ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
หากยังจำกันได้ เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน จังหวัดบุรีรัมย์เคยตกเป็นข่าวฮือฮาระดับประเทศ จากกรณีการทวงคืน “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ของปราสาทหินพนมรุ้งที่ถูกโจรกรรมไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๓ ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม ภายหลังพบว่าถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทหินพนมรุ้ง |
ครั้งนั้นใช้เวลาดำเนินการติดตามทวงคืนนานนับหลายสิบปี โดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยสามารถทำสำเร็จ ได้ทับหลังชิ้นสำคัญคืนมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นำกลับไปติดตั้งไว้ที่ปราสาทหินพนมรุ้งอย่างงามสง่าดังเดิม ทันพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการพอดิบพอดี
ความจริงแล้วในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีเพียงแค่ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เท่านั้น
ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ๆ จากโบราณสถานน้อยใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเขตพื้นที่อำเภอประโคนชัยและอำเภอนางรอง ถูกลักลอบขุดค้นส่งไปขายต่อยังต่างประเทศอีกมากมายหลายร้อยชิ้นและยังไม่ได้กลับคืนมา
ภาพถ่ายทับหลังพระยมทรงกระบือขณะติดตั้งอยู่ที่ปราสาทหนองหงส์ เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๓ |
“ทับหลังพระยมทรงกระบือ” จากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ คือโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งถูกพบล่าสุดขณะจัดแสดงร่วมกับทับหลังอีกชิ้นจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงปลายปี ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่าทั้งสองชิ้นได้รับบริจาคมาจากนายเอเวอรี บรันเดจ นักสะสมวัตถุโบราณชาวอเมริกัน เมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน แล้วนำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ทราบว่าทับหลังทั้งสองได้มาโดยผิดกฎหมาย จึงเตรียมดำเนินการส่งคืนแก่ประเทศไทย ตามกำหนดโดยประมาณคือในเดือนเมษายน ๒๕๖๔ นี้
รายละเอียดอันวิจิตรของทับหลังพระยมทรงกระบือ |
“ทับหลังพระยมทรงกระบือ” เป็นทับหลังในสถาปัตยกรรมขอมโบราณ แกะสลักบนหินทราย ศิลปกรรมแบบบาปวนอันมีลักษณะเด่นคือบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาพจำหลักเล็ก ๆ (ในที่นี้คือรูปพระยมทรงกระบือ) เหนือหน้ากาลลิ้นสามเหลี่ยมที่ใช้ปากคาบและมือยึดท่อนพวงมาลัยไว้ เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายพฤกษาหรือใบไม้ม้วนออกทั้งสองฟากในขณะที่ใต้ท่อนมาลัยเป็นลายพฤกษาหรือใบไม้ม้วนเข้า
อดีตกาลเมื่อหลายศตวรรษก่อน “ทับหลังพระยมทรงกระบือ” เคยเด่นสง่าอยู่ที่เหนือประตูของ ปราสาทหนองหงส์ ศาสนสถานฮินดูขนาดเล็กในลักษณะของเทวาลัยประจำชุมชน สถาปัตยกรรมแบบบาปวน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันปราสาทหนองหงส์ได้รับการขุดแต่งจากกรมศิลปากรเรียบร้อย ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนลำนางรอง จึงโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ฉากหลังเป็นทิวทัศน์คันดินสูงเป็นแนวยาวของเขื่อนเมื่อมองจากบนถนนในระยะไกล
ปราสาทสามองค์ก่อด้วยอิฐ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานสูงก่อด้วยศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน ปราสาทองค์กลางเป็นประธาน ขนาดใหญ่กว่าปราสาทบริวารสององค์ที่ขนาบข้าง ตามคติว่าเป็นสัญลักษณ์เขาแทนพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ทุกหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้าออกเฉพาะทางด้านหน้า อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ทั้งหมดล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้วเป็นปราการ ทางทิศตะวันออกมีโคปุระ (ซุ้มประตู) ก่อบันไดทางขึ้นสูงชัน นอกแนวกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือยังมีบาราย(สระน้ำ) ขนาดใหญ่
ปราสาทหลังทิศใต้ที่เคยเป็นที่อยู่ของทับหลังพระยมทรงกระบือ |
ภาพถ่ายโบราณที่ใช้เป็นหลักฐานในการทวงคืน
บันทึกไว้โดยนายมานิต วัลลิโภดมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ มีข้อความกำกับไว้กับภาพว่า
“ศิลาทับหลังประตูปรางค์องค์ใต้” แสดงว่าทับหลัง
“พระยมทรงกระบือ” เคยติดตั้งอยู่เหนือประตูของปราสาทบริวารหลังที่อยู่ทางทิศใต้ อันสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าพระยมเป็นเทพประจำทิศใต้
ในขณะที่ทับหลังปราสาทประธานหลังใหญ่แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ส่วนทับหลังปราสาทบริวารองค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
แผนผังที่ตั้งทับหลังของปราสาทหนองหงส์แต่เดิม |
ในอนาคตอันไม่นานเกินรอ เมื่อทับหลังพระยมทรงกระบือและทับหลังอื่น ๆ ได้กลับคืนมาติดตั้งยังตำแหน่งเดิม ในอดีตเมื่อกว่าพันปีปราสาทหนองหงส์คงจะเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่สมบูรณ์งดงาม น่าไปเยี่ยมชมด้วยความภาคภูมิใจ สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยต่อไปชั่วลูกชั่วหลานตราบนานเท่านาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น