วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566

รอยศรัทธา ในรอยเวลา เมืองศรีเทพ


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. เดือนสิงหาคม ๒๕๖๖

ปูนปั้นประดับอันอลังการบริเวณฐานเขาคลังใน


         ผมหยุดเดิน ยกมือขึ้นปาดเหงื่อจากใบหน้าเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้ว

แหงนมองขึ้นไปตามทางเดินที่ไต่ตามความชันผ่านดงไผ่  นอกจากความเขียวครึ้มของแมกไม้ หน้าผาหิน และหินลอยที่ผุดโผล่อยู่ตามพื้นดิน ยังไม่เห็นวี่แววของจุดหมายปลายทาง

“ครึ่งทางแล้วครับ อีกไม่นานก็ถึง”

เจ้าหน้าที่นำทางพูดปลอบใจ แต่สำหรับผมเหมือนได้ผลในทางตรงข้าม

“หา เดินมาตั้งเป็นชั่วโมงแล้ว เพิ่งมาได้แค่ครึ่งทางเองหรือนี่” 

เส้นทางเดินป่าขึ้นสู่ยอดเขาถมอรัตน์

ปากก็บ่นไป แต่เท้าก็ยังก้าวออกเดินต่อครับ นั่นเพราะถ้ำศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา คือแรงจูงใจสำคัญที่นำผมและคณะพากันมาบุกบั่น ไต่เส้นทางชันต้านแรงโน้มถ่วงของโลกกันอยู่ในขณะนี้

เรียกว่า “ศรัทธา” ก็คงจะได้

แม้ไม่อาจเทียบเคียงได้แม้ปลายก้อย กับ “ศรัทธา” ของผู้คนที่พากันขึ้นมาสร้างวิหารธรรมชาติบนยอดเขาแห่งนี้เมื่อพันกว่าปีก่อน


ปฐมศรัทธา ผีธรรมชาติและผีบรรพบุรุษ

รถทัศนาจรไฟฟ้าจอดเทียบบริเวณหน้า "หลุมช้าง" หลุมขุดค้นทางโบราณคดีแห่งแรก
          

           นึกย้อนไปเมื่อวันก่อน พวกเรายังนั่งรถทัศนาจรกันอย่างสบายอยู่แท้ ๆ

          เช้านั้นรถไฟฟ้านำเที่ยวนำพาคณะของเราแล่นออกจากเต็นท์รับนักท่องเที่ยวหน้าอาคารที่ทำการ ลดเลี้ยวผ่านไปท่ามกลางร่มเงาอันร่มครึ้มของแมกไม้ ในอาณาเขต “เมืองใน” ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เริ่มด้วยการแวะเวียนไปชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานสำคัญยืนยันว่ามีชุมชนแรกเริ่มอยู่อาศัยภายในอาณาเขตเมืองศรีเทพแห่งนี้มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว ๑,๘๐๐ ปีก่อนโน้น ลักษณะเป็นหมู่บ้าน อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ปกครองโดยหัวหน้าหมู่บ้าน รู้จักเพาะปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ มีเทคโนโลยีถลุงโลหะในระดับชุมชน ทอผ้า ปั้นภาชนะดินเผา และใช้เครื่องมือที่ทำจากเหล็ก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ และของป่าต่าง ๆ ที่ใช้ดำรงชีวิตและนำมาใช้เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ๆ ได้   

 ชุมชนแรกเริ่มของศรีเทพนี้ยังตั้งอยู่บนรอยต่อของเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบสูงโคราชของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งมีเส้นทางสัญจรทางน้ำ ใช้ขนสินค้าต่าง ๆ ออกสู่ทะเลได้สะดวก ส่งผลให้ชุมชนศรีเทพเป็นจุดศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับบ้านเมืองภายนอกภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย

โครงกระดูกมนุษย์ที่พบในหลุมช้าง


หลุมขุดค้นยุคก่อนประวัติศาสตร์นี้มีอยู่ด้วยกันสองหลุมครับ หลุมแรกสร้างอาคารถาวรครอบพร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นเอาไว้อย่างดี เพราะเป็นหลุมขุดค้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ภายในนอกจากพบโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นการฝังอุทิศให้กับผู้ตายแล้ว ยังพบโครงกระดูกช้างอย่ในหลุมนี้ด้วย จึงเรียกกันว่า “หลุมช้าง”

หลุมที่สองเป็นหลุมขุดค้นทางโบราณคดีในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ อยุ่ไม่ไกลจากกันเท่าไหร่ ยังไม่ได้สร้างอาคารถาวร มีเพียงท่อนเหล็กและแผ่นสังกะสีทำเป็นหลังคาครอบเป็นเพิงชั่วคราว ภายในหลุมพบหลักฐานโครงกระดูกหลายโครง ภาชนะดินเผา สิ่งของเครื่องใช้ ที่สำคัญคือพบ “โครงกระดูกสุนัข” ถูกฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ด้วย  ทำให้หลุมนี้มีชื่อเรียกเล่น ๆ อีกชื่อหนึ่งว่า “หลุมหมา”

ทั้ง “หลุมช้าง” และ “หลุมหมา” ถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดี นอกจากจะให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ของผู้คนในชุมชนแรกเริ่มของศรีเทพแล้ว ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากครับ นั่นคือเรื่องราวของ  “ศรัทธา” หมายถึง ความเชื่อ ความเห็นชอบ อันนำมาซึ่งพฤติกรรม การประพฤติปฏิบัติ

กระดูกช้าง ที่พบภายในหลุมขุดค้น

การพบหลุมฝังศพแสดงให้เห็นว่าผู้คนในสมัยนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย เมื่อเกิดการตายเกิดขึ้นจึงต้องจัดพิธีกรรมในการส่งคนตายไปยังอีกดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นสรวงสวรรค์บนฟากฟ้า มีการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ ข้าวปลาอาหาร ด้วยการฝังลงไปพร้อมกับศพ มากน้อยตามฐานะทางสังคมของผู้ตาย

ตัวอย่างเห็นได้จากในหลุมช้าง พบโครงกระดูกขนาดร่างกายสูงใหญ่ ว่ากันว่าอาจสูงถึง ๑๘๐ เซนติเมตร น่าจะเป็นบุคคลที่ฐานะทางสังคมสูง ก็พบข้าวของเครื่องใช้ในหลุมมาก โดยเฉพาะเครื่องประดับจี้ห้อยคอ ทำจากหินคาเนเลียนที่ไม่ใช่วัตถุหาได้ในท้องถิ่น

เช่นเดียวกันในหลุมหมาก็เห็นได้ชัดว่าโครงกระดูกที่มีข้าวของอุทิศให้เยอะจะมีพื้นที่ค่อนข้างมาก แยกเป็นสัดส่วนจากหลุมอื่นชัดเจน ในขณะที่โครงกระดูกในอีกมุมหนึ่งพื้นที่น้อยนิด ถึงขนาดต้องฝังทับซ้อนจนกระดูกมากองรวมกัน แสดงให้เห็นถึงฐานะทางสังคมของผู้ตายว่าไม่ใช่บุคคลสำคัญ

หลุมขุดค้นที่พบโครงกระดูกสุนัขฝังร่วมกับมนุษย์

โครงกระดูกสุนัข พร้อมชามข้าว

สิ่งน่าสนใจอยู่ที่โครงกระดูกสุนัข (หมา) ทั้งตัวพร้อมด้วยชามดินเผาอุทิศให้สุนัขใบหนึ่งถูกพบฝังอยู่ใกล้กับขาขวาโครงกระดูกมนุษย์ฐานะสูงครับ

ในกลุ่มชนเผ่าไท เช่น ไทดำ ไทแถง และชาวจ้วง มีตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมส่งผีขวัญของคนตายขึ้นฟ้า โดยเชื่อว่าสุนัขหรือหมาเป็นสัตว์ที่มีพลังวิเศษในการนำทางวิญญาณของผู้ตายไปยังภพภูมิอื่นได้  เช่นเดียวกับในกลุ่มชาติพันธุ์มอญและเขมร ก็มีความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์ผู้นำพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาประทานแก่มวลมนุษย์ จึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่รู้ทางกลับไปสวรรค์ สามารถนำทางวิญญาณคนตายไปสถิตรวมกับผีบรรพบุรุษบนเมืองสวรรค์บนชั้นฟ้าได้

ถือว่าเป็นความเชื่อร่วมกันของผู้คนในเอเชียอาคเนย์  ตั้งแต่ในไทย ไปจนถึงกัมพูชา ลาว และเวียดนาม สิ่งที่พบจึงเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันความเชื่อนี้ว่ามีอยู่จริงตั้งแต่อดีตกาลเมื่อพันกว่าปี โดยเฉพาะในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ของเมืองศรีเทพ

            เจ้าหน้าที่พาพวกเราไปชี้ให้ดูที่ผนังหลุมขุดค้นทางทิศเหนือ ว่าอาจจะยังมีโครงกระดูกสุนัขที่ฝังร่วมกับมนุษย์อยู่อีก แล้วยังบอกด้วยว่าทางอุทยานฯ มีโครงการจะขยายหลุมขุดค้นต่อออกไปทางเหนือ เพราะดูแล้วน่าจะมีโอกาสพบหลักฐานเพิ่มเติม

 “อาจสรุปได้ว่าชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ศรีเทพแห่งนี้มีความเชื่อในคติการนับถือผี ที่เรียกว่า Animism  คือนอกจากเชื่อในผีบรรพบุรุษ แล้วยังเชื่อในผีที่สถิตอยู่ในธรรมชาติด้วย อย่างเช่นเขาถมอรัตน์ที่อยู่ห่างออกไปราว ๑๕ กิโลเมตรนี่ ก็เชื่อว่าชุมชนน่าจะนับถือในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าจะไม่พบว่ามีร่องรอยการประกอบพิธีกรรมอะไรในยุคก่อนประวัติศาสตร์  แต่เมื่อเข้าสู่สมัยทวารวดีก็ได้มีการไปสร้างวิหารขึ้นบนยอดเขา แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเชื่อว่าบนยอดเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ก่อน” 

นั่นแหละครับคุณผู้อ่าน คือสาเหตุที่ในเช้าวันนี้ ผมและพรรคพวกต้องพากันมาออกกำลังกาย ปีนป่ายเขาถมอรัตน์กันแต่ไก่โห่ จนหอบซี่โครงบาน เหงื่อไหลไคลย้อย ก็ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญคือการขึ้นไปทัศนาวิหารศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาเพื่อเป็นบุญตาสักครั้ง

 ทุติยศรัทธา พุทธศาสนา ทวารวดี

ปากถ้ำเขาถมอรัตน์บนยอดเขา

          ทางเดินเริ่มชันขึ้นจนรู้สึกได้  พร้อมด้วยบางสิ่งบางอย่างถูกเพิ่มเติมขึ้นมาบนเส้นทาง

นั่นก็คือ “เชือก” ครับ เป็นเชือกที่ทางเจ้าหน้าที่นำมาขึงไว้ระหว่างต้นไม้ใหญ่สองฟากทางเพื่อให้ใช้เป็นราวจับ ดึงตัวขึ้นไปตามทางเดินที่ลัดเลาะไปตามแนวผาหินแคบและลาดชัน

หลังจากไต่ไปหยุดพักไปอีกสามสี่หอบ ในที่สุดผมก็สาวเชือกซอยเท้าขึ้นมาจนถึงหน้าปากถ้ำได้สำเร็จ เดินอ้อมหินใหญ่ที่ขวางอยู่กลางปากถ้ำ เข้าไปหยุดยืนสูดลมหายใจอีกหลายเฮือกเพื่อเรียกกำลังให้กลับคืนมา

ประติมากรรมพระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปในหลืบถ้ำด้านใน

 ภายในถ้ำเขาถมอรัตน์เป็นโถงกว้าง ขนาดพอเหมาะจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม กึ่งกลางโถงเป็นแท่งหินธรรมชาติสูงจากพื้นจรดเพดาน ด้านหน้าแกะสลักพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ ๒ เท่าของคนได้ เด่นตระหง่านอยู่ ด้านขวาแกะเป็นพระพุทธรูปยืนอีกองค์แต่ขนาดเล็กกว่า 

คูหาด้านข้างถัดจากพระพุทธรูปยืนองค์รองเข้าไปด้านในยังมีกลุ่มภาพแกะสลักอีกสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีพระโพธิสัตว์สี่กรเป็นประธาน สองฟากดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร กลุ่มด้านในสุดเป็นกลุ่มสุดท้าย แกะสลักพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นประธานอยู่กึ่งกลาง ฝั่งซ้ายเป็นเสาเหลี่ยมเบื้องบนเป็นรูปธรรมจักร ฝั่งขวาเป็นสถูปเจดีย์แบบทวารวดี

น่าเสียดายที่เศียรของพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ทั้งหมดถูกโจรชั่วลักลอบกะเทาะเอาไปขายให้ฝรั่งนักเล่นของเก่าเจ้าของใบสั่ง ที่เป็นพ่อค้าผ้าไหมชื่อดังเมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่เช่นนั้นคงจะเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และสมบูรณ์ งดงามน่าตื่นตากว่าที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้อย่างแน่นอน

“โจรมันขึ้นมากันสามคน พอได้พระแล้วมันก็ทะเลาะฆ่ากันเอง ตายไปสอง เหลือคนเดียวเอาของหนีไปขาย กว่าจะมีคนขึ้นมาเจอศพก็ขึ้นอืดเน่าแล้ว ประมาณปี ๒๕๑๐ น่ะ เขาเล่ากัน ตอนนั้นผมยังเด็กเรียนชั้นประถม ตอนนี้อายุ ๖๓ แล้ว ” เจ้าหน้าที่ผู้นำทางเล่าให้ผมฟัง ทำเอาผมทึ่ง เพราะมองดูหน้าตาคนเล่า แม้ไว้หนวดเคราครึ้ม ยังดูไม่เหมือนอายุเลขหกนำหน้าเลยแม้แต่น้อย ขึ้นเขามายังเดินพลิ้วเหมือนมีวิชาตัวเบาอีกต่างหาก

พระพุทธรูปยืนกึ่งกลางโถงถ้ำเป็นพระประธาน


เพื่อให้คุ้มค่าความเหน็ดเหนื่อยที่ป่ายปีนขึ้นมา ผมพยายามเดินพิจารณาให้ทั่วทุกซอกทุกมุม ดูแล้วถ้ำแห่งนี้คือวิหารในพุทธศาสนาสมัยทวารวดีอย่างไม่ต้องสงสัย  จากการติดต่อค้าขายระหว่างชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ศรีเทพกับชุมชนภายนอกโดยเฉพาะอินเดีย ทำให้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของอินเดียอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ชุมชนโบราณศรีเทพเติบโตขึ้นเป็นแว่นแคว้นบ้านเมือง โดยพบหลักฐานการเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ ในสมัยทวารวดีเป็นศิลาจารึกอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ 

ในยุคสมัยนี้ได้มีการรับเอาระบอบกษัตริย์เข้ามาใช้แทนผู้นำชุมชน รวมไปถึงรับศาสนาพุทธมหายานและก่อสร้างพุทธสถานขึ้น  ด้วยรูปลักษณ์ของเขาถมอรัตน์ที่เป็นทรงกรวยยอดแหลมสูง โดดเด่นที่สุดในละแวกฝั่งตะวันตกของลำน้ำป่าสักนี้ เป็นทั้งหมุดหมายในการเดินทาง ทั้งภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  เมื่อรับอิทธิพลพุทธศาสนามหายานจึงน่าจะได้นำคติเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลเข้ามาแทนที่ด้วยการสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาแห่งนี้ขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔

โบราณสถานเขาคลังนอก


สมัยนี้เองได้สร้างเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพที่ยังหลงเหลือให้เห็นชัดที่สุดคือแนวคูเมืองและแนวกำแพงเมืองที่เป็นคันดินล้อมรอบอาณาบริเวณเอาไว้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ประกอบด้วย“เมืองนอก”  และ “เมืองใน”  มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ ๔.๗ ตารางกิโลเมตร

ลงจากยอดเขามาได้พวกเราเลยก็ไป “เมืองนอก” กันก่อน  ฟังดูหรูเหมือนไปต่างประเทศ แต่ความจริงคือเมืองที่อยู่นอกเขตกำแพงเมืองชั้นในครับ (ถ้าเป็นปัจจุบันก็ต้องเรียกว่าอยู่นอกเขตเทศบาล)   

 เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน เนื้อที่ประมาณ ๒.๘๓ ตารางกิโลเมตร ภายในตัวเมืองแม้ปรากฏร่องรอยโบราณสถาน ๖๔ แห่ง กับสระน้ำโบราณอีกเยอะแยะ   แต่ไม่พบศาสนสถานที่ใหญ่โตซับซ้อนและมีความสำคัญเท่ากับเมืองใน  นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นเขตบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวเมืองและพื้นที่เพาะปลูก  

นอกแนวกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประดิษฐานศาสนสถานสำคัญของเมืองโดยเฉพาะ  นั่นคือโบราณสถานเขาคลังนอก มหาสถูปที่มีฐานก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สถาปัตยกรรมทวารวดีที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ -๑๔ แห่งนี้แสดงถึงความสำคัญของเมืองศรีเทพ ในฐานะศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแบบพุทธมหายานใจกลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย

วิมานหรืออาคารจำลองตกแต่งส่วนฐานสถูปเขาคลังนอก


งานสถาปัตยกรรมของโบราณสถานเขาคลังนอกมีความซับซ้อนมากที่สุดในด้านการวางผังและรูปแบบการก่อสร้างตามคติความเชื่อเรื่องมณฑลจักรวาลในพุทธศาสนา  ส่วนฐานประดับประดาตกแต่งด้วยอิทธิพลของ “บัญชร” ในสถาปัตยกรรมอินเดีย ผสานกับ วิมานหรืออาคารจำลองใช้ตกแต่งปราสาทในสถาปัตยกรรมขอมสมัยก่อนเมืองพระนครและสถาปัตยกรรมชวาภาคกลาง ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะคือบัวลูกแก้วขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยการถากให้เป็นมุมแหลมยกเชิดสูงขึ้น รวมถึงตรงส่วนมุมของอาคารจำลองทรงปราสาทประดับส่วนฐานเจดีย์บนหน้ากระดานก็ถากให้เป็นมุมแหลมเชิดสูงขึ้นเช่นเดียวกัน  พื้นที่นอกมหาสถูปออกไปในแต่ละมุมยังมีเจดีย์ทิศ เจดีย์ราย ขนาดเล็กเรียงรายอยู่อีกหลายองค์

นักท่องเที่ยวพากันมารอชมพระอาทิตย์ตกบนลานประทักษิณ


บนลานทักษิณของเขาคลังนอกเป็นจุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอย่าบอกใครครับ เย็นวันนี้พวกเราเลยถือโอกาสพากันกระย่องกระแย่งตามบันได ขึ้นไปกินลมชมวิว ผ่อนคลายจากการไต่ความสูงชันขึ้นลงเขามาเมื่อกลางวัน มองจากเขาคลังนอกเห็นเขาถมอรัตน์ได้ชัดเจน สูงไม่ใช่เล่นเหมือนกัน แทบไม่น่าเชื่อว่าเราเดินขึ้นไปบนยอดนั้นกันมาแล้ว

เทวรูปภายในศาลเจ้าพ่อศรีเทพ


เช้าวันรุ่งขึ้นเราถึงค่อยมาเที่ยวชมโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เมืองในกันต่อ โดยไม่ลืมแวะสักการะเจ้าพ่อเมืองศรีเทพทางด้านประตูแสนงอนเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อน

 ดูจากแผนที่ ผัง “เมืองใน” ค่อนไปทางกลม ภายในเนื้อที่ประมาณ ๑.๘๗ ตารางกิโลเมตร  เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ ราชวงศ์ และบ้านเรือนขุนนาง รวมทั้งศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา   

 การจัดวางผังเมืองเป็นไปอย่างมีระบบ มีการขุดคูเมือง สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบชุมชน สร้างคันดินบังคับน้ำ เบี่ยงเบนกระแสน้ำที่ไหลจากที่สูงทางด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือให้ไหลลงมาในคูเมือง รวมทั้งมีการชักน้ำผ่านช่องกำแพงเมืองไปยังสระน้ำโบราณน้อยใหญ่ กักเก็บไว้สำหรับการประกอบพิธีกรรมและอุปโภคบริโภคของศาสนสถานภายในตัวเมือง เรียกได้ว่าจัดระบบชลประทานให้สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่ของเมืองในได้เป็นอย่างดีเลยเชียวละครับ

ธรรมจักรศิลาทวารวดีหน้าโบราณสถานเขาคลังใน

เรามุ่งตรงไปยังพุทธสถานสำคัญ คือโบราณสถานเขาคลังใน  ถือเป็นเจติยสถานสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดีชิ้นเยี่ยมอีกแห่ง แม้ไม่ใหญ่โตเท่ามหาเจดีย์เขาคลังนอก และพังทลายเหลือเพียงส่วนฐาน แต่จากร่องรอยที่เหลือก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีการตกแต่ประดับประดาอย่างวิจิตร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงส่วนฐานมีการประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นไว้โดยรอบ ทำรูปคนแคระที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษไม่เหมือนที่ใด เนื่องจากคนแคระปูนปั้นมีทั้งที่หัวเป็นมนุษย์แบบธรรมดาและมีทั้งหัวเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ  เช่น ลิง สิงห์ ช้าง และควาย อยู่ในอิริยาบถกำลังแบกฐานของเจดีย์เอาไว้

พวกเราเดินพินิจพิจารณาดูรูปปั้นคนแคระรอบ  ๆ ฐานเจดีย์ ก็เพลินตาเพลินใจดีครับ หมดเวลาไปเป็นชั่วโมงแทบไม่รู้ตัว

ศรัทธาสุดท้าย ฮินดู ขอมโบราณ

ปรางค์สองพี่น้อง

          ไม่พบหลักฐานอะไรบันทึกเกี่ยวกับอิทธิพลอารยธรรมขอมที่แผ่อำนาจมายังเมืองศรีเทพว่าเข้ามาอย่างไร และเมื่อไหร่

แต่จากโบราณสถานเขาคลังใน สมัยทวารวดี เพียงเดินข้ามแนวกำแพงศิลาแลงเตี้ย ๆ  พวกเราก็พบกับปรางค์สองพี่น้อง ปราสาทอิฐบนฐานศิลาแลง สถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ -๑๗ เด่นตระหง่านอยู่เบื้องหน้า  จากการขุดแต่งสันนิษฐานว่าแรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูไศวนิกาย และต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  จึงค่อยถูกเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถานในนิกายมหายาน

ทับหลังอุมามเหศวร


ตัวปราสาทประธานพังทลายไปจนไม่เห็นรูปทรงชัดเจน แต่ยังเหลือศิลปกรรมชิ้นเด่นอยู่บนปราสาทหลังเล็กที่อยู่ด้านข้างให้เราชมครับ คือทับหลังรูปอุมามเหศวร หรือพระอิศวรอุ้มพระอุมาประทับบนโคนนทิ อิทธิพลของศิลปะเขมรแบบบาปวน-นครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗

ทีเด็ดอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นเศรีเทพ ที่ได้เพิ่มเติมรูปแบบเฉพาะตัวลงไป ด้วยการสลักนาคทรงเครื่องสวมเทริดไว้ทั้งสองด้านของหน้ากาล มือของหน้ากาลยังสลักให้ไปจับอยู่บนลำตัวนาค แทนที่จะจับท่อนพวงมาลัยตามแบบศิลปกรรมขอมโบราณ ทั้งยังแกะสลักหัตถ์ของพระศิวะบริเวณบั้นเอวของพระอุมาและหัตถ์ของพระอุมาไว้ใต้วงแขนของพระศิวะในมุมแปลก ๆ ผิดหลักกายวิภาค รวมไปถึงการเพิ่มลายใบไม้ม้วนใต้ท่อนพวงมาลัยให้มากขึ้นเป็นแถวละ ๓ วง ต่างจากทับหลังในศิลปะขอมในกลุ่มศิลปะบาปวน-นครวัด  ที่นิยมทำเพียงวงเดียว

นั่นทำให้ทับหลังชิ้นนี้มีความ “อินดี้” กลายเป็น “แรร์ไอเทม” เพราะมีเพียงหนึ่งเดียวไม่ซ้ำใครไปอย่างช่วยไม่ได้ครับ ใครมาก็ต้องแวะชมเป็นขวัญตา

ปรางค์ศรีเทพ

     เดินต่อไปยังปรางค์ศรีเทพ สถาปัตยกรรมขอมอีกหลังที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง อยู่ถัดจากปรางค์สองพี่น้องไปทางตะวันออก จากทำเลที่ตั้งของปราสาทหลังนี้อยู่ใจกลางเมือง จึงน่าจะเป็นศาสนสถานที่มีฐานะเป็นประธานของเมืองในยุคอารยธรรมขอมเรืองอำนาจ

เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง ปราสาทหลังนี้แรกสร้างใช้เป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ก่อนจะมีการดัดแปลงเป็นพุทธสถานมหายานในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เช่นกัน

แต่ของปรางค์ศรีเทพนี้มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ปรากฏร่องรอยของชิ้นส่วนปราสาทที่สร้างไม่เสร็จ ปรากฏเป็นเพียงโกลนศิลาอยู่ ยังไม่ได้แกะสลัก ทิ้งไว้ระเกะระกะ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชิ้นส่วนพวกนี้น่าจะทำขึ้นในช่วงการดัดแปลงจากเทวสถานในศาสนาฮินดูให้เป็นพุทธสถานในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั่นแหละ แต่บังเอิญหมดรัชกาล อำนาจศูนย์กลางอาณาจักรขอมล่มสลาย จึงไม่ได้ทำต่อให้เสร็จ ถูกทิ้งกระจายเอาไว้อย่างที่เห็น

ที่น่าสังเกตอีกประการคือปราสาทขอมในเมืองศรีเทพทั้งสองหลังนี้ต่างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ไม่ใช่ทิศตะวันออกเหมือนปกติทั่วไปครับ ซึ่งทางทิศตะวันตกของเมืองศรีเทพก็คือเขาถมอรัตน์ การสร้างปราสาทหันหน้าไปทางนั้นก็เพื่อเชื่อมโยงกับเขาถมอรัตน์ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในสมัยวัฒนธรรมทวารวดีสมมติเป็นเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาลในพุทธศาสนา แต่ในสมัยวัฒนธรรมขอมซึ่งนับถือฮินดูไศวนิกาย เขาถมอรัตน์ย่อมถูกสมมติเปลี่ยนให้เป็นเขาไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะ มหาเทพฮินดู เรียกว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิมาสามยุคสามสมัย


ปรางค์ฤๅษี


  พวกเราปิดท้ายการท่องอดีตเมืองศรีเทพด้วยการแวะเข้าไปที่วัดป่าสระแก้ว นอกเมืองศรีเทพไปทางทิศเหนือราว ๓ กิโลเมตร ใกล้กับสระแก้ว บารายขนาดใหญ่ในสมัยขอม เพื่อชมปรางค์ฤาษี ศาสนสถานแบบฮินดูลัทธิไศวนิกายอีกแห่ง ตัวปราสาทสถาปัตยกรรมขอม ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก เด่นสง่าอยู่ในแวดล้อมของดงไม้เขียวขจีร่มรื่น  ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง  

ไม่ปรากฏว่าพบทับหลังของปราสาท ทำให้ไม่อาจระบุยุคสมัยการสร้างได้ด้วยประติมาณวิทยา จึงทำให้มีการสันนิษฐานอายุของปราสาทหลังนี้ว่าร่วมสมัยกับปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง โดยอาจเป็นศูนย์กลางของกลุ่มผู้นับถือศาสนาฮินดูที่ออกมาบำเพ็ญพรตปลีกวิเวกนอกเขตเมือง ซึ่งบรรดาปราสาทเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานทางศรัทธาสุดท้ายของเมืองศรีเทพ

เนื่องจากประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การล่มสลายของอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่และเส้นทางการค้าได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองแห่งใหม่ทางตอนเหนือที่กรุงสุโขทัยกับทางตอนกลางที่กรุงศรีอยุธยา ส่งผลให้ความรุ่งเรืองของเมืองศรีเทพในฐานะเมืองบนเส้นทางการค้าที่ต่อเนื่องมายาวนานหลายศตวรรษต้องยุติลงอย่างถาวร ถูกปล่อยทิ้งเป็นเมืองร้างจมหายในผืนป่าอันหนาทึบเนิ่นนานหลายศตวรรษ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงสืบค้นหาเมืองแห่งนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งพบอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ 

รอยศรัทธาสู่มรดกโลก

นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมบริเวณเขาคลังใน

เมืองโบราณศรีเทพในปัจจุบัน ถือเป็นแหล่งโบราณคดีไม่กี่แห่งที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานต่าง ๆ เป็นตัวแทนเรื่องราวสำคัญของแต่ละยุคได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากการเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้างไป ไม่มีชุมชนในยุคคสมัยหลังมาตั้งซ้อนทับ โบราณสถานที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันจึงไม่ได้ถูกทำลายโดยเมืองสมัยหลังเหมือนที่อื่น

            ยิ่งไปกว่านั้นหลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นในด้านภูมิปัญญา การสร้างสรรค์ และผสมผสานรูปแบบศิลปกรรม จากร่องรอยของ “ศรัทธา” นับแต่จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รับเอาพุทธศาสนาและวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลาง รวมทั้งรับเอากับศาสนาฮินดูจากอาณาจักรขอมโบราณ ทั้งหมดนี้ถูกนำมาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปกรรมแบบศรีเทพที่เรียกว่า “สกุลช่างศรีเทพ” ปรากฏอยู่ทั้งในสถาปัตยกรรมและประติมากรรม

ล่าสุดองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้เมืองศรีเทพเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้วครับ ...ไชโย

 




คู่มือนักเดินทาง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑ (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๐๒ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๑๑  ไปอีกประมาณ ๙ กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖๓๐ นาฬิกา ค่าบัตรเข้าชมคนละ ๒๐ บาท รถยนต์คันละ ๕๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๕๖๙๒ ๑๓๒๒ ๐ ๕๖๙๒ ๑๓๕๔  

จากกรุงเทพเมื่อมาถึงสามแยกพุแคให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑ (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๐๒ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๑๑  ไปอีกประมาณ ๙ กิโลเมตรจะเห็นทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น