วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

สนุกสนานตามหาจักรวาลแดนล้านนา น่าน แพร่ ลำปาง


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่อง สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท.ตุลาคม ๒๕๖๗

“ข้างบนนั้นไง ดวงดาวเต็มไปหมดเลย สีส้มดวงใหญ่น่าจะดาวพฤหัส สีเขียวน่าจะเป็นดาวพุธ เห็นวงโคจรชัดเจนเลยด้วย...”

หากใครบัญเอิญผ่านมาได้ยินบทสนทนา คงจะต้องคิดว่าพวกเราบ้ากันเป็นแน่  ตอนสาย ๆ แดดกำลังแผดเปรี้ยงขนาดนี้ มาชี้ชวนให้ดูดาวดูเดือนอะไรกัน 

ความจริงแล้วดวงดาวที่พวกเรากำลังมายืนชี้โบ๊ชี้เบ๊กันอยู่นี้ไม่ได้อยู่บนท้องฟ้าครับ แต่อยู่บนฝ้าเพดานของศาลหลักเมืองน่าน ในอาณาบริเวณของวัดมิ่งเมือง ใจกลางเมืองน่าน อันโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอลังการสีขาวมุก ที่เราเลือกแวะกันเป็นแห่งแรก  เนื่องจากหลักเมืองนั้นถือว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  จึงเหมาะสมสำหรับเป็นจุดตั้งต้นการเดินทาง “ตามหาจักรวาล” ของพวกเราในครั้งนี้เป็นที่สุด

ศาลหลักเมืองน่าน วัดมิ่งเมือง


 จักรวาลเพื่อการล้างภพชาติ

 ผู้คนในปัจจุบันศึกษาจักรวาลเพื่อการเรียนรู้ทำความเข้าใจในแบบวิชาการ ในฐานะเอกภพอันกว้างใหญ่ไพศาลจนไม่สามารถกำหนดขอบเขตได้ อันเป็นที่อยู่ของอวกาศและวัตถุท้องฟ้า ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาราจักร สสาร และพลังงาน  อันอาจต่อยอดไปสู่การเดินทางไปในจักรวาลเพื่อค้นหาโลกใหม่สำหรับอนาคต อย่างที่เรามักจะเห็นกันในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ แต่ในอดีตทางพุทธศาสนาของเราเรียนรู้จักรวาลในฐานะโลกธาตุ ทำความเข้าใจถึงวัฏฏสงสารคือการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อการแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น จักรวาลที่พวกเราจะมาตามหากันคือชนิดหลังนี่แหละครับ หน้าตาเป็นยังไงน่ะหรือ ก็คงต้องดูจากเอกสารโบราณที่ได้พรรณนาลักษณะของจักรวาลดังกล่าวเอาไว้

นรกภูมิบนจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์

“ไตรภูมิพระร่วง” คัมภีร์โบราณพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย บันทึกถึงเรื่องราวของจักรวาลในทางพุทธศาสนาเอาไว้โดยละเอียด ว่าจักรวาลเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คำว่า “จักรวาล” หมายถึงการหมุนวนไปเช่นเดียวกับจักร พื้นที่ภายในจักรวาลจึงมีลักษณะเป็นวงกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ประกอบด้วยสามภพภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ศูนย์กลางของจักรวาลคือเขาพระสุเมรุ  บนยอดเขาเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และนครแห่งทวยเทพนามว่า “ไตรตรึงส์” ศูนย์กลางคือไพชยนต์มหาปราสาท ที่ประทับของพระอินทร์ เทพผู้คุ้มครองโลกและพระพุทธศาสนา โดยมีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรอยู่รอบ   

เบื้องบนสูงจากชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นลำดับได้แก่ ยามา  ดุสิต (ในสวรรค์ชั้นดุสิตจะเป็นที่สถิตของพุทธมารดาบิดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ รวมทั้งพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรยที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป) นิมานนรดี และปรนิมมิตวสวัตดี  ถัดขึ้นไปอีกคือสวรรค์ชั้นรูปพรหมมี ๑๖ ชั้น และอรูปพรหมมี ๔ ชั้น

เชิงเขาพระสุเมรุมีภูเขาสามลูกเป็นฐานรองรับเรียกว่า “ตรีกุฏ” ระหว่างเขาทั้งสามลูกเป็นดินแดนของยักษ์และนาค เบื้องล่างเขาตรีกูฏลงไปมีปลาอานนท์นอนหนุนอยู่ ถัดลงไปข้างใต้เป็นที่ตั้งของมหานรกทั้งแปดอันเป็นที่อยู่ของเปรตและอสุรกาย ได้แก่ สัญชีวะ กาฬสุตตะ สังฆาฏะ โรรุวะ มหาโรรุวะ ตาปะ มหาตาปะ และอเวจี

 รอบเขาพระสุเมรุโอบล้อมไว้ด้วยสัตตบริภัณฑ์ คือเทือกทิวเขารูปวงแหวนทั้งเจ็ดซ้อนกันเรียงราย ได้แก่ ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินันตกะ และอัสกัณ ซึ่งเป็นที่สถิตของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาพร้อมด้วยบริวาร ทิวเขาแต่ละชั้นมีวงแหวนสมุทรคั่นอยู่เรียกว่า “มหานทีสีทันดร” นอกทิวเขาสัตบริภัณฑ์ ทิศทั้งสี่ของจักรวาลมีมหาสมุทรสี่แห่งกว้างไกลไปถึงสุดภูเขาที่เป็นกำแพงจักรวาล โดยนอกกำแพงจักรวาลยังเป็นที่ตั้งของมหานรกอีกแห่งคือ โลกันตะ



สี่ทิศของเขาพระสุเมรุรอบนอกยังมีทวีปใหญ่อีก ๔ ทวีป ได้แก่ “อุตรกุรุทวีป” ตั้งอยู่ทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร “ปิตสาคร” มีน้ำสีเหลือง “บุพวิเทหทวีป” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร “ขีรสาคร” มีน้ำสีขาว “ชมพูทวีป”  ตั้งอยู่ทิศใต้เขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร “นิลสาคร” มีน้ำสีน้ำเงินอมม่วง และ “อมรโคยานทวีป” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วย “ผลิกสาคร”มีน้ำใสสะอาดเหมือนแก้วผลึก  (ว่ากันว่าหากเทียบกับจักรวาลทางวิทยาศาสตร์ ชมพูทวีปนั้นคือโลกมนุษย์ของเรานี่เอง ส่วนทวีปอื่น ๆ นั้นคือโลกของ “มะนาวต่างดุ๊ด” มนุษย์ต่างดาว ที่อยู่ไกลออกไปในอวกาศ) 

กลไกจักรวาลดำเนินไปตามวงวัฏ สรรพสิ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับสิ้นไป วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด สรรพสัตว์ในจักรวาลดำเนินไปตามผลแห่งการกระทำหรือผลกรรม เวียนว่ายตายเกิดเป็นสังสารวัฏอยู่ภายในสามภพภูมิเหล่านี้ไม่มีสิ้นสุด มีเพียงหนทางเดียวที่จะหลุดพ้น คือ “นิพพาน” อันเป็นการยุติภพชาติ ไม่ต้องกลับมาจากความเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิใด ๆ ทั้งสิ้นอีกต่อไป

สมัยก่อนตามวัดวาอารามนิยมจำลองจักรวาลตามความเชื่อในทางพุทธศาสนาเอามาใส่ไว้ในส่วนต่าง ๆ  ทั้งในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่การวางผังตำแหน่งที่ตั้ง รูปทรงและส่วนประกอบต่าง ๆ การตกแต่งประดับประดา ของสถาปัตยกรรม ไปจนกระทั่งจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อส่งทอดความรู้ให้กับชาวบ้านทั่วไปที่อาจจะไม่มีความรู้ อ่านหนังสือไม่ออก ได้เห็น ได้สัมผัส  ได้เข้าใจ และมีโอกาสได้พบทางหลุดพ้น น่าเสียดายที่ผ่านไปหลายศตวรรษความหมายของจักรวาลได้ถูกลืมเลือนไปจากผู้คนโดยส่วนมาก แม้แต่การสร้างวัดวาอารามสมัยหลัง ๆ ก็ไม่ได้ยึดถือตามแผนภูมิจักรวาลเสียแล้ว

 โชคยังดีที่ครับ ที่ทางภาคเหนือแถบล้านนายังพอหลงเหลือของเก่า ๆ ตกทอดมา รวมทั้งยังมีวัดสมัยปัจจุบันหลายแห่ง ที่แม้สร้างขึ้นใหม่แต่ยังคงรูปแบบภูมิจักรวาลดั้งเดิมของโบราณ ให้เราได้มาตามหาและชื่นชมกัน

 

วิหารุโบสถูป วัดภูมินทร์

 ตระการตาสถาปัตยแห่งจักรวาล นครนันทบุรี

            พวกเราลองพลิกลายแทงกันอยู่หลายตลบ ไม่พบว่าจะมีแห่งใดน่าสนใจไปกว่าวัดภูมินทร์ครับ สำหรับในเมืองน่านจะว่ากันในเรื่องความเก๋า ก็ถือมีความเก่าแก่ในอันดับต้น ๆ   เนื่องจากสร้างมาตั้งแต่เมื่อสร้างใน พ.ศ. ๒๑๓๙  โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์  เจ้าผู้ครองนครน่าน (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมัยอยุธยาตอนกลาง)  

            ที่สำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้เป็นอุโบสถจัตุรมุขหลังแรกในประเทศไทยที่รวมเอาอุโบสถ วิหาร และสถูปเจดีย์เข้าเป็นหลังเดียวกัน (ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี ขอเรียกว่า “วิหารุโบสถูป” (วิหาร +อุโบสถ+สถูป) ก็แล้วกัน อันนี้ผมเรียกของผมเองนาครับ ใครอย่าได้ทะเล้นเอาไปอ้างอิงทางวิชาการเชียว)  กับอีกประการที่โดดเด่นที่สุด คือการแปรรูปจักรวาลตามความเชื่อในพุทธศาสนาออกมาเป็นสถาปัตยกรรมได้อย่างสวยงามตระการตาเป็นอย่างยิ่ง

มองจากภายนอกตัวอาคาร “วิหารุโบสถูป” นั้นก็คือการจำลองเขาพระสุเมรุ  มุขและซุ้มประตูโขงสี่ด้านเสมือนทวีปทั้งสี่ที่ล้อมรอบ กึ่งกลางหลังคาซึ่งเปรียบได้กับยอดเขาพระสุเมรุติดตั้งปราสาทเฟื้องสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุพร้อมปูนปั้นรูปนาคเลี้อยหันหัวลงมาเป็นชั้น ๆ กระทั่งถึงชายคาล่างสุดที่มีคันทวยรูปนาค พญานาคเล็ก ๆ นั้นสื่อแทนลำน้ำน้อย ๆ หลายสายหลากไหลลงจากยอดเขาพระสุเมรุลงมาสู่ฐานเบื้องล่างอันมีพญานาคคู่ขนาดมหึมาสัญลักษณ์แทนมหานทีสีทันดรที่เป็นผืนน้ำใหญ่ ซึ่งใช้แนวใบเสมาปักไว้สี่มุมอาคารกำหนดขอบเขตสมมติให้ดูคล้ายตั้งอยู่บนสระรูปสี่เหลี่ยม ในขณะเดียวกันอิริยาบถของพญานาคในการแบกฐาน “วิหารุโบสถูป” ก็เปรียบได้กับเรือสำเภาทองนำพามนุษย์ข้ามพ้น “โอฆสงสาร” หรือห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในกิเลสไปด้วยในตัว

พระประธานวัดภูมินทร์

ย่างเท้าขึ้นไปไดเข้าสู่ภายใน ด้านหน้าทางทิศตะวันออกนั้นคือ “บันไดนาค” ทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ ลอดซุ้มประตูโขงอันเปรียบได้กับป่าหิมพานต์ที่คั่นอยู่ เพื่อผ่านเข้าสู่ภายในอาคารอันเปรียบได้กับสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ๔ องค์หันพระปฤษฎางค์ขนกันหันพระพักตร์ออกทางประตูทั้งสี่ทิศ แต่ละองค์หมายถึงพระพุทธเจ้าที่บังเกิดมาโปรดในภัทรกัปป์แล้วรวมสี่พระองค์ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระโคตมะ เด่นสง่าบนฐานชุกชีบนแกนกึ่งกลางอาคารอันแทนสถูปเจดีย์ซึ่งสื่อถึงศูนย์กลางจักรวาล

เห็นไหมล่ะครับว่า ช่างโบราณนั้นสุดยอดจริง ๆ  แค่เดินเข้าวัดเข้ามากราบสักการะพระใน “วิหารุโบสถูป” ครั้งหนึ่งก็เหมือนกับได้ท่องทั่วจักรวาลผ่านเข้าสู่สรวงสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุกันเลยทีเดียว  น่าเสียดายอยู่หน่อยตรงที่ตอนพวกเรามาครั้งนี้ทางกรมศิลปากรกำลังทำการบูรณะซ่อมแซมองค์พระประธานทั้งสี่องค์ กั้นโครงเหล็กนั่งร้านบุด้วยผ้าใบไว้โดยรอบอย่างหนาแน่นรอบทิศทางจนมองไม่เห็นองค์พระ กว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็เดือนเมษายนปีหน้าแน่ะ ยังดีที่พิมพ์ภาพไวนีลของพระประธานด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกขนาดเท่าองค์จริงมาติดเอาไว้ให้ผู้มาเยือนได้สักการะแทน  พอกล้อมแกล้มไปได้ไม่เสียเที่ยว

ยักษ์ทวารบาลฝีมือแกะสลักไม้งามแปลกตา วัดพญาภู

แวะเข้าไปที่วัดพญาภู อารามเก่าแก่อีกแห่งของเมืองน่าน มีพระประธานโบราณในอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๕๐  ทว่าสิ่งที่พวกเราตั้งใจจะมาดูที่วัดนี้ไม่ใช่พระครับ แต่เป็นยักษ์ทวารบาลแกะสลักไม้บนบานประตูวิหาร คงจำกันได้นะครับ ว่าดินแดนของเผ่าพันธุ์ยักษ์นั้นตั้งอยู่ในระหว่างเขาตรีกูฏเชิงเขาพระสุเมรุ  ช่างโบราณจึงได้นำเอายักษ์มาเป็นส่วนหนึ่งของการประดับตกแต่งอุโบสถด้วยอีกชนิดหนึ่งทำนองเดียวกับสัตว์หิมพานต์อื่น ๆ  ตั้งใจให้ผู้คนที่จะมาไหว้พระเดินผ่านบันไดนาคเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ ขึ้นมาพบซุ้มประตูโขงหรือป่าหิมพานต์ ที่มียักษ์สองตนนี้อารักขาทางเข้า ก่อนจะขึ้นสู่แดนสรวงดาวดึงส์ ซึ่งก็คือในอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานนั่นเอง

  “หน้าตาเหมือนเอเลี่ยน”  พี่ไถ่ สุรพลช่างภาพออกความเห็น หลังจากไปยืนพินิจพิจารณาจ้องหน้าสองยักษาผู้รักษาประตู ซึ่งตนทางซ้ายถือดาบและคันศรในมือ ตนทางขวาถือกระบี่พร้อมฝักอยู่พักใหญ่ ส่วนในสายตาผม ยักษ์ทวารบาลวัดนี้ลักษณะรวม ๆ คล้ายประติมากรรมของชาวแอชเท็ค อารยธรรมโบราณในตอนกลางของเม็กซิโก  ถือเป็นประติมากรรมทวารบาลแกะสลักไม้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดในประเทศไทยเลยครับ เพราะมีรูปแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใครจริง ๆ เสียดายตรงไม่รู้ประวัติความเป็นมาว่าช่างผู้แกะสลักเป็นใคร ไอเดียในการสร้างผลงานนั้นต้องบอกว่าชั้น “มาสเตอร์พีซ” ไม่แวะเข้ามาชมต้องถือว่าพลาดอย่างแรง

เจติยสถานวัดศรีบุญเรือง

ข้ามแม่น้ำน่านผ่านมาเข้าวัดศรีบุญเรือง อีกอารามเก่าแก่สร้างตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๑๐๓  จุดหมายที่พวกเราตั้งใจมาชมคือ “เจติยสถาน” ที่สร้างใหม่เมื่อไม่นานนี้ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญและเก่าแก่ของเมืองน่าน คือพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สุโขทัยปางมารวิชัย  พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ศิลปะน่าน  พระพุทธรูปโบราณปางปรินิพพานโดยสร้างเป็นสถาปัตยกรรมทรงมณฑปจัตุรมุขแบบล้านนาประยุกต์ เด่นสะดุดตาอยู่ทางซ้ายมือ เห็นได้แต่ไกลตั้งแต่เลี้ยวรถเข้าไปในวัด 

ความน่าสนใจอยู่ตรงแนวคิดในการสร้างที่ยังคงรูปแบบในการจำลองจักรวาลแบบโบราณเอาไว้ กึ่งกลางของมณฑปทำเป็นโขงพระเจ้าประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญทั้งสามองค์ ประดับประดาส่วนต่าง ๆ ด้วยปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษาและสัตว์หิมพานต์นานาชนิด เพียงเดินขึ้นบันไดมาก็ประดุจว่าย่างเท้าเข้าสู่ดินแดนป่าหิมพานต์ เห็นเขาพระสุเมรุเด่นตะหง่านอยู่เบื้องหน้าเลยทีเดียว 


ปลาอานนท์ ใต้เจติยสถานวัดศรีบุญเรือง

ใต้ฐานของจติยสถานยังจำลองรูปแบบของเขาพระสุเมรุมาอย่างชัดเจน เพราะนอกจากทำเป็นประติมากรรมปูนปั้นพญานาคชุมนุมกันอยู่กึ่งกลาง อย่างที่เชื่อกันว่าเชิงเขาพระสุเมรุเป็นดินแดนของนาคแล้ว ยังมีประติมากรรมรูป “ปลาอานนท์”  ซึ่งตามตำราว่าหนุนจักรวาลอยู่ใต้เขาตรีกูฏอีกที รวมทั้ง “วารีกุญชร”  ครึ่งตัวบนเป็นช้าง ครึ่งล่างมีหางเป็นปลา กินรี และนางเงือก (ที่ตามความหมายเก่าของไตรภูมิคืองูหรือนาค) 

ที่แปลกคือ มีประติมากรรมรูปเต่าธรรมดาที่ไม่ใช่สัตว์หิมพานต์อยู่ด้วย ผมสันนิษฐานเอาเองว่าน่าจะมาจาก “กัจฉปชาดก” ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับป่าหิมพานต์อยู่ เล่าไว้ว่าลูกหงส์สองตัวจากป่าหิมพานต์มาเล่นกับลูกเต่าในบึงนอกเมืองพาราณสีจนสนิทสนม เลยชวนลูกเต่าไปเที่ยวบ้านที่ป่าหิมพานต์ด้วยกัน โดยให้เต่าคาบท่อนไม้ตรงกลาง ส่วนหงส์ทั้งสองคาบไม้กันคนละข้างแล้วหิ้วเต่าบินไป ระหว่างทางเต่าได้ยินคนที่พบเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จึงอดใจไม่ไหวเอ่ยปากโต้ตอบจนร่วงหล่นลงมาตาย เป็นชาดกสอนใจให้คนรู้จักสงบปากสงบคำในเวลาอันควร  

ด้านหน้าอุโบสถ วัดพญาวัด ประดับประดาตามคติจักรวาล

 ผ่านมาทางวัดพญาวัด ปากทางขึ้นจุดชมทิวทัศน์พระธาตุเขาน้อย เจดีย์ประธานทรงเหลี่ยมสี่ด้านเรียงรายด้วยซุ้มประดิษฐานพระพุทธรุปลดหลั่นยังคงยืนหยัดอยู่ดังเช่นเห็นอยู่ทุกครั้งที่มาเยือน  หนก่อน ๆ แวะวัดนี้เพื่อชื่นชมเจดีย์เป็นหลัก แต่คราวนี้เราเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นดูอุโบสถ เพราะเมื่อครั้งก่อนนานมาจำได้ว่าเคยเห็นกำลังบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ ท่าทางจะออกมาสวยงาม เนื่องจากยังยึดถือแนวการตกแต่งแบบสมัยโบราณ มาวันนี้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วทั้งหลัง พวกเราเลยหมายมั่นปั้นมือมุ่งหน้ามาชมโดยเฉพาะ

ประติมากรรมกินรี สัตว์หิมพานต์บันไดหลังอุโบสถ วัดพญาวัด

เห็นแล้วก็ถึงกับตะลึงครับ ถือเป็นการจำลองจักรวาลได้อย่างโอ่อ่าอลังการเลยทีเดียว ตั้งแต่บันไดนาคด้านหน้า ซุ้มโค้งแทนหน้าบันปั้นปูนเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ที่เป็นสัตว์ปีกนานาชนิด ที่เห็นเด่นชัดก็เช่น นกหัสดีลิงก์ นกกรวิก (นกการเวกหรือนกวายุภักษ์) และหงส์  ยังมีดอกปาริชาต ดอกไม่แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รวมทั้งลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการอยู่ในกรอบพรรณพฤกษา ทั้งหมดเป็นสีทองบนพื้นขาวระยิบระยับอร่ามตา

ซุ้มประตูโขงด้านในก็เช่นเดียวกัน ยังเติมเพิ่มเติมด้วยปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ที่เป็นสัตว์สี่ขาประดับส่วนฐานของซุ้มประตูอีกด้วย ก่อนเข้าไปถึง ”โขงพระเจ้า” ที่ประดิษฐาน “พระเจ้าฝนแสนห่า” พระประธานโบราณที่ชาวบ้ายเคยพึ่งพาแห่ขอฝนในอดีต มลังเมลืองด้วยแสงไฟอยู่ตอนท้ายอุโบสถ

พระประธานปางเปิดโลก ในอุโบสถวัดบุญยืนพระอารามหลวง

ออกจากเมืองน่าน ผ่านมาทางอำเภอเวียงสา เห็นว่ายังพอมีเวลาเลยแวะเข้ามาที่วัดบุญยืนพระอารามหลวงอีกสักแห่ง เพราะนอกเหนือจากองค์พระประธานในพระอุโบสถที่มีความแปลกไม่เหมือนที่ใครเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง สูง ๕ เมตรปางเปิดโลกแต่แนบพระกรชิดพระวรกาย 

อุโบสถวัดนี้ยังประดับประดาด้วยการจำลองป่าหิมพานต์ให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นกัน  ตั้งแต่ปูนปั้นนูนต่ำกินรีบนผนังชานอุโบสถ เสาอุโบสถกลมใหญ่สีแดงทุกเสาตั้งแต่ชานด้านหน้า เข้ามาถึงภายใน ตกแต่งด้วยประติมากรรมลวดลายพรรณพฤกษาล้อมรอบรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น ครุฑ สิงห์ กินนร นรสิงห์  และอื่น ๆ หลากหลายชนิด สิบกว่าเสา แต่ละเสาไม่ซ้ำกัน เดินพินิจแค่ลวดลายยังใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยละครับ เรียกว่าคืนนี้กลับไปนอนฝันถึงป่าหิมพานต์กันทีเดียว

สัตตภัณฑ์แทนเขาสัตตบริภัณฑ์ที่รายรอบเขาพระสุเมรุ วัดพระบาทมิ่งเมือง

หลากสีสันจักรวาลเก่าใหม่ เวียงโกศัยพลนคร

                เช้านี้พวกเรามาปร๋อกันอยู่ที่เมืองแพร่ วัดพระบาทมิ่งเมืองคือจุดหมายแรก เนื่องจากอยู่ใกล้กับร้านที่พวกเราไปกินอาหารเช้ากัน เลยถือโอกาสแวะเดินเที่ยวชมเป็นการย่อยอาหารไปในตัว เข้าไปสักการะ “พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี”  พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่ในพระอุโบสถซึ่งผมเองเคยมาหลายหนแล้ว แต่ทุกทีเข้ามาไหว้พระแล้วก็ออกไปเลย เพิ่งสังเกตคราวนี้ครับว่าเสาอุโบสถประดับด้วยลวดลายฉลุปิดทองดอกปาริชาต ดอกไม้ประจำสวรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บนฝ้าเพดานยังตระการตาด้วยลวดลายมงคลจักรวาล พระพุทธรูปปางต่าง ๆ  สลับกับพระพุทธบาทที่มีลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการ เรียกว่าประดับประดาด้วยหลายจักรวาลจนละลานตา

ลายทองอดีตพุทธะและมงคลจักรวาล
            ความเชื่อเรื่อง “มงคลจักรวาล” นั้นมีที่มามาจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก จุฬนีสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต ที่กล่าวว่าจักรวาลที่เราอาศัยอยู่เป็นหนึ่งเดียวที่มีพระรัตนตรัย คือมีพระพุทธเจ้าอุบัติชึ้น มีพระธรรมคำสั่งสอนหนทางแก่สรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ มีพระสงฆ์ออกบวชสืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนชี้ทางแก่สรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์  ในขณะที่จักรวาลอื่น ๆ ในอนันตจักรวาลอันไพศาลไร้ขอบเขต ไม่มีจักรวาลใดเลยมีพระพุทธเจ้า จึงเป็นจักรวาลที่ไม่เป็นมงคล  

ส่วนความเชื่อเรื่อง “มงคล ๑๐๘ ประการ” หรือ” อัฎฐตดรสตมงคล” ไทยเรารับมาจากคติในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกาบันทึกไว้ถึงมงคลที่พราหมณ์มองเห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อทรงประสูติได้ ๕ วัน ประกอบด้วยสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น ดอกบัว พวงมณี หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ เครื่องประกอบพระบารมีพระเจ้าจักรพรรดิราช เช่น สัตตรัตนะแก้ว ๗ ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องต้น ราชพาหนะ  และภพภูมิในจักรวาลตามความเชื่อในไตรภูมิ เช่น ทวีปทั้งสี่ เขาพระสุเมรุ เทือกสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น 

ลวดลายมงคลจักรวาล เพดานอุโบสถวัดพระบาทมิ่งเมือง

ช่างโบราณนิยมทำลวดลายมงคล ๑๐๘ เหล่านี้ในประติมากรรมพระพุทธบาท ตื่นตาตื่นใจแหงนหน้าเดินชมความงามกันอยู่เป็นนานสองนานจนเมื่อยคอ ถึงได้สังเกตเห็นว่าลวดลายที่เห็นเป็นลายฉลุปิดทองนั้นเป็นแผ่นเภาพพิมพ์ลาย เหมือนกับวอลเปเปอร์นำมาติดเข้ากับฝ้าเพดานและเสาอุโบสถ ไม่ใช่ลวดลายฉลุปิดทองแบบโบราณ  ถึงว่าทำไมลายถึงได้ดูเนี้ยบกริบเหมือนกันหมด น่าจะเป็นเทคนิคสมัยใหม่ของการตกแต่งภายในครับ เพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน ถือว่าเป็นการเปิดหูเปิดตา แม้เป็นของสมัยใหม่แต่ว่าสวยงามถือว่าใช้ได้

พระประธานในวิหารแก้ว วัดพงษ์สุนันท์

ไม่ไกลจากกันเท่าไหร่ ซุ้มประตูมงคล ๑๙  ยอด ของวัดพงษ์สุนันท์ดูโดดเด่นจนทำให้พวกเราไม่ต้องมองหาประตูทางเข้าวัด เช่นเดียวกับ “วิหารแก้ว” ดึงดูดสายตาด้วยสถาปัตยกรรมจัตุรมุขสีขาวมุกคล้ายกับจำลองภูมิจักรวาลต่างกันตรงยอดเบื้องบนทำเป็นองค์พระธาตุเจดีย์ เรียงรายรวม ๑๐๘ ยอด ล้อมรอบด้วยกำแพงลูกแก้วทั้งหมด ๑๐๘ ลูก (คาดว่าตัวเลข ๑๐๘ นี้น่าจะมาจากมงคล ๑๐๘ ประการ) ตั้งเด่นอยู่ใจกลางวัด  

ภายในวิหารแก้วประดิษฐานพระประธานคือ “พระสุรัสวดีประทานพร” แกะสลักจากไม้ขนุนทั้งองค์ แต่พวกเราสนใจเป็นพิเศษตรงเพดานเหนือองค์พระ เนื่องจากวาดเป็นจิตรกรรมภาพจักรวาลที่เป็นกงล้อ ๑๒ นักษัตรอันเป็นความเชื่อที่รับมาจากจีน ล้อมรอบด้วยดาวเคราะห์ในแบบปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับดวงดาวและจักรวาลที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ถ้ำพญานาค วัดสวรรคนิเวศ

 ประติมากรรมที่ผุดโผล่อยู่รำไรหลังกำแพงวัดสวรรคนิเวศให้พวกเรามองเห็นจากร้านข้าวต้มมื้อเย็นเมื่อมาถึงเมืองแพร่ค่ำวันวาน สร้างความสงสัยจนอดไม่ได้ วันนี้จึงต้องขอเลี้ยวเข้าไปดูชมให้หายข้องใจ ภายในวัดพื้นที่ไม่กว้างใหญ่นักแต่ให้ความสำคัญกับพญานาคอย่างเห็นได้ชัด เพราะขนาดบนเจดีย์ประธานของวัดยังปรากฏประติมากรรมพญานาคขนาดใหญ่เจ็ดเศียรเลื้อยแผ่พังพานตระหง่าน 

อีกฟากหนึ่งสร้างสรรค์เป็น “ถ้ำพญานาคราช” ให้ผู้มาเยือนเข้าเที่ยวชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คงจำกันได้นะครับ ดินแดนพญานาคและยักษ์นั้นตั้งอยู่เบื้องล่างเขาพระสุเมรุบริเวณระหว่างเขาตรีกูฏทั้งสาม ถ้ำนี้จึงถือว่าเป็นส่วนเบื้องล่างเขาพระสุเมรุได้เหมือนกัน พวกเราเลยถือโอกาสเข้าไปทัศนาจรเมืองพญานาคกันเสียหน่อย 

ภายในถ้ำทำทางเดินลดเลี้ยวไปโผล่ในโถงถ้ำใหญ่ที่เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยและพญานาคปูนปั้นหลากสีสันลดเลื้อยเกี่ยวพันอยู่บนเสาหินบ้าง ก้อนหินบ้าง ได้บรรยากาศแดนนาคาดีเหมือนกันครับ (ถ้าไม่ติดว่ารอบด้านระเกะระกะไปด้วยโต๊ะตั้งพระพุทธรูปหลากสีพร้อมพานให้ทำบุญ ถังเหลืองถวายสังฆทาน ตั่งไม้ประดิษฐานพระพุทธรูป ฯลฯ)  ลึกเข้าไปด้านในอีกชั้น มีเจ้าแม่กวนอิม (เกี่ยวกับพญานาคตรงไหนก็ไม่รู้)  

เลี้ยวซ้ายไปเป็นโถงที่ตั้งของประติมากรรมพญานาคพ่อปูศรีสุทโธกับแม่ย่าปทุมมาอยู่กึ่งกลาง มีปู่โสมเฝ้าทรัพย์กับกองสมบัติสีทองอร่ามและพระพิฆเณศอยู่สองฟากฝั่ง  ผ่านหลืบลึกเข้าไปอีกชั้นเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธพญามุจิลินท์มงคลธนะศักดิ์” พระประธานของถ้ำพญานาคราช  มุมหนึ่งยังมีช่องทางเป็นบันไดขึ้นไปยังเบื้องบนหลังคาถ้ำเป็นที่ตั้งของประติมากรรมที่เขาว่าเป็น “พระราหูองค์ใหญ่ที่สุดในโลก” อยู่ในท่าสองมือคว้าอ้าปากพร้อมจะกลืนกินพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าไป


ประติมากรรมพระราหูใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

นทางพุทธศาสนาพระราหู เป็นโอรสท้าวเวปจิตติผู้ครองดินแดนยักษ์ มีนามว่า “อสุรินทราหู”  ปกครองยักษ์ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ ยังมีเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านที่อธิบายเรื่องสุริยคราส-จันทรคราส เล่าไว้ว่าชาติก่อนพระราหูเคยเกิดมาเป็นน้องสุดท้องร่วมท้องมารดาเดียวกันกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ 

ครั้งหนึ่งได้ตักบาตรพระร่วมกับพี่ทั้งสองคน พระอาทิตย์ตักบาตรด้วยขันทอง พระจันทร์ตักบาตรด้วยขันเงิน ส่วนพระราหูตักบาตรด้วยกะลามะพร้าว อานิสงส์ส่งให้สามพี่น้องไปเกิดเป็นเทวดานพเคราะห์ พระอาทิตย์มีรัศมีสีผิวเปล่งปลั่งเหมือนทองคำ ส่วนพระจันทร์มีรัศมีสีผิวสีขาวสว่างเหมือนเงิน ส่วนพระราหูรัศมีสีผิวเป็นสีดำเหมือนกะลา  

ต่อมาเมื่อกวนเกษียรสมุทรเหล่าเทวดาและยักษ์ทำศึกแย่งน้ำอมฤตกัน  พระราหูได้แปลงกายเป็นเทวดาแอบดื่มน้ำอมฤตเข้าไป พระอาทิตย์กับพระจันทร์เห็นเข้ารีบไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงขว้างจักรตัดเข้ากลางลำตัวพระราหูขาดสองท่อน แต่เพราะดื่มน้ำอมฤตเข้าไปเลยไม่ตาย เพียงเหลือกายแค่ครึ่งเดียว (อีกครึ่งหนึ่งกลายเป็นพระเกตุ เทพนพเคราะห์อีกองค์)  

นับจากนั้นมาเมื่อพระราหูได้เจอพระอาทิตย์หรือพระจันทร์เมื่อไหร่ มักจับมากินด้วยความแค้น  แต่เพราะลำตัวของพระราหูขาดครึ่ง เมื่อกลืนเข้าไปแล้ว ไม่นานพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ก็จะหลุดออกมาทางท้องของพระราหูที่ขาด นั่นเองเป็นสาเหตุให้ประติมากรรมของพระราหูที่เราพบเห็นกันทั่วไปมีแค่ครึ่งท่อนบนเท่านั้น แม้แต่องค์ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างองค์นี้ก็ไม่เว้นครับ

เขาพระสุเมรุจำลอง วัดพระธาตุจอมแจ้ง

ออกจากตัวเมืองแพร่มาถึงวัดพระธาตุจอมแจ้งเอาตอนบ่ายกว่านิด ๆ องค์พระธาตุจอมแจ้งสีทองอร่ามตาบุด้วยทองเคียงคู่อยู่กับพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่เด่นอยู่กลางลานกลางแดดจ้า 

พวกเราพากันลัดเลาะเข้าไปทางหลังวัดอันเป็นที่ตั้งของ เมืองนรกและเมืองสวรรค์  แน่นอนครับพวกเราเลือกไปเมืองสวรรค์กันก่อน อยู่ตรงใต้ซุ้มศาลาแปดเหลี่ยม แลเห็น “เขาพระสุเมรุจำลอง” แต่ไกล ก่อด้วยอิฐฉาบปูน เป็นวงกลมลดหลั่นซ้อนกันหกชั้นตามจำนวนชั้นของสวรรค์ 

แต่ละชั้นวาดเส้นบนพื้นผิวปูนพร้อมระบายสีเป็นรูปวิมาน เทวดา นางฟ้า ดวงดาว ไล่เรียงกันขึ้นไปตั้งแต่จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ดุสิต ยามา  นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ด้วยฝีมือแบบช่างพื้นบ้าน ดูน่ารัก ตะมุตะมิ อย่างที่เรียกว่าศิลปะไร้มารยา ใคร ๆ เห็นแล้วน่าจะต้องอยากขึ้นสวรรค์กันเป็นแน่  

ใกล้ ๆ กันเป็นประติมากรรมนรกภูมิ แสดงการลงทัณฑ์สัตว์นรกเรียงรายอยู่ในศาลาโถงยาวแบ่งเป็นขุมต่าง ๆ เดินตามดูไปจนสุดทางตรงเจดีย์เก่าหลังวัด บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของรูปปั้นเปรตนานาชนิด ที่เคยเป็นข่าวฮือฮาทางทีวีว่ามีเปรตหน้าเหมือนลุงตู่กับลุงป้อม ผมนึกขึ้นมาได้เลยลองเดินมาหาดูชม ก็ไม่เหมือนเท่าไหร่นะ แค่คล้าย ๆ   

เมรุนกหัสดีลิงค์ วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี

ตะวันชายบ่ายคล้อยพวกเราค่อยมาถึงวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี ในอำเภอเด่นชัย มองแต่ไกลยังเห็นได้ชัดว่าเป็นวัดที่สวยงามตระการตา เอกลักษณ์น่าชมและต้องชมเพราะมีที่นี่แห่งเดียวไม่มีที่อื่น คือ “เมรุนกหัสดีลิงค์” ขนาดมหึมาสร้างด้วยโลหะสีทอง ตามความเชื่อทางล้านนาที่ว่านกหัสดีลิงค์สามารถนำวิญญาณของผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์ แต่เฉพาะผู้มีบุญญาธิการจึงสามารถขี่หลังนกหัสดีลิงค์ไปสวรรค์ได้ จึงใช้สำหรับพิธีฌาปนกิจศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากเท่านั้น 

รูปนกหัสดีลิงค์ยังพบใช้ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมทางศาสนาในล้านนาทั่วไป ไตรภูมิพระร่วงระบุว่านกหัสดีลิงค์เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ชนิดหนึ่ง ใบหน้าเป็นสิงห์ จงอยปากเป็นงวงช้าง เขี้ยวเป็นงา ลำตัวเป็นหงส์ พละกำลังดั่งช้างเอราวัณห้าเชือกรวมกัน อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์  มีหน้าที่เหมือนเทศบาลคือคาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตตรกุรุทวีปสกปรก  


เขาพระสุเมรุจำลอง วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี

  แนวคิดในการสร้างวัดที่รวมสถาปัตยกรรมล้านนาแบบผสมผสานจุดเด่นของแต่ละแห่งจากวัดสำคัญ ๆ ในภาคเหนือทำให้ภายในวัดแห่งนี้มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ยํกษ์ทวารบาลเอย ซุ้มประตูโขงเอย สัตตภัณฑ์เอย ล้วนแล้วแต่งาม ๆ ทั้งนั้น ด้านในระเบียงคด“พระธาตุเจดีย์ ๓๐ ทัศ” ที่มียอดทอง ๓๐ ยอดอร่ามตาเสียดฟ้าอันหมายถึง พระสมติงสบารมี”บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์ ๓๐ ประการ 

รอบเจดีย์ยังรายล้อมไว้ด้วยประติมากรรมรูปสำเภาทองหรือภาษาล้านนาเรียก “สะเปาคำ” มีความหมายถึงองค์พระพุทธเจ้าที่จะนำสรรพสัตว์ข้ามห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดสู่พระนิพพาน รอบพระอุโบสถยังได้สร้างเขาพระสุเมรุจำลองเรียงรายไว้อีกด้วย แต่ที่น่าชมที่สุดคือจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถบนผนังด้านสกัดวาดเป็นภาพจักรวาลเอาไว้อย่างสวยงามครบถ้วนทุกองค์ประกอบ รายละเอียดระยิบระยับ ชมเพลินจนกลับออกมาบนถนนอีกครั้งก็ตะวันเกือบลับขอบฟ้า

ประติมากรรมพระราหูมีร่างเต็มตัวสุดแปลก วัดไทรย้อย

ประติมากรรมรูปหล่อแปลกตาที่อยู่บนลานวัดไทรย้อย บนทางผ่านดึงดูดให้พวกเราต้องเลี้ยวรถแวะเข้ามาดูใกล้ ๆ  ลักษณะเป็นยักษ์ตัวดำมืดนุ่งผ้าเตี่ยวสีแดง  กำลังนั่งยองยงโย่ยงหยก ถือลูกกลม ๆ อมเข้าไปในปาก “เฮ้ย นี่มันพระราหูไม่ใช่เหรอ  แต่ทำไมดันมีขาด้วย”  พวกเราพากันโวยวายขึ้นเมื่อเห็นว่าเป็นพระราหูที่แปลกประหลาดออกไปผิดธรรมเนียมไม่เหมือนในนิทาน 

หันรีหันขวางจะถามใครก็ไม่เห็นมีให้ถามทั้งพระทั้งคน พวกเราจึงพยักเพยิดสรุปกันเอาเองว่า สงสัยคนปั้นคนหล่อประติมากรรมขึ้นมาจะไม่เคยฟังนิทานเรื่องพระราหู เพราะถ้าพระราหูมีตัวเต็มพร้อมขาแบบนี้ เชื่อได้เลยว่าพระอาทิตย์กับพระจันทร์ถูกอมเข้าไปคงไม่ได้กลับออกมาแน่นอน หรือถ้าจะออกมาก็คงจะต้องไปออกในสุขาโน่นแหละครับ

วิหารพระเจ้าพันองค์ เคียงข้างอยู่กับเจดีย์ประธานวัดปงสนุก 

แดนจตุรอารามจำลองจักรวาล อาลัมพางค์เขลางค์นคร

          ป้ายรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๕๑ ของยูเนสโก  ที่ติดไว้ใกล้บันไดทางขึ้น “วิหารพระเจ้าพันองค์” ของวัดปงสนุกเหนือในเมืองลำปาง เสมือนเครื่องช่วยยืนยันว่าโบราณสถานแห่งนี้ไม่ใช่ธรรมดา

            มองด้วยตาก็เห็นอยู่ครับว่าเป็นการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนาอย่างแน่นอน เพิ่มเติมด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนเนินดินสูงของจริง  มีทางขึ้นเป็นบันไดนาคจากด้านล่าง ผ่านซุ้มประตูโขงที่สมมติว่าเป็นป่าหิมพานต์ ประดับด้วยปูนปั้นรูปกินรี ในซุ้มยังมีลวดลายลงรักปิดทองรูปจักรวาลเรียงรายด้วยเขาพระสุเมรุพร้อมด้วยทิวเทือกสัตตบริภัณฑ์อย่างสวยงาม เข้าสู่ลานกว้างข้างในที่ดาดเป็นลานทรายให้เสมือนห้วงน้ำมหานทีสีทันดร พระธาตุเจดีย์และวิหารพระเจ้าพันองค์ซึ่งประดิษฐานพระประธานคือเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล

ศูนย์กลางจักรวาลภายในวิหารพระเจ้าพันตน


 ตัววิหารเป็นมณฑปจัตุรมุขสร้างด้วยไม้ ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา พม่า และจีนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน หลังคามุงกระเบื้องดินขอสามชั้นซ้อนด้วยหลังคามุงโลหะไว้ชั้นบนสุด บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่ทำเป็นรูปปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย แทนทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ บนชั้นระหว่างหลังคาประดับด้วยไม้แกะสลักรูปกินนรและนกยูง ช่องหน้าต่างประดับลายฉลุรูปสัตว์ประจำทิศในพระพุทธศาสนา นรสิงห์เทินหม้อปูรณฆฏะ ภาพชาดกเรื่องการบำเพ็ญ เพียรของพระพุทธเจ้าเขียนสีบนพื้นไม้ใส่กรอบกระจก

ระหว่างมุขทั้งสี่ด้านยังมีการเพิ่มมุม ตั้งเสาประดับโคนเสารูปกลีบบัว เปรียบได้กับฐานจักรวาลที่รองรับโลกและภพภูมิต่าง ๆ  โถงกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ หันพระปฤษฎางค์ชนกันใต้ต้นโพธิ์ทำจากตะกั่วอันมีความหมายถึง “โพธิปักขิยธรรม ๓๗” หรือธรรมอันเกื้อกูลต่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ๓๗ ประการ  

รอบฐานชุกชีเบื้องล่างประดับลวดลายรูปสัตว์หิมพานต์ ช้าง นาค สิงห์ และนก   แผงฝ้าชายคาวิหารด้านในประดับดวยพระพิมพ์ ๑,๐๘๐ องค์ เป็นที่มาของชื่อเรียกขาน “วิหารพระเจ้าพันองค์” แต่หลังจากพวกเราเดินดูรอบ ๆ แล้วตอนนี้น่าจะไม่ครบจำนวนที่ว่าไว้ละครับ เพราะมีร่องรอยของพวกมือบอนงัดแงะลักเอาพระพิมพ์ไป บางองค์ยังอยู่ไม่หายเพราะตอกตะปูไว้แน่น แต่ก็ถูกงัดจนบิดเบี้ยวผิดรูป (ขโมยของวัดนี่ชาติหน้าต้องไปเกิดเป็นเปรตเลยเชียวนา)  สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าผู้คนสมัยนี้ห่างหายจากศีลธรรมไม่กลัวบาปกรรมกันเสียแล้ว

วัดพระธาตุลำปางหลวง จำลองจักรวาลไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

            พวกเราส่งท้ายกันด้วยสถานที่ต้องถือว่าเป็นการจำลองจักรวาลระดับ “ฟูลออปชั่น” เนื่องจากครบครันทั้งประวัติความความเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี แห่งอาณาจักรหริภุญไชย ทั้งความอลังการยิ่งใหญ่ของพื้นที่ รวมถึงการจำลองส่วนต่าง ๆ ของจักรวาลมาไว้ในวัดอย่างครบถ้วน นั่นคือวัดพระธาตุลำปางหลวง ในอำเภอเกาะคา ซึ่งป็นอีกแห่งที่ตั้งอยู่บนเนินสูงเช่นกัน มีบันไดนาคหรือสะพานนาคขนาดใหญ่โตโอฬารทอดยาวเชื่อมจากเบื้องล่างไปยังซุ้มประตูโขงซึ่งถือว่าสุดเขตแดนโลกมนุษย์ ณ ที่นั้น  

ประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง

เมื่อผ่านซุ้มประตูโขงที่ประดับประดาปูนปั้นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์นานาชนิดไว้อย่างอลังการอันเปรียบเสมือนผืนป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ เข้าสู่แนวกำแพงแก้วรอบเขตพุทธาวาสคือกำแพงจักรวาลกับลานวัดที่ลาดปูไว้ด้วยผืนทรายเปรียบได้กับมหานทีสีทันดร ถือว่าอยู่ในเขตสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว วิหารน้อยหลังทางด้านทิศใต้อยู่ในตำแหน่งของ “ชมพูทวีป” หรือโลกมนุษย์ แผ่นดินที่กำเนิดของพระพุทธเจ้า

วิหารหลวงคือวิหารขนาดใหญ่สุดหันหน้าเข้าหาประตูโขงทางตะวันออก  ปราสาทเฟื้องบนหลังคาวิหารจำลองเขาสัตบริภัณฑ์ในเชิงสัญลักษณ์ เช่นเดียวกันกับสัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียนหน้าพระพุทธรูปประธาน ยังมีเรื่องราวของป่าหิมพานต์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านลวดลายประดับตกแต่งวิหาร ตามหน้าบัน เสา และผนัง  องค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในโขงพระเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกันกับเจดีย์ประธานที่อยู่ถัดไปด้านในสุด คือเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล

วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน มินิมอลจักรวาลล้านนา

ทั้งหมดนี้ทำให้วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นแบบจำลองจักรวาลที่ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งในลำปางยังมีวัดโบราณในลักษณะเดียวกันนี้อีกสองวัด ได้แก่วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน ที่อยู่ในอำเภอเกาะคาเช่นกัน กับวัดปงยางคก ในอำเภอห้างฉัตร  ทั้งสองแห่งมีขนาดเล็กกว่าเหมือนย่อส่วนลงมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นจักรวาลแบบมินิมอลก็ว่าได้ 

โดยเฉพาะวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืนนั้นครบถ้วนองค์ประกอบทุกประการ ในขณะที่วัดปงยางคกนั้นคงเหลือแต่เพียงวิหารอย่างเดียว องค์ประกอบอื่น ๆ ของวัดที่จำลองจักรวาลได้ถูกปรับภูมิทัศน์ไปหมดแล้ว แต่ภายในวิหารยังเก็บบรรยากาศเก่า ๆ การตกแต่งประดับประดาเอาไว้ได้ดีพอสมควร

บรรยากาศเก่าขลังในวิหารวัดปงยางคก

คงต้องยอมรับครับว่าภายหลังเที่ยวชมจักรวาลมาหลากหลายวัด ได้รู้ได้เข้าใจในความหมายต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีส่วนอย่างสำคัญต่อส่วนลึกในจิตใจให้เริ่มรู้สึกอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาบ้างเหมือนกัน (นิพพานไปไม่ถึง อย่างน้อยสักแค่โสดาบันก็ยังดี)

            ตีลูกให้ถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว” โปรกอล์ฟชาวไทยชื่อดังท่านหนึ่งกล่าวไว้ในโฆษณาเมื่อนานมาแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น “หวังถึงนิพพาน ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางสรวงสวรรค์”  นั่นอาจจะคือวัตถุประสงค์สำคัญที่ช่างสมัยโบราณได้รังสรรค์ผลงานศิลปกรรมที่เสมือนแผนที่จักรวาลชี้นำหนทางหลุดพ้นเอาไว้ให้ผู้คนที่เข้าวัดมาทำบุญได้พบเห็นเป็นการเตือนสติให้ระลึกอยู่เสมอถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต  

น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันลืมเลือนจักรวาลแห่งการหลุดพ้นในอดีตไป ใช้ชีวิตอย่างกลับหัวกลับหาง อย่างที่เราเห็นกันในข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ลูกทรพีฆ่าพอฆ่าแม่ ผู้นำราชการหน่วยงานของรัฐโกงบ้านกินเมืองคอรัปชั่น  โกงคะแนนสอบให้พวกพ้อง มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงชาวบ้านผ่านทางออนไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมาย  ดูแล้วไปในทาง “หวังไว้ถึงมหานรกโลกันต์นอกกำแพงจักรวาล ถึงพลาดก็ยังอยู่ในมหานรกทั้งแปดใต้เขาพระสุเมรุ” กันเสียมากกว่า

แต่ตราบใดยังมีลมหายใจ ก็ยังถือว่าพอมีเวลา กลับตัวกลับใจกันตอนนี้ยังไม่สายนะครับ