วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พุทธไสยาสน์ปฏิมาแห่งศรีรามเทพนคร... ฟื้นความงดงามด้วยศรัทธาเหนือกาลเวลา

 หลวงพ่อพระนอนในสภาพดั้งเดิมก่อนการบูรณะ

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ   นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว...สัมภาษณ์ 
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ปักษ์แรก เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ 

            “แวะไหว้พระนอนก่อนไหม องค์นี้เพิ่งบูรณะขึ้นมาใหม่ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก”

            ลุงโชเฟอร์สามล้อหัวกบ พาหนะประจำถิ่นกรุงเก่า เบาเครื่องยนต์พร้อมกับหันมาถามผมที่นั่งอยู่เบาะหลังของรถ หลังจากเมื่อครู่เพิ่งพาผมกลับออกมาจากการไปชมวัดกลางทุ่ง ทางฝั่งตะวันออกนอกเกาะพระนครศรีอยุธยา  คงสังเกตเห็นว่าผมมีอาการผิดหวังนิดหน่อย เมื่อพบว่าองค์พระและวัดกลางทุ่งโดยรอบถูกปฏิสังขรณ์จนใหม่เอี่ยม ไม่หลงเหลือบรรยากาศเก่า ๆ  ขลัง ๆ ให้สัมผัส แกเลยพยายามหาทางปลอบใจ

            ได้ยินว่าพระนอนผมหูผึ่งขึ้นมาทันใด เพราะจำได้ว่าเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน สมัยยังเป็นนิสิตวิชาเอกประวัติศาสตร์ ผมเคยตามรอยแผนที่โบราณมาตระเวนหาวัดโคกพระนอนอันปรากฏอยู่ในแผนที่

แถวนี้แหละครับ ในแผนที่โบราณระบุเอาไว้ว่ามีวัดเก่าแก่ตั้งเรียงรายกันอยู่ถึง ๓ วัด ได้แก่วัดประโดก วัดโคกพระนอน และวัดชุมพล แต่ตอนนั้นหาไม่พบ ด้วยความรกเรื้อของป่าที่ปกคลุมจนหาทางเข้าไม่เจอ น่าจะเป็นพระนอนที่เคยตามหาเมื่อนานมาเป็นแม่นมั่น ผมจึงไม่รอช้าพยักหน้าตกลงทันที

ลุงโชเฟอร์ยิ้มแป้น บิดคันเร่งเลี้ยวซ้ายปราดเข้าทางเล็กด้านซ้ายมือ ตรงปากซอยมีอพาร์ตเมนท์เป็นที่สังเกต  ลัดเลาะตามทางผ่านบ้านเรือน สุมทุมพุ่มไม้ และบึงน้ำทางซ้ายมือ พักเดียวก็เห็นเนินอันเป็นที่ตั้งขององค์พระ

 ฐานเจดีย์เหลี่ยมมีร่องรอยก่อครอบเจดีย์องค์เก่าไว้ภายใน

 ใจหายวาบครับ เมื่อเห็นในบริเวณมีการตั้งเต็นท์ใหญ่ขึงแผ่นป้ายไวนีลรับบริจาคเงินบูรณะพระนอน ยิ่งมองไปบนเนินเห็นก่ออิฐใหม่เอี่ยมเป็นแถวเป็นแนว พร้อมนั่งร้านเหล็กระเกะระกะอยู่ไกล ๆ ได้แต่รำพึงในใจว่าหรือเราจะมาช้าไป คงมีการสร้างพระนอนองค์ใหม่ขึ้นแทนที่เรียบร้อย หมดโอกาสจะได้เห็นร่องรอยของเก่าอย่างสิ้นเชิงเสียแล้ว

เดินดุ่มขึ้นบันไดไปบนเนินโคกพระนอนซึ่งแลดูเป็นกลุ่มโบราณสถานผ่านการขุดแต่ง มีเจดีย์และวิหารเรียงกันอยู่จากทางทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก เห็นตัวเจดีย์เหลือแค่ฐานสี่เหลี่ยมอยู่ทางซ้าย วิหารพระนอนอยู่ทางขวา กำลังลงเสาเข็มวิหารใหม่ ได้ยินว่าสร้างตามแนวของเดิม แนวเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่ใกล้กับเจดีย์เป็นศาลาโถงว่าง ส่วนถัดไปเป็นวิหารประดิษฐานพระนอน 

 ชิ้นส่วนองค์พระที่แตกออกถูกนำมาเรียงรายเอาไว้

 เม็ดพระศกปูนปั้นที่กะเทาะออกมา


เห็นองค์พระนอนเต็มตาค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อย เพราะไม่ได้เป็นการสร้างใหม่ แต่เป็นการบูรณะองค์พระนอนจากชิ้นส่วนปูนปั้นที่แตกกระจัดกระจายนำมาปะติดปะต่อขึ้นใหม่ ด้วยวิธีการอย่างที่เรียกกันว่า “อนัสติโลซิส” ที่ปกติมักใช้กับโบราณสถานประเภทปราสาทหิน ทว่ากลับนำมาใช้กับปูนปั้น น่าจะยากลำบากกว่ามาก เพราะชิ้นส่วนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย รูปทรงไม่ชัดเจนเหมือนหิน

ไม่รู้เหมือนกันครับว่าทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้ แต่ก็ดีที่ทำให้เห็นร่องรอยของเดิม การบูรณะค่อนข้างประณีต ก่ออิฐเป็นผนังตามแนวตามองค์พระ แล้วถึงค่อยนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปประกอบโดยยึดเข้ากับผนังที่ก่อใหม่  ชิ้นส่วนหลัก ๆ อย่างเศียรและองค์พระท่อนบนยังค่อนข้างสมบูรณ์มาก เค้าพระพักตร์พิศไปคลับคล้ายกับพระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ประมาณอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น หากบูรณะเสร็จสมบูรณ์น่าจะเป็นพระนอนที่งดงามอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย


“มาเจอหลวงพ่อพระนอนท่านตอนแรก ท่านน่าสงสารมาก ชำรุดเยอะ แต่ก่อนเศียรท่านตะแคงคว่ำหน้า รอบ ๆ นี่เป็นป่ารกทึบ ว่าง ๆ ก็เลยแวะเวียนเข้ามาช่วยถางหญ้าบ้าง ดูแลสถานที่บ้าง”

พี่ประจวบ รอดดี อายุ ๕๖ ปี อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างวินโลตัส พระนครศรีอยุธยา สมัครใจมาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพระนอนด้วยศรัทธาส่วนตัว เล่าให้ฟังถึงความเป็นมา ก่อนที่จะเห็นเป็นสภาพปัจจุบัน  “กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  เริ่มเอาอิฐเข้ามาก่อ บูรณะพื้นวิหาร ประมาณ ปี ๒๕๕๖ ได้ผู้รับเหมามาจากอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ส่วนคนงานเป็นคนสุรินทร์”

 พี่ประจวบ บอกเล่าเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระนอน

  เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระนอนจากปากผู้ที่มาสักการะหลายต่อหลายเรื่องถูกถ่ายทอดออกมาจากพี่ประจวบ

“ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนอำเภอวังน้อย อายุ ๔๕ ปี เข้ามาไหว้หลวงพ่อพระนอนแล้วเล่าให้ฟัง ว่าหลวงพ่อพระนอนไปช่วยเธอ ก่อนหน้านั้น ๓ ปี เธอป่วยด้วยโรคประหลาด เหมือนกับคอเคล็ด แข็งเกร็ง เอี้ยวตัวไม่ได้ อาการหนักถึงขนาดต้องไปนอนโรงพยาบาล หมอก็รักษาไม่หายเพราะหาเหตุไม่เจอ สุดท้ายหมอเองจนปัญญา ถึงขนาดบอกกับเธอว่าให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ลองหารักษาทางไสยศาสตร์ดู

ตอนนั้นกำลังจะหมดหวังจะหายแล้ว หลวงพ่อพระนอนไปเข้าฝันเธอ ว่าให้เดินทางมาดูที่วัดนี่ เข้ามาในคลองสวนพลู มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อก่อนนั้นไม่มีถนนเข้ามา มีแค่ทางผ่านหน้าทางเข้าเท่านั้น เธอเองมาไม่ไหวเลยบอกให้สามีขับรถมาดูตามที่ฝัน สามีก็ไม่รู้ทางเหมือนกัน ขับดุ่ม ๆ มาจนถึงปากทางแยก ไม่เห็นทางเข้าก็โทรกลับไปถาม  ตัวเธอจริง ๆแล้วไม่รู้ทาง เพราะไม่เคยมาเหมือนกัน แต่กลับบอกทางให้สามีไปได้เองอย่างน่าอัศจรรย์เหมือนกับตาเห็น ทั้งที่นอนอยู่บนเตียงที่บ้านเอาโทรศัพท์แนบหู บอกว่าสามีขับเลยทางเข้าไปแล้ว ให้ถอยรถกลับมา ไม่มีทางเดินเข้าก็บอกให้สามีลุยพงหญ้ารกเข้าไป

สามีบุกบั่นเข้าไปจนถึงองค์พระในซากวิหาร พบว่าเศียรหลวงพ่อกลิ้งตกจากวิหารลงไปอยู่ที่พื้นดินข้างล่าง ลองเข้าไปยกดูก็ยกไม่ไหวเพราะเศียรหลวงพ่อขนาดใหญ่มาก กลับบ้านไปวันรุ่งขึ้นจึงพาสมัครพรรคพวกจากอำเภอวังน้อยขึ้นกระบะรถมายี่สิบกว่าคน มาช่วยกันยกเศียรหลวงพ่อกลับขึ้นมาไว้ที่วิหารดังเดิม ปรากฏว่าอาการป่วยที่เธอเป็นอยู่หายเป็นปลิดทิ้งไปแทบจะในทันที เธอจึงเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อพระนอนมาก เดินทางมากราบสักการะด้วยตัวเอง...”


จากบนโคกพระนอนทอดตาไปรอบบริเวณยังหลงเหลือบรรยากาศของความเป็นท้องทุ่งในอดีตให้เห็น ท้องทุ่งนาเขียวขจี ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตายบนคันนาไกลลิบ ๆ มีนกปากห่างตัวใหญ่ ๆ เกาะเรียงรายลดหลั่นกันอยู่บนกิ่งแห้ง ๆ  ไกลออกไปดวงอาทิตย์ทอแสงสีทอง คล้อยต่ำลงตรงขอบฟ้า

“ที่เห็นเป็นนาข้าวเขียว ๆ นี่เป็นข้าวเก่ามันขึ้นมา เมื่อก่อนกรมการศาสนาให้ชาวนาเช่าพื้นที่แถวนี้ทำนากัน” พี่ประจวบว่า

“กลับไปบอกพวกเราที่กรุงเทพฯ นะ ให้มาช่วยกันบูรณะหลวงพ่อพระนอน ชาติก่อนพวกเราเคยทำบุญไหว้พระกันที่วัดนี้ ไปบอกเขากลับมาช่วยกัน ...” หญิงชราในชุดนุ่งขาวห่มขาวซึ่งยืนเด่นอยู่ในเต็นท์กล่าวขึ้น หลังจากที่ผมแวะเข้าไปร่วมบริจาคทำบุญ

ได้ยินแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำกล่าวที่ว่า “ในชีวิตคนเราไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ ทุกเหตุการณ์ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากกรรมในอดีตทั้งนั้น”

อาจบางทีเมื่อหลายร้อยปีก่อนในสมัยอยุธยาตอนต้น ผมอาจเคยร่วมอยู่ในบรรดาผู้คนที่มีจิตศรัทธารังสรรค์องค์พระนอนแห่งอโยธยาศรีรามเทพนครตรงหน้า

อาจบางทีบุญกุศลในอดีตชาติได้ชักนำให้ผมได้หวนคืนกลับมายังสถานที่เดิมอีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวให้ผู้ที่ได้ร่วมบุญร่วมกุศลแต่ชาติปางก่อน 

             และหากคุณมีโอกาสได้อ่านจนถึงตรงนี้ 

อาจบางทีคุณคืออีกหนึ่งในผู้ที่เคยร่วมบุญกุศลด้วยกันกับผมก็เป็นได้


กลับมาช่วยกันร่วมบูรณะฟื้นฟูองค์พระนอนและศาสนสถานอันเคยรุ่งเรืองด้วยศรัทธาให้หวนคืนกลับมางดงามดังเดิมอีกครั้ง...นะครับ

 บรรยากาศท้องทุ่งที่ยังหลงเหลือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น