วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2568

สัญจรทางไพร สู่นารายณ์บรรทมสินธุ์ ถิ่นลำโดมใหญ่

 


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์  เรื่องและภาพ 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. เดือนมิถุนายน ๒๕๖๗

“ไม่ไปดูคราวนี้ ก็คงไม่รู้จะไปดูคราวไหนแล้ว” นั่นคือเหตุผลในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของผม ที่จะเดินทางไปเยี่ยมชม “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ” หรือ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์แห่งลำโดมใหญ่ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน  จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีความโดดเด่นและน่าสนใจเป็นพิเศษที่สุด เนื่องจากเป็นประติมากรรมรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์เพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่แกะสลักไว้บนก้อนหินธรรมชาติริมลำน้ำ แตกต่างจากบรรดาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในแหล่งอื่น ๆ ทั่วประเทศอีกประมาณ ๑๔ องค์ที่มักพบอยู่ในลักษณะของทับหลังประดับอยู่ตามปราสาทหินเทวาลัยสมัยขอมโบราณ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครั้งเสด็จทอดพระเนตรนารายณ์บรรทมสินธุ์

            ประติมากรรมล้ำเลอค่านี้ถูกค้นพบในปี พ.ศ.๒๕๒๑ เมื่อชาวบ้านจากบ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์รวม ๔ คน เข้าไปจับปลาในบริเวณจุดที่ลำห้วยเดื่อไหลมาบรรจบกับลำโดมใหญ่ เรียกว่า “วังมน” ทั้งสี่ได้ไปพบเห็นภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนแผ่นหินใต้น้ำฝั่งขวาของลำโดมใหญ่เข้า เรื่องราวฮือฮาขึ้นเมื่อหนึ่งในสี่ถูกหวยในงวดต่อมา แล้วเจ้าตัวเล่าว่าหลังกลับจากนารายณ์บรรทมสินธุ์ฝันเห็นชายห่มผ้าแดงมาบอกให้ซื้อหวย ทำให้นารายณ์บรรทมสินธุ์แห่งลำโดมใหญ่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมา

ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราช กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบข่าวการพบศิลปกรรมล้ำค่าภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์แห่งลำโดมใหญ่ จึงเสด็จมาทอดพระเนตรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทตามทางเดินป่าจนกระทั่งถึงองค์นารายณ์บรรทมสินธุ์เลยทีเดียว ผมเองก็ได้เห็นเป็นครั้งแรกจากภาพข่าวตอนที่พระองค์ท่านเสด็จไปทอดพระเนตรนี่แหละครับ สมัยนั้นยังเป็นนิสิตเรียนมหาวิทยาลัยอยู่เลย ตื่นตาตื่นใจกับประติมากรรมพระนารายณ์ชิ้นนี้มาก  ตั้งใจว่าสักวันจะต้องไปเที่ยวดูด้วยตาตัวเองบ้างให้ได้

วัดป่าภูวังน้ำจั้น ต้นทางของการเดินป่า

            แต่บางจุดหมายปลายทางในชีวิตคนเราก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข จังหวะ และโอกาสหลายประการ เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ผ่านมาจนถึงวันนี้ปาเข้าไป ๓๓ ปี แล้ว จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่ได้ไปชมสักที (ขนาดว่าทำงาน อนุสาร อ.ส.ท.ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนี่แหละ) ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ตั้งของนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้นอยู่ในป่าลึกเข้าไปเป็นสิบกิโลฯ ครับ แถมไม่มีถนนหนทางให้ใช้ยานพาหนะใด ๆ เข้าไปได้เลยด้วย  ต้องเดินเท้าเข้าไปสถานเดียว ใช้เวลาเป็นวัน อีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือช่วงเวลาที่เข้าไปชมได้ มีอยู่ช่วงเดียวเฉพาะในฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายนเท่านั้น (อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจัดพิธีบวงสรวงกันเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑) เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนสายน้ำก็จะสูงท่วมประติมากรรมจมอยู่ใต้น้ำจนมองไม่เห็น จึงเป็นแหล่งที่ต้องมีทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจและมาให้ถูกเวลา ไม่ใช่จะแค่ผ่านมาแวะได้

คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แม้จะเลยมานิดหน่อย แต่ถือว่าใกล้เคียงมากที่สุดแล้วรับ ฝนยังไม่ตกด้วย น่าจะยังพอไปได้ จึงเป็นโอกาสอันดีซึ่งต้องคว้าเอาไว้ นั่นแหละครับคือที่มาของการตัดสินใจ เดินเป็นเดินกันสิน่า

ทิวทัศน์บนเส้นทางซึ่งเลียบเลาะไปตามคลองลำโดมใหญ่  (สุนทร เพชรใสดี ภาพ) 

จุดเริ่มต้นทางเดินนั้นอยู่ที่วัดป่าภูวังน้ำจั้น ตรงบริเวณลานกำลังมีการก่อสร้างพระเจ้าใหญ่ห้าพระองค์ เส้นทางนำคณะของเรา ๔ คน ที่ประกอบด้วยผม คุณเล็ก สุนทร และคุณแอ๊ด สินธ์ไชยกับคุณนิ่ม วินัย สองพรานท้องถิ่นผู้นำทางที่ทาง อบต.โดมประดิษฐ์แนะนำมา เดินประกบหัวท้าย พาเข้าไปในผืนไพรที่หลงเหลือร่องรอยของไฟป่าหน้าแล้งให้เห็นตามรายทาง ลัดเลาะขึ้นเขาลงเขาเลียบไปตามลำคลองโดมใหญ่ซึ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงแล้ง มีน้ำน้อยขังอยู่ตามแอ่งค่อนข้างนิ่งสะท้อนเงาท้องฟ้าสีครามสวยสะดุดตา

ระหว่างทางมีจุดแวะพักเหนื่อยเป็นระยะได้แก่บริเวณ วังเวิน วังเดื่อ  วังวิทยุ และวังสวนกล้วย ตลอดทางลดเลี้ยวขึ้นเขาลงเขา ผ่านสะพานไม้ไผ่หลายต่อหลายแห่ง เผาผลาญกำลังขาและเวลาของพวกเราจนร่อยหรอแทบหมดเกลี้ยง กว่าจะไปถึงวังมนอันเป็นจุดที่ตั้งของภาพสลักก็ใช้เวลาเกือบ ๕ ชั่วโมงเต็ม แถมด่านสุดท้ายยังต้องปีนป่ายไปตามกองหินใหญ่ที่ขวางทางน้ำอยู่อีกด้วย  ทำเอาหมดเรี่ยวหมดแรงครับ ต้องหยุดพักกินอาหารนั่งพักเรียกพลกำลังกันอีกเกือบชั่วโมง ถึงค่อยกระย่องกระแย่งลุกเดินข้ามสะพานไม้ไผ่จุดสุดท้ายไปชมภาพแกะสลักกัน

รากไม้บริเวณวังมน จุดหมายปลายทางที่ตั้งของนารายณ์บรรทมสินธุ์

สภาพปัจจุบันของภาพแกะสลักคือถูกทรายที่น้ำพัดมาทับถมจมอยู่ใต้หาดลึกลงไปราวเมตรกว่า ๆ  แม้จะได้มีการขุดเปิดช่อง ทำเป็นบ่อ กั้นผนังด้วยไม้ไผ่สองฟากเพื่อให้เห็นตัวภาพแกะสลัก แต่น้ำจากลำน้ายังซึมผ่านทรายเข้ามาท่วมภาพแกะสลักจนมิด เดือดร้อนผู้ทำทางทั้งสองของเราต้องหยิบถังที่ติดมือมาออกแรงวิดน้ำกันเป็นการใหญ่ นับคร่าว ๆ ร่วม ๕๐ ถังได้  กว่าจะเห็นภาพแกะสลักวางตัวตามแนวทิศเหนือใต้ ความยาว ๑๒๐ เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร โผล่พ้นเหนือน้ำขึ้นมา

พรานนำทางทำพิธีบอกกล่าวขออนุญาตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนวิดน้ำออกจากหลุม


สองพรานช่วยกันใช้ถังที่เตรียมมาตักน้ำออกจากหลุม


             ภาพที่ปรากฏต่อสายตานั้นเป็นประติมากรรมนูนต่ำภาพพระนารายณ์ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราช ๓ เศียร แต่ละเศียรมีหงอนเล็ก ๆ ข้างบน องค์พระนารายณ์ส่วนพระเศียรไม่สวมศิราภรณ์ เส้นพระเกศามุ่นเป็นมวยรัดด้วยประคำ พระกรรณประดับกุณฑล สวมกรองศอบนพระศอ พระกรขวายกขึ้นรองรับพระเศียร พระกรซ้ายแนบขนานพระองค์ ตรงพระนาภีมีก้านบัวผุดชูขึ้นเป็นดอกบัวตูม ทรงสมพต(ผ้านุ่ง)ซ้อนกันสองผืน ผืนนอกทำขอบผ้าข้างหน้าเป็นวงโค้ง ผืนในยกชายผ้าโค้งออกสองข้างเป็นปีก ถัดลงมาประดับพวงอุบะ

เบื้องหลังพระชงฆ์แกะสลักรุปพระลักษมีสวมกระบังหน้าและกุณฑลเปลือยท่อนบน พระกรขวาวางไว้ใกล้พระชานุ พระกรซ้ายวางที่พระบาทประทับนั่งในลักษณะคอยปรนนิบัติ  ถัดจากพระบาทเป็นปลายหางพญาอนันตนาคราชตวัดโค้งขึ้น  มองดี ๆ ดูเหมือนบางส่วนจะยังแกะสลักไม่เสร็จ เพียงขึ้นเป็นโกลนไว้ เช่น ส่วนดอกบัวที่พระนาภี ส่วนหางของพญาอนันตนาคราช  นอกจากนี้ยังปรากฏรอยเลื่อยบริเวณถัดจากหางพญาอนันตนาคราชเป็นแนวยาว แสดงให้เห็นว่าเคยมีคนร้ายพยายามจะมาลักเอาภาพแกะสลักอันทรงคุณค่าชิ้นไปอีกด้วย

ภาพจำหลักนารายณ์บรรทมสินธุ์โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา

ประติมากรรมนารายณ์บรรทมสินธุ์ภายในหลุมแคบ ๆ 

            พวกเรามีเวลาเพียงเล็กน้อยในการชื่นชมภาพแกะสลักที่งดงามติดตาตรึงใจตรงหน้าเนื่องจากน้ำจากลำน้ำซึมผ่านทรายเข้ามาอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นเมฆฝนก็ตั้งเค้าดำทะมึนส่งเสียงครางครืนมาแต่ไกล ขณะที่การถ่ายภาพก็ทำได้ยาก เนื่องจากภาพแกะสลักอยู่ต่ำลงไปในช่องค่อนข้างแคบ  ไม่กี่นาทีต่อมาสายฝนจะเทกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ทำเอาพวกเราต้องรีบเผ่นฝ่าฝน เดินกลับทันทีอย่างทุลักทุเล แต่กว่าจะตุปัดตุเป๋กลับอออกมาถึงข้างนอกก็เย็นย่ำเกือบค่ำแล้ว

สายฝนโปรยสายกระหน่ำลงมาแบบไม่ให้ทันตั้งตัว

เป็นที่น่าแปลกครับ ที่ในบริเวณใกล้เคียงกับภาพแกะสลักนั้นไม่ปรากฏพบสิ่งก่อสร้างอื่นร่วมสมัย แต่ไม่ต้องเป็นห่วง ในอำเภอข้างเคียงบนเส้นทางยังมีปราสาทขอมสวย ๆ  ในยุคสมัยใกล้เคียงกันกับพระนารายณ์คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่น่าสนใจให้แวะเยี่ยมชมกันได้อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นปราสาทบ้านเบญจ์ ในอำเภอทุ่งศรีอุดม ที่บนตัวปราสาทยังปรากฏร่องรอยโกลนสำหรับประดับลวดลายปูนปั้นอย่างชัดเจน ปราสาทหนองทองหลาง ในอำเภอเดชอุดม ที่ตัวปราสาทสามหลังแวดรอบด้วยสระน้ำรูปเกือกม้าและบรรยากาศธรรมชาติ และปราสาทอูบมุง ในวัดอูปมุงเจริญ อำเภอสำโรง ที่ยังคงสภาพปรักหักพังอย่างเช่นในอดีตกาล

สำคัญที่สุดคือทุกปราสาทที่ว่ามานี้ รถเข้าได้แทบถึงตัวปราสาท เดินแค่ไม่กี่ก้าวก็ถึง เหมาะกับสภาพแข้งขาที่ปวดร้าวจากการเดินป่าไปชมภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์มาอย่างที่สุดครับ เชื่อผมเถอะ

ปราสาทหนองทองหลางกับบรรยกาศร่มรื่น

คู่มือนักเดินทาง

            ประติมากรรมนารายณ์บรรทมสินธุ์ ริมน้ำลำโดมใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ไม่มีทางถนนเข้าถึง การเข้าชมต้องเดินเท้าเข้าไปตามเส้นทางเดินป่า เลียบไปตามแนวลำโดมใหญ่ระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร  ใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง (รวมไปกลับราว ๒๒ กิโลเมตร ใช้เวลาราว ๑๐ ชั่วโมง) สอบถามรายละเอียดการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่งานส่งเสริมการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ โทรศัพท์ ๐ ๔๕๘๕ ๙ ๖๑๔  ๐ ๔๕๘๕ ๙๖๓๙    หรือ คุณสินธุ์ไชย  พันสะอาด (แอ๊ด) โทรศัพท์ ๐๙ ๘๙๗๓ ๔๖๑๖

ปราสาทบ้านเบญจ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น