ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.
คนจำนวนไม่น้อยมีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว
เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน
อนุสาร อ.ส.ท.เล็งเห็นในจุดนี้
จึงริเริ่มจัดโครงการอบรมนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจอยากจะเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวได้มีจุดเริ่มต้นอย่างถูกต้อง
โดยจัดขึ้นครั้งแรกในวาระที่อนุสาร อ.ส.ท. ครบรอบ ๕๐ ปี ในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา
ใช้ชื่อว่าโครงการ “ค่ายนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวกับอนุสาร อ.ส.ท.” ครั้งที่ ๑
พาสมาชิกและผู้อ่านที่เข้าร่วมโครงการร่วมเดินทางอบรมการเขียนสารคดีและเก็บข้อมูลภาคสนามกับกองบรรณาธิการ
อนุสาร อ.ส.ท. บนเส้นทาง กรุงเทพฯ –พิษณุโลก –ล่องแก่งลำน้ำเข็ก-ภูหินร่องกล้า
ในระหว่างวันที่ ๕-๘ กันยายน ก่อนที่จะให้เวลากลับไปเขียนสารคดีนำมาส่งให้วิทยากรและกองบรรณาธิการอนุสาร
อ.ส.ท.อ่านและวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนเพื่อการพัฒนาในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ซึ่งภาพรวมก็ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ
ในปี
๒๕๕๔ นี้ อนุสารอ.ส.ท. จึงได้มีการการจัดอบรมขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ในชื่อ
“โครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีกับอนุสาร อ.ส.ท. “ แตกต่างออกไปจากครั้งแรก
ตรงที่แบ่งออกเป็น ๒ หลักสูตร คือหลักสูตรการเขียนสารคดีท่องเที่ยว
ที่เน้นให้ความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการการเขียนสารคดีท่องเที่ยวในทุกขั้นตอน กับหลักสูตรการถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยวที่เน้นให้ความรู้การถ่ายภาพสำหรับประกอบสารคดีโดยเฉพาะ
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างก็คือ ทั้งสองหลักสูตรมีการจัดให้ผู้เข้าอบรมเข้าเรียนการเขียนสารคดีภาคทฤษฎีในห้องเรียนในกรุงเทพฯก่อนเป็นเวลา
๑ วัน ณ ห้องบุษราคัม ๑ และ ๒ โรงแรมอมารีเอเทรียม ในวันอาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม
ที่ผ่านมา ในภาคเช้าเป็นการเรียนรวมในห้องใหญ่โดยมีวิทยากรคือคุณธีรภาพ
โลหิตกุล นักเขียนสารคดีชื่อดัง อดีตกองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. บรรยายในหัวข้อ
“กล้องกับปากกา ด้วยดวงตาและหัวใจ” ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นสารคดี
รวมถึงเทคนิคในการเขียนและการถ่ายภาพประกอบสารคดีท่องเที่ยว ก่อนที่ภาคบ่ายจะแยกการอบรมเป็น ๒ ห้อง
โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักเขียนเข้าฟังการบรรยายในหัวข้อ “เขียนด้วยใจ”
กับวิทยากรอาจารย์สมปอง ดวงไสว คอลัมนิสต์จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ในขณะที่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรช่างภาพสารคดีเข้าฟังการบรรยายและชมแนวทางการถ่ายภาพสารคดีจากคุณอภินันท์
บัวหภักดี บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. คุณเกรียงไกร ไวยกิจ และคุณนพดล กันบัว
ช่างภาพของอนุสาร อ.ส.ท. เพื่อเรียนรู้แนวทางการถ่ายภาพ
จากนั้นช่วงวันที่ ๒ -๔ กันยายน ผู้เข้าอบรมต้องออกเดินทางไปปฏิบัติการภาคสนาม ฝึกหัดเก็บข้อมูลและบันทึกภาพในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย
เป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน โดยร่วมเดินทางกับกองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท.
พร้อมหน้าตั้งแต่ คุณปัญจมา มัณฑะจิตร
ผู้อำนวยการกองวารสารในฐานะบรรณาธิการบริหาร คุณวินิจ รังผึ้ง
บรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. คุณอภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการฝ่ายภาพ ไปจนถึงนักเขียนและช่างภาพอนุสาร อ.ส.ท.
รวมทั้งฝ่ายการตลาดซึ่งดูแลสมาชิก เรียกว่ายกกองกันไปเกือบหมด
การเดินทางวันแรกในวันที่ ๒ กันยายน ภายหลังผู้เข้าอบรมลงทะเบียน
ณ อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานใหญ่เรียบร้อยแล้วแล้ว รถบัสคันใหญ่ก็นำคณะอบรมจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าสู่จังหวัดสุโขทัย
ระหว่างเดินทางหลังจากผู้อบรมผลัดเปลี่ยนเวียนกันแนะนำตัว คุณธีรภาพ โลหิตกุล
วิทยากรก็ได้มอบหมายหัวข้อในการเขียนและถ่ายภาพสารคดีคือ “ความเป็นสุโขทัย” จากนั้นได้ผลัดเปลี่ยนกับกองบรรณาธิการอนุสาร
อ.ส.ท. นำโดยบรรณาธิการ บรรยายและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางถ่ายทำสารคดีท่องเที่ยวกับผู้เข้าอบรมอย่างสนุกสนานด้วยสาระและความรู้ไปตลอดทางจนกระทั่งถึงจุดหมาย
หลังอาหารกลางวันมื้อแรกและลงทะเบียนเข้าที่พักคือโรงแรม The
Legendha จังหวัดสุโขทัยแล้ว คณะได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
รามคำแหง โดยมีวิทยากรของกรมศิลปากรนำชมนิทรรศการโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ภายใน
พร้อมบรรยายให้ผู้เข้าอบรมเก็บข้อมูล ต่อด้วยการนั่งรถสามล้อเครื่องไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ก่อนจะเดินทางเป็นขบวนเที่ยวชมกลุ่มโบราณสถานรอบนอกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในบรรยากาศยามเย็น
หลังอาหารเย็นยังมีปิดท้ายรายการของวันด้วยการบรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ทำงานภาคสนามกันจนดึก
เรียกว่าใช้เวลาอย่างมีสาระคุ้มค่าทุกวินาทีเลยทีเดียว
เช้าวันรุ่งขึ้น คณะผู้อบรมยังต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินทางไปถ่ายภาพแสงสียามรุ่งอรุณที่วัดสระศรี
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หลังจากนั้นออกเดินทางสู่แหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
อำเภอศรีสัชนาลัย โดยมีวิทยากรอาจารย์สมชาย
เดือนเพ็ญ นักวิชาการท้องถิ่นมาร่วมบรรยายและนำชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บริเวณเมืองเชลียงอันเป็นเมืองในยุคแรก
โดยปล่อยนักเขียนและช่างภาพลงพื้นที่เก็บข้อมูลโบราณสถานโดยมีวิทยากรดูแลอย่างอย่างใกล้ชิด
กระทั่งสาย จึงเคลื่อนขบวนไปฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลภาคสนาม
บริเวณวัดเชิงคีรี ชุมชนเก่าแก่ที่ยังพูดจาเป็นภาษาสำเนียงสุโขทัยแท้
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้พูดคุยเก็บข้อมูล รวมทั้งชมและถ่ายภาพการฟั่นเทียน หัตถกรรมท้องถิ่นที่นับวันจะหาชมได้ยาก
หลังอาหารกลางวันซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานสุโขทัยเป็นเจ้ามือเลี้ยงคณะอบรมเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำบ้านหาดเสี้ยว
โดยมีอาจารย์สาธร โสรัจประสพสันติ เจ้าของพิพิธภัณฑ์นำชมผ้าทอมือสมัยโบราณอายุนับร้อยปี
ที่รวบรวมไว้ เสริมด้วยกิจกรรมจัดถ่ายภาพหญิงสาวในเครื่องแต่งกายผ้าพื้นเมืองบนเรือนไทยพวนโบราณ
เพื่อให้มีชีวิตชีวาขึ้น
ช่วงเย็นย้อนกลับไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอีกครั้ง
แต่คราวนี้เข้าไปในบริเวณเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นเมืองที่ขยายตัวในยุคถัดมา คณะอบรมนั่งรถรางทัศนศึกษารอบบริเวณโบราณสถาน
วัดนางพญา วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดช้างรอบ ก่อนเดินทางกลับมาบันทึกภาพบรรยากาศยามเย็นพร้อมโบราณสถานที่สาดส่องด้วยแสงไฟในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นการส่งท้าย
แม้ในวันสุดท้ายของการฝึกปฏิบัติภาคสนาม
คณะอบรมยังคงต้องตื่นแต่เช้ามืดอีกเช่นเคย เพื่อไปเก็บข้อมูลและภาพบรรยากาศตลาดเช้าเมืองสุโขทัย ก่อนที่ตอนสาย ๆ จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมตระเวนเก็บข้อมูลและมุมภาพที่สนใจเป็นการเฉพาะตัวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างอิสระด้วยจักรยาน
ระหว่างเดินทางกลับออกเดินทางจากจังหวัดสุโขทัย
กลับกรุงเทพฯ ยังเปิดโอกาสนำภาพถ่ายของผู้เข้าอบรมมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกตลอดทางจนถึงกรุงเทพฯ
และเพราะตารางฝึกที่อัดแน่นเอี้ยดด้วยสาระทุกวินาทีขนาดนี้
ผู้เข้าอบรมในรุ่น ๒ นี้จึงได้รับการเรียกขานกันเล่น ๆ จากวิทยากร ว่าเป็นรุ่น SEAL
(ชื่อเดียวกับหน่วยรบพิเศษ
แต่ความจริงแล้วย่อมาจาก Sukhothai
Experience Activities Learning)
หลังจากกลับมาให้เวลา
๑ สัปดาห์ สำหรับผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรการเขียนต้องนำข้อมูลที่ได้มาเขียนเป็นสารคดี
ในขณะที่ผู้อบรมการถ่ายภาพจะต้องคัดเลือกภาพถ่ายที่ถ่ายนำมาประกอบสารคดีให้สอดคล้องเหมาะสมในเวลาที่กำหนด
ทั้งหมดนี้เน้นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรมทั้งสองหลักสูตรเพื่อให้ผู้อบรมได้มีประสบการณ์เหมือนกับการปฏิบัติงานจริงทุกประการ
โดยวิทยากรจะใช้เวลาประมาณ ๑สัปดาห์
ตรวจพิจารณางานเขียนและภาพถ่ายสารคดีของผู้เข้าอบรม
วันปิดการอบรม ๑๘
กันยายน คณะผู้เข้าอบรมเข้าประชุม ณ ห้องบุษราคัม โรงแรมอมารี เอเทรียม กรุงเทพมหานคร คณะวิทยากรได้ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ติชมผลงานสารคดีและภาพถ่ายพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปรับปรุงในบรรยากาศสนุกสนานครึกครื้นเป็นกันเองตลอดทั้งวัน
ก่อนที่ในช่วงท้ายคณะวิทยากรประกาศรายชื่อผลงานผู้เข้าอบรมที่ได้รับรางวัล ซึ่งจะได้พิจารณาลงตีพิมพ์เผยแพร่ในอนุสาร
อ.ส.ท.ต่อไป จากนั้นเป็นพิธีมอบประกาศนียบัตรก่อนจะปิดการอบรมครั้งนี้ด้วยการถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก
การอบรมสิ้นสุดลง ทว่าสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมทุกคน
นี่ถือเป็นก้าวแรก ซึ่งเมื่อมีก้าวแรกแล้วก็จะต้องมีก้าวต่อไป
ส่วนใครจะก้าวหน้าไปไกลขนาดไหนบนเส้นทางสายนี้ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป
แต่ที่แน่ ๆ การเดินทางบนเส้นทางของสารคดีท่องเที่ยวอันยาวไกลไม่รู้จบของพวกเขาได้เริ่มขึ้นแล้ว
จากจุดเริ่มต้นที่อนุสาร อ.ส.ท. แห่งนี้
คิดถึงบรรยากาศ ตอนอบรมแต่ละครั้ง และมิตรภาพที่ดีจากสมาชิกทุกคน ทุกวันนี้กลุ่ม SEAL-OSOTHO ยังเหนียวแน่น มีการนัดพบกันบางครั้ง แต่ยังแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันผ่าน FB กันอย่างต่อเนื่อง บางคนได้ต่อยอดผลงานทั้งงานภาพและงานเขียน และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากการได้ร่วมเดินทางกับกลุ่ม SEAL และ OSOTHO จนถึง ณ วันนี้ เรามี SEAL 2 แล้ว ขอบคุณมิตรภาพ และความอบอุ่นที่ได้รับจากทีมงาน อสท. อาจารย์ทุกท่าน และเพื่อน ๆ ทุกคน
ตอบลบ