นักท่องเที่ยวถ่ายภาพกับปราสาทพระโคเป็นที่ระลึก |
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ข่าวการปิดทางขึ้น "ปราสาทพระวิหาร" ที่ได้ยิน ทำเอาผมถึงกับจ๋อยตั้งแต่ไก่ยังไม่ทันจะโห่ จะไม่จ๋อยได้ยังไงละครับ ในเมื่อผมกับคณะพรรคคนบ้าปราสาท (ที่ไม่ได้บ้าและไม่ได้ประสาท)วางแผนกันเอาไว้นมนานแล้วว่าจะลองเดินทางโดยเริ่มจากเส้นทางสายปราสาทหินถิ่นอีสานที่ผมเคยเขียนลงในอนุสาร อ.ส.ท. มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ คือตั้งแต่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จากนั้นก็จะทะลุผ่านชายแดนไทยเข้าสู่ราชอาณาจักรกัมพูชาทางด่านช่องสะงำ ตัดตรงเข้าไปถึงเมืองเสียมเรียบ อันเป็นเส้นทางสายใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครไปกัน
ดูแล้วก็น่าจะเป็นเส้นทางในฝันของนักเดินทางทั่วโลกที่สนใจในศิลปะขอมเลยละครับ เพราะระหว่างทางสามารถแวะเวียนไปชมปราสาทสำคัญระดับ "สุดยอด" ในภาคอีสานของไทยหลายแห่ง
แต่ละแห่งก็ล้วนแล้วแต่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปราสาทพนมรุ้ง เทวาลัยหินทรายสีชมพูบนยอดปากปล่องภูเขาไฟแห่งเดียวในประเทศ กับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เคยเป็นกรณีดังไปทั่วโลก และล่าสุดก็เพิ่งเป็นข่าวดังระดับประเทศอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมีไอ้โม่งที่ไหนก็ไม่รู้แอบดอดเข้าไปทุบทำลายเทวรูปและประติมากรรมในปราสาทจนเสียหาย (แต่ไม่ต้องห่วงครับ ตอนนี้กรมศิลปากรซ่อมแซมกลับมาอยู่ในสภาพเดิมเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญไปเที่ยวชมกันได้) ใกล้ ๆ กันยังมีปราสาทเมืองต่ำ ที่มีลวดลายจำหนักหน้าบันและทับหลังงดงาม
ยิ่งถ้ารวมเอาปราสาทพระวิหาร เทวสถานเหนือยอดผาสูงบนรอยตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชาเข้าไปด้วยแล้วละก็ จะต้องถือว่า "อะเมซิ่ง" เป็นอีกสิ่งแปลกประหลาดระดับโลกเข้าไปใหญ่ เพราะตัวปราสาทอยู่ประเทศหนึ่ง แต่ทางขึ้นอยู่อีกประเทศหนึ่ง ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครที่ไหนในโลก
นี่ยังไม่นับปราสาทเล็กปราสาทน้อยอีกหลายแห่งบนรายทางด้วยนะครับ ไม่ธรรมดาทั้งนั้น ไม่ว่าจะปราสาทพระโค เทวาลัยหลังน้อย แต่อลังการด้วยลายจำหลักกับปริศนาร่องรอยการถูกทุบทำลาย ปราสาทภูมิโปน ปราสาทอิฐที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย รุ่นเดียวกันกับที่สมโบร์ไพรกุกในยุกแรก ๆ ของขอมโน่นเลย ยังมีปราสาทยายเหงา เพราะไม่รู้ตาไปไหน (เอ๊ย ไม่ใช่ อันนี้ชักจะมั่วแล้วแฮะ)
บอกแค่พอเป็นหนังสือตัวอย่างแค่นี้ก่อนดีกว่าเพราะจริง ๆ แล้วยังมีอีกนับหลายสิบ จาระไนไม่ไหวปราสาทจริง ๆ ทั้งนั้นเลยครับ แค่เฉพาะในประเทศไทยนี่ก็ถือว่ามากมายจนเหลือแหล่แล้ว และจะเป็นยังไงถ้าเกิดเส้นทางสายนี้เชื่อมต่อไปปราสาทหินอีกนับร้อยในเมืองพระนคร...โอ้โห คิดวางแผนไปพลพรรคชาวบ้าปราสาทก็พากันใจสั่นระรัวเนื้อตัวสั่นระริกไป นับคืนนับวันตั้งหน้าตั้งตารอกันเสียแล้วละครับ
แต่แล้วข่าวการปิดทางขึ้นปราสาทพระวิหารก็มาดับฝันของเราเสียสนิท ถึงแม้ว่าด่านช่องสะงำจะยังเปิดให้ผ่านแดนเข้าไปในเขมร ไม่ได้ปิดไปด้วย แต่หากขึ้นไปชมปราสาทพระวิหารไม่ได้ เส้นทางสายที่วาดหวังเอาไว้ก็ดูเหมือนจะขาดอะไรบางอย่างไป พูดง่าย ๆ ก็คืองานกร่อยครับ แผนการณ์ที่วางเอาไว้ก็เลยเป็นอันต้องวางเอาไปก่อนจริง ๆ รอให้สถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงคลี่ลายค่อยว่ากันใหม่
ปราสาทสด๊กก๊อกธมวันนี้บูรณะเสร็จเรียบร้อยงดงาม |
อุ่นเครื่องปราสาทเมืองชายแดน
งานนี้คณะพรรคบ้าปราสาทของเรา อันประกอบไปด้วยสมาชิกเจ้าเก่า ได้แก่ ผม พี่จ๊อด หฤทัย และคุณมด ลาวัลย์ รวมกันเป็นสามเกลอหัวแข็ง ก็เลยถือโอกาสเปลี่ยนจุดสตาร์ตใหม่ไปตั้งต้นกันที่จังหวัดสระแก้ว แทน
เหตุที่เลือกจังหวัดสระแก้วก็เพราะว่าเดือนสองเดือนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครนายก ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดสระแก้วอยู่ เพิ่งจะประชาสัมพันธ์เปิดตัวให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมปราสาทสด๊กก็อกธมได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากตอนนี้กรมศิลปากรบูรณปฏิสังขรณ์ไปได้กว่า ๗๐เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็เลยถือว่าพอจะมีปราสาทอะไรใหม่ ๆ ให้ดูให้ชม "บิ๊ว" อารมณ์แบบขอม ๆ กันก่อน
"โอโห้ นี่น่ะเหรอ สด๊กก็อกธม ใหญ่เหมือนกันนี่" พี่จ๊อดอุทานเมื่อรถตู้ของคณะเราเแล่นเข้าสู่บริเวณปราสาท อย่าว่าแต่พี่จ๊อดซึ่งเป็นคนเดียวในคณะที่เพิ่งจะเคยมาเป็นครั้งแรกเลยครับ ผมเองก็ต้องตาโตไปเหมือนกันเพราะจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนยังเห็นเป็นซากปรักหักพัง (แถมยังมีกับระเบิดที่ยังเก็บกู้ไม่หมดอยู่ทั่วไปอีกต่างหาก) แต่วันนี้มองไปแลเห็นยอดปราสาทประธานสูงเยี่ยมเทียมฟ้าโดดเด่นสะดุดตาแต่ไกล
ชื่อ "ปราสาทสด๊กก็อกธม" แปลว่า ปราสาทใหญ่ที่รกเรื้อไปด้วยต้นกก เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานกันตามสภาพที่พบเห็นตอนแรก ตามประวัติว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาปวน องค์ปราสาทที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วมีโคปุระทั้งสี่ด้าน ใช้ประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาฮินดู เป็นเทวสถานสำคัญขนาดว่ากันว่าเคยมีข้าทาสบริวารคอยดูแลปราสาทปห่งนี้นับร้อยคน ในบริเวณยังพบจารึก ๒ หลัก ลำดับรายพระนามกษัตริย์ขอมไว้อย่างละเอียด เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยให้การศึกษาประวัติศาสตร์ขอมโบราณในช่วงที่ผ่านมาก้าวหน้าไปอีกหลายก้าว
สามเกลอเราลงจากรถได้ก็แยกย้ายกระจายกันเดินตามความสนใจผมเดินเลียบไปตามแนวกำแพงชั้นนอกซึ่งกำลังมีการขุดแต่ง แลเห็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปราสาท หน้าบันโคปุระ เรียงรายอยุ่หลายต่อหลายกอง ริมทางยังมีรากไม้ใหญ่ลดเลื้อยยาวคดโค้งลงมาตามแนวกำแพงหิน มุมเล็ก ๆ พวกนี้บางทีก็ช่วยเสริมความเก่าแก่เข้มขลังให้กับโบราณสถานได้มาก ดูมีบรรยากาศเร้นลับชวนค้นหาบางสิ่งบางอย่าง บอกไม่ถูกเหมือนกันครับว่าอะไร (ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ทีเด็ดประเภทเลขท้ายสองตัว หรือสามตัวก็แล้วกัน)
โต๋เต๋หามุมส่วนตัวกันจนพอใจแล้ว สามเกลอก็วนกลับมายืนแหงนหน้าคอตั้งบ่า มองดูปราสาทประธานตั้งอยู่บนฐานสูงเด่นตัดกับผืนฟ้าสีครามและปุยเมฆขาวอย่างพร้อมเพียงกันโดยมิได้นัดหมาย
"ปราสาทที่ประกอบขึ้นใหม่นี่คงใช้ชิ้นส่วนที่ทำจำลองขึ้นมาใหม่เยอะเลยนะ ดูสิ เห็นแต่ชิ้นใหม่ ๆ ขาวโพลนไปหมด" สามคนพยักพเยิดเห็นพ้องกัน
ความจริงก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการไม่รู้จบครับว่า การบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานควรจะซ่อมสร้างขึ้นมาใหม่ให้เห็นเป็นรูปร่างสมบูรณ์ หรือปล่อยให้คงสภาพหักพัง มีแค่ไหนแค่นั้น ไม่ต้องไปต่อเติมแต่ที่สด๊กก็อกธมนี่อย่างน้อยคณะสามเกลอเราก็ชื่นชมในความพยายามละครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประกอบชิ้นส่วนที่ไม่ครบให้กลับเป็นรูปเป็นร่างได้ ใช่ชิ้นส่วนจิกซอว์กระดาษแข็งเบา ๆ เสียที่ไหน ก้อนหินล้วน ๆ ทั้งใหญ่ทั้งหนัก
ปราสาทเขาโล้น |
ขึ้นรถออกจากสด๊กก็อกธมมา ป้ายชี้ทางไปปราสาทเขาโล้นหักล่อต่าล่อใจ พลพรรคเราเห็นเข้าก็เกิดกิเลสอยากไปดูขึ้นมาอีกทันทีตามประสาคนบ้าปราสาท ดูท่าจะไปไม่ยากเสียด้วย มีป้ายชี้บอกไปตลอดทาง แต่พอถึงปากทางเข้าจริง ๆ ป้ายหายไปเฉย ๆ ซะงั้น รถตู้ของเราก็เลยต้องมะงุมมะงาหรากระโดดกระเด้งไปตามทางลูกรังกระทั่งถึงกลางทุ่งนาไกลลิบ ท้ายสุดพี่จ๊อดเห็นท่าไม่ดีสั่งจอดรถ ปรี่ลงไปถามคุณลุงที่กำลังขับรถแทรกเตอร์ไถนาสบายอารมณ์อยู่ นั่นแหละ ถึงได้ความว่าเลยมาตั้งไกลแล้ว
"ทางขึ้นปราสาทอยู่ตรงใกล้ ๆ วัดนั่นแหละ ย้อนกลับไปตามทางนิดเดียวก็ถึง" ลุงหัวเราะพลางชี้ทางให้อย่างอารมณ์ดี
แล้วก็เป็นพี่จ๊อดอีกนั่นแหละ ที่มองเห็นป้ายชี้ทางขึ้นปราสาทปักอยู่บนเนินห่างจากถนนพอสมควร (มิน่าเล่าถึงไม่เห็น) แก๊งสามคนพากันลงจากรถดุ่มเดินกระโดกกระเดกตามทางที่ปูด้วยหินขรุขระขึ้นสู่ยอดเขาเตี้ย ๆ
สุดทางที่ปราสาทอิฐสีส้มแดงหลังเล็ก แลดูขลังด้วยแสงเงาจากร่มไม้เขียวครึ้ม ด้านหน้าดัดแปลงสร้างเป็นศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป รอบข้างเงียบสงบ มีเพียงเสียงลมที่พัดโกรก ถึงไม่ค่อยมีอะไรให้ดูมากมาย ทว่าบรรยากาศใช้ได้ทีเดียว (นี่ถ้ามีเปลมาผูกนอนละก็มีหวังได้หลับอุตุ)
กลับลงมาจากเขาโล้นเราก็มุ่งหน้าสู่ชายแดนอรัญประทศ แวะเดินเตร็ดเตร่ "ตลาดโรงเกลือ"ให้ตาลายเล่น ๆ กับสารพัดสินค้า ที่มีอยู่มากมายหลายหลากเสียหน่อย พี่จ๊อดกับมดน่ะไม่ต้องห่วง เผลอแผล็บเดียวเห็นได้อะไรต่อมิอะไรติดไม้ติดมือกันไปคนละชิ้นสองชิ้น ส่วนผมได้รองเท้าคู่ใหม่เพราะคู่ที่ใส่มาไปสะดุดหินที่ปราสาทสด๊กก็อกธมขาด จับจ่ายจนพอใจแล้วสามสหายก็พากันอำลาแผ่นดินไทยข้ามแดนไปฝั่งเขมร
คืนแรกนี้เราพักโรงแรมสตาร์ในปอยเปต ใกล้ ๆ กับด่านชายแดนนั่นเอง มองข้างนอกก็ดูเหมือนโรงแรมธรรมดา ทว่าพอเข้าไปข้างในสิครับกาสิโนเบ้อเริ่มเบ้อร่าอยู่ในล็อบบี้เลย หลังจากเช็กอินแล้วก็ออกมาหาอาหารมื้อเย็นกินกัน ในบริเวณลานอันกว้างใหญ่หน้าโรงแรมมีภัตตาคารให้บริการ เน้นว่าเป็นอาหารทะเลเสียด้วย แต่เราเห็นว่าถ่อมากินอาหารทะเลถึงปอยเปตนี่คงไม่เข้าท่าเท่าไหร่ ก็เลยสั่งเป็นข้าวต้มพร้อมกับข้าวแทน
ด้านหนึ่งของลานติดกับภัตตาคาร สร้างเวทีการแสดงเอาไว้ใหญ่มหึมามีวงดนตรีเล่นขับกล่อมตลอดเวลา เดี๋ยวก็เพลงฝรั่ง เดี๋ยวก็เพลงไทย เดี๋ยวก็เพลงเขมร ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา (แต่เราที่นั่งกินไปดูไป สังเกตเห็นว่าคนร้องน่ะคนเดิม ๆ ทั้งนั้น) ตอนค่ำ ๆ อย่างนี้จะเห็นชาวปอยเปตพากันอุ้มลูกจูงหลานมานั่งดู บ้างก็ปูเสื่อปิกนิกกันเต็มลานสนามหญ้า เป็นบรรยากาศพักผ่อนแบบครอบครัวของคนที่นี่ คงไม่ค่อยมีแหล่งให้ไปเที่ยวไหน
อิ่มแล้วก็กลับเข้าโรงแรม พากันเกร่เข้าไปดูในกาสิโนเสียหน่อยนึงด้วยความอยากรู้อยากเห็น (แต่ไม่อยากเล่น) ข้างในแอร์เย็นฉ่ำ แสงไฟสว่างไสว อุปกรณ์พนันมากมาย ครึกครื้นไปด้วยผู้คน มองดูหน้าตาก็ไม่ใช่คนที่ไหน คนไทยทั้งนั้น ที่เป็นแมงเม่ามาบินเข้ากองไฟ อึ้งไปเหมือนกันครับ เมื่อมองไปเห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งนั่งเล่นโต๊ะแทงม้าแข่งอยู่ พ่อเป็นคนสอนให้เล่นเสียด้วย เวรกรรม
เห็นแล้วก็อดเป็นห่วงอนาคตแทนไม่ได้ เรื่องเล่นในโลกมีมากมายไม่สอนให้ลูกเล่น เล่นการพนันนี่เขาใช้ชิป เล่น ๆ ไปแล้วมันจะหาย (ไปอยู่กับเจ้ามือ) เสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อให้มีเงินหมื่นล้านก็หมดได้ ไม่ควรแม้แต่คิดจะลอง โบราณท่านว่าน่ากลัวกว่าถูกโจรปล้นหรือไฟไหม้บ้านเป็นไหน ๆ ก็ได้แต่ปลงครับ ชีวิตใครชีวิตมัน เลือกทางเดินกันเอาเอง ว่าแล้วพวกเราก็เลือกที่จะแยกย้ายกันกลับไปนอน เก็บแรงไว้ปีนป่ายปราสาทของเราในวันรุ่งขึ้นดีกว่า
บรรยากาศร่มครึ้มและปรักหักพังของบันทายฉมาร์ |
ปริศนาปราสาทแมว ปราสาทกองทัพ
เช้าวันใหม่ ไกด์วีระ มัคคุเทศก์หนุ่มชาวเขมรมารับคณะของเราแต่เช้า โดยพาหนะในวันนี้เปลี่ยนจากรถตู้มาเป็นโตโยต้า คัมรี โดยมีสารถีขาวเขมรชื่อโดจ
"โดจแปลว่าเหมือนครับ" ไกด์วีระช่วยแปลให้เมื่อเป็นเราสนใจกับชื่อคนขับเป็นพิเศษ "เขาคงจะหน้าเหมือนพ่อหรือเหมือนแม่นี่แหละถึงได้ชื่อแบบนี้"
"เอ๊า ไม่เหมือนพ่อเหมือนแม่ แล้วจะไปเหมือนใคร" พี่จ๊อดขำ
ช่วงออกเดินทางจากปอยเปตถนนดูเหมือนจะดีทำเอาพวกเราตื่นเต้นกันใหญ่ในตอนแรก แต่ไปได้ไม่เท่าไหร่ทางก็กลายสภาพเป็นหลุมบ่อโคลนเลนเหมือนอย่างเคย รถแล่นโขยกเขยกโครมครามไปตามทาง สามสหายบนเบาะหลังนั่งหน้าเบ้ วีระหันมาเห็นก็หัวเราะพลางปลอบใจ "ไม่เป็นไร เดี๋ยวพอถึงนิมิต ทางจะดีไปจนถึงศรีโสภณเลย"
แล้วก็จริงอย่างว่าครับ พักเดียวถนนก็ดีขึ้นเยอะสองข้างทางแลดูบ้านเรือนตึกรามเพิ่มมากขึ้น แล่นมาถึงสะพานทางรถไฟที่ทอดข้ามแม่น้ำ ผมมองไปเห็นว่ามีอาคารทันสมัยสร้างใหม่ใหญ่โตมโหฬารอยู่ฝั่งตรงข้าม
"ตึกที่เห็นใหม่ ๆ นั่นมหาวิทยาลัยบันเตียเมียนเจยครับ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ภายในมหาวิทยาลัยมีที่ทำการพรรคประชาชนกัมพูชาสาขาใหญ่เลย ที่เห็นป้ายโฆษณาหาเสียงตามถนนเป็นรูปคน ๓ คนนั่นแหละ มีเจียซิน เฮง สัมริน แล้วก็ฮุนเซน แต่ฮุนเซนไม่ได้เป็นประธานพรรคนะ เป็นแค่รองประธาน คนเป็นประธานคือเจียซิน แต่ไม่มีอำนาจอะไร"
เราแวะเข้าไปภัตตาคารผกายปรึกในเมืองศรีโสภณ เพื่อเตรียมเสบียงอาหารติดตัวไปด้วย เสียงเพลงโฆษณาหาเสียประจำพรรคลั่นสนั่นไหวอยุ่ในอาคารที่ทำการพรรคประชาชนกัมพูชาที่ตั้งห่างแค่กำแพงกั้น "ข้าง ๆ นี่ก็สาขาของพรรคประชาชนกัมพูชาเหมือนกัน เปิดเพลงหาเสียงทั้งวันเลยละ ช่วงนี้กำลังจะเลือกตั้ง" คุณมดพยักพเยิดพลางทำหน้าเซ็งกับเสียงเพลงที่ดังซ้ำ ๆ ซาก ๆ ยังดีที่รอไม่นานก็ได้อาหารที่สั่ง ไม่งั้นกลับไปเราสามคนมีหวังร้องเพลงหาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชาได้แน่
เป้าหมายแรกของเราในเขมรคือ "ปราสาทบันทายฉมาร์" ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย ห่างจากศรีโสภณออกไป ๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่คณะบ้าปราสาทเราเคยมากันครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ตอนนั้นยังรกร้าง บรรยากาศขลังเหมือนอยู่ในอีกมิติของกาลเวลา ได้ยินว่าตอนนี้อยู่ระหว่างการขุดแต่งบูรณะเป็นการใหญ่ ก็เลยต้องขอไปดูอีกสักทีว่าเป็นยังไงบ้างแล้ว
ชิ้นส่วนต่าง ๆของบันทายฉมาร์พังทลายกระจัดกระจาย |
คัมรีคันเก่งของเราแล่นไปถึงจุดหมายเอาตอนใกล้เที่ยง หยุดควักกระเป๋าเสียค่าเข้าชมให้กับทหารยามที่นอนเปลเฝ้าอยู่ปากทางเข้าแบบไม่มีใบเสร็จคนละ ๕ ดอลลาร์ฯ แล้วพาหนะคันเก่งของเราก็แล่นปร๋อเข้าไปตามทางดินลูกรัง ผ่านธรรมศาลาหลังใหญ่ทางขวามือลดเลี้ยวไปหน้าปราสาท
บันทายฉมาร์ วันนี้กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะจริงดังว่า หินก้อนใหญ่ ๆ ซึ่งเคยพังทลายทับถมถูกขนออกมากองอยู่นอกแนวกำแพง มองไปเห็นชิ้นส่วนหน้าบันที่ประกอบเข้าด้วยกันเรียบร้อยแล้วตั้งไว้เป็นกลุ่ม ๆ รอขนย้ายเอาไปติดตั้งในที่เดิม
อ้อมไปจอดรถทางด้านหลังของปราสาทซึ่งร่มรื่นด้วยแมกไม้ ลงจากรถงัดเอาเสบียงที่เตรียมเอาไว้ออกมาปิกนิกกัน ข้าวกล่องของเราเป็นอาหารเขมร "ลกละ" ซึ่งแปลเป็นไทยก็คือหมูหรือเนื้อผัดซอสมะเขือเทศ เข้ากับบรรยากาศอย่าบอกใคร พี่จ๊อดหันไปเห็นหนุ่มน้อยชาวเขมรคนหนึ่งมายืนเมียง ๆ มอง ๆ เลยเรียกให้มาเป็นแขกรับเชิญร่วมวงไพบูลย์ด้วยอีกคน กินกันไปพลางชมภาพเป็นรูปจำหลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่เหลืออยู่บนแนวกำแพงด้านตะวันตกไปพลาง
แนวกำแพงนี้แหละครับที่เคยมีข่าวว่า พวกลักลอบขโมยโบราณวัตุระเบิดกำแพงแล้วยกเอาทั้งกระบิไปขายที่เมืองไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรตรวจจับและยึดเอาไว้ได้ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ส่งมอบคืนทางกัมพูชา
แนวกำแพงนี้แหละครับที่เคยมีข่าวว่า พวกลักลอบขโมยโบราณวัตุระเบิดกำแพงแล้วยกเอาทั้งกระบิไปขายที่เมืองไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรตรวจจับและยึดเอาไว้ได้ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ส่งมอบคืนทางกัมพูชา
"ส่วนที่หายไปตอนนี้เขาเอาไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่พนมเปญ" วีระบอก พี่จ๊อดกับผมได้ยินแล้วก็มองหน้ากันก่อนจะบ่นเสียดายที่คราวก่อนไปพนมเปญไม่ได้แวะเข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์
บนผนังมีเรื่องราวภาพจำหลัก |
อร่อยมื้อกลางวันใกล้กับแนวกำแพงพระโพธิสัตว์ |
อิ่มหมีพีมันแล้วก็พากันเดินชมปราสาทย่อยอาหาร บนกำแพงนั้นมีรูปจำหลักเรื่องราวเป็นแนวยาว เดินดูได้รอบ ไกด์วีระเดินตามบรรยายไม่ห่าง
"พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างปราสาทบันเตียฉมาร์ให้เป็นที่เก็บอัฐิของเจ้าชายศรินทรกุมาร พระโอรสของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ในการทำสงครามสมัยโบราณแถบนี้เป็นสนามรบใกล้ ๆ นี่ยังมีอีกปราสาทเรียกว่าบันเตียต๊วบ ต๊วบแปลว่าทัพ แปลว่า ปราสาทกองทัพ สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพสมัยนั้น ส่วนบันเตียฉมาร์ คนชอบแปลว่าปราสาทแมว"
"เออ แล้วมันเกี่ยวกับแมวตรงไหน ถึงได้เรียกว่าปราสาทแมว" พี่จ๊อดสงสัย
วีระ พยายามอธิบาย "ฉมาร์แปลว่าแมวก็ได้ หมายถึงเล็ก ๆ ก็ได้ ปราสาทอาจจะหลังไม่ใหญ่เท่ากับนครวัด เลยเรียกบันเตียฉมาร์"
"งั้นแสดงว่าฉมาร์แปลว่าเล็กเหรอ"
"ก็ไม่เชิงครับ ถ้าเป็นสิ่งของเล็ก ๆ เรียกว่า โตจ ใหญ่เรียกว่า ธม แต่ฉมาร์ใช้ประมาณว่าเล็กยังกับแมว"
"แปลกแฮะ ถ้าเป็นคนไทยต้องบอกว่าเล็กยังกับหนู ไม่พูดว่าเล็กยังกับแมวหรอก" ฟังแล้วผมก็งงไปเหมือนกัน แต่จะว่าไปผมก็เคยเห็นหนูในท่อระบายน้ำที่กรุงเทพ ฯ ตัวใหญ่กว่าแมว หรือที่เขมรจะเหมือนกันก็ไม่รู้
บรรยากาศอันรกร้างแบบเทวาลัยกลางป่าในนิยายที่สัมผัสได้จริง ลวดลายจำหลักกลางซากปรักหักพัง ยอดปราสาทพรหมพักตร์ ทำเอาพวกเราเตร็ดเตร่เพลิดเพลินจนลืมเวลา แต่ท้ายสุดก็ต้องจำใจออกเดินทางกันต่อ แม้จะสุดแสนเสียดาย เวลานั่นเองที่เป็นตัวบังคับ เพราะเรายังต้องกลับไปศรีโสภณก่อน แล้วถึงจะเดินทางต่อไปพระตะบองอันเป็นจุดหมายที่จะพักแรมกันในวันนี้
บันทายทัพเด่นตระหง่านกลางท้องทุ่ง |
ออกจากบันทายฉมาร์แล่นมาสักพัก ชาวคณะก็อดไม่ได้ที่จะร่ำร้องอยากแวะเข้าไปดู บันเตียต๊วบ ที่วีระว่าให้เห็นเป็นบุญตา ยอดไกด์ก็ตามใจน่าดู พอถึงที่ก็บอกพลขับให้เลี้ยวซ้ายลอดซุ้มประตูเข้าไปตามทางลูกรังยกสูง ซ้ายมือแลเห็นบึงบัวกว้างใหญ่ ทางขวาเป็นทุ่งนา ทางยิ่งมายิ่งแคบลง ยังดีที่ก่อนจะสุดทางรถไปไม่ได้ วีระชี้ไม้ชี้มือให้มองไปทางขวา แลเห็นยอดปราสาทหินปกคลุมด้วยต้นไม้อยู่ลิบ ๆ ในทุ่งนา
เป็นอันว่าต้องลงเดินกันครับ แต่พลพรรคบ้าปราสาทเราไม่หวั่นอยู่แล้ว เดินแค่นี้สบายมาก จ้ำอ้าวลงไปตามทางลูกรัง พี่จ๊อดใจร้อนกว่าใคร เดินลุยลัดตัดลงไปทุ่งนา กะว่าให้ถึงจุดหมายที่โผล่พ้นยอดไม้อยู่เบี้องหน้าไว ๆ แต่ปรากฏว่ามาถึง "บ๊วย" ครับ เพราะหาทางออกไม่ได้ ขึ้นมาก้มหน้าก้มตาบ่นพึมพำ "เละตุ้มเป๊ะเลยรองเท้าฉัน"
ไปถึงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เขากันพื้นที่ไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้ ๆ ครับ เพราะปราสาทชำรุดทรุดโทรมมาก กลัวมันถล่มลงมาทับ พวกเราเลยได้แต่มองดูอยุ่ห่าง ๆ ปราสาทบันทายทัพหรือ บันเตียต๊วบ ที่เห็นเป็นปราสาทหินตั้งเรียกกัน ๓ หลังบนเนินเขาย่อม ๆ แต่ส่วนยอดพังทลายลงมาแทบทุกหลัง เหลืออยู่แต่บางส่วนหมิ่นเหม่ แถมยังมีต้นไม้ขึ้นแผ่กิ่งก้านสาขาไสวอยู่เบื้องบน ทำให้ปราสาทแลดูสูงชะลูดแปลกตา ดูสภาพแล้วเหมือนจะพังลงมาได้ทุกเมื่อ
"รากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนยอดคงยึดไว้" พี่จ๊อดว่า
"แต่เวลาลมแรง ๆ ก็น่ากลัวนะ เพราะต้นไม้มันจะต้านลม" คุณมดเสริม
ช่วงเดินกลับวีระชี้ให้ดูแนวกำแพงปราสาทที่ปกคลุมด้วยไม้รก แต่ยังเห็นศิลาแลงโผล่ "กำแพงอยุ่ห่างจากปราสาทมาไกล แสดงให้เห็นว่าภายในกำแพงมีพื้นที่กว้างเป็นลานใหญ่มาก นี่แหละเขาถึงสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งกองทัพ"
ขึ้นรถได้ฝนก็กระหน่ำลงมาตลอดทางกระทั่งถึงศรีโสภณ จากศรีโสภณไปพระตะบองระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร พลขับเลยขอแวะปั๊มแก๊สแอลพีจีก่อนออกเดินทาง แต่ปรากฏว่าแก๊สหมด ต้องวนรถกลับไปหาเติมในเมืองศรีโสภณอีกรอบ ทว่าช่วงนี้แก๊สขาดตลาด เข้าปั๊มไหนก็หมดแทบทั้งนั้น ยังดีที่ไปได้เอาร้านสุดท้ายในตลาด เป็นร้านขายแก๊สหุงต้มเป็นถัง ต่อท่อมาเติมเอาดื้อ ๆ เลย ค่อนข้างหวาดเสียวครับ เพราะคนขับเราไม่ยอมดับเครื่องเสียก่อนด้วย
ผมกับพี่จ๊อดเห็นแล้วใจคอไม่ดี พยักพเยิดชวนกันลงจากรถทำเป็นลงมายืดเส้นยืดสาย เลียบ ๆ เคียง ๆ ไปดูเขาเติมแล้วก็ต้องตาเหลือก เมื่อรู้ว่าแก๊สแอลพีจีที่เขมรนี้ราคาลิตรละ ๓๘ บาท บ้านเราแค่ ๑๑ บาทกว่า ๆ เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงน้ำมันราคาทะลุ ๖๐บาท ไปไกลถึงไหน ๆ แล้ว "มันแพงเพราะต้องสั่งเข้าจากเมืองไทยน่ะครับ ยิ่งถ้าไปเติมที่พระตะบองละก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก" วีระบอก
ออกจากเมืองมาเห็นมีเพิงขายข้าวหลามตามริมทาง คุณมดบ่นอยากกิน แต่ช้าไป รถแล่นเลยมาไกลแล้ว ยังโชคดีที่ถัดมามีกระท่อมแผงลอย ปักเสาไม้แขวนมะม่วงกวนใส่ถุงเอาไว้ ยังมีน้อยโหน่งกับฝรั่งขี้นกด้วยเลยแวะซื้อกันใหญ่เป็นที่สนุกสนาน พี่จ๊อดบอกว่าเดี๋ยวนี้ในเมืองไทยไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วทั้งน้อยโหน่งและฝรั่งขี้นก เลยซื้อมาดูแก้คิดถึง (แต่เผลอแผล็บเดียวก็เห็นกินหมดเกลี้ยง หายคิดถึงแล้วหรือยังไงก็ไม่รู้)
ปราสาทบานอน |
เที่ยวเมืองพระตะบองท่องสามเทวาลัย
มาถึงเมืองพระตะบองยังไม่ค่ำ ยังพอมองเห็นอะไรต่อมิอะไร วนเวียนดูรอบ ๆ หาโรงแรมที่พักไปในตัว ไกด์วีระบอกว่าเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ เพราะสมัยก่อนฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง ในย่านเมืองเก่ายังมีตึกรามบ้านช่องยุคอาณานิคมให้เห็นเป็นทิวแถว
วนไปวนมาคณะเราก็เลือกเข้าพักที่โรงแรมวิกตอเรียครับ เพราะเห็นว่าอยู่ใกล้กับวงเวียนรูปปั้นพระยาตะบองกระยุงคุกเข่าถือพานใส่กระบองสัญลักษณ์เมืองพระตะบอง รอบ ๆ รูปปั้นกำลังมีการซ่อมแซมอยู่ระเกะระกะ เห็นว่าเดิมหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ฮวงจุ้ยไม่ดี เลยปรับปรุงให้หันไปทางทิศตะวันออกหรือไงนี่แหละ
วันรุ่งขึ้นพวกเราออกไปนั่งรถตระเวนเก็บบรรยากาศยามรุ่งอรุณกับตึกเก่า ๆ ก่อนจะไปกินมื้อเช้ากันที่ภัตตาคารไวท์โรส เมื่อวานหลังอาหารเย็นคณะเราแวะมากินของหวาน "มะพร้าวกะทิ" ของที่นี่แล้วติดใจ เช้า ๆ อย่างนี้ฝรั่งมานั่งกันเต็มร้าน แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวก็นิยมมาเยือนพระตะบองไม่น้อยเหมือนกัน
"เมืองพระตะบองมีปราสาทหินทั้งหมด ๓๙๔ แห่ง มากที่สุดในราชอาณาจักรกัมพูชา แต่ว่าแต่ละแห่งไม่ใหญ่ แล้วยังอยู่กระจัดกระจายไกลกันมาก ไม่เป็นกลุ่มเหมือนในเมืองเสียมเรียบ ที่นักท่องเที่ยวไปกันก็มีปราสาทสเนิง อยู่ทางภูเขาพนมสมโบร์ แต่ตอนนี้ถนนไม่ดี ไปไม่ได้ ก็เหลืออยู่ ๓ ปราสาท คือ ปราสาทบานอน ปราสาทบาเสท และปราสาทวัดเอก ที่เราจะไปกันได้" ไกด์วีระให้ข้อมูลหลังอาหารเช้าผ่านไป
คัมรีคันเก่งของเราแล่นลัดตัดผ่านเข้ามาในเมืองก่อนออกไปปราสาท วีระบอกว่าในเมืองมีพิพิธภัณฑ์แต่พิพิธภัณฑ์ที่นี่แปลก ไม่ได้เก็บโบราณวัตถุไว้ข้างในแต่ตั้งเอาไว้ข้างนอก เพราะอาคารแคบ เสียดายที่พวกเรามีเวลาน้อย กลัวไปดูปราสาทไม่ครบ เลยตัดสินใจไม่แวะเข้าไปดู รถแล่นเรื่อย ๆ ออกจากตัวเมืองมาทางทิศใต้ แวะถามทางบ้างประปราย ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ก็ถึง ปราสาทบานอน ตัวปราสาทอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ ๘๐ เมตร จอดรถตรงหน้าธรรมศาลาที่จมอยู่ในป่ารกข้างทาง ลงจากรถพี่จ๊อดก็สังเกตเห็นว่ามีเด็กและผู้ใหญ่ ๓-๔ คน ยืนถือพัดกันคนละหลาย ๆ เล่ม รออยู่เชิงบันไดทางขึ้นเขา พอเราเดินผ่านเข้าไปใกล้ ก็บอกยิ้ม ๆ ว่า "บันไดมีทั้งหมด ๓๕๐ ขั้น" แล้วก็พากันเดินตามเราขึ้นบันได
ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเขาเดินตามมาทำไม แต่พอขึ้นไปได้สักพักก็เข้าใจครับ อากาศร้อน ๆ มาเดินขึ้นเขายิ่งร้อน ไปได้ไม่กี่ก้าวก็ต้องหยุดพักหอบแฮ่ก ๆ คนที่มาคอยเดินตามนี่แหละก็จะเข้าช่วยพัดวีเราให้คลายร้อนตลอดทาง จนในที่สุดไต่ขึ้นไปถึงยอดโดยสวัสดิภาพ ไม่มีใครเป็นลมกลิ้งลงมา จะว่าไปก็เป็นบริการที่เข้าท่าดีเหมือนกัน
บริการพัดแบบติดตามตัว |
มองจากข้างล่างขึ้นมาแลดูล้ายกับว่าเป็นปราสาท ๓ ยอด แต่พอขึ้นมาถึงจริงถึงได้เห็นว่าปราสาทประธานอยู่กึ่งกลาง ล้อมด้วยปราสาทบริวารตั้งอยู่บนลานบนยอดเขา ปราสาทมีทั้งหมด ๕ หลัง แต่มีร่องรอยว่าเดิมน่าจะมีถึง ๙ หลัง เชื่อมด้วยระเบียงเดินถึงกันได้หมด แต่เดี๋ยวนี้ทางเดินที่เชื่อมต่อพังไปหมดแล้ว ประวัติการสร้างไม่แน่ชัด บูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ด้วยศิลปกรรมแบบบายน
แม้ปราสาทจะหลังไม่ใหญ่ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งบนยอดเขาก็ทำให้แลดูสวยงามน่าประทับใจ ผมกับพี่จ๊อดนั้นเดินตุหรัดตุเหร่ดูร่องรอยศิลปกรรมความเก่า พนักงานพัดก็เดินตามเป็นเงา โดยเฉพาะพี่จ๊อดแลดูเป็นคุณนายไปเพราะมีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เดินตามถึง ๒ คน ยืนตรงไหนก็รุมพัดกันให้พึ่บพั่บ ส่วนคุณมดผลุบเข้าไปไหว้พระที่ปราสาทประธานแล้วก็เลยถือโอกาสดูดวงกับผู้เฒ่าหมอดูเขมรที่อยู่ข้างใน พักใหญ่เห็นเดินยิ้มกริ่มออกมา แว่ว ๆ ว่าหมอดูบอกจะเจอเนื้อคู่ที่เขมรหรือไงเนี่ยแหละ
ลงจากเขาบานอนมา พวกเราไม่ลืมทิปให้กับมือพัดที่อุตส่าห์ตามลงมาพัดให้จนถึงบันไดขั้นสุดท้าย ก่อนออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่ปราสาทแห่งที่สอง คือ ปราสาทบาเสท รถของเรามาหยุดตรงหน้าลานกว้างที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงวัวแห่งหนึ่ง มองไปเห็นปราสาทบริวารยอดหักกับซากปราสาทประธานที่พังทลาย ตามประวัติระบุว่าปราสาทบาเสทร่วมกันสร้างโดยขุนนาง ๓ คน ได้แก่ ศรีคุณปติวรมัน ศรีสมวีรวรมัน และศรีคันธบัณฑิต เพื่อถวายเทพเจ้าชัยเกษตรในช่วงสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ต่อมาได้ถูกดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถาน ก่อนจะรกร้างไปในที่สุด
ปราสาทบาเสท |
ส่วนต่าง ๆ ของปราสาทถูกทาสีสันแบบชาวบ้าน |
พวกเราเดินดูรอบ ๆ สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมพังเสียหาย ที่หลงเหลือสมบูรณ์อยู่บ้างก็คือลวดลายจำหลักตามซุ้มประตู หน้าบัน และทับหลัง ศิลปกรรมบาปวน คล้าย ๆ กับที่ปราสาทเมืองต่ำบ้านเรา แต่ดูเหมือนผู้คนที่นี่ก็ยังใส่ใจกับโบราณสถานแห่งนี้อยุ่ไม่น้อย เพราะมีร่องรอยการนำเอาสีมาทาตามลวดลายกรอบประตู หน้าบันด้วยเจตนาจะให้สวยงามตามประสาชาวบ้าน (แต่ดูเลอะเทอะในสายตาเราแฮะ)
เห็นปราสาทบาเสทแล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดไปถึงปราสาทหินพนมวันที่โคราชครับ ลักษณะทำเลและบรรยากาศดูคล้าย ๆ กัน เพียงแต่ว่าของเราบูรณะซ่อมแซมอยุ่ในสภาพดีกว่ากันเยอะ ขึ้นรถต่อไปมุ่งหน้าขึ้นทางเหนือของเมืองพระตะบอง (ปราสาทที่เมืองนี้อยู่คนละทิศละทางจริง ๆ ครับ)
ไม่นานรถของเราก็แล่นลอดข้ามสะพานไม้มีหลังคาเข้าไปในวัดเอก อันเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่ง บรรยากาศครึกครื้นเหมือนมีงานอะไรกันอยู่ ชะเง้อไปก็เห็นปราสาทหินใหญ่ตั้งตระหว่านอยู่หลังโบสถ์หลังใหม่เอี่ยม
ปราสาทวัดเอก |
ไม่นานรถของเราก็แล่นลอดข้ามสะพานไม้มีหลังคาเข้าไปในวัดเอก อันเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่ง บรรยากาศครึกครื้นเหมือนมีงานอะไรกันอยู่ ชะเง้อไปก็เห็นปราสาทหินใหญ่ตั้งตระหว่านอยู่หลังโบสถ์หลังใหม่เอี่ยม
ปราสาทวัดเอก ตั้งอยู่บนฐานหินมหึมาที่ก่อสูง สภาพรวม ๆ ค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม พวกเราปีนป่ายข้ามแนวกำแพงที่ปลูกไม้ประดับต้นสีแดงไว้ทั่ว เข้าไปภายในแลเห็นบรรณาลัย และตัวปราสาทประธานอยู่สูงขึ้นไป โดยมีอาคารมุขขนาดใกล้เคียงกันลดระดับลงมาเล็กน้อย ลักษณะแปลกไม่เหมือนที่เคยเห็นมา ตามประวัติว่าสร้างก่อนปราสาทนครวัด ประมาณปี พ.ศ.๑๕๗๐ โดยขุนนางที่ชื่อศรีโยคีศวรบัณฑิต ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ให้มาปกครองดินแดนแถบนี้ ก่อนจะสถาปนาเทวาลัยในชื่อของพระศรีนเรนทรกรม ก็คือปราสาทวัดเอก นี่แหละครับ
"ขึ้นไปดูข้างบนมีทับหลังสวย ๆ เหมือนกัน แต่ไม่กล้าเข้าไปข้างใน หินมันหมิ่นเหม่ เอียงกระเท่เร่ กลัวถล่มลงมา" คุณมดที่ซุกซนป่ายปีนเป็นแนวหน้ากลับลงมารายงานกับพี่จ๊อด
ปราสาทแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวมากันเยอะครับ อาจเพราะอยุ่ใกล้ชุมชนใหญ่ มีทั้งเด็ก วันรุ่นหนุ่มสาว เดินกันวิ่งกันขวักไขว่ ไม่ค่อยเงียบสงบเท่าไหร่ พวกเราหลบร่มเงาไม้เติมพลังกันด้วยซาลาเปาส่งท้าย
"จากวัดเอกนี่เราจะมุ่งหน้ากลับศรีโสภณเลย เพราะทางใกล้กว่า ไม่ต้องย้อนกลับไปเมืองพระตะบองอีก" ไกด์วีระประกาศ
ถึงเมืองศรีโสภณเอาตอนเย็น พลขับต้องวนเวียนหาเติมแก๊สแอลพีจีอีกที กว่าจะได้ก็ร้านสุดท้ายอีกตามเคยปรากฏว่าราคาขึ้นไปเป็นลิตรละ ๔๓ บาทแล้ว แค่ผ่านไปวันเดียวเท่านั้น ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาอยู่กันได้ยังไง เดินทางต่อถึงเมืองเสียมเรียบก็ค่ำพอดี
เข้าที่พักเสร็จสรรพ ออกมาอีกทีคุณมดชวนไปเดินตลาดซาจ๊ะหาซื้ออนุสาวรีย์ เล่นเอาผมงงไปหลายตลบครับ
มารู้เอาทีหลังว่าของที่ระลึก เขมรเขาเรียกว่า "อนุสาวรีย์" ฟังดูยิ่งใหญ่อลังการดีเหลือเกินแฮะ
เข้าที่พักเสร็จสรรพ ออกมาอีกทีคุณมดชวนไปเดินตลาดซาจ๊ะหาซื้ออนุสาวรีย์ เล่นเอาผมงงไปหลายตลบครับ
มารู้เอาทีหลังว่าของที่ระลึก เขมรเขาเรียกว่า "อนุสาวรีย์" ฟังดูยิ่งใหญ่อลังการดีเหลือเกินแฮะ
ปราสาทบากอง |
ปราสาทพระโค |
ปราสาทไพรมนตรี |
บุกปราสาทร้างกลางทุ่ง เมืองเสียมราฐ
เช้าวันใหม่เราเปลี่ยนพาหนะเป็นรถตู้ หลังจากไปถ่ายรูปซื้อบัตรเข้าชมแล้วก็ปรึกษาหารือว่าจะไปเที่ยวดูอะไรกันดี ปราสาทยอดนิยมทั้งหลายต่างคนต่างก็เคยไปมาหลายครั้งจนเบื่อ ๆ กันแล้ว โดยเฉพาะปราสาทนครวัด ปราสาทบายน ล่าสุดผมเองก็เพิ่งจะได้รับเชิญมาทำข่าวเปิดพิพิธภัณฑ์ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ท้ายสุดก็ต่างเห็นพ้องกันว่าไปเมืองเก่าแถบโลเลยดีกว่า เที่ยวแบบสบาย ๆ ผู้คนไม่พลุกพล่าน
แรก ๆ ก็สบายจริงอยู่ครับ เตร็ดเตร่ไปแวะดู ปราสาทพระโค ที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองพระนคร ตอนนี้บูรณะเสร็จ ถอนนั่งร้านรุงรังออกแล้วเห็นได้เต็มตา แล้วก็เลยไปปีนป่าย ปราสาทบากองเทวาลัยที่สร้างแบบภูเขาจำลองหลังแรกที่เป็นต้นแบบของปราสาทอื่น ๆ ในเมืองพระนครเสียหน่อย เสร็จสรรพกำลังจะขึ้นรถตู้กลับ ไกด์วีระก็ถามว่า "ใกล้ ๆ นี่ยังมีอีกปราสาทอยู่ในป่า จะเลยไปดูหน่อยไหม"
คณะบ้าปราสาทหูผึ่งขึ้นมาทันใด พยักหน้าโอเคแบบไม่ต้องคิด รถตู้แล่นไปตามทางดินที่ร่มครึ้มด้วยแมกไม้ ก่อนไปหยุดหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ฝั่งตรงข้ามเป็นทางเข้าไปยังปราสาทเปรยมนตรี มัคคุเทศก์วีระบรรยายพลางเดินนำหน้า "เปรยแปลว่าไพรหรือป่า มนตรีแปลว่าสำนักงานหรือสถานที่"
ก็สมกับชื่อครับ ปราสาทอิฐหลังเล็ก สภาพปรักหักพัง ๓ หลัง เรียงรายกันอยู่บนฐานเดียวกัน ทับหลังหินทรายตั้งอยู่หน้าปราสาท ใกล้กันมีอ่างหินขนาดใหญ่ น่าจะใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม รอบข้างรกเรื้อไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ร่มครึ้ม แสงแดงลอดแนวไม้ลงมากระทบตัวปราสาทเป็นแสงเงาสวยงามปราสาทไม่ใหญ่ ไม่มีอะไรมากมาย แต่ถูกใจแก๊งเราตรงบรรยากาศ เดินวนเวียนชื่นชมกันอยู่ตรงนั้น
ทิวตาลและแมกไม้รายรอบปราสาทตระเปียงพง |
"เลยไปอีกหน่อยมีปราสาทตะเปรียงพงอีกนะ ยังจะไปดูอีกไหม" ไกด์วีระถามยิ้ม ๆ เหมือนแซวเล่น ๆ แต่ชาวบ้าปราสาทได้ยินปุ๊บก็ยืนยันเสียงหนักแน่นว่าไป พลางรีบขึ้นรถกันอย่างพร้อมเพรียง เล่นเอามัคคุเทศก์เราชักเสียงอ่อย "เอ่อ แต่ผมไม่ได้ไปนานแล้วนะ ไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน"
"ไม่เป็นไร ไปถามชาวบ้านตามริมทางเอาก็ได้"
รถโขยกเขยกไปตามถนนดินแคบที่ตัดผ่านเข้าไปในทุ่งนา สักพักก็เห็นชาวบ้านกลุ่มใหญ่มุงกันอยู่บนสะพานไม้เล็ก ๆ สอบถามได้ความว่ามีคนเห็นจระเข้โผล่ขึ้นมา เลยพากันมาดู แต่เราไม่สนใจ ยังคงมุ่งหน้าต่อไป หลังจากหลงไปหลงมาอยู่พักใหญ่ ก็เจอทางไปปราสาทจนได้
ลุยทุ่งมุ่งปราสาท |
ไกด์วีระเข้าไปถามคนในหมู่บ้านแล้วเดินกลับออกมาบอกว่าต้องเดินบุกทุ่งนาไปประมาณ ๗ กิโลเมตร แต่ชาวบ้านมีเกวียน อาจจะได้นั่งเกวียนไป พวกเราพากันไซโย นอกจากไม่ต้องเดินแล้ว ยังจะได้นั่งเกวียนเปลี่ยนบรรยากาศ แต่พักเดียวชาวบ้านก็เดินยิ้มแห้งกลับมาบอกว่า เกวียนน่ะมี แต่วัวที่ลากเกวียนไม่อยู่ ทำเอาคณะเราจ๋อยไปถนัดใจ อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นยังคงไม่เปลี่ยน เดินเป็นเดินกันสิน่า ว่าแล้วก็ให้ชาวบ้านนำหน้าพาเดินลุยทุ่งนาไปยังปราสาท
สภาพอันคร่ำคร่าของปราสาทตระเปรียงพง |
วิบากไม่ใช่เบาครับคราวนี้ นอกจากต้องลุยไปในทุ่งนาที่เป็นดินโคลนเละ ๆ ลื่น ๆ ท่ามกลางแดดที่แผดเปรี้ยงของตอนเที่ยงแล้ว บางช่วงยังต้องลุยผ่านไปในน้ำขังที่ตากแดดจนร้อนจี๋ บางช่วงต้องลงไปลุยในลำห้วยก็ยังมี ลุยไปใจก็นึกไปถึงจระเข้ที่สะพานเมื่อกี้ หวังว่าคงไม่ทะเล้นมาโผล่แถวนี้หรอกนะ ขี้เกียจวิ่ง ทว่า ในที่สุดเราก็เห็นยอดปราสาทโผล่พ้นแนวไม้ลิบ ๆ อยู่ตรงหน้าท่ามกลางดงตาลที่ระเกะระกะเสียดฟ้า แลดูเหมือนดินแดนประหลาดอันเร้นลับ
ข้ามลำห้วยสุดท้ายผ่านแนวละเมาะไม้เข้าไปถึง ปราสาทตะเปรียงพง จนได้ ตัวปราสาทเป็นปราสาทอิฐคร่ำคร่ายืนเดียวดายอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง แต่ลวดลายที่ปรากฎบนทับหลังและรูปนางอัปสรบนผนังข้างประตูทั้งสี่ด้าน อันละเอียดลออก็ทำให้รู้สึกว่าไม่เสียเที่ยวที่ได้บุกบั่นมา
"มองดูคล้าย ๆ ปราสาทที่สมโบร์ไพรกุก น่าจะเป็นปราสาทเก่าสมัยก่อนพระนครนะ" สามเกลอพยักพเยิดเห็นพ้องกัน
ลุยกลับออกมาตามทางเก่าพร้อมกับความอิ่มใจ ก่อนจะไปอิ่มท้องมื้อกลางวันเอาตอนบ่ายแก่ ๆ ปิดท้ายรายการของวันด้วยการไปปีน ปราสาทพนมบาแค็ง ชมพระอาทิตย์ตก ซึ่งเดี๋ยวนี้เส้นทางบันไดด้านหน้าปิดไม่ให้ขึ้น ต้องเดินขึ้นเขาตามเส้นทางใหม่ แต่ใครที่เดินไม่ไหว หรืออยากได้บรรยากาศแปลกใหม่ก็มีช้างไว้ให้บริการ ยามเย็นอย่างนี้บนพนมบาแค็งเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวนานาชาติ รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ชาวจีนมากันเยอะ ล้งเล้งไปหมด
กลับโรงแรมได้ก็บ่นปวดเมื่อยแข็งขาไปตาม ๆ กัน พานให้สงสัยขึ้นมาว่าใครนะ เมื่อเช้าบอกว่าจะไปเที่ยวแบบสบาย ๆ แต่ไม่ยักมีใครยอมรับ
กลับโรงแรมได้ก็บ่นปวดเมื่อยแข็งขาไปตาม ๆ กัน พานให้สงสัยขึ้นมาว่าใครนะ เมื่อเช้าบอกว่าจะไปเที่ยวแบบสบาย ๆ แต่ไม่ยักมีใครยอมรับ
หมู่ไม้เสียดยอดเหนือปราสาทป่าเลไลยก์ |
สมบุกสมบันกันมาแล้วหนึ่งวัน รุ่งขึ้นคณะบ้าปราสาทของเราก็เลยขอเที่ยวชมปราสาทแบบสบาย (จริง ๆ) เสียที ในเมืองเสียมเรียบ โดยเลือกที่จะไปปราสาทขนาดย่อม ๆ ลงมา แต่มีบรรยากาศ อย่าง ปราสาทป่าเลไลยก์ ปราสาทพระขรรค์ และ ปราสาทนาคพัน
หลบร้อนในยามบ่ายเข้าไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อังกอร์ ในย่านเมืองใหม่ ซึ่งรวบรวมเอาศิลปกรรมชิ้นงาม ๆ หลากยุคหลายสมัยมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวให้เห็นพัฒนาการของอารยธรรมขอมตั้งแต่เริ่มต้น
หลบร้อนในยามบ่ายเข้าไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อังกอร์ ในย่านเมืองใหม่ ซึ่งรวบรวมเอาศิลปกรรมชิ้นงาม ๆ หลากยุคหลายสมัยมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวให้เห็นพัฒนาการของอารยธรรมขอมตั้งแต่เริ่มต้น
ครับ ก็คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งมีพรมแดนติดกัน ไม่ว่าอย่างไรก็หนีหน้ากันไปไม่พ้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะหากเส้นทางสายอารยธรรมขอมในประเทศไทยเชื่อมโยงกับเส้นทางสายอารยธรรมขอมในกัมพูชาได้ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งในทางการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดีรวมไปถึงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
ถึงตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่า เวลาที่ผ่านไปจะช่วยทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่ตึงเครียดคลี่คลายไปในทางที่ดีครับ...สาธุ
ขอขอบคุณ
บริษัท สีสันทัวร์ จำกัด
ขอขอบคุณ
บริษัท สีสันทัวร์ จำกัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น