วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

แกะรอยลายแทงกรุงศรีอยุธยา ทัศนาสมบัติมรดกโลก


 เจดีย์รายในบรรยากาศรกร้างของวัดหน้าพระเมรุ

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๑๐ ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘

ดูเหมือนผู้คนจะหลั่งไหลไปเที่ยวอยุธยากันมากครับช่วงนี้

ข่าวใหญ่เรื่องการพบพระมาลาทองคำที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติจากกรุวัดราชบูรณะในต่างประเทศนั่นแหละ ต้นเหตุสำคัญ ทำเอานักท่องเที่ยวแห่ไปชมห้องแสดงเครื่องทองใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะกันชนิดหัวบันไดไม่แห้ง

เรื่องสมบัติพัสถานนี่ดูคนไทยจะชอบกันมาก ไม่ต้องดูอะไรหรอกครับ สังเกตจากละครทางโทรทัศน์ก็ได้ เรื่องที่ดัง ๆ สร้างแล้วสร้างอีกส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติที่พระเอกหรือนางเอกต้องแย่งสมบัติจากตัวร้ายซึ่งโกงเอามรดกไปแทบทั้งนั้น





พอมาเป็นเรื่องสมบัติของชาติอย่างนี้ก็เลยยิ่งน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ จากตอนแรกที่ลุ้นแค่ว่าจะหาทางเอาคืนกลับมาได้หรือไม่ได้อย่างไร   ไป ๆ มา ๆ ผู้สันทัดกรณีก็เกิดสงสัยกันขึ้นอีก สันนิษฐานกันไปถึงขนาดว่าพระมาลาที่เห็นอาจจะไม่ใช่ของจริงจากกรุวัดราชบูรณะ แต่เป็นของปลอมที่ร้านของเก่าทำขึ้นมาหลอกขายฝรั่ง แล้วฝรั่งเกิดรู้ขึ้นมาทีหลัง เลยเอามาหลอกขายคืนให้คนไทยอีกต่อหนึ่ง (สลับซับซ้อนยังกับนิยาย ไม่รู้คิดได้ไงเนี่ย)

 งานนี้ท้ายที่สุดผลจะออกหัวหรือก้อยยังไงคงต้องติดตามกันต่อไปครับ

เห็นบรรดาประชาชีเขาเห่ออยุธยากันให้คึกคักออกอย่างนี้แล้ว ผมก็อดรนทนไม่ได้ ต้องหาโอกาสมาเยี่ยมเยือน กรุงเก่ากับเขาบ้าง   หลังจากภาระการงานมันรัดตัวจนแทบกระดุกกระดิกไปไหนไม่ได้ ทำให้ห่างเหินไปนาน ทั้งที่สมัยยังเป็นนิสิตหน้าใสเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น วันหยุดทีไรผมกับเพื่อนก็จะชวนกันสะพายกล้อง กางแผนที่โบราณตะลอนกันอยู่ท่ามกลางซากอิฐหักกากปูนเมืองอยุธยา บุกป่าหญ้า ฝ่าดงหมามุ่ย เที่ยวชมวัดวาอารามเก่าร้างพังเคที่เกลื่อนกล่นอยู่ทั้งในและนอกเกาะเมือง  ราวกับว่ากำลังตามล่ามหาสมบัติจากลายแทงโบราณ สนุกอย่าบอกใคร

โดยเฉพาะเวลาที่ได้ไปพบไปเจอกับโบราณสถานแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็นจากภาพถ่ายในหนังสือเล่มไหนมาก่อนด้วยแล้วละก็ เป็นความรู้สึกยากจะบรรยายจริง ๆ ครับ บอกได้แค่เพียงว่าตื่นเต้นระทึกใจไม่แพ้อินเดียน่า โจนส์ ในภาพยนตร์ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าเชียวละ 

 ถึงตอนนี้ ได้ยินมาว่าวัดวาอารามอันจมอยู่ในป่าหญ้าอันรกชัฏที่ผมเคยไปหลายต่อหลายแห่งนั้นน่ะ กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่งบูรณะแล้ว  พร้อมอวดโฉมความอลังการต่อสายตาชาวโลกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา

ก็คงถึงเวลาที่ผมจะต้องหยิบแผนที่ลายแทงใบเก่าที่เก็บซุกอยู่ในซอกตู้มานาน  ออกมาปัดฝุ่นรำลึกความหลังกันอีกสักครั้ง 


สัญจรสู่กรุงเก่าเล่าอดีต

            แล้วผมก็มุ่งหน้าสู่ กรุงเก่าในเช้าที่อากาศสดใสวันหนึ่ง

            ถนนหนทางที่กว้างใหญ่ทำให้รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้การเดินทางช่างรวดเร็วง่ายดาย และสะดวกสบายเสียจริง  พาหนะคันเก่งควบปุเลงพักเดียวก็แลเห็นเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลโดดเด่นเป็นสง่าตัดกับฟ้าสีครามเข้มอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนทางฝั่งซ้ายมือ

เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงครั้งผมมาเยือนเมืองหลวงเก่าครั้งแรกในชีวิตเมื่อเกือบ ๆ  ๓๐ ปีก่อนครับ ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนอยู่ชั้นป. ๒  ติดสอยห้อยตามมากับคุณพ่อซึ่งมาทำงานสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในอยุธยา ในสายตาของเด็กอย่างผมในตอนนั้นความตื่นเต้นก็คือได้นั่งรถโฟล์คตู้ของ อ... แล่นไปตามถนนสองเลนที่ตัดผ่านท้องทุ่งกว้างใหญ่เขียวขจีอยู่สองข้างทาง บางช่วงจะเห็นควายตัวดำมะเมื่อมยืนเขาโง้ง  (ผิดกับสมัยนี้ที่ริมถนนเห็นมีแต่มีปั๊มน้ำมันเรียงกันอยู่เป็นตับ  แถมแวะเข้าไปเติมทีไรก็ต้องตกใจกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้นไปทุกทีรู้ว่าถึงอยุธยาก็ตอนคุณพ่อชี้ให้ดูเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเสียดฟ้าอยู่ลิบ ๆ กลางสีเขียวของทุ่งนานั่นแหละ

จำได้แม่นเลยครับถึงความตื่นเต้นเมื่อแรกได้เห็นขนาดอันมหึมาจนต้องแหงนคอตั้งบ่าของเจดีย์วัดใหญ่ฯ ในระยะใกล้ ยิ่งเมื่อนั่งรถตระเวนรอบเมืองก็ได้พบเห็นเจดีย์เก่าคร่ำคร่าน้อยใหญ่รูปทรงแปลก ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเขตกรุงเก่า บ้างก็อยู่ข้างร้านขายวัสดุก่อสร้าง บ้างก็อยู่ในโรงพยาบาล แม้กระทั่งในโรงเรียน โผล่อยู่ในบ้านเรือนริมถนนก็ยังมี  ทำเอาผมเหลียวซ้ายแลขวาด้วยความตื่นตาตื่นใจตลอดเวลาที่ท่องไปในกรุงเก่า

กลับถึงบ้านคราวนั้นผมก็เลยเกิดอาการ เจดีย์ฟีเวอร์ครับ ขนาดเล่นดินน้ำมันก็ยังปั้นเป็นรูปเจดีย์  เวลาคุณพ่อเผลอ ผมก็จะแอบค้นตู้หนังสือโดยเฉพาะที่มีภาพเจดีย์ออกมาดู ยิ่งภาพเจดีย์เก่า ๆ ร้าง ๆ ปรักหักพังเอียงกะเท่เร่ ยิ่งชอบเป็นพิเศษ เห็นแล้วมันได้อารมณ์ลึกลับน่าค้นหาอย่างบอกไม่ถูก 
 
ในบรรดาหนังสือทั้งหลายในตู้ของคุณพ่อที่ส่วนใหญ่หนักไปทางประเภทประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ถูกใจผมเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นหนังสือของ น. ณ ปากน้ำ ด้วยความที่มีภาพเจดีย์เยอะกว่าใครเพื่อน แถมแต่ละภาพเป็นเจดีย์ในบรรยากาศอันรกร้างเข้มขลังแทบทั้งนั้น

ตอนเด็ก ๆ ก็อาศัยดูแต่ภาพไม่ค่อยรู้อะไร โตขึ้นมากหน่อยพออ่านได้รู้เรื่องรู้ราวก็ยิ่งชอบ โดยเฉพาะหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา บันทึกเรื่องราวการสำรวจโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเอาไว้อย่างละเอียดยิบ ผมเองอ่านไปก็จินตนาการตามไป รู้สึกได้ถึงบรรยากาศของการผจญภัยในดินแดนแห่งศิลปกรรมโบราณ ฝันว่าสักวันคงจะได้ไปชมวัดวาอารามที่รู้จักจากหนังสือให้ครบทุกที่

             ฝันของผมเป็นจริงขึ้นมาก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย  เมื่อคุณพ่อให้รถเก๋งเอาไว้ใช้คันหนึ่ง สนุกละครับทีนี้ ถึงวันหยุดเมื่อไหร่ผมก็ชวนเพื่อนที่สนใจในของโบร่ำโบราณเหมือนกัน ขับรถไปผจญภัยกลางอิฐหักกากปูนของกรุงเก่า โดยมีหนังสือเล่มโปรดเป็นลายแทงนำทางไปสู่ขุมทรัพย์ ซึ่งก็คือวัดวาอารามเก่า ๆ งาม ๆ ทั้งหลายในอยุธยา โดยเฉพาะแห่งที่ยังจมอยู่ในความรกชัฏของป่าหญ้า

 หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง

 สัญจรเส้นทางสายอโยธยา

           เผลอใจลอยนึกถึงความหลังแผลบเดียว พาหนะคันเก่งก็มาถึงวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม บนทางเข้าสู่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาแล้ว ผมหมุนพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายตรงไปหน้าวัดใหญ่ชัยมงคล หาอะไรรองท้องเสียหน่อยก่อน เพราะย่านนี้เป็นแหล่งชุมนุมอาหารอร่อย มีให้เลือกหลายร้าน อิ่มหมีพีมันแล้วก็ไปไหว้พระเดินชมในบริเวณวัดใหญ่ ฯ รอจนข้าวเรียงเม็ดได้ที่ค่อยขับรถต่อไปนมัสการพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงเป็นสิริมงคลกับการเดินทาง

ยืนพินิจพิจารณาหลวงพ่อองค์มหึมาในวิหาร นึกไปถึงข้อความในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่บันทึกไว้ว่า จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก แรกสถาปนาพระเจ้าพุทธพแนงเชิง..” ซึ่งตรงกับปีพ..๑๘๖๗ แล้ว ก็แทบไม่อยากเชื่อครับว่า หลวงพ่อโตนั่งอยู่ ณ ที่นี้มาตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี

นับถึงปีนี้ท่านก็มีอายุปาเข้าไป ๖๘๑ ปีแล้ว

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจำนวนไม่น้อยครับที่เชื่อว่าบริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็คือฝั่งนอกเกาะเมืองอยุธยานี่แหละ เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณชื่ออโยธยาศรีรามเทพนคร ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งด้วยวัฒนธรรมเฉพาะตัวอันเกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมทวารวดีกับวัฒนธรรมขอม และได้ร้างผู้คนไปเพราะเหตุจากโรคระบาด หลงเหลือไว้เพียงร่องรอยศิลปกรรมที่เรียกว่าแบบอู่ทอง
 
หลายปีหลังจากนั้นครับ พระเจ้าอู่ทองถึงได้เสด็จมาสถาปนาเมืองใหม่ในปี พ..๑๘๙๓ บนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ในชื่อว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่ากรุงศรีอยุธยา เจริญรุ่งเรืองเป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่สืบต่อมาอีกถึง ๔๑๗ ปี โดยมีกษัตริย์ ๓๓ พระองค์จาก ๕ ราชวงศ์ปกครอง ก่อนจะเสียกรุงให้กับพม่า บ้านเมืองถูกเผาทำลายจนยับเยิน พงศาวดารบันทึกไว้ว่าครั้งนั้นหลวงพ่อโตมีน้ำพระเนตรไหลออกมาเป็นทาง

เสียดายที่หลวงพ่อโตท่านพูดไม่ได้ ไม่งั้นท่านคงมีเรื่องราวที่จะบอกเล่าให้กับคนรุ่นหลังอย่างเราฟังเยอะแยะ

  แต่ร่องรอยของวัดวาอารามเก่า ๆ ที่เรียงรายอยู่ตามแนวของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกก็เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้เหมือนกันครับ แม้อาจจะฟันธงลงไปไม่ได้ว่าเป็นเมืองโบราณก่อนกรุงศรีอยุธยาจริงหรือไม่ เพราะมีการซ่อมแซมปรับปรุงกันมาหลายสมัย ทว่าเรื่องบรรยากาศถือว่าใช้ได้เลย วังเวงได้ที่ จำได้ว่าการ์ตูนนิยายภาพเรื่องนางตานีของคุณทวี วิษณุกร ที่ผมเคยอ่านตอนเด็ก ๆ ยังเลือกใช้วัดเก่า ๆ  แถบนั้นหลายวัดเป็นฉากในเรื่อง ก็คงเพราะบรรยากาศนี่แหละ

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นครับ ไปดูกันเลยดีกว่า โดดขึ้นพาหนะคันเก่า ขับเอื่อย ๆ อ้อมวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มตรงขึ้นไปตามถนนทางทิศเหนือ ถนนสายนี้จะเลียบไปตามวัดเก่าที่เรียงรายกันอยู่ พักเดียวก็เห็นวัดสมณโกฏฐาราม อยู่ทางซ้ายมือ ตามประวัติว่าเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณ เจ้าพระยาโกษา(เหล็ก)กับเจ้าพระยาโกษา (ปานได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

เคยดูภาพถ่ายเก่าในหนังสือเห็นวัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่ แต่คงพังทลายไปนมนานกาเล ขนาดตอนผมมาเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังเห็นเหลือแค่เนินดินสูง พระที่จำพรรษาอยู่เอาพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานเอาไว้ แล้วทำบันไดราวเหล็กให้คนเดินขึ้นไปนมัสการ  มาคราวนี้ในบริเวณวัดขุดแต่งเรียบร้อย  ไม่ว่าจะเป็นตัววิหารหรือเจดีย์ประธานทรงระฆังที่เคยถูกพวกหาสมบัติขุดจนพรุน ซากพระปรางค์ที่เคยเป็นแค่เนินดินก็แต่งเสียเนี้ยบเชียวครับ แต่ก็ได้แค่ส่วนฐาน เสียดายถ้าไม่พังทลายไปคงจะเป็นอีกสถาปัตยกรรมที่เป็นสีสันบนเส้นทาง

 ออกรถต่อไปยังวัดกุฎีดาว วัดขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าน่าจะเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา แล้วมาปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ช่วงอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อหลายปีก่อนวัดนี้บรรยากาศขลังดีอย่าบอกใคร เป็นวัดที่ผมชอบมาก เพราะมีต้นไม้ใหญ่แทรกรากแผ่กิ่งก้านสาขาอยู่บนซากเจดีย์ประธาน ซึ่งองค์ระฆังขนาดยักษ์พังทลายลงมา เห็นยอดเจดีย์กลิ้งโค่โร่อยู่กับพื้นเป็นที่ตื่นตา มาวันนี้ต้นไม้ถูกตัดทิ้งไป  เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ถูกขุดแต่งบูรณะใหม่ เห็นความยิ่งใหญ่ได้ชัดขึ้น  แต่ถ้าถามผมละก็ แบบเก่าดูจะเปิดโอกาสให้จินตนาการได้อารมณ์สุนทรีย์ดีกว่าล


 วัดจักรวรรดิ์ 

ห่างแค่ถนนสายเล็ก ๆ กั้น เป็นวัดจักรวรรดิ์  เจดีย์ประธานทรงระฆังที่เคยยอดหักเอียงกะเท่เร่ ปกคลุมด้วยหญ้า บัดนี้บูรณะเรียบร้อยแล้วเหมือนกัน แต่วิวด้านหลังที่เคยงดงามด้วยทิวต้นตาลชะลูดเรียงรายไม่เหมือนเก่าเสียแล้ว เพราะมีที่ทำการอบต. มาสร้างอยู่ เสียมุมมองไปเยอะ แถมโดยรอบยังล้อมลวดหนาม ปลูกต้นไม้ทำเป็นรั้วเสียแน่นหนา ความจริงเปิดโล่งเอาไว้ก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหน สมบัติก็คงไม่มีให้ขุดแล้ว จะกั้นไปทำไม แปลกจริง ๆ

ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ก็คือ วัดอโยธยา ยังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยองค์เจดีย์ประดับปูนปั้นรูปกลีบบัวตั้งบนฐานทักษิณสูงแห่งเดียวในอยุธยาครับ บรรยากาศขลังยังอยู่ครบ เห็นแล้วก็ดีใจ เช่นเดียวกับวัดโบสถ์ราชเตชะที่อยู่ถัดไป พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ประดิษฐานในโบสถ์สร้างใหม่ไม่มีหลังคายังอยู่ดีเหมือนเดิม ในพงไม้ลึกเข้าไปแลเห็นเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่หักเป็นท่อน ๆ กลิ้งอยู่ แปลกตรงที่ไม่เห็นองค์เจดีย์ว่าอยู่ที่ไหน มีแต่ยอดจนถึงคอระฆังเท่านั้น เป็นปริศนาท้าทายจินตนาการผู้มาเยือนให้ค้นหา

 แล่นไปสุดทางสายอโยธยาที่วัดดุสิตาราม วัดนี้มีเจดีย์โบราณสูงใหญ่แปดเหลี่ยม ด้านตะวันตกยังมีโบสถ์และวิหารอันคร่ำคร่า ผสานบรรยากาศในยามร้อนแล้งแบบนี้ เหมือนกับย้อนเวลากลับไปอยู่ในสมัยโบราณครับ โบสถ์ วิหารเก่า ๆ เดี๋ยวนี้ชักจะหาดูได้ยากแล้วในอยุธยา ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตยังจะมีให้เห็นอยู่ไหม เพราะตอนนี้ถนนที่เคยมาสุดแค่หน้าวัดก็ถูกเชื่อมต่อออกไป ความเจริญมาเมื่อไหร่ความเปลี่ยนแปลงก็มักจะตามมาติด ๆ

ย้อนกลับออกมาทางเดิม เลี้ยวซ้ายที่ซอยฝั่งตรงข้ามกับวัดกุฎีดาว แล่นตามถนนทอดยาวตรงไปสู่ วัดมเหยงคณ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกบูรณะใหญ่หลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนต้นในรัชสมัยเจ้าสามพระยา (บางตำราว่าสร้างในสมัยนี้และสมัยอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระ ทำให้ในบริเวณมีโบราณสถานเต็มไปหมด แต่ที่เด่น ๆ ก็คือเจดีย์ประธานทรงระฆังบนฐานทักษิณ ประดับประดาด้วยช้างปูนปั้นรอบทุกด้านอย่างที่เรียกกันว่าเจดีย์ช้างล้อม ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นในอยุธยา  

  ลัดเลาะไปทางทิศเหนือของวัด อีกฟากหนึ่งของคลองเล็ก ๆ ซึ่งขวางกั้นอยู่ เจดีย์วัดสีกาสมุด  ถูกบูรณะจนเต็มองค์ ผมเคยมาปีนมุดกรุที่คนร้ายขุดเอาไว้เข้าไปดูข้างใน มาคราวนี้เข้าไม่ได้แล้ว ส่วนทางทิศใต้เป็นที่ตั้งของวัดช้าง เมื่อก่อนป่าหญ้าขึ้นรกปกคลุมไปทั่วสูงทั่วหัวท่วมหูเลยละครับ บุกบั่นเข้าไปดูลำบากเหลือหลาย แต่เดี๋ยวนี้ถากถางจนโล่งเลี่ยนเตียนไป ทำให้มองเห็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานทักษิณใหญ่ได้ชัดเจน เดิมคงเป็นเจดีย์ช้างล้อมเหมือนกับวัดมเหยงคณ์ เพราะเก็บได้ชิ้นส่วนปูนปั้นรูปช้าง รูปสิงห์ก็มี มารวมไว้หลังฐานวิหารเป็นร้อย ๆ ชิ้น 

            ตอนเย็น ๆ ชาวบ้านแถบใกล้เคียงมาใช้ลานกว้างรอบวัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  ลูกเด็กเล็กแดงพากันมาเล่นว่าว ขี่จักรยานกันเป็นที่สนุกสนาน นาน ๆ ก็มีช้างจากหมู่บ้านช้างที่อยู่ติดกันนำนักท่องเที่ยวมาเดินเที่ยวรอบวัด เป็นบรรยากาศของโบราณสถานที่เปี่ยมชีวิตชีวาน่าชื่นใจ   ไม่เหมือนอีกหลายแห่งที่กั้นรั้วล้อมคอกเอาไว้ ชาวบ้านเข้าไปแตะต้องไม่ได้เลย

           ความจริงควรเปิดให้คนในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมครับ  เหมือนที่ผมเคยไปเห็นมาในกัมพูชา  ของเขานี่คนเขมรไปเที่ยวปราสาทหินที่ไหนก็เข้าได้ฟรีตลอด ไม่เสียสตางค์ เป็นการจูงใจให้คนอยากเที่ยวในประเทศ แหล่งท่องเที่ยวก็ครึกครื้นไม่เงียบเหงา แต่ของเรานี่บอกให้ไทยเที่ยวไทย แต่เข้าที่ไหนเก็บสตางค์ตลอด ทีละสิบยี่สิบหลายครั้งเข้ามันก็เยอะนาครับ  ปกติคนไทยก็ไม่ชอบเที่ยวโบราณสถานกันอยู่แล้ว ยิ่งต้องเสียเงินเลยพานไม่เที่ยวเสียเลย ปล่อยให้คนไทยเข้าฟรี หันไปเก็บฝรั่งเยอะ ๆ จะดีกว่า อย่าไปเกรงใจฝรั่งนักเลย เวลาเราไปเที่ยวบ้านเมืองเขาไม่เห็นคิดว่าจะลดให้คนไทยเราสักบาท

            ตบท้ายเส้นทางสายอโยธยาด้วยการแวะไปชม วัดนางคำ  ซึ่งผมเคยประทับใจกับภาพองค์เจดีย์ทรงระฆังที่ถูกรากไม้เลื้อยปกคลุมกับกรุในองค์ระฆังเจดีย์ที่เป็นโพรงกลวง  เมื่อก่อนจะเข้าไปวัดนี้ต้องขับรถข้ามสะพานไม้เก่า ๆ น่าหวาดเสียว  เดี๋ยวนี้สบายเพราะทำเป็นสะพานคอนกรีตอย่างดี แต่เจดีย์บูรณะก่ออิฐทึบหมดเสียแล้ว รากไม้ที่เคยปกคลุมอยู่บนองค์ระฆังก็แซะออกจนเกลี้ยงเกลา มองดูเผิน ๆ ก็สวยงามเรียบร้อยดี แต่ของอย่างนี้บางทีรก ๆ มันก็ได้บรรยากาศกว่านะผมว่า 

ข้ามสะพานไปชมวัดวาอารามทางฝั่งเกาะเมืองกันบ้างดีกว่า


ลัดเลาะชมวัดรอบเกาะอยุธยา

อุ่นเครื่องเสียหน่อยก่อนด้วยการแวะศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา นิทรรศการถาวรเกี่ยวกับอยุธยาจัดแสดงเอาไว้น่าสนใจ ด้วยสื่อมัลติมีเดียและแบบจำลองของวัดสำคัญ ดูแล้วก็จะเข้าใจภาพรวมของอยุธยาขึ้นมาราง ๆ เป็นแนวทางในการเที่ยวต่อ เรียกว่าสร้างอารมณ์ เสริมบรรยากาศก็คงจะได้  มาทีไรผมก็ต้องมาดูทุกที เสียอยู่หน่อยครับ ตรงที่ตัวนิทรรศการไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง เคยมาเมื่อตอนเปิดใหม่ ๆ เป็นยังไง ตอนนี้ก็ยังเป็นยังงั้น แต่เห็นกำลังมีการก่อสร้างอาคารสถาบันอยุธยาคดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาอยู่ใกล้ ๆ ด้วย  ก็ได้แต่หวังว่าสร้างเสร็จเมื่อไหร่คงมีข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับอยุธยามาปรับปรุงนิทรรศการให้นักท่องเที่ยวคอโบราณได้ฮือฮากัน

 ศาลากลางจังหวัดเดิม

ออกจากศูนย์ ฯ ผ่านไปทางหน้าศาลากลางจังหวัดเก่า สถาปัตยกรรมในยุคจอมพลป. พิบูลสงครามกับประติมากรรมพระราชานุสาวรีย์วีรกษัตริย์เหนืออาคาร ยังเด่นสง่าอยู่กึ่งกลางสามแยกเหมือนเดิม  แต่ตอนนี้ข้างในเขาใช้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยาไปแล้วครับ เกร่เข้าไปดูก็เข้าท่าดีเหมือนกัน ชั้นล่างเป็นเคาน์เตอร์ให้บริการข่าวสารการท่องเที่ยวของ ททท. บนชั้น ๒ มีนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับอยุธยาให้ชม ผมลองไปเดินเมียงมองดูแล้วก็รู้สึกว่าคล้าย ๆ กับที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์  เพียงแต่เล็กกว่าเท่านั้น ส่วนชั้น ๓ เป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการงานศิลปะ บรรยากาศโดยรวมยังดูเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาชมกันเท่าไหร่

           ผิดกับทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่ข้ามถนนไปไม่ใกล้ไม่ไกล นักท่องเที่ยวแห่กันมามืดฟ้ามัวดิน  ส่วนใหญ่ก็มาเพราะข่าวการพบพระมาลาทองคำนั่นแหละครับ   ผมลองไปผลุบ ๆ โผล่ ๆ โต้คลื่นมหาชน  โอ้โห ห้องจัดแสดงเครื่องทองงี้แทบจะไม่มีที่ยืน  ทั้งที่ตอนยังไม่มีข่าว ผมมาทีไรไม่เห็นมีใครสักคน เห็นแล้วเลยท้อใจ ขอไปเที่ยวดูที่อื่นก่อนดีกว่า

           ออกจากพิพิธภัณฑ์ ฯ แล้วผมก็เลยเลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้าง ๆ ไปโผล่ออกที่ริมบึงพระราม อันเป็นจุดที่พระเจ้าอู่ทองทรงใช้เป็นที่หมายในการเลือกทำเลสร้างกรุงศรีอยุธยา ว่ากันว่าตอนแรกนั้นเป็นหนองน้ำเล็ก ๆ  ไม่ใหญ่นัก มีชื่อเรียกว่าหนองโสน เมื่อพระเจ้าอู่ทองโปรดให้สร้างเมืองก็มีการขุดเอาดินจากหนองไปถมที่สร้างพระราชวังและวัดวาอารามโดยรอบ หนองน้ำก็เลยมีขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นบึงที่มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่ภายใน  เดิมบึงนี้ทางตอนเหนือเรียกว่าบึงชีขันและบึงทางใต้เรียกว่าบึงหน้าวัดพระรามหลัง ๆ มาคงขี้เกียจหนักเข้าเลยเรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่าบึงพระรามรวมกันไปเลย

 วัดสังขปัดกับบรรยากาศร่มรื่นในบึงพระราม
          ครั้งแรกที่ผมมาอยุธยากับคุณพ่อตอนเด็ก ๆ ก็ได้มาที่บึงพระรามเหมือนกัน   จำได้ว่ามีร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึกเต็มไปหมด แต่สมัยนั้นของที่เห็นมีแขวนขายอยู่ทุกร้านก็คือข้าวเกรียบครับ เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว สงสัยเลิกฮิต ที่นิยมสมัยนี้เห็นจะเป็นโรตีสายไหม เพราะมีวางขายทั่วไปตามข้างถนนเป็นสิบ ๆ ร้าน
            
           ในพื้นที่สวนสาธารณะบึงพระรามวันนี้ นอกจากจะมีร้านค้าอาหารอีสาน ประเภทส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ที่จัดระเบียบอย่างเรียบร้อยคอยให้บริการนักท่องเที่ยวผู้หิวโหยแล้ว ยังมีวัดเก่า ๆ กระจัดกระจายอยู่

         วัดสังขปัด เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมมีซุ้มพระยืนประดับรอบทั้งแปดด้าน วัดโพงเป็นเจดีย์เหลี่ยมมีซุ้ม ๔ ทิศ วัดไตรตรึงษ์ เจดีย์มีเหลืออยู่แค่ฐาน วัดหลังคาขาวเหลือเจดีย์แปดเหลี่ยมกับฐานวิหาร วัดหลังคาดำเหลือโบราณสถานอยู่มากที่สุด คือมีเจดีย์ ๒ องค์กับวิหาร ๑ หลัง วัดเหล่านี้ไม่มีประวัติเรื่องราวความเป็นมา  เหมาะจะเดินชมเล่น ๆ เป็นอาหารตาหลังอิ่มจากอาหารมื้อกลางวัน
จะว่าไปบึงพระรามก็เป็นจุดศูนย์กลางของวัดวาอารามสำคัญหลายแห่ง ผมเลยเปลี่ยนจากขับรถมาเป็นเดินเที่ยวบ้างก็เข้าท่าเหมือนกัน (จะได้ลดพุง)

ทิศตะวันตกของบึงเป็น วัดพระราม สมเด็จพระราเมศวรสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอู่ทอง พระราชบิดา  หลังจากสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้ ๑๙ ปี   จุดเด่นอยู่ที่ปรางค์ประธานแบบอยุธยา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่รับเอารูปแบบปราสาทแบบขอมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินและทรงเตี้ยป้อม นำมาปรับเปลี่ยนเป็นใช้อิฐก่อสร้าง รวมทั้งแปลงรูปทรงเป็นปรางค์ชะลูดเข้ากับความนิยมแบบไทย  วัดที่สร้างในช่วงอยุธยาตอนต้นจะฮิตสร้างกันมาก

 วิหารพระมงคลบพิตรในอดีตที่เป็นแรงบันดาลใจ

 วิหารพระมงคลบพิตรในปัจจุบัน

          เดินดุ่ม ๆ ไปจนถึงวิหารพระมงคลบพิตร รู้สึกว่าพอปิดถนนเปลี่ยนทางเดินรถไม่ให้ผ่านหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ ดูจะเงียบเหงาลงไปเยอะ ไม่ครึกครื้นด้วยนักท่องเที่ยวเหมือนก่อน

            นมัสการหลวงพ่อมงคลบพิตรซึ่งสีทองอร่ามอยู่ในวิหารแล้วก็หวนคิดไปถึงสมัยเด็กครับ หลังจากมาเที่ยวอยุธยาครั้งแรกแล้ว กลับไปผมก็ติดใจหาดูแต่ภาพวัดวาอารามเก่า ๆ วันหนึ่งไปเปิดหนังสือ Holiday Time in Thailand เข้า เห็นภาพของหลวงพระมงคลบพิตรสมัยยังไม่บูรณะ ตระหง่านอยู่กลางแจ้งท่ามกลางซากปรักหักพังของวิหาร เห็นปุ๊บรู้สึกได้เลยถึงความยิ่งใหญ่อลังการของโบราณสถานแห่งนี้  แต่ตอนนั้นไม่ทันรู้ว่าคือวัดไหน รู้แค่เพียงว่าอยู่ที่กรุงเก่า ผมก็ได้แต่หมายมั่นปั้นมือว่าสักวันจะไปสัมผัสด้วยสายตาของตัวเองสักครั้งให้ได้

             หลายปีต่อมาเมื่อผมมีโอกาสได้มาเที่ยวอยุธยา ก็พยายามตามหาวัดที่หมายตาเอาไว้อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ มารู้ทีหลังครับว่าภาพที่เห็นนั้นถ่ายโดยคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียนระดับตำนานของอนุสาร อ...เรานี่เอง แต่ที่สำคัญโบราณสถานที่เห็นนั้นคือวิหารมงคลบพิตรก่อนการบูรณะในพ.. ๒๕๐๐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนผมเกิดเสียอีก เป็นอันว่าหมดโอกาสที่จะสัมผัสความยิ่งใหญ่อลังการของวิหารมงคลบพิตรในอดีตด้วยสายตาของตัวเองได้อีกต่อไป นอกจากดูจากภาพถ่ายเท่านั้น  

            นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มถ่ายภาพวัดวาอารามในบรรยากาศเก่า ๆ ขลัง ๆ เก็บเอาไว้ทุกครั้งที่มีโอกาส

           เกร่เข้าไปเดินชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งสร้างขึ้นตรงพระราชวังเดิมของพระเจ้าอู่ทอง ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วัดนี้เป็นวัดในพระราชวังที่ไม่มีพระจำพรรษาแบบเดียวกับวัดพระแก้วที่กรุงเทพ ฯ  มีเจดีย์ ๓ องค์ที่เรียงกันอยู่เป็นประธานของวัด และในวิหารมีพระพุทธรูปยืนทองคำขนาดใหญ่สูง ๘ วา นามว่า พระศรีสรรเพชญดาญานซึ่งถูกพม่าสุมไฟลอกเอาทองไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในพ.. ๒๓๑๐ เหลือเพียงแกนสำริด รัชกาลที่ ๑ โปรดให้นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาน ในวัดโพธิ์ที่กรุงเทพ ฯ

           กลางซากวิหารที่เหลือแต่เสาโย้เย้ ผมยืนนิ่งวาดจินตนาการถึงภาพองค์พระศรีสรรเพชญ์ตระหง่านในวิหารอันใหญ่โตที่ตกแต่งประดับประดาอย่างโอ่อ่า คงจะงดงามตระการตาไม่น้อย เสียดายไม่มีโอกาสได้เห็นเป็นบุญตา

กลับออกมาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทองก่อนจะเดินเลียบถนนไปเรื่อย ๆ  แวะชมเจดีย์สิงห์ล้อม ไหว้พระนอนในวิหาร (แถมด้วยการเสี่ยงเซียมซีคอมพิวเตอร์) ที่วัดธรรมมิกราช   ก่อนจะเดินกลับออกมาผ่านวัดชุมแสง แลเห็นเจดีย์และพระประธานชำรุดในซากวิหารที่ขุดแต่งใหม่ ยังดูเอี่ยมอ่องอยู่ทางซ้าย เดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึง วัดราชบูรณะ ซึ่งกำลังโด่งดัง

ตามประวัติว่าเจ้าสามพระยาโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระเชษฐาทั้งสอง คือเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา ที่ชนช้างแย่งราชสมบัติกันจนสิ้นพระชนม์ ทั้งคู่ แล้วยังโปรดให้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ บริเวณที่ทั้งสองพระองค์ชนช้างกันเป็นอนุสรณ์  เรียกว่าเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ อยู่ตรงวงเวียนกลางสี่แยกพอดีครับ มองเผิน ๆ แทบไม่เห็นเหมือนกัน ทั้งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แท้ ๆ

ส่วนทางขวามืออีกฟากถนนเป็นวัด วัดมหาธาตุ หนึ่งในวัดยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต้องมาดู  จุดเด่นที่ใครต่อใครทั้งฝรั่ง ไทย จีน ญี่ปุ่น นิยมมาถ่ายภาพกันมากก็คือเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่ถูกรากไม้โอบล้อมเอาไว้ แต่จะว่าไปแล้วภายในวัดมีสถาปัตยกรรมแปลกๆ ที่น่าสนใจกว่านั้นอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์เหลี่ยมที่ประดับประดาปูนปั้นเป็นรูปวิมานและยอดปราสาท วิหารแกลบหลังน้อย ๆ ที่แทรกตัวอยู่ระหว่างโบสถ์กับวิหารหลังใหญ่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ต้องใช้เวลาค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ ชมไป ถึงจะเห็นในรายละเอียด

            จากหลักฐานที่เหลืออยู่เแสดงให้เห็นว่าวัดมหาธาตุเป็นวัดโบราณที่สร้างซ้อนทับกันมาหลายสมัย  ยอดปรางค์ประธานหักพังจากการเสริมสร้างให้ปรางค์สูงขึ้นและใหญ่ขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว จนในที่สุดก็หักพังลงมาเหลือแค่ที่เห็นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ ยุครัตนโกสินทร์นี้เอง ที่วัดมหาธาตุนี่กรมศิลปากรขุดได้ของโบราณหลายชิ้นเมื่อพ.. ๒๔๙๙  เป็นสถูป ๗ ชั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  ถ้าไปดูที่ห้องแสดงเครื่องทองก็จะได้เห็นละครับ

ติดกับวัดมหาธาตุเป็นวัดนก วัดเล็ก ๆ ที่มีหลักฐานว่าเป็นย่านตลาดเช้าและเย็นของกรุงศรีอยุธยา เป็นอันว่าผมวกกลับมาครบรอบที่บึงพระรามพอดี  แล้วก็เหนื่อยพอดีเหมือนกัน แต่ก็เที่ยววัดสำคัญได้ครบ ที่เหลือก็เป็นวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้วิธีขับรถชมเอาก็ได้  (เดินต่อไม่ไหวแล้ว)

 พระนอนวัดโลกยสุธาราม

คราวนี้ผมเลือกใช้สูตรของบริษัททัวร์ครับ เลือกวัดโลกยสุธาเป็นจุดหมายต่อไป เพราะว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศมักจะระบุว่าต้องไปให้ได้ ความจริงวัดนี้ไม่ได้มีความสำคัญอะไรนอกจากมีพระนอนองค์ใหญ่ จำได้ง่าย วัดวรเชษฐารามซึ่งอยู่ใกล้  ๆ  กันสิครับ สำคัญกว่าเป็นไหน ๆ เพราะเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถสร้างถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระเชษฐา  คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังเหลือหลักฐานคือเจดีย์ใหญ่กับโบสถ์และวิหาร กับพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย 

จอดรถเดินไปวัดวรโพธิ์ เพราะเหลือบไปเห็นฐานย่อมุมไม้สามสิบหกของปรางค์ประธานที่ยอดพังทลายหายไป มองไกล ๆ คล้ายปิรามิดของชาวมายา แต่ชาวบ้านแถวนี้เรียกกันว่ามณฑปเพราะเคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

 มีที่แปลกตาอีกอย่างก็คือเจดีย์ทรงป้อม ๆ คล้ายแบบพม่าขนาดย่อมหลังวิหารใหญ่

ขับรถเข้าซอยลัดเลาะออกสู่ถนนอู่ทอง เลียบแม่น้ำทางทิศใต้ ผ่านเจดีย์ศรีสุริโยทัยสีทองอร่ามและพระตำหนัก  ทางซ้ายมือแลเห็นซากวัดเก่าที่ขุดแต่งใหม่แล้วเรียงรายกันอยู่คือวัดมหาสมัน วัดโพธิ์เผือก และวัดวังไชย

เลี้ยวเข้าสู่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ที่กำลังอยุ่ในระหว่างตกแต่งปรับภูมิทัศน์ ภายในสวนมีวัดโบราณหลายวัดซึ่งไม่มีประวัติความเป็นมา ความน่าสนใจจึงอยู่ที่สถาปัตยกรรมในบริเวณของวัดสังขแท้  วัดเจดีย์ใหญ่ วัดสังขทา วัดอุโบสถ และวัดเจ้าปราบ ภายใต้บรรยากาศของสวนสาธารณะอันร่มรื่น
           
           ให้เวลากับวัดในสวนพอสมควรแล้วก็ขึ้นรถไปต่อ แล่นออกทางถนนเลียบคลองท่อ ข้ามสะพาน แวะจอดชมลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรพิสดารบนปรางค์องค์เล็กของวัดส้มอีกพักใหญ่ ก่อนจะแล่นเรื่อยตรงไปตามทางผ่านป้อมเพชร

           ไฮไลต์ของย่านนี้ก็คือวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหารครับ สมเด็จพระปฐมบรมราชชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างเสร็จในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่าวัดทอง  และมาถูกทำลายเสียหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัด แล้วพระราชทานนามว่าวัดสุวรรณดาราราม ตามพระนามของพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี ตอนนี้โบราณสถานในวัดอันได้แก่เจดีย์ โบสถ์ วิหาร รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพิ่งบูรณะใหม่โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเนื่องในโอกาสที่ธนาคารครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ ๖๐  ก็เลยสวยงามมากเป็นพิเศษครับในตอนนี้

            ชมวัดเสร็จแล้วก็บึ่งรถตรงดิ่งมาที่ตลาดหัวรอ แวะชมเจดีย์เล็กซ้อนอยู่ในเจดีย์ใหญ่ที่วัดขุนแสน หน่อยหนึ่งก่อน แล้วค่อยมาขึ้นสะพานข้ามคลองคูเมืองที่ข้างวัดสุวรรณาวาส ออกไปนอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ


เลียบเส้นทางอุดรสัญจรวัดโบราณ

ข้ามสะพาน เลี้ยวตามถนนผ่านวัดวงษ์ฆ้องไปทางขวา

เส้นทางนับจากนี้แหละครับที่ผมเคยชอบนักหนา เพราะมีวัดวาอารามเก่า ๆ ที่หลบเร้นซ่อนอยู่  ต้องกางลายแทงตามหากันเป็นที่สนุกสนาน 

 เจดีย์แบบล้านนาที่วัดท่าแค

 สิงห์ล้อมฐานเจดีย์วัดแม่นางปลื้ม


จุดแรกคือวัดแม่นางปลื้ม ยังมองดูเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ เจดีย์ประธานทรงระฆังองค์ใหญ่บนฐานทักษิณที่ล้อมรอบด้วยสิงห์ปูนปั้นท่วงทีองอาจยังคงตระหง่าน สิงห์บางตัวที่เคยหกคะเมนเค้เก้ก็ถูกจับตั้งขึ้นเข้าแถวเรียบร้อย แถมรอบข้างยังดูสะอาดสะอ้านเพราะว่าวัชพืชที่เคยขึ้นรกเรื้อถูกกำจัดรียบไม่มีเหลือหรอ

ชมดูจนพอใจแล้ว พาหนะคันเก่งก็ออกวิ่งปร๋อต่อ เลี้ยวซ้ายเข้าซอย ตรงดุ่ยไปเรื่อยไปตามถนน สักพักก็กลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ของวัดแคหรือวัดท่าแคก็ปรากฏแก่สายตา

เจดีย์ใหญ่ทรงพระธาตุแบบล้านนายังคงยืนเด่น เคียงคู่กับเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยมสูง เจดีย์รายที่ล้มพังทลายถูกก่อใหม่ โดยที่ยังหลงเหลือซากปล้องไฉนหักเป็นท่อน ๆ กองอยู่เบื้องหน้า จะว่าไปแล้ว บรรยากาศโดยรวมยังเป็นแหล่งโบราณสถานที่น่าสนใจ เสียอยู่อย่างเดียวก็ตรงที่ขาดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่จะมาเพิ่มสีสันให้สถานที่เท่านั้นแหละครับ

 รถมาหยุดนิ่งสนิทอีกครั้งก็ที่หน้าวัดพระงามในคลองสระบัว

ผมมายืนรำลึกความรู้สึกเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนบุกบั่นตามทางรกเรื้อด้วยป่าหญ้า เข้ามาพบกับซุ้มประตูโค้งซึ่งปกคลุมด้วยรากไม้ที่แผ่ขยายไปทั่ว โดยมีเจดีย์แปดหลี่ยมองค์ใหญ่ที่เก่าร้างยืนจมอยู่ในความรกชัฏเบื้องหลัง มันเป็นความรู้สึกเหมือนกับว่าผมได้ค้นพบกับอาณาจักรโบราณที่สาบสูญไปเนิ่นนาน 
ความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกันเมื่อผมไปยัง วัดจงกรม ที่อยู่ถัดไป เจดีย์แปดเหลี่ยมที่ครอบเจดีย์ระฆังองค์เล็กเอาไว้ข้างใน ผนังวิหารและเจดีย์รายที่พังทลาย ให้ความรู้สึกถึงความยาวนานของกาลเวลา

วัดพระยาแมน เป็นวัดเดียวที่มีประวัติว่าเป็นวัดที่พระเพทราชาสร้างถวายพระอาจารย์ เนื่องจากเคยทำนายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะโอ่อ่าอัครฐานด้วยโบสถ์ วิหาร และพระปรางค์ประธาน ๒ องค์ของวัด ที่แม้จะปรักหักพังแล้วก็ยังเห็นแววความงดงามอยู่   
           
             พาหนะคันเก่งออกจากย่านคลองวัดสระบัวผ่านวัดเจ้าย่าซึ่งมีโบราณสถานอยู่สองฟากฝั่งถนนออกมายังวัดหน้าพระเมรุ อันเป็นหนึ่งในวัดยอดนิยม เนื่องจากเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลาย เพราะพม่าตั้งค่ายอยู่ที่วัดนี้

            หลังจากจอดรถเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดในโบสถ์กับพระคันธารราฐหินสีเขียวในวิหารน้อยตามธรรมเนียมแล้ว ผมก็ตั้งใจจะไปถ่ายภาพบรรยากาศขลัง ๆ ของเจดีย์รายที่ปกคลุมด้วยรากไม้ข้างโบสถ์เสียหน่อย แต่ปรากฏว่าตอนนี้ทางวัดจัดสวนหย่อมใหม่ ปูสนามหญ้าปลูกดอกไม้เสียรอบ ดูไม่ค่อยเข้ากับเจดีย์เก่า ๆ เท่าไหร่  เลยเปลี่ยนใจไม่ถ่าย

 ปรางค์ประธานและเจดีย์รายที่วัดเชิงท่า

 วัดหัสดาวาส

             
              เลยออกไปดูวัดหัสดาวาส  กับวัดตะไกร ที่ตอนนี้บูรณะเรียบร้อย พร้อมจะเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เช่นเดียวกับวัดเชิงท่าซึ่งตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่าเป็นวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งเยาว์วัย ได้อาศัยพำนักและเรียนหนังสือ  ตอนนี้กำลังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นการใหญ่ ดูเหมือนจะสร้างสะพานข้ามมาหรือไงนี่แหละ มองเห็นได้แต่ไกลจากฝั่งเกาะเมืองเลยเชียวครับ เท่าที่เห็นก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวสนใจมาชมกันเยอะ โดยเฉพาะจุดเด่นก็คือพระปรางค์ใหญ่ที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น


 วัดไชยวัฒนาราม

             ตะวันเริ่มคล้อยลอยต่ำ ผมแวะไปที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เพื่อเป็นที่ระลึกในการตีได้เมืองพระนครของขอม เป็นการจำลองนครวัดมาในแบบของสถาปัตยกรรมไทย  จำได้ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวรู้จักเท่าไหร่ ผมมาเดินเที่ยวอยู่ในวัดเป็นวัน ๆ ยังไม่เจอใครสักคน เดี๋ยวนี้ผู้คนคึกคักแทบทุกวัน  
             
              ผิดกันกับวัดวรเชตุเทพบำรุง บนเส้นทางออกไปทางอำเภอเสนาซึ่งเป็นวัดที่มีโบราณสถานหลายแห่งน่าสนใจคล้าย ๆ กัน แต่กลับไม่มีคนไปเที่ยวกันเลย อาจเป็นเพราะวัดไชยวัฒนารามเคยใช้เป็นฉากละครโทรทัศน์เรื่องเรือนมยุรา
      
           เจดีย์วัดกระช้ายยืนเดียวดายกลางทุ่ง ราวกับกำลังโบกมืออำลาผมที่กำลังขับรถมุ่งหน้ากลับกรุงเทพเมืองฟ้าอมร

           ผมเคยบุกบั่นเดินเข้าไปเที่ยวดูเจดีย์ร้างแห่งนี้หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่โชคไม่ดี เข้าไปเจอคนกลุ่มใหญ่กำลังลักลอบขุดหาสมบัติ ต้องแกล้งทำใจดีสู้เสือชวนคุยโน่นคุยนี่ กว่าจะหาโอกาสเดินหนีกลับออกมาได้

            มานึกถึงตอนนี้ก็ตื่นเต้นดีเหมือนกัน เป็นหนึ่งในรสชาติที่ได้จาการตามรอยลายแทงหาดูหาชมสมบัติกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ที่รู้สึกว่าห่างเหินไปนาน
             
             เอ ไม่แน่เหมือนกันนะครับ บางทีวันหยุดสุดสัปดาที่จะถึงนี้ ผมอาจจะลองกางแผนที่ออกตามหาสมบัติมรดกโลกอีกสักครั้ง

เอกสารอ้างอิง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง.กรุงเทพ ฯ :มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์,๒๕๔๒.
. ณ ปากน้ำ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา.กรุงเทพ ฯ :เมืองโบราณ,๒๕๒๙.
ศรีศักร วัลลิโภดม.กรุงศรีอยุธยาของเรา.กรุงเทพ ฯ :มติชน,๒๕๔๑.

 

คู่มือนักเดินทาง

จากกรุงเทพ ฯ สามารถเดินทางไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้หลายเส้นทาง

รถยนต์ส่วนตัว

๑ จากกรุงเทพ ฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๒  เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๐๙ เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข ๓๐๒ (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข๓๐๖ (ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานไปเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๑๑  ที่จังหวัดปทุมธานี ตรงไปเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๒๖๓ที่สี่แยกอำเภอเสนาเข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๓ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๐๖ (ถนนติวานนท์ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๔๗ ไปแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๖๓ ที่แยกวรเชษฐ์เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รถโดยสารประจำทาง

บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งหมอชิตไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวัน รถปรับอากาศชั้น ๑ อัตราค่าโดยสาร ๕๒ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒๖๖ หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th
รถไฟ
            การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐,๐๒๒๒๓ ๗๐๒๐ และ ๑๖๙๐ หรือที่เว็บไซต์ www.railway.co.th

 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น