วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผจญภัยถนนสายปราสาทขอม

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๑  เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

 บรรยากาศร่มรื่นบริเวณปราสาทตาเล็ง

                 เห็นโฆษณา อมฤตาลัยละครโทรทัศน์เรื่องใหม่ทางช่อง ๓ ที่มี น้องหยาดหยาดทิพย์ ราชปาล เป็นนางเอกแล้ว ทำให้ผมหวนรำลึกนึกไปถึงความหลัง
          
                เปล่าหรอกครับ ไม่ได้รำลึกชาติ ย้อนยุคย้อนสมัยไปอาณาจักรขอมเมื่อพันปีก่อนอย่างในละครเขาหรอก แค่ย้อนไปตอนผมยังเด็ก เมื่อหลายสิบปีก่อน 
          
                ตอนนั้นอมฤตาลัยเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง ๗  ใครเล่นเป็นพระเอกนางเอกก็จำไม่ได้แล้ว  ที่ชัดเจนที่สุดในความทรงจำของผมก็คือเหล่าบริวารของพระนางพันธุมเทวี นางร้ายในเรื่อง อันได้แก่ เวตาลปีศาจค้างคาวดูดเลือด กับ เกียรติมุขทับหลังรูปหน้ากาลที่มีมือเละ ๆ สองมือยื่นออกมา  น่ากลัวสุดขีดแล้วสำหรับเด็ก ๆ อย่างผม  กับเพลงไตเติลที่ยิ่งฟังก็ยิ่งขนลุก  ด้วยเสียงร้องของหญิงสาวเย็นยะเยียบ
           
               ระหว่างเพลงจะมีภาพประกอบเป็นเทวรูปหลากหลายแบบ ในแสงเงาที่มืดสลัวเร้นลับ  ตอนนั้นผมไม่รู้จักหรอกครับ ว่าเป็นเทวรูปขอม  ทว่าเห็นแล้วเกิดชอบขึ้นมาติดหมัด เพราะรู้สึกได้อารมณ์เข้มขลังยังไงก็บอกไม่ถูก

             นับว่าเป็นการเริ่มรู้จักกับศิลปกรรมขอมครั้งแรกในชีวิตของผมก็คงจะได้
         
            โตขึ้นมาอีกหน่อยถึงได้รู้ว่าอาณาจักรขอมน่ะ เป็นอาณาจักรโบราณที่ยิ่งใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แถมไม่ได้มีแค่เทวรูปขลัง ๆ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เท่านั้น  ยังมีปราสาทหินขนาดมหึมาเป็นภูเขาเลากาอีกด้วย
          
            คติการสร้างปราสาทของขอมนั้นเดิมมีที่มาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งนับถือพระศิวะ และบูชาศิวลึงค์ ก็เลยสร้างปราสาทให้มีรูปทรงเหมือนศิวลึงค์ แรกก็เลยจะมีแค่ปราสาทองค์เดียวโดด ๆ แต่ต่อมาผ่านไปนานเข้ากลายเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุไป  เริ่มมีปราสาทเพิ่มขึ้น จากองค์เดียว เป็น ๓ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง จนในตอนท้าย ๆ ของอาณาจักรขอม พัฒนาไปเป็นปราสาทใหญ่มหึมามียอดไม่รู้จักกี่ยอดต่อกี่ยอดนับกันไม่หวาดไม่ไหว นครวัดยังงี้ บายนยังงี้  โอ้โห  พิสดารพันลึกยิ่งกว่าหนังการ์ตูนญี่ปุ่นเสียอีก

เห็นอย่างนี้ยิ่งคลั่งใคล้เข้าไปใหญ่ครับ  หนังสือเล่มไหนมีปราสาทขอม ผมเป็นต้องซื้อมาเก็บไว้ดูเป็นตั้ง ๆ   ดูไปก็ฝันไป อยากไปเที่ยว ไปเห็นของจริงด้วยตาตัวเองสักครั้ง  แต่สถานการณ์การเมืองในเขมรไม่อำนวยครับ ก็ได้แต่อ่านหนังสือ ดูวีดีโอพวกสารคดีท่องเที่ยวไปพลาง ๆ 
          
             ยิ่งดูก็ยิ่งอยากครับ ที่สุดก็เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมา ในเมื่อไปเที่ยวปราสาทขอมในเขมรไม่ได้ก็เที่ยวปราสาทขอมในไทยนี่แหละ แก้ขัดไปพลาง ๆ ก่อน  ว่าแล้วก็ชวนเพื่อน ๆ คอเดียวกัน ขับรถไปตามเส้นทางนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จำได้ว่าเป็นช่วงหน้าฝนเหมือนกับตอนนี้ อากาศเย็นสบาย แวะปราสาทโน้นปราสาทนี้ไปเรื่อยตามรายทาง ปรากฏว่าเข้าท่าครับ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวครั้งที่ประทับใจที่สุดครั้งหนึ่งในความทรงจำ   

           สำคัญที่สุดคือได้รู้ว่าในเมืองไทยของเราก็มีปราสาทขอมที่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน  เพราะสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ได้สร้างถนนหลวงจากเมืองพระนครหลวงไปยังบ้านเมืองในเขตอิทธิพลด้วย

          ที่มาทางประเทศไทยของเราก็มีอยู่หนึ่งสาย ตัดตรงดิ่งจากดินแดนเขมรต่ำผ่านขึ้นเขามาบนแผ่นดินสูง แถบศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มาถึงนครราชสีมา เชื่อมต่อมาถึงเมืองลพบุรี แล้วก็ทำถนนแยกขึ้นไปทางเหนือตามลำน้ำป่าสักผ่านเพชรบูรณ์  พิษณุโลก สุโขทัย กระทั่งศรีสัชนาลัยสายหนึ่ง อีกสายหนึ่งมุ่งทางตะวันตกจากลพบุรีผ่านสุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ไปสุดที่กาญจนบุรีโน่น ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าบนเส้นทางจะมีปราสาทขอมมากมายสักแค่ไหน

           แน่นอนครับ เรื่องขนาดความใหญ่โตของปราสาท เราอาจจะเทียบไม่ได้กับบรรดาปราสาทหินมโหฬารในกัมพูชา แต่เรื่องของบรรยากาศนั้นพอฟัดพอเหวี่ยงกันได้สบายมาก 

ก็ขนาดผ่านมาจนถึงวันนี้สิบกว่าปีเข้าไปแล้ว แม้ผมจะมีโอกาสไปเยือนบรรดาปราสาทขอมขนาดมหึมาทั้งหลายในราชอาณาจักรกัมพูชาสมใจมาแล้วหลายต่อหลายรอบ แต่ก็รู้สึกว่าเส้นทางสายปราสาทขอมในเมืองไทยที่เคยไปขับรถเที่ยวกับพรรคพวกก็ยังคงประทับใจไม่เสื่อมคลาย

           คิดไปคิดมาก็เลยอดไม่ได้ ต้องขอหวนกลับมารำลึกความหลังบนเส้นทางสายเก่ากันอีกสักที 
 
 ปราสาทหินพนมวัน

ราชสีมา ถิ่นมหาปราสาท

             ผมค่อย ๆ ชะลอความเร็วของรถคันเก่งลง  ก่อนจะเลี้ยวซ้ายตามป้ายชี้ทางเข้าอำเภอสูงเนิน มากับพรรคพวกคอเดียวกันคราวก่อนเน้นแต่ปราสาทใหญ่ ๆ เป็นเป้าหมายหลัก  ชดเชยความอยากไปเที่ยวปราสาทหินยักษ์ ๆ ในกัมพูชา มารู้ทีหลังว่าปราสาทหลังน้อยบนรายทางบางทีก็มีอะไรน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องของบรรยากาศ  คราวนี้ผมก็เลยตั้งใจว่าจะเก็บรายละเอียดของปราสาทเล็กปราสาทน้อยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยังไม่เคยแวะ

            ขับไปพลางก็นึกทบทวนความรู้เก่า ๆ ที่ยังไม่คืนให้อาจารย์ไปพลาง ปราสาทขอมที่พบในเมืองไทยเรา แบ่งคร่าว ๆ ตามลักษณะการใช้งานได้ ๓  ประเภท  ประเภทแรกคือ ปราสาทที่เป็นเทวสถาน หรือวัด ใช้ประดิษฐานเทวรูปและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประเภทที่สองคืออโรคยศาลาหรือโรงพยาบาล  ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ไภสัชคุรุไวฑูรยประภา ผู้ประทานความไม่มีโรคให้แก่ประชาชน และประเภทที่สามคือ ธรรมศาลา หรือบ้านมีไฟ เป็นสถานที่แรมคืนของผู้จาริกแสวงบุญ มีลักษณะเป็นปราสาทที่มีห้องโถงกว้างสำหรับผู้เดินทางรอนแรมมาแวะพักอาศัยเชื่อมต่ออยู่ด้วย

ประเภทแรกที่เป็นเทวสถานจะพบว่ามีหลายยุคหลายสมัย ในขณะที่สองประเภทหลัง สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗   มีหลักฐานระบุว่าได้โปรดให้สร้างอโรคยศาลา๑๐๒ แห่ง ธรรมศาลา ๑๒๑ แห่ง ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์


 ปราสาทโนนกู่

 ปราสาทเมืองเก่า

              ที่อำเภอสูงเนินที่แวะเข้ามานี่มีปราสาทอยู่ ๓ แห่งได้แก่ ปราสาทโนนกู่ จัดอยู่ในประเภทแรก คือเทวสถานแบบปราสาทหลังเดียว ตัวปราสาทที่ทำด้วยอิฐพังทลาย เหลือแต่กรอบประตูหินทรายหลายกรอบ ตั้งเรียงรายระเกะระกะลดหลั่น  ตัดกับผืนฟ้าสีครามและปุยเมฆขาวเบื้องหลัง เห็นแล้วนึกไปถึงหินตั้งในอังกฤษครับ ผมเลยแอบตั้งชื่อเล่น ๆ ให้ว่าสโตนเฮนจ์เมืองไทย   
               
              ปราสาทเมืองแขก ที่อยู่ลึกเข้าไปก็เป็นเทวสถานเช่นกัน แต่เป็นเทวสถานแบบปราสาท ๓ หลัง ตั้งเรียงบนฐานเดียว  ตัวปราสาทปรักหักพัง ล้อมรอบด้วยบาราย ร่มรื่นด้วยแมกไม้ล้อมรอบ อาณาบริเวณกว้างใหญ่ บรรยากาศคล้ายสวนสาธารณะเดินเล่นได้สบาย ๆ  
             
              ในขณะที่ปราสาทสุดท้ายคือ ปราสาทเมืองเก่า เป็นอโรคยศาลา อยู่ติดกับวัด ปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง โคปุระก่อด้วยหินทราย ทางตะวันออกมีบารายโบราณ กับชิ้นส่วนยอดปราสาทเบ้อเริ่มกองอยู่  ปราสาทกลุ่มนี้เที่ยวดูเพลิน ๆ พอได้ครับ ถือเป็นการอุ่นเครื่อง ได้บรรยากาศขอมมาไร ๆ

 ภานในปราสาทหินพนมวัน

            มาเริ่มเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาหน่อยก็เมื่อผ่านเมืองโคราชออกมาปราสาทหินพนมวัน เทวสถานในลัทธิไศวนิกาย บูชาพระศิวะ ตัวปราสาทประธานที่เป็นหลังเดี่ยวสร้างด้วยหินทรายยอดหักหายเหลือแต่ส่วนอันตราระและมณฑปที่เชื่อมต่อเป็นลักษณะคล้ายห้องโถง ถูกดัดแปลงเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยหลายองค์ เดินไปด้านนอกของปราสาทจะได้เห็นร่องรอยกรรมวิธีซ่อมแซมปราสาทหินที่เรียกว่าอนัสติโลซิสกันอย่างเต็มตา เพราะมีชิ้นส่วนที่ประกอบเอาไว้ ยังไม่ได้นำไปติดตั้งเหลืออยู่อีกเพียบ

            นักโบราณคดีเขาจะเก็บชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปราสาทที่พังทลายลงมาเรียงกันขึ้นใหม่  ชิ้นไหนกระเด็นไปไกลแสดงว่ามาจากส่วนบนสูงขึ้นไป ชิ้นไหนหล่นอยู่ใกล้ก็แสดงว่ามาจากส่วนล่าง ทำแผนผังปราสาทอย่างละเอียด ทำหมายเลขรหัสไว้  ก่อนจะรื้อปราสาทออกเป็นชิ้น ๆ  เสริมความแข็งแรงของฐานรากปราสาทเสร็จ ค่อยเอาไปกลับไปประกอบเข้าที่เดิม  ใช้เวลานานเป็นปีเชียวแหละครับ อย่างที่พนมวันนี่จำได้ว่าผมมาครั้งก่อนเพิ่งรื้ออกมาเป็นกอง ๆ  สิบปีผ่านไปกลับมาอีกทีก็ยังไม่เรียบร้อยดี  อีกสิบปีข้างหน้าค่อยมาดูใหม่อีกที  อาจจะได้เห็นโฉมหน้าเต็ม ๆ กัน ว่าอลังการขนาดไหน


 ปราสา่ทหินพิมาย

            แล้วผมก็มาถึงสุดยอดของโคราชก็คือปราสาทหินพิมาย  อันที่จริงต้องบอกว่าเป็นสุดยอดของไทยด้วย เพราะเป็นปราสาทหินใหญ่ที่สุดในประเทศ  นอกจากความใหญ่แล้วยังมีความพิเศษอีกหลายด้านครับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องรูปแบบทรงพุ่มของปราสาทประธานอันเป็นต้นแบบของปราสาทนครวัด  รวมทั้งทิศทางของปราสาทที่หันหน้าไปทางทิศใต้เพื่อรับเส้นทางถนนโบราณที่ตัดตรงจากเมืองพระนครของขอม แตกต่างจากปราสาทหินส่วนใหญ่ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

            จากภาพจำหลักพระโพธิสัตว์ที่พบอยู่บนทับหลังภายในปราสาทประธานทำให้รู้ว่าเป็น พุทธสถานในนิกายวัชรยาน  ซึ่งนับถือพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์อันเป็นตัวแทนของขันธ์ ๕  เชื่อกันว่าสามารถปรากฏพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์  รอบนอกของปราสาทยังวิจิตรด้วยลวดลายจำหลักในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์อย่างศิวนาฏราช  พระนารายณ์ และภาพจากเรื่องรามเกียรติ์ แสดงให้เห็นการผสมผสานกันของศาสนาพุทธและพราหมณ์ในยุคนั้นด้วย

 สุดยอดอีกประการก็คือประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในปรางค์พรหมทัตด้านหน้าปราสาท มหาราชของอาณาจักรขอมโบราณองค์ผู้ทรงบูรณะปราสาทหินพิมายขึ้นด้วยเหตุที่บรรพบุรุษของพระองค์เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแถบนี้ รวมทั้งสร้างอโรคยศาลาและธรรมศาลาอีกหลายร้อยแห่ง
ด้วยความยิ่งใหญ่และมีอะไรให้ดูให้ชมมากมายก่ายกอง ผมก็เลยต้องใช้เวลาเตร็ดเตร่เที่ยวชมมากหน่อย   ปิดท้ายรายการของวันแรกด้วยการส่งพระอาทิตย์กลับบ้านที่เมืองพิมายนี่แหละครับ

สู่เทวสถานเหนือขุนเขา 
         
            พาหนะคู่ใจพาผมละลิ่วออกจากเมืองนครราชสีมาแต่เช้า ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ผ่านอำเภอโชคชัยมาได้นิดหน่อยก็เห็น ปราสาทพะโคตระหง่านอยู่ริมถนนทางซ้ายมือ เคยได้แต่เมียงมองเวลาขับรถผ่านไปผ่านมา คราวนี้มีโอกาสได้แวะดูใกล้ ๆ สักที


ลวดลายจำหลักละเอียดยิบที่ปราสาทพะโค

ข้อมูลบนป้ายระบุว่าปราสาทแห่งนี้สร้างประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ จากซากปรักหักพังเท่าที่เห็นขนาดไม่ใหญ่โตเท่าไหร่ มีแค่ปราสาทหลังเดี่ยวกับบรรณาลัยเล็ก ๆ อีกหลัง แต่บนชิ้นส่วนที่หลงเหลือของอาคารเช่นทับหลัง กรอบประตู และผนัง อลังการด้วยลายแกะสลักหินอย่างละเอียดลออสวยงามมาก ผมเดินไปหลบแดดใต้ต้นไม้ใหญ่ ยังเจอชิ้นส่วนยอดปราสาทรูปกลศ (หม้อน้ำ) ลวดลายวิจิตรตระการตากองอยู่ แต่ละอันไม่ซ้ำแบบอีกเหมือนกัน  เสียดายที่ตัวปราสาทสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก  ถ้าสมบูรณ์ดีมีหวังลุ้นติดอันดับต้น ๆ ปราสาทที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย


 เด็กนักเรียนหน้าปราสาทครบุรี

            กลับขึ้นรถขับต่อมาอีกพักใหญ่ ก็เห็นป้ายชี้ทางไปปราสาทครบุรี  เลยลองเลี้ยวรถเข้าไปดู วนซ้ายเวียนขวาหาอยู่นานสองนานไม่เห็นแม้แต่เงา สุดท้ายต้องใช้ไม้ตายถามชาวบ้านตามระเบียบ ได้ความว่าอยู่ในเขตโรงเรียนบ้านครบุรี (มิน่าเล่าหาไม่เจอ) เลี้ยวรถเข้าไปก็เห็นตัวปราสาทก่อด้วยศิลาแลง กับซากบรรณาลัยเล็ก  ล้อมรอบด้วยกำแพงหินทราย รกเรื้ออยู่ใต้ร่มเงาไม้ร่มครึ้ม เด็กนักเรียนชั้นประถมต้นวิ่งเล่นกันเจี๊ยวจ๊าวอยู่รอบ ๆ   ดูลักษณะแล้วคงเป็นอโรคยศาลา แม้ไม่มีลวดลายทับหลังอะไรให้ดู แต่ถูกใจผมมาก เพราะได้บรรยากาศโบราณสถานแท้ ๆ เดินเข้าไปแล้วเหมือนหลุดเข้าไปเทวาลัยร้างกลางป่า  เริ่มรู้สึกว่าเป็นอินเดียน่าโจนส์ในขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าขึ้นมาทันที

ยังไม่ทันจะอินกับบทบาทก็ต้องสะดุด เพราะบรรดานักเรียนตัวน้อย ๆ ทั้งหญิงชายพากันยกโขยงมามุงดูด้วยความสงสัย พี่มาทำอะไรในนี้น่ะ ด้วยความเขินที่ถูกเด็กประถมเรียกพี่  (ดีใจสุดขีด) ผมเลยต้องทำเป็นไก๋กวักมือเรียกน้อง ๆ  มาถ่ายภาพกัน จากนั้นก็โดนมะรุมมะตุ้มรุมรักจากพลพรรคเด็กนักเรียนอย่างสนุกสนานอยู่พักใหญ่ ก่อนจะต้องโบกมืออำลา ขับรถจากมาด้วยความอาลัยอาวรณ์  เพราะหนทางยังอีกยาวไกล
          
            ออกจากปราสาทครบุรีผมมีเวลาเพลิดเพลินอยู่หลังพวงมาลัยอีกพอสมควร  กว่าจะถึงอำเภอปะคำ เริ่มรู้สึกได้ว่าเส้นทางสายนี้ถือว่าเป็นเส้นทางที่เหมาะกับการขับรถเที่ยวจริง ๆ  เพราะแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งอยู่ห่างกันพอดี ๆ ไม่ใกล้กันเกินไปจนต้องขึ้นรถลงรถบ่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้ไกลชนิดขับรถกันครึ่งค่อนวันยังไม่ถึงไหนสักที่ 
          
            เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ ผ่านอำเภอโนนดินแดง เลี้ยวซ้ายผ่านเขื่อนลำนางรองเข้าไป ก็ถึงปราสาทหนองหงส์  ยังคงสภาพปรักหักพังอยู่กลางทุ่งใกล้กับรั้วของสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ผมลุยพงหญ้าสูงระดับเข่าเข้าไปใกล้ ๆ  ปราสาทอิฐ ๓ หลังตั้งเอียงกระเท่เร่อยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ถูกเสริมความแข็งแรงด้วยโครงไม้ที่กรมศิลปากรมาทำค้ำยันเอาไว้  ครับ เป็นเทวสถานอย่างไม่ต้องสงสัย ทางทิศใต้มีร่องรอยของอาคารบรรณาลัย ตลอดแนวกำแพงหินทรายละลานตาด้วยดอกหญ้าสีขาวสะพรั่งบาน พลิ้วไสวงามยามลมพัด  เป็นโบราณสถานในบรรยากาศธรรมชาติที่สวยงามประทับตาประทับใจ  กลับออกมายังได้ดอกหญ้าเจ้าชู้ติดขากางเกงให้มานั่งแกะเล่นยามว่างอีกต่างหาก
 
 ปราสาทบ้านโคกงิ้ว

            ย้อนกลับมาตามถนนสายเดิม ผ่านอำเภอประคำ ตรงนี้มีปราสาทบ้านโคกงิ้ว อยู่ในบริเวณวัดโคกงิ้ว แวะเข้าไปดูปรากฏว่าเป็นอโรคยศาลาอีกแห่งหนึ่ง เดินผ่านกรอบประตูหินทรายโย้เย้กับแนวกำแพงแลงเขรอะเขียวด้วยตะไคร่น้ำเข้าไป ซากบรรณาลัยพังทลายทับถมริมประตูทางซ้ายเห็นแต่กรอบประตูโผล่ ตัวปราสาทก่อด้วยศิลาแลงเด่นตระหง่านบนลานดินที่ปัดกวาดสะอาดสะอ้าน รายรอบด้วยแมกไม้ครึ้ม  ไม่หลงเหลือทับหลังหรือลวดลายให้เห็น ทางวัดใช้ปราสาทประดิษฐานพระพุทธรูปเสมือนวิหาร ชาวบ้านใกล้เคียงเข้ามากราบสักการะอยู่เป็นระยะ เห็นแล้วพาให้ปลื้มใจครับ โบราณสถานที่ยังมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแบบนี้ในเมืองไทยเรานับวันจะหาดูได้ยากขึ้นทุกที

 ปราสาทพนมรุ้ง
      
 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
           
                ลัดเลาะมาออกทางหลวงหมายเลข ๒๔ ตรงอำเภอนางรอง ตรงไปเลี้ยวขวาผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ไต่ความชันและลดเลี้ยวขึ้นสู่ ปราสาทพนมรุ้ง ที่ถือเป็นสุดยอดของปราสาทหินถิ่นบุรีรัมย์
              
                เทวาลัยสำคัญในลัทธิไศวนิกายแห่งนี้มีความโดดเด่นด้วยองค์ประกอบหลายด้าน ว่ากันตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง คือเป็นปราสาทหินแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่บนยอดเขา ไม่ใช่เขาธรรมดา เป็นปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วอีกต่างหาก  สลักเสลาลวดลายอันวิจิตรจากฝีมือช่างล้ำเลิศระดับช่างหลวงในราชสำนัก บนวัสดุพิเศษอย่างหินทรายเนื้อดีสีชมพูที่แลดูเหมือนใหม่ตลอดเวลา เมื่อบูรณะด้วยกรรมวิธีอนัสติโลซิสก็เลยกลับมามีสภาพสมบูรณ์สวยงามใกล้เคียงของเดิมเมื่อแรกสร้าง แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษของพนมรุ้งคือยังมีประติมากรรมทวารบาลอยู่ด้วย ปราสาทหินอื่น ๆ ในเมืองไทยไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าไหร่ ประติมากรรมใหญ่ ๆ เป็นชิ้นเป็นอันแบบนี้
           
              ไหน ๆ มาถึงพนมรุ้งแล้วทั้งที ถ้าไม่เลยลงไปชมปราสาทเมืองต่ำเทวสถานไศวนิกายอีกแห่งที่อยู่ถัดลงไปตีนเขาเสียหน่อยก็จะกระไรอยู่ เพราะเป็นอีกปราสาทที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แถมมีลวดลายจำหลักศิลาหลงเหลืออยู่ค่อนข้างเยอะ ได้รับการบูรณะขึ้นมาอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งในส่วนของบาราย โคปุระ ระเบียงคด รวมไปถึงบรรณาลัย เว้นแต่ปราสาทประธานองค์ใหญ่ก่อด้วยอิฐที่พังทลายหายไป เหลือแต่ปราสาทอิฐหลังเล็กที่รายรอบแค่ ๔ หลัง

             ไม่รู้ยังไงเหมือนกันครับ  ตอนเด็ก ๆ ผมเคยเห็นภาพถ่ายของปราสาทเมืองต่ำตอนที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ รู้สึกประทับใจกับสภาพเดิมที่โคปุระเอียงโย้เย้  ระเบียงคดพังทลายก่ายเกย ขอบบารายชำรุดทรุดโค้ง ดูเป็นโบราณสถานที่ผ่านกาลเวลาชวนให้จินตนาการมากกว่า เสียดายที่มาไม่ทันเห็นสภาพดั้งเดิมแบบนั้น  มาคราวก่อนก็เรี่ยมเร้อย่างที่เห็น จำได้แถวนี้ยังมีกุฏิฤาษีบ้านบุ กับกุฏิฤาษีหนองบัวราย  อโรคยศาลาของชุมชนแถบนี้ที่ไม่ใหญ่แต่ขลังด้วยสภาพแวดล้อมรกร้างอยู่ด้วย  ผมลองซอกแซกเข้าไปดูอีกที  พอเป็นบรรยากาศ ปรากฏว่าขุดแต่งบูรณะเรียบร้อยแล้วทั้งสองแห่ง
สวยน่ะสวยอยู่ครับ แต่เหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง 

            เคยได้ยินในแวดวงโบราณคดีถกเถียงกันเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานที่รกร้างในลักษณะนี้เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งว่าควรบูรณะขึ้นใหม่ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ทำได้ เห็นรูปร่างหน้าตากันแบบชัด ๆ ว่าเป็นอย่างไร ถึงจะดี  จะได้ในขณะที่อีกฝ่ายก็ว่าควรรักษาสภาพปรักหักพังดั้งเดิมเอาไว้ เพราะบรรยากาศที่เกิดจากร่องรอยของธรรมชาติ และกาลเวลาอย่างเช่นรากไม้ที่ปกคลุมตามปราสาทหิน ต้องใช้เวลานับร้อยนับพันปีกว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่จะสร้างกันง่าย ๆ เหมือนกับการบูรณะให้เหมือนของใหม่ 
         
             ก็ว่ากันไปครับ คงจะไม่ได้ข้อยุติกันในเร็ววันหรอกเรื่องแบบนี้ แต่ ใครจะว่าไงก็ไม่รู้ละ ผมรู้แต่ว่าต้องรีบไปดูไปชม รวมทั้งเก็บบรรยากาศอลังการอันเร้นลับด้วยธรรมชาติและเวลาของบรรดาปราสาทขอมทั้งหลายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เอาไว้ก่อน จะได้ไม่เสียดายทีหลัง

ท่องเทวาลัยเมืองชายแดน

แรมคืนในถิ่นภูเขาไฟหนึ่งคืน เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็ควบพาหนะคู่ใจมุ่งหน้าต่อไปยังกลุ่มปราสาทตาเมือน ชายแดนจังหวัดสุรินทร์ 

             สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย ผมเห็นภาพกลุ่มปราสาทตาเมือนจากนิตยสารเมืองโบราณในสภาพถูกปกคลุมด้วยรากไม้ใหญ่ยักษ์ ได้อารมณ์ของความอลังการแบบลึกลับไม่แพ้ปราสาทใหญ่ ๆ ในเขมร  อุตส่าห์ชวนพรรคพวกดั้นด้นมาเมื่อกว่าสิบปีก่อน ปรากฏว่าไม่ทันเสียแล้วครับ กรมศิลปากรมาบูรณปฏิสังขรณ์ตัดรากไม้ที่ปกคลุมออกไปเสียเหี้ยน ทว่าตอนนั้นก็ยังได้บรรยากาศเร้นลับผจญภัยไม่เบา เพราะต้องขับรถลัดเลาะตามถนนลูกรังสีแดงผ่านผืนป่ามืดทะมึนท่ามกลางสายฝนโปรยปราย เข้าไปยังปราสาททั้งสามที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา กลับมาคราวนี้ไม่ลึกลับแล้ว ถนนลาดยางอย่างดี  

กลุ่มปราสาทตาเมือนนี้เป็นหนึ่งในเมืองโบราณบนเส้นทางจากเมืองพระนครของขอมสู่เมืองพิมายครับ เป็นแห่งเดียวที่มีปราสาททั้ง ๓ ประเภทเหลืออยู่ครบครันเรียงรายตามทาง เริ่มจากธรรมศาลาหรือปราสาทตาเมือน  (ผมเคยเห็นมีป้ายชื่อติดไว้ว่าปราสาทไบทีนสงสัยเป็นชื่อเล่นภาษาเขมร) เป็นปราสาทเชื่อมติดกับห้องโถงยาว จารึกกล่าวไว้ว่าบนเส้นทางจากเมืองพระนครของขอมมายังพิมายมีธรรมศาลาหรือบ้านมีไฟอยู่ ๑๗ แห่ง ปราสาทตาเมือนน่าจะเป็นธรรมศาลาแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงหลงเหลือสภาพให้เห็นได้ชัดเจนที่สุด 

              ถัดเข้าไปอีกหน่อยเป็นอโรคยศาลา ที่เรียกกันว่าปราสาทตาเมือนโต๊จ  ในภาพถ่ายสมัยมีรากไม้รกเรื้อดูขรึมขลังอลังการมาก  ถากถางออกไปหมดแล้วดูจืดลงไปถนัดตา แทบไม่ต่างจากอโรคยศาลาที่อื่น ยังดีที่มีป่ารอบ ๆ กับบารายขอบทรุดทลายคดโค้งพอมีเค้าบรรยากาศเก่าๆ เหลือเอาไว้บ้าง 

             ถนนพาผ่านบังเกอร์ทหาร ไปสุดทางที่เทวสถานปราสาทตาเมือนธม อันเป็นปราสาทหินใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ สร้างด้วยหินทรายสีชมพูแบบเดียวกับพนมรุ้ง ลวดลายแกะสลักก็งดงามไม่ใช่ย่อย  แต่สภาพชำรุดทรุดโทรมกว่า เพราะสมัยก่อนที่นี่มีรากไม้ใหญ่ยาวปกคลุมชอนไช เสียดยอดสูงแผ่ใบปกคลุมทั่วปราสาท เป็นเสน่ห์จากกลิ่นอายของอดีตอันเนิ่นนาน เสียดายที่ผมได้เห็นแค่จากในภาพถ่ายเท่านั้น  วันนี้ไม่มีแล้ว ชิ้นส่วนปราสาทยังกองระเกะระกะรอการประกอบอยู่อีกพะเนิน เป็นอีกแห่งที่มาเที่ยวดูกรรมวิธีอนัสติโลซิสได้ (แต่ต้องลงทุนมาไกลหน่อยนะ)

ย้อนกลับสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๔ อีกครั้ง มาแวะปราสาทหินบ้านพลวง ปราสาทปริศนาที่สร้างไม่เสร็จ ค้างคาอยู่แค่ปราสาทประธานองค์กลางโดดเดี่ยว ยอดไม่มี แต่ลวดลายจำหลักรอบปราสาทก็มีดีพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้ควักกระเป๋าเสียสตางค์เข้าไปชมกันได้ พูดถึงเรื่องค่าผ่านประตูนี่ ความจริงผมว่าน่าจะเลิกเก็บเงินคนไทยได้แล้ว  ดูตัวอย่างกัมพูชาบ้านเขามีปราสาทหินใหญ่โตมากมาย คนเขมรเข้าชมฟรีกันทั้งนั้น  เก็บพวกฝรั่งอั้งม้อให้หนัก ๆ หน่อยก็ได้ ไม่ต้องไปเกรงใจ เวลาเราไปเที่ยวบ้านเมืองเขา ฝรั่งยังเก็บเราโหดจะตาย


 ปราสาทภูมิโปน

 ปราสาทตามอญ

            เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๔ เพราะเห็นมีป้ายชี้ทางสู่ปราสาทภูมิโปน เจอทางแยกเลยลองไปทางซ้าย เลี้ยวไปเลี้ยวมาไปโผล่ตรงปราสาทตามอญ ปราสาทอิฐเล็ก ๆ ยุคหลัง ลักษณะเหมือนธาตุเจดีย์อีสาน ไม่มีลวดลายอะไรให้ดู ต้องย้อนกลับมาเข้าทางขวาถึงสมใจ ได้เห็นปราสาทภูมิโปนเด่นตระหง่านกลางดงตาลเรียงราย ตัวปราสาทอิฐหลังใหญ่กร่อนเก่า หน้าตาเหมือนปราสาทสมโบร์ไพรกุกอันเป็นปราสาทขอมยุคก่อนเมืองพระนครในเขมรเปี๊ยบ เพราะสร้างสมัยเดียวกัน ซ้ายขวาขนาบด้วยปราสาทศิลาแลงและปราสาทอิฐหักพัง ถือว่าเป็นปราสาทขอมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  ปราสาทอิฐเก่ามาก ๆ อย่างนี้ส่วนใหญ่เวลาพังจะไม่ค่อยเหลือซากให้บูรณะกันใหม่เหมือนปราสาทหิน ได้มาเห็นถือเป็นบุญตา หาดูยากครับ ควรมาดูกันเอาไว้


 ปราสาทยายเหงา

ย้อนกลับมาบนทางหลวงหมายเลข ๒๔ ใหม่ เลยมาอีกหน่อยเดียว ตามทางลูกรังเข้าไปประมาณ ๘๐๐ เมตร  ก็พบกับปราสาทยายเหงาที่ไม่เหงาเหมือนชื่อ เห็นมีนักท่องเที่ยวขับรถแวะเวียนเข้ามาเที่ยวชมกันคึกคัก  ช็อปเปอร์ก็มี รถขับเคลื่อนสี่ล้อก็มา ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ มี ๓ หลัง พังเป็นซากไปเสีย ๒ เหลือดีอยู่แค่หลังเดียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ของใหม่ ชิ้นส่วนปราสาทที่หักพังลงมา ทั้งกลีบขุนรูปยักษ์ เศียรพญานาค  ยอดปราสาท ระเกะระกะอยู่หน้าปราสาท รอบข้างเป็นทุ่งนา ทั้งวัวทั้งควายเดินก้ม ๆ เงย ๆ กินหญ้ากันอยู่ขวักไขว่ บางทีก็เห็นชาวบ้านต้อนฝูงเป็ดเดินผ่านไป มีชีวิตชีวาดีแท้


 ปราสาทตาเล็ง

  มุ่งหน้าต่อไปทางอำเภอขุขันธ์  รายทางยังมีอีกหลายปราสาท แต่ต้องแยกจากถนนใหญ่เข้าไปตามทางลาดยางเล็ก ๆ ตัดลดเลี้ยวผ่านท้องทุ่งเขียวเย็นตา ผมขับไปแวะถามชาวบ้านไป ชั่วหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเดือดก็ไปถึงปราสาทตาเล็ง หรืออีกชื่อว่าปราสาทลุมพุก ซ่อนตัวอยู่ในร่มเงาไม้ชายทุ่ง  เทวาลัยขนาดเล็กหลังเดียวสร้างจากหินทราย หักพังแต่ยังเหลือลวดลายลออตา ทับหลังพระนารายณ์ทรงหงส์ เทวดาประทับนั่งเหนือหน้ากาล ชิ้นส่วนนาค และยอดปราสาทตกอยู่เกลื่อนกลาดโดยรอบ ท่ามกลางฝูงควายของชาวบ้านที่มาปล่อยให้กินหญ้า บรรยากาศเหมือนโบราณสถานในภาพถ่ายสมัยก่อน คลาสสิคอย่าบอกใคร
 ปราสาทหินบ้านสมอ

 แสงทองของยามเย็นเริ่มสาดส่อง เมื่อผมไปถึงปราสาทหินบ้านสมอ หรือปราสาทบ้านทามจาน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด แม้จะเป็นอโรคยศาลาเหมือนกับหลายปราสาทที่ผมผ่านมา แต่ปราสาทศิลาแลงเอียงกะเท่เร่กลางวงล้อมของเงาไม้ทะมึนตรงหน้า ก็ดูมีเอกลักษณ์ด้วยบรรยากาศแวดล้อม นี่ถ้าบูรณะด้วยการก่อใหม่ ตัดต้นไม้ออกจนเตียนโล่ง คงจะไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะอโรคยศาลาที่ไหนก็เหมือน ๆ กันทั้งนั้น


 ปราสาทปรางค์กู่

ปิดท้ายรายการของวันในแสงรำไรที่ปราสาทปรางค์กู่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอปรางค์กู่ออกไปอีก ๕ กิโลเมตร ภายในรั้วรอบขอบชิดอย่างดี มีพนักงานเฝ้าเป็นลุงแก่ ๆ คนหนึ่ง วิ่งมาเปิดประตูให้ผมขับรถแล่นเข้าไปในบริเวณ เทวสถานปราสาทอิฐ ๓ หลังตั้งเรียงรายอยู่บนฐานศิลาแลงสูงเด่น ขรึมขลังด้วยความคร่ำคร่ำ ยิ่งมาตอนโพล้เพล้อย่างนี้ยิ่งได้ฟีลลิ่งเต็มที่ครับ 
มาสะดุด กึกก็อีตรงทับหลังจำลองสีชมพูแจ๋วแหววอันเบ้อเริ่ม ที่มาตั้งโดดเด่นอยู่ข้างหน้าปราสาทนี่แหละ เห็นแล้ว มึนไปเหมือนกันครับ  บอกไม่ถูก ขนาดมาเช็คอินในโรงแรมที่ศรีสะเกษแล้วก็ยังงงไม่หาย  ไม่รู้ว่าเป็นศิลปกรรมขอมจากยุคสมัยใดสิน่า

สุดทางที่เขาพระวิหาร

                 มาถึงศรีสะเกษทั้งที เช้าวันนี้ผมก็เลยมุ่งหน้าสู่เขาพระวิหารเป็นอันดับแรก
                 ก็คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันให้มากความครับ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้นถือว่าสุดยอดทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง  ผสานกับการออกแบบปราสาทออกเป็น ๔ กลุ่ม ไล่เรียงจากเล็กขึ้นไปหาปราสาทใหญ่ที่สุดปลายผาสูง ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนได้ขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ เป็นสุดยอดทางการออกแบบของสถาปัตยกรรมขอมอย่างแท้จริง นี่ยังไม่นับถึงลวดลายสลักเสลาอย่างอลังการที่ไม่เป็นสองรองใคร



โชคร้ายที่ไทยเราต้องสูญเสียเขาพระวิหารให้กับกัมพูชาไปในปีพ.. ๒๕๐๕ แต่ก็ยังนับว่ายังมีโชคดีอยู่บ้างตรงที่ยังมีโอกาสมาเที่ยวชมเขาพระวิหารได้  ถือเสียว่าสมบัติผลัดกันชมก็แล้วกัน


 ปราสาทโดนตรวล

 ภาพจำหลักนูนต่ำผามออีแดง

อย่างน้อยฝั่งไทยเราก็ยังเหลือภาพนูนต่ำบนผามออีแดง กับปราสาทโดนตรวล เป็นรางวัลปลอบใจ  แม้จะเป็นหลังเล็ก ๆ แต่ก็มีคุณค่า โดยเฉพาะในเรื่องของบรรยากาศ ด้วยความที่ยังไม่ได้บูรณะ แถมอยู่ชิดติดแนวป่ารกครึ้ม ร่องรอยของกาลเวลายังคงปรากฏชัด 
           
            “โดนตรวลแปลว่า เพิ่งเจอครับ โชคดีจริง ๆ ที่เพิ่งเจอหลังจากเสียเขาพระวิหารไป ไม่งั้น อาจจะโดนเหมาไปด้วยอีกแห่ง  แว่วข่าวว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้เขมรก็เคยมางอแงจะเอาปราสาทโดนตรวลอยู่เหมือนกัน อ้างแผนที่ท่องเที่ยวอะไรต่อมิอะไรให้วุ่นวาย หาว่าอยู่ในเขตเขมรซะงั้น


ปราสาทตำหนักไทร

กลับจากเขาพระวิหารผมลองผ่านไปทางปราสาทตำหนักไทร ปราสาทอิฐหลังเล็กเดี่ยวยืนเด่นอยู่ในร่มเงาไม้ริมทาง สุดยอดขลังได้ใจผมมากครับ แต่เดิมเขาว่ามีสิงห์หินทราย ๒ ตัว กับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เหนือพญาอนันตนาคราช  ๗ เศียร พร้อมกรอบประตู อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖๑๗ แต่ตอนนี้เอาไปเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมายแล้ว  ก็เลยมีแต่สิงห์ฝีมือพื้นบ้านหน้าตาแปลก  ๆ  ภายในปราสาทมีฐานโยนีหินทรายตะแคงแอ้งแม้งอยู่ ท่าทางจะยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนแถวนี้เพราะมีพวงมาลัยดอกไม้ธูปเทียนเต็มไปหมด  
            
           วันนี้เที่ยวได้ไม่กี่ปราสาท เพราะหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับเขาพระวิหาร ผมก็เลยพักค้างคืนในเมืองศรีสะเกษอีกคืน เอาไว้ค่อยออกเดินทางกลับในเช้าวันรุ่งขึ้น เพราะตลอดทางยังมีปราสาทให้ดูอีกบานตะไทครับ 
            
            ออกจากเมืองศรีสะเกษไปหน่อยเดียวก็เจอกับปราสาทสระกำแพงน้อย  อโรคยศาลาหลังจ้อยที่ ยังรักษาร่องรอยความทรุดโทรมจากกาลเวลาเอาไว้ได้อย่างแนบแน่นเนิ่นนาน

มาอีกไม่ไกลก็เลี้ยวเข้าไปปราสาทสระกำแพงใหญ่  ถึงจะมาหลายครั้งแล้ว แต่แวะหน่อยก็ไม่เสียหายอะไร สภาพทั่วไปก็เหมือนเดิม มาตะลึงเอาตอนเดินเข้าไปในปราสาทประธาน  เพราะเจอเทวรูปพระอิศวรสำริดที่ขุดพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ตั้งโดดเด่นอยู่  ถ้าเป็นเทวรูปจำลองหรืออะไรทำนองนี้ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่นี่เป็นเทว รูปจริง ๆ ครับ คือเป็นภาพพิมพ์สี่สี ขึงกับโครงเหล็กแบบเดียวธงที่ใช้โฆษณาสินค้า  ไม่คาดไม่คิดว่าจะเจอแบบนี้ เล่นเอาตกใจ หมู่นี้เจอศิลปกรรมขอมรุ่นแปลกใหม่เยอะแฮะ

               ออกจากปราสาทสระกำแพงใหญ่เจอป้ายชี้ทางไป ปราสาทบ้านปราสาท ต้องขับรถแยกจากทางหลักลึกเข้าไปในทุ่งนาพักใหญ่กว่าจะถึงวัดปราสาทอันเป็นที่ตั้ง  เมื่อสิบกว่าปีก่อนผมกับพรรคพวกขับรถตระเวนหาตามทางลูกรังมาถึงปราสาทนี้เอาตอนใกล้ค่ำ มองอะไรไม่ค่อยเห็นแล้ว จำได้แต่ความรู้สึกตื่นเต้นผจญภัย คราวนี้มาแต่วันได้เห็นเต็มตาว่าเป็น ปรางค์อิฐ ๓ องค์รูปทรงสูงชะลูดสะดุดตา ตั้งเรียงรายบนฐานศิลาแลง มีกำแพงหินเตี้ย ๆ ล้อมรอบ ปักป้ายไว้ว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ หน้าปราสาทที่เกลื่อนกล่นด้วยอิฐหักกากปูนและชิ้นส่วนทับหลัง ยังมีพวงมาลัยดอกไม้แขวนเรียงราย แสดงให้เห็นว่ายังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชุมชนจนถึงปัจจุบัน

              ผ่านมาถึงอำเภอศรีขรภูมิ แวะเข้าไปแถวสถานีรถไฟเห็นรูปจำลองปราสาท ตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์อย่างเก๋ไก๋กลางสวนหย่อมหน้าสถานี  ก็เลยอดแวะไปดูปราสาทศรีขรภูมิของจริงไม่ได้ ทั้งที่มาหลายครั้งหลายหนแล้ว ยอดปราสาทมหึมาอยู่โคนต้นไม้น่าตื่นตาเหมือนเดิม  รวมทั้งทับหลังบนปราสาทประธานที่ถือเป็นทีเด็ด ด้วยลวดลายจำหลักศิวนาฏราช ใต้ท่อนพวงมาลัยมีพระอุมา พระพิฆเณศ พระพรหม และพระนารายณ์ ๔ กร  ที่ลืมไม่ได้ก็คือนางอัปสรและทวารบาลถือกระบองเสากรอบประตู ดูกี่ทีก็ไม่มีเบื่อครับ

แต่ที่ประทับใจผมที่สุดในวันนี้ก็คือปราสาทบ้านช่างปี่ ที่ผมลงทุนขับรถเข้าไปตามหา ก่อนจะพบว่าเป็นอโรคยศาลาอยู่ในท้องทุ่งกว้าง ทางเข้ามีประตูเหล็กล้อเลื่อนกั้นเอาไว้อย่างดี ผมจอดรถไว้เดินทอดน่องเลียบบารายด้านหน้าที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใส สะท้อนภาพฝูงควายที่เดินและเล็มหญ้าอยู่ใกล้ ๆ ผ่านกำแพงแลงและโคปุระที่เว้าแหว่ง เข้าไปข้างในเพื่อพบกับปราสาทก่อด้วยศิลาแลงที่พังทลายลงมากอง รู้สึกเหมือนได้เดินอยู่ในดินแดนอดีตอันแสนไกล

เที่ยวโบราณสถานมันต้องได้อารมณ์ประมาณนี้แหละครับ ถึงจะใช้ได้ ไม่ใช่เดินแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในสวนสาธารณะ ที่บรรดาฝรั่งทั้งหลายแห่ไปเที่ยวเมืองเสียมเรียบของกัมพูชากันให้คึ่กก็เพราะแบบนี้แหละครับ
  พูดแล้วก็นึกขึ้นมาได้ แว่วข่าวมานานแล้วเหมือนกันว่าจะมีการเชื่อมต่อเส้นทางสายปราสาทขอมทางอีสานใต้สายที่ผมมานี้แหละ เข้ากับเส้นทางในราชอาณาจักรกัมพูชา โดยผ่านทางด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ แล้วตัดตรงลงไปทางเมืองเสียมเรียบ  ได้ยินได้ฟังแล้วก็อยากให้เป็นจริงไว ๆ  เพราะคงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่นิยมในบรรยากาศเก่า ๆ ขลัง ๆ จากทั่วโลก
              ผมคนหนึ่งละที่หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ เปิดเมื่อไหร่ละก็ บอกได้คำเดียวครับว่า  ไม่พลาด

เอกสารอ้างอิง

ศิลปากร.กรม.เมืองพิมาย.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๓๑.
สุภัทรดิศ ดิศกุล.หม่อมเจ้า.ศิลปะขอม.กรุงเทพ ฯ: คุรุสภา,๒๕๓๙.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.หม่อมราชวงศ์.กัมพูชาราชลักษมีถึงศรีชยวรมัน.กรุงเทพ ฯ : มติชน,๒๕๔๓.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.หม่อมราชวงศ์.ปราสาทเขาพนมรุ้ง.กรุงเทพ ฯ : มติชน,๒๕๔๐.

คู่มือนักเดินทาง

              การขับรถเที่ยวปราสาทหินบนเส้นทางนี้ให้สนุกควรมีเวลาอย่างน้อย ๕ วันเพื่อจะได้ไม่ต้องรีบร้อนจนเกินไป 

วันแรก เที่ยวปราสาทในจังหวัดนครราชสีมาโดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ จากกรุงเทพ ฯ มาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ที่จังหวัดสระบุรี แวะชมแหล่งหินตัดที่อำเภอสีคิ้ว และกลุ่มปราสาทอำเภอสูงเนิน ก่อนจะเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข ๒ ที่ไปขอนแก่น ชมปราสาทหินพนมวัน และไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๖ ชมปราสาทหินพิมาย ก่อนกลับมาพักค้างคืนในเมืองนครราชสีมา

วันที่สอง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ผ่านอำเภอโชคชัย แวะชมปราสาทหินพะโค และปราสาทครบุรีที่อำเภอครบุรี ผ่านอำเภอเสิงสางมาถึงทางแยกที่อำเภอปะคำ เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ ผ่านอำเภอโนนดินแดง ไปเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางเขื่อนลำนางรองจะถึงปราสาทหนองหงส์ จากนั้นย้อนกลับตามทางสายเดิมมาถึงอำเภอปะคำ แวะชมปราสาทบ้านโคกงิ้ว  มาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔ ที่อำเภอนางรอง ผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ไปชมปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ กุฏิฤาษีบ้านบุ และกุฏิฤาษีหนองบัวราย พักค้างคืนที่อำเภอนางรอง

วันที่สาม ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๔ ไปเลี้ยวขวาที่ทางหลวงหมายเลข ๒๓๗๕ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๑ ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔๐๗ เข้าไปชมกลุ่มปราสาทตาเมือน กลับออกมาทางหลวงหมายเลข ๒๔ มาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ ที่อำเภอปราสาท แวะชมปราสาทหินบ้านพลวง แล้วกลับมาใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๔ แวะชมปราสาทภูมิโปน ปราสาทยายเหงา เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๐ แวะชมปราสาทตาเล็ง ปราสาทบ้านสมอ ปราสาทปรางค์กู่ พักค้างคืนที่ศรีสะเกษ

วันที่ ๔ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๑ ไปชมปราสาทเขาพระวิหาร แวะชมปราสาทโดนตรวล ก่อนใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๓๓๕ ไปชมปราสาทตำหนักไทร กลับออกมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๗ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๔ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๐ พักแรมที่เมืองศรีสะเกษ

วันที่ ๕ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ แวะชมปราสาทสระกำแพงน้อย ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ปราสาทบ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน แวะชมปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทเมืองที และปราสาทบ้านช่างปี่ ก่อนมาเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ ที่จังหวัดสุรินทร์ แวะชมปราสาทบ้านไพล ปราสาทบ้านปราสาท เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔  ผ่านอำเภอประโคนชัย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่ อำเภอหนองบุนนาก และอำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัย ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ที่อำเภอสีคิ้ว และมาเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ที่สระบุรี กลับสู่กรุงเทพ ฯ โดยสวัสดิภาพ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น