วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เที่ยววัดรอบเวียงเมืองเชียงใหม่


เที่ยววัดรอบเวียงเมืองเชียงใหม่

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ




            แสงสวยของยามเย็นระบายผืนฟ้าเหนือวัดพระสิงห์ด้วยสีสันตระการตา แสงไฟสีอำพันจากแผงร้านค้าสองฟากฝั่งถนนสว่างไสว 
มาได้เวลาพอดี พี่นพดลเห็นแล้วยิ้มแฉ่ง จัดแจงกางขาตั้งกล้องเก็บภาพความเป็นไปตรงหน้าของถนนคนเดิน อีกรูปแบบหนึ่งของตลาดนัดที่จัดให้มีขึ้นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ บนถนนสายยาวซึ่งทอดตัวจากหน้าวัดพระสิงห์ไปจดประตูท่าแพ
ผมปล่อยให้ช่างภาพหามุมมองตามสบาย เดินทอดน่องดูโน่นดูนี่ไปเรื่อย  มองเผิน ๆ ที่นี่อาจจะคล้ายตลาดนัดทั่วไปครับ คือเป็นแผงลอยเรียงราย ข้าวของที่วางขายก็เป็นจำพวกอาหารการกิน เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ไม่แตกต่างจากตลาดนัดที่เคยเห็นที่อื่น  แต่ดูกันจริง ๆ แล้ว ถนนคนเดินกลางเมืองเชียงใหม่แตกต่างด้วยรายละเอียดที่แทรกแซม
ว่ากันตั้งแต่อาหารการกิน อาหารท้องถิ่นเหนือจำพวก น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว แคบหมู ข้าวซอยบนรายทางก็ให้อารมณ์แบบเหนือ ๆ  ไม่เบา เสื้อผ้าพื้นเมืองก็เป็นอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ สาวน้อยในชุดพื้นเมืองล้านนาที่นั่งเฝ้าแผงผ้าซิ่นกับชุดชาวเขาหลากเผ่า ทำเอาหนุ่ม ๆ ที่มาเดินหลายคนอยากแปลงตัวเป็นชาวเขาขึ้นมากระทันหัน เหลียวมองดูของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน จำพวกไม้แกะสลักก็ดูเป็นเมืองเหนืออีกนั่นแหละ ยิ่งได้ฉากหลังเป็นเรือนไม้ วัดวาอารามสถาปัตยกรรมล้านนา เป็นเงารำไรอยู่ในความมืดด้วยแล้ว  ได้บรรยากาศอย่าบอกใคร 
แหม ก็รู้กันอยู่ครับว่า แต่ไหนแต่ไรมาบรรยากาศนี่แหละที่ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับแถวหน้ามาตั้งแต่เริ่มต้นยุคท่องเที่ยว 
เพลงระดับอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลทั้งหลาย ยังมีหลายต่อหลายเพลงที่เนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ในเชียงใหม่ อย่างเช่น สักขีแม่ปิง วิมานรักห้วยแก้ว  ฯลฯ  อะไรอีกก็จำไม่ได้แล้ว แต่มีเยอะก็แล้วกัน (เกิดไม่ทันครับแฮ่ม ) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เห็นว่าเชียงใหม่น่ะ โรแมนติคไม่ใช่เบา
ยังเคยฟังพี่ ๆ รุ่นเก๋าที่ ททท. บางคนเล่าให้ฟังถึงว่ามีความหลังฝังใจ ว่าสมัยหนุ่ม ๆ มาเที่ยวงานฤดูหนาว ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นงานใหญ่ของจังหวัดจัดกันที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด ได้มาพบรักขี่มอเตอร์ไซค์คุยกับสาวเจียงใหม่กระหนุงกระหนิง ช่วงเช้าวันนี้ผมผ่านไปเห็นอดนึกถึงเรื่องที่ฟังมาไม่ได้ ลองแวะเข้าไปดู  เป็นสวนสาธารณะเล็ก ๆ พื้นที่ไม่กว้างใหญ่เท่าไหร่ แต่สำหรับเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ผู้คนยังไม่มากมายอย่างนี้ ก็คงพอเหมาะพอสมดี  
             ผมเองก็มีความหลังกับเขาเหมือนกันครับ แต่ไม่โรแมนติคเท่าไหร่หรอก เพราะมาเชียงใหม่ครั้งแรกกับทัวร์ที่มีโปรแกรมไปเที่ยวไม่กี่แห่ง แวะสวนสัตว์เชียงใหม่หน่อยนึง แล้วก็ไปชมงานมหกรรมกล้วยไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กับขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพเท่านั้น 
กระนั้นก็ยังไม่วายติดใจกับบรรยากาศเข้าให้อย่างจัง  ประทับใจที่สุดก็ตอนฝ่าละอองฝนขึ้นบันไดไหลตามคลื่นมหาชนท่ามอากาศหนาวเย็น ไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพสีทองอร่ามเรืองรองอยู่ในม่านหมอกที่ปกคลุมอาณาบริเวณรอบข้างจนขาวโพลนไปหมด รู้สึกยังกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ยังจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้   
             มีโอกาสได้มาอีกทีช่วงทำงานธนาคาร  ผมกับเพื่อนร่วมงานชวนกันมาเที่ยวช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์  นั่งรถไฟมาจากกรุงเทพ ฯ ตอนเย็นวันศุกร์ ถึงวันเสาร์ตอนเช้า เช่ารถยนต์ขับเที่ยว เย็นวันอาทิตย์ค่อยขึ้นรถไฟกลับ 
ไปด้วยกันแต่ทัศนคติไม่ตรงกันเท่าไหร่ครับ เพื่อน ๆ ของผมส่วนใหญ่จะชอบเมืองเชียงใหม่ตรงที่อยู่ใกล้ทิวทัศน์ธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ขับรถออกนอกเมืองไปนิดเดียวก็มีทั้งน้ำตก ภูเขา ป่าไม้ รีสอร์ตสวย ๆ งาม ๆ มากมาย  ในขณะที่ผมชอบตรงเมืองเชียงใหม่มีวัดเก่า ๆ สวย ๆ มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่แพ้กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยาที่ผมหลงใหลนักหนา      
  ศิลปกรรมตามวัดวาอารามในเมืองเชียงใหม่แบ่งได้อย่างคร่าว ๆ ตามเหตุการณ์บ้านเมืองในประวัติศาสตร์ เป็นล้านนาในยุคแรก กับล้านนาในยุคหลังครับ
ยุคแรกนั้นก็นับตั้งแต่การสถาปนาอาณาจักรล้านนา ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละครับว่า พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาได้ทรงรวบรวมแว่นแคว้นใหญ่น้อยในภาคเหนือให้เป็นปึกแผ่น โดยหลังจากตีเมืองหริภุญไชยได้แล้วก็ได้เสด็จมาสร้างเวียงกุมกามขึ้นเป็นราชธานีแห่งแรก
แต่สร้างเสร็จแล้วถึงรู้ว่าชัยภูมิไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมเป็นประจำ


 ทรงปรึกษาหารือกับพระสหายคือพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งพะเยาเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งเมืองหลวงของล้านนา ได้ที่อันเหมาะสมแล้วจึงทรงย้ายเมืองหลวงมาสร้างเมืองเชียงใหม่ ส่วนเวียงกุมกามก็กลายเป็นเมืองสำคัญทางศาสนาไป ก่อนจะมาถูกทิ้งร้างให้น้ำท่วมไปในยุคหลัง ๆ
หลังจากรัชกาลของพญามังราย  กษัตริย์ล้านนาทรงย้ายไปประทับเชียงแสนอยู่ ๓ รัชกาล  เชียงใหม่มีฐานะเป็นเพียงเมืองลูกหลวง จนถึงรัชกาลพญาผายู  พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ ไม่เสด็จไปประทับเชียงแสนเหมือนรัชกาลก่อน ๆ  นับแต่นั้นเชียงใหม่ก็ได้เป็นราชธานีของล้านนาอย่างต่อเนื่อง
ช่วงที่ถือว่าเป็นยุคทองจริง ๆ ของเชียงใหม่ก็คือช่วงตั้งแต่รัชสมัยของพญากือนา พญาแสนเมืองมา พญาสามฝั่งแกน พญาติโลกราช จนกระทั่งถึงพญาแก้ว เป็นช่วงที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก  โบราณสถานโบราณวัตถุที่เห็นในเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะสร้างในระยะนี้แหละครับ
หลังจากนั้นอาณาจักรล้านนาก็เริ่มเสื่อมถอย เพราะเกิดการแย่งชิงความเป็นใหญ่กันในราชสำนักในช่วงรัชกาลต่อมาคือสมัยพระเมืองเกษเกล้า และเจ้าท้าวซายคำ กระทั่งกลุ่มขุนนางต้องอัญเชิญมหาเทวีจิระประภาขึ้นเป็นกษัตริย์ชั่วคราว  ก่อนที่พระนางจะสละราชสมบัติให้พระเจ้าไชยเชษฐาซึ่งเสด็จจากล้านช้างมาครองราชย์  ไม่นานพระเจ้าไชยเชษฐาทรงต้องเสด็จกลับไปครองนครล้านช้างแทนพระราชบิดาที่สวรรคต เหล่าขุนนางจึงมีมติให้เชิญพระเจ้าเมกุฎิขึ้นครองราชย์แทน  ซึ่งก็ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย เพราะบุเรงนองได้กรีฑากองทัพพม่าเข้ามายึดครองเมืองเชียงใหม่ในปีพ.. ๒๑๑๐ ปิดฉากล้านนาในยุคแรกลงไป  
            ส่วนล้านนาในยุคหลังเริ่มต้นหลังจากพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ได้ร่วมกันกอบกู้เอกราชล้านนาจากพม่าโดยเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินขอกองทัพไปช่วยขับไล่พม่าในดินแดนล้านนา  ในเวลาต่อมาพระยากาวิละได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้ปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราช  รวบรวมผู้คนจากแว่นแคว้นใกล้เคียงทางตอนเหนือและสองฟากฝั่งลำน้ำสาละวินเข้ามาบูรณะฟื้นฟูบ้านเมือง เรียกกันว่า เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”  ทำให้รับเอาศิลปกรรมของกลุ่มชนเหล่านี้เข้ามาด้วย และเมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม ก็มีการเข้ามาทำไม้โดยพ่อค้าไม้ชาวพม่าซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษ ก็ได้นำเอาศิลปกรรมแบบพม่าเข้ามาผสมผสานเข้าไปอีก
            แบ่งเป็นยุคสมัยคร่าว ๆ อย่างนี้แล้วก็พอจะทำให้เข้าใจถึงศิลปกรรมที่พบเห็นตามวัดได้ง่ายขึ้นครับ ยากอยู่ก็ตรงต้องเลือกว่าจะไปดูวัดไหนบ้าง วัดไหนก่อนก่อนวัดไหนหลังนี่แหละ เพราะมีวัดอยู่เยอะแยะอึตตะปือนัง  ทั้งวัดเก่าวัดใหม่ เที่ยวทั้งหมดก็คงไม่ไหว ต้องเลือกเฉพาะที่มีความสำคัญและน่าสนใจจริง ๆ  (แต่ถ้าใครมีเวลาเยอะ จะเที่ยวทุกวัดผมก็ไม่ว่าหรอกนะ)
             การเที่ยววัดในเมืองเชียงใหม่ผมเคยพยายามลองมาหลายวิธีแล้วครับ จะเดินก็รู้สึกว่าไกลไป เดินไม่กี่วัดก็ลิ้นห้อย ขี่จักรยานก็เร็วขึ้นมาหน่อย แต่ต้องออกแรงเหงื่อไหลไคลย้อย เหนื่อยเข้าก็หมดอารมณ์สุนทรีย์จะชมดูอะไร แถมเสี่ยงกับยวดยานที่ขับกันเฟี้ยวฟ้าว เช่ารถยนต์ขับก็ไม่สะดวก เพราะที่จอดรถหายากไม่แพ้ในกรุงเทพฯ  ต้องคอยหาที่จอดทุกวัด แถมต้องเปิดประตูขึ้น ๆ ลง ๆ พานให้ขี้เกียจเลิกอยากเที่ยวเอาง่าย ๆ 
ล่าสุดคราวนี้ผมก็เลยตัดสินใจหันมาลองใช้บริการสามล้อเครื่อง ดูแล้วน่าจะเข้าท่าที่สุด เป็นการกระจายรายได้ไปในตัว แถมไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อย ตัวรถกระทัดรัดซอกแซกได้คล่องแคล่ว ขึ้นลงได้สะดวก เพราะไม่มีประตู  เรื่องที่จอดก็ไม่ต้องห่วง คนขับก็ชำนาญทาง บอกว่าไปวัดไหนจัดให้ได้ไม่มีหลงให้ต้องเสียเวลา

            เดี๋ยวไปวัดสวนดอกกันก่อน จากนั้นก็ไปวัดอุโมงค์ วัดเจ็ดยอด วัดเจดีย์ป่องแล้วก็วัดฯลฯ พี่เปี๊ยก จอมสารถีคันที่เราเลือก  วางแผนเส้นทางให้เราเสร็จสรรพ แค่เอ่ยปากว่าจะไปเที่ยววัดเท่านั้น พวกเราไม่ต้องทำอะไร แค่โดดขึ้นนั่ง รถก็ออกวิ่งปร๋อไปยังจุดหมาย
            โอ้โห เดี๋ยวนี้เจดีย์หุ้มทองเสียสวยเชียว พี่นพดลอุทานด้วยความตื่นเต้นเมื่อรถเลี้ยวเข้าวัดสวนดอกแล้วเห็นเจดีย์ใหญ่ที่เคยขาวโพลนเหลืองอร่ามด้วยแผ่นทองตัดกับผืนฟ้าครามโดดเด่นอยู่ท่ามกลางกู่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือสีขาวขนาดใหญ่น้อยที่เรียงราย ยังงี้ภาพเจดีย์ขาว ๆ ที่เราเคยถ่ายไว้ก็เป็นภาพประวัติศาสตร์ไปแล้วน่ะสิ
            พูดถึงภาพประวัติศาสตร์ ผมก็เลยนึกไปถึงภาพถ่ายโบราณของวัดสวนดอกที่เคยเห็น  สมัยนั้นมีเจดีย์รายองค์หนึ่งเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ตั้งอยู่ด้านหน้า เป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างล้านนากับสุโขทัย  เสียดายที่ถูกบูรณะเป็นเจดีย์แบบล้านนาไปเสียแล้ว  ผมเคยขับรถเที่ยวดูวัดรอบ ๆ เมืองเชียงใหม่ จำได้ว่ายังมีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์อีกแห่งก็คือที่วัดธาตุกลาง แถวประตูเชียงใหม่ เลยโรงแรมเชียงใหม่เกทเข้าไปนิดนึง เป็นวัดร้างล้อมรอบด้วยบ้านเรือนผู้คนและหอพัก น่าจะเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์องค์สุดท้ายที่เหลืออยู่ในเชียงใหม่  ก็หวังว่าคงจะไม่ถูกบูรณะจนกลายเป็นอย่างอื่นหรือถูกรื้อถอนหายไปไหนอีกอย่างที่วัดสวนดอกนี่
                 วัดสวนดอกมีอีกชื่อว่าวัดบุปผาราม มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพญากือนา พระองค์ได้ทรงนิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในเชียงใหม่ ซึ่งท่านก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ๒ องค์ พญากือนาจึงโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขึ้น ๒ แห่ง คือที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และที่วัดสวนดอกอันเป็นที่จำพรรษาของท่านสุมนเถระ บริเวณวัดยังเคยเป็นอุทยานหลวงของเจ้านายฝ่ายเหนือ ว่ากันว่าแต่ก่อนดารดาษไปด้วยต้นพยอม แต่ตอนนี้เห็นมีต้นพยอมเหลืออยู่ไม่กี่ต้น ชื่อของกาดต้นพยอมที่อยู่ใกล้ ๆ ก็มีที่มาจากวัดนี้แหละ ความจริงน่าจะมีใครคิดปลูกกันขึ้นมาใหม่ให้เป็นดงเหมือนเดิม คงได้บรรยากาศขึ้นอีกจมทีเดียว           
                  สามล้อคันเก่าพาเราลัดเลาะลดเลี้ยวถนนน้อยใหญ่เข้าสู่ความร่มครึ้มของสวนพุทธธรรม   วัดอุโมงค์ หรือวัดเวฬุกัฏฐาราม บรรยากาศคล้าย ๆ สวนโมกขพลารามที่อำเภอไชยา โดยเฉพาะตรงที่มีโรงมหรสพทางวิญญาณให้ชมด้วย  ตามประวัติมีอยู่ว่าวัดนี้สถาปนาขึ้นในสมัยพญามังราย เพื่อให้พระฝ่ายอรัญวาสีหรือที่เรียกว่พระป่าจากลังกาที่มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาจำพรรษา ล่วงมาในสมัยพญากือนาได้ทรงสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ให้กับมหาเถรจันทร์ที่พระองค์เลื่อมใส เพื่อใช้ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา  
                ว่ากันว่าภายในเคยมีภาพจิตรกรรมอดีตพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ลบเลือนไปมองไม่เห็นแล้ว
ใต้ร่มเงาไม้หน้าอุโมงค์ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาะเกะระกะ ตะไคร่ขึ้นเขียวครึ้ม เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความเก่าแก่ของอารามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี บรรยากาศแบบนี้ถูกใจผมนัก ถ่ายภาพกันเพลินไปเลยครับ  ก่อนจะเดินขึ้นบันไดไปชมเจดีย์ทรงระฆังตั้งเด่นเป็นสง่ากลางลานกว้างเหนืออุโมงค์ ที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับเจดีย์อื่น ๆ ในเชียงใหม่ นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่อีกองค์หนึ่งของล้านนา  แต่จะเก่าแค่ไหนยังไม่รู้แน่ ต้องรอให้หาหลักฐานมาพิสูจน์กันอีกที


               ออกจากวัดอุโมงค์ได้สารถีของเราก็พาตรงดิ่งไปวัดเจ็ดยอด  เจดีย์เจ็ดองค์ตั้งอยู่บนฐานสูงสี่เหลี่ยมแลเห็นได้แต่ไกล  จะว่าเป็นเจดีย์ที่รูปทรงแปลกที่สุดในเชียงใหม่ก็น่าจะได้ สร้างในสมัยพญาติโลกราชโดยโปรดฯ ให้ถ่ายแบบมาจากมหาโพธิเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นที่ระลึกในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งใหญ่ที่พระองค์ทรงจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและเป็นครั้งที่ ๘ ของโลกที่วัดแห่งนี้  ในครั้งนั้นพญาติโลกราชยังได้โปรดให้สร้างสัตตมหาสถานคือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติทั้งเจ็ดแห่ง  คือโพธิบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ และราชายตนเจดีย์ ขึ้นไว้ด้วย
น่าเสียดายที่ตอนนี้เหลือให้ดูอยู่แค่ ๓ แห่งเท่านั้นคือ อนิมิสเจดีย์ สถานที่พระพุทธองค์ประทับยืนทอดพระเนตรโพธิ์บัลลังก์ที่ประทับและทรงตรัสรู้เป็นเวลา ๗ วัน ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ยอดหักหาย มีซุ้มจระนำเล็ก ๆ ประดับลวดลายปูนปั้นสวยงามตระการตา กับรัตนฆรเจดีย์ สถานที่พระพุทธองค์ประทับพิจารณาพระอภิธรรม ๗ วัน หลังจากที่ทรงตรัสรู้ เป็นมณฑปที่เหลือแค่ส่วนฐาน และมุจจลินทร์เจดีย์ สถานที่พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นจิกเสวยวิมุติสุขภายหลังทรงตรัสรู้ เหลือเป็นมณฑปฐานสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของพญาติโลกราชอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ด้วย
  วัดนี้ไม่ใช่เรอะ ที่เคยมีข่าวว่าตอนตัดไฮเวย์เชียงใหม่มีการจะมาไถเจดีย์ทิ้ง พี่นพดลหันมาถาม ผมหันไปมองริมถนน ยังเห็นฐานเจดีย์องค์หนึ่งประชิดติดขอบทาง เป็นหลักฐานว่าถนนตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ของวัด ดีที่ไม่ถูกไถทิ้ง แต่ผังของวัดก็เสียทรงไป แปลกดีเหมือนกันประเทศไทย ตัดถนนมาเจอโบราณสถานเมื่อไหร่เป็นต้องไถทิ้ง  ได้ยินเรื่องแบบนี้ทีไรอยากจะร้องเพลง ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย
เดี๋ยวไปวัดเจดีย์ป่องร้างกัน พี่เปี๊ยกหันมาบอกเมื่อเห็นเราเดินมาขึ้นรถ  ก่อนจะบิดคันเร่งพุ่งทะยานข้ามฝั่งถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอย ซอกแซกซ้ายขวาแผล็บเดียวก็เห็นเจดีย์ทรงกลมมีซุ้มหน้าต่างโดยรอบซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ รวม ๗ ชั้น เด่นสง่าเสียดฟ้าอยู่  ริมประตูมีป้ายชื่อวัดเชียงโฉม พร้อมข้อมูลระบุว่าเป็นวัดเก่าปรากฏชื่อในพงศาวดารว่าสมัยมหาเทวีจิระประภา พวกเงี้ยวยกทัพผ่านมาทางวัดนี้ เข้าไปตีเชียงใหม่ อายุอานามของเจดีย์ก็ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
เจดีย์แบบนี้มีแค่ ๓ องค์ในเชียงใหม่ครับ องค์หนึ่งอยู่ที่วัดร่ำเปิงนอกเมือง อีกองค์อยู่ที่วัดพวกหงษ์ ติดกับด้านหลังของสวนสาธารณะหนองบวกหาด วันนั้นผมไปสวนสาธารณะยังแวะเข้าไปดูอยู่เลย มาดูที่นี่อีกแห่งก็ถือว่าครบชุด ๓ ใบเถาพอดี
อ้าว ไม่ร้างแล้วนี่ มีวัดมาตั้งแล้วโชเฟอร์อุทานเมื่อเดินไปเดินมาเห็นว่าอีกฟากหนึ่งของเจดีย์มีวิหารใหม่กำลังก่อสร้างอยู่ 
นั่นสิ รู้สึกเดี๋ยวนี้เขาจะบูรณะวัดร้างขึ้นมาใหม่ให้มีพระจำพรรษา เห็นมาหลายวัดแล้ว เห็นเขาว่าถวายเป็นพระราชกุศลครองราชย์ครบ ๖๐ พรรษา ผมว่า พลางนึกไปถึงวันก่อนขับรถไปดูเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ที่เคยเห็นตรงวัดธาตุกลางแถวประตูเชียงใหม่ว่ายังอยู่ดีรึเปล่า แล้วเลยเข้าไปดูวัดยางกวงที่เมื่อปีก่อนหมายตาว่าเอาไว้ว่าจะมาเก็บภาพ เพราะรกร้างได้บรรยากาศมีต้นโพธิ์ใหญ่ร่มครึ้มหน้าวิหาร กับเจดีย์เหลี่ยมฐานสูงคร่ำคร่า ขลังอย่าบอกใคร ปรากฏว่าเข้าไปตอนนี้กำลังก่อกำแพงอย่างดี ต้นโพธิ์หน้าวิหารเก่าถูกตัดเสียเหี้ยนเตียน รอบเจดีย์ก็มีการเทเสาเทคานคอนกรีตเตรียมก่อสร้างอย่างเต็มที่ 
อีกวัดหนึ่งก็วัดโลกโมฬีริมคูเมือง ติดกับปั๊มน้ำมันเจ็ท นั่นวัดสำคัญเสียด้วย ตามประวัติว่าสร้างเมื่อพ.. ๑๙๑๐ สมัยพญากือนา ได้อาราธนาพระสงฆ์ของอุทุมพรบุปผามหาสามีเจ้ามาจำพรรษาที่วัดนี้ เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาในล้านนา เจดีย์สร้างในพ.. ๒๐๗๐  สมัยพญาแก้ว เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาเมืองเกษเกล้า เมื่อก่อนเห็นมีเจดีย์ร้างอยู่องค์เดียว สร้างวิหาร ทำซุ้มประตูโขงเสียอย่างสวยงามเรียบร้อยไปแล้ว
จอมสารถีบึ่งรถพาเราออกเดินทางต่อไปทางประตูช้างเผือก ผ่านเจดีย์วัดปันสาด เจดีย์ทรงปราสาทอลังการด้วยลวดลายปูนปั้นที่ยืนเดียวดายอยู่ระหว่างปั๊มน้ำมันและตึกแถวโทรม ๆ ก่อนจะเลี้ยวเข้าไปใน วัดกู่เต้า หรืออีกชื่อหนึ่งคือวัดเวฬุวันอันหมายถึงวัดที่อยู่ในป่าไผ่  แต่วันนี้เหลียวซ้ายแลขวาไม่มีไผ่ให้เห็นสักต้น เหลือแต่ชื่อ ดีที่ภายในบริเวณยังร่มเย็นด้วยเงาของแมกไม้อยู่บ้าง
ที่เห็นเด่นตระหง่านกลางลานล้อมรอบด้วยวิหารและอาคารสูงคือเจดีย์ซ้อนกัน ๕ ชั้น  คล้าย ๆ เจดีย์ป่องเมื่อกี้ แต่ที่นี่เป็นทรงกลมรูปแตงโมซ้อนกันมีซุ้มประตูสี่ทิศ เป็นที่มาของชื่อกู่เต้า (กู่แปลว่าเจดีย์ เต้าแปลว่าแตงโม) ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาแน่ชัด แต่มีตำนานเล่าว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าเม็งมหานรธา โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งได้ยกทัพมายึดครองเชียงใหม่ 
จากวัดกู่เต้าตุ๊กตุ๊กเจ้าเก่าพาเรามาถึง วัดเชียงมั่น ที่ในวิหารประดิษฐานพระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาว พระพุทธรูปโบราณสมัยทวารวดีที่พระนางจามเทวีทรงนำมาจากละโว้เมื่อครั้งเสด็จมาครองเมืองลำพูน เมื่อพญามังรายตีเมืองลำพูนได้อัญเชิญมาพร้อมกับพระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี ศิลปะคุปตะ ถือกันว่าเป็นวัดหลวงแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ ตามตำนานเล่าว่าพญามังรายโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์เหลี่ยมด้านหน้ามีบันไดทางขึ้น ประดับตกแต่งด้วยช้างปูนปั้นล้อมรอบรวม ๑๕ เชือก  ขึ้นตรงที่ประทับของพระองค์เมื่อแรกเสด็จมาสร้างเวียงเชียงใหม่ 
  แต่ปรากฏว่าพอเรามาที่วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ กลับได้ยินได้ฟังตำนานเรื่องวัดแรกในเชียงใหม่เหมือนกัน แต่เป็นคนละวัด  ระหว่างที่พวกเรารอชมหลวงพ่อสมใจนึกพระประธานในอุโบสถที่เลื่องลือกันว่าพระพักตร์ของท่านเปลี่ยนอารมณ์ยิ้มได้ บึ้งได้ ร้องไห้ได้  (อะเมซิ่งจริงครับ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ) ท่านเจ้าอาวาสก็เล่าตำนานอีกเรื่องให้ฟังว่าวัดแรกที่สร้างพร้อมเมืองเชียงใหม่จริง ๆ คือวัดอุโมงค์เถรจันทร์แห่งนี้ต่างหาก โดยแต่เดิมชื่อวัดโพธิ์น้อย พญามังรายได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นกับวัดนางเหลียว ตรงโรงเรียนพระยุพราช แล้วจึงทรงสร้างวัดเชียงมั่นทีหลัง แต่ ชื่ออันเป็นมงคลนามของวัดเชียงมั่นฟังแล้วให้รู้สึกว่ามั่นคง (ที่สำคัญฟังแล้วเท่กว่าโพธิ์น้อยหรือนางเหลียว ) ก็เลยยกให้วัดเชียงมั่นครองตำแหน่งวัดแรกไปเพื่อความเป็นสิริมงคลของเมือง 
เรื่องตำนานก็อย่างนี้และครับ ส่วนใหญ่มักจะมีหลายเวอร์ชั่นเสมอ นักท่องเที่ยวอย่างเราก็แค่ฟังเอาไว้ อย่าไปซีเรียส ปล่อยไว้เดี๋ยวนักโบราณคดีเขาก็หาหลักฐานพิสูจน์กันเอง
ในบริเวณวัดอุโมงค์นี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกอย่างก็คืออุโมงค์ที่พญากือนาสร้างถวายมหาเถรจันทร์ใต้เจดีย์โบราณหน้าอุโบสถ สำหรับใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เล่าขานกันว่ามีอุโมงค์ลับใต้ดินเชื่อมระหว่างวัดอุโมงค์แห่งนี้กับวัดอุโมงค์ที่เชิงดอยสุเทพที่เราไปมาเมื่อเช้าอีกด้วย เมื่อพระมหาเถรจันทร์ต้องการความสงบท่านก็จะไปนั่งวิปัสสนาที่วัดอุโมงค์นอกเมือง เมื่อต้องพบปะอุบาสกอุบาสิกาญาติโยมท่านก็จะกลับมาที่วัดนี้ อุโมงค์ลับอยู่ตรงไหน มีจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ครับ ที่แน่ ๆ เป็นอีกเรื่องที่ฟังแล้วก็ตื่นเต้นระทึกใจดี ทำให้การเที่ยวมีสีสันขึ้นอีกจม
หิวแล้วละ พี่พาไปหาอะไรกินหน่อยสิ ผมเริ่มโอดครวญ เมื่อกลับออกมาจากวัดแล้วเห็นนาฬิกาปาเข้าไปบ่ายโมง
 ได้เลย แถวนี้นะ เจ้าอร่อยต้องก๋วยจั๊บ ยอดโชเฟอร์บิดคันเร่งปื้ด ตีโค้งเทียบหน้าร้านข้างหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ใจกลางเมือง แต่ปรากฏว่าสายไปครับ ขายหมดเสียแล้ว
งั้นไปฟากโน้น บึ่งไปอีกด้านเป็นร้านข้าวมันไก่ที่พวกเรามากินทุกเช้า อร่อยยังไงจะให้กินทุกมื้อคงไม่ไหว ตกลงมื้อนั้นเราเลยต้องไปลองกินข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านถัดไปแทน
 แถวที่เรามากินข้าวกันนี้แต่เดิมก็เป็นวัดโบราณที่สำคัญคือวัดอินทขิลหรือวัดสะดือเมือง อันเป็นจุดกึ่งกลางของเมือง เสาหลักเมืองเชียงใหม่โบราณก็เคยอยู่ตรงนี้ ตามคติความเชื่อเดิมของชาวพื้นเมืองเชื่อกันว่าฤาษีผู้สร้างเวียงในยุคก่อน ๆ ได้กำหนดให้มีเสาอินทขิลเป็นหลักของเมืองโดยมียักษ์ ๒ ตนพิทักษ์รักษา ผู้ครองเมืองจะต้องบูชาเสาอินทขิลและเลี้ยงดูยักษ์ให้ดี  ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะพบกับความวิบัติ
หลังกรุงศรีอยุธยาแตกเชียงใหม่ก็เป็นเมืองร้าง กระทั่งเจ้ากาวิละขึ้นเป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงมาสร้างหอคำบริเวณวัดสะดือเมือง แล้วย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวงแทน  ยิ่งไปกว่านั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีการตัดถนนผ่าเข้ามากลางวัดอีกต่างหาก วัดอินทขิลก็เลยหมดความสำคัญไป เรากินข้าวกันเสร็จเดินผ่านไปตามถนนยังเห็นพระพุทธรูปในวิหารเก่าอยู่ริมทางฝั่งหนึ่ง เจดีย์แบบล้านนาอยู่ในรั้วศูนย์วัฒนธรรมอีกฝั่งหนึ่ง แถมยังมีร่องรอยเพิ่งจะขุดค้นทางโบราณคดีไปหมาด ๆ ด้วย

เอาละ ไหน ๆ มาถึงใจกลางเมืองแล้ว เราก็เลยถือโอกาสตามรอยเสาอินทขิลเสียเลยท่าจะดี เพราะวัดเจดีย์หลวงก็อยู่ใกล้ ๆ กันแค่นี้ เดินย่อยอาหารไปในตัว

ผ่านวัดพันเตา เราก็อดไม่ได้ที่จะเลี้ยวเข้าไปชมตัววิหารซึ่งสร้างจากไม้ทั้งหลังเดิมเป็นหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศให้เต็มตา โดยเฉพาะบนหน้าบันซุ้มประตูลวดลายจำหลักไม้ปิดทองประดับกระจกรูปนกยูง อันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ล้านนา มาดูกี่ทีก็ยังสง่างาม เสียดายตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมทาสีภายในวิหารใหม่ ก็เลยดูได้ไม่สะดวกเท่าไหร่ แถมลวดลายประดับซุ้มเหนือหน้าต่างก็ถอดออกไปซ่อมหมด   แต่กว่าอ...เล่มนี้จะออกก็คงเสร็จเรียบร้อยพร้อมให้เข้าไปชมกันได้สบายแล้ว

เข้าไปวัดเจดีย์หลวงตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างทุบวิหารหลวงด้านหน้าทิ้งเพื่อสร้างใหม่  ผ่านมาก็เชิญร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างกัน สั่งสมบุญเอาไว้ภายภาคหน้า เข้าไปในมณฑปจัตุรมุขแบบล้านนาประยุกต์ข้างวิหาร ก็เห็นเสาอินทขิลที่หล่อขึ้นใหม่เป็นเสาปูน ตั้งอยู่กึ่งกลางมณฑป บนยอดเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางรำพึง ได้สักการะพระพุทธรูปและเสาหลักเมืองไปพร้อมกัน 
เจดีย์หลวงหักทลายครึ่งองค์ยังคงตระหง่านมองเห็นได้แต่ไกล อดจินตนาการไม่ได้ว่านี่ถ้าไม่พังลงมาจะมหึมาขนาดไหน ตามประวัติพญาแสนเมืองมาโปรดฯ ให้สร้างครั้งแรกเป็นเจดีย์เหลี่ยมขนาดเล็กเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พญากือนาพระราชบิดา ทว่าสร้างยังไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคต พระมเหสีได้ทรงดูแลให้สร้างต่อจนสำเร็จในสมัยของพญาสามฝั่งแกน  มาในสมัยพญาติโลกราชจึงได้โปรดฯ ให้หมื่นด้ามพร้าคดเป็นนายกองสร้างเสริมพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น โดยขยายส่วนฐานให้กว้างออกจากเดิม ๑๔ เมตรเป็น๕๖ เมตร และขยายความสูงจาก ๒๔ เมตรเป็น ๙๕ เมตร เรียกได้ว่าเป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา เรียกกันว่า กู่หลวง
 พระแก้วมรกตที่กรุงเทพฯ ก็เคยประดิษฐานบนมุขด้านตะวันออกของเจดีย์หลวงแห่งนี้แหละครับ
กระทั่งมาถึงสมัยของมหาเทวีจิระประภา พ.. ๒๐๘๘ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ กู่หลวงก็ได้พังทลายลงมา ส่วนยอดหักเหลือแค่ครึ่งองค์อย่างที่เห็น มีความพยายามจะซ่อมแซมอยู่เหมือนกันแต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองของเชียงใหม่ในขณะนั้นไม่ปกติสุข ประกอบกับองค์เจดีย์เสียหายหนักยากแก่การซ่อม ก็เลยถูกปล่อยใหญ่อยู่ในสภาพปรักหักพังมาร่วม ๔๔๕ ปี กรมศิลปากรถึงได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เมื่อปีพ.. ๒๕๓๓ จำได้ว่าตอนนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกัน เพราะบูรณะเสร็จแล้วดูใหม่ปิ๊งเกินไป แต่เวลาผ่านไปเริ่มมีตะไคร่น้ำกระดำกระด่าง กาฝากเริ่มปกคลุมประปรายให้บรรยากาศเป็นโบราณสถานขึ้นมาอักโข
ลองเตร็ดเตร่เลยวัดเจดีย์หลวงไปอีกหน่อยก็ไปเจอวัดเจ็ดลินหรือวัดหนองจลิน เมื่อก่อนเป็นวัดร้างหักพักเหลือแค่เจดีย์ทรงปราสาท พระประธานกับเศียรพระปูนปั้นขนาดใหญ่  มาวันนี้ปรากฏว่าเป็นอีกวัดที่ได้ฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ เราเดินเข้าไปนมัสการเศียรพระปูนปั้นแตกชำรุดขนาดใหญ่ที่ทางวัดย้ายจากหน้าพระประธานมาประดิษฐานอยู่ใต้ต้นไม้ ก่อนจะเดินเข้าไปไหว้พระประธานในวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบล้านนา
นี่ถ้าเศียรพระอยู่ในต้นไม้เหมือนที่วัดมหาธาตุอยุธยา นักท่องเที่ยวคงแห่มาดูกันเต็มวัดไปพี่นพดลยังติดใจ
วกกลับตรงดิ่งตามถนนจนถึงวัดพระสิงห์ รถจอดเทียบตรงหอไตรที่เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ด้านหน้า สถาปัตยกรรมอันละลานตานี้สร้างสมัยพญาแก้ว ผนังชั้นล่างประดับลวดลายปูนปั้นรูปเทวดาอันหรูวิจิตร  ใครไปใครมาก็ต้องมาหยุดยืนชื่นชมกันคนละนาน ๆ ทั้งนั้น ขนาดแดดร้อนจนตัวดำก็ยังไม่หวั่น 
เข้าไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานในวิหารลายคำ ภายในประดับด้วยลายทองบนพื้นสีแดงอลังการมาก วัดนี้สร้างในปีพ.. ๑๘๘๘ สมัยพญาผายู เริ่มแรกนั้นทรงสร้างแค่เจดีย์ประดิษฐานพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา หลังจากนั้นอีก ๒ ปี ถึงได้สถาปนาเป็นพระอารามขึ้นชื่อว่าวัดพระเชียง ในสมัยพญาแสนเมืองมาได้โปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์หรือที่ชาวล้านนาเรียกกันว่าพระสิงห์จากเชียงรายมาประดิษฐานที่วัดนี้  ชาวบ้านก็เลยพลอยเรียกชื่อวัดเป็นวัดพระสิงห์ไปด้วย 
 โฉบเฉี่ยวไปทางวัดปราสาท ที่มีจุดเด่นอยู่ที่วิหารแบบล้านนาดั้งเดิมที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ประดับหน้าบันด้วยลวดลายประดับกระจกระยิบระยับตา เข้าไปภายในวิหารจะได้เห็นความพิเศษของพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ด้านหลังแต่เจาะผนังทำเป็นซุ้มปราสาทเชื่อมต่อกันระหว่างตัววิหารกับเจดีย์ เป็นอีกรูปแบบของวิหารล้านนาที่หาดูได้ยาก
 เดี๋ยวไปแถวประตูท่าแพกันดีกว่า ทางนั้นจะมีวัดแบบพม่าเยอะ พี่เปี๊ยกเสนอ พวกเราก็ไม่ขัดศรัทธา พาไปไหนก็ไป เพราะขาแข้งชักจะตุปัดตุเป๋ ขึ้นรถแล้วชักไม่อยากจะลง   (เป็นงั้นไป) ช่วงท้าย ๆ นี้เราก็เลยอาศัยนั่งรถทัศนาจรเป็นส่วนใหญ่ โชคดีที่วัดที่เหลือใกล้เคียงกันทั้งในด้านรูปแบบและระยะทาง กล่าวคือย่านประตูท่าแพจะเป็นวัดที่มีศิลปกรรมของพม่า ไทยใหญ่อยู่มาก เนื่องจากเพราะเคยเป็นชุมชนของชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ในช่วงรัชกาลที่ ๕
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่วัดใหม่สมัยหลังเท่านั้นนะครับ ความจริงย่านนี้ก็มีวัดเก่าที่เป็นวัดกษัตริย์ล้านนาสร้างหลายแห่ง แต่เพราะมีเศรษฐีพม่ามาช่วยบูรณะโดยใช้ช่างพม่าในช่วงรัชกาลที่ ๕ ก็เลยทำให้วัดแถบนี้หลายต่อหลายแห่ง มีศิลปกรรมพม่าเข้ามาผสมผสานอยู่มากจนดูเหมือนเป็นวัดใหม่
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวัดแสนฝาง ทั้งที่เป็นวัดเก่าเพราะมีประวัติว่าพญาแสนภูโปรดฯ ให้สร้างขึ้น แต่เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณวัด สิ่งที่โดดเด่นก็คือเจดีย์แบบพม่าประดับประดาลวดลายอย่างวิจิตร พร้อมสิงห์ปูนปั้นประจำ ๔ ทิศ ในขณะที่มีวิหารแบบล้านนาซึ่งเดิมคือตำหนักเก่าของเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ที่เจ้าอินทรวิชยานนท์โปรดฯ ให้รื้อมาถวายวัด และมีกุฏิเจ้าอาวาสครึ่งตึกครึ่งไม้สไตล์โคโลเนียล ครึ่งล่างเป็นตึกกรอบหน้าต่างประตูเป็นซุ้มโค้ง ครึ่งบนเป็นไม้ประดับลวดลายฉลุ เรียกว่ารวมความหลากหลายเอาไว้ในวัดเดียว
เช่นเดียวกับวัดบุพพารามหรือวัดเม็ง ที่อยู่ตรงข้ามเป็นวัดเก่าแก่อีกวัด ตามประวัติว่าพญาแก้วทรงสร้างอุทิศส่วนกุศลให้พระบิดาและพระญาติ  แต่เข้าไปวันนี้ก็มีเจดีย์แบบพม่า วิหารหลังใหญ่มีลวดลายแกะสลักไม้เป็นแบบพม่า ในขณะที่วิหารหลังเล็กเป็นวิหารพื้นเมืองล้านนาที่งดงาม มีลายปูนปั้นตัวมอมที่ละเอียดสวยงามสองฟากราวบันไดวิหาร ที่น่าดูอีกอย่างคือบนหอพระมณเทียรธรรมที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้สักทั้งองค์ขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร

สามล้อคันเก่งพาเราเลี้ยวเข้าไปจอดที่วัดมหาวัน วัดนี้ก็มีเจดีย์แบบพม่าเหมือนกัน  เดินเข้าไปในบริเวณวัดยังเห็นมีหอไตรไม้ทั้งหลังสวยงาม แต่ที่ดูจะเด่นกว่าวัดอื่นก็เห็นจะเป็นประติมากรรมรูปเทวดา ยักษ์ ที่ประดับประดาอยู่ทั่วไปทั้งในบริเวณเจดีย์และบนกำแพงวัด 

นักประวัติศาสตร์ศิลป์เขาว่าประติมากรรมรูปต่าง ๆ ที่ประดับประดาในวัดวาอารามนี้เป็นอิทธิพลจากศิลปะพม่า  หลักฐานก็คือที่เวียงกุมกามซึ่งเป็นเมืองสมัยล้านนาที่ล่มสลายไปก่อนการเกิดของล้านนายุคหลังไม่ปรากฏการประดับประดารูปยักษ์ รูปสิงห์ ตลอดจนรูปนาค สักแห่งเดียว

                ตะวันลับก็กลับที่พัก
มานั่งคิดนั่งนึก ก็ถือว่าน่าพอใจครับคราวนี้ ตระเวนดูได้ค่อนข้างครบครัน  ทั้งวัดที่มีศิลปกรรมแบบล้านนายุคแรก ทั้งวัดที่มีศิลปกรรมล้านนายุคหลัง
             แต่ที่ยังไม่ได้เที่ยวเลยก็เห็นจะเป็นวัดที่เป็นมงคลนาม ได้ยินว่าช่วงหลัง ๆ นี่เขาฮิตไปตาม ๆ กันกับการเที่ยวแนวสะเดาะเคราะห์เสริมโชคชะตาราศี อย่างที่พวกดารามักจะมีข่าวมาเทียวไล้เทียวขื่อทำบุญ เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์แนวกระซิบกระซาบกันอยู่บ่อย ๆ ก็มีเยอะครับที่เชียงใหม่นี่ที่เป็นมงคลนาม เท่าที่เห็นผ่าน ๆ ก็มีวัดลอยเคราะห์ วัดดับภัย วัดดวงดี วัดศรีเกิด 
อย่าเอ็ดไปครับ ความจริงผมเองก็มองหาอยู่แต่ไม่ยักมีชื่อวัดที่เป็นมงคลอย่างที่ผมต้องการ  ชื่อก็ประมาณ วัดขึ้นเงินเดือนสองขั้น วัดอนันตโบนัส ฯลฯ 
ใครเจอที่ไหนช่วยบอกผมบ้างก็แล้วกัน 

 

เอกสารอ้างอิง

สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพฯ : อัมรินทร์,๒๕๓๙.
สุรพล ดำริห์กุล.แผ่นดินล้านนา.กรุงเทพฯ :เมืองโบราณ,๒๕๓๙.

คู่มือนักเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธินไปเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒ (สายเอเชีย) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี  จนถึงนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๑  ผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ตาก ลำปาง ลำพูน ไปจนถึงเชียงใหม่ รวมระยะทางประมาณ ๖๙๖ กิโลเมตร หรือพอถึงนครสวรรค์จะแยกไปใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ ไปยังจังหวัดพิษณุโลกก็ได้ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑ ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ผ่านจังหวัดลำปาง ลำพูน ก็จะไปถึงเชียงใหม่เช่นกัน รวมระยะทางประมาณ ๖๙๕ กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต ๒) ถนนกำแพงเพชรทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๐ ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารโดยประมาณอยู่ที่ ๕๕๐๖๕๐ บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒๖๖ และเว็บไซต์    
นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนที่บริการเดินรถกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ทันจิตต์ทัวร์ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๓๒๑๐ นครชัยแอร์ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๓๓๕๕ นิววิริยะยานยนต์ทัวร์ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๒๐๗  สมบัติทัวร์ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๒๔๙๕๙๙  สยามเฟิร์สทัวร์ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๕๔ ๓๖๐๑ สหชาญทัวร์  โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๗๖๒
รถไฟ จากกรุงเทพฯ มีรถด่วนและรถเร็วออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔ ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔  หรือสายด่วน ๑๖๙๐  และเว็บไซต์ www.railway.co.th
เครื่องบิน จากกรุงเทพฯ มีเที่ยวบินกรุงเทพฯ เชียงใหม่ทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชนโทรศัพท์ ๑๕๖๖ และ www.thaiairways.com 
บริษัท นกแอร์ จำกัด โทรศัพท์ ๑๓๑๘ และ www.nokair.co.th
บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด โทรศัพท์ ๐ ๒๕๑๕ ๙๙๙๙
บริษัท โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ จำกัด โทรศัพท์ ๑๑๒๖ และ www.orient-thai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น