ๓๓๖ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  

มาคราวนี้เดินขึ้นคนเดียวไม่มีเพื่อนคุย ทำให้รู้สึกว่าบันไดสูงชันขึ้น แถมระยะทางยังยาวไกลมาก เดินขึ้นไปอีก ต้องหยุดหอบซี่โครงบานไปตลอดทางครับ  ระหว่างทางมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ผมเลยอาศัยพักเหนื่อยชมวิวไปเรื่อย ๆ นับขั้นบันไดไปด้วย ปรากฏว่าเดินขึ้นไปกว่าจะถึงก็ ๔๐๐ กว่าขั้นเชียวละครับ แทบตาย 

ยังดีที่บนยอดเขาลมพัดเย็นสบาย เห็นองค์พระนอนเด่นสง่าด้วยสีทองที่ทางวัดทาเอาไว้อยู่ใต้เพิงผาแล้วหายเหนื่อยครับ งามจริง ตามประวัติว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ น่าจะได้แรงบันดาลใจจากพระนอนองค์แรกด้านล่าง  แต่องค์ด้านบนนี้ศิลปกรรมเป็นแบบทวารวดีผสมผสานกับสุโขทัย ด้วยเส้นโค้งเว้า เน้นสัดส่วนและมีลักษณะอ่อนช้อยกว่า องค์พระนอนตะแคงขวาตามแบบสีหไสยาหันพระเศียรสู่ทิศเหนือค่อนมาทางตะวันตก  เช่นเดียวกับพระนอนองค์ล่าง ช่างได้สลักหินที่รองรับใต้องค์พระ ให้เป็นแท่นขอบเหลี่ยมต่อด้วยขาคู่หนึ่งลักษณะมองดูเป็นเตียง 
บรรยากาศสงบเงียบรู้สึกเหมือนย้อนเวลากลับไปในสมัยทวารวดี อดจินตนาการไปไม่ได้ว่าผู้ที่ขึ้นมาสร้างรวมทั้งผู้ที่ขึ้นมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้จะต้องมีศรัทธาอย่างมาก เพราะสมัยก่อนไม่มีบันไดต้องปีนป่ายบุกป่าผ่าดงขึ้นมา สมัยเรามีบันไดยังเล่นเอาเหนื่อยไปเหมือนกัน ขนาดขากลับลงมากว่าจะถึงข้างล่างยังเล่นเอาผมขาสั่น



                  โชคยังดีครับที่พระนอนทวารวดีอีกองค์ที่ต้องไปสักการะนั้นไม่ต้องปีนป่ายขึ้นเขาให้เหนื่อยอีก ทั้งที่ชื่อก็ดูเหมือนจะอยู่บนภูเหมือนกัน   ทว่ามีถนนให้รถแล่นเข้าไปจนถึงภูค่าว  คำว่า “ภูค่าว” นี้เขาว่าเป็นชื่อ เรียกกันมาแต่สมัยโบราณ ตามรูปลักษณะของภูซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ขื่อไม้สำหรับรับน้ำหนักมุงหลังคา   ในเนื้อที่ ๗๕ ไร่ ร่มรื่นด้วยแมกไม้ เป็นที่ตั้งของวัดพุทธนิมิตภูค่าว แวะเข้าไปเดินดูอุโบสถไม้ สวยงามสะดุดตา ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานแบบเชียงแสน โดยรอบไม่มีผนังกั้น ทำเป็นราวระเบียงแกะสลักลวดลายงดงาม ตามประตู หน้าต่าง เพดานจำหลักภาพพุทธประวัติ และทศชาติชาดก ถัดเข้าไปยังมีเจดีย์ใหญ่มหึมาตระหง่านภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  โดยรอบประดับประดาด้วยประติมากรรมหินหลากหลายทั้งธรรมจักรใหญ่ ทั้งประติมากรรมเหตุการณ์สำคัญในพุทธศาสนา

 ใต้ร่มเงาไม้ลึกเข้าไปยังเรียงรายด้วยอาคารปฎิบัติธรรม โรงทาน สร้างด้วยไม้สวยงาม ลัดเลาะตามทางเดินผ่านมณฑปพระพุทธบาทและวิหารสังฆนิมิตรที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระเครื่องรุ่นต่างๆ ที่หายากจำนวนมาก  ไปสุดเพิงผาทางทิศใต้มีบันไดทางเดินลงไปหน้าผาอันเป็นที่ประดิษฐานรูปองค์พระไสยาสน์ ที่มีความแปลกอยู่ตรงที่ตะแคงซ้าย ผิดกับพระพุทธไสยาสน์โดยทั่วไปที่ตะแคงขวา แกะสลักบนแผ่นหินหันเศียรไปทางทิศตะวันออก องค์พระมีความยาว ๔ ศอก  

ผู้สันทัดกรณีบางส่วนว่าเป็นพระพุทธรูป แต่ที่ตะแคงซ้ายเพราะว่าผู้สร้างตั้งใจให้หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะได้สอดคล้องกับเรื่องราวตอนปรินิพพานในพุทธประวัติ

แต่บางส่วนก็ว่าไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็นพระอรหันต์ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย พระโมคคัลลานะ โดยอ้างว่าองค์พระไม่มีพระเมาลีอันเป็นลักษณะของพระพุทธเจ้า จึงน่าจะเป็นพระอัครสาวกมากกว่า

ยังมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับองค์พระนอนว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๕ พระเจ้าศรีโคตรบูร กษัตริย์ขอม ต่อยอดพระธาตุพนมสำเร็จ มีพระราชดำริจะจัดพิธีสมโภชฉลอง จึงแจ้งข่าวแก่ขอมทั่วไปให้มาร่วมฉลองครั้งนี้ ฝ่ายขอมทางเขมรต่ำ มีนายสาเป็นหัวหน้าพากันรวบรวมทรัพย์สมบัติ และผู้คนเดินทางมาเพื่อร่วมการกุศล พอมาถึงบ่อคำม่วง ห่างจากถ้ำภูค่าวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๙ เส้น ก็พากันหยุดพักและทราบข่าวว่า การสมโภชพระธาตุพนมเสร็จสิ้นเสียแล้ว นายสาจึงปรึกษาพรรคพวกแล้วตกลงกันว่าให้ฝังสมบัติที่พากันนำมาไว้ที่ภูค่าว และได้สลักรูปพระโมคคัลลานะไว้ที่ถ้ำแห่งนี้เป็นที่หมาย

 จากนั้นตั้งปริศนาไว้ว่า "พระหลงหมู่อยู่ภูถ้ำบก แสงตาตกมีเงินเป็นแสน ไผหาได้กินทานหาแหน่ เหลือจากนั้นกินเลี้ยงบ่อหลอ" ใครที่ไขปริศนาที่ว่านี้ได้ก็จะพบกับทรัพย์สมบัติที่ซ่อนเอาไว้

ตัวผมน่ะฟังแล้วขอสละสิทธิ์ไปเป็นคนแรกเลย ไม่ใช่ว่าเป็นคนดีไม่อยากได้สมบัตินะครับ ทว่าแค่ฟังคำปริศนาก็งงไป ๑๕ ตลบแล้ว เพราะไม่รู้ภาษาอีสาน 

แล้วจะมีปัญญาที่ไหนไปไขปริศนาขุมทรัพย์ลายแทงอะไรกับเขาได้  


   
ขออดีตอันรุ่งเรืองจงคืนกลับมา
กลิ่นธูปควันเทียนวูบมาตามสายลม ทำเอาผมตื่นจากห้วงภวังค์ที่เพลิดเพลินอยู่กับภาพจินตนาการวันเวลาอันรุ่งเรืองของเมืองฟ้าแดดสงยางในกลางความมืด

กำลังคิดว่าจะเจอดีเข้าแล้วเสียละมั้งคราวนี้  ก็พอดีเห็นเงาตะคุ่มของคนกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาในบริเวณพระธาตุยาคู  พ่อเฒ่าแม่แก่เดินนำหน้าพาคู่ชายหญิงสามีภรรยาถือธูปเทียนวนเวียนสักการะตามมุมต่าง ๆ ที่ตั้งใบเสมารอบองค์พระธาตุ ก่อนจะพากันคุกเข่าลงตรงลานด้านหน้าที่เรียงรายไปด้วยตุ๊กตาแก้บนรูปช้างม้าวัวควายตัวใหญ่ ๆ  แว่วเสียงพ่อเฒ่าแม่แก่กล่าวนำให้คู่สามีภรรยาว่าตามเป็นภาษาท้องถิ่น แอบเงี่ยหูฟังพอจะจับใจความได้ว่าทั้งสองคนแต่งงานอยู่กินกันมานาน ยังไม่มีลูก จึงอยากขอพรจากองค์พระธาตุให้มีลูกสมใจในเร็ววัน

 เห็นอย่างนี้แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ตั้งหลายวัน ผมยังไม่ได้อธิษฐานขออะไรเลย ว่าแต่จะขออะไรดี จะขอเงินเดือนขึ้นสองขั้นก็เพิ่งจะได้ไป   

ถ้าอธิษฐานได้ ผมคงไม่ขออะไรมาก ขอแค่ให้ความรุ่งเรืองของเมืองฟ้าแดดสงยางให้คืนกลับมาอีกครั้งก็แล้วกัน ไม่ใช่คืนชีพนครสมัยทวารวดีที่ล่มสลายไปเนิ่นนานนับพันปีขึ้นมาใหม่  เรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้หรอกครับ แต่อยากให้ฟื้นคืนชีพในลักษณะที่มีผู้สนใจเห็นความสำคัญ สร้างเป็นศูนย์ข้อมูลศึกษาวัฒนธรรมทวารวดีเมืองฟ้าแดดสงยางและเมืองทวารวดีอื่น ๆ ในภาคอีสาน เพราะเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่นด้วยใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ยักษ์นับร้อยนับพันแถมอายุเก่าแก่นับพันปีอย่างนี้ เทียบชั้นกันกับระดับโลกแล้วก็คงไม่น้อยหน้าแหล่งอารยธรรมสำคัญไม่ว่าที่ไหนทั้งนั้น 

 ชอแค่นี้แหละครับ ให้เป็นจริงสักวันเถิดเจ้าประคู้ณ สาธุ

เอกสารอ้างอิง
น. ณ ปากน้ำ.ศิลปะบนใบเสมา.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๒๔.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปะโบราณในสยาม.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๗.
ธิดา สาระยา.ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๕.






คู่มือนักเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา  ไปจนถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เลี้ยวขวาทางหลวงหมายเลข ๒๓ไปถึงจังหวัดมหาสารคาม จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๓  ตรงไปเรื่อย ๆ จนถึงจังหวัดกาฬสินธุ์  รวมระยะทางประมาณ ๕๑๙ กิโลเมตร

รถโดยสาร จากกรุงเทพฯ ที่สถานีขนส่งหมอชิต ๒ มีรถโดยสารปรับอากาศในเส้นทางกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ทุกวัน อัตราค่าโดยสาร VIP ๒๔ ที่นั่ง  ๖๓๓ บาท ธรรมดา ๔๖ ที่นั่ง  ๓๓๐ บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๘ ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๔๑-๔๘ และ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th

รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีขบวนรถไฟรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศไปลงที่สถานีขอนแก่น จากนั้นต่อรถโดยสารจากขอนแก่นไปยังกาฬสินธุ์อีกประมาณ ๗๕ กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย สายด่วน ๑๖๙๐ และ ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔  ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ หรือที่เว็บไซต์ www.railway.co.th

หมายเหตุ อัตราค่าโดยสารอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กรุณาตรวจสอบอีกครั้งก่อนออกเดินทาง

เมืองฟ้าแดงสงยาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามเส้นทางหลวงสาย ๒๑๔ (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร
พุทธสถานภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข ๒๓๑๙ 

1 ความคิดเห็น:

  1. Best Casinos with Slots and Casino Games in the US - Wooricasinos
    With online slots, you can play casino games in the USA without risking any real money. gri-go.com There are online kadangpintar casinos that let wooricasinos.info you septcasino play ford fusion titanium slots and

    ตอบลบ