ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.
ในเมืองไทยของเรามักจะรู้สึกกันว่าเรื่องราวเก่าๆ อันเป็นมรดกของชาติ ไปด้วยกันไม่ได้กับความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองยุคใหม่
ในขณะที่หลายประเทศที่มีความเจริญในระดับมหาอำนาจกลับให้ความสำคัญกับประวัติความเป็นมา
พยายามฟื้นฟูรักษาให้คงอยู่ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของบ้านเมืองได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน
ไม่ต้องดูที่ไหนไกลครับ เมืองจีนนี่แหละ
แต่ละเมืองเขาเก็บรักษาอดีตอันทรงคุณค่าไว้เป็นอย่างดี
ล่าสุดที่ผมได้ไปดูไปเห็นมาก็คือเมืองเฉิงตู
ในโครงการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนระหว่างเมืองเฉิงตูกับประเทศไทย
เพื่อส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยวซึ่งกันและกัน
เฉิงตูมีฐานะเป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวน
ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวรุ่งทางเศรษฐกิจดวงใหม่ จากแต่เดิมเคยที่เป็นมณฑลชนบท
ทำนาและเลี้ยงหมูมากที่สุดของประเทศจีน ทว่าตอนนี้กลับเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทันสมัย
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เจริญเร็วก็เพราะว่ามณฑลเสฉวนมีประชากรถึง ๘๐
ล้านคนเป็นขุมกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ
แค่เฉพาะในเมืองเฉิงตูประชากรก็ปาเข้าไป
๑๑ ล้านคนแล้ว จัดเป็นมหานครที่มีประชากรมากเป็นอันดับ ๔ ของจีน รองจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้
และฉงชิ่ง ในตัวเมืองเต็มไปด้วยตึกระฟ้าอย่างมหานครทั่วไป
แต่ก็สัมผัสได้ถึงนโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เพราะในเมืองเขาไม่ให้ใช้มอเตอร์ไซค์จึงไร้มลภาวะทางเสียงและควันพิษ
ตามถนนหนทางผู้คนส่วนใหญ่สัญจรโดยใช้จักรยาน จักรยานไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้ากันขวักไขว่
ช่วงที่ผมไปมีงานเทศกาลผลไม้ไทยพอดี
โดยททท.ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกและเทศบาลเมืองเฉิงตูจัดขึ้นที่บริเวณถนนหงชิ่ง
ย่านช็อปปิงสำคัญของเมือง
ออกบูธจำหน่ายผลไม้ไทยนานาชนิดและอาหารไทยทั้งแบบสดและสำเร็จรูปอย่างง่าย ๆ ททท.ยังจัดเวทีการแสดงนาฏศิลป์ไทยเอาไว้เรียกความสนใจจากชาวเมืองเฉิงตูด้วย
ซึ่งก็ได้ผล คนมุงกันแน่น ช่วงเย็นไกด์พาคณะไปลองชิมอาหารจีนแบบเสฉวน
หลายชนิดหน้าตารสชาติคล้ายอาหารบ้านเรา
มิน่าเล่า คนเสฉวนไม่น้อยถึงชอบอาหารไทย
เมืองเฉิงตูมีแหล่งโบราณคดีมหึมา เรียกกันว่าเมืองโบราณจินชา นครหลวงโบราณของแคว้นฉู่
อายุประมาณ ๓,๑๐๐ ปี (รุ่นใกล้เคียงบ้านเชียงของไทยเรา) ลงทุนมโหฬารขุดแต่งจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดีจินชา เพิ่งเสร็จหมาด ๆ
กำหนดเปิดในวันที่คณะของเราไปพอดี
ก็เลยได้ไปร่วมงานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการกับเขาด้วย
ภายในแบ่งเป็น ๒ ส่วน
ส่วนแรกคืออาคารขนาดใหญ่สร้างครอบทับหลุมขุดค้นเอาไว้ภายใน
อีกส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้
ชิ้นที่ถือเป็นมาสเตอร์พีซ ก็คือแผ่นโลหะกลมรูปนกพระอาทิตย์ทองคำ
ซึ่งทางการจีนเอามาใช้เป็นสัญลักษณ์ของมรดกจีนติดเอาไว้ตามโบราณสถานต่าง ๆ
ที่ทำได้น่าสนใจก็คือการนำเอาเรื่องราวเมืองจินชามานำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้ชมในลักษณะของละครเวทีจินตลีลาประกอบการแสดงแสงสีเสียงอันอลังการในโรงละครสุดหรูกลางเมือง
ถือเป็นโปรแกรมแนะนำของเทศบาลนครเฉิงตูที่ใครไปใครมาก็ต้องมาชม
ขนาดคณะผู้กำกับภาพยนต์จากฮอลลีวู้ดก็ยังมานั่งดูพร้อมกับคณะของเราในค่ำวันก่อนไปร่วมพิธีเปิด
ดีตรงดูแล้วก็ช่วยให้มีข้อมูลพื้นฐานอยู่บ้าง
พอไปเห็นของจริงก็รู้สึกสนุกขึ้น
ยังมีการแสดงอีกอย่างเป็นทีเด็ดของเสฉวนที่เราได้ดูในคืนถัดมาคือโชว์เปลี่ยนหน้ากาก
นักแสดงในชุดโบราณจะเปลี่ยนหน้ากากที่สวมไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว
แสดงร่วมกับการเชิดหุ่นละครเล็ก กายกรรมจำอวด และการเล่นกับเงา
สภาพแวดล้อมที่รักษาให้กลมกลืนก็เป็นอีกอย่างที่โดดเด่น
แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในใจกลางเมืองอย่างศาลเจ้าอู่โหวที่ฝังศพของเล่าปี่และขงเบ้ง
เมื่อเราเดินเข้าไปภายในยังให้บรรยากาศคล้ายกับย้อนยุคไปในสมัยโบราณ ถนนจิงลี่
ถนนคนเดินที่กลางวันเป็นร้านขายของที่ระลึก กลางคืนเป็นแหล่งบันเทิง
ซึ่งอยู่ใกล้กันยังต้องสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโบราณเพื่อไม่ให้ขัดกัน
กิจกรรมบางอย่างก็ช่วยส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวได้มาก เช่นที่คณะเราได้เห็นเมื่อไปเยี่ยมชมเขื่อนตูเจียงเอี้ยน ที่มีประวัติว่าสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำหลากจากแม่น้ำหมิงเจียง โดยขุนนางท้องถิ่นชื่อหลี่ปิงเป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลากว่า ๒๔ ปี ลำพังตัวเขื่อนแม้จะเก่าแก่อายุถึง ๒๒๖๐ ปีและสร้างด้วยแรงงานคนล้วน ๆ แถมเป็นแหล่งมรดกโลก แต่หากมองดูเผิน ๆ ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ เขาเลยจัดให้มีพิธีปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เลียนแบบพิธีกรรมในสมัยโบราณอย่างยิ่งใหญ่ วันละ ๒ รอบ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพากันมารอดูรอชมได้ไม่น้อย
ที่ชิงเฉิงซาน อารามในลัทธิเต๋า
ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงนำความเจริญมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน
ด้วยการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นไปยังศาลเจ้าซึ่งอยู่บนยอดเขาสูงชันลิบลิ่วซึ่งหากเดินขึ้นต้องใช้เวลาเป็นวัน
เมื่อนั่งกระเช้าก็ประหยัดเวลาในการเดิน มีเวลาที่จะท่องเที่ยวได้มากขึ้น
แถมกระเช้ากลายเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเส้นทางกระเช้าผ่านขึ้นไปเหนือผืนป่าทำให้มองเห็นทิวทัศน์สวยงามกว้างไกล
ภัตตาคารร้านอาหารต่าง ๆ เองก็มีส่วนช่วยในเรื่องการสร้างบรรยากาศ
เวลาคณะของเราไปกินอาหารตามภัตตาคารก็สังเกตเห็นว่าแต่ละแห่งตกแต่งไปในในทางเดียวกัน
คือเน้นจุดเด่นของท้องถิ่นอันได้แก่แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
บางร้านทำพื้นร้านเป็นห้องกระจกจำลองเมืองโบราณเป็นขนาดเล็กไว้ให้เห็นด้านล่าง
บางร้านตกแต่งให้เหมือนพิพิธภัณฑ์
บางร้านทำสภาพให้เมืองภัตตาคารย้อนยุค เรียกว่าประชันไอเดียกันเต็มที่
ลูกค้าที่มาเห็นอย่างนี้จะอดใจยังไงไหว
เฉิงตูยังมีศูนย์เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แพนดาใครไปใครมาก็อดไม่ได้หรอกครับที่จะต้องมาดู
เพราะที่เฉิงตูนี่ถือเป็นแหล่งแพนดาใหญ่ที่สุดในเมืองจีน
คณะของเรายังแวะไปดูเลยในวันสุดท้าย ถือเป็นของแถมไป
เหนือสิ่งอื่นใดรายได้จากการท่องเที่ยวของเฉิงตูส่วนใหญ่มาจากคนจีนด้วยกันเอง
ทั้งจากในมณฑลเสฉวน และมณฑลอื่นทั่วเมืองจีน ไม่ต้องง้อนักท่องเที่ยวชาติไหน ๆ
ถ้าคนไทยเราเอาอย่างเขาในข้อนี้ได้ ท่องเที่ยวไทยเราคงเฟื่องฟูขึ้นอีกจมเลยละครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น