ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท.
ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
แดดซ่อนแสงไว้ในมวลเมฆขาว ลมพัดระเรื่อยแผ่วเบาเย็นสบาย
ผมนั่งเอกเขนกไปในรถม้าคันกะทัดรัดที่กำลังแล่นลัดเลาะตามถนนสายเล็ก ๆ
ซอกซอนผ่านบ้านเรือนและสวนลำไยของชาวบ้านในอาณาบริเวณของเวียงกุมกาม เมืองโบราณเก่าแก่ในยุคก่อนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถูกกลบฝังอยู่ใต้ดินมาเนิ่นนาน
สุโขอย่าให้เซดเชียวครับ ได้มานั่งรถม้าตระเวนไปในนครโบราณใต้พิภพอายุกว่า ๗๐๐ ปี เกลื่อนกล่นไปด้วยเจดีย์เก่า
ฐานรากของวิหาร ร่องรอยลวดลายปูนปั้นงดงามอลังการ
ซึ่งขุดค้นขึ้นมาจากใต้พื้นปฐพี แบบเดียวกับเมืองทรอยของฝรั่งเปี๊ยบ
ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครคิดหรอกครับว่าเมืองไทยของเราจะมีเมืองโบราณแบบนี้กับเขาด้วย
ขนาดความเป็นมาก็ยังคล้าย ๆ กัน เพราะชื่อของเวียงกุมกามในตอนแรก
ๆ มีก็แต่เพียงในตำนานกับเรื่องราวที่เล่าขานกันมาแบบปากต่อปาก
เป็นเมืองในนิทานที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีอยู่จริง กระทั่งวันดีคืนดี
กรมศิลปากรไปขุดพบวิหารกานโถม วัดช้างค้ำเป็นแห่งแรก
ตามติดมาด้วยวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่พบอย่างต่อเนื่อง
เหมือนกับอยู่ดี ๆ มีเมืองโบราณผุดโผล่ขึ้นมาจากใต้ดินอย่างนั้น
แต่เวียงกุมกามไม่ได้มีความน่าสนใจอยู่แค่เป็นเมืองโบราณที่ถูกกลบฝังอยู่ให้พิภพแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้นครับ
ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เวียงกุมกามแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นราชธานีในยุคแรกของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย
ที่รู้จักกันในนาม “อาณาจักรล้านนา”
ก่อนจะย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่นพบุรี-ศรีนครพิงค์เชียงใหม่
ความจริงแล้วไม่เพียงเวียงกุมกามเท่านั้น
ยังมีเวียงโบราณอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับการก่อร่างสร้างตัวเป็นอาณาจักรล้านนา
กว่าจะกลายมาเป็นดินแดนอันมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นมรดกหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
เยือนถิ่นล้านนาคราวนี้
ผมลองตระเวนเที่ยวไปตามเรื่องราวในตำนาน ปรากฏว่าเข้าท่าดีเหมือนกันครับ บนเส้นทางเราจะเห็นร่องรอยพัฒนาการของบ้านเมือง
นับตั้งแต่สมัยแรก จนกระทั่งมาเป็นอาณาจักรล้านนาได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว
โยนกนาคพันธุ์ ตำนานเวียงล่ม
ท้องผ้ามืดครึ้มด้วยเมฆฝน
เมื่อผมมายืนทอดอารมณ์อยู่ริมเวิ้งน้ำอันไพศาลของทะเลสาบเชียงแสน
ในจังหวัดเชียงราย
มาทีไรก็อดไม่ได้ที่จะต้องนึกถึงตำนานเรื่องเวียงหนองล่มทุกทีไปครับ เพราะเป็นตำนานที่มีฉากตื่นเต้นระทึกใจยิ่งใหญ่อลังการที่สุดในบรรดานิทานพื้นบ้านทั้งหลาย
เทียบได้กับตำนานเรื่องอาณาจักรแอตแลนติสที่ถล่มล่มจมลงในมหาสมุทรของฝรั่งเชียวละ
(ถ้าเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ก็คงทำฉากคอมพิวเตอร์กราฟิกได้ตื่นตามาก
ใครมีสตางค์น่าจะลองทำมาแบ่งกันดูบ้าง)
ที่สำคัญก็คือ เป็นต้นตำนานแรกเริ่มของบ้านเมืองในถิ่นล้านนาครับ
ตำนานเล่าเอาไว้ว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเวียงโบราณแห่งหนึ่ง
ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าชายสิงหนวัติ ซึ่งเสด็จมาจากนครไทยเทศ
ที่นักประวัติศาสตร์เขาสันนิษฐานกันว่าอยู่แถบมณฑลยูนนาน
ในประเทศจีน อพยพผู้คนลงมาสร้างเมืองในราวปี
พ.ศ. ๖๓๘
แค่วิธีสร้างเมืองก็ไม่ธรรมดาเสียแล้วครับ
เพราะว่ามีพญานาคกับบริวารมาแนะนำชัยภูมิให้ แถมยังช่วยปรับพื้นที่ ทำคันดินเป็นกำแพงให้จนเสร็จสรรพในคืนเดียว
เจ้าชายทรงสำนึกในบุญคุณ จึงทรงขนานนามเมืองโดยใช้ชื่อของพญานาคนำหน้าพระนามของพระองค์ว่า
นครโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พญานาค
เรียกสั้น ๆ ว่านครโยนกนาคพันธุ์
ในยุคนี้เองที่พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามา เพราะตำนานเล่าว่า
ประมาณปี พ.ศ. ๗๐๐ พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมธาตุรากขวัญ
(กระดูกไหปลาร้า) เบื้องซ้าย มายังนครโยนกนาคพันธุ์
พญาอชุตราช ซึ่งครองราชย์ต่อจากปฐมกษัตริย์สิงหนวัติจึงได้ทรงซื้อที่ดินบริเวณดอยแห่งหนึ่งจากปู่เจ้าลาวจก
หัวหน้าเผ่าชาวละว้าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เชิงดอย เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุ ก่อนสร้างโปรดให้ปักตุงผ้าขนาดใหญ่มีความยาวถึง
๑,๐๐๐ วา โดยถือว่าปลายตุงสะบัดไปถึงที่ใดก็ให้ถือเป็นขอบเขตของฐานสถูป
แล้วจึงสร้างจนแล้วเสร็จ ถือว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกของดินแดนล้านนา
ดอยแห่งนี้ต่อมาจึงเรียกกันว่าดอยตุง
และสถูปเจดีย์นั้นก็เรียกว่าพระธาตุดอยตุง
จากนั้นนครโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องมายาวนานกว่า
๔๕๐ ปี
จนกระทั่งถึงรัชกาลของพญามหาไชยชนะ กษัตริย์องค์ที่ ๔๕ ของโยนกนาคพันธุ์ กาลอวสานก็มาถึง
เมื่อวันหนึ่งชาวบ้านจับปลาไหลเผือกตัวโตเท่าลำตาล ยาวประมาณ ๗ วาเศษ ได้จากแม่น้ำกก
นำมาถวายพญามหาไชยชนะ พระองค์รับสั่งให้นำเนื้เอไปแล่แจกจ่ายให้กับชาวเมืองทุกคน
มีเพียงหญิงชราม่ายคนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลา
ตกค่ำวันนั้นก็เกิดแผ่นดินสะเทือนเลือนลั่น เมืองทั้งเมืองพลันถล่มจมหายลงไป
กลายเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล พระราชวงศ์
ขุนนาง และราษฎรทั้งหลายในเมืองสาบสูญไปหมดสิ้น
หลงเหลือเพียงบ้านหญิงชราม่ายที่ไม่ได้ร่วมกินเนื้อปลาไหลเผือกเท่านั้น
ตำนานอธิบายว่าปลาไหลเผือกนั้น
ก็คือพญานาคที่แปลงตัวมา การที่ชาวเมืองนำมาฆ่าแบ่งกันกิน
ถือเป็นการเนรคุณพญานาคที่ช่วยสร้างบ้านแปลงเมือง จึงบันดาลให้เกิดภัยพิบัติ
สมัยหนึ่งนักวิชาการบางคนพยายามตีความเหตุการณ์
“เมืองถล่ม” ในเชิงสัญลักษณ์
ว่าหมายถึงการปกครองบ้านเมืองอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม
ทำให้บ้านเมืองมีอันเป็นไป แต่เมื่อมีการตรวจสอบทางภูมิศาสตร์ก็พบว่า
มีร่องรอยการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในบริเวณนี้มาแล้วหลายครั้ง
เรื่องเมืองถล่มในตำนานที่บันทึกว่าเกิดในราว พ.ศ. ๑๐๘๘ จึงเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจริง
ผมแอบคิดเพ้อเจ้อไปว่า
ถ้าเกิดมีการขุดคันจนพบ “เวียงหนองล่ม”
หรือเมืองโยนกนาคพันธุ์ขึ้นมาจริง ๆ เหมือนกับที่พบเวียงกุมกามที่เชียงใหม่ละก็
โอ้โห อย่าบอกใครเชียวครับ
เพราะทั้งเก่าแก่กว่าแถมประวัติความเป็นมายังพิสดารพันลึก
แต่มานึกอีกที บรรดาปราสาทราชวัง
บ้านเรือนสมัยนั้นซึ่งส่วนใหญ่คงจะสร้างด้วยไม้ ผ่านไปตั้งพันกว่าปี ป่านนี้คงไม่มีเหลืออะไรให้เห็นแล้ว
ฟ้าคำรามครืนครั่นมาแต่ไกล เมฆดำผืนใหญ่ลอยลงต่ำ
พร้อมกับเม็ดฝนโปรยปราย ผมรีบขึ้นรถอำลาเวียงหนองล่มมาแต่โดยดี
เพราะนึกไปถึงคำในตำนานที่เล่าว่าก่อนเวียงล่มจะมี “ฟ้าร้องครอยคราง” ทุกครั้ง
ไม่เคยได้ยินหรอกครับว่าเป็นยังไง ฟ้าร้องแบบที่ว่า
แต่ดูเหมือนบรรยากาศรอบข้างที่มืดฟ้ามัวดินด้วยเมฆทะมึนจะช่วยส่งเสริมเรื่องราวในตำนานและกระตุ้นต่อมจินตนาการดีแท้ครับ
ทำเอาหูผมเว่วเสียงแผ่นดินถล่มโครมครืนไล่หลังรถมาแต่ไกล
(ชักจะเวอร์ไปหน่อยแล้วแฮะ)
หิรัญนครเงินยาง ถิ่นพญามังรายมหาราช
จากทะเลสายเชียงแสน
รถแล่นพักเดียวก็เข้าสู่บริเวณเมืองเชียงแสน ดินแดนที่เกิดนครแห่งใหม่ขึ้นทดแทนในเวลาต่อมา
หลังจากนครโยนกนาคพันธุ์ถล่มจมหายไปในผืนน้ำ ก็หมดสิ้นวงศ์กษัตริย์สิงหนวัติจะมาปกครองครับ
บรรดาชุมชนบริวารที่หลงเหลืออยู่ก็เลยคัดเลือกหัวหน้าชุมชนแต่ละแห่งขึ้นมารักษาการชั่วคราว
แล้วก็เลือกหัวหน้าใหญ่ขึ้นมาคนหนึ่งให้เป็นขุน ปรากฏว่าเลือกได้ขุนลังเป็นผู้นำ ก่อนจะย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งเวียงอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง
(แถว ๆ บ้านสบคำ ในอำเภอเชียงแสนตอนนี้) ปกครองด้วยการประชุมหารือกันในหมู่หัวหน้าชุมชน ทำให้เวียงแห่งใหม่นี้มีชื่อเรียกว่า เวียงปรึกษา
วิธีปกครองแบบ “ปรึกษา” นี่ก็คงจะเข้าท่าดีอยู่เหมือนกัน เพราะปกครองกันมาได้ถึง ๙๓ ปีเชียว ก่อนที่ในปี
พ.ศ. ๑๑๘๑ พระยากาฬวรรณดิศราช
หรือพญาอนิรุทธิ์ กษัตริย์แห่งทวารวดีจะเสด็จขึ้นมาสนับสนุนพญาลวจักราชให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่แทนราชวงศ์สิงหนวัติ
ที่สาบสูญไปพร้อมกับเหตุธรณีพิบัติ
พญาลวจักราชที่ว่านี่ก็คือ เชื้อสายของปู่เจ้าลาวจก ผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง ที่ขายที่ดินบนดอยให้โยนกนาคพันธุ์สร้างพระธาตุดอยตุงนั่นเองครับ
ไม่ใช่ใครที่ไหน
เมื่อตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พญาลวจักราชก็ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นหิรัญนครเงินยาง
โดยมีศูนย์กลางอยู่แถว ๆ เมืองเชียงแสน มีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองสืบเนื่องกันมาอีกยาวนานถึง๖๒๑ ปี รวม ๒๔ รัชกาล อาณาเขตก็ขยายเพิ่มขึ้นบ้าง
ลดลงบ้างตามแต่พระบารมีของกษัตริย์แต่ละรัชสมัย
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาเกิดขึ้นเมื่อพญามังรายขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๕ ของหิรัญนครเงินยางในปี พ.ศ. ๑๘๐๕ครับ
เพราะทรงมีแนวพระราชดำริที่จะรวบรวมแว่นแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงให้เป็นปึกแผ่น
ขึ้นครองราชย์ปุ๊บพระองค์ก็โปรดให้สร้างเมืองเชียงรายเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนปั๊บ เป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของราชวงศ์ลวจักราช
แห่งหิรัญนครเงินยาง และเข้าสู่ยุคสมัยของราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา
หิรัญนครเงินยางกลับมารุ่งเรืองอีกทีก็ในสมัยล้านนา หลังจากพญามังรายเสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยพญาแสนภูซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายรัชกาลที่ ๓ ได้เสด็จกลับมาทรงฟี้นฟูขึ้นใหม่ในนามของเมืองเชียงแสน
และประทับว่าราชการอยู่ที่นี่ ทำให้เชียงแสนมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๔ คือในรัชกาลของพญาแสนภูและพญาคำฟู
พระราชโอรส รวม ๑๓ ปี
วัดวาอารามเก่าแก่ที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในเขตเมืองเก่าเชียงแสนส่วนใหญ่ก็สร้างในสมัยเป็นราชธานีของล้านนานี่แหละครับ ที่สำคัญและสวยงามควรแวะเที่ยวชมก็เห็นจะเป็นเจดีย์หลวง
ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน แล้วก็เจดีย์วัดป่าสัก
ที่ประดับประดาลวดลายปูนปั้นสวยงามอลังการ
แต่เที่ยวนี้ผมเน้นการท่องเที่ยวตามรอยตำนานเป็นหลักครับ ก็เลยขับรถผ่านตัวเมืองเก่าเชียงแสนออกไปทางประตูท่าอ้อย
มุ่งหน้าลงใต้ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๒๙ บริเวณนี้เขาว่ามีร่องรอยของโบราณสถานที่ตำนานกล่าวว่าสร้างในสมัยโยนกนาคพันธุ์และหิรัญนครเงินยางอยู่หลายแห่ง
เลี้ยวขวาเข้าสู่วัดพระธาตุผาเงา ที่รอบบริเวณสวยงามด้วยสิ่งปลูกสร้าง
จัดตกแต่งสนามหญ้า สวนหย่อมเอาไว้อย่างทันสมัย
บนหินก้อนใหญ่ด้านหลังวิหารมีเจดีย์องค์เล็กตั้งเด่นตระหง่านอยู่
เรียกว่าพระธาตุผาเงา ตามตำนานบอกว่าพญาผาพิง
กษัตริย์องค์ที่ ๒๓แห่งนครโยนกนาคพันธุ์ทรงสร้างเอาไว้
ในวิหารสร้างใหม่ยังมีพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรก เรียกกันว่า
หลวงพ่อผาเงา ถูกขุดพบใต้ฐานพระประธานโบราณองค์ใหญ่ที่พังทลายเหลือเพียงแค่ส่วนพระอุระ
(อก) ไม่มีการบันทึกว่าสร้างสมัยไหน แต่นักโบราณคดีก็เชื่อว่าคงจะเก่าไม่น้อยไปกว่าสมัยหิรัญนครเงินยางแน่
ยังรักษาสภาพเดิม ๆ เหมือนตอนที่ขุดพบเอาไว้ เป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่าแถบนี้มีเมืองโบราณที่สร้างซ้อนทับกันหลายยุคหลายสมัย
แต่สมัยไหนเป็นสมัยไหนคงต้องรอฟังจากนักโบราณคดีเขาอีกทีละครับ
จากพระธาตุผาเงาและวิหาร ยังมีทางขึ้นเขาทั้งทางบันไดและทางรถยนต์ไปยังพระธาตุจอมจันทร์
ที่ตำนานบันทึกว่าสร้างขึ้นในสมัยขุนลัง ผู้ปกครองเวียงปรึกษา เสียดายตอนนี้เจดีย์เหลือแค่ฐานอิฐปรักหักพังเท่านั้น
ต้องใช้จินตนาการกันหนักหน่อยในการชม
ออกจากพระธาตุผาเงา ผมมุ่งหน้าลงใต้ตามเส้นทางสายเดิมไปอีกนิดเดียว
ก็ถึงบริเวณที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเขาเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของเวียงปรึกษา
ร่องรอยของโบราณสถานในช่วงเวลาที่เป็นเวียงชั่วคราวหลังโยนกนาคพันธุ์ล่มสลายไม่เหลืออะไรให้เห็นแล้วครับ
ส่วนหนึ่งก็คงเพราะไม่ได้มีการสร้างอะไรไว้มากมายในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน
ที่เห็นอยู่ก็คือซากวัดเก่าสร้างในสมัยพญาแสนภู ซึ่งทรงสร้างไว้เมื่อครั้งเสด็จมาประทับที่เวียงปรึกษาเป็นการชั่วคราวระหว่างการสร้างเมืองเชียงแสน
เรียงรายกันอยู่สองฟากฝั่งถนน ที่น่าสนใจได้แก่
วัดพระธาตุสองพี่น้อง วัดธาตุเขียว
วัดธาตุโขง แวะเที่ยวชมดูเล่น ๆ
ได้บรรยากาศของเวียงโบราณเก่าร้าง ขลังดีเหมือนกัน
วกขึ้นไปทางเหนือของเมืองเชียงแสนก็ยังมีสถานที่เกี่ยวพันกับเวียงโบราณในตำนานอยู่อีก
ถนนลดเลี้ยวขึ้นเขานำพาผมไปถึงวัดพระธาตุจอมกิตติ เจดีย์เหลี่ยมสีทองอร่ามโดดเด่นอยู่บนยอดดอยน้อย
ท่ามกลางแมกไม้ร่มครึ้ม มีเรื่องเล่าว่าเจ้าชายสิงหนวัติ
ปฐมกษัตริย์แห่งนครโยนกนาคพันธุ์ รับพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา
จึงโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุไว้บนยอดดอยน้อยแห่งนี้ ต่อมาในสมัยพญาพังคราชก็ได้รับพระไตรปิฎกและพระบรมธาตุมาเพิ่มเติม
จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน โดยโปรดให้สร้างเจดีย์ครอบทับองค์เดิมลงไปอีก
แต่เจดีย์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ หมื่นเชียงสงได้มาสร้างครอบทับลงไปอีกทีครับ
รวมเป็น ๓ ชั้น
ขึ้นรถแล่นเลยต่อมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ พระพุทธรูปแบบเชียงแสนสร้างใหม่ขนาดมหึมาตระหง่านอยู่บนลานซีเมนต์ที่ทำเป็นรูปเรือสำเภาริมน้ำ
ผมจำได้ว่ามาคราวก่อนเพิ่งเริ่มสร้าง ยังเป็นนั่งร้านรุงรัง
ตอนนี้เสร็จเรียบร้อย แลเห็นองค์พระเป็นสีทองอร่ามงามตา
ก็เลยแวะเข้าไปนมัสการเป็นสิริมงคลกับการเดินทางเสียหน่อย
ก่อนจะขึ้นรถขับเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ลัดเลาะตามทางแคบขึ้นเขา ไปหยุดที่ลานวัดพระธาตูภูเข้า บนไหล่เขาดอยเซียงเมี่ยง
เดินตามบันไดรูปพญานาคปูนปั้นแผ่พังพานขึ้นไปจนสุดความสูง
ก็พบกับเขตพุทธาวาสอันเป็นลานกว้างบนยอดเขา ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วสองชั้น
มีทางขึ้น ๓ ด้าน
ตรงกลางลานเป็นอูบมุงก่อด้วยอิฐล้อมด้วยซากเจดีย์ขนาดเล็กที่ปรักหักพังเหลือแค่ฐาน
ส่วนด้านหน้าเชื่อมต่อกับวิหารสร้างใหม่ มีป้ายติดไว้ข้อความว่า “วัดพระธาตุภูเข้า
สร้างในปี พ.ศ. ๑๓๐๒ สมัยพญาลาวเก้าแก้วมาเมือง กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งหิรัญนครเงินยาง”
ทว่านักโบราณคดีที่เคยมาขุดคันลงความเห็นกันว่า ร่องรอยของโบราณสถานที่เห็นอยู่มัอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คือในยุคเมืองเชียงแสนเป็นราชธานีของล้านนาครับ แต่บางทีอาจจะเป็นการสร้างทับซ้อนลงบนโบราณสถานเก่าก็ได้ เห็นอย่างนี้มาหลายที่แล้ว
ทว่านักโบราณคดีที่เคยมาขุดคันลงความเห็นกันว่า ร่องรอยของโบราณสถานที่เห็นอยู่มัอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คือในยุคเมืองเชียงแสนเป็นราชธานีของล้านนาครับ แต่บางทีอาจจะเป็นการสร้างทับซ้อนลงบนโบราณสถานเก่าก็ได้ เห็นอย่างนี้มาหลายที่แล้ว
บนไหล่เขาที่ต่ำกว่าเขตพุทธาวาสลงมา ข้างวิหารใหม่ยังหลงเหลือซากพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่หักพังอยู่กลางหมู่ไม้
ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเป็นสมัยไหน
แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกับบรรยากาศขลัง ๆ ของโบราณสถานถือว่าเป็นจุดที่พลาดไม่ได้
ขับรถเรื่อยเปื่อยต่อไปตามทางจนไปทะลุออกตรงอำเภอแม่สาย
สมัยก่อนแถบนี้ก็เคยเป็นเวียงโบราณสมัยหิรัญนครเงินยางเหมือนกัน
ชื่อว่าเวียงพางคำ แต่เดี๋ยวนี้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองสมัยใหม่ไปเสียแล้ว
จะหาดูอะไรโบราณก็ไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ผู้คนเนืองแน่นตามแนวตึก แถวร้านค้าที่เรียงราย
มีแต่ข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าขายกันอยู่เต็ม
มาถึงตรงนี้ผมก็เลยขอลัดคิวไปเที่ยวเวียงโบราณที่มีส่วนสำคัญในการสถาปนาอาณาจักรล้านนาแห่งต่อไปเลยดีกว่า
แล้วผมก็ได้มาเดินลอยชายชมวัดวาอารามอยู่ในเมืองลำพูนในวันต่อมา
หลังจากที่พญามังรายได้ทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงรายแล้ว ก็ได้ทรงเริ่มกระบวนการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น
ประเดิมด้วยตีเมืองเล็กเมืองน้อยที่อยู่รายรอบอย่างเมืองมอบ
เมืองไร เมืองเชียงคำ แล้วโปรดให้ขุนนางในราชสำนักไปปกครองเมืองเหล่านี้แทน ก่อนจะเสด็จไปสร้างเมืองฝางในปี พ.ศ. ๑๘๑๒ เพื่อเป็นฐานที่มั่น จากนั้นก็ทรงบุกไปตีได้เมืองเชียงของ
เมืองเทิง เมืองลอ ก่อนจะทำสัตย์สาบานเป็นพระสหายกับพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยในเวลาต่อมา
เป้าหมายสำคัญที่สุดของพญามังรายในการขยายอาณาเขตก็คือการยึดเมืองหริภุญไชยครับ
เมืองหริภุญไชย หรือเมืองลำพูน
เป็นอีกเมืองในดินแดนภาคเหนือที่เป็นเมืองใหญ่พอฟัดพอเหวี่ยงกับหิรัญนครเงินยางเชียงแสน
ด้วยมีอายุอานามใกล้เคียงกัน แถมออกจะเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวิทยาการมากกว่าด้วยซ้ำไป
โดยตำนานเล่าถึงกำเนิดเมืองว่า ฤาษีวาสุเทพได้ร่วมกับฤษีสุกกทันต์จากเมืองละโว้
สร้างเวียงเป็นรูปหอยสังข์ขึ้น ขนานนามว่านครหริภุญไชย
แล้วทูลขอกษัตริย์จากเมืองละโว้มาปกครอง
กษัตริย์เมืองละโว้จึงทรงส่งพระราชธิดา คือพระนางจามเทวี
เสด็จตามลำน้ำปิงขึ้นมาครองราชย์ที่เมืองหริภุญไชยประมาณปี พ.ศ. ๑๓๑๑โดยทรงนำพระเถระ นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ช่างศิลป์ และอื่น ๆ จำพวกละ ๕๐๐ ร่วมขบวนเสด็จขึ้นมาด้วย
เมืองหริภุญไชยจึงได้เปรียบตรงที่พรั่งพร้อมด้วยศิลปวิทยาที่ถ่ายทอดมาจากละโว้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
และได้พัฒนาจนมีลักษณะเฉพาะตัวในยุครุ่งเรืองสุดขีด
กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชยร่วมสมัยเดียวกันกับพญามังรายคือพญายีบา ซึ่งก็คงมีความเข้มแข็งไม่น้อย
เพราะพญามังรายยังต้องทรงออกอุบายส่งหมื่นฟ้าเข้าไปเป็นไส้ศึกภายในเมืองหริภุญไชยล่วงหน้าก่อนถึง ๗ ปี ไม่กล้าผลีผลามบุกแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
รอสะสมกำลังพลและเสบียงอาหาร จนได้ที่แล้วถึงทรงกรีธาทัพเข้ายึดเมืองหริภุญไชยได้ในปี
พ.ศ. ๑๘๒๔
สิ่งที่พญามังรายได้จากหริภุญไชยนอกจากจะทำให้พระองค์มีอำนาจครอบคลุมเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือแล้ว
ที่สำคัญที่สุดต่อการตั้งเป็นอาณาจักรล้านนาก็คือศิลปกรรมและวิทยาการแขนงต่าง
ๆ ครับ
ศิลปกรรมของหริภุญไชยนั้นเจริญถึงขีดสุดจนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองในทุกด้าน น่าเสียดายครับที่วัดวาอารามในสมัยหริภุญไชยตอนต้น
คือในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ นั้น แทบไม่เหลือร่องรอยอะไรให้ดูให้ชมกันแล้ว
ผมลองเข้าไปดูในวัดมหาวัน หนึ่งในอารามที่ตำนานกล่าวว่าสร้างในสมัยพระนางจามเทวี
ปรากฏว่ามีแต่สถาปัตยกรรมสร้างใหม่ครับตอนนี้
ยังดีที่หลงเหลือโบราณสถานที่สร้างในยุคหริภุญไชยตอนปลาย คือในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ ให้เห็นอยู่บ้าง
เก่าสุดก็เห็นจะเป็น สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ หรือกู่กุด
เจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ๖๐ องค์ ในวัดจามเทวี ที่ในตำนานบอกว่าสร้างสมัยพญาทิตตะแห่งหริภุญไชย ประมาณปี พ.ศ.๑๖๑๖ แต่มาถูกปฏิสังขรณ์พร้อมกับการสร้างรัตนเจดีย์ สมัยพญาสววาธิสิทธิ์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถือว่ากลายเป็นศิลปะยุคหลังไปแล้ว
ทว่าถ้าพูดถึงความสวยงาม ก็ต้องนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมที่เป็นเอกลักษณ์ของหริภุญไชยอยู่ดี
ให้เดินวนเวียนดูทั้งวันก็ยังไหว ไม่เบื่อเลยครับ
ถัดมาคือพระธาตุหริภุญชัย ที่สร้างโดยพญาอาทิตตราช
ในปี พ.ศ. ๑๗๐๐โดยพระมเหสีของพระองค์
คือพระนางปทุมวดี ทรงสร้างสถูปสุวรรณเจดีย์
ที่จำลองแบบมาจากสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ขึ้นใกล้ ๆ ในเวลาเดียวกัน
แล้วก็ยังมีเจดีย์เชียงยัน ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงปราสาท
สร้างในสมัยหลังอีกองค์หนึ่ง ทั้งหมดอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย
ซึ่งมีสภาพดีที่สุดในบรรดาวัดโบราณทั้งหมด เพราะเป็นวัดศูนย์กลางของเวียงได้รับการทำนุบำรุงมาทุกยุคทุกสมัย
ลองแวะเข้าไปในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ปรากฏว่ามีศิลปกรรมชิ้นเยี่ยม ๆ ให้ดูให้ชมเยอะครับ ที่ผมชอบก็คือเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดี ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องราวความเป็นมากับตำนานยุคพระนางจามเทวี
มีทั้งเศียรทำจากศิลาทราย เศียรทำจากสัมฤทธิ์
ส่วนเศียรปูนปั้นบนโกลนศิลาแลงเป็นแบบศิลปะหริภุญไชยค่อนข้างชัด
แต่ที่ถือว่าเด็ดที่สุดเห็นจะเป็นพระพุทธรูปดินเผาหล่อครับ อย่าเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์หล่อเหลาแบบพระเอกหนังหรือพระเอกลิเก
เพราะความจริงเป็นการใช้แม่พิมพ์หล่อดินเป็นพระพุทธรูปและนำไปเผาไฟ
อันเป็นงานปฏิมากรรมที่เป็นกรรมวิธีเฉพาะของหริภุญไชย
ไม่เหมือนที่ไหนครับ นักโบราณคดีเขายังเคยขุดได้แม่พิมพ์พระพุทธรูปมาจากเวียงบริวารของหริภุญไชยด้วย
พระพุทธรูปยืนที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำของเจดีย์กู่กุดก็สร้างด้วยวิธีนี้เหมือนกัน
จะว่าไปแล้ว ตัวเมืองลำพูนนั้นไม่หลงเหลือร่องรอยความเป็นเวียงโบราณสักเท่าไหร่
เพราะถูกรุกรานโดยเมืองใหม่ ชมร่องรอยศิลปกรรมโบราณในเมืองแล้ว
ผมก็เลยมุ่งหน้าไปที่เวียงท่ากาน ในเขตอำเภอสันป่าตอง
จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในสามของเมืองบริวารของหริภุญไชย
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกเมืองแห่งนี้ว่าเวียงพันนาทะกาน
สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ อันเป็นยุครุ่งเรืองของหริภุญไชย
มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
บึ่งรถแผล็บเดียวผมก็เข้าสู่เมืองเก่าเวียงท่ากาน เพราะตั้งอยู่ห่างจากลำพูนแค่ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น
แวบแรกที่เป็นผมก็รู้สึกชอบใจในบรรยากาศแล้วครับ เพราะเป็นเมืองโบราณที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนแบบชนบท มีบ้านเรือนผู้คนอยู่รายรอบ แต่ก็ไม่มากจนเกินไป ช่วยทำให้โบราณสถานไม่ร้างไร้ชีวิตชีวา จุดศูนย์กลางของเมืองคือวัดกลางเวียง อยู่ติดกับตลาดเลยแหละ เข้าไปเดินเที่ยวดูโน่นดูนี่ในวัด พอหิวก็เดินออกมานั่งสั่งส้มตำกินได้สบาย บางทีผมก็เดินเล่นดูชาวบ้านเขาซี้อขายข้าวของกันในตลาดเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ สุโขสโมสรเหลือหลายครับ ไม่มีคำว่าเงียบเหงา
ในวัดกลางเวียงมีร่องรอยโบราณสถานหลายแห่ง มีทั้งที่เป็นเจดีย์และวิหาร
(เห็นว่ามีเจดีย์เหลี่ยมแบบกู่กุดด้วยเหมือนกัน เสียดายที่พังไปแล้ว)
ส่วนใหญ่เหลือแค่ส่วนฐาน ที่เป็นชิ้นเป็นอันก็คือเจดีย์แปดเหลี่ยมที่เป็นแบบหริภุญไชยองค์ใหญ่
กับเจดีย์แบบล้านนาอีกองค์เท่านั้น ปากทางเข้ามีศูนย์ข้อมูล
จัดแสดงนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเวียงท่ากานและข้อมูลการขุดค้นเอาไว้
ลองเกร่เข้าไปด้านหลังศูนย์ฯ
ปรากฏว่ามีห้องเก็บโบราณวัตถุที่ขุดค้นมาได้อยู่ด้วย จำพวกชิ้นส่วนพระพุทธรูป
ลวดลายปูนปั้น เห็นแล้วตาโต
เพราะบางชิ้นสวยงามอลังการเหลือหลาย เป็นบางประเทศเขาคงเอาไปจัดแสดงโชว์เดี่ยวในห้องกระจกกลางพิพิธภัณฑ์
ของเราเอามาเก็บเป็นกอง ๆ ในห้องเล็กที่มีแค่กรงลวดกั้น
น่าเสียดายครับ ของโบร่ำโบราณยิ่งนับวันจะมีแต่สาบสูญ
น่าจะจัดสรรงบประมาณมาสร้างอาคารเก็บให้ดีกว่านี้สักหน่อย
อย่างน้อยศิลปกรรมแบบหริภุญไชยที่แหละครับ ที่ส่งทอดรูปแบบหลายประการให้กับศิลปกรรมล้านนาในเวลาต่อมา
เมื่อพญามังรายทรงย้ายไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ชื่อว่า
เวียงกุมกาม
“หลังจากที่พญามังรายยึดครองและประทับอยู่ที่หริภุญไชยได้ ๒ ปี พระองค์ก็เสด็จมาสร้างเวียงกุมกามที่ตรงนี้”
สารถีอธิบายเสียงดัง เล่นเอาผมสะดุ้ง
นึกขึ้นมาได้ว่ากำลังนั่งรถม้าเที่ยวนครโบราณใต้พิภพอยู่
เผลอใจลอยถึงวันที่ผ่านนานไปหน่อยครับ
บรรยากาศการท่องเที่ยวในเวียงกุมกามไม่เหมือนแหล่งโบราณสถานที่ไหน เพราะจะมีศูนย์บริการอยู่ที่วัดช้างค้ำ
บริเวณลานวัดจัดเป็นกาดล้านนา มีอาหารท้องถิ่นพวกไส้อั่ว
แคบหมู ให้ซื้อติดไม้ติดมือไปแก้เหงาปาก
ก่อนจะเลือกขึ้นพาหนะที่เหมาะสมไปชมเมืองกัน มีทั้งรถโดยสารแบบเปิดโล่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่มากันเยอะเป็นกลุ่มใหญ่
รถสามล้อถีบและรถม้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาสองสามคน
ส่วนสำคัญที่สุดก็คือสารถีประจำพาหนะทุกคันจะเป็นมัคคุเทศก์ในตัว เล่าประวัติความเป็นมา ชี้จุดน่าสนใจ คุยเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวัดวาอารามแต่ละแห่งให้ฟัง ทำให้กองอิฐเก่า ๆ กลับดูเหมือนมีเรื่องราว มีชีวิตชีวาขึ้นมา ไม่น่าเบื่อ
“วัดนี้สมัยก่อนรกร้างเป็นป่า มีลิงค่างบ่างชะนีอาศัยอยู่เยอะเลยชื่อว่าวัดอีค่าง”
“บางวัดก็ได้ชื่อมาจากเจ้าของที่ดิน อย่างวัดหนานช้างเป็นที่ดินสวนลำไยของลุงหนานช้าง
กรมศิลป์เวนคืนมาขุดค้น เลยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติ”
“วัดปู่เปี้ยนี่แต่ก่อนมีปู่แก่ ๆ คนหนึ่งอาศัยอยู่ แกพิการเตี้ยหลังค่อม ภาษาพื้นเมืองเรียกว่าเปี้ย เลยเรียกว่าวัดปู่เปี้ย วัดนี้มีจุดเด่นตรงกำแพงแก้วเป็นรูปกากบาท กับเจดีย์ทรงปราสาทที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็จะเอียงซ้ายตลอด”
“ขุดพบซากพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ ในองค์พระมีตลับใส่พระบรมธาตุ ก็เลยสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทับเอาไว้ ชาวบ้านมาไหว้กันมาก เพราะว่าศักดิ์สิทธิ์”
“วัดกู่ป้าด้อมนี่ป้าแกอายุ ๙๔ แล้ว ยังมีชีวิตอยู่ ที่เห็นทำเป็นหลังคาคลุมไว้ เพราะมีลวดลายปูนปั้นสวยงาม ไม่ลงไปดูหน่อยหรือครับ”
บางคำถามจากนักท่องเที่ยวขี้สงสัย
ไม่น่าจะตอบได้ ก็ยังตอบ “นั่นควายของใคร
ทำไมมายืนอยู่หน้าวัดตรงนี้”
“อ๋อ ควายตัวนี้มันหนีออกมาจากโรงฆ่าสัตว์ครับ มาแอบที่วัดเจดีย์เหลี่ยม ร้องไห้น้ำตาไหลเลยนะ เจ้าของเขาตามมาจะเอาไปโรงฆ่าเพราะว่ารับเงินมาแล้ว ทางวัดสงสารก็เลยตั้งตู้รับบริจาคจากนักท่องเที่ยวได้เงินไถ่ชีวิตมันมาได้ เลยตั้งชื่อให้มันว่าบุญรอด แล้วก็ปล่อยมันหากินอยู่แถวนี้แหละ”
ผมเองมองหาอยู่แต่ว่าจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับศิลปกรรมหริภุญไชยบ้างหรือไม่
“เจดีย์เหลี่ยม หรือกู่คำ เป็นเจดีย์แห่งแรกที่พญามังรายทรงสร้างที่เวียงกุมกาม”
มองไปที่เจดีย์สี่เหลี่ยมสูงใหญ่ตระหง่านอยู่ตรงหน้า อันมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นทั้งสี่ด้าน ไม่รู้สึกแปลกใจสักนิดเลยว่าพญามังรายท่านเอาแบบอย่างเจดีย์แบบนี้มาจากไหน ดูมุมไหนก็เจดีย์แบบหริภุญไชยแท้ ๆ
เป็นอันว่ายืนยันครับ กับข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีเขาพบว่าตอนสร้างเวียงกุมกาม
พญามังรายรับเอารูปแบบทางศิลปกรรม รวมทั้งยังได้รับเอาคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างเมืองของหริภุญไชย
ที่เลือกสร้างเมืองในที่ลุ่มริมแม่น้ำมาด้วย เพราะก่อนหน้านี้พญามังรายทรงสร้างเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งจะทรงสร้างบนที่สูง คือบนดอย
ไม่สร้างในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง
หลังจากประทับอยู่หริภุญไชย ๒ ปี
พระองค์คงจะทรงเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการเลือกทำเลที่ตั้งของเมืองในลุ่มน้ำ
และพยายามที่จะทดลองในการสร้างเวียงกุมกามเป็นแห่งแรก แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะต่อมาเวียงกุมกามก็ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
จนพญามังรายต้องทรงปรึกษากับพระสหาย คือ
พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ในการเลือกสถานที่สร้างเมืองใหม่ที่จะเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา
ท้ายที่สุดจึงได้พื้นที่บริเวณนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ที่ได้ผ่านการพิสูจน์โดยการเวลามานานหลายศตวรรษแล้วว่าเป็นทำเลที่ดีเยี่ยมที่สุดเหมาะสมแก่การเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง
ส่วนเวียงกุมกามซึ่งชัยภูมิไม่เหมาะสมก็จมน้ำป๋อมแป๋มหายไป
แต่ก็ไม่สูญเปล่าครับยังคืนชีพกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่ได้อีก
ก่อนอำลาเวียงกุมกาม ผมแวะเข้าไปในศูนย์ข้อมูลที่จัดสร้างเอาไว้อย่างดี
เป็นห้องละหัวข้อ แต่ละห้องมีนิทรรศการแบบมัลติมีเดียเกี่ยวกับเรื่องเวียงกุมกามนำเสนอได้น่าสนใจ
ที่ผมชอบก็คือแบบจำลองเมืองใหม่ที่แยกออกจากกันด้วยไฮโดรลิก
แล้วมีแบบจำลองเมืองเก่าโผล่ขึ้นมาแทน ดูสนุกดีเหมือนกัน
แต่ที่สำคัญ วิทยากรนำชมยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวัดวาอารามที่ละเอียดกว่าไกด์สารถีมาเล่าให้ฟังมากมาย
ยกตัวอย่างที่ผมจำได้ดีก็คือเรื่องของวัดธาตุขาวครับ
วิทยากรสาวสวยเล่าให้ผม (และคนอื่น ๆ) ฟังถึงตำนานที่ว่า พระนางอั้วมิ่งเวียงไชย พระมเหสีของพญามังรายได้เสด็จมาบวชชีจนสิ้นพระชนม์ ณ วัดแห่งนี้ เนื่องจากพญามังรายได้มีพระมเหสีใหม่ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จยกทัพไปตีพม่า ทางพม่ายอมสวามิภักดิ์ โดยถวายพระราชธิดาปายโคมาเป็นพระมเหสี
พญามังรายได้ทรงสาบานกับพระนางตั้งแต่สมัยอยู่ที่เมืองเชียงแสนว่าจะไม่ทรงมีพระมเหสีคนอื่นใดอีก ดังนั้นต่อมาพญามังรายจึงเสด็จสวรรคตด้วยอสนีบาตระหว่างเสด็จประพาสตลาด
เนื่องมาจากทรงผิดคำสาบานที่ให้ไว้กับพระนาง และด้วยเหตุนี้ สาว ๆ
ที่ได้ยินเรื่องตำนานที่ว่า จึงนิยมพาแฟนหนุ่มของตัวเองมาสาบานที่วัดนี้
จริงหรือไม่จริงอย่างไร ก็ต้องไปถามคุณวิทยากรกันเอาเองครับ
ทางที่ดีสำหรับหนุ่ม ๆ ทั้งหลาย เวลาที่พาแฟนไปเที่ยวตามวัดวาอารามเก่า ๆ แบบเวียงกุมกาม ควรจะเข้าไปศึกษาหาข้อมูลประเภทนี้ในศูนย์ข้อมูลให้ดีเสียก่อน ว่าวัดไหนขลังเรื่องอะไรบ้าง อย่าเที่ยวไปสาบานสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่งั้นเกิดอะไรขึ้นมาหาว่าผมไม่เตือนไม่ได้นะ
ทางที่ดีสำหรับหนุ่ม ๆ ทั้งหลาย เวลาที่พาแฟนไปเที่ยวตามวัดวาอารามเก่า ๆ แบบเวียงกุมกาม ควรจะเข้าไปศึกษาหาข้อมูลประเภทนี้ในศูนย์ข้อมูลให้ดีเสียก่อน ว่าวัดไหนขลังเรื่องอะไรบ้าง อย่าเที่ยวไปสาบานสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่งั้นเกิดอะไรขึ้นมาหาว่าผมไม่เตือนไม่ได้นะ
เอ๊ะ เที่ยวเมืองโบราณล้านนาอยู่ดี ๆ
มาจบเรื่องนี้ได้ไงเนี่ย
เอกสารอ้างอิง
ไกรสิน อุ่นใจจินต์. เวียงกุมกาม
ราชธานีเรกเริ่มของล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. เชียงใหม่ : จรัสธุรกิจการพิมพ์, 2548.
บดินทร์ กินาวงศ์ และคณะ.
ประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย-เชียงแสน. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๔๖.
ศรีศักร วัลลิโภดม. ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ.
กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๘.
ศิลปากร, กรม. เวียงกุมกาม
รายงานการขุดแต่งศึกษาและบูรณะโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๔.
ศิลปากร, กรม. เวียงท่ากาน
รายงานการขุดแต่งศึกษาและบูรณะโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๔.
สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม
การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 4. เชียงใหม่ : วิทอิน ดีไซน์, ๒๕๔๘.
สันติ เล็กสุขุม. หริภุญชัย-ล้านนา.
กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๘.
เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา.
กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๒๖.
คู่มือนักเดินทาง
เส้นทางสายประวัติศาสตร์ล้านนาสายนี้สามารถขับรถท่องเที่ยวในลักษณะวงรอบได้
เริ่มต้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๘ ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด
อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย
แล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ผ่านเมืองเชียงรายตรงขึ้นไปจนถึงอำเภอแม่สาย แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๙๐ ไปยังอำเภอเชียงแสน
จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๖ กลับมาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ที่อำเภอแม่จัน ผ่านเมืองเชียงราย ผ่านอำเภอพาน อำเภอแม่ใจ และจังหวัดพะเยา ตรงมาจนถึงจังหวัดลำปาง แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑ ผ่านเมืองลำพูน ผ่านอำเภอสารภี
เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น