วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โป่งเดือดป่าแป๋ อุ่นไอน้ำยามฝนพรำ

โป่งเดือดป่าแป๋ อุ่นไอน้ำยามฝนพรำ
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

          ปีนี้ฝนตกกันตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนตอนปลาย   ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อถึงหน้าฝนเข้าจริง อย่างในตอนนี้แล้วท้องฟ้าจะชุ่มฉ่ำไปด้วยหยาดฝนขนาดไหน
          ครับ...ผู้ที่รักการเดินทางท่องเที่ยวส่วนมากไม่ค่อยชอบหน้าฝนเท่าไหร่ เพราะทำให้ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ไปเที่ยวก็ไม่สนุก ถ่ายภาพก็ไม่สวย เพราะอากาศอึมครึมซึมเซา  มิหนำซ้ำเปียกชื้นเฉอะแฉะ บางทีถึงชุ่มโชก 
หลายคนก็เลยสมัครใจที่จะงดเดินทางท่องเที่ยวไปเสียเลย
จะว่าไปก็น่าเสียดายแทนครับ เพราะว่าข้อดีของการท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนก็มีหลายอย่าง ตั้งแต่ยวดยานการสัญจรที่ไม่คับคั่ง โรงแรมที่พักก็มีให้เลือกมากมาย แถมยังลดราคาถูกกว่าปกติเสียอีก ที่สำคัญที่สุดก็คือบรรยากาศอันสุดแสนโรแมนติคในยามสายฝนโปรยปรายที่ไม่อาจสัมผัสได้ในฤดูกาลอื่น
ยามฝนตกพรำอากาศหนาว อย่างนี้   โป่งเดือดป่าแป๋ ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเชียวละครับ
โป่งเดือดคือน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นน้ำพุร้อนแบบไกเซอร์ คือตัวน้ำพุจะมีแรงดันให้พุ่งสูงจากพื้นดินขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งที่นี่สูง๑- เมตร  อุณหภูมิของน้ำที่สูงกว่า ๑๐๐ องศาเซลเซียสทำให้น้ำกลายเป็นไอขาวโพลนล่องลอยปกคลุมไปทั่วผืนป่า  ผมเห็นครั้งแรกยังตะลึงครับ เป็นภาพที่สวยงามน่าตื่นตา โดยเฉพาะตอนที่แสงแดดสาดส่องผ่านทิวไม้ลงมาเป็นเส้นสาย ประทับใจเกินคำบรรยายจริง ๆ
สายน้ำร้อนจากน้ำพุจากบนเขาสูงหลากไหลลดหลั่นลงมาเป็นลำธารน้ำแร่อันระอุ ทางอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังก็เลยมาสร้างเป็นบ้านพักและบ่ออาบน้ำแร่เอาไว้ เพิ่งเปิดให้บริการใหม่ชนิดแกะกล่องเมื่อปีกลายนี้   เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการมาท่องเที่ยวหลบฝน มาถึงแล้วก็ไม่ต้องไปไหน อาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนนอนเล่นสบาย
แค่บ่อน้ำร้อนที่จะแช่ก็มีหลากหลายให้เลือกแล้วครับ  ตรงเชิงเขาริมลำธารที่ลงมาจากโป่งเดือดทางอุทยานฯ สร้างเป็นแอ่งเล็ก เรียงรายลดหลั่นลงมาตามทางไหลของน้ำแร่ เรียกว่าเป็นบ่อแช่บรรยากาศธรรมชาติก็ได้ อุทยานฯ จัดไว้ให้สำหรับคนท้องถิ่นในบริเวณใกล้เคียงได้มาอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนกันตามอัธยาศัยแบบไม่ต้องเสียเงิน
หากชอบแบบที่เป็นส่วนตัวขึ้นมาหน่อย (แต่ต้องเสียค่าบริการนะ) ก็มีบ่อแช่แบบแยกหญิงชาย ที่โดดเด่นด้วยผนังก่อด้วยหินธรรมชาติล้อมรอบสี่ด้านกับเพดานเปิดโล่งเห็นผืนฟ้าสีคราม ให้ความรู้สึกอิสระเสรี ตัวบ่อในห้องแช่ชายเป็นทรงกลม ในขณะที่บ่อในห้องแช่หญิงเป็นสี่เหลี่ยม (สร้างให้ต่างกันไว้จะได้ไม่มีข้ออ้างแกล้งเข้าผิดห้อง)  กึ่งกลางบ่อเป็นท่อน้ำพุร้อนไหลรินล้นออกมาตลอดเวลา
ส่วนผู้ที่มาด้วยกันเยอะแบบครอบครัวใหญ่บ่อแช่น้ำแร่แบบรวมคงจะทำให้แช่น้ำร้อนกันได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ด้วยสระสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ในร่ม ล้อมรอบด้วยผนังก่อหินประดับประดาด้วยรูปหัวสิงห์พ่นน้ำอย่างหรูหรา แช่กันได้นับสิบยี่สิบคนละครับบ่อนี้
แช่เฉย อาจไม่ถูกใจกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบยุกยิกอยู่นิ่งไม่ได้ ทางอุทยานฯ ก็เลยสร้างสระว่ายน้ำแร่ขึ้นแยกไว้ต่างหากให้บริการด้วย   ตั้งอยู่กลางแจ้งแวดล้อมด้วยแมกไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติกว้างไกล จะดำผุดดำว่าย ท่ากบ ผีเสื้อ หรือฟรีสไตล์ก็ทำได้เต็มที่  
 ข้อควรระวังก็คือ อาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนนี้เขาว่าจะให้ดีไม่ควรเกินครั้งละ ๑๕ นาทีครับ  อาบนานไปอาจจะเป็นลมเป็นแล้งได้ แต่ก็ไม่ได้ห้ามอาบวันละหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้นถ้าลงแล้วก็ขึ้นมาพัก แล้วก็ลงใหม่อีกคงจะไม่เป็นไร (อันนี้ผมคิดเอาเองนะ)
 ตามแผนอุทยานฯ เขามีโครงการที่จะทำให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพครบวงจรด้วย มีการสร้างอาคารบริการนวดแผนไทย ประเภทนวดตัว นวดฝ่าเท้า เตรียมเอาไว้ให้บริการ เป็นอาคาร ๓ ชั้น อยู่บนไหล่เขาใกล้กับอ่างแช่น้ำร้อนบรรยากาศธรรมชาตินั่นแหละ ตอนที่ผมไปนี่ มีแต่อาคารเปล่า ๆ ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี แต่ก็คาดว่าคงจะเปิดได้ในเร็ววันนี้ (สงสัยกำลังไปอบรมวิชานวดแผนไทยกันอยู่)  
ถ้าแช่น้ำร้อนจนเบื่อ อยากลองกิจกรรมผจญภัยยืดเส้นยืดสาย ที่นี่เขาก็มีเส้นทางเดินป่า นั่งช้าง ล่องแพ ให้สนุกกันครับ โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่บ่อน้ำร้อนโป่งเดือด ผ่านบ้านโป่งน้อย บ้านแม่หมาใน (หรือบ้านป่ากล้วย-บ้านป่าข้าวหลาม) ไปยังปางช้างป่าคา ล่องแพในลำน้ำแม่แตงผ่านบ้านโป่งแง้นไปสิ้นสุดเส้นทางที่บ้านสบก๋าย เป็นการเดินป่า ๑๐ กิโลเมตร ล่องแพอีก ๑๗ กิโลเมตรรวมระยะทาง ๒๗ กิโลเมตร ใช้เวลา วัน คืน
แต่นักท่องเที่ยวที่ไปโดยมากจะเป็นฝรั่งทั้งนั้นแหละครับ  เพราะนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่นั้นถือคติว่ามาเที่ยวทั้งทีต้องอยู่สบาย ถ้าต้องมาตกระกำลำบากจะมาทำไม นอนอยู่บ้านดีกว่า (ผมเองตอนที่มาก็ถือคตินี้เหมือนกัน…แหะ แหะ)    
ก็แหม… สายฝนโปรยปราย อากาศเย็น ๆ อย่างนี้  ได้มานั่งแช่นอนแช่น้ำแร่อุ่น ๆ  ชมวิวทิวทัศน์ผืนป่าขุนเขา จะผ่อนคลายสบายอารมณ์เพียงใด สุโขสโมสรขนาดไหน น้อง ๆ สวรรค์ชั้นเจ็ดชั้นแปดโน่นละครับ 
แต่พูดไปก็คงจะไม่เชื่อหรอก สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำก็ไม่เท่าแช่น้ำแร่ด้วยตัวเอง ช่วงนี้สปากำลังอินเทรนด์เสียด้วย อาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนแล้วดูดีมีสกุลจะตาย แบบว่าไฮโซน่ะ  
 มาลองสัมผัสดูสักครั้งสิครับ แล้วจะติดใจ เผลอ ๆ อีกหน่อยฤดูอื่นจะไม่ยอมไปเที่ยวที่ไหน รอแต่จะมาแต่หน้าฝนอย่างเดียวเชียวแหละ  

คู่มือนักเดินทาง
          โป่งเดือดป่าแป๋ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หมู่ ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๕๐ เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗  มาเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข๑๐๙๕ ที่ตลาดแม่มาลัย ไปจนกระทั่งถึงกิโลเมตรที่ ๔๒ เลี้ยวขวา (จะเห็นมีป้ายโป่งเดือดป่าแป๋หน้าอยู่ปากทางด้านขวามือตรงเข้าไปตามทางอีกประมาณ กิโลฯ ครึ่ง ก็จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
อัตราค่าบริการอาบน้ำแร่
ห้องแช่แยกชายหญิง ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท
ห้องแช่รวม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท
ห้องอาบเดี่ยว ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท

มีบริการให้เช่าผ้าเช็ดตัว  ผ้าถุง  กางเกงขาสั้น ๒๐ บาท   ผ้าเช็ดหน้า ๑๐ บาท

 โทรศัพท์ ๕๓๒๒ ๙๖๓๖ ๕๓๒๔ ๘๔๙๑
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ ๑๕๓ ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่ ๕๑๐๐๐ โทรศัพท์  ๕๓๘๑ ๙๓๔๙ หรือที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง โป่งเดือด โทรศัพท์ ๕๓๓๑ ๕๒๐๙  
หมายเหตุ  ค้นคว้าหาข้อมูลท่องเที่ยวทั่วไทยได้ที่ เว็บไซต์ของอนุสาร อ.ส.ท.นิตยสารเพื่อการท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม www.osotho.com
ล้อมกรอบ
ที่พักนักเดินทาง
          การการเต็นท์อาจเป็นการสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด แต่ในหน้าฝนอย่างนี้บางทีก็อาจจะไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร บ้านพักของอุทยานฯ จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ในบริเวณโป่งเดือดป่าแป๋มีบ้านพักน้ำดัง ๒๐๑-๒๐๘ ไว้ให้บริการ เป็นบ้านชั้นเดียวตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมตั้งเรียงรายอยู่บนลาดไหล่เขา ในจุดที่มองเห็นทิวทัศน์มุมสูงของผืนป่าอันอุดมได้กว้างไกล แต่ละหลังเชื่อมต่อกันด้วยสะพานทางเดินลดเลี้ยวเล่นระดับ  ภายในประกอบด้วย  ห้องนอนใหญ่  ห้องน้ำ พร้อมเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำอุ่น  พักได้ประมาณ คน อัตราค่าบริการ ,๐๐๐ บาทต่อคืน
ติดต่อจองบ้านพักได้ที่ ฝ่ายบ้านพักกรมอุทยานแห่งชาติ โทรศัพท์ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐  หรือเว็บไซต์ www.dnp.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น