วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตะลอนอารยธรรมรอบโลกที่บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร "สารใจ" 

          มันเป็นเหมือนกับความฝันครับ ฝันที่เป็นจริงเสียด้วย

          ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ มาแล้ว ที่ผมชอบดูภาพของแหล่งอารยธรรมโบราณทั่วโลก นิตยสารต่วย ตูนฉบับพิเศษถือเป็นเล่มโปรด  เพราะในแต่ละฉบับจะมีทั้งภาพถ่ายและเรื่องราวจำพวกปิรามิดแห่งอียิปต์  นครโบราณของชาวมายัน  โมอายแห่งเกาะอีสเตอร์  สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ปราสาทนครวัดนครธม ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรทำนองนี้ ให้ดูให้ชมอย่างเต็มอิ่ม บ่อยครั้งเลยเชียวแหละครับ ที่ผมดูภาพไปพลาง วาดฝันจินตนาการไปพลางว่าได้ไปเดินอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของบรรดาแหล่งอารยธรรมโบราณทั่วโลกเหล่านั้น

         ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ด้วยภารกิจการงานที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสกับแหล่งอารยธรรมโบราณตามที่ได้เคยฝันเอาไว้หลายต่อหลายแห่ง  ทว่ากระนั้น พูดตามตรงครับ การจะไปให้ครบทุกแห่งทั่วโลกนั้นคงไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะแต่ละแห่งไม่ใช่ใกล้ ๆ  ต้องใช้เงินทองและเวลาไม่น้อย ถ้าไม่รวยระดับอภิมหาเศรษฐี และไม่มีเวลาว่างเหลือเฟือ (เพราะยังต้องทำมาหากิน) ละก็ ชาตินี้อย่าได้หวัง คงเป็นได้แค่ความฝันอยู่ดีนั่นแหละ


          แต่พอได้มาถึงที่บริติชมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์อังกฤษ  กลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ผมก็รู้สึกได้ทันทีครับ ว่านี่มันคือความฝันที่เป็นความจริงชัดๆ ที่จะมีโอกาสชมอารยธรรมโบราณจากทั่วโลกได้ครบถ้วน เนื่องจากที่นี่รวบรวมโบราณวัตถุจากแหล่งอารยธรรมทั่วโลกมาไว้ด้วยกันในที่เดียว จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษยที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยขนาดใหญ่ติดอันดับ ๓ ของโลก เป็นรองก็แค่พิพิธภัณฑ์ลูฟท์ ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส  กับเมโทรโปลิแตนท์ มิวเซียม ออฟ อาร์ต ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เท่านั้น

         บริติช มิวเซียมก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๙๖ (ค.ศ. ๑๗๕๓ ) โดยเริ่มต้นจากบรรดาของสะสมส่วนตัวของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ท่านเซอร์ แฮนส์ สโลน (Hans Sloane) เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๒ (ค.ศ. ๑๗๕๙) ในบริเวณมองตากูเฮาส์ เขตบลูมส์เบอร์รี กรุงลอนดอน อันเป็นสถานที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน  นับถึงวันนี้ก็นานถึง ๒๕๔ ปี แล้ว
อย่างที่บอกนั่นแหละครับ บริติชมิวเซียมรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ จากทุกทวีปทั่วโลก ประมาณได้ว่ามีจำนวนมากกว่า ๘  ล้านชิ้น เปรียบเสมือนบันทึกเรื่องราวของอารยธรรมมนุษย์ทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน นำมาจัดวางเรียงรายให้ชมอยู่ในห้องจัดแสดงที่มีอยู่ถึง ๙๕ ห้อง แต่เชื่อไหมครับ ว่าขนาดมีห้องแสดงเยอะอย่างนี้ โบราณวัตถุอีกมากกว่าครึ่งยังถูกใส่ลัง เก็บไว้ในห้องเก็บของชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากไม่มีเนื้อที่จัดแสดงเพียงพอ


เปิดให้เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเสียด้วยครับ ยกเว้นใครประทับใจ อยากบริจาคก็ไม่ว่ากัน มีถาดไว้ให้ใส่เงินตามกำลังศรัทธากลางโถงด้านหน้า เดินเข้าไปด้านในจะพบกับโถงใหญ่เรียกว่าท้องพระโรงสมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒  หลังคากระจกใส น่าตื่นตาด้วยโครงโลหะเป็นเส้นสาย ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓  (ค.ศ.๒๐๐๐) ครอบคลุมศูนย์หนังสือและร้านของที่ระลึกในอาคารทรงกลมกึ่งกลาง  โดยมีประติมากรรมหินอ่อนหนักถึง ๗ ตัน “สิงโตแห่งนีดอส" ที่เคยประดับไว้บนพีระมิดจากตุรกี ตั้งโชว์อยู่ฝั่งซ้าย   ในขณะที่ฝั่งขวามีประติมากรรมหินอ่อนสลัก "เจ้าชายบนหลังม้า" จากกรุงโรม ที่มีอายุในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑  ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่


เข้ามาปุ๊บ อันดับแรก ๆ ที่นึกถึงก็คือ อารยธรรมอียิปต์โบราณครับ ดูตามแผนผังในแผ่นพับ อยู่ชั้นล่างในห้องแสดงที่ ๔ ผมเดินตรงรี่เข้าไปก่อนเลยละครับ พอดีเขาจัดไว้เป็นห้องแรกพอดี (เหมือนจะรู้ใจนักท่องเที่ยว) เห็นแล้วก็ต้องตะลึงกับบรรดาโบราณวัตถุของอียิปต์ที่ตั้งวางเอาไว้ ในห้องโถงยาว แต่ละชิ้นมหึมาสูงใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมรามเซสที่ ๒ แกะสลักจากหินแกรนิตครึ่งตัว หนักกว่า ๗.๒๕ ตัน  ชิ้นส่วนประติมากรรมเศียรของฟาร์โรห์อาเมนโฮเทปที่ ๓ แกะสลักจากหินแกรนิตสีแดง รวมทั้งโรเซตตาสโตน ศิลาจารึกด้วยอักษรฮิโรกริฟฟิกของอียิปต์โบราณ ขนาดยักษ์สูงท่วมหัว

 มีบันทึกเอาไว้ว่าหลังจากนโปเลียนโบนาปาร์ต มหาราชชาวฝรั่งเศสบุกยึดอียิปต์ เมื่อปีค.ศ. ๑๘๐๑  โบราณวัตถุกว่าแสนชิ้นจากอียิปต์ถูกขนย้ายเข้ามาในยุโรป เชื่อได้เลยว่าส่วนหนึ่งต้องอยู่ในนี้แน่


ถัดจากอียิปต์  อารยธรรมตะวันออกกลางรออยู่ในห้องจัดแสดงที่ ๖- ๑๐ บนผนังจำลองเป็นกำแพงเมืองอัสสิเรีย พร้อมทั้งประติมากรรมหินมหึมาจำหลักเป็นรูปทวารบาลเฝ้าประตูขนาดยักษ์ หัวเป็นมนุษย์มีหนวดเครา ลำตัวเป็นสิงโต แถมมีปีกอีกต่างหาก ที่โดดเด่นน่าชมอีกชิ้นก็คือจิตรกรรมนูนต่ำบนผนังหินสมัยเมโสโปเตเมียซึ่งค้นพบนอกอิรักลวดลายที่จำหลักบนแผ่นหินไว้วิจิตรตระการตา เล่าถึงเรื่องราวการออกล่าสัตว์ของกษัตริย์หนุ่มที่ต้องต่อสู้กับสิงโตเจ้าป่า จัดตั้งเรียงรายสาดแสงไว้อย่างดีน่าดู



เดินเพลินเรื่อย ๆ ต่อจากห้องตะวันออกกลางทะลุเข้ามายังห้องอารยธรรมกรีก-โรมัน อย่างที่รู้กันครับ อารยธรรมนี้ยิ่งใหญ่มาก ก็เลยมีหลักฐานศิลปกรรมต่าง ๆ หลงเหลือให้ชมกันมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นประติมากรรมหินอ่อนสีขาวจำหลักเป็นรูปเทพเจ้าในเทพนิยาย และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ทั้งชายและหญิง หลายขนาดตั้งแต่เล็กเหมือนตุ๊กตา ไปถึงใหญ่กว่าคนจริง ที่สำคัญไม่ค่อยจะนุ่งผ้านุ่งผ่อนกัน เพราะกรีก-โรมันถือว่าร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งสวยงาม โชว์กันเต็มที่ รู้สึกถึงความแตกต่างกับอารยธรรมก่อนหน้าได้ทันทีเมื่อเดินเข้ามาเลยละครับ


ไม่ใช่แค่ประติมากรรมบุคคลเท่านั้น ยังมีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ  ที่ทำด้วยหินอ่อนไม่ว่าจะเป็น ภาพจำหลักประดับอาคาร เสาค้ำระเบียงวิหาร หรือแม้แต่ตัววิหารก็ยกมาโชว์กันอย่างเต็มพิกัด เล่นเอาตาลาย เลือกดูเลือกชม ที่สำคัญเลือกถ่ายภาพไม่ถูกเลย (พิพิธภัณฑ์ที่นี่เขาไม่ห้ามถ่ายภาพ แค่ห้ามใช้แฟลชเท่านั้น สวรรค์ของผู้รักศิลปะจริง ๆ ) จะถ่ายหมดทุกชิ้นก็ไม่ไหวเพราะเยอะมาก แค่กรีก-โรมันนี่ก็มีถึง ๑๔ ห้องจัดแสดง (รวมชั้นใต้ดินอีก ๒ ห้อง เป็นห้องสถาปัตยกรรมกรีกและจารึกคลาสสิคของกรีก)  ดูแล้วน่าจะเป็นอารยธรรมที่มีชิ้นงานศิลปกรรมให้ชมมากที่สุด


กลับออกมาเห็นคนแน่น ๆ อยู่ตรงทางเข้าด้านทิศเหนือ ผมเลยเดินตามเข้าไปดู ปรากฏว่าเป็นห้องนิทรรศการใหญ่ครับ จัดแสดงในหัวข้อ (Theme) เกี่ยวกับชีวิตกับความตาย (Living and Dying) น่าสนใจมาก เพราะว่าด้วยเรื่องประเพณีพิธีกรรม ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการฝังศพ ไปจนถึงโครงกระดูก มัมมี่ ในอารยธรรมต่าง ๆ  น่าตื่นเต้น น่าสนใจ น่ากลัว ไปพร้อม ๆ กัน  (แต่ก็เห็นคนชอบดูกันมาก เวียนกันเข้ามาไม่ขาดสาย) จากห้องนี้มีบันไดลงไปห้องจัดแสดงอารยธรรมแอฟริกาชั้นใต้ดินด้านล่าง


 ผ่านเข้าไปห้องอารยธรรมอเมริกาที่แบ่งเป็นอเมริกาเหนือกับเม็กซิโก ซึ่งเป็นอารยธรรมของยุคชนเผ่าแบบอินเดียนแดง ตรงนี้อเมริกามีแต่ของชิ้นเล็ก ๆ อย่างหน้ากาก หมวกขนนก หัวลูกศร ฯลฯ  ดูไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอารยธรรมระดับบิ๊ก ๆ ทั้งหลายในห้องแสดงก่อน ๆ ที่ผ่านมา) ในขณะที่เม็กซิโกมีชิ้นใหญ่ ๆ น่าสนใจหลายชิ้น   



ออกจะผิดหวังเล็กน้อยครับสำหรับอารยธรรมเอเชีย เพราะไม่ค่อยมีอะไรอลังการงานสร้างให้ตื่นตาเหมือนพวกอียิปต์หรือกรีก-โรมันอย่างที่คาด ขนาดอารยธรรมใหญ่ ๆ อย่างจีน อินเดีย ยังมีชิ้นเด่น ๆ ไม่กี่ชิ้น เกาหลีก็ดูไม่มีอะไรเท่าไหร่ ขึ้นบันไดไปห้องญี่ปุ่น ค่อนข้างเงียบถึงวังเวง ไม่ค่อยมีใครสนใจ อาจเพราะไม่มีอะไรใหญ่ ๆ  ดึงดูด มีแต่จำพวกข้าวของเครื่องใช้ เกราะซามูไร ม้วนกระดาษ ภาพวาด ฯลฯ แถมอยู่ลึกลับเข้าถึงยากอีกต่างหาก


ในขณะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "อาเซียน" ของเราถูกจัดรวมไว้กับเอเชียใต้  ประเทศเพื่อนบ้านที่มีศิลปกรรมมากที่สุดคืออินโดนีเซีย  รองลงเป็นพม่าที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่  ส่วนของเวียดนามมี ประติมากรรมสมัยจามปาเป็นตัวชูโรง ไทยเราเองมีศิลปกรรมจากยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยทวารวดี สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา มีทั้งเสมาหิน เครื่องปั้นดินเผา สถูปเจดีย์ พระพุทธรูป ๗ องค์ และเศียรพระพุทธรูปอีก ๗ เศียร เงินพดด้วงเหรียญตรากษาปณ์สมัยก่อน ดูแล้วเรียกว่าจิ๊บจ๊อย ไม่มากมาย แต่มองมุมกลับก็น่าดีใจครับที่มรดกทางวัฒนธรรมของไทยเราชิ้นเยี่ยม ๆ ยังอยู่ที่บ้านเมืองของเรา  ไม่ต้องลำบากบินมาชมต่างบ้านต่างเมือง


ขึ้นบันไดด้านเหนือไปชั้นบนถึงเห็นว่ายังมีห้องจัดแสดงอารยธรรมยอดนิยมอยู่บนนี้อีกส่วนหนึ่ง ทางพิพิธภัณฑ์คงต้องการลดความแออัด แยกให้ผู้เข้าชมไม่ไปกระจุกอยู่ฟากเดียวข้างล่าง ศิลปกรรมที่จัดแสดงข้างบนนี้ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปจากชั้นล่างเลย โดยในส่วนอารยธรรมอียิปต์โบราณ เป็นชิ้นสำคัญอีกด้วยนั่นก็คือมัมมี่ ตุ๊กตามัมมี่น้อยใหญ่ พร้อมกับหีบศพมัมมี่จำนวนมากมายมหาศาล เรียงรายกันอยู่ในห้อง  เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์ของผู้นิยมอารยธรรมอียิปต์ก็ว่าได้ แน่นอนครับว่าห้องนี้ก็เนืองแน่นด้วยผู้คนอีกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ  ครึกครื้นกันทีเดียว ทำให้บรรยากาศไม่ลึกลับวังเวงอย่างที่ควรจะเป็น


เช่นเดียวกันกับถัดห้องจัดแสดงถัดไปอารยธรรมตะวันออกกลาง แสดงโบราณวัตถุของอิหร่านโบราณ อาระเบียใต้ ตุรกีโบราณ  และเมโสโปเตเมีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาจำหลัก ลวดลายประดับโบราณสถาน หีบศพโบราณ ชิ้นไม่ใหญ่มาก ทว่าแต่ละชิ้นแปลกตาน่าสนใจทั้งนั้น บรรยายไม่ถูกเหมือนกันครับ เพราะละลานตา หลายชิ้นก็ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนแม้แต่ในรูปถ่าย


แน่นอนครับห้องจัดแสดงอีกห้องที่ขาดไม่ได้บนชั้นสองนี้ คืออารยธรรมกรีก-โรมันโบราณยังมีอีกส่วนหนึ่งอยู่ทางฟากตะวันตกของอาคาร ในขณะที่ฟากตะวันออกเป็นห้องจัดแสดงอารยธรรมยุโรปที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ศิลปกรรมต่าง ๆ  ที่บอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรป   พัฒนาการมาจนถึงยุคศักดินาฟิวดัล ที่เป็นยุคของอัศวิน  จาระไนไม่หวาดไหวครับ ขาแข้งก็เริ่มอ่อนล้า เพราะกว่าเดินมาถึงตรงนี้ก็ใช้เวลาเกือบทั้งวัน

 

 ถือว่าคุ้มค่าแก่การมาเยี่ยมชมครับ สำหรับพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียมแห่งนี้ โดยเฉพาะสำหรับผม อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตยังได้มีโอกาสได้เที่ยวชมอารยธรรมทั่วโลกได้สมความตั้งใจ แถมใช้เวลาแค่วันเดียว เรียกว่าคุ้มจนไม่รู้จะคุ้มยังไง มีโอกาสมาลอนดอนถือว่าไม่ควรพลาดโอกาสนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น