เขาฉกรรจ์ |
ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ
ผมไถหน้าจอสมาร์ตโฟนไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั่งอยู่บนรถตู้ที่กำลังพาคณะของเรามุ่งหน้าสู่ปลายทางจังหวัดสระแก้ว บนหน้าฟีดข่าวนอกเหนือจากโควิด ๑๙ “โอมิครอน” ซึ่งกำลังโด่งดัง ยังมีเรื่องราวของคราบน้ำมันรั่วไหลมาติดชายฝั่ง ปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาเกินมาตรฐานอีกครั้งในเมืองใหญ่หลายเมือง
ที่น่าตกใจคือการพบไมโครพลาสติคในปอดของมนุษย์ที่ยังมีชีวิต
หลังจากพบในเลือดมาก่อนหน้านี้ไม่นาน แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมลพิษปนเปื้อนทั้งในน้ำ
ในอากาศ ในอาหาร ทำให้เดี๋ยวนี้ผู้คนต้องใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น
เน้นเรื่องอาหารการกินปลอดสารพิษ มาจนถึงเรื่องท่องเที่ยว
หันมาฮิตเที่ยวชิมอาหารเกษตรอินทรีย์ที่ปราศจากการใช้สารเคมี
รวมทั้งเที่ยวชมสวนเกษตรอินทรีย์ แปลงพืชสมุนไพร
อย่างที่ผมกำลังจะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกันอยู่นี่แหละครับ
ถนนสายสวยภายในหมู่บ้านทับทิมสยาม |
สวิสส์ชายแดนไทย-กัมพูชา
ทับทิมสยาม ๐๕
ถูไถหน้าจอมือถือบ้าง
หลับบ้าง รวมเวลาครึ่งวันพอดี เมื่อพาหนะตู้ของเราแล่นเข้าสู่หมู่บ้านทับทิมสยาม
๐๕ ในตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว อันน่าตื่นตาตั้งแต่ปากทางเข้า
เพราะมีป้อมริมถนนเป็นด่านตรวจรถที่ผ่านเข้ามา แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจตราอะไรมาก
เมื่อเราแจ้งว่ามาเที่ยวชมสวนเกษตรก็ผ่านฉลุยอย่างง่ายดาย
พอเข้ามาได้ตื่นใจกันต่อกับสภาพภูมิประเทศที่เรียงรายไว้ด้วยเทือกเขาหินปูนน้อยใหญ่ตระหง่าน
ริมถนนยังสะพรั่งบานด้วยดอกไม้สีสวย ถัดไปเป็นแปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์และสมุนไพรเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวยาวไกลสุดสายตา
ทิวทัศน์แบบนี้มองเผิน ๆ ดูคล้ายกับสวิตเซอร์แลนด์ เห็นเขาบอกช่วงหน้าหนาวจะยิ่งเหมือนเข้าไปใหญ่
เพราะนอกจากจะหนาวเหมือนกันแล้วยังมีทุ่งดอกเก๊กฮวยสะพรั่งบานเหลืองอร่ามทั่วไปหมด
จึงไม่แปลกใจสักนิดครับ ที่ใครต่อใครเขาจะพากันให้สมญานามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า
“สวิสส์ชายแดน” เนื่องจากภูมิทัศน์ที่คล้ายสวิตเซอร์แลนด์ และมีพรมแดนติดกับกัมพูชาโดยมีเพียงคลองน้ำใสกั้นอยู่เท่านั้นเอง
หน้าร้อนแบบนี้ไม่มีทุ่งเก็กฮวย มีแต่แผ่นป้ายให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก |
ตามประวัติว่าแต่เดิมบริเวณนี้เป็นค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยสงครามเข้ามา
เรียกว่า “ศูนย์อพยพที่ ๘ “ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ทรงรับไว้ในโครงการอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อพัฒนาพื้นที่ รักษาสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรม ป้องกันการบุกรุกป่า
และอนุรักษ์แหล่งน้ำลำธาร พระราชทานชื่อว่า “โครงการทับทิมสยาม”
ปัจจุบันเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรคุณภาพดีของจังหวัดสระแก้ว ภายใต้การดูแลของสถาบันฯ
เน้นการให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน
อาคารที่ทำการโครงการศึกษาและพัฒนาสมุนไพรเพื่อการวิจัย |
แปลงปลูกสมุนไพรรวม |
จุดหมายแรกจึงอยู่ที่โครงการศึกษาและพัฒนาสมุนไพรเพื่อการวิจัย
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเราได้นัดหมายกับ คุณรัตนา
จันทหนู เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการฯ ไว้ เมื่อพบกัน อย่างรวดเร็วทันใจเธอชวนลูกน้องขึ้นซ้อนท้าย
แว้นมอตอร์ไซค์นำหน้าพาเราออกไปตระเวนเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชผักสมุนไพรที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของหมู่บ้านในลักษณะพื้นที่แปลงรวม
ชาวบ้านแบ่งกันรับผิดชอบในการปลูกพืชสมุนไพรตามใบสั่งจากทางสถาบันฯ โดยติดป้ายชื่อนามสกุลเอาไว้
แปลงใครแปลงมัน ต่างคนต่างดูแลรักษากันเอง ผลผลิตที่ได้นำมาขายให้กับทางโครงการฯ มีราคากำหนดไว้อย่างชัดเจนและเป็นธรรม
เห็นปลูกกันอยู่เยอะคือ ฟ้าทะลายโจร เพชรสังฆาต และฝาง ผมเองก็เพิ่งจะเคยเห็นผลฝางเป็นครั้งแรกในชีวิต
รูปร่างเหมือนลูกอ๊อดตัวใหญ่แบน ๆ ดูแปลกตาดี
“สมุนไพรแต่ละชนิดที่ชาวบ้านเอามาขาย
จะแยกใส่ถุงของใครของมัน เขียนชื่อติดไว้
เพราะจะได้สะดวกในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตในกรณีที่พบสารปนเปื้อนหรือสารเคมีค่ะ” คุณรัตนาชี้ให้ชมถุงพลาสติคที่ใส่สมุนไพรชนิดต่าง
ๆ วางอยู่เป็นกองใหญ่ด้านหน้าเมื่อกลับเข้ามาในอาคารโครงการฯ เหล่านี้รับซื้อมาจากสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดสระแก้ว
ไม่ใช่เพียงเฉพาะจากภายในหมู่บ้านเท่านั้น
ศูนย์แปรรูปสมุนไพร |
ที่นี่นอกจากจะเป็นสำนักงานแล้ว ทางด้านหลังยังเป็นศูนย์ในการแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิดแบบครบวงจรอีกด้วย เราจึงมีโอกาสได้เยี่ยมชมกรรมวิธีทุกชั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การปลูกสมุนไพรในโรงเรีอน นำสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ไปล้างทำความสะอาด ก่อนจะนำไปหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตากให้แห้งในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ นำไปบดเป็นผงหรือกลั่นเป็นน้ำมันสมุนไพร ตอนที่เราเข้าไปนี่ในบริเวณมีไพลจำนวนมากมายทั้งที่ยังอยู่ในถุง ที่ล้างทำความสะอาดแล้วใส่ในเข่ง รวมทั้งที่หั่นเป็นชิ้น ๆ ใส่ถาด กระจายอยู่ทั่วไป มีเครื่องกลั่นไพลขนาดใหญ่สูงท่วมหัวทำจากโลหะเงาวับต่อท่อระโยงระยางเด่นตระหง่านอยู่ทางด้านหลัง
หม้อกลั่นขนาดใหญ่ |
“ไพลที่จะเอามาทำน้ำมันไพลได้ต้องเป็นไพลที่มีอายุ
๒ ปีขึ้นไปค่ะ ถึงจะมีน้ำมันมากพอ น้ำมันไพลราคาแพงมาก เพราะไพลสด ๕๐๐กิโลฯ พอนำมากลั่นเป็นน้ำมันไพลแล้วได้แค่ประมาณ
๔-๕ ลิตรเท่านั้น” คือคำอธิบายให้เราเข้าใจว่าทำไมถึงได้ใช้ไพลมากมายมหาศาลอย่างที่เห็น
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะถูกนำบรรจุในขวด ในห่อ ปิดสลาก ภายใต้เครื่องหมายการค้า Siam Herbs
แล้วส่งจำหน่าย เราจึงตบท้ายด้วยการเยี่ยมชมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการ
ฯ ที่มีสินค้าสมุนไพรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์ให้เลือกซื้อมากมายหลายรายการ
เช่น ข้าวหอมมะลิ ชาสมุนไพรหลากหลายชนิด
ถุงหอม ลูกประคบ ถุงสมุนไพรสำหรับแช่มือแช่เท้า ยาอม ยาลม ยาหม่อง ฯลฯ โอ๊ย
จาระไนไม่หมดครับ เยอะมาก อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างคงต้องมาดูเอง
ที่แน่ ๆ พวกเราได้ติดไม้ติดมือมากันคนละไม่ใช่น้อยเหมือนกันละครับ
มาถึงแหล่งผลิตทั้งที จะกลับไปมือเปล่าก็ดูจะกระไร
ตุ๊กตาทหารหน้าทุ่งนาตาลคาเฟ่ |
แวะสวนเกษตรริมทาง ชมไร่มะม่วงสีทอง
ใต้ความร้อนแรงของแดดในยามบ่าย เราแวะเข้าไปที่ ทุ่งนาตาล
คาเฟ่บรรยากาศฟาร์มเกษตรปลอดสารพิษชื่อดังของอำเภอวัฒนานคร
ตั้งอยู่ริมถนน ตกแต่งในสไตล์มินิมอล น่ารัก น่าแวะ ด้วยซุ้มรับประทานอาหารน้อยใหญ่ท่ามกลางแปลงผัก
แปลงดอกไม้ ในไร่มะม่วง ช่วยลดดีกรีความร้อนของอากาศไปได้หลายองศา
แน่นอนครับ เราไม่พลาดที่จะลิ้มลองรสชาติของพิซซ่าเตาถ่านเลืองชื่อที่มีหลากหลายหน้าให้เลือกสรร
รวมทั้งเมนูสลัดผักผลไม้รวม ตำมะม่วงแก้วขมิ้น
ตำผลไม้ปลอดสารพิษ และกาแฟดริป เครื่องดื่มสมุนไพรคลายร้อน ทั้งหมดล้วนเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน
คุณหน่อย มัฑนา คำวิชัย เจ้าของทุ่งนาตาลคาเฟ่ |
คุณหน่อย
มัฑนา คำวิชัย เจ้าของทุ่งนาตาล
เคยทำงานเป็นพนักงานธนาคารอยู่สองปี ก่อนที่คุณแม่ซึ่งเป็นเจ้าของไร่ ณ ชายแดน จะล้มป่วยจากการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร
จึงต้องลาออกเพื่อมาช่วยดูแลไร่ เริ่มจากการลดการใช้สารเคมี ปรับปรุงไร่โดยหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและเพาะปลูกแบบไร่นาสวนผสม
เข้าสู่การทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ที่เน้นวิถีธรรมชาติ
จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมผสมผสานไร่ ณ ชายแดน ตัวเธอเองก็เป็นอาจารย์ที่โพธิวิชชาลัย
วิทยาลัยศาสตร์พระราชา สอนเรื่องการเกษตรผสมผสาน การดำนา สร้างบ้านดิน
หากเปิดดูในยูทูปจะยังเห็นเธอในชื่อของอาจารย์ลลิดา (ชื่อเดิม) คำวิชัย สอนเรื่องแนวทางสร้างเครือข่ายเกษตรสีเขียวและเกษตรผสมผสานอยู่มากมาย
บรรยากาศภายในทุ่งนาตาล ลักษณะเป็นสวนเกษตรย่อม ๆ |
เมื่อถามถึงที่มาของร้านทุ่งนาตาล เธอเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานว่า
“ตอนนั้นยังเป็นอาจารย์ ขับรถผ่านเห็นที่ดินประกาศขาย ๕ ไร่ เป็นป่ายูคาลิปตัส
ก็มาซื้อ แล้วสร้างบ้านฟางหลังคารูปเห็ด เปิดเป็นตลาดสีเขียว เอาอย่างตลาดโคกอีโด่ยที่ตาพระยา
ตั้งใจให้ชาวบ้านเอาพืชผักผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรุปของตัวเองมาขาย ใช้เวลาอยู่ประมาณสองปีค่ะ
ก็มีชาวบ้านมาขายจริงจัง มีคนมาแวะเข้าห้องน้ำ ขายของได้ เพราะเป็นทางผ่านไปจังหวัดบุรีรัมย์
ผลผลิตที่จะมาขายที่นี่เราขอให้เป็นผลผลิตที่ผลิตเองจากวิถีชาวบ้าน ห้ามไปซื้อจากที่อื่นมาขาย...
...ลาออกจากอาจารย์มาทำเลย ปกติเป็นคนชอบสไตล์มินิมอลอยู่แล้ว
เลยนำมาปรับใช้ในการตกแต่ง เน้นกินได้ มีบรรยากาศให้ถ่ายภาพ ต้นบอน ตะบองเพชรที่ประดับก็ขุดมาจากที่ดินของเราเองนี่แหละ
มาเพิ่มมูลค่าด้วยภูมิปัญญา ไฟก็ใช้โซลาเซลล์ น้ำก็ใช้น้ำบาดาล เตาพิซซ่าก็ใช้ฟืนที่ตัดจากกิ่งมะม่วงในไร่...
...ถึงวันนี้ก็ ๘ ปีแล้ว ย่างเข้าปีที่ ๙ ช่วงอากาศเย็นเราจัดเป็นทุ่งนาตาลแค้มป์ปิ้ง
ตรงแถวท้ายไร่มะม่วงด้านใน ให้คนมากางเต็นท์พักแรม มีกิจกรรมปลูกผัก ทำอาหาร จัดมา๓
ครั้งแล้ว ช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๕ นี้เอง พอดีติดช่วงโควิด ๑๙ อีกเลยหยุดไป”
หลากหลายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มีวางจำหน่าย
ล่าสุดคุณหน่อยเพิ่งเปิดร้านสุข-กะ-ภาพ
เป็นช็อปออร์แกนิคขึ้นอีกแห่งที่แยกวัฒนานคร จำหน่ายอาหารเกษตรอินทรีย์แบบบ็อกซ์เซ็ต
ได้แก่พวก ข้าวยำปักษ์ใต้ พุดดิ้งนมสด มะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยยังยึดแนวทางเดิม ไม่ได้ขายแต่เฉพาะของตัวเอง
เปิดโอกาสให้สินค้าอาหารปลอดสารพิษของเกษตรกรท้องถิ่นในยี่ห้ออื่น ๆ มาฝากวางขายได้ด้วย
อย่างเช่นปลาส้ม ปลาร้า จากกลุ่มแม่บ้านตาพระยา มะเขือเทศจากมาสเมลอนฟาร์ม แยมดอกไม้
ชาดอกไม้ จากลภัสดา มีกระทั่งดอกไม้กินได้ที่ชาวบ้านปลูกไว้ริมรั้ว
เก็บใส่กล่องมาขายรวม ๆ หลายชนิด
ขายได้ถึงราคากล่องละ ๑๕๐ บาท มีทางเลือกให้ด้วย ถ้าเฉพาะชนิดเดียว ๕๐ บาท
“จริง ๆ แล้วอาหารอินทรีย์เรากินกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า เป็นวิถีชุมชน คนเมืองสมัยหลังที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพิ่งจะมามองเห็นคุณค่า เพราะโหยหาออแกนิค เราทำคาเฟ่แค่พออยู่ได้ไม่ร่ำรวย เน้นทำให้ชาวบ้านเห็นการเพิ่มมูลค่าอันเหมาะสม มันคือความสุข ไม่ใช่ทำเพื่อธุรกิจ
ส่วนรายได้หลักที่แท้จริงคือมะม่วงแก้วขมิ้นส่งออก ทั้งผลสดและผลสุก มะม่วงแก้วขมิ้นแปรรูป ได้แก่ มะม่วงอบแห้ง มะม่วงกวน มะม่วงหยี ยังมีมูลไส้เดือนชนิดผง มูลไส้เดือนชนิดน้ำ ถ้าไปที่ไร่ก็คงจะได้เห็นกรรมวิธีการผลิตกัน” คุณหน่อยตบท้ายเชื้อเชิญให้พวกเราลองไปเยี่ยมชม
ไร่ ณ ชายแดน แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ |
วันรุ่งขึ้นเราจึงมุ่งหน้าไปที่ไร่ ณ ชายแดน
ศูนย์การเรียนรู้ด้านวิสาหกิจเกษตรกรรมผสมผสานแห่งสำคัญของอำเภอวัฒนานคร
ได้พบกับคุณวัฒนา จาจิรัตน์ คุณแม่ของคุณหน่อยพอดี
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบุคคลิกกระฉับกระเฉงขยันขันแข็งของคุณหน่อยได้มาจากคุณแม่อย่างแน่นอน
เรียกว่าสำเนาถูกต้อง คุยกับเราไปท่านก็ทำงานโน่นทำนี่ไปไม่ได้หยุดเหมือนกันเปี๊ยบ
ก่อนจะพาไปเดินชมพื้นที่ในบริเวณไร่ที่กว้างขวางถึง ๑๐๙ ไร่ (เดินแค่บางส่วนนาครับ ถ้าเดินทั่ว ๑๐๙
ไร่คงได้ขาหลุดกันบ้าง)
คุณวัฒนา จาจิรัตน์ สาธิตการทำปุ๋ยอินทรีย์มูลไส้เดือน |
“สมัยก่อนที่ไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เงาะ ทุเรียน
ปลูกแล้วตายหมดเพราะดินเป็นกรด เป็นด่าง ข้างล่างเป็นชั้นหิน น้ำฝนมาจะชะหน้าดินไปหมด
ขนาดกรมทรัพยากรธรณีมาลองเจาะบาดาลให้ก็ไม่มีน้ำ ตอนหลังเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่
๙ ปลูกต้นมะม่วงสายพันธุ์เวียดนามพันธุ์ใช้น้ำน้อย แล้วนำมะม่วงพันธุ์ของเรามาใช้เสียบยอด
กับปลูกพืชผสมผสาน ปลูกข้าวไร่ในพื้นที่สวนมะม่วง ข้าวโพดอ้อย มะละกอ ข่า ตะไคร้ กล้วย
กระวาน แล้วก็มีเลี้ยงไก่ไทยพันธุ์ขาวหางเหลือง มีเลี้ยงแพะ...ได้ไปอบรมหมอดินมาตอนปี
๒๕๖๒ ทำน้ำหมักแบ่งกันใช้กับสมาชิกเครือข่ายเกษตรผสมผสาน
แลกข้าว ผลไม้ พืชผักต่าง ๆ
...ตอนเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นอยู่ ๕ ปี ได้มีโอกาสเอามะม่วงที่ปลูกไปรับเสด็จ
ถวายสมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี ๒๕๕๔ พระองค์ท่านทรงถามว่ามีชื่อหรือยัง
ทูลตอบไปว่ายังไม่มี เลยได้รับพระราชทานชื่อว่า “มะม่วงแก้วเนื้อทอง”
ในไร่ยังมีบริเวณสำหรับสาธิตการผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือนพันธุ์แอฟริกันไซคัลเลอร์
เป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนร้อยเปอร์เซ็นต์แบบไม่มีแมลงวัน มีถังผลิตน้ำหมักชีวภาพอเนกประสงค์
“แค่นำผลไม้ พืชผัก หรือเศษอาหารมาหมักกับน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล ทิ้งไว้ประมาณ
๑๕ วัน -๓ เดือน จะกลายเป็นน้ำหมักจุลินทรีย์ใช้สระผม ซักผ้า ล้างรถ เช็ดกระจก
หรือใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินก็ได้ ถือเป็นน้ำสารพัดประโยชน์ แถมไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
เพราะมันสลายตัวไปเองตามธรรมชาติ”
“แล้วที่ว่ามีเลี้ยงแพะนี่เลี้ยงตรงไหนครับ” ผมถามขึ้น เพราะมองไปมองมา ไม่เห็นวี่แววว่าจะมีตรงไหนเป็นคอกแพะได้
คุณแม่หัวเราะชอบใจ “อยากดูหรือ อยู่ที่บ้านสมาชิก เดี๋ยวจะพาไปดู”
พวกเราเดินตามไป
นึกว่าจะพาเดินไปบ้านใกล้ ๆ ปรากฏว่าคุณแม่ขึ้นขับรถกระบะให้เรานั่งท้ายพาไปดูโรงเรือนเลี้ยงแพะที่อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ
๕ นาที พอรถจอดก็ต้องแปลกใจครับ เพราะบ้านสองชั้นที่เราเห็นเรียงรายอยู่สองฟากทาง
มองไกล ๆ เหมือนกับเป็นบ้านเรือนของชาวบ้าน
พอเข้าไปใกล้กลับกลายเป็นโรงเลี้ยงแพะ ลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง
ภายในมีแพะตัวน้อยตัวใหญ่อยู่เต็มไปหมด ส่งเสียงร้องแบร แบร กันระงม
แต่ละตัวก็เชื่องและคุ้นเคยกับคนง่ายดายจริง ๆ ผมเดินเข้าไปในบริเวณมีลูกแพะมากระโดดกอดแข้งกอดขาทักทายกันนัวเนียถึงสองสามตัว
สอบถามได้ความว่าเป็นฟาร์มเลี้ยงแพะในโครงการ
“โคบาลบูรพา” ของกรมปศุสัตว์และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงแพะ
ช่วยเหลือเกษตรกรในอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งดินขาดความสมบูรณ์ แล้งซ้ำซาก
ปลูกพืชผักไม่ได้ผล เนื่องจากพื้นที่ทำกินอยู่นอกเขตชลประทาน ให้หันมาเลี้ยงปศุสัตว์
โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องสร้างเป็นโรงเรือนสำหรับเลี้ยงอย่างที่เห็น และต้องมีพื้นที่สำหรับปลูกพืชที่เป็นอาหารสำหรับแพะด้วย
แพะกับกองกิ่งไม้ที่เหลือจากการเป็นอาหาร |
ในบริเวณที่เลี้ยงแพะเราสังเกตเห็นกิ่งไม้ใหญ่
ๆ กองอยู่เต็มแทบทุกแห่ง “อ๋อ
นั่นกิ่งหูกวางที่ตัดมาเป็นอาหารแพะ มันกินแต่ใบจนหมด เลยเหลือแต่กิ่งที่เห็นนั่นแหละครับ”
ชาวบ้านคนหนึ่งตอบ
พวกเราพากันสงสัยว่าเลี้ยงแพะแล้วจะไปขายกันที่ไหน
คำตอบคือส่งออกไปต่างประเทศ ทำเป็นเล่นไปนาครับ เห็นยังงี้เขาว่ามีความต้องการแพะทั้งในเวียดนาม
มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถึงเดือนละ ๕,๐๐๐ ตัว เชียวละ
กลับออกมาถึงที่ไร่ ณ ชายแดน
คุณแม่ยังสั่งลูกน้องขนมะม่วงแก้วขมิ้นให้พวกเราเอาขึ้นรถกลับไปลองชิมด้วยอีกกองใหญ่
ทำเอารถตู้ของเราแปรสภาพเป็นรถขนมะม่วงไปในขากลับนี่เอง
อโรคยศาลา ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย |
สถานบำบัดด้วยสมุนไพรโบราณ
โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย
“นี่ถ้าฝนตกลงมาคงจะต้องรีบเผ่นก่อน
ไม่ยังงั้นมีหวังได้กินข้าวลิงอยู่แถวนี่แน่” สารถีร่างเล็กของเราเปรยขึ้นขณะค่อย ๆ
พารถหลบหลุมบ่อบนถนนดินลูกรังสีแดงที่ทอดตัวยาวไปในท้องทุ่งกว้าง มุ่งหน้าสู่ ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย
สถาปัตยกรรมขอมโบราณในเขตอำเภอวัฒนานคร
ยังดีที่โยกเยกไปตามทางเพียงแค่อีกพักใหญ่ก็ถึงจุดหมาย เบื้องหน้าแลเห็นเป็นโบราณสถานสร้างจากศิลาแลงสงบนิ่งอยู่ใต้ร่มเงาของแมกไม้ที่ขึ้นเป็นดงอยู่รายรอบ
“คราวนี้เรามาทำเรื่องท่องเที่ยวแนวสมุนไพรกับเกษตรอินทรีย์
ไหงถึงได้มีโปรแกรมแวะมาปราสาทหินด้วยละเนี่ย มันเกี่ยวกันตรงไหน”
หนึ่งในคณะท้วงขึ้นมาระหว่างเดินเข้าสู่อาณาเขตของตัวปราสาท ทำเอาผมอดหัวเราะไม่ได้
เพราะเป็นที่รู้กันว่าผมเป็นคนบ้าปราสาท (หมายถึงคลั่งไคล้ปราสาทขอมนะครับ
ไม่ใช่เป็นบ้าและเป็นโรคประสาท) เดินทางไปที่ไหนหากมีโอกาสมักหาทางแวะเข้าไปชมปราสาทน้อยใหญ่ตามรายทางอยู่เสมอ
สถานพยาบาลสมุนไพรในอดีตเคยอยู่รายรอบปราสาทแห่งนี้ |
ความจริงแล้วต้องถือว่าปราสาทที่เราเข้ามานี่
เกี่ยวข้องกับสมุนไพรโดยตรงเลยทีเดียวละครับ ไม่ได้หาเรื่องแวะเข้ามาเฉย ๆ เนื่องจากเป็นอโรคยศาลาหรือสถานบำบัดโรคด้วยสมุนไพร
หนึ่งในจำนวน ๑๐๒ แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
โปรดให้สร้างไว้บนเส้นทาง “ราชมรรคา” ถนนสายหลักเชื่อมโยงดินแดนในเขตอิทธิพลอาณาจักรขอมโบราณ
ตัวปราสาทศิลาแลงที่หลงเหลือให้เห็นอยู่นั้นเป็นเสมือนวิหารหรือหอพระที่ประดิษฐานพระไภสัชคุรุไวฑูรยประภาโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประธานของอโรคยศาลา ยังเห็นซากฐานอาคารบรรณาลัย และบารายหรือสระน้ำอยู่ด้านนอกกำแพงปราสาท ถือว่าครบถ้วนองค์ประกอบ
ส่วนสถานที่บำบัดรักษาคงจะอยู่นอกกำแพงเช่นเดียวกับบาราย บริเวณนี้คงเต็มไปด้วยผู้คนที่มาบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บและอบอวลไปด้วยกลิ่นของสมุนไพร
ศาลาที่ใช้เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยสร้างด้วยไม้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปจึงผุพังหมดไม่หลงเหลือ
แต่จากซากปรักหักพังที่เห็น ถือเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการใช้สมุนไพรในดินแดนนี้ตั้งแต่เมื่อเกือบพันปีก่อนครับ มาดูไว้เป็นขวัญตาก็ไม่เสียหลาย
ศูนย์การแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลวังน้ำเย็น |
หากปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใยคือต้นตำนานการรักษาโรคด้วยสมุนไพรในสมัยอดีต
โรงพยาบาลวังน้ำเย็น ในอำเภอวังน้ำเย็น
ที่เราเดินทางมาถึงในช่วงบ่าย ก็คือต้นแบบของการรักษาด้วยสมุนไพรในประเทศไทยในสมัยปัจจุบันครับ
เมื่อหลายสิบปีก่อนวังน้ำเย็นเป็นชุมชนห่างไกลความเจริญทางการแพทย์ มีเพียงโรงพยาบาลวังน้ำเย็นเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด
๑๐ เตียงเท่านั้น แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกคือผู้บุกเบิกแพทย์แผนไทยขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรก
เริ่มจากรวบรวมและศึกษาองค์ความรู้พื้นบ้านด้านการใช้สมุนไพรของชุมชน
รวบรวมพันธุ์สมุนไพรจากหมอพื้นบ้าน จัดทำเป็นสวนสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลได้รู้จักสมุนไพรและสรรพคุณของแต่ละชนิด
ใช้รักษาโรคเบื้องต้นได้เองและยังเป็นแหล่งวัตถุดิบใช้ผลิตยารักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยได้อีกด้วย
ปัจจุบันโรงพยาบาลวังน้ำเย็น เป็น ๑ ใน ๘ โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับมาตรฐานตามหลักเกณฑ์การผลิตยาสมุนไพร GMP (Good Manufacturing Practice )
ภายในโรงงานผลิตยาสมุนไพรของโรงพยาบาล กระบวนการในการผลิตยา
มาคราวนี้เรามีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตยาสมุนไพรของทางโรงพยาบาล
ถือเป็นโชคดีมาก เนื่องจากปกติไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้า
ก่อนจะเข้าก็ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ สวมหมวกพร้อมด้วยแมสก์ และใส่ชุดป้องกันอย่างดี
เพราะภายในเป็นห้องปลอดเชื้อ
“ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของโรงพยาบาลวังน้ำเย็นมีอยู่ทั้งหมด
๑๔ รายการค่ะ สั่งซื้อสมุนไพรมาจากหมู่บ้านทับทิมสยาม ๐๕ โดยคำนวณปริมาณยาที่ต้องการผลิต เพื่อสั่งให้ปลูกโดยเฉพาะ” คุณเมย์ ทิพย์ธัญญา
สนธิระ หัวหน้ากลุ่มงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และคุณแฮม ดวงธิดา ทาเล
หัวหน้างานผลิตยาสมุนไพร รับหน้าที่มัคคุเทศก์ให้ข้อมูลระหว่างเดินนำพวกเราเข้าชมภายในส่วนการผลิตยาสมุนไพร
ซึ่งกำลังมีการผลิตยาแค็ปซูลฟ้าทะลายโจรอยู่พอดี “กรณีเป็นยาแค็ปซูลกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณวันละ
๕๐๐ กระปุก แต่ถ้าเป็นยาน้ำอย่างเช่น ยาแก้ไอมะขามป้อม จะใช้เวลาในการผลิตประมาณ ๓
วัน”
ภายในแบ่งเป็นห้องเล็ก
ๆ สองฟาก ไล่ไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ห้องตรวจวัดความชื้นและชั่งน้ำหนัก
ห้องผลิตยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร ห้องเตรียมผงยา
ห้องทำความสะอาดกล่อง ห้องบรรจุยาแคปซูลใส่กระปุกอัตโนมัติ ห้องติดสลากและราคาบนกระปุก
ไปจนสุดทางที่ห้องข้างในสุดหลังประตูแอร์ล็อก ในตู้มีถาดใส่ผลิตภัณฑ์ยาเรียงรายไว้เป็นถาด
ๆ “เป็นห้องเก็บตัวอย่างแต่ละล็อตที่ผลิต เพื่อเวลามีปัญหาจะได้นำออกมาตรวจสอบได้ค่ะ
นักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสวนสมุนไพร
ออกจากห้องผลิตยาเราข้ามฟากมุ่งหน้ายังหมู่แมกไม้ร่มครึ้มตรงข้ามกับสำนักงานการแพทย์แผนไทย
ภายใต้ร่มเงาเป็นพื้นที่ของสวนสมุนไพรเพ็ญนภา ที่เต็มไปด้วยพืชสมุนไพรน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้น
๓๐๐ ชนิด ยังมีดงว่านซึ่งรวบรวมว่านไว้ถึง
๑๐๘ ชนิด แต่ละต้นจะมีป้ายบอกชื่อต้นไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อท้องถิ่น และประโยชน์
รวมทั้งคิวอาร์โค้ดของฐานข้อมูลมุนไพรและฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ติดไว้ทุกต้นเพื่อการค้นคว้าหาข้อมูล
ตอนที่เรามานี้ก็มีกลุ่มนักศึกษาฝึกงานกลุ่มใหญ่กำลังมาก้ม ๆ เงย ๆ เรียนรู้เรื่องสมุนไพรกันอยู่อย่างขะมักเขม้น
“ในแต่ละปีจะมีนักศีกษาและบุคลากรจากหลากหลายสถาบันมาฝึกงานและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกัยสมุนไพรที่โรงพยาบาลของเราประมาณ
๒๐๐ คนต่อปี มีทั้งจากมหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มูลนิธิธรรมานามัย และมูลนิธิแพทย์แผนไทยพ้ฒนา”
คุณเมย์บอกพลางพาเราเดินต่อไปยังพิพิธภัณฑ์สมุนไพรเพ็ญนภา
ห้องเล็ก ๆ ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับสมุนไพรที่ได้จากส่วนต่าง
ๆ ของพืช ไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก ผล เปลือก ต้น ย่า แก่น หัว เหง้า ว่าน บัว เมล็ดพันธุ์สมุนไพร
พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ รวมไปถึงอุปกรณ์การผลิต ตาชั่ง โม่ เครื่องอัดเม็ดยา ที่ใช้ในสมัยก่อน
ถูกเก็บเอาไว้ให้ชมและศึกษาเรียนรู้
นวดแผนโบราณ หนึ่งในบริการในศูนย์การแพทย์แผนไทย |
ปิดท้ายกันที่อาคารแพทย์แผนไทยเพ็ญนภา ภายในอาคารชั้นเดียวแห่งนี้ให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบันในดุลพินิจของแพทย์
โดยให้บริการตามความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นหลัก
มีบริการผู้ป่วยนอก รักษาผู้ป่วยทุกระบบ ทุกสิทธิสวัสดิการ ทั้งรักษาด้วยยา นวด อบ
ประคบสมุนไพร ดูแลหญิงหลังคลอด เช่น ทับหม้อเกลือ นั่งถ่าน ฯลฯ แบ่งเป็นห้อง ๆ สำหรับแต่ละกิจกรรม
ตั้งชื่อไว้คล้องจองกันเสียด้วย ไกลทุกข์สำหรับนวด สุขสถิตย์สำหรับประชุม
ประสิทธิ์ธรรมสำหรับนั่งสมาธิ นำจิตผ่องสำหรับอบสมุนไพร ไอน้ำ ครรลองศิลป์สำหรับปรุงยา
และถิ่นแดนสรวงสำหรับทำสปา
เห็นอย่างนี้แล้วพวกเราบางคนเกิดสนใจอยากลองใช้บริการสปาขึ้นมาทันที
แต่น่าเสียดาย “คิวเต็ม” เพราะไม่ได้จองมาล่วงหน้า เป็นอันว่าอดนะครับ (ใครสนใจอยากมาใช้บริการ
แนะนำให้จองมาก่อนดีกว่า จะได้ไม่ต้องผิดหวัง)
ตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช |
ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มีหลากหลาย
เช้าวันนี้เรามาเตร็ดเตร่กันที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจังหวัดสระแก้ว
ไม่ใช่ว่าติดใจเที่ยวโรงพยาบาลมาจากเมื่อวันก่อนนะครับ
เพียงแต่ได้ข่าวมาว่าที่นี่มี “ตลาดนัดสีเขียว” เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปลายปี ๒๕๖๔
ที่ผ่านมา เป็นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ผักผลไม้ออแกนิคจากชุมชนเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดสระแก้ว
เลยแวะเข้ามาดูเสียหน่อย
มาแล้วก็เจอจริง
ๆ ครับ บนลานเล็ก ๆ หลังตึกผู้ป่วยนอก เป็นที่ตั้งของซุ้มไม้ไผ่ขายสินค้าล้อมวงกันอยู่
แม้พื้นที่ไม่ใหญ่โต แต่ก็มีสินค้าค่อนข้างหลากหลายน่าสนใจ ตั้งแต่ราก เหง้า หัว ต้นกล้า
พันธุ์พืชสมุนไพร ว่านอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายหลายสิบชนิด ผมจำได้แค่ที่ชื่อคุ้น ๆ
หรือไม่ก็ชื่อแปลก ๆ อย่าง ขิงป่า ขมิ้นชัน กระชายดำ มะตูมแขก ผักเสม็ด ทับทิมเม็ดเล็ก
บัวหิมะ หญ้าไผ่น้ำ แล้วก็ว่านเศรษฐีนับเงิน
ว่านเศรษฐีบัลลังก์ทอง ว่านเศรษฐีใหม่ ว่านริดสีดวง ใสถุงบ้างกระถางบ้าง ไว้วางเรียงรายกันเป็นแถว
มีกระทั่งแหนแดงสำหรับเอาไปปลูกเป็นอาหารสัตว์ พืชผักปลอดสารพิษต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า คึ่นช่าย มะเขือเทศ ฟักทอง
ถั่วฝักยาว ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ข้าวไรส์เบอร์รี่
ข้าวซ้อมมือ ไปจนกระทั่งอาหารการกินจำพวกแหนม หมูยอ ข้าวจี่ เดินดูเล่น ๆ
ก็เพลิดเพลินเจริญใจดีครับ ขนาดในหมู่พวกเราก็ยังอดไม่ได้ ควักกระเป๋าซื้อแล้วหอบหิ้วกลับไปขึ้นรถ
(อีกแล้ว)
ผลิตภัณฑ์หลากหลายในศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าของหมู่บ้านหนองโกวิทย์
สาย ๆ นั่นแหละพวกเราถึงมาปร๋อกันอยู่ที่หมู่บ้านหนองโกวิทย์
ในอำเภอเขาฉกรรจ์
หลังจากเพลิดเพลินกับนานาผลิตภัณฑ์ในศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป
ซึ่งบ้านหนองโกวิทย์มีชื่อเสียงมานานจากวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมัดย้อมสีอินทรีย์ (แน่นอนครับ
มีคนซื้อแล้วหอบเอาไปไว้ในรถอีกตามเคย ) รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างของชาวหมู่บ้านก็แล่นมารับพวกเราออกสู่ท้องทุ่งกว้างของหมู่บ้านที่ในตอนนี้มีการทำฟาร์มหอยเชอรรี่สีทองเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับความนิยม
คุณลุงเขียน บุกอ่อนกับบ่ออนุบาลหอยเชอร์รี่สีทอง |
“นอกจากสีแล้ว หอยเชอรี่สีทองไม่เหมือนกับหอยเชอรี่ธรรมดาที่อยู่ตามท้องนาตรงที่ ไม่กินต้นข้าว ไม่เก็บโคลนไว้ในตัว ก็เลยไม่มีกลิ่นโคลน” คุณลุงเขียน บุกอ่อน เจ้าของฟาร์มหอยเชอรร์รี่ที่เริ่มเลี้ยงมาได้ ๑๐ เดือน บอกถึงความแตกต่าง “ส่วนหอยเชอรี่สีทองมีสองพันธุ์ คือพันธุ์สีสนิม สีเข้มมีเปลือกหนากว่า ทนกว่า ส่วนพันธุ์สีทองสีอ่อนกว่า เปลือกบางกว่าแต่รสชาติหวานกว่า เนื้อนุ่มกว่า แล้วก็แพงกว่าด้วย
ว่าแล้วก็พาพวกเราเดินดูตั้งแต่บ่อแรกซึ่งเป็นบ่ออนุบาลมีสแลนคลุมเอาไว้
มีไข่หอยเชอรี่สีทองในตะกร้าพลาสติคเรียงราย “ต้องเพาะในบ่ออนุบาลก่อน ไม่งั้นโดนปลากินหมด
ศัตรูตามธรรมชาติของหอยเชอรี่สีทองมีเยอะ ทั้งมด นก ปลา หนูนา มันมากินตลอด เฉลี่ยโดนกินไป
๕ กิโลกรัมต่อวัน แต่ผลิตได้วันละ ๔๐-๕๐ กิโลกรัม ก็ถือว่ายังพอไหว ต้องเลี้ยงจนอายุได้
๒ เดือนครึ่งถึงจะเริ่มวางไข่ อายุ ๓ เดือนถึงจะเอามากินได้”
มองไปรอบ
ๆ ในพื้นที่รอบบ่อเลี้ยงหอยยังปลูกพืชไว้หลากหลาย มีทั้งกล้วย ชมพู่ ทุเรียน เงาะ มะละกอ
มะนาว มะขามป้อมยักษ์ องุ่น “หอยเชอรี่สีทองเลี้ยงง่าย
ผักผลไม้พืชผักทุกชนิดกินได้หมด ยกเว้นพืชที่มีขนหรือลำต้นสาก ๆ ไม่กิน ชอบของหวาน
แตงโมนี่ชอบที่สุด ขนุน มะละกอ กล้วยสุก ใบไม้ก็ยังได้ แต่ถ้าเป็นใบมะละกอต้องล้างยางออกก่อนนะ
ไม่งั้นตายหมด กลางคืนมันจะขึ้นมาเต็มบ่อเลย เห็นเป็นสีทองอร่าม กลางวันมันจะหลบอยู่ข้างใต้
ที่เลี้ยงตอนนี้มีอยู่ประมาณ ๓-๔ ตันได้ ขายที่ฟาร์มได้กิโลฯ ละ ๑๐๐ บาท ในเฟซบุ๊กขายกันกิโลฯ
ละ ๔๐๐ บาท...”
ว่าแล้วก็พากันไปงมหอยเชอรรี่สีทองจากบ่อที่เต็มไปด้วยผักตบชวาใส่ถังใหญ่มาให้พวกเรา
บอกว่าเอาไปลองชิมดู ผมมอง ๆ ดูหน้าตามันไม่ค่อยน่ากินเท่าไหร่ กลับมาให้คุณป้าที่หมู่บ้านต้มให้
ยังบอกไปว่าต้มแค่พอชิมสักคนละตัวสองตัวก็พอแล้ว คุณป้าหัวเราะก๊าก บอกแค่สองสามตัวไม่พอหรอก
ต้มทั้งหมดนี่แหละ เอาเข้าจริงเหมือนที่บอกเลยครับ จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ด เนื้อกรุบ
ๆ เคี้ยวเพลินเหลือหลาย ที่หิ้วมาถังใหญ่หมดเกลี้ยง ถ้าไม่หมดคงไม่เลิกเลยเชียว
คุณธนวรรณกับผลมะระขีนกสดในมือและที่ตากแห้งแล้วในถุงด้านหลัง |
พวกเราตระเวนไปตามชุมชนและแหล่งฟาร์มเกษตรอินทรีย์อีกหลายแห่งก่อนจะพบว่าแต่ละแห่งถึงแม้
ปลูกพืชแบบผสมผสาน แต่ก็มักจะต้องมีผลิตผลผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอยู่ประมาณสองสามอย่างทุกแห่งไป ที่ฟาร์มจ่าทูล อำเภอเขาฉกรรจ์ เริ่มเพาะปลูกด้านสมุนไพรและเป็นศูนย์รับซื้อสมุนไพรมาแปรรูปจำหน่ายมาตั้งแต่ปี
๒๕๖๒ ปัจจุบันคุณธนวรรณ กันกาญจน์เป็นผู้ดูแลแทนจ่าทูลที่ถึงแก่กรรมไปเมื่อปีที่แล้ว
ผลิตผลหลักมีอยู่ ๓ ชนิดคือมะระขี้นก เพชรสังฆาต และบัวบก โดยเฉพาะมะระขี้นกนี่ได้รับความนิยมมาก
ส่งออกขายไปถึงสวิตเซอร์แลนด์เลยทีเดียว
แปลงผักรวมของกลุ่มเพื่อนใจอินทรีย์ |
ในขณะที่บ้านคลองมะละกอ อำเภอเมืองฯ
”กลุ่มเพื่อนใจอินทรีย์”
วิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก ๓๐ กว่าคน ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยคุณยุทธพงษ์ รัตนวิทย์
ได้แรงบันดาลใจจากรายการ “หอมแผ่นดิน” ในโทรทัศน์ช่อง ๙ อสมท.เริ่มจากการทำปุ๋ยอินทรีย์ แล้วพัฒนาสู่การทำสวนเกษตรผสมผสาน
ผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มคือปุ๋ยอินทรีย์ แต่ก็มีผลิตผลพืชผักต่าง ๆ ที่ให้สมาชิกแบ่งกันรับผิดชอบคนละชนิดส่งจำหน่ายให้กับทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์และโรงแรมอีกหลายแห่ง
ผลิตผลของกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วใส่ถุงรอจำหน่ายบนแผง
เย็นวันนั้นเราปิดท้ายกันที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว แหล่งปลูกผักปลอดสารพิษ ก่อตั้งเป็นกลุ่มเมื่อปี ๒๕๕๕ โดยคุณสุนทร
คมคาย เป็นประธาน เรื่องราวการก่อตั้งแปลกประหลาดกว่าใคร
เพราะเริ่มมาจากการตั้งใจจะไปประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่
“ไปเชิญคุณนันทวัน หาญดีจากกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทราให้มาช่วยนำประท้วง
เขากลับชวนเราไปเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์” คุณวันเพ็ญ แซ่ตั้ง เหรัญญิกเล่าขำ
ๆ ให้เราฟังระหว่างนำชมแปลงปลูก ที่มีทั้งกระท้อน เงาะ ชมพู่ ผลิตผลเด่นของที่นี่คือผักกูด เพราะมีตลอดปี
และเห็นแปลงปลูกอยู่ทั่วไปหลายแห่ง “ผักกูดนี้ต้องการร่มเงา
ก็จะปลูกไว้ใต้ต้นกระท้อน แต่ถ้าไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่จะให้ร่มเงาได้ ก็ต้องกางสแลน ให้ร่มเงาแทน”
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษอยู่ตรงบริเวณแปลงปลูกกัญชาในโครงการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว
เพราะมีการล้อมรั้วลูกกรงรอบโรงเรือนที่ปลูกอย่างแข็งแรงแน่นหนา มีป้ายบอกว่าเป็นสถานที่ผลิตซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่
๕ แต่เชื่อว่าหลังจากวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ นี้ เมื่ออนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนได้แล้ว
ภาพแบบนี้คงกลายเป็นประวัติศาสตร์แปลงผักกูดใต้ร่มเงาของต้นกระท้อน
“เกษตรผสมผสานเขาจะให้สมาชิก
๑ คน ต้องปลูกผักอย่างน้อย ๑๕ ชนิดค่ะ”
คุณวันเพ็ญตอบคำถามที่ว่าทำไมหน้าร้านของกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เต็มไปด้วยพืชผักปลอดสารพิษหลากหลายชนิดใส่ถุงวางขายไว้เป็นกองพะเนิน
ถามไม่ถามเปล่า พวกเรานี่แหละลงมือซื้อใส่รถกันอีกตามเคย
มาถึงวันนี้รถตู้ของเราก็เลยมีสภาพเหมือนรถขายสมุนไพรและผลไม้เกษตรอินทรีย์เคลื่อนที่ไปเสียแล้ว
เชื่อได้เลยครับว่า ไปจอดเปิดท้ายริมถนนที่ไหน รับรองต้องมีคนเดินเข้ามาซื้อแน่ ๆ
แบบจำลองพิพิธภัณฑ์ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรสมุนไพรและผลิตผลเกษตรอินทรีย์
จุดหมายที่ขาดไปเสียไม่ได้ของการเดินทางในครั้งนี้คือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าโรงพยาบาลใจกลางเมืองปราจีนบุรีแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์กลางการแพทย์แผนไทย
นอกเหนือจากความเป็นสถานพยาบาลที่มีองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพร ยังเป็นแหล่งรับซื้อสมุนไพรเพื่อนำมาผลิตเป็นยาแผนไทยของโรงพยาบาลออกจำหน่ายทั่วประเทศ
ตลอดจนรับซื้อพืชผักปลอดสารพิษจากชุมชนและกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อมาใช้ในโรงครัวของโรงพยาบาล
เท่ากับเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนในด้านสมุนไพรและพืชผักปลอดสารพิษอย่างครบวงจร
พวกเราก้าวลงจากรถกันที่หน้าตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
อาคารสองชั้นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบบาโรคสีเหลืองตัดขาวที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ล่าสุดผมได้ยินข่าวว่าปิดปรับปรุงตั้งแต่เดือนเมษายน
ปี ๒๕๖๓ เลยแวะมาดูความคืบหน้าเสียหน่อย ปรากฏว่าวันนี้นอกจากจะตัวตึกจะดูใหม่เอี่ยมอ่องทั้งภายนอกภายใน
ยังปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน เตรียมการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในฐานะพิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์แผนไทยอย่างเต็มรูปแบบไปแล้วด้วยครับ
ร้านยาไทยโพธิ์เงินอภัยภูเบศร์โอสถ
ชั้นล่างแบ่งออกเป็น
๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นห้องแนะนำพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร์ แนะนำผู้มาเยือนให้รู้จักกับพิพิธภัณฑ์
ส่วนที่สองแบ่งเป็น ๓ ห้อง ได้แก่ ห้อง ประวัติศาสตร์
จัดแสดงความเป็นมาของการสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
พัฒนาการการใช้ประโยชน์ในแต่ละช่วงเวลา และคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความงาม ห้องท้องพระโรง
แสดงความงามของสถาปัตยกรรมในบริเวณห้องท้องพระโรงที่ตกแต่งไว้อย่างงดงาม
เนื่องจากตั้งใจสร้างให้เป็นที่รับเสด็จ รัชกาลที่ ๕ ห้องร้านยาไทยโพธิ์เงินอภัยภูเบศรโอสถ พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตสัมผัสได้กลิ่นอายดั้งเดิมของการแพทย์ไทย
รับปรึกษารักษาโรคทั่วไป ให้บริการปรึกษาสุขภาพฟรี เจียดและจ่ายสมุนไพรรายบุคคลตามอาการ
ส่วนที่ ๓ มี ห้องยาไทยจัดแสดงเรื่องราวของไม้กฤษณา
สมุนไพรเก่าแก่ที่เกี่ยวกันกับจังหวัดปราจีนบุรี และจัดแสดงการทำยาไทยโบราณ
บนชั้นสองของตัวอาคารแบ่งเป็นห้องจัดแสดงตามหัวข้อได้แก่
ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี
จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาพัฒนาการของจังหวัดปราจีนบุรี ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร์
จัดแสดงลำดับการพัฒนาการใช้สมุนไพรอภัยภูเบศร์จากอดีตถึงปัจจุบัน และห้องประวัติโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
จัดแสดงประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาล
อาคารสีเขียว ที่ตั้งของของอภัยภูเบศร์เดย์สปา |
แอบแวะเข้าไปดูที่อภัยภูเบศร์เดย์สปา
ตึกสีเขียวที่อยู่ไม่ไกลกัน เห็นเขาว่าที่นี่เปิดให้บริการสปากัญชาครบวงจร
ที่ผ่านการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้มาจาก“โครงการกัญชาอภัยภูเบศรโมเดล” ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ภายใต้อาคารที่ตกแต่งอย่างหรูหราเห็นเขาว่าให้บริการสปากัญชาเพื่อสุขภาพ ได้แก่
นวดบำบัด นวดเท้า นวดน้ำมัน และสปากัญชาเพื่อความงาม ได้แก่ สปาหน้า
ขัดพอกผิว เห็นบรรยากาศแล้วพวกเราบางคนบ่นเสียดายที่ไม่มีเวลาได้ทดลองใช้บริการ
(ไม่ได้นัดหมายมาก่อนด้วยนั่นแหละประเด็นสำคัญ)
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารที่ขายเมนูอาหารกัญชา ๔ เมนูที่ผ่านการคิดค้นจากทางโครงการฯ ได้แก่
รื่นเริงบันเทิงยำ เล้งแซ่บซดเพลิน ข้าวกะเพราสุขใจ และขนมปังคิกคัก พร้อมด้วยเมนูอาหารเพื่อสุขภาพอีกมากมาย แต่ยังไม่ใช่เวลากิน
พวกเราเลยผ่านไปก่อนยังไม่สนใจ มาสะดุดกันตรงร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อสุขภาพ
เห็นมีน่าสนใจอยู่หลายขนาน เลยจัดการเสียตามระเบียบครับ
(จ่ายเงินแล้วขนไปใส่รถ)
เรือนหมอพลอย จัดแสดงนิทรรศการแพทย์แผนไทย
ออกจากโรงพยาบาลมาพักเดียวเราก็มาถึง
ศูนย์การเรียนรู้ภูมิภูเบศร์ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ในเครือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์เพราะเปิดเมื่อเดือนกันยายน
๒๕๖๑ ตรงกลางของพื้นที่เป็นที่ตั้งของ“เรือนหมอพลอย”
เรือนไม้หลังใหญ่ที่นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์)
หมอหลวงในรัชกาลที่ ๕-๖ ซึ่งเป็นคุณตาของท่าน
ต่อมาจึงได้ยกให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย
นิทรรศการบนชั้นสองของเรือนหมอพลอย |
ชั้นบนจัดเป็นนิทรรศการถาวรแบ่งเป็น
๓ ห้อง ห้องแรกหัวข้อ “ย้อนรอยหมอหลวง ชื่อหมอพลอย”
บอกเล่าวิถีชีวิตแพทย์แผนไทยผ่านชีวประวัติของหมอพลอย ห้องที่สองหัวข้อ “หมอไทยนั้นเป็นฉันได”
เล่าเรื่องแพทยสามแบบ คือ แพทย์เชิงระบบ แพทย์เหนือธรรมชาติ และแพทย์พื้นบ้าน และห้องที่สามหัวข้อ
“หั่น สับ จับมาเป็นยา” จัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือต่าง
ๆ ที่ใช้ในการทำยาสมุนไพร รวมไปถึงสมุนไพรชนิดต่าง ๆ
ชั้นล่างใต้ถุนสูงจัดเป็นนิทรรศการถาวรในหัวข้อ
“ยาย้อนยุค” มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มสมุนไพรนานาชนิด
ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรและของฝาก นิทรรศการที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาพัฒนาการของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พร้อมด้วยร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก
หลากหลายเครื่องดื่มสมุนไพรของร้านบ้านเล่าเรื่อง |
ส่งท้ายการเดินทางกันที่ บ้านเล่าเรื่อง
เมืองสมุนไพรปราจีนบุรี ร้านอาหารใจกลางเมือง
(กลางจริง ๆ ครับ เพราะอยู่ใกล้กับศาลหลักเมือง) เดิมทีบ้านหลังงามหลังนี้เป็นของครอบครัวเปี่ยมสมบูรณ์
ก่อนที่ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ มอบให้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ใช้เป็นสาธารณประโยชน์เป็นเวลา
๑๐ ปี
“หลังจากปลดล็อกกัญชาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๖๔
เป็นร้านแรกในประเทศไทยที่มีอาหารเมนูกัญชา” คุณอมรา อาคมานนท์ ผู้จัดการบ้านเล่าเรื่องฯ บอกเล่าถึงเมนูเด็ดของร้านที่ใครไปใครมาต้องสั่ง
เพราะเป็นเมนูที่มาจากอภัยภูเบศร์โมเดลเช่นกัน
แล้วจะรออะไร พวกเราจึงไม่รอช้าที่จะจัดการสั่งมาลองชิมทั้งเมนูอาหารเพื่อสุขภาพและเมนูกัญชา
“ข้าวกะเพราสุขใจคือกระเพราหมูสับใส่กัญชา
ใบกัญชาทอด หรือชื่อเล่นว่า “แป๊ะยิ้ม” ใช้ใบกัญชาสดมาทอดแล้วกินกับน้ำยำ มีแร่ธาตุเยอะ
ช่วยให้ผ่อนคลาย ป้องกันไวรัสและโรคมะเร็ง แต่ มีข้อจำกัดห้ามกินเกินวันละ ๘ ใบ
มารดาหลังตั้งครรภ์คนล้างไต ไม่ควรกิน ใบเล็บครุฑทอด กินกับอาจาด
มีสรรพคุณบำรุงสมอง...”
ยังมีเครื่องดื่มสมุนไพรของทานร้านหลากหลายให้เลือก
ไม่ว่าจะเป็นน้ำสามเกลอ (กระเจี๊ยบ พุทราจีน และใบเตย)
ที่มีสรรพคุณลดความดัน ลดคลอเรสเตอรอล น้ำสามทหารเสือ (ใบหูเสือ
กำลังเสือโคร่ง ใบบัวบก) สรรพคุณช่วยบำรุงระบบทางเดินหายใจ น้ำสามดอกไม้
(ดอกมะลิ เก๊กฮวย ดอกดาวเรือง) สรรพคุณบำรุงหัวใจและสายตา แก้อ่อนเพลีย ที่เด็ดคือชาไทยลั้ลลา (ชาไทย ส้มจี๊ด
น้ำกัญชา)สรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลาย
นั่งโจ้อาหารกันริมระเบียงใต้ร่มเงาไม้ริมสายน้ำ
บรรยากาศดีเหลือหลายช่วยให้เจริญอาหาร อิ่มแปล้พุงกางกันเลยกับเมนูสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ดีต่อทั้งสุขภาพกาย
สุขภาพใจ
ที่สำคัญอารมณ์ดีนั่งยิ้มกันมาตลอดทางจนถึงกรุงเทพฯ
เลยละครับ
คู่มือนักเดินทาง
งานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
เปิดบริการทุกวัน ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา โทรศัพท์และLine ID ๐๘๕๖๕๐๖๓๔๐
เดย์สปา อภัยภูเบศร์
บริการสปาเพื่อสุขภาพและความงาม มีห้องบริการสปาคู่
สปาเดี่ยว
ปิดบริการวันพุธ ถึง วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๒๐.๐๐
นาฬิกา โทรศัพท์ ๐ ๓๗๒๑ ๗๑๒๗ ต่อ ๓๑๒๓
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา โทรศัพท์ ๐๘ ๗๕๘๒ ๐๕๙๗ หรือ๐
๓๗๒๑ ๑๐๘๘ ต่อ ๓๓๓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น